คุณเห็นภาพเหล่านี้ในทุ่งนา ล่าสุดเมื่อไหร่ ครับ


คุณเห็นภาพเหล่านี้ในทุ่งนา ล่าสุดเมื่อไหร่ ครับ


เครื่องมือที่ใช้ในการไถนา

(ภาพคันไถ คราด แอก ผาน หัวหมู...)

ชาวบ้านในสมัยโบราณ ได้คิดทำเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อการประกอบอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพในกลุ่มของเกษตรกรรม การทำนาปลูกข้าวเป็นหนึ่งในอาชีพของชาวบ้านในชนบททั่วไป เกือบทุกครอบครัวจะมีการทำนาเพื่อให้ได้ข้าวไว้กินตลอดปี ที่เหลือ จากการสำรองไว้เพื่อครอบครัวแล้วก็นำออกจำหน่ายเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างอื่นบ้าง การทำนาในสมัยก่อนเป็น การทำเกษตรแบบพอมีพอกิน
ดังนั้นเครื่องมือในการทำนาก็ได้ประดิษฐ์คิดทำขึ้นใช้เอง ในบรรดาเครื่องมือในการประกอบอาชีพทั้งหลาย เครื่องมือที่ใช้ในการไถนา หรือคันไถ ก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่ง ใครเป็นคนคิดทำเป็นคนแรกไม่มีใครรู้ แต่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา การสร้างเครื่องมือเหล่านี้ต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะต้องหาไม้เนื้อแข็งที่เหนียวและมีลักษณะใกล้เคียงกับชิ้นส่วนที่ต้องการทำ ซึ่งแต่ละชิ้นส่วนจะมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อรวมกันเป็นชุด จะประกอบด้วย (เรียกชื่อตามที่เรียกกันในจังหวัดนครศรีธรรมราช) หัวหมู หางยาม คันไถ แอก คราด ดังรูปข้างบน

หัวหมู ผาน
หัวหมูทำจากไม้เนื้อแข็ง สามง่าม ด้านหน้ามีเดือยสำหรับไว้ครอบด้วยผาน ซึ่งทำด้วยเหล็ก และมีรูเดือยสหรับเชื่อมต่อด้วยหางยาม หน้าแป้นของหัวหมูจะพลิ้วเพื่อให้ดินพลิกออกด้านข้างด้านขวา(กรณีการไถเดินทวนเข็มนาฬิกา ไถจากนอกเข้าข้างในครับ) 


หางยาม
หางยาม ทำจากไม้เนื้อแข็งที่มีลักษณะโค้งงอ ด้านล่างมีเดือยสำหรับต่อกับหัวหมู และตรงกลางจะมีรูเดือยสำหรับต่อกับหางยาม ใช้ประโยชน์เพื่อการบังคับหัวหมู ทั้งในด้านทิศทางและความตื้นลึกของการไถ จะมีรูที่ต่อเชื่อมกับคันไถอีกทีหนึ่ง


คันไถ
คันไถ ทำจากไม้เนื้อแข็ง มีลักษณะโค้งงอ 2 ชั้นดังรูป ใช้เป็นตัวเชื่อมระหว่างหางยามกับแอก เป็นตัวกลางที่จะลากหัวหมูให้เดินหน้าตามแรงเดินของวัวหรือควายที่ใช้เทียม


แอก
แอก ทำจากไม้เนื้อแข็งที่มีความโค้งงอเล็กน้อย เจาะรูข้างละ 2 รู เพื่อใส่ไม้เหลากลมข้างละ 2 ซี่ สำหรับครอบลงบนคอวัว (ในภาพไม่มีซี่ เพราะหาไม่ได้แล้ว) ใช้เประโยชน์ในการบังคับวัวไม่ให้เดินออกนอกทาง และเป็นต้นแรงที่วัวจะลากคันไถ หางยาม หัวหมูให้พลิกดินที่ไถ บริเวณที่โค้งด้านบนนั้น จะตรงบริเวณที่คอวัวหรือควายพอดีครับ


คราด
ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เจาะรูสำหรับใส่ซี่คราด ซึ่งทำด้วยไม้เนื้อแข็งเช่นเดียวกัน ถัดจากซี่กลางข้างละ 2 ซี่ จะใช้ซี่ยาวเพื่อทำเป็นคันคราด สำหรับจับเพื่อบังคับการคราด และมีรูเดือยสำหรับเชื่อมต่อกับคันไถ คราดใช้ประโยชน์หลังจากการไถ ทำให้ดินร่วน เล็กลง และทำให้เป็นตม(โคลน หรือโคลนตม หรือ เทือก นั่นเอง) พร้อมที่จะหว่านหรือปักดำต่อไป

ขอบพระคุณข้อมูลดีๆ จาก http://www.nattakit.com/localwisdom/tina.html

กระบวนการในการทำนาคร่าวๆ เท่าที่ผมพอจะเขียนเล่าได้นะครับ

  1. รอฝนตกน้ำท่วมขังในทุ่งนา และถึงฤดูทำนา
  2. ใช้วัวหรือควายหนึ่งหรือสองตัว (จากภาพเครื่องมือด้านบนสำหรับวัวสองตัวครับ ดูที่แอกนะครับ) มายืนเคียงคู่แล้วใช้ชุดคันไถทำหน้าที่ไถพลิกหน้าดินในนา กรณีมีน้ำขังวัวควายจะเหนื่อยน้อยหน่อยเพราะดินไม่แข็งมากครับ แต่หากดินไม่มีน้ำเลยอาจจะทำให้วัวและควายเหนื่อยมากขึ้นครับ อีกอย่างน่าสงสารวัวควายด้วยครับ
  3. การไถมักจะไถทวนเข็มนาฬิกา แต่ก็อยู่ที่ลักษณะของผาน เพราะการไถจะไถเวียนจากรอบนอกแล้วเข้าไปข้างในแบบทวนเข็ม ดินที่ถูกผานจะถูกพลิกดินให้พลิกไปอยู่ในด้านนอกของรอยไถครับ
  4. เมื่อไถหมดแล้ว ชาวนาก็มักจะสงสารวัวควาย ประกอบกับการแช่ขี้ไถ(ก้อนดิน)ให้ละลายน้ำ แช่ไว้ให้เปื่อยก่อนครับเพราะการไถจะมีพวกหญ้าอยู่ด้วยจะได้ตายพร้อมการเป็นปุ๋ยไปด้วย
  5. เมื่อเวลาผ่านไปที่คิดว่าเหมาะสมแล้ว ก็นำชุดคราดที่เป็นซี่ๆ มาประกอบชุดคราดกับวัวหรือควายอีกครับ แล้วก็จะทำหน้าที่ย่อยดินให้เป็นก้อนเล็กๆ หรือเป็นโคลนทั้งแปลงในนาครับ
  6. ต่อไปก็เป็นขั้นตอนการตีโคลนให้เหลวแล้วลดระดับน้ำครับ โดยให้โคลนอยู่ในระดับเดียวกันครับ พร้อมกันนั้น ก็มีการเตรียมข้าวปลูกไว้ด้วยครับ ต้นกล้านั่นเองครับ ที่เอาเมล็ดข้าวเปลือกใส่กระสอบแล้วไปแช่น้ำไว้จนเริ่มงอกรากสั้นๆ ในการตีโคลนให้เป็นตมนี้ จะมีการทำร่องน้ำด้วยนะครับ เพราะร่องน้ำเหล่านี้จะช่วยทำให้น้ำสะเด็ดจากผิวโคลน ลงไปในร่องน้ำเพื่อลดน้ำในช่วงที่ต้นกล้ามันเล็กๆ ต้นกล้าไม่ควรจะถูกแช่น้ำไม่งั้นลำต้นจะเปื่อยครับ รากเน่าก็จะมีปัญหาได้ครับ ดังนั้นชาวบ้านจะมีวิธีการทำร่องน้ำในแปลงนาเพื่อวิดน้ำออกจากนาข้าว อุปกรณ์ที่ใช้เรียกว่า โพง ทำจากปิ๊บน้ำมันนะครับ
  7. ชาวบ้านมันจะคำนวณหาวันดีๆ ที่เหมาะกับการหว่านต้นกล้า เพราะมีความเชื่อเรื่องวันด้วย ว่าวันไหนต้นกล้าจะงอกดีหรือเมื่อหว่านแล้วงอกดี ไม่โดนหนู นกมาจิกกินครับ และก็เอาไปหว่านหลังจากที่ทำโคลนเหลวแล้วนะครับ ลดระดับน้ำ ทางใต้เรียกการตีโคลนด้วยคราดว่า ทำเทือก แล้วจะใช้ไม้ลูบหน้าผิวโคลนให้เรียบ เรียกว่า การลูกเทือก  (เทือกคือโคลน หรือ ตม นั่นเองครับ)
  8. เมล็ดข้าวเปลือกที่งอกรากที่หว่านลงไปด้วยมือนั้น เป็นการคำนวณจากชาวนาว่ามันไม่กระจุกกันจนเกินไป นั่นคือการกระจายตัวของเมล็ดข้าวทั่วแปลงนั่นเอง (นี่เอามาใช้ในการบริหารประเทศได้เลยนะครับ ไม่ว่าจะการศึกษา หน้าที่การงาน กระจายได้ทั่วทั้งแปลง) ไม่ว่าเมล็ดข้าวเปลือกจะตกถึงพื้นหัวขวิดอย่างไร แต่รากก็ลงดิน และยอดก็ชี้ฟ้าเสมอครับ
  9. เมื่อต้นกล้าสูงได้พอเหมาะแล้วนะครับ ก็จะมีการเตรียมนาแปลงอื่นๆ เช่นกันเพื่อจะทำนาดำ นั่นคือ จะถอนต้นกล้าในแปลงที่เพาะต้นกล้าไว้แล้วถอนต้นกล้ามัดเป็นกำๆ จากนั้น ก็เคลื่อนย้ายต้นกล้าดังกล่าวไปปักดำ การทำนาดำ ก็ใช้หลักการทำเทือกเช่นเดียวกันนะครับ แต่ไม่ปล่อยน้ำทิ้งนะครับ
  10. การถอนต้นกล้าจะต้องมีการปล่อยน้ำลงในแปลงนาก่อนครับ เพื่อนให้ถอนต้นกล้าได้ง่าย โดยน้ำไม่ลึกมากและไม่น้อยเกินไปครับ
  11. การถอนต้นกล้าจะสนุกมากๆ นะครับ พอถอนขึ้นมาจะมีดินติดขึ้นมาด้วยครับ ดังนั้นชาวนาจะมีเทคนิกในการฟัดดินให้ดินนั้นหลุดจากรากต้นกล้า แล้วโคลนจะมีการกระเด็นไปทางด้านหลังเราชาวนา(ใช้เท้าด้านที่ถนัดในการปะทะกับแรงเหวี่ยงของต้นกล้าครับเพื่อให้ดินหลุดออกจากรากนะครับ) แล้วจะก็ล้างดินออกจากรากครับแล้วก็ผูกมัดรวมไว้เป็นกำ แล้วค่อยตัดยอดต้นกล้า ผมชอบมากๆ ครับ ตอนตัดยอด ชอบฟังเสียงใบมีดที่ตัดผ่านยอดมัดของต้นกล้าครับ แล้วก็เตรียมพร้อมที่จะหาบไปที่นาดำครับ (หาบไปด้วยไม้ไผ่ท่อนยาว โดยแบ่งครึ่งของกำลังต้นกล้าวางลงบนหาบไม้ไผ่ที่รองด้วยปางไม้สองข้างโดยมีไม้คานหาบอยู่ด้านบน) ที่เพิ่งทำเทือกรอไว้นะครับ ดังนั้น การที่มัดต้นกล้านั้นแช่ไว้ในนา ก็จำเป็นด้วยที่จะต้องรีบๆ หาบไม่แช่ทิ้งไว้หลายคืน เพราะรากต้นกล้านั้นจะลงดินด้วยครับ
  12. การปักดำ นั้นจะดำกันเป็นแถวๆ กอข้าวแต่ละกอ ก็ใช้ต้นกล้าประมาณสองหรือสามต้นตามความเหมาะสม ขึ้นกับขนาดของต้นกล้าด้วยครับ เพราะต่อไปต้นกล้าจะแตกกอใหญ่ขึ้นนะครับ
  13. จากนั้นก็รอให้ข้าวท้องนะครับ ต้นข้าวท้องนี่ตอนเด็กจะชอบฉีกกินบ้างเพื่อให้รู้รสว่าเป็นอย่างไร แต่จะโดนคุณแม่บอกว่า จะขวัญข้าว เป็นช่วงที่ยอดข้าวกำลังอยู่ในลำต้นนั่นเอง เราจะเห็นได้เลยว่าข้าวกำลังอุ้มท้อง เพราะท้องข้าวที่ลำต้นจะมีท้องป่องออกมาครับ กินแล้วหวานมันอร่อยครับ
  14. การควบคุมให้น้ำ ให้ปุ๋ย ก็ควรจะมีการควบคุมตามรูปแบบต่างๆในการดูแลเอาใจใส่นะครับ
  15. จนวันหนึ่งก็ถึงเวลาเก็บเกี่ยวครับ ก็จะใช้แกะ (เครื่องมือในการเก็บข้าว) โดยแกะจะมีใบมีดอยู่แล้วจะเก็บข้าวทีละรวงนะครับ มาเก็บมัดรวมไว้ เป็นการตัดที่คอรวงนะครับ มาเก็บรวมไว้แล้วใช้ต้นซังข้าวมาพันที่คอเลียงข้าวไว้ เพื่อรอการนำไปเก็บไว้ที่ฉางข้าว ก่อนจะทำพิธีการทำขวัญข้าวต่อไป การเก็บรวบรวมเลียงข้าวไปเก็บไว้ที่บ้านนั้น จะใช้แสก ที่มีการจัดเลียงข้าวให้เต็มคันแสก แล้วหาบไปไว้ ชาวนามักจะลงแขกช่วยเหลือกันในทุกกระบวนการครับ
  16. นี่ผมเล่าข้ามๆ ลัดๆ เอานะครับ เพราะจริงๆ แล้ว มีกระบวนการรายละเอียดมากมายครับ จะเห็นตั้งแต่ข้าวเปลือกมาถึงข้าวเปลือกรวงใหม่ก็ใช้เวลา หลายขั้นตอนทีเดียวครับ เห็นแล้วคุณๆ ท่านๆ ผมก็ทึ่งในความอดทนของชาวนา หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินใช่ไหมครับ
  17. ที่ผมชอบแนวทางหลักๆ คือการที่ชาวนาอยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยกัน ลงแขกในทุกๆ อย่างครับ
  18. นี่หล่ะครับ การทำนา ทำนาเราจะทำเล่นๆ ไม่ได้ครับ เพราะทำเล่นๆ ดินโคลนอาจจะเข้าตาเอาได้ เมล็ดข้าวกระเด็นเข้าตาได้ครับ
  19. เวลาเปลี่ยน กระบวนการก็เปลี่ยน จากคันไถก็แปล เป็นรถไถ การลงแขกก็เปลี่ยนเป็นการจ้างกัน  การทำนาก็เปลี่ยนเป็นการปลูกสวนยางในนา ชาวนาทำนาก็เพื่อไว้กินส่วนหนึ่ง หากเหลือก็ค่อยขาย
  20. แต่ยังไงก็ตาม สิ่งที่ชาวนาบ่นกันก็คือ ทำนาปีได้หนี้กับซัง ทำนาปรังได้ซังกับหนี้  และแนวทางเกษตรสมัยใหม่ก็มาต่อท้ายว่า ทำนาด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ไม่มีหนี้ไม่มีซัง ครับ
  21. ขอบพระคุณทุกท่านนะครับ เชิญแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะครับ

ขอบคุณมากครับ

เม้ง สมพร

หมายเลขบันทึก: 113318เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2007 20:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

เห็นภาพแล้วทำให้หวนรำลึกสมัยเด็ก ๆ เครื่องมือในการทำไร่ทำนาเหล่านี้หาดูได้ยากครับ หาดูได้ตามพิพิธภัณฑ์เท่านั้น  แสดงถึงภูมิปัญญาไทยอย่างหนึ่งก่อนที่เจ้าควายเหล็กจะเข้ามาแทนที่

      ภาพอดีต ความทรงจำเก่าเริ่มกลับมา นาข้าว  วัว ควาย คันไถ กองฟาง ใต้แสงจันทร์  หลายชีวิต หลายเวลา ที่วนเวียนอยู่ในท้องทุ่งท้องนา ไม่เคยลืม..
ไม่มีรูป

สวัสดีครับคุณสนิท

ขอบคุณมากๆ นะครับ สำหรับความเห็นและความรู้สึกดีๆ ในอดีตครับ เมื่อเราเน้นจำนวน ปริมาณ ความต้องการว่าด้วย กำไรสูงสุด ใช้เวลาเร็วสุดสั้นสุดเข้ามามีบทบาท ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปนะครับ ที่ผมเสียดายคือ น้ำใจและภาพเดิมๆ ที่คนเคยสามัคคีกัน เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันนะครับ แบบนี้ก็เป็นเทคโนโลยีพื้นบ้านครับ

ขอบคุณมากครับ

P

สวัสดีครับพี่ไมตรี

สบายดีไหมครับพี่ ครับ เรื่องราวในท้องทุ่งนามันมีเยอะเลยนะครับ ว่าด้วยเล่ากันได้ทั้งปีใช่ไหมครับ เป็นอะไรที่นับว่าคือรากเหง้าของคนไทยครับ หากคนไทยไม่ลืมสิ่งดีๆ นี้ก็จะยังอยู่ได้ครับ อาจจะต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้ครับ

ขอบคุณมากครับ

  • สวัสดีครับ
  • เห็นภาพเหล่านี้  ตอนอยู่ใน  คลื่นลูกที่หนึ่งครับ
  • ตอนนี้ผมอยู่ในช่วง  คลื่นลูกที่สามแล้ว
  • ตราบใดที่เรายังเดินตามทฤษฎีทันสมัย(Modernization)  เราไม่ค่อยเห็นมันแล้ว  
  • แต่เราจะเห็นช่องว่างระหว่างคนรวย  กับ  คนจนกว้างมากยิ่งๆขึ้น
  • เราจะมีมหาเศรษฐีรวยติดอันโลกที่เป็นไทยมากขึ้นๆ
  • แล้วเราจะพบว่าพี่น้องร่วมชาติเรา  มื้อต่อไปจะเอาอะไรมากินมากขึ้นด้วย 
  • และโรงงานที่ทำอยู่ได้ปิดลงแล้ว
  • สวัสดี  ควาย   คันไถ  และนาข้าว
  • สวัสดี
P
TAFS  

สวัสดีครับพี่

  • พี่สบายดีนะครับ
  • เข้ามาแต่ละครั้งโดนใจตลอดเลยนะครับ
  • คลื่นลูกหนึ่ง สอง สาม เปลี่ยนมาเรื่อยๆ ต่อไปลูกที่ สี่....
  • ผมไม่รู้ว่านี่คือข้อดีหรือข้อเสียของประชาธิปไตยครับ หรือว่าไม่เกี่ยวกันครับ ที่ยิ่งอยู่ไปยิ่งเกิดภาวะความแตกต่างสูงเหลือเกิน เอื้อมไม่ถึงจริงๆ ครับ
  • ในขณะที่คนรวยๆ ขึ้น และในฟากหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งของประเทศที่อยู่ในฐานข้อมูลบัญชีที่เค้าบอกว่า เป็นคนจน
  • ใครจะมาให้ต้นทุนกับคนเหล่านั้นครับ ผมขอให้เห็นแค่คนอยู่แบบพอเพียงเดินตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ และให้เป็นพอเพียงที่เพียงพอ ของซัก 45% ของประเทศก็พอครับ
  • ควาย จะเป็นสัตว์ที่หายากขึ้นครับ
  • คันไถ จะมีแต่ในพิพิธภัณฑ์
  • นาข้าวจะเป็นนารั้งมากขึ้น (นารั้งคือ รั้งเอาไว้โดยไม่ได้ทำนา)
  • ทุ่งนาแดนนี้ไม่มีความหมาย เหลือเพียงกลิ่นโคลนสาบควาย เห็นซากคันไถแล้วเศร้า....
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ เม้ง

เคยเห็น เขาเอาผานมาทำที่ปอกมะพร้าว  เอาไม้ปักลงดิน เอาผานมาเสียบลงบนไม้ บอกมะพร้าว ได้แรงนิ 

 

ต่ออีกนิดนะ

แต่​ยัง​ไงก็ตาม​ ​สิ่งที่ชาวนาบ่น​กัน​ก็คือ​ ​ทำ​นาปี​ได้​หนี้​กับ​ซัง​ ​ทำ​นาปรัง​ได้​ซัง​กับ​หนี้​  ​และ​แนวทางเกษตรสมัย​ใหม่​ก็มาต่อท้ายว่า​ ​ทำ​นา​ด้วย​ปุ๋ยอินทรีย์​ ​ไม่​มีหนี้​ไม่​มีซัง​ ​ครับ

สิ่งที่เกษตรกรต้องเป็นหนี้ ก็เพราะอะไรครับ ก็เพราะปุ๋ยเคมี เมื่อใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว ข้าวได้สารอาหารไม่ครบ หรือมากเกินไปในบางตัว ต่อมาข้าวก็จะเป็นโรค ทำต่อมาหลายๆ ปีดินก็จะเริ่มเสีย

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวและนาอินทรีย์อย่างลุงทองเหมาะมีวาทะเด็ดอยู่ว่า  "ทำเพื่อไม่ต้องทำ" การทำนาอินทรีย์อาจจะยุ่งยากในช่วงสามปีแรก ในการไถ ดูแล ให้ปุ๋ย  แต่ปีที่สี่ แม้แต่ไถก็ไม่ต้อง เพราะดินมันดี  ที่สำคัญ การทำนาอินทรีย์ รสชาดของข้าวจะดี

ไม่ต้องอะไรมากครับ แตงไข่เข้ที่ผมปลูกแล้วใช้ปุ๋ยอินทรีย์(ทำเอง)  ปุ๋ยน้ำอินทรีย์(ทำเอง)  หวาน กรอบ อร่อย บอกไม่ถูก 

ผมเองก็เสียดายครับที่ผมก็ไม่มีโอกาสได้ทำนาแล้ว 

สวัสดีครับน้องเม้ง

  • วันหนึ่งพี่กลับไปบ้าน กราบแม่ แล้วถามว่า แม่ครับเคียวเกี่ยวข้าวที่พ่อใช้อยู่แต่ก่อนนั้นอยู่ที่ไหน ผมขอเป็นมรดกให้ผมได้ไหม
  • แม่ได้ยินก็แปลกใจ  "เองจะเอาไปทำอะไรล่ะ"
  • "ผมจะเอาไปติดข้างฟา เป็นที่ระลึก เตือนสติตัวเองว่านี่คือกำพืดผม"  ผมมีพ่อ มีแม่เป็นชาวนา ทำนา แม้ว่าพ่อจะเป็นครูบ้านนอก แต่ก็เคียงข้างแม่ทำนามาตลอด 
  • พ่อ เป็นคนพิถีพิถันในการทำงานต่างๆ เคียวพ่อจะใหญ่ และคมมากกว่าเคียวคนอื่นโดยทั่วไป และไม่มีใครกล้าจับเคียวพ่อหรอก มันจะบาดมือเอา
  • ตกลงผมได้มรดกจากแม่เป็นเคียวเกี่ยวข้าวของพ่อ  แต่ไม่ใช่เล่มที่ต้องการ เป็นเล่มสำรอง แต่ก็ใช้ได้  ผมเอามาไว้ที่ห้องทำงานผมที่บ้านขอนแก่น เตือนสติเราครับ
  • ชอบที่ TAFS กล่าวถึงครับ โดนใจเช่นกัน น้องเม้ง

คุณเม้ง ช่วยด้วยค่ะ

เลือดซิบๆ เลย  ....  โดนคารมคุณ

P
TAFS  

บาด  ....  อ่านคราใด  เหมือนอ่านมติชนเลย อิอิ

 * สารภาพว่า ไม่เคยเห็นเล้ยค่ะ

* แต่เมื่อเช้าเพิ่งเห็น น้องควาย เยอะมาก เกือบ 20 ตัวได้  ... 

* ต้องมองชนิด เหลียวหลังสุดๆ จนลับสายตาค่ะ คิดถึง คุณเม้ง ขึ้นมาเลย

* แถวบ้าน นาข้าว เปลี่ยนเป็น นากุ้ง หมกเลยจ้า

* ดังนั้น เวลาเห็นภาพทุ่งนาคราใด ก็ตะลึง ตึง ตึง เมื่อนั้น

ขอบคุณค่ะ

....  ทานข้าวกลางวันให้อร่อยนะคะ  .....

 

 

P

สวัสดีครับโส

ขอบคุณมากครับ สำหรับผานที่เคยอยู่ในนา ชาวสวนมะพร้าวก็เอามาใส่ด้าม ปักปลายด้ามผานให้ผานชี้ฟ้า(คมผานขี้นชี้ฟ้า) แล้วใช้ลูกพร้าวมาปอกอีกทีครับ ผมเคยดูในรายการคุณทำได้ นานมาแล้ว สำหรับคนชำนาญนี่สุดยอดครับ แต่สำหรับคนที่ไม่ชำนาญนี้ แนะนำให้ใช้มีดพร้านะครับ อิๆ เสียวครับ ผมกลัวแต่อุปกรณ์นี้มันจะปักอกเอาจริงๆ อิๆๆ บางคนเค้าเปลี่ยนไปเป็นมีดหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบไปใช่ไหมครับ

คือใช่เลยครับ เห็นแล้วได้แรงนิ เพลินครับ โสอยู่บ้านลองคิดเครื่องปอกมะพร้าวแบบใหม่ดูครับ เอแต่เหมือนว่าจะมีแล้วด้วยครับ ที่เจาะลงไปที่ขั้วด้านบน แล้วกางออกเป็นพูๆ เลยครับ ไม่แน่ใจว่าผมเคยเห็นหรือว่าได้จากในฝัน ชักมึนแล้วครับ แต่เหมือนว่าจะเคยเห็นในทีวีหรือสื่อไรซักอย่างครับ

สำหรับเรื่องปุ๋ยอินทรีย์กับการทำนา ผมเห็นด้วยทุกประการครับ

  • ปลูกข้าวในดิน   ก็เหมือน ปลูกคนในประเทศ นั่นแหล่ะครับ
  • ให้ปุ๋ยอินทรีย์แก่ดิน ก็เหมือนให้การศึกษาในประเทศ
  • เมื่อข้าวงาม คนในประเทศก็งามตาม
  • เมื่อดินทุกที่มีอากาศดี ร่วนซุย ประเทศทุกๆ ที่ก็เกิดกิจกรรมชุมชุน มีบรรยากาศในการทำมาหากิน
  • หากจะปรับเปลี่ยนแนวทางเป็น ปุ๋ยอินทรีย์ ก็ต้องทำกันให้เห็นจริงแต่บัดนี้ครับ เพราะเราโดนฉีดด้วยเคมีเข้าเส้นเลือดเหมือนให้น้ำเกลือมาแสนนา ฉีดสารเคมีนะครับ คือระบบนิเวศน์ต่างกันในการได้รับปุ๋ยเคมีเริ่มต้น กับปุ๋ยอินทรีย์เริ่มต้น แม้ว่าปลายทางรากขนอ่อนของเข้าจะนำเคมีเข้าสู่รากก็จริงครับ
  • ที่บ้านตอนนี้จะหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพเหมือนกันครับ คือ การให้ผลของปุ๋ยอินทรีย์มันอาจจะช้ากว่าปุ๋ยเคมี แต่จะส่งผลในระยะที่ดีกว่าครับ
  • ทั้งสองตัวมีข้อดีข้อเสียในตัวของมันครับ เกษตรกร นักวิชาการการเกษตร ต้องชั่งให้ดีก่อนจะบอกประชาชน แต่ความยั่งยืนคือทางออกและทางข้างหน้าของลูกหลานเราครับ
  • จะเอาหนังสือภาษาอังกฤษฉบับไหนมาวางรองนอนก็ได้ครับ แต่ของให้คิดก่อนทำ ปฏิบัติก่อนการนำไปเผยแพร่ด้วยก็ดีครับ โดยปรับใช้ให้เข้ากับบ้านเรา ที่มีรากเหง้าหยั่งลึกอยู่
  • เราเองคงย้อนสู่อดีตให้เหมือนอดีตทั้งหมดคงเป็นไปได้ยากซักหน่อยครับ เพราะสภาพกาลเปลี่ยนไป แต่ต้องปรับใช้เทคโนโลยีให้ถูกต้อง ถูกที่ ถูกทาง ไม่ควรไปเร่งให้พืชหรือสัตว์ผลิตสิ่งที่ต้องการเพื่อโกยเงินเข้ากระเป๋าจนมากเกินไปครับ
  • ผมขอบอกว่าผมก็สงสารนกนางแอ่นเหมือนกันครับ ผมก็สงสารต้นยางเหมือนกัน ที่เรากรีดๆ อยู่ทุกวันนะครับโส ลองจำลองต้นยางคือแข้งหรือขาเราก็ได้ครับ ผมคิดทุกครั้งเมื่อกรีดยางเมื่อก่อน ว่านี่หากต้นยางเหมือนคน มีคนอื่นมากรีดเนื้อเราเพื่อเอาเลือดจากตัวเราวันละหนึ่งลิตร เราจะเป็นอย่างไร อิๆๆๆ ที่พูดนี่ไม่ใช่อะไรครับ แค่จะบอกว่าความพอเพียงเท่านั้นเองครับ กรีดเอาจากต้นมากกว่าการสร้างใหม่ได้ในแต่ละวัน น้ำยางในต้นก็ขาดทุน
  • เหมือนเราให้เลือดเลยนะครับ เราให้โดยที่เลือดในตัวเรายังโอเคและสร้างใหม่ได้ ทำนองเดียวกับที่เราขอน้ำยางในต้นยาง หรือเราสอยไข่มดแดงโดยเหลือไข่ไว้ในรังมดแดงแบบไม่ทำลายรัง เหมือนตอนที่ท่านครูบา สุทธินันท์ พูดคุยไว้ใน KM กับการสอยไข่มดแดง ไงครับ
  • เน้นความยั่งยืนเป็นที่ตั้ง แม้ว่าทุกสิ่งจะต้องเปลี่ยนไปก็ตามครับ

พล่ามมานานอีกแล้ว นี่หล่ะครับ นักพล่ามตัวจริง ห้าๆๆๆ สนุกในการทำงานนะครับ ทำแบบพอเพียงให้เพียงพออย่างที่โสเดินอยู่แล้ว ให้เป็นตัวอย่างดีๆ แก่สังคม และเป็นผลิตผลของคนที่จบปริญญาตรีอีกคนที่กลับไปจับด้ามจอบ ด้ามพร้า ด้ามมีดกรีดยางได้ และเป็น ส่วนผมเอง มีให้จับเสียหลายอย่างครับ

ขอบคุณมากครับ

P

สวัสดีครับพี่บางทราย

  • วันหนึ่งพี่กลับไปบ้าน กราบแม่ แล้วถามว่า แม่ครับเคียวเกี่ยวข้าวที่พ่อใช้อยู่แต่ก่อนนั้นอยู่ที่ไหน ผมขอเป็นมรดกให้ผมได้ไหม
  • แม่ได้ยินก็แปลกใจ  "เองจะเอาไปทำอะไรล่ะ"
  • "ผมจะเอาไปติดข้างฟา เป็นที่ระลึก เตือนสติตัวเองว่านี่คือกำพืดผม"  ผมมีพ่อ มีแม่เป็นชาวนา ทำนา แม้ว่าพ่อจะเป็นครูบ้านนอก แต่ก็เคียงข้างแม่ทำนามาตลอด 
    • ขอบพระคุณมากครับ ที่ทำให้ความงามของท้องนาเขียวขจีขึ้นอีกครั้งนะครับพี่ แม้ว่าจะเขียวในท้องนาไม่ได้ ก็เขียวในใจครับ
    • ลำดับการทำนาที่ผมเล่ามาด้านบนนั้น สำหรับนาดำเท่านั้นครับ
    • ตอนนี้ที่บ้านเปลี่ยนแนวการทำนาไปหมดแล้วครับ คือ เมื่อมีเหมือง ร่องน้ำเข้าไป และถูกขุดให้ลึกมากขึ้น น้ำก็ไหลลงสู่เหมือง ที่ทำนาก็มีน้ำน้อย ผมไม่แน่ใจว่าคนที่ขุดเหมืองนี่ เค้าคิดดีแล้วหรือยังที่จะลอกขุดให้เหมืองลึกเพื่อให้น้ำไหลไปได้ไกลๆ ด้วย
    • ชาวนาก็ต้องปรับตัว เพราะการจะทำนาดำได้นั้น ต้องมีน้ำที่เพียงพอ หากน้ำไม่พอ นาดำก็ไร้ค่า ตอนที่เอาต้นกล้าอ่อนมาสามต้น ปักลงไปในโคลนนั้น นิ้วของเราจะนำรากต้นกล้าลงไปก่อน พร้อมปิดและห่อโคนไม่ให้ล้ม ก่อนจะปักดำใน กอต่อไปครับ ถามว่าหากไม่มีน้ำ จะทำอย่างไร มือใครจะปักลงดินที่ไม่มีน้ำได้ครับ ยกเว้นขุดแล้วปลูกครับ
    • ดังนั้นแนวทางการทำนาแถวๆ บ้านทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการหว่านเพียงครั้งเดียว จะเน้นการทำข้าวเตี้ย ไม่สูงมากนัก ไมปักดำ หว่านครั้งเดียว เกี่ยวได้เลยครับ เพราะใช้เวลาประมาณสามเดือน นี่ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ใช้สำหรับข้าวนาดอนครับ หรือน้ำไม่ลึกครับ โดยชาวนาจะต้องดูแลข้าวเช่นกันครับ โดยแยกไม่ให้ต้นข้าวที่หว่านไปนั้นอยู่ชิดกันเกินไป เพราะต้องเว้นกอข้าวให้เค้าได้แตกกอด้วย
    • ผมไม่แน่ใจว่า การเปลี่ยนจาก สี่เดือนมาเป็นสามเดือน แบบนี้จะเป็นการทำลายการทำนาระบบเก่าหรือไม่ แต่เห็นแล้วเหมือนว่าจะสะดวกกว่าในการจัดการ ประกอบกับการลงแขกเปลี่ยนไปเป็นการจ้างด้วยครับ
    • การใช้ แกะหรือแกละมาตัดข้าวทีละคอรวง ก็เปลี่ยนมาเป็นเคียวรวบเกี่ยวรวง การตัดข้าวใส่กระสอบนวดกันที่ในแปลงนาเลย ก็เป็นแนวใหม่ในสมัยนั้นครับ หนึ่งแปลงตัดไม่นานครับ แป๊บเดี๋ยวก็เสร็จครับ
    • ใช้มือขวาจับด้ามเคียว หันคมเคียวไปทางด้านขวา ใช้ด้ามเคียวไปดักไว้ที่ด้านหน้าของขาซ้าย แล้วใช้มือซ้ายกวาดคอข้าวจากขวามาหาคมเคียวแล้วรวมตัดให้ข้าวขาด หนึ่งครั้งก็ ตัดคอข้าวไปได้เยอะครับ ความเร็วรวดเร็วมากนักครับ (สูตรนี้ผมคิดเอาตามแบบของผมนะครับ คิดว่าท่านอื่นก็คงใช้ครับ เพราะจะป้องกันการเกี่ยวขาตัวเองได้อย่างดีครับ การตัดควรใช้ถุงมือครับ)
    • สิ่งที่พี่บางทรายเล่ามา ผมเห็นภาพ เห็นความน่ารักระหว่างความสัมพันธ์ของ พ่อแม่ลูก และชอบคำว่า กำพืด
    • หากนักการเมืองมีหัวใจเป็นชาวนา ชาวสวน เกษตรกร และเข้าใจคำว่ากำพืด ผมก็เชื่อว่า ฟ้ากับดินก็ไม่ห่างกันมากครับ อย่างน้อยก็คงน่าจะมีฝนดีๆ ตกลงมาบ้างครับ
    • ในทางเดียวกันครับ คนรวยหรือคนจน ก็ไม่ห่างกันมาก หากภายในมีคำว่ากำพืดและมองสิ่งที่เห็นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มากกว่าต้นทุนและกำไร
    • หากจะเขียนกราฟการกระจายตัวแบบที่พี่แถบว่า ภาพการกระจายตัวจะไม่เป็นรูประฆังคว่ำแบบปกติครับ แต่จะเป็นการเบ้ของการกระจายตัว เบ้มากเท่าใด ฟ้ากับเหวก็ห่างกันมากเท่านั้นครับ
    • ขอบพระคุณมากๆ เลยครับ
    P
    poo  

    สวัสดีครับคุณปู

    เลือดซิบๆเลยหรือครับ อิๆๆ บาดใจหรือครับ

    ภาพเหล่านี้จะอยู่ในท้องทุ่งนาครับคุณปู ผมว่าอาจจะหาดูได้อยู่ครับในเมืองไทยครับ ทางอีสานผมเชื่อว่ายังมีอยู่อีกครับ จะเช็คว่ายังมีหรือไม่ ให้เช็คเพลงใหม่ๆ นะครับ เพลงลูกทุ่งใหม่ๆนะครับ หากตราบใดที่ไม่เพลงพวกนี้เหลืออยู่แล้ว กลายเป็นเพลงแนวใหม่หมด แสดงว่ามันอาจจะตายไปแล้ว เพลงกิจกรรมทำนาจะเปลี่ยนเป็น คร่ำครวญซากคันไถ ผาน วัวควาย ทำนองนี้ คือ มันกำลังจะจากเราไปแล้ว หรือเปล่าครับ

    ผมได้ข่าวว่า ที่พังงาจะมีควายอยู่อย่างน้อยหนึ่งฝูงครับ นับว่าเป็นความโชคดีของคุณปูครับ ที่ยังมีให้เห็น คุณตาผมท่านบอกไว้ว่า ให้ทำบัญชีควายไว้ได้เลย วาดรูปทำแบบเอาไว้เถิดเพราะอีกไม่นานจะหายไปจากท้องทุ่งนา แล้วนกกระยางหรือนกเอี้ยงจะเลี้ยงควายเฒ่าไม่ได้แล้วใช่ไหมครับ นกเอี้ยงต้องเปลี่ยนที่อยู่แล้วครับ....

    นาข้าวเปลี่ยนเป็นนากุ้งหน่ะสมัยนั้นคุณปูจำได้ใช่ไหมครับ ที่กุ้งมาแรงนะครับ แต่ในทางกลับกัน จะเปลี่ยนนากุ้งเป็นนาข้าวนี่ ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ....เปลี่ยนนากุ้งมาเลี้ยงปลาทั่วไปหน่ะดีกว่าครับ

    บางอย่างเรากลับไปได้ บางอย่างถอยหลังกลับไม่ง่าย เหมือนเราเดินทางขี้นเขาไงครับ เดินทางข้ามภูเขา พอไปลงที่ชายเขาหลังจากผ่านยอดเขาไปแล้ว หากให้ถอยหลังกลับ จะเป็นการถอยหลังขึ้นเขา ไม่ง่ายเลยนะครับ (แค่คิดเฉยๆนะครับ อย่าไปแอบทำนะครับ)

    ที่ผมเห็นภาพทุ่งนาและช้ำใจที่สุดก็คือ การเห็นภาพทุ่งนาที่ปลูกยางลงไปนะครับ

    เชิญชมภาพในบทความนี้ครับ ปลูกยางในทุ่งนา เสียทั้งเวลาและนาข้าว

    ขอบคุณมากครับ

    เอ้ย ปลูกยางในนา  เป็นไปไม่ได้  เพี้ยนแหงๆ

    กำลังจะถาม พอดีได้ดูภาพ อ๋อ เป็นเหตุการณ์จริง

    ...  บ้านปูปลูกยางบนควน ควนหลายๆ 5-6 ลูก

    ไม่ไหวๆ  เคยลองไปเดิน กลับมาขาเดี้ยงเลยค่ะ

    แล้วปูจะทำอะไรได้ไหมเนี่ย  55 

     

     

    P
    poo  

    สวัสดีครับคุณปู

    อิๆๆ ขอบคุณมากครับ ยังไงก็ระวังอย่าให้ไปปลูกยางในนากุ้งนะครับ จะเพี้ยนกว่าครับ ปลูกยางในนาก็ต้องดูสภาพนาด้วยนะครับ ว่านาประเภทใด คือต้องดูดิน เหมือนใช้คนให้เหมาะกับงานนะครับ

    คุณปูเคยคิดไหมว่า รากต้นไม้ที่ชายควน มันมีโครงสร้างอย่างไร เหมือนหรือต่างจากปลูกยางในพื้นที่เรียบไหม ลองจินตนาการดูครับ จะเห็นความฉลาดของต้นไม้ครับ

    เชิญบทความนี้ครับ เรียนรู้ต้นไม้ รู้เขารู้เรา ชีวิตและแง่คิดจาก "ต้นไม้"

    อิๆ รถวิ่งทางเรียบ เอาไปขับขึ้นควนก็ธรรมดานะค่ะคุณปู แต่หากฝึกปรับไปเรื่อยๆ แปลงร่างไปเรื่อยๆ รถคันนั้นจะชินกับพื้นที่ ก็อาจจะขับได้ครับ อาจจะต้องปรับโครงสร้างนิดหน่อยครับ

    ผมเดินผ่านศูนย์ฟิตเนสส์ บางที่ผมก็คิดนะครับว่า หากเราเอาพลังของคนเหล่านี้ที่มาวิ่งให้เปลืองพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ได้เหงื่อ ไปทำเกษตรกร หรือปั่นไฟแทนพลังงานน้ำ คงจะดีไม่น้อยเลยครับ เคยลองคิดเล่นๆ ไหมครับ

    สิ่งที่คุณปูทำได้คือ ฝึกเดินขึ้นควนครับ อิๆๆ พร้อมๆ กับให้กำลังใจคนที่อยู่บนควนนะครับ เพราะคนเราเล่นดนตรีทุกชนิดพร้อมๆ กันไม่ได้ใช่ไหมครับ

    เพราะคนเรามีข้อจำกัดแตกต่างกันครับ แต่เอาข้อจำกัดเหล่านั้นมาจุนเจือเกื้อหนุนกันได้ใช่ไหมครับ

    สนุกในการใช้ชีวิตแบบที่เลือกแล้วนะครับ

    ผมไม่แน่ใจว่า รูป ผาน  และหัวหมู สลับกันหรือเปล่านะครับ  หรือว่าเราเรียกต่างกันในพื้นที่ต่างกัน

              นั่นสิครับบางทีมันก็นานมากจนผมคิดไม่ออก

              แต่ผมปฏิญาณกับตัวเองและหน้าบรรพบุรุษชาวนาของผมว่าผมจะกลับไปทำนา แม้ไม่ใช่ในฐานะอาชีพแต่ผมจะปลูกข้าวกินเองดูบ้างให้สะใจนายทุนค้าข้าว

              ตอนนี้ผมมีที่นาที่พ่อแม่แบ่งให้ไว้ ผมภูมิใจที่ครอบครัวเรามีที่ดินมากมาย(สำหรับผม) ขนาดนี้

              วันหน้าจะเชิญอาจารย์ไปนั่งที่ระเบียงกระท่อมปลายนาของผมบ้าง   คิดถึงเพลงบทที่ดีของคาราบาวแม้ว่าผมจะสาบส่งวงดนตรีในใจของผมออกไปนานแล้ว   เพลงลุงฟาง  ข้อความที่จำได้บ้าง "ทำนาโดยไม่ต้องทำนา เก็บเวลาไว้คุยกับตาวัน" "คนพืชมดแมงร่วมกันทำนา"  "ดำเนินชีวิตตามหลักธรรมา ค้นหาตัวตนบนความสันโดษ"

             

    P

    สวัสดีครับคุณมิตร

    ขอบคุณมากครับผม ... ทางใต้เรียกตามในภาพครับ

    คือตรงตัว ตรงไปตรงมาเลยครับ

    หัวหมู นึกถึงตัวของหมูเลยครับ จะมีปากหมูชอบใช้ปากจมูกในการคุ้ยๆ ภาษาใต้เรียกว่า ดุน หรือ ดุด ไม่แน่ใจว่าที่มา จากทำนองนี้ไหมครับ ประมาณ ตัวหัวหมูในภาพ ก็ทำนองคล้ายๆ หัวหมูครับ

    ส่วนผาน จะที่เป็นเหล็กครับ

    แต่พอเป็นควายเหล็ก เค้าเรียกทั้งชุดว่า หัวหมู แล้วส่วนที่เป็นส่วนที่ดินไหลขึ้นมาแล้วพลิกดินไปทิ้ง เรียกว่า ผาน

    อิๆ ผมก็ไม่ได้คลุกคลีนานแล้วครับ ลืมๆ เหมือนกันครับ

    อ่านแนวทางของคุณมิตรแล้ว เป็นแนวทางที่น่าชื่นชมครับ หากคุณมิตรเดินในแนวนี้แล้วเข้าใจและอยู่ร่วมกับธรรมชาติ คุณมิตรก็จะอยู่รอดเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติไปได้สบายครับ

    มีทรัพย์ในดิน สินในน้ำ  คำนี้คนไทยส่วนใหญ่อาจจะลืมไปแล้วครับ ตอนนี้เรามีกันเป็น มีทรัพย์ในตลาดหุ้น มีสินในธนาคาร

    หากวิ่งกลับไปยังเป้าหมายเดิม ก็จะอยู่รอดเองครับผม จะสร้างบ้านหลังละสิบล้าน ก็จะเหลืออะไรครับ หากโดนแผ่นดินไหวเข้าไป

    บ้านหลังสิบล้าน ฤาจะสู้ขนำน้อย (กระท่อม) ปลายนา ทนทั้งแดด ฝน แผ่นดินไหวครับ

    ขอบคุณมากๆ เลยครับผม

    สวัสดี...คุณเม้ง

    ขอสักนิดนะครับ...

    • ผมจำได้ว่าตอนผมอยู่ ป.6 พ่อผมทำคันไถใหม่ พร้อมกับหัวหมู และหางยาม กับแอก เรียกว่า ถอยใหม่ทั้งชุด
    • เท่าที่ผมจำความได้ วัวคู่ไถ 2 ตัวแรกของพ่อ ตัวหนึ่งชื่ออีด้วน (หางมันด้วน) อีกตัวชื่ออีดอก (หางดอก) สีดำทั้งคู่
    • ผมมีโอกาสได้จูงวัวคู่ไถใหม่ เพื่อหัดให้มันไถนาเมื่อตอนเข้าเรียน ม.1 ตัวหนึ่งชื่อ อีหมุน (สีออกดำๆ) อีตัวชื่อ อีหริ่ง (สีแดง) ตัวน้ตอนเกิดแม่เป็นคนตั้งชื่อให้
    • คันไถ แอก คราด ยังอยู่ครบ แต่วัว  ตอนนี้พ่อขายหมดแล้วครับ... ท่านอายุมากเลี้ยงไม่ไหวครับ...
    • ผมยังนึกถึงบรรยากาศ ตอนหัวรุ่ง ที่ต้องจูงวัวไปส่งให้พ่อที่นาซึ่งอยู่ไกลจากบ้านเกือบ 2 กิโล
    • ยังนึกถึงวันที่ พวกเรา 5 คนพี่น้อง ช่วยแม่ถอนกล้า พวกเราวางไว้เป็น "จับ" แม่จะหยิบไป ฟัดทีละจับ  แล้วนำมารวมกัน ประมาณ 3 - 4 จับ จึงจะเรียกว่า หนึ่งกำ แล้วจึงมัด แล้วช่วยหาบไปแช่ไว้ที่นารอคนไปปักดำ
    • นึกถึงวันที่ต้นข้าวแตกกอ และตั้งท้อง (ช่วงนี้แหละครับที่มีสำนวนของคนไต้เกิดขึ้น) คือสำนวนที่ว่า "อย่าฉีกท้องกินเสียก่อน" ความหมายก็คงจะพอๆกับคำว่า "ชิงสุกก่อนห่าม" เด็กๆจะชอบฉีกกอข้าวที่ตั้งท้องกินเพราะจะมีรสหวานๆมันๆ
    • ยังนึกถึง ขนมที่หมอขวัญพาไปตั้งเวลาผูกขวัญข้าว
    • ยังนึกถึงขนมลอดช่องที่แม่ทำไปเลี้ยงคนที่ช่วยเก็บข้าว
    • ยังนึกถึง "คันหาบ" กับ "แสก" ที่หาบเลียงข้าวจากนา
    • ยังนึกถึง หนังควาย ผืนใหญ่ ที่ใช้ปูนวดข้าว
    • นึกถึงจังหวะที่แม่ขวัดข้าว พร้อมกับเสียงนิ้วที่ดีดกับด้ง
    • นึกถึงสาดตากข้าวที่สานกับ "ทางเหรง" ต้นไม้ชนิดหนึ่งมีแถวสงขลา พัทลุง ตรัง ใบคล้ายใบโหนด
    • นึกถึง ครกสีมือ ที่ตั้งอยู่ใต้ถุนบ้าน
    • นึกถึงครกทิ่มข้าวที่ขุดกับไม้หยี
    • และนี่คือวิถีชีวิตของคนทำนา

                                     ทิ่มหม่าว

    เพลง...ประกอบระบำทิ่มหม่าว

    (คำร้องโดย ครูโชคดี ช่วยด้วง)

    โรงเรียนนพคุณประชาสรรค์  อำเภอหัวไทร

     

              ขึ้นแห้ง ขึ้นแล้งเดือน 3  (ซ้ำ) เหนียวออกรวงงามพอเป็นดีหม่าว

              คืนนี่เดือนแจ้งดีนะเจ้า (ซ้ำ) เก็บเหนียวมาทิ่มหม่าวสักหก เจ็ดครก

              หมายเหนียวไว้แรกหัวเช้า (ซ้ำ) แลพอเป็นดีหม่าวอยู่ที่นาบิ้งตก

              ทิ่มหม่าวสักหกเจ็ดครก (ซ้ำ) ช่วยกันทิ่ม         ล่าวน้องสาวเหอ....

     P

    สวัสดีครับคุณครู

    • กราบขอบพระคุณมากครับ
    • ภาพต่างๆ การบรรยายต่างๆ ทำให้ผมนึกถึงแล้วจินตนาการตาม ชื่อวัวทุกตัวมีความหมายมากครับครับ
    • บรรยากาศที่คุณครูเล่ามา ชอบทุกขั้นตอนครับผม
    • ใช่ครับ ผมชอบความหมาย "อย่าฉีกท้องกินเสียก่อน" ความหมายก็คงจะพอๆกับคำว่า "ชิงสุกก่อนห่าม" เป็นการสอนอ้อมๆ ให้คิด
    • ผมได้ข่าวว่า ยังมีหลายๆ ที่ ที่มีการนำครกสีมือ มาใช้อยู่ครับ
    • ไม่แน่ใจว่าคุณครูเคยไปวัดป่ายาง ยังครับ คุณแม่บอกผมว่า ที่นั่นก็มีการใช้ครกสีมือเช่นกันครับ พร้อมเกษตรอินทรีย์ครับ
    • ขอบคุณมากๆ เลยครับ สำหรับ ทิ่มหม่าว และเพลงครับ
    • ดีมากๆ เลยครับ ได้บรรยากาศที่ดีครับ
    • หากผมมีที่นา เอาสวนยางมาแลกก็ไม่ยอมครับ
    • หากผมมีสวนยาง เอาที่นามาแลกก็ไม่ยอมครับ
    • ขอบคุณมากครับ

    สวัสดี น้องเม้ง

    บายดีนะ

    คิดถึงแหละ โสทร กัน

    ขอถามหิด ทำพรือให้เด็ก ๆ มีหัวใจสาธารณะ

    เป็นโมเดล(พร้อมคำอธิบายกันจะดีมากเลยน้อง)

    สวัสดีครัีบพี่ณรงค์ เพ็ชรเส้ง

      สบายดีไหมครัีบ พี่ลองทำกิจกรรมร่วมกันกับเด็กครัีบ แล้วพาเดินป่า แล้วฝึกการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจธรรมชาติมาใส่ใจเด็กครัีบ ฝึกให้เค้าคิด เด็กๆ จะเก่งเรื่องจินตนาการครัีบ การให้โอกาสและเปิดทางปูทางใ้ห้เค้าิคิดตอนเด็กๆ นี่ล่ะครัีบผมว่า น่าจะได้ภูมิคุ้มกันแต่เด็กๆ ครัีบ

        เพราะบางทีฉีดตอนโต มันสายไปครัีบ ต้องรอเกิดใหม่อย่างเดียวครัีบ แบบนี้ช้าไปครัีบ อิๆๆๆ ล้อเล่นครัีบ  เด็กๆ นิยมการมีตัวแบบและโมเดลต้นแบบครัีบ  ยกตัวอย่างให้เค้าเห็นครัีบ แล้วเค้าจะเห็นของจริงมากขึ้นครัีบ

        ทำเท่าที่ทำได้นะครัีบ เป็นกำลังใจให้ครัีบ ผมกลับมาก็ต้องศึกษาหลายๆ อย่างเช่นกันครัีบ

    ขอบคุณมากๆนะครัีบ ได้ผลเป็นไงเล่าให้ฟังกันบ้างนะครัีบ จินตนาการนะครัีบ ยกสถานการณ์ให้เด็กแก้ไขครัีบ เค้าจะคิดได้กว้างขึ้นครัีบ แล้วเค้าจะรู้ว่าตัวเองควรจะทำอย่างไรที่บอบช้ำมากที่สุดครัีบ การให้ไม่ควรต้องรอให้พร้อมครัีบ จิตสาธารณะเริ่มจากภายในเช่นกันครัีบ พร้อมที่ใจ ไม่ใช่เงินทอง

    ขอบคุณมากครัีบ คิดถึงพี่เช่นกันครัีบผม

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท