คาราวานเกวียนหาไม้และอาหารจากป่า


                      

                       ธิบายภาพ : ชาวบ้านอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เข้าป่าหาไม้และอาหารจากป่า การหาไม้บางครั้งเป็นการระดมพลังชุมชนเพื่อหาไม้สร้างสิ่งสาธารณะของชุมชนและเป็นมรดกสังคมมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ศาลาวัดหนองกลับ ซึ่งเป็นศาลาไม้ขนาดใหญ่มีเสามากกว่า ๑๐๐ ต้น วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

 เมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อน ชุมชนหนองบัวทั้งในตัวเมืองและชุมชนโดยรอบของหนองบัวในปัจจุบันยังมีความเป็นบ้านนาป่าดงมาก สภาพป่าประปรายเริ่มตั้งแต่บริเวณหน้าวัดหนองกลับในปัจจุบัน กระจายไปจนถึงบริเวณกลุ่มบ้านเรือนของคนเผาถ่านและโรงเรียนหนองคอก เมื่อพ้นจากแยกต้นอีซึก ก็เริ่มเข้าสู่พื้นที่ป่าต่อเนื่องไปจนถึงเขามรกต เขาพระ เขาเหล็ก เขาสูง ลึกเข้าไปถึงปากดง เหมืองแร่ เชื่อมต่อกับแนวป่าเมืองเพชรบูรณ์ เป็นแหล่งเหมืองแร่ยิบซั่มที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ อีกทั้งมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารป่าและทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อต้องการสร้างบ้านและสิ่งสาธารณะ ชาวหนองบัวก็จะไปหาไม้และหาอาหารจากป่าดังกล่าว 

  การสร้างชุมชนและดำเนินชีวิตตามจังหวะฤดูกาล 

หลังฤดูเก็บเกี่ยวและนวดข้าวแล้ว ก็จะเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านหนองบัวทั้งในตัวเมืองและชุมชนโดยรอบใช้เวลาไปกับการทำงาน ตลอดจนกิจกรรมชีวิตและการสร้างสรรค์ความเป็นชุมชนซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
(๑) การซ่อมแซมและทำเครื่องมือทำมาหากิน เช่น ซ่อมเกวียน ทำคันไถ ทำเรือ ทำเครื่องมือจักสานต่างๆ การตีมีด ตีเคียว การทำครก สีฝัดข้าว การทำแอก การทำเชือก
(๒) การพัฒนาที่อยู่อาศัยและปัจจัยการดำเนินชีวิตของตนเอง  เช่น การทำบ้าน ทอผ้า ทำนุ่น ทำหมอน เสื่อ สาด การสะสมอาหารให้เพียงพอ ทำปลาร้า ปลาย่าง พริกเกลือ
(๓) การพัฒนาความเป็นชุมชนและการระดมพลังชุมชนสร้างสรรค์ความเป็นส่วนรวม เช่น การสร้างศาลาวัด กุฏิสงฆ์ การสร้างโรงเรียน การพัฒนาแหล่งน้ำสาธารณะ การทำศาลาพักร้อน การสร้างสิ่งสาธารณะของชุมชน การทำถนนและทางสัญจรของชุมชน
(๔) การทำกิจกรรมชีวิตตามประเพณีและวิถีชีวิตตามศาสนธรรม เช่น การจัดงานบวช การจัดงานแต่งงาน  การหมั้นหมายเป็นดอง
(๕) การสร้างสรรค์ศิลปะและสะสมภูมิปัญญา เช่น การทำงานแกะสลัก งานฝีมือ การปั้นและสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อศาสนา การจำหลักใบลาน การวาดรูปสื่อเรียนรู้ศาสนธรรม
(๖) การละเล่นและสิ่งบันเทิงใจ เช่น การจัดงานประจำปีของวัดหนองกลับ การจัดงานรื่นเริงหน้าอำเภอ การเล่นตีไก่ การเล่นตรุษสงกรานต์ การกัดปลา

การทำนาทำไร่ เป็นงานหลักในชีวิตของชาวบ้าน ดังนั้น เมื่อเสร็จสิ้นหน้าทำนาใน ๒ ช่วง อันได้แก่ หน้าปักไถหว่านดำ กับหน้าเก็บเกี่ยวและนวดข้าว ก็จะมีกิจกรรมดังข้างต้นดำเนินไปตามจังหวะฤดูกาล บางกิจกรรมก็อยู่ภายในครัวเรือน บางกิจกรรมก็เคลื่อนไหวไปพร้อมกันเป็นชุมชน มีความเป็นองค์รวมมากกว่าความแยกส่วน

  การหาไม้กับการสร้างความเป็นชุมชนของชุมชนหนองบัว 

การสร้างความเป็นชุมชนหนองบัวที่สำคัญในอดีตมีหลายเหตุการณ์ ตัวอย่าง เช่น การสร้างวัดเทพสุทธาวาส การสร้างวัดหนองกลับ การขุดสระวัดหนองกลับ การสร้างโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม)ซึ่งต่อมาคือโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) การสร้างโรงเรียนหนองคอก หรือโรงเรียนหนองบัวซึ่งแยกออกไปจากโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) เหล่านี้เป็นต้น

สิ่งสาธารณะของชุมชนดังกล่าวนี้ สร้างขึ้นโดยหาไม้และระดมทรัพยากรแรงงานจากชาวบ้านหนองบัว ในชุมชนหมู่บ้านโดยรอบของตัวเมืองอำเภอหนองบัว ก็ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวนี้เช่นกัน เช่น วัดใหม่นิกรประทุมรักษ์ ที่บ้านตาลิน วัดกลาง ที่บ้านห้วยถั่วเหนือ ตำบลห้วยร่วม โดยเฉพาะศาลาวัดหนองกลับ ซึ่งเป็นศาลาที่หลวงพ่อเดิมแห่งวัดหนองโพธิ์ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และหลวงพ่ออ๋อยได้พาชาวบ้านสร้างขึ้น ก็เป็นศาลาที่มีเสาไม้ขนาดใหญ่นับร้อยต้น

เสาไม้และกระดานที่สร้างศาลาดังกล่าว เกิดจากการระดมแรงงานชาวบ้านไปหาไม้จากป่าหนองบัวและนำมาทำเป็นเสา เลื่อยเป็นกระดาน ทำให้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีคำว่า ความสามัคคี อยู่ในเอกลักษณ์และคำขวัญของชุมชนหนองบัวในเวลาต่อมา วิธีร่วมแรงร่วมใจกันของชาวบ้านดังกล่าวนี้จึงควรสืบทอดให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เพื่อเป็นความภูมิใจ รวมทั้งตระหนักถึงความเป็นพลเมืองและวิถีชาวบ้านของตนเอง ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างเอกลักษณ์และความเป็นตัวตนของสังคม

  คาราวานเกวียนเดินป่า 

การไปหาไม้ในป่านั้น ชาวบ้านจะต้องไปด้วยกันเป็นกลุ่มก้อนและหลายครอบครัว เนื่องจากการเลื่อยไม้และขึ้นไม้บรรทุกเกวียนนั้น ต้องอาศัยการช่วยกันเป็นกลุ่ม ๕-๑๐ คน อีกทั้งการเดินป่าและหาของป่าในอดีตนั้น มีสภาพที่จะต้องระวังภยันตรายช่วยกันหลายด้าน ทั้งจากสัตว์ป่า การหลงป่า ตลอดจนความห่างไกลจากชุมชนเข้าไปในป่าซึ่งล้วนแต่ไม่สามารถทำโดยลำพังได้เลย ดังนั้น จึงต้องไปเอาแรงและทำด้วยกันเป็นกลุ่ม

หากเป็นการไปหาไม้และทรัพยากรจากป่ามาทำงานส่วนรวมของชุมชน ชาวบ้านก็จะรวมตัวกันอาจเป็น ๒๐-๓๐ ครอบครัวและจากหลายหมู่บ้าน หากเป็นการไปหาอาหาร หน่อไม้และหาไม้มาทำบ้าน ก็จะรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มเล็กๆต่ำกว่า ๑๐-๑๕ ครอบครัว แหล่งที่ไปก็คือในป่าลึกของเขาเหล็ก เขาสูง เขามรกต เขาพระ เขาหินสีชมพู

  การเตรียมตัวของชาวบ้านเพื่อร่วมคาราวานเกวียนเดินป่า 

เกวียนสำหรับการเข้าป่าไปหาไม้และอาหารจากป่าในลักษณะดังกล่าวนี้ ชาวบ้านจะถอดเรือนเกวียนออก ก่อนถึงวันเดินทางก็จะซ่อมแซมและตรวจสอบเกวียน ตลอดจนเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆอย่างพิถีพิถัน ดุมล้อ กงล้อและเพลาเกวียนจะต้องหยอดน้ำมันและดูสลักทุกจุดให้มีสภาพแน่นหนา โซ่และเชือกหนังควายเพื่อยึดท่อนไม้กับเกวียน จะต้องนำมาซ่อมและทอขึ้นใหม่อย่างเพียงพอ แทงเลื่อยให้คมวาว ลับมีด ขวาน ตำดินปืนและดินชนวนอย่างเพียงพอ รวมทั้งทดสอบยิงปืนจนได้ดินปืนที่มีประสิทธิภาพ สานตะกร้าเพื่อใส่ผัก กลอย หน่อไม้ รวมทั้งเตรียมอาหารที่สะดวกแก่การกินในกองคาราวานเกวียน โดยเฉพาะพริกเกลือ ปลาร้าสับ พริกป่น ปลาจ่อม ซึ่งผักและหน่อไม้ก็จะไปหาเอาจากข้างทาง

เกวียนเล่มหนึ่งก็จะมีชาวบ้าน ๑-๒ คนจาก ๑ ครอบครัว ซึ่งโดยมากก็จะเป็นผู้ใหญ่ชายและผู้หญิงที่จิตใจเข้มแข็ง สัตว์ต่างเกวียนสำหรับเข็นไม้ซุงนั้นจะใช้ควายอย่างเดียว เพราะควายจะสามารถเดินลากเกวียนบนทางลุ่มๆดอนๆตามเนินเขาและลุยน้ำลุยโคลนซึ่งต้องใช้พลังมากได้ดีกว่าวัว ส่วนวัวนั้นจะสามารถอดทนเดินทางไกลโดยเฉพาะในทางราบกันดารน้ำและกรำแดดได้ดีกว่าควาย ดังสะท้อนในหลักคิดของชาวบ้านว่า ควายสร้างขึ้นจากดินเหนียว ทนฝนทนน้ำลุยโคลน วัวสร้างขึ้นจากดินทราย ทนแดดและความแห้งแล้ง

ที่หมู่บ้านของผมซึ่งปัจจุบันไกลออกไปจากตัวอำเภอหนองบัว ๗ กิโลเมตรและใช้เวลาขับรถเพียง ๑๐ กว่านาทีนั้น ในอดีตเมื่อเข้าไปหาของป่าจะใช้เวลาเดินทางตั้งแต่ตี ๓ และกลับเอาเมื่อมืดค่ำ โดยเมื่อถึงวันเดินป่า นอกจากต้องเตรียมสิ่งต่างๆในข้างต้นให้เสร็จสิ้นก่อนถึงวันเดินทางแล้ว ตอนหัวค่ำของคืนที่จะออกเดินทาง ชาวบ้านก็จะลากเกวียนมาจอดกลางลานรอการเทียมควาย

เมื่อไก่ขันครั้งแรก ดาวจระเข้หันหัวลง และดาวเหนือหรือดาวประกายพรึกลอยอยู่เหนือยอดไม้ด้านทิศเหนือ ซึ่งจะเป็นเวลาประมาณตีสาม ชาวบ้านก็จะเริ่มกู่ถึงกันเป็นทอดๆและเริ่มออกเดินทางสมทบกันไปเรื่อยๆตามละแวกบ้านผ่านทางรวมกันเป็น ๑๐-๒๐-๓๐ เล่มเกวียน

ทุกอย่างเป็นการปฏิบัติสอดคล้องผสมผสานกันเหมือนเป็นไปเอง ในกองคาราวานเกวียนจะมีกลุ่มผู้ชาย ๕-๖ คน ที่จัดวางตนเองเป็นกำลังคอยดูแล และเดินล่วงหน้าไปก่อนคาราวานเกวียน เว้นห่างกันเป็นระยะๆ จะไม่มีการเดินเป็นกลุ่ม และจะส่งเสียงเรียกกันเป็นระยะๆ สลับกับการตะโกนคุยหรือร้องเพลง โดยเฉพาะเมื่อเข้าใกล้บ้านคน ทั้งเพื่อสร้างความอุ่นใจและเป็นการบอกกล่าวให้ชาวบ้านข้างทางได้ทราบว่าเป็นกลุ่มคนที่มาดี เมื่อเข้าสู่แนวป่าเขาสูงและเขาเหล็กก็จะเป็นเวลาเช้าตรู่พอดี

เมื่อถึงแหล่งที่ต้องการแล้ว ก็จะกระจายเกวียนไม่ให้ห่างจากกันมากนัก แล้วเริ่มเดินสำรวจด้วยตนเองโดยเร็ว หากต้องการไม้ เมื่อพบไม้ที่ต้องการแล้วก็จะใช้มีดหรือขวานบากทำเครื่องหมายไว้ก่อนพอให้รู้ว่ามีคนจองแล้ว

เมื่อสำรวจและจองไม้ไว้แล้วก็จะไปรวมตัวและรวมเครื่องมือเพื่อลงแขกช่วยกันเลื่อยและขึ้นไม้หมุนเวียนไปทีละเจ้า ทำให้สนุกและได้งานอย่างรวดเร็ว พอเริ่มสายจึงจะหยุดกินข้าวมื้อเช้า หลังกินข้าวก็จะเลื่อยและขึ้นไม้บนเกวียนจนเสร็จ จากนั้นก็จะแยกย้ายกันหาของป่าเพื่อนำไปเก็บไว้กินเป็นปี เช่น กลอย ถั่วป่า เห็ด ไม้ไผ่ หน่อไม้ ผักหวาน ผักอีซึก กระทั่งตะวันคล้อยประมาณบ่ายสองก็จะเริ่มเทียมเกวียนและจัดขบวน เริ่มเดินทางออกจากป่าประมาณบ่าย ๓ โมงเย็น กลับถึงหมู่บ้านก็มืดค่ำพอดี

หากการเดินทางมีเรื่องที่น่าหวั่นเกรงและไม่สบายใจ เช่น เจอสัตว์ร้าย หรือกลัวเสือสมิง เมื่อเริ่มเข้าเขตหมู่บ้าน ชาวบ้านก็อาจมีวิธีทำให้ตนเองสบายใจ เช่น หันหน้าไปทางป่าและเดินบนทางเกวียนหันหลังเข้าบ้าน โดยเชื่อว่าการเดินหันหลังเข้าเขตบ้านแต่ทำให้เกิดรอยเท้าเหมือนเดินออกนั้น เป็นการหลอกให้วิญญาณและสิ่งร้ายๆหลงทางเดินตามรอยเท้าออกไปจากหมู่บ้าน

การเลือกตัดไม้และการล่าสัตว์จะต้องไหว้บอกกล่าวขอเจ้าป่าเจ้าเขา หากมีการเลือกล่าสัตว์ เมื่อเล็งและยิงด้วยการกำหนดใจขอเจ้าป่าเจ้าเขา แต่ยิงพลาด ก็จะถือว่าไม่มีโชคและเจ้าป่าเจ้าเขาไม่ให้ ต้องไม่พยายามตามล่าอย่างมุทะลุ ผู้ที่ละเมิดและทำผิดธรรมเนียมการเดินป่า นอกจากเชื่อว่าจะต้องประสบกับเคราะห์ร้ายแล้ว ก็จะทำให้หมู่คณะและญาติพี่น้องถูกเจ้าป่าเจ้าเขาลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง และจะเป็นที่รู้กันอยู่ในทีว่าเป็นคนไม่น่าคบหา ไม่มีคุณธรรมที่จะปฏิบัติตนเพื่อส่วนรวม

  ลักษณะคนเดินป่าและเข้าไปหาไม้ 

การไปหาไม้และเก็บของป่ามีแต่กิจกรรมที่ใช้แรงงานหนัก อีกทั้งสภาพป่าในอดีตนั้นก็เต็มไปด้วยอันตราย ต้องเลื่อยไม้เป็น ขึ้นไม้และผูกเชือกขันเชนาะเป็น โดยมากแล้วจึงมักจะไม่นำเอาเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้หญิงที่อ่อนไหว จิตใจไม่เข้มแข็ง ร่วมไปในคาราวานเกวียนด้วย นอกจากนี้ ชาวบ้านมักจะไม่นำเอาคนที่มีบุคลิกที่อาจผิดธรรมเนียมป่าและเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายระหว่างเข้าป่ากัน ให้ร่วมไปในกองคาราวานเกวียน เช่น คนที่มีลักษณะการพูดไม่ระวังปาก ผู้ที่ขาดความระมัดระวังต่อคุณธรรมความเป็นหมู่คณะ ผู้ที่ขาดทักษะการช่วยเหลือตนเอง ผู้ที่ไม่มีสำนึกระวังภัยทั้งต่อตนเองและกลุ่มก้อน ผู้ที่ดูธรรมชาติและอ่านภาษาป่าไม่ออก เหล่านี้เป็นต้น นอกจากนี้ เรื่องราวที่เกี่ยวกับป่า เจ้าป่าเจ้าเขา ผีสาง เสือสมิง โจรผู้ร้าย ที่กล่าวขานกันอยู่เสมอในวิถีชีวิตชาวบ้าน จะทำให้คนหวั่นเกรงและกลัว ก็จะเป็นเหตุผลและตัวกรองคนเดินป่าอยู่ในตัวเองอีกด้วย กล่าวได้ว่า คนที่ชาวบ้านยอมรับให้เดินป่า ร่วมคาราวานเกวียน เข้าป่าหาไม้ และไปหาอาหารจากป่าได้นั้น เป็นเครื่องบ่งชี้ความเป็นผู้มีภาวะผู้นำดีหรือมีความเป็นผู้ใหญ่ในทรรศนะชาวบ้าน

  จิตวิญญาณป่าและวิชาเดินป่า 

ในการร่วมคาราวานเกวียนเดินป่าของชาวบ้านเพื่อไปหาไม้และของป่านั้น มีหลักปฏิบัติที่สืบทอดอยู่ในวิถีชุมชนและเกิดความตระหนักรู้กันได้อย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีการบอกสอนอย่างเจาะจง แต่สภาพแวดล้อมและการอยู่ร่วมกันในวิถีชีวิตชุมชนจะทำให้รู้ถึงกาลเทศะเหมือนกับเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ เช่น ในการเดินทางเป็นกองคาราวานเกวียนนั้น การอ่านภาษาป่า ไม่ว่าจะเป็นการมีฝูงนกแตกฮือ การมีฝูงแร้งและนกกาบนยอดไม้เป็นบางแหล่ง ผิดไปจากโดยรอบ การมีรอยป่าละเมาะและหญ้าล้มเป็นทางอย่างผิดสังเกต การมีเครื่องหมายที่ผิดสังเกตบนต้นไม้ ชาวบ้านจะส่งสัญญาณกันด้วยอาการที่รู้กันเองด้วยปฏิภาณ และจัดวางตนเองทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าว เช่น หากสังเกตว่ากลุ่มผู้ชาย ๕-๖ คนที่นำทางยังคงมีอาการปรกติ ก็จะเดินทางกันต่อไป

แต่ถ้าหากต้องการความแน่ใจ ชาวบ้านจะมีวิธีส่งสัญญาณบอกลำดับความสำคัญ เช่น หากผิดสังเกตแต่ไม่น่ากลัว ก็อาจจะมีคนใดคนหนึ่งในขบวนเดินปลีกตัวออกไปหรือทำบางสิ่งที่ผิดไปจากปรกติของสิ่งที่กำลังทำ หากไม่มีสิ่งใดผิดปรกติ ชาวบ้านก็จะเดินกลับไปทำหน้าที่อย่างเดิม แต่ถ้าหากมีคนที่ทำตามไปอีก ๑-๒ คน ก็จะเป็นที่รู้กันว่าให้เดินทางต่อไปแต่ให้ดูแลตนเองและหูตาไว กลุ่มผู้ชายจะเดินกระจายออกไปนำหน้าและตีวงกว้าง เมื่อสถานการณ์ปรกติก็จะกลับมาเดินตามเดิม

หากมีความผิดปรกติมากกว่านั้น อาจจะมีคนใดคนหนึ่งที่เดินไปข้างหน้านั่งลง กรณีอย่างนี้กองคาราวานเกวียนจะหยุด กลุ่มผู้ชายที่เดินนำหน้าจะเดินไปล่วงหน้าและตีวงกว้าง ขึ้นที่สูงสำรวจ หากมีสิ่งผิดปรกติมากกว่านั้น ชาวบ้านจะมีวิธียิงปืนส่งข่าวกันโดยยิงหนึ่งนัด ซึ่งในธรรมเนียมชาวบ้านยุคผมนั้น หากได้ยินเสียงปืน ๑ ครั้งก็จะเป็นที่รู้กันว่าเป็นการถามข่าวสถานการณ์ในอาณาบริเวณที่สามารถได้ยินเสียงปืนดัง หากไม่มีสิ่งผิดปรกติ ชาวบ้านจะยิงปืนขึ้นฟ้าโต้ตอบให้กัน ๑ ครั้งเช่นกัน แม้ไม่เคยรู้จักกันเลยก็ตาม ในชนบทซึ่งไม่ค่อยมีเสียงจอแจรบกวนการได้ยินนั้น เสียงปืนที่ยิงขึ้นฟ้าจะก้องกังวาน เสียงปืนที่มุ่งยิงกระทบเป้าหมายจะห้วนและทึบ

เมื่อมีการยิงขึ้นฟ้า ๑ ครั้งจากหลายด้านก็จะต้องสามารถฟังออกว่าเป็นเสียงปืนจากคนละแหล่งซึ่งก็จะเป็นวิธีทำให้ทราบได้ว่าปลอดภัยและออกเดินทางต่อไปได้ ทุกด้านที่มีเสียงปืนดัง ๑ นัดเป็นด้านที่เราสามารถเดินทางไปได้ แต่ถ้าหากด้านใดมีเสียงปืนดังจากแหล่งเดียวกัน ๒ ครั้งติดกันหรือมากกว่า ชาวบ้านก็จะรู้ว่ามีเหตุร้ายและสิ่งผิดปรกติเกิดขึ้น ต้องหยุดกองคาราวานเกวียนและงดไปทางด้านนั้น แต่ถ้าหากมีเสียงปืนตามด้วยการรัวกลองหรือเกราะก็หมายถึงมีเหตุร้ายที่ด้านนั้นและขอความช่วยเหลือ ต้องรีบไปดูช่วยกันทางด้านนั้น โดยทั่วไปนั้นความเป็นชุมชนในวิถีชาวบ้านจะเกิดจากภาวะผู้นำเป็นกลุ่ม หากฟังไม่ออกและไม่แน่ใจก็จะใช้วิธีปรึกษาหารือและตัดสินใจเป็นกลุ่ม

ป่ามีเจ้าป่าเจ้าเขาและเทวดาอารักษ์ ดังนั้น ระหว่างการเดินป่า ชาวบ้านจะงดเว้นการทำสิ่งที่ไม่เป็นการเคารพต่อป่าอย่างเด็ดขาด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดด้วยความคึกคะนองสรวลเสเฮฮาอย่างปราศจากความเคารพ ไม่พูดถึงสิ่งร้ายและเป็นลางร้าย เช่น พูดถึงเสือ งู ผี และเหตุการณ์ร้ายต่างๆ ไม่สบถและสาบแช่งผู้อื่นอย่างเด็ดขาด ไม่พูดและทำสิ่งลามกหยาบคาย หากมีงูและสัตว์เลื้อยคลานวิ่งตัดหน้าก็จะไม่ตีหรือทำร้ายสัตว์นั้นๆ แต่จะหยุดไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา

ไม่ทำท่าล่อแหลมต่อปืนและสิ่งมีคมอย่างเด็ดขาดเพราะเชื่อว่าจะมีผีผลัก เช่น เล็งและเงื้อไปทางผู้อื่น ไม่เดินข้ามปืนและเครื่องมือทำมาหากิน ไม่เยี่ยวรดต้นไม้ใหญ่หรือหันหน้าไปทางภูเขา ทิศเหนือ และทิศตะวันออก ไม่เยี่ยวใส่น้ำและแหล่งน้ำ ไม่เด็ดทำลายพืชพรรณทุกชนิดอย่างเผลอสติและเป็นของเล่น รวมทั้งไม่ยิงนกและยิงสัตว์ด้วยความคะนองมือ ไม่ตัดไม้และหาของป่าเพื่อสะสมเกินความจำเป็น ไม่ทักสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างผิดปรกติ และแง่มุมปลีกย่อยหลายอย่างซึ่งโดยมากแล้วก็วางอยู่บนหลักการทำเจตนาให้บริสุทธิ์ เคารพนอบน้อมต่อธรรมชาติ ไม่เบียดเบียนและไม่เป็นโทษต่อทุกสิ่ง ความมีสัจจะและวางใจต่อความร่วมทุกข์สุขกับผู้อื่นอย่างเป็นตัวตายตัวแทนได้ การทำจิตใจที่เข้มแข็งปราศจากเครื่องเศร้าหมอง

หากได้ทำสิ่งดังที่กล่าวมานี้อย่างพลั้งเผลอ ก็จะต้องรีบกล่าวขอสมาต่อเจ้าป่าเจ้าเขาทันที แล้วจึงจะทำสิ่งต่างๆต่อไป.

หมายเลขบันทึก: 361301เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2010 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

เป็นเรื่องที่น่าสนใจของคนในสมัยก่อน

เป็นภูมิปัญญาโดยแท้ค่ะ

แต่เรื่องบางเรื่องไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่

จำได้ว่าคุณพ่อได้เล่าให้ฟัง....ในการไปในป่านั้น....ต้องระวัง

ท่านบอกว่าท่านไปพายเรือเซียดหากุ้ง  ปลา ในขณะที่กำลังเดินเข็นเรือไปตามลำคลองที่น้ำแห้งๆนั้นก็มีเรืออีกลำแซงหน้าขึ้นไป....ไม่ใส่เสื้อผ้า.....และหายไปต่ดหน้าต่อตาเลยค่ะ

เรื่องเล่าจากป่า..น่าตื่นเต้น...นะคะ..พี่อาจารย์ดร.เคยฟังแบบว่ามีเสือสมิงอะไรเทือกนั้นก็มีค่ะ...

ได้ข้อมูลคล้ายๆกับที่หนองบัวจากหลวงตาวัดศรีโสภณบ้านท่านอยู่อ.วังทอง ตำบลท่าหมื่นรามเขตติดต่ออำเภอเนินมะปรางซึ่งมีป่าไม้ภูเขามากมาย ท่านไม่มีประสบการณ์โดยตรงเพราะบ้านท่านอยู่ใกล้ป่าเขา แต่ท่านเล่าว่าหน้าแล้งจะได้เห็นขบวนเกวียนที่มาจากอีกอำเภอหนึ่งที่ใกล้เคียงกันที่ไม่มีป่าไม้เลยคืออำเภอบางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก นึกตามที่ท่านเล่าให้ฟังจนเห็นภาพเลยว่า มีขวนเกวียนเข้าแถวกันจำนวนมากจนได้ยินเสียงดังโล๊ๆๆๆ

ที่หนองบัว บ้านตาลินยังไปเช้ากลับเย็นได้ แต่ชาวอำเภอบางกระทุ่มนั้นไปหาไม้ของป่าข้ามอำเภอต้องพักนอนค้างคืน ท่านบอกว่าคนเฒ่าคนแก่เล่าต่อกันมาอีกทีหนึ่งว่า มีกรณีแปลกๆเกิดขึ้นด้วย(ยืนยันว่ามีจริง) บางปีควายชาวบ้านหายโดนถูกจับไปเทียมเกวียนแทนควายตัวเองแล้วนำควายตัวเองไปผูกท้ายเกวียน(กรณีนี้นับว่ากล้ามากๆ)ท่านเล่าถึงตรงนี้ แล้วท่านก็หัวเราะ

 

สวัสดีค่ะ

ถ้าอาจารย์ไม่เขียนเรื่องราวเหล่านี้  หรือจะปล่อยให้เป็นการบอกเล่าปากต่อปาก  ไม่แน่ใจว่าการสื่อสาร การรับสารจะหลงเหลือความเป็นจริงอยู่แค่ไหน

ภูมิปัญญาเหล่านี้  เยาวชนรุ่นหลังควรได้เรียนรู้  และสืบทอดนะคะ  น่าภาคภูมิใจชาวหนองบัวมากค่ะ

เมื่อไก่ขันครั้งแรก ดาวจระเข้หันหัวลง และดาวเหนือหรือดาวประกายพรึกลอยอยู่เหนือยอดไม้ด้านทิศเหนือ ซึ่งจะเป็นเวลาประมาณตีสาม ชาวบ้านก็จะเริ่มกู่ส่งเสียงกันเป็นทอดๆและเริ่มออกเดินทาง สมทบกันไปเรื่อยๆตามละแวกบ้านที่ผ่านทาง รวมกันเป็น ๑๐-๒๐-๓๐ เล่มเกวียน

อ่านแล้วสนุกถึงแม้ไม่เข้าใจบางอย่างค่ะ  แต่จะตามติดการอ่านเม้นท์ของเพื่อน ๆ และการแลกเปลี่ยนของอาจารย์ค่ะ  ขอขอบพระคุณค่ะ

จากบางกระทุ่ม พล.(คห. ๓)ก็มาที่หนองบัวบ้าง เห็นคาราวานเกวียนชาวบ้านตาลินในภาพวาดนี้แล้วก็ได้ยินเสียงดังเหมือนที่ท่านหลวงตาเล่าให้ฟังเลย ดังโล๊ๆๆๆ เกวียนเดินอยู่บนถนนเสียงจะดังเพราะมาก ในป่าเหนือที่หนองบัว เป็นพื้นดินทรายทางเกวียนก็จะเป็นร่องลึกหน่อยบางช่วง ก็ไม่ค่อยได้ยินเสียงเกวียน แต่จะได้ยินเสียงโชว์เฟอร์คนขับเกวียนคุยกันแทน ยิ่งในภาพมีคนชี้ไม้ชี้มือด้วยแล้วเหมือนจะมีเสียงตะโกนคุยกัน ดังลั่นป่ามาแต่ไกลเลยแหละ ใบไม้แห้งตามทางเกวียนก็เยอะ ใบเหียง ใบพลวงขนาดใหญ่ ควายเหยียบแต่ละทีดังโกร๊บกร๊าบ คนที่เดินขนาบขบวนเกวียนคอยระวังภัยหน้า-หลังก็เหยียบใบไม้เสียงดังโครมครามทำให้แย้ที่มีชุกชุมตกใจวิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิงจนเราได้ยินเสียงและเห็นแย้วิ่งอยู่ลิบๆ

อาตมาอยู่บ้านเนินตาโพหมู่ที่๑ อยู่ในเขตสุขาภิบาล(เมื่อก่อน)และก็ไม่ไกลจากป่าเขาพระมากนัก ฉะนั้นการไปหาของป่าก็จะใช้เวลาไม่นาน แจ้งแล้วค่อยสตารท์ออกจากบ้านก็จะไปทันกับคาราวานเกวียนของอาจารย์พอดีเลย(คล้ายคนในเมืองเนาะไม่ค่อยรีบร้อน)

ความมีชีวิตชีวาในป่าจะอยู่ในช่วงเช้า ดูมีความคึกคักกระตือร้นในการหาของป่าและไม่น่ากลัวเท่าไหร่ แต่พอกินกลางวันแล้วมันคนละอย่างเลย บรรยากาศเปลี่ยนมีความเงียบของป่าเขาลำเนาไพรเข้ามาแทนที่ สัตว์ต่างๆก็เริ่มจะกลับรวงรัง เริ่มวังเวง มองไปทางไหนเหมือนจะมีภัยไปรอบด้าน กลัวถูกดักปล้นบ้าง กลัวควายหายบ้าง ใจคอไม่ค่อยดี ยิ่งตะวันคล้อยบ่ายยิ่งน่ากลัวมากขึ้นไปอีก ต้องรีบกลับบ้าน พอเกวียนพ้นป่ามาถึงแถวสี่แยกต้นอีซึก หรือโรงเรียนหนองบัว(หนองคอก) ใจคอปลอดโปร่ง โล่งใจหายกลัวทันที

เมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้ว คาราวานเกวียนนี้ก็จะโลดแล่นอยู่แถวๆสี่แยกไฟแดงตลาดเทศบาลหนองบัว(หอนาฬิกา)ในปัจจุบัน ช่วงนั้นถือเป็นเรื่องปรกติธรรมดาๆ ดีหน่อยที่เกวียนไม่ติดไฟแดง

สวัสดีครับคุณBonnieครับ

  • เป็นหลักปฏิบัติของชาวบ้านเลยละครับว่าแม้ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่
  • บรรยากาศบ้านนอก โดยเฉพาะเมื่อก่อนที่ยังไม่มีไฟฟ้าและบ้านเรือนก็อยู่ห่างๆกันนั้น เรื่องอย่างที่คุณBonnieเล่า ก็จะมีนำมาเล่าสู่กันฟังเยอะเลยนะครับ
  • เล่าและฟังกันไปก็ขนหัวลุกเกรียวๆ กระทั่งไม่กล้าลุกไปไหน แต่ก็ชอบเอามาเล่าสู่กันฟัง

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็กครับ

  • เรื่องเสือสมิง ควายธนู เจ้าป่า นางไม้ ผีเฝ้าที่ ผีบังตา การกำบังไพร เหล่านี้ สำหรับการเข้าป่าเมื่อก่อนนี้ จะมีเรื่องราวบอกกล่าวกันเป็นทอดๆไว้เยอะมากเลยนะ
  • เวลาฟังก็ตื่นเต้น ลึกลับ น่ากลัวเกรง เมื่อก่อนนี้บรรยากาศมันได้จริงๆเลยนะครับ
  • น้องคุณครูอ้อยเล็กสบายดีและสนุกกับงานในที่ทำงานใหม่ดีนะครับ

P....สนุกดีค่ะพี่อาจารย์...มีเรื่องขำๆทุกวัน...บางวันก็เหมือนจับปูใส่กระด้งเลย..สิ่งกลับกันกับโรงเรียนเดิมคือ...การเล่นเป็นเรื่องปกติสำหรับนักเรียนที่นี่...แต่เรื่องเทคโนโลยีเป็นเองที่เขาสนใจ...และนิ่งไปได้...ด้วยการฝึกทำโปรแกรมพาวเวอร์พ้อย โฟโต้ชอปและอืนๆที่เขาสนใจ โดยเป็นผู้แนะนำให้ค่ะพี่อาจารย์...

กราบนมัสการพระอาจารย์มหาแลครับ

  • พระคุณเจ้าคุยถึงเสียงบรรยากาศ....

       เห็นคาราวานเกวียนชาวบ้านตาลินในภาพวาดนี้แล้วก็ได้ยินเสียงดังเหมือนที่ท่านหลวงตาเล่าให้ฟังเลย ดังโล๊ๆๆๆ เกวียนเดินอยู่บนถนนเสียงจะดังเพราะมาก.....

     นึกภาพตามแล้วเหมือนแว่วเสียงขึ้นมาด้วยเลยครับ

                            Ruralnongbua 

  • เมื่อเดือนก่อน ผมเดินทางมาจากพิจิตร ก่อนถึงแยกหนองบัว-ชัยภูมิสัก ๒-๓ กิโลเมตร ก็มองไปทางเขาพระและเขาสูง บริเวณอย่างที่เห็นในภาพข้างบนนี้แหละครับ เป็นบริเวณที่ชาวบ้านแถวบ้านผมจะขี่เกวียนเป็นขบวน อ้อมตลาดและบ้านของชาวบ้านหนองบัวแล้วก็เข้าสู่แนวป่าตรงบริเวณนี้
  • ตอนที่นั่งรถผ่านและนั่งดูแล้วก็รู้สึกว่า ขนาดมองออกไปจากถนนหนองบัวขึ้นเหนือแล้ว ก็ยังอยู่อีกไกล มานั่งจินตนาการว่ากว่าจะขี่เกวียนและเดินทางจากบ้านผมมาถึงแถวที่เห็นในภาพนี้ ก็รู้สึกว่ามันไกลและคดเคี้ยวมากทีเดียวละครับ เมื่อก่อนนี้คนเรามีความพากเพียรจริงๆ

สวัสดีครับประกาย~natachoei ที่~natadee ครับ

  • ขอบคุณที่แวะมาเยือนและทักทายกันครับ
  • เป็นเรื่องราวที่อยู่ในวิถีชาวบ้านที่นับวันก็จะเลือนหายหมดแล้ว
  • เลยคิดว่านำมาแบ่งปันและสืบทอดกันไว้ก็คงจะดีเหมือนกัน

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็กครับ

  • คงเป็นธรรมชาติของกลุ่มที่เน้นการเคลื่อนไหวและการแสดงออกด้านทักษะกีฬากระมังเนาะ
  • เด็กๆเดี๋ยวนี้เล่นคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสื่อสารเก่งนะครับ

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ

  • เห็นด้วยอย่างที่คุณครูคิมว่ามากเลยครับ มันดูเหมือนเป็นเรื่องท้องถิ่นและเป็นเรื่องราวในชีวิตของชาวบ้าน ไม่สลักสำคัญอะไร แต่นำมารวบรวมไว้ก็เป็นความงดงามที่มีอยู่ในสังคมดีเหมือนกันนะครับ
  • อันที่จริง หากใครเคยเดินป่าและอยู่ชนบท ก็จะรู้ว่า เมื่อถึงตอนตีสามที่จะเห็นดาวเหนือและมีเดือนหงายนั้น จะต้องเป็นข้างขึ้นก่อน ๘ ค่ำ ซึ่งจะเหมือนเป็นข้างแรม 
  • หากเป็นข้างขึ้นแล้ว เดือนจะหงายสว่างจ้าตอนหัวค่ำ แต่พอค่อนคืนเดือนก็จะต่ำและดาวตก ไม่มีแสงเดือนจ้าเหมือนตอนหัวค่ำซึ่งจะทำให้ไม่เหมาะสำหรับการเดินทางเมื่อค่อนรุ่ง ยิ่งไปกว่านั้น พอเดือนต่ำลับทิวไม้ ก็จะฟ้าปิด ลักษณะเหมือนอย่างที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่ากำบังไพร ซึ่งแถวบ้านนอกนั้น ชาวบ้านจะต้องระวังโจรปล้นเพราะคนจะหลับลึกและเดือนก็ลับทิวไม้กำบังไพร
  • ผิดกับเดือนข้างแรม ก่อนขึ้น ๘-๑๐ ค่ำ ในตอนหัวค่ำเดือนจะยังไม่ขึ้น แต่พอเลยเที่ยงคืนไปแล้ว เดือนก็จะขึ้นลอยค้างฟ้าไปจนถึงสว่าง จึงเหมาะสำหรับการออกเดินทาง ชาวบ้านที่เดินป่าหรือเดินทางไกลในยามกลางคืนจึงชอบเดือนหงายเมื่อข้างแรมซึ่งจะลอยค้างฟ้าหลังเที่ยงคืนไปจนสว่าง มากกว่าเดือนหงายในข้างขึ้นซึ่งจะให้แสงสว่างตอนหัวค่ำ ทว่ากลับจะกำบังไพรเมื่อชาวบ้านต้องการเดินทางก่อนสว่าง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท