๔๖. โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) และบ้านตาลิน อำเภอหนองบัว


 ชุมชนบ้านตาลิน  เป็นชุมชนขนาดเล็กชุมชนหนึ่ง อยู่ห่างจากอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ไปประมาณ 6-7 กิโลเมตรของถนนหนองบัว-ชุมแสง ห่างจากอำเภอชุมแสงประมาณ 26 กิโลเมตร และจากตัวเมืองนครสวรรค์เกือบ 60 กิโลเมตร คนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่คนพื้นที่มักไม่รู้จัก รวมทั้งคนในชุมชนเองที่จากบ้านนานๆ เมื่อกลับบ้านก็มักจะจำไม่ได้

ในความเป็นชุมชนเพื่อกำหนดพื้นที่การบริหารและการปกครองนั้น ชุมชนบ้านตาลินเป็นชุมชนหมู่ 5 ของตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ 

แต่ในความเป็นชุมชนหมู่บ้านและความเป็นชุมชนของการอยู่ร่วมกันนั้น กลุ่มบ้านเรือนที่ชาวบ้านเรียกว่าชุมชนบ้านตาลินโดยถือเอาบ้านตาลินเป็นศูนย์กลาง จะไม่ใช่หมู่ 5 ของตำบลหนองบัวเพียงเท่านั้น ทว่า จะหมายถึงผู้คนและกลุ่มบ้านเรือนที่กระจายคร่อมบนหลายพื้นที่การปกครอง เชื่อมโยงกันด้วยความเป็นญาติพี่น้องและความผูกพันกันผ่านการอยู่อาศัยร่วมกัน ประกอบด้วยครัวเรือนประมาณ 70-80 ครัวเรือน จากหลายหมู่บ้านของตำบลหนองบัว ห้วยถั่วเหนือ ห้วยถั่วใต้ และตำบลห้วยร่วม อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

 ชุมชนบ้านตาลิน  อาจจัดว่าเป็นชุมชนทางวัฒนธรรมผสมผสานกับชุมชนที่ก่อเกิดไปตามโครงสร้างพื้นฐานของการดำเนินชีวิต และพื้นฐานทางทรัพยากรน้ำของชุมชนเกษตรกรรมในอดีต ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนลาว พูดสื่อสารในชีวิตประจำวันด้วยภาษาลาว แนวการตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มก้อนที่เห็นดังปัจจุบันนี้เป็นแนวคลองและลำน้ำธรรมชาติที่เคยมีในอดีต รวมเข้ากับกลุ่มบ้านเรือนที่อยู่ตามถนนสายหนองบัว-ชุมแสง ตรงบริเวณที่เคยเป็นปากคลอง

พื้นเพเดิมของชาวบ้าน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อพยพและเคลื่อนย้ายไปจากลาวสระบุรี  ลพบุรี และอยุธยา ในยุคที่รัฐบาลยังส่งเสริมให้คนรู้จักขยันทำกินและสามารถบุกเบิกหักร้างถางพง จับจองที่ทางทำกินและตั้งหลักแหล่งไปได้ทั่วไทยเมื่อกว่า 70-80 ปีที่ผ่านมา 

คนเฒ่าคนแก่ยังมีร่องรอยที่เชื่อมโยงอยู่กับวัฒนธรรมและประเพณีที่มีวัดพระพุทธบาทสระบุรีเป็นแกนกลาง ซึ่งเป็นร่องรอยให้พอสืบสาวไปถึงกลุ่มคนที่อพยพเคลื่อนย้ายมาจากประเทศลาวในอดีตในหลายลักษณะ กระนั้นก็ตาม คนท้องถิ่นในรุ่นปัจจุบันเพียงยังคงสามารถพูดสำเนียงลาวด้วยคำศัพท์ภาษาไทยเท่านั้น อีกทั้งลูกหลานและคนรุ่นใหม่เกือบทั้งหมดก็เริ่มพูดลาวไม่ได้กันแล้ว

ความเป็นบ้านตาลินที่ชาวบ้านใช้อ้างอิงมีหลายแหล่งด้วยกัน ที่สำคัญคือ

 บ้านตาลิน  ในความเป็นจริงนั้น  ตาลิน* เป็นคนเก่าแก่ที่เป็นที่เครารพนับถือของกลุ่มชาวบ้านและเป็นผู้นำโดยธรรมชาติในตระกูลของชาวบ้านในท้องถิ่นที่มาตั้งหลักแหล่งอยู่ในพื้นที่ ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นโค้งคุ้งน้ำของลำคลองธรรมชาติ เป็นแหล่งอาหารและเส้นทางสัญจรทางเรือจากบ้านถนน เชื่อมต่อไปถึงห้วยถั่วเหนือ บ้านกลาง และต่อมาก็กลายเป็นแหล่งตั้งชุมชนหลัก ทำให้เป็นแนวตัดถนน และเป็นหลักในการที่ประชาชนในท้องถิ่นจะมาตั้งบ้านเรือนเชื่อมต่อและแผ่ขยายกันออกไป 

ศูนย์กลางของชุมชนนี้ นอกจากได้แก่บ้านตาลินแล้ว เมื่อมีความเป็นกลุ่มบ้านเรือนมากขึ้นในระยะ 50-60 ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้เกิดร้านค้าและเป็นที่จอดเรือสัญจรของชาวบ้านในท้องถิ่นด้วย คือร้านพ่อใหญ่เถาและแม่ใหญ่นาย  คนเก่าแก่ของ ตระกูลแสงอาภา ซึ่งถือว่าเป็นคหบดีและกลุ่มคนชั้นกลางของชุมชนที่เป็นปึกแผ่นที่สุด ต่อมาลูกหลานได้บุกเบิกร้านค้า โรงสีข้าว และได้เลิกกิจการไป โดยขายทอดให้กับผู้ประกอบการอีกจ้าวหนึ่ง ซึ่งปัจจุบัน ได้ขยายกิจการเป็นโรงสีและโกดังที่ใหญ่และมั่นคงกว่าเดิม 

บ้านของตาลินและร้านพ่อใหญ่เถา-แม่ใหญ่นาย อยู่ในบริเวณเดียวกันคนละฟากถนน เลียบลำคลองเหมือนกัน  ในอดีตบริเวณนั้นมีสะพานไม้ทอดข้ามคลองและมีต้นมะม่วงป่าขนาดใหญ่  มีสะพานไม้ยกสูงทอดเชื่อมร้านของพ่อใหญ่เถา-แม่ใหญ่นาย กับถนนดินแดง

หากนั่งรถหรือสัญจรมาทางเรือจากอำเภอหนองบัว ร้านพ่อใหญ่เถา-แม่ใหญ่นายจะอยู่ฝั่งขวามือ ส่วนร้านและบ้านของตาลิน รวมทั้งเครือญาติของตาลิน จะอยู่ฝั่งซ้ายมือซึ่งจะเป็นตำแหน่งการจอดรถและท่าเทียบเรือ  เมื่อรวมเข้ากับความเป็นคนเก่าแก่และเป็นที่รู้จักกว้างขวางของตาลินด้วยแล้ว จึงสันนิษฐานว่า คงจะเป็นการสะดวกที่จะบอกว่า อยู่บ้านตาลิน หรือลงบ้านตาลิน ซึ่งเรียกกันไปตามความสะดวกปากต่อปากในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน

ต่อมาเมื่อมีการตัดถนนและชุมชนได้ขยายตัวเป็นชุมชนหนาแน่น อีกทั้งมีความเป็นทางการหลายๆด้านมากขึ้น คนภายนอกและการสื่อสารของคนในชุมชนกับคนภายนอก ก็มักเรียกชุมชนดังกล่าวว่าบ้านตาลิน กระทั่งเป็นชื่อชุมชนที่ใช้เรียกกันทั่วไปดังปัจจุบัน 

ทว่า เมื่อสื่อสารกันภายในท้องถิ่นของคนในชุมชนจริงๆ ก็อาจจะมีชื่อเฉพาะเรียกกลุ่มบ้านในบริเวณบ้านตาลินว่า บ้านถนน เพราะชุมชนหมู่บ้านละแวกนั้น จำแนกชุมชนดั้งเดิมออกเป็นบ้านเหนือ บ้านกลาง และบ้านใต้ โดยใช้แนวลำคลองดั้งเดิมเป็นเกณฑ์ ซึ่งแต่เดิมนั้นชาวบ้านละแวกบ้านตาลิน จัดว่าเป็นกลุ่มศรัทธากลุ่มเดียวกับกลุ่มวัดบ้านกลาง ต่อเมื่อมีถนนเข้ามาในชุมชน ศูนย์กลางความสัมพันธ์ของชุมชนก็มีพัฒนาการต่างๆเพิ่มขึ้น จึงเรียกบริเวณนั้นเสียใหม่ว่า บ้านถนน 

 โรงเรียนวันครู  (2504)  โรงเรียนวันครู 2504 เป็นโรงเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษา ก่อตั้งจากเงินทุนที่ครูประชาบาลทั่วประเทศได้บริจาคเงินเนื่องในวันครูเมื่อปีพุทธศักราช 2504  เพื่อสร้างโรงเรียนในแหล่งชนบทต่างๆ หลายแห่ง ทั่วประเทศ

ในยุคนั้น อำเภอหนองบัวมีนายอำเภออรุณ ครูเรืองหรือพ่อใหญ่เรือง พินสีดา ครูฟื้น คำศรีจันทร์ และผู้นำคนเฒ่าคนแก่ของท้องถิ่น ได้ร่วมกันเคลื่อนไหวและผลักดันให้โรงเรียนที่จะสร้างขึ้นด้วยเงินทุนดังกล่าวของวันครูในอำเภอหนองบัว ให้ไปสร้างที่บ้านตาลิน  โดยรวมโรงเรียนหลายแห่งที่เคยอยู่ในศาลาวัดและโรงเรียนขนาดเล็กจากบ้านห้วยถั่วเหนือ บ้านใต้ และบ้านป่ารัง อำเภอหนองบัว มารวมจัดการเรียนการสอนด้วยกัน เมื่อสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้ชื่อว่า โรงเรียนวันครู  (2504) ให้เป็นเครื่องรำลึกถึงคุณูปการสถาบันครูที่มีต่อการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมไทยตามที่มาของเงินงบประมาณที่ใช้สร้างโรงเรียนขึ้นมา

ภาพด้านหน้า โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔)

                           โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ก่อตั้งด้วยเงินบริจาคของครูทั่วประเทศเพื่อสร้างโรงเรียนเป็นที่รำลึกวันครูของปี ๒๕๐๔ และด้านหน้าวัดใหม่(นิกร ปทุมรักษ์) สร้างเป็นศูนย์กลางชุมชน หลังจากที่ในอดีตมีวัดบ้านใต้และวัดกลางเป็นศูนย์กลางของชุมชน จึงได้ชื่อว่าวัดใหม่และได้ขอนำเอาชื่อหลวงพ่ออ๋อยมาเป็นชื่อวัดด้วย ป้ายทางเข้าด้านหน้าภาพแรกถ่ายเมื่อปี ๒๕๕๑ และภาพล่างซ้ายหลังการปรับปรุงใหม่อีกครั้ง ถ่ายเมื่อปีใหม่ ๒๕๕๓  ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

ความเป็นโรงเรียนวันครู จึงเป็นเสมือนอนุสาวรีย์ทางการศึกษา ที่มาจากจิตวิญญาณและสำนึกร่วมของเหล่าคุณครูของสังคมไทยที่น่าหวงแหน อีกทั้งเป็นแหล่งอ้างอิง ที่อยู่ในบริเวณเดียวกันของหมู่บ้านที่เรียกว่าบ้านตาลิน

 วัดใหม่(นิกร ปทุมรักษ์) แต่เดิมนั้น กลุ่มศรัทธาเก่าแก่ของบ้านตาลิน เป็นกลุ่มชาวบ้านที่มีวัดสำหรับทำบุญและปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาอยู่ที่ชุมชนที่ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกว่า วัดกลาง อยู่ลึกเข้าไปจากบ้านตาลินโดยย้อนขึ้นไปทางเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งแต่เดิมนั้นมีการสัญจรถึงกันโดยลำคลอง

                           วัดกลาง เป็นแหล่งจัดงานประเพณีและวัฒนธรรมซึ่งทำให้มีความเป็นศูนย์กลางเดิมของชุมชน ทั้งบ้านเหนือ บ้านกลาง บ้านใต้ บ้านถนน บ้านตาลิน บ้านป่ารัง มีงานประจำปี การเทศน์มหาชาติหรือเทศน์คาถาพัน การทอดกฐิน ผ้าป่า รวมทั้งเป็นแหล่งการละเล่นต่างๆของพื้นบ้าน

ที่วัดกลางนั้น นับว่าเป็นศูนย์กลางเก่าแก่ของชุมชน มีงานประจำปีและมีกิจกรรมทางศาสนาในวาระสำคัญๆอย่างเข้มแข็ง แต่ต่อมา สภาพชุมชนได้เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งลำคลองก็ตื้นเขิน การสัญจรทางเรือจึงหายไป ชาวบ้านมีการติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้นในระยะ 30-40 ปีที่ผ่านมา ศูนย์กลางของชุมชนจึงเปลี่ยนจากวัดกลางไปสู่โลกภายนอกและพัฒนาเป็นกลุ่มบ้านแยกย่อย กระจายตัวเป็นบ้านเหนือ บ้านกลาง บ้านใต้ บ้านป่ารัง และบ้านถนน ดังปัจจุบัน

                           สภาพชนบท บ้านตาลิน อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ภาพบนซ้าย : ถนนลาดยางด้านหน้าโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ภาพบนขวา : สภาพท้องนาด้านหลังกลุ่มบ้านเรือนริมถนนหลังโรงสีข้าวและอยู่ด้านหลังกลุ่มครัวเรือนที่เป็นลูกหลานดั้งเดิมของตาลิน  ภาพมุมล่างซ้าย : ถนนตัดใหม่เชื่อมต่อออกจากถนนสายหลักชุมแสง-หนองบัว ตรงบริเวณบ้านตาลินด้านข้างบ้านครูฟื้น คำศรีจันทร์ ออกไปทางบ้านห้วยปลาเน่าและห้วยวารี ภาพกลางขวาและมุมขวาล่าง : ทุ่งนาหลังเกี่ยวข้าวบริเวณบ้านตาลินมองออกไปทางบ้านรังย้อยซึ่งมองเห็นวัดรังย้อยอยู่ไม่ไกล ถ่ายภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์  มกราคม ๒๕๕๓

ต่อมาชาวบ้านได้ก่อสร้างวัดขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่งที่ถนนและชุมชนบ้านตาลิน ซึ่งในเวลานั้น หลวงพ่ออ๋อย หรือพระครูนิกรปทุมรักษ์ แห่งวัดหนองกลับหรือวัดหนองบัว ลูกศิษย์หลวงพ่อเดิม เป็นหลวงพ่อที่ชาวบ้านทั่วไปในท้องถิ่นเคารพนับถือ ท่านได้เป็นผู้นำและประธานพิธีในการวางรากฐานก่อสร้างและทำการเฉลิมฉลอง ชุมชนจึงขอฉายาท่านมาเป็นชื่อวัดว่า วัดใหม่(นิกร ปทุมรักษ์)

 

ถือเป็นแหล่งอ้างอิงและแหล่งบอกกล่าวสถานที่ของคนท้องถิ่นที่สำคัญอีกที่หนึ่ง

การได้เรียนรู้เรื่องราวตนเองของท้องถิ่น และลูกหลาน คนรุ่นใหม่ ตลอดจนชาวบ้าน ได้เห็นความมีอยู่และสถานะการดำรงอยู่ของชุมชนตนเองในท่ามกลางโลกกว้าง นับว่าเป็นทุนทางสังคมและเป็นพลังทางปัญญา ที่ส่งเสริมให้ผู้คนมีความเคารพผู้อื่นและมีความเชื่อมั่นในตนเอง มีพื้นฐานที่ดีต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโลกภายนอก ชุมชนสามารถเห็นความกลมกลืนและเกื้อหนุนกันของความเป็นท้องถิ่นกับสังคมและสิ่งแวดล้อมภายนอก เรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ภาวะที่พึงประสงค์ได้อยู่เสมอ จึงนับว่าเป็นการเรียนรู้ทางสังคมที่มีความสำคัญต่ออนาคตการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่นต่างๆของสังคมไทย.

............................................................................................................................................................................

  * ริมถนนข้างบ้านตาลิน   ริมมถนนข้างบ้านตาลินในยุคดั้งเดิม มีเพิงอาศัยของตาพลู รับแลกขวดและเศษเหล็กกับลูกอมไปทั่วหมู่บ้าน เป็นที่รู้จักสนิทสนมกับเด็กๆ หากเป็นปัจจุบัน ก็นับว่าเป็นผู้จัดการทรัพยากรและการนำกลับมาใช้ใหม่หรือการรีไซเคิล ซึ่งช่วยการพิทักษ์โลกและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ลูกของตาพลู ๒ คนเรียนที่โรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) เมื่อย้ายถิ่นฐานออกจากบ้านตาลินไปแล้วก็เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน หากใครมีข้อมูล สามารถติดต่อกันได้ หรือยังพอจดจำเรื่องราวต่างๆได้ ก็น่าจะถ่ายทอดไว้นะครับ เพราะจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของส่วนที่ก่อตัวเป็นชุมชนหลักกระทั่งเป็นชุมชนบ้านตาลินดังปัจจุบัน

  การค้นหาเกี่ยวกับโรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) ทั่วประเทศไทย 

๑. โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) บ้านตาลิน ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว
    จังหวัดนครสวรรค์ ๖๐๑๑๐ 
๒. โรงเรียนวัดคูหาสวรรค์ (วันครู ๒๕๐๔) ชุมชนคูหาสวรรค์ ถนนคูหาสวรรค์ ตำบลธานี อำเภอเมืองสุโขทัย 
    จังหวัดสุโขทัย ๖๔๐๐๐   
๓. โรงเรียนคุรุประชาชนูทิศ (วันครู ๒๕๐๔) เลขที่ ๑๕ บ้านศรีชนูทิศ อำเภอวังทอง 
    จังหวัดพิษณุโลก ๖๕๑๓๐   
๔. โรงเรียนบ้านคลองตะเคียน หมู่ ๒ (วันครู ๒๕๐๔) ตำบลคลองตะเคียน อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา 
    จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑๓๐๐๐ 
๕. โรงเรียนวันครู ๒๕๐๔  หมู่ ๕ ตำบลเกาะโพธิ์ อำเภอปากพลี
    จังหวัดนครนายก  ๒๖๑๓๐

  การค้นหาเกี่ยวกับประวัติพัฒนาการวันครูและกิจกรรมวันครู 

ประวัติวันครู | งานวันครูในส่วนกลาง | งานวันครูในส่วนภูมิภาค | คำปฏิญาณในวันครู | กิจกรรมในวันครู | บทสวดเคารพครู

  การค้นหาเพลงเกี่ยวกับครูและวันครู     

download เพลงวันครู | เพลงเกี่ยวกับวันครู | แม่พิมพ์ของชาติ | โหลด เพลง วัน ครู | เนื้อเพลง วัน ไหว้ครู | ฟัง เพลง วัน ครู | เพลง วัน ครู mp3 | เพลง เกี่ยว กับ วัน ครู

หมายเลขบันทึก: 233623เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2009 13:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (41)
  • แถวชุมแสงเคยไปออกนิเทศงานโรงเรียนพ่อแม่ของศูนย์อนามัยที่ 8 ค่ะ ที่รพ.ชุมแสงแล้วก็สอ.บ้านลาดค่ะ เจ้าหน้าที่แถวนี้ขยันกันดีนะคะ มุ่งมั่นที่จะสร้างคุณภาพให้งานแม่และเด็ก คงช่วยเป็นฐานหนึ่งที่ช่วยชุมชนบ้านตาลิน ได้บ้างนะคะ

 

  • เคยทราบถึงความสำเร็จและความน่าสนใจของการดำเนินงานโรงเรียนพ่อแม่ ของโรงพยาบาลชุมแสง และ สอ.บ้านลาด นครสวรรค์ อยู่เหมือนกันนะครับ ขอบคุณ คุณศศิชล ที่เข้ามาให้ข้อมูล รวมทั้งลิ๊งค์ให้เข้าไปอ่านในรายละเอียดครับ
  • ที่ทำงานผม มีอาจารย์และทีมนักวิจัย ทำวิจัยในด้าน ANC และการนำเอาสมุดคู่มือแม่-ลูกมาใช้ อยู่ด้วยเช่นกันนะครับ เข้าใจว่าคงเป็นเครือข่ายทำงานด้านนี้เชื่อมโยงทางวิชาการถึงกันอยู่ด้วย จะนำไปเล่าให้กันฟังด้วยครับ
  • เชื่อว่าผมคงจะมีโอกาสลงไปทำงานกับเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งที่บ้านและในนครสวรรค์น่ะครับ อาจจะขอคำแนะนำ หรือแนะนำให้กับเพื่อนๆคนทำงานในหนองบัว นครสวรรค์ และจังหวัดใกล้เคียง ให้อาศัยเป็น Resource person บ้างนะครับ  ดีใจจังเลยครับ

บ้านตาลินในอดีต : สะพานไม้และต้นมะม่วงป่าที่ถนน หน้าบ้านพ่อใหญ่เถา-แม่ใหญ่นาย แสงอาภา

อำเภอหนองบัวมีทรัพยากรจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญหลายอย่าง นอกจากเหล็กแล้ว ก็มีเหมืองแร่ยิบซั่ม ไม้  ดินลูกรัง และผลิตภันฑ์จากป่า มากมาย

                       

  • สะพานไม้ที่บ้านตาลิน หน้าบ้านพ่อใหญ่เถา-แม่ใหญ่นาย แสงอาภา ครอบครัวดั้งเดิมครอบครัวหนึ่งของชุมชนบ้านตาลิน อำเภอหนองบัว นครสวรรค์ เป็นสะพานไม้ข้ามคลองซึ่งหน้าน้ำหลากเรือสามารถวิ่งได้ ข้างสะพานมีต้นมะม่วงป่าขนาดใหญ่
  • ถนนหนองบัวชุมแสงแต่เดิมเป็นดินโคลน รถบรรทุกไม้ต้องใช้โซ่พันรอบล้อทุกล้อให้เกาะถนน พร้อมกับมีลวดสลิงด้านหน้าเพื่อยึดกับต้นไม้และฉุดให้รถบรรทุกวิ่งไปบนถนนดินโคลนตลอดทาง
  • รถบรรทุกไม้จากป่าหนองบัว บรรทุกซุงจากไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ไปยังชุมแสง เพื่อล่องซุงไปแปรรูปและส่งไปตามเมืองต่างๆโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร
  • รถขนไม้และท่อนซุง ทำให้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีสาง นางพญาตานี นางไม้  รุกขเทวา รวมทั้งเรื่องลึกลับต่างๆเกี่ยวกับป่าและวิญญาณแห่งป่า บุคลิกของรถบรรทุกไม้และคนขับรถขนไม้จึงดูเป็นเรื่องขรึม ขลัง ลึกลับ น่ายำเกรง  เด็กๆและผู้หญิงมักถูกบอกห้ามเข้าใกล้ พร้อมกับมีเรื่องเล่าเรื่องผีผลักและทำให้โซ่ล่ามซุงขาด

ภาพประกอบ วาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ๒๕๕๒

  • ที่ดินสำหรับก่อสร้างโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน แต่เดิมเป็นที่ดินของพ่อใหญ่เถา-แม่ใหญ่นาย แสงอาภา
  • ครอบครัวพ่อใหญ่เถา-แม่ใหญ่นาย แสงอาภา เป็นผู้มีศรัทธาพระศาสนาและใส่ใจเรื่องโรงเรียนและการศึกษา ลูกของพ่อใหญ่เถา-แม่ใหญ่นายท่านหนึ่งเป็นครู คือ คุณครูแสวง แสงอาภา พี่ชายของนายสวอง แสงอาภา
  • เพื่อร่วมกับนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ นายอำเภอหนองบัวนับแต่ยุคก่อนปี ๒๕๐๐ นำเอาโรงเรียนวันครู ซึ่งรวบรวมเงินทุนจากเครือข่ายครูประชาบาล เพื่อสร้างโรงเรียนเนื่องในวันครูแต่ละปีให้ทีละจังหวัดโดยหวังให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ มาลงที่บ้านตาลิน ครู-พ่อใหญ่เรือง พินสีดา พ่อใหญ่คำ พินสีดา และคนเฒ่าคนแก่ของบ้านตาลิน ได้ช่วยกันรวบรวมเงินเท่าที่ได้ ซื้อที่ ๑๒ ไร่จากพ่อใหญ่เถาในราคาไร่ละ ๑,๐๐๐ บาท รวมเป็นราคาทั้งแปลง ๑๒,๐๐๐ บาท แล้วนำไปแสดงความพร้อมในการมีโรงเรียนที่ชุมชนบ้านตาลิน ทำให้มีโรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) ที่บ้านตาลินดังปัจจุบัน
  • นอกจากสร้างโรงเรียนแล้ว พื้นที่ดังกล่าวได้ขุดสระธารณ์ สำหรับเป็นแหล่งน้ำของชุมชนจนถึงปัจจุบัน
  • อาจารย์ครับ

    ประวัติศาสตร์ชุมชนสำคัญมาก หลายๆชุมชนมีปัญหาว่า รื้อฟื้นบริบทชุมชน เรื่องราวประวัติศาสตร์ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่ครบถ้วน...น่าเสียดายครับ ประวัติศาสตร์มีไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ตัวเอง แต่กลับไม่ค่อยมีสมาชิกในชุมชนให้ความสนใจมากนัก

    ชื่นชม - - อาจารย์วาดรูปสวยมากๆครับ

     

    สวัสดีคุณเอก-จตุพร

    • มีความสุขดีอยู่หรือไร คิ้วขมวดปม ผมหงอก หลังคุ้ม ไปแล้วหรือยัง แต่ดูบรรยากาศผ่านเว็บแล้ว ดูมีความเป็นชุมชนวิชาการที่ส่งเสริมชีวิตการศึกษาและให้ความคึกคัก-เข้มข้นดีจังเลยนะ
    • นอกจากสมาชิกในชุมชนรุ่นใหม่ๆจะไม่ค่อยสนใจแล้ว ชุมชนและคนเก่าก่อนก็มักไม่มีวิธีสร้างและสะสมความรู้เกี่ยวตนเองที่ทันและไปกันได้กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
    • การวิจัยและงานวิชาการในกระแสหลัก ก็มักให้ความสำคัญน้อยต่อการที่จะสร้างความรู้และเรียนรู้ออกมาจากความเป็นชุมชน ประวัติศาสตร์ชุมชนและองค์ความรู้ต่างๆของชาวบ้าน ที่ผสมผสานอยู่กับการใช้และสร้างขึ้นใหม่ จึงเสื่อมถอยและพัฒนาไปตามมีตามเกิด
    • ที่บ้านเกิดผม รวมทั้งทุกที่ที่เรามีโอกาสได้อยู่อาศัย ผมก็ลองพยายามรวบรวมและถ่ายทอดในด้านที่เราเรียนรู้และดึงออกมาได้ ให้เพิ่มพูนความหลากหลายที่เคยมีหรือไม่มีมาก่อน โดยหวังไปด้วยว่าจะมีคนใช้เป็นฐานต่อเติมและเก็บรวบรวมข้อมูล เมื่อมีเวลาผ่านไปจะได้แปรการเยือนถิ่นและเยี่ยมยามกันให้เป็นการสานความรู้ ผมเคยทำอย่างนี้แล้ว ก็พบว่าเป็นวิธีที่ทำให้เวทีชาวบ้านมีความสนุกและเกิดการเรียนรู้ตนเองมากมาย
    • การได้สร้างความรู้และเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง ทำให้ประชากรและพลเมืองในชุมชนนั้นๆ เกิดความสำนึกต่อตนเอง ตลอดจนการรับรู้ชุมชนและโลกรอบข้าง เปลี่ยนไป
    • มีบางแง่มุมที่จะเกี่ยวข้องกับตัวแปรทางประชากรและพลวัตรทางประชากรอยู่เหมือนกันคือ การรู้ในเชิงบวกมากขึ้นเกี่ยวกับตนเองและสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัย จะส่งผลต่อการรับรู้และการสนองตอบต่อแรงกดดันทางสังคม-ประชากร ทำให้การวางแผนครอบครัว การวางแผนและตัดสินใจเกี่ยวกับขั้นตอนชีวิต แรงดึงดูดและแรงผลักเกี่ยวกับการย้ายถิ่นเข้า-ออกชุมชน เหล่านี้ เปลี่ยนแปลงไปในเชิงคุณภาพได้เหมือนกัน 
    • แนวการทำงานและแนวการวิจัย-ปฏิบัติการทางสังคม ที่ทำให้เกิดการสร้างความรู้เกี่ยวกับปูมชุมชนที่คุณจตุพรเคยทำมามากพอสมควร คิดว่านำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมการวิจัย เพื่อพัฒนาประชากรและพลเมือง ได้เหมือนกันนะผมว่า
    • ผมพบว่า การวาดรูป เป็นเครื่องมือการวิจัยที่ทรงพลังดีมากในหลายสถานการณ์เลย ทั้งสำหรับการเก็บรวบรวมรวมข้อมูลชุมชน  การฟัง วิเคราะห์ และแปรผลออกมาเป็นภาพ เพื่อตรวจสอบและให้ชุมชนร่วมกันโยนข้อเท็จจริง สร้างขึ้นเป็นความรู้ ปะติดปะต่อ เกิดความสมบูรณ์ได้มากกว่าการสัมภาษณ์และวิเคราะห์ด้วยข้อมูลเชิงปริมาณ
    • บางเรื่องของชุมชน เราสามารถใช้เป็นกระบวนการทำข้อมูลให้เห็นและอภิปรายหาข้อตกลงร่วมกันได้ เช่น ที่ชุมขนวัดมะเกลืออำเภอพุทธมณฑล เขาจะสร้างสะพานข้ามคลองโดยระดมการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย พอใช้เวทีคุยและวาดรูปประมวลผลข้อมูลพร้อมกับหารือกันไปเรื่อย ก็ได้ข้อสรุปรูปแบบร่วมกันและวางแผนระดมทรัพยากร เดินหน้าขับเคลื่อนงานสร้างส่วนรวมร่วมกันต่อไปได้อย่างดี
    • เครื่องมือที่ทำงานกับข้อมูลภาพ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูป วาดรูป การทำงานฝีมือที่สื่อสะท้อนการคิดและการใช้ความรู้ พวกนี้ พัฒนาติดตัวไว้จะดีครับ คุณจตุพรมีอยู่ในตัวเองหลายอย่างแล้ว

    สวัสดีค่ะพี่ชาย

    เข้ามาอ่านครั้งไรก็มองเห็นภาพตามไปด้วย โดยเฉพาะการสนทนาของอาจารย์ กับ ลูกศิษย์ (คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

    แอบเก็บความรู้ไปปรับใช้แบบเงียบๆโดยไม่บอกให้เจ้าของทราบค่ะ

    ตั้งคำถาม+จัดสถานการณ์+สร้างประสบการณ์ตรง = นักวิจัย+ถ่ายทอดสื่อสารเรียนรู้แบบบูรณาการ

     

    น้อยนักที่จะได้ฟังเรื่องราวในอดีตจากคนรุ่นเก่าๆ(แต่ยังไม่แก่ค่ะ)

    ปัจจุบันอะไรๆเปลี่ยนแปลงไปมากมาย  เห็นแล้วก็นึกย้อนรอยไปในอดีตที่เคยสัมผัส หรือเป็นอีกมุมหนึ่งในวิถีชีวิตแบบบ้านนอกของเรา

    ตอนลูกชายเรียนชั้นมัธยมปลาย เคยถามว่า แม่ครับ !! การฟัดทำอย่างไร  กระด้งรูปร่างเป็นไง

    ที่บ้านยังมีให้ดู อธิบายให้ฟังได้ค่ะ แต่อีกซัก 10 ปี จะมีกระด้งที่สานจากไม้ไผ่หลงเหลือให้เห็นบ้างไหม ใครจะทำได้และเข้าใจวิธีใช้ค่ะ

    ในท้องตลาดมีแต่ของใช้ที่เป็นพลาสติกเต็มไปหมดเลยค่ะ

    ตามบ้านนอกยังเห็นคนเฒ่าคนแก่นั่งสานสุ่มไก่ สานตะกร้า ตะแกรงใช้เองกันอยู่ค่ะ 

    ท่านผอ.ที่โรงเรียนคิดไว้ว่าจะจัดทำห้องภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับเครื่องมือ อุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอยการประกอบอาชีพในอดีต ที่เป็นหัตถกรรมจักสาน  สะสมไว้เป็นสื่อการเรียน ตอนนี้หายากแล้วค่ะ

    ขอบคุณภาพเขียนสวยๆที่จะแอบจิ๊กไปเป็นตัวอย่างค่ะ

    แต่ไม่เห็นมีชื่อติดเลย ไมสงวนลิขสิทธิ์เหรอคะ

    รักษาสุขภาพด้วยค่ะ

     

    สวัสดีครับ..อาจารย์ครับ

    ขอเล่าเป็นเรื่องๆไปนะครับ

    - มีความสุขดีอยู่หรือไร คิ้วขมวดปม ผมหงอก หลังคุ้ม ไปแล้วหรือยัง ? ขอตอบว่ายังครับ;) นับวันจะอ่อนเยาว์ลงเรื่อยๆครับ เพราะเบิกบาน และมีความสุขดีครับ แม้ว่าการปรับตัวในช่วงเเรกจะลำบากนิดหน่อย ผมมีงานเชิงประเด็นที่ขับเคลื่อนกับหน่วยงานอื่นๆ อยู่ครับ ดูเหมือนว่าจะเหนื่อยมากขึ้นแต่เป็นธรรมดา ไม่ได้เครียดแต่อย่างใด

    - เรื่อง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผมไม่รู้จะทำอย่างไรดี ไม่เฉพาะในเวปฯ ที่ทำหรอกนะครับ มนบรรยากาศจริงในการรวมกลุ่มการ ลปรร.น้อยมาก แต่คนก็แสดงความต้องการอยากรู้ อยากพัฒนาตัวเองสูงผ่าน tacit knowledge เมื่อต้องการสูงแต่ไม่ยอมเรียนรู้ ไม่ยอมช่วยกันสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน...ผมคงต้องหากระบวนการใหม่ๆครับ

    - เมื่อวานนั่งรถเมล์นั่งทบทวนตัวเองว่า คงไม่ได้แล้ว หากถูกบรรยากาศการเพิกเฉย ต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ ของบางกลุ่ม (ไม่รู้จะเรียกแบบไหนดี ผมอาจใจร้อนไปหน่อย นั่งคิดเอาเองว่าทำไมไม่ทำแบบนี้ ทำไมไม่ทำแบบนั้น บางทีก็เอามาตรฐานตัวเองเข้าไปคิดแทน รู้สึกว่า "ไม่ล่ายดั่งใจ" ครับ) อาจทำให้ผมถูกดึงเข้าไปสู่วิถีเอื่อยเฉื่อยมากขึ้น กำลังจัดระเบียบตัวเองใหม่ อ่านหนังสือให้ได้มากขึ้น เพื่อสะสมพลัง สะสมทุน เชิงทฤษฏีช่วงเเรกครับ อย่างน้อยอาจช่วยเป็นผู้นำการ ลปรร.ให้กับกลุ่มได้ในโอกาสต่อไป

    - ศิลปะสำคัญมากครับในความคิดของผม เพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่อ่อนโยนท่ามกลางทฤษฏี วิชาการที่หนักหน่วง ผมเริ่มสเกตภาพ เขียนรูปเล่นๆ ผ่อนคลายบ้าง ในอดีตผมวาดสีน้ำมัน แต่เมื่อคิดจะรื้อฟื้นการวาดอีกครั้งตอนนี้ก็ไม่บริหารจัดการไม่ค่อยได้แล้ว ที่ลงทุนตอนนี้ก็ฝึกฝนมุมมองการถ่ายรูปครับ คิดว่า ภาพ จะสื่อเรื่องราวที่เราต้องการอยากถ่ายทอดได้มากมาย

    - วันนี้จะบินตรงไปเชียงรายครับ ไปเรียนรู้กับ ชาว อิ้ว-เมี่ยน นัดกับ ผอ.คะเเว่น ซึ่งเป็นชาว อิ้ว เมี่ยน ที่เป็นปราชญ์บนดอยที่ภูลังกาครับ เป็นงานวิจัยประเด็น Conflict resolution ของสถาบันพระปกเกล้าครับ ผมเป็นหนึ่งในทีมงาน ทำงานชิ้นนี้ครับ ลงสนามไปทางเหนือ ในกลุ่มชาติพันธุ์ ๗ กลุ่ม เรื่องราวเหล่านี้ถือว่าเป้นโอกาสที่ผมได้สัมผัส จะนำเรื่องราวดีๆเหล่านี้มาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไปครับ

    ขอบคุณมากครับ สำหรับพลังที่อาจารย์คอยเกื้อหนุน

     

    สวัสดีครับน้องนก -จุฑารัตน์

    • คุณเอกเขาเป็นครูพี่หลายเรื่อง เลยก็ต้องคุยแบ่งปันคืนไปให้เขาในเรื่องที่เราเสริมต่อกันได้ อันที่จริงก็มีหลายคนทั้งใน GotoKnow นี้และในที่อื่นๆ ที่พี่ได้ความรู้และข้อมูลดีๆจากการปฏิบัติเรื่องต่างๆที่เราสนใจ ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ก็ใช้แนวเดียวกับน้องจุฑารัตน์ครับคือเรียนรู้และเก็บเอาไปลองทำแบบครูพักลักจำ
    • อาทิตย์นี้กำลังนั่งคิดเรื่องการสานภาชนะและเครื่องใช้ในบ้านอยู่ในหัวพอดีเลย กำลังคิดจะวาดอยู่อีกด้วย งั้นประเดี๋ยวจะวาดมาโพสต์ไว้ให้ดูนะครับ เพิ่งไปต่างจังหวัดที่ภาคใต้ สตูล สงขลา และนครศรีธรรมราชมา เห็นวิถีชีวิตชาวบ้าน งานฝีมือ การทำเครื่องมือการผลิตขึ้นใช้เอง และการรวมกลุ่มทำศูนย์เรียนรู้-ถ่ายทอดเทคโนโลยีของชาวบ้าน เลยคิดกรุ่นอยู่ในหัวอยู่หลายวันแล้ว
    • กิจกรรมการเรียนการสอนเด็กๆที่เคยเห็นน้องจุฑารัตน์ทำแล้วนำมาถ่ายทอดไว้ในบล๊อกนี้ กับที่น้องจุฑารัตน์พูดถึงแนวคิดของ ผอ.และโรงเรียน พี่ก็ชอบอ่าน แอบเรียนรู้และถือเป็นครูนอกห้องเรียนด้วยเช่นกัน ทำให้พี่นึกถึงงานเขียนถ่ายทอด-เล่าเรื่องจากการเยี่ยมเยียนโรงเรียนในชนบท ใน โรงเรียนนกหวีด ของ คุณครูประวิทย์ จำปาทอง ศึกษานิเทศน์ของกระทรวงศึกษาธิการและเป็นคุณครูท่านหนึ่งของพี่ 
    • รูปเขียน รูปถ่ายและทุกอย่างในบล๊อกที่พี่เขียน อนุญาตให้นำไปใช้ได้ตามอัธยาศัยเลยครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับดัดแปลงเป็นสื่อการเรียนการสอนเด็กๆ
    • สำหรับการนำไปใช้เพื่อการศึกษาเรียนรู้และการทำงานเพื่อชุมชน-สังคมแล้ว ก็ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆเลยละครับ ดีเสียอีกครับที่ได้ทำเพื่อสิ่งดีด้วยในทางอ้อม รวมทั้งต้องขออนุโมทนาด้วยนะครับ  รวมไปจนถึงหัวข้อที่มี Label ไม่แสดงการไม่สงวนสิทธิ์ไว้ ก็นำไปใช้ได้เลยครับ ที่เป็นอย่างนั้นอยู่ก็เนื่องจากยังนั่งคลิ๊กเข้าไปทำ Label ไม่ไหวครับ แล้วก็ส่วนหนึ่งยังติดป้ายสงวนสิทธิ์ไว้ก็เพียงต้องการรอค้นหาข้อมูลมาตรวจสอบให้ถูกต้องในรายละเอียดบางส่วนเท่านั้นครับ แต่หากใช้ได้ก็อนุญาตเลย

    วาดมาให้คุณครูจุฑารัตน์และท่านผู้อ่านได้ดูไปด้วยเลยนะครับ

     

    การฝัดข้าว วัฒนธรรมการลงแขก - เอาแรง และเทคโนโลยีพอเพียง

    ในภาคเหนือและภาคใต้ เกษตรกรนาข้าว อาจมีวิธีการนวดและฝัดข้าวแตกต่างกันออกไป วิธีการและกระบวนการที่แตกต่าง ก็จะมีการคิดค้นเครื่องมือและเทคโนโลยีเพื่อชุมชนการผลิตของเกษตรกรที่แตกต่างกันออกไป โดยเน้นการตีฟ่อนและมัดข้าวบนลาน หรือเครื่องจักสาน

    ระหว่างนั้น ก็พัดโบกเพื่อให้เมล็ดข้าวกับข้าวลีบและสิ่งที่ไม่ต้องการแยกออกจากกัน อีกทั้งมักทำในที่นาเลย ซึ่งจะเหมือนกับวิธีการของชาวนาในเมืองหลวงพระบางและหลายแห่งที่ผมเคยได้ไปเห็น จากนั้นจึงค่อนขนกลับบ้านและเก็บเข้ายุ้งฉาง วิธีการดังกล่าว มักทำในหมู่เกษตรที่มีผืนนาไกลออกไปมากจากที่อยู่อาศัย

    การฝัดข้าวของชุมชนบ้านตาลินและชุมชนหนองบัว

    การฝัดข้าว หากมีจำนวนมากเกินจะฝัดด้วยกระด้ง เกษรตกรก็จะต้องทำช่วยกันเป็นชุมชนหรือกลุ่มก้อนการผลิต โดยใช้เครื่องฝัดข้าวซึ่งเรียกกันในภาษาชาวบ้านว่าสีฝัดข้าว แรงงานในการช่วยกันฝัดข้าวจะเป็นเอาแรงกัน โดยทั่วไป ชาวบ้านจะอาสาไปช่วย ไปขอเอาแรง ดังนั้น เกษตรกรที่จะฝัดข้าวก็จะบอกกล่าวต่อๆกันไป บ้านไหนรู้ก็จะขอมาเอาแรง เพื่อจะได้มีคนไปช่วยตนบ้างเมื่อถึงคราต้องฝัดข้าวของตน

    การฝัดข้าว จะทำหลังฤดูเก็บเกี่ยวระหว่างฤดูหนาวและฤดูแล้ง ในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งลมจะไม่ค่อยผันผวน เป็นลมว่าวและลมล่องข้าวเบา

     

                           

    การฝัดข้าวด้วยสีฝัดข้าว กระด้ง วัฒนธรรมการลงแขก - เอาแรง และเทคโนโลยีพอเพียง ของชุนบ้านตาลินและชุมชนเกษตรกรหนองบัว อำเภอหนองบัว นครสวรค์  ภาพประกอบวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ กรกฎาคม ๒๕๕๒

     

    เครื่องฝัดข้าว เป็นเครื่องเป่าลมซึ่งมีชุดใบพัดหลายใบอยู่ข้างในตัวสีฝัดข้าว ทำด้วยไม้ผสมเครื่องเหล็ก รูปทรงเหมือนหัวแมงปอ ใช้มือหมุนและผลัดกันหมุนทีละคนก็สามารถหมุนได้อย่างดี

    เกษตรกรจะใช้กระบุงโกยข้าวเปลือกและเทใส่สีฝัดข้าวจากด้านบน ลมแรงจากสีฝัดข้าวจะเป่าข้าวเปลือกที่นวดแล้วแยกออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนที่เป็นเมล็ดข้าวเปลือกจะมีน้ำหนักมาก ก็จะร่วงลงด้านล่างและไหลออกมาตามรางด้านหน้า เกษตรกรและแขกผู้มาเอาแรงกันก็จะช่วยกันโกยออก แยกเป็นกองข้าวเปลือกที่ฝัดแล้ว

    อีกส่วนหนึ่ง เป็นเมล็ดข้าวลีบ เศษฟางข้าว และสิ่งที่มีน้ำหนักน้อยกว่าเมล็ดข้าว ก็จะถูกลมแรงมากจากเครื่องฝัดข้าวเป่าออกไปไกล เกษตรกรจะเก็บส่วนนี้ไว้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงเผาถ่านหรือคลุมแปลงปลูกผัก เป็นปุ๋ยโดยธรรมชาติ

    อีกส่วนหนึ่ง น้ำหนักน้อยกว่าเมล็ดข้าว แต่ก็ไม่ปลิวออกไปไกลมากนัก จะหลุ่นกองอยู่ตรงท้ายเครื่องฝัดข้าว ตรงส่วนนี้อาจจะมีเมล็ดข้าวปะปนอยู่กับข้าวลีบและเศษฝาง ขณะเดียวกัน ระหว่างโกยเมล็ดข้าวเปลือกใส่ลงไปในสีฝัดข้าว ก็จะมีข้าวเปลือกบางส่วนลงเหลือกติดลานข้าว รวมทั้งบางส่วนที่มีก้อนดินและเศษไม้ เศษหิน เจือปน

    เกษตรกรก็จะนำเอาทั้ง ๒ ส่วนนี้มาฝัดด้วยกระด้ง เพื่อแยกเมล็ดข้าวออกมาด้วยมือและแรงคน

    ในขณะที่ฝัดข้าว หากมีคนมาเอาแรงและช่วยกันลงแขกมาก ก็จะขนข้าวที่ฝัดแล้วเก็บเข้ายุ้งฉางเลย ข้าวที่นวดแล้วและยังไม่ได้ฝัด จะกองอยู่อีกทางหนึ่ง และข้าวที่ฝัดแล้วก็จะกองอยู่อีกทางหนึ่ง

    เจ้าภาพการฝัดข้าว จะต้อนรับขับสู้แขกและผู้มาเอาแรงเป็นอย่างดี ทั้งอาหารการกิน น้ำท่า ขนมทำเอง รวมทั้งการทำอุ เหล้าขาว และข้าวหมากสำหรับเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และผู้ไม่นิยมดื่มเหล้าขาว ซึ่งจะเลือกเอาจากข้าวเหนียวอย่างดีและหมักอย่างดีเพื่อเตรียมต้อนรับแขกฝัดข้าวอย่างเป็นการเฉพาะ

    อุปกรณ์และเครื่องใช้ในการฝัดข้าวก็จะทำขึ้นเป็นชุด โดยมากก็ทำขึ้นด้วยมือ ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมทั้งทรัพยากร วัตถุดิบและเทคโนโลยีในท้องถิ่น เช่น เครื่องไม้และเครื่องจักสานจากไม้ไผ่

     

    สวัสดีครับคุณจตุพร

    • อยากฟังเรื่อง Conflict resulotion  ที่ย้อนกลับไปดูภาพสะท้อนจากชุมชนที่ยังธำรงความเป็นสังคมที่ต้องพึ่งพิงอาศัยกันให้เห็นได้อยู่อย่างชุมชนชาวอิ้วเมี่ยน ถ่ายรูปมาโพสต์ด้วยนะครับ การศึกษาอย่างนี้เป็นแนวของขงจื้อและพุทศาสนาด้วยครับ ไม่ได้ชอบวิธีของขงจื้อหรือยกหลักพุทธธรรมขึ้นอย่างเป็นพิเศษครับ แต่เป็นวิธีการที่สังคมตะวันออกและสังคมที่เน้นจิตใจเป็นตัวนำ พอมีตัวปัญญารองรับอยู่เยอะ
    • วิธีอย่างนี้อาจช่วยทำให้เราไม่หลงทางไปกับภาพหลอนและสิ่งที่เป็นผิวหน้าของสังคมที่ซับซ้อนยุ่งเหยิงของโลกภายนอกในปัจจุบัน แล้วทำให้เราเห็นส่ิงที่เป็นพื้นฐานของชีวิตชุมชน รวมทั้งสามารถทำให้เห็นทรรศนะพื้นฐานต่อโครงสร้างเชิงอำนาจและวิถีการเมืองโดยวัฒนธรรม ในการจัดการความเป็นส่วนรวมที่ถือเอาการเป็นอยู่ร่วมกันของคนส่วนใหญ่และคนทั้งหมด เป็นที่ตั้ง เหมือนกับวิถีคิดที่ท่านพุทธทาสเคยวิพากษ์ทรรศนะ การถือประชาชนเป็นใหญ่ในวิธีการของสังคมประชาธิปไตย
    • ระเบียบวิธีเพื่อวิจัยและทำการศึกษาระบบสังคม โดยทำเหมือนกับย้อนกลับไปดูชุมชนและสังคมที่มีภาพสะท้อนพื้นฐานดั้งเดิมอย่างนี้  หากทำแล้ว แล้วนำกลับมา Consult งาน ๓-๔ แนว ต่อไปนี้ก็จะทำให้เรารอบด้านและแน่นปั่กนะครับ (๑) วิธีการของมากาเร๊ต มีด ซึ่งเน้นมิติทางมานุษยวิทยาและการวิเคราะห์เชิงคุณภาพอย่างบูรณาการ (๒) วิธีการวิเคราะห์ของเอมิล เดอร์ไคม์ ซึ่งหลายคนมักบอกว่าเก่าไปหน่อย แต่การวิเคราะห์ชุมชนทางจิตวิญญาณและการวิเคราะห์พลวัตรการรวมกลุ่มทางสังคม ซึ่งให้พื้นฐานต่อการเข้าใจพฤติกรรมที่เรียกว่า โรคทางสังคม แล้วละก็ ผมว่ายังเฉียบและมีความเป็นบูรณาการทางศาสตร์อยู่เสมอ  (๓) วิธีการของเปาโล แฟร์ ซึ่งดูปัจเจกและกระบวนการทางสังคมในทุกเรื่องว่ามีมิติของการเรียนรู้และสร้างปัญญาในการจัดการชีวิตและความเป็นอยู่ (๔) กรอบการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและปัจจัยแห่งความเปลี่ยนแปลง ของ เฮอร์ริน ซึ่งส่งเสริมวิธีวิเคราะห์แบบอิทัปปัจยตาโดยมองเหตุปัจจัยเป็นชุด ไม่แยกส่วน อีกทั้งวิธีวิเคราะห์แบบ ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งดูองค์ประกอบต่างว่าเป็นเหตุปัจจัยแห่งการก่อเกิด ดำรงอยู่ และเปลี่ยนแปลงไป ของกันและกัน ไม่ขาดจากกันเป็นขั้ว เป็นฝ่าย ทว่า ต่อเนื่อง ยกระดับ เป็นสายธารแห่งพัฒนาการ (๕) วิธีการเชิงปริมาณและการสร้างความรู้แบบตัดขางและเปรียบเทียบหลายมิติ ของ เดวิด แมททิวส์ นักวิชาการแนวประชาสังคม ของมูลนิธิแคทเตอรริ่ง อเมริกา (๖) วิธีสังเคราะห์และสร้างความรู้ขึ้นจากโลกทรรศน์ของชุมชนของการวิจัยแนว Grounded Theory ซึ่งจะเชื่อมต่อกับงานเรียนรู้และสะสมความรู้แบบ KM ได้เป็นอย่างดี...
    • แต่เรื่องพวกนี้แนะเพียงเป็น Resource ตุนไว้ในความคิดเฉยๆก็จะดีครับ ชั่งน้ำหนักและดูความเป็นกาละ-เทศะ รวมทั้งเข้าถึงความเป็นธรรมชาติของชุมชนและชาวบ้านให้ได้มากที่สุดเป็นที่ตั้ง จะดีที่สุดครับ ใช้ความเป็นมนุษย์ ความเป็นตัวของตัวเอง จริงใจ ซื่อตรง มีภาษาและพลังความบริสุทธิ์ใจ รวมทั้งความละเอียดอ่อน ตื่นตัวต่อการเรียนรู้ จะดีที่สุดและเหมาะกับความเป็นคุณจตุพรดีที่สุด
    • จะทำให้เราเข้าถึงการเรียนรู้และถ่ายทอดออกมาจากหัวใจที่เป็นสากลของผู้คน อาจช่วยให้เราไปได้ไกลกว่าระดับการมีจุดยืนร่วมกับชุมชนนะครับ ทว่า หยั่งถึงด้วยการพัฒนาออกจากตัวเราให้เห็นความเป็นสามัญเหนือสิ่งแยกแบ่งต่างๆของชุมชนกับตัวเราในฐานะที่ไปจาก 'ความเป็นคนอื่น'  จากนั้นก็ค่อยมองสิ่งที่ชุมชนเขาเป็นให้ดู อยู่ให้เห็น และสื่อจากใจให้เข้าใจตรงที่เขายืนอยู่ เชื่อว่าจะเห็นได้ชัดและเกิดจิตวิญญาณการเรียนรู้ที่ปลอดโปร่งดีนะครับ

    แล้วจะขอเรียนรู้ไปด้วยนะครับ

    การขนข้าวด้วยเกวียนของเกษตรกรชุมชนหนองบัว

    ท่านพระมหาแล ขำสุข(อาสโย) ได้เล่าถึงการขนข้าวของเกษตรกรชุมชนนหนองบัว นครสวรรค์ ผมก็เลยเขียนภาพมาให้ดูไปด้วย เพราะการขนข้าวนั้นเป็นวิถีชุมชนการผลิตซึ่งในแต่ละท้องถิ่นอาจมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง

    ในความแตกต่างดังกล่าวมักมีเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ของชาวบ้าน สะท้อนการคิดและพัฒนาตนเองขึ้นมาอย่างเป็นระบบ เห็นถึงบริบทของสังคม สภาพแวดล้อม และลักษณะต่างๆของแต่ละท้องถิ่น ได้เป็นอย่างดี

    ล้อเกวียนและลักษณะเกวียน รวมทั้งการใช้วัวกับการใช้ควายของชาวบ้านในตัวเมืองหนองบัวกับชุมชนรอบนอก อาจแตกต่างกัน สิ่งที่เป็นปัจจัยความแตกต่างที่สำคัญคือลักษณะดินในพื้นที่การทำนา โดยเฉพาะดินทราย ดินร่วน และดินเหนียว กับการใช้ควายหรือวัว

    ในพื้นที่นาและชุมชนที่มีดินทรายมาก ล้อเกวียนชาวบ้านจะมีซี่ยาวและโปร่ง ยกเพลาและเรือนเกวียนสูง ตัวถังเกวียนจะสอบแคบและสูงกว่าทั่วไปเพื่อให้เหมาะแก่การใช้วัวเทียมเกวียนมากกว่าใช้ควาย

    ส่วนพื้นที่ชุมชนที่มีดินเหนียวมาก เช่น แถวบ้านตาลินและพื้นที่รอบนอกของตัวเมืองหนองบัว กงล้อเกวียนจะเล็กกว่า ตัวเรือนเตี้ย ซึ่งจะเหมาะแก่การเทียมควาย

    การขนฟ่อนและมัดข้าวในหนึ่งเกวียน ชาวนามีวิธีวางเรียงและบรรทุกได้ถึงครั้งละ ๔๐-๖๐ มัดโดยไม่ต้องมีเชือกหรือใช้โซ่ผูกเลย ใช้หลักของความสมดุล การออกแบบเกวียน และศิลปะการเรียงอย่างรู้แรงยึดกันเองของฟางข้าวเป็นอย่างดี

     

                         

    ภาพประกอบ วาดโดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ กรกฎาคม ๒๕๕๒

    ในชุมชนเกษตรกรภาคเหนือกับภาคใต้ จะมีวัฒนธรรมการเก็บเกี่ยวและนวดข้าวต่างจากชุมชนหนองบัวและชาวนาในพื้นที่ภาคกลาง โดยจะจัดลอมข้าว ทำลานข้าว และนวดข้าวด้วยการตีแล้วจึงฝัด เสร็จแล้วจึงค่อยขนจากนาเข้ายุ้งฉางที่สร้างไว้ในบริเวณบ้าน

    ส่วนเกษตรกรชุมชนหนองบัวโดยส่วนใหญ่นั้น จะขนฟ่อนข้าวและมัดข้าวไปจัดเป็นลอมข้าวในลานซึ่งอยู่ในบริเวณบ้าน แล้วจึงขอลงแขกจากญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านนวดและขนข้าว

    หมายเหตุ : ผมโพสต์ภาพวาดนี้ในหัวข้อของ ท่านพระมหาแล อาสโย คนหนองบัว คลิ๊กลงไปบนนี้เพื่อตามลิ๊งค์เข้าไปอ่านเรื่องหลวงพ่ออ๋อย วัดหนองกลับ และความรู้ท้องถิ่นเกี่ยวกับชุมชนหนองบัวได้ครับ ผมนำมาแสดงไว้ที่นี่อีก เพราะเป็นเรื่องสอดคล้องกัน อีกทั้งวัดใหม่บ้านตาลินนั้น เป็นอีกวัดหนึ่งที่หลวงพ่ออ๋อยและลูกศิษย์ลูกหา รวมไปจนถึงพระมหาสีลา ที่ชาวบ้านตาลินเคารพนับถือ ได้ช่วยกันสร้างขึ้น ดังจะเห็นชื่อ วัดใหม่(นิกร ปทุมรักษ์) ซึ่งเป็นชื่อ หลวงพ่ออ๋อย ปรากฏอยู่บนป้ายของวัดใหม่บ้านตาลินดังปัจจุบัน

    สวัสดีค่ะพี่ชาย อ. วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    • รอบๆโรงเรียนเป็นนาข้าวทั้งหมดค่ะ เด็กๆได้เห็นและรับรู้เรื่องราวทุกขั้นตอนของการทำนา  แต่ส่วนใหญ่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กัน  ตั้งแต่ย่ำเทือก จนกระทั่งเกี่ยวข้าวขึ้นรถสิบล้อแล้วนำไปขายให้เถ้าแก่ที่โรงสี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนนักค่ะ

     

         

     

    • มีข้อเสียเหมือนกันค่ะ เวลาฉีดยาฆ่าศัตรูพืช กลิ่นแรงมาก และตอนใช้รถเกี่ยวข้าวเสียงดังไปหน่อย คุณครูทุกท่านต้องหยุดใช้เสียงชั่วคราวเพราะสู้ไม่ไหวค่ะ   แถมด้วยละอองข้าวรบกวนเป็นระยะๆ
    • เวลาที่เล่าเรื่องราวของชาวนาในอดีต  "หลังสู้ฟ้า  หน้าสู้ดิน"  ใช้ควายไถนา  พวกเด็กๆก็สนใจค่ะ  แต่ยังมองไม่เห็นเป็นรูปธรรมเท่าไร คงจะสงสัยเหมือนกัน แต่ไม่รู้จะถามอย่างไร เพราะฟังอย่างเดียว มองไม่เห็นภาพค่ะ 
    • คำบางคำในภาษาไทย อาจจะจะกลายเป็นคำในประวัติศาสตร์ไปแล้วก็ได้  อย่างเช่น เทียมเกวียน  ลงแขกเกี่ยวข้าว หอบข้าว ฟ่อนข้าว ทำฟาง  กองฟาง   ยุ้งข้าว และอีกหลายๆคำค่ะ 
    • ถ้ายังไม่ตระหนักกันถึงเรื่องเหล่านี้ ต่อไปในอนาคตคนสมัยใหม่อาจจะไม่รู้จักคำต่างๆพวกนี้ก็ได้ค่ะ

     

             

             

     

    • ได้สื่อรูปภาพ พร้อมคำอธิบายคำศัพท์ของชาวนา ไปประกอบการเรียน ที่ทำให้เด็กๆในโรงเรียนได้เรียนรู้ และภาคภูมิใจในรากเหง้าของความเป็นคนไทยแล้วค่ะ
    • ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

     

    สวัสดีครับน้องคุณครูจุฑารัตน์

    • เมื่อหลายปีก่อน หน้าน้ำหลากแถวบ้านพี่ ปลาที่มากับน้ำตัวเปื่อยยุ่ยเต็มไปหมด ปลาดุกบางตัวตัวหงิกเป็นปลาพิการ และคนแถวบ้านพี่เวลาเป็นแผลตามเท้าและขา ก็จะหายยากและมีการอักเสบที่รุนแรงกว่าขนาดของแผลที่ควรจะเป็น
    • ที่ชุมชนอำเภอพุทธมณฑล มีชาวบ้านเกษตรกรชอบเป็นลมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนอยู่เรื่อย ลุงคนหนึ่งแกเลืกทำนาแล้ว เปลี่ยนมาขับแท๊กซี่แกอธิบายว่าคงจะมาจากการฉีดยาและใช้สารเคมีต่อเนื่องและสะสมอยู่ในตัวเอง เพราะตัวแกเองก็เคยหน้ามืดเป็นลมไปในขณะฉีดยาในนาข้าว ทั้งๆที่แกบอกว่าแกเป็นชาวนามาตลอดชีวิตและเป็นคนแข็งแรงมากกว่าใครๆ การใช้สารเคมีและยาแบบเกินควร จึงอันตรายทั้งต่อสุขภาพและชีวิตของเกษตรกร ชุมชนรอบข้าง และผู้บริโภค
    • ดีใจและขอบคุณน้องคุณครูจุฑารัตน์มากเลยที่ทำให้ได้ทำประโยชน์ในทางอ้อมเพื่อการเรียนของเด็กๆบ้านนอกของเรา
    • เราสามารถให้การเรียนรู้แบบบูรณาการแก่เด็กๆได้ด้วยนะครับ เช่น จากรูปข้างบน เราจะเห็นความรู้และศาสตร์เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมชุมชน รวมทั้งงานวิศวกรรมในการผลิตของชาวบ้าน-ชุมชน
    • ยุ้งข้าวนั้น โครงสร้างจะกลับด้านกับบ้านและที่อยู่อาศัย ชาวบ้านหากไม่ใช้เสื่อลำแพนและผิวไม้ไผ่สาน ก็จะสร้างโดยแผ่นกระดานอยู่ด้านใน ส่วนโครงสร้างยึดเหนี่ยวกลับออกนอก เพื่อให้ด้านในที่ใส่ข้าวลงไปมีผนังเรียบ  ขนาดของกระดานแผ่นปิดประตูด้วยกระดานทีละแผ่น จะบอกวิธีคำนวณปรริมาณข้าวในยุ้งของแต่ละจ้าว
    • สีฝัดข้าวกับใบพัดและแรงหมุนด้วยมือ เมื่อบวกแรงคนหมุนด้วยมือแล้ว ก็จะพอเหมาะกับการไม่เป่าลมให้เมล็ดข้าวปลิวออกไปปนกับข้าวลีบและเศษขยะ 
    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์คุณครูจุฑารัตน์และทุกท่าน

    • น่าดีใจแทนนักเรียนที่มีคุณครูที่สนใจเรื่องใกล้ตัวนักเรียน
    • นักเรียนที่เรียนด้วยภาพวาดชุดนี้คงสนุกและได้ความรู้ไปด้วยดีใจจัง
    • ขออนุโมทนาขอบคุณต่อคุณครูจุฑารัตน์ที่ใช้สื่อการสอนจะเรียกว่าสื่อท้องถิ่ินได้ไหมเนี่ย ให้เกิดประโยชน์กับเด็ก ๆ และต้องขอขอบคุณโยมอาจารย์วิรัตน์ที่ได้มอบสิ่งดี ๆ ชุดนี้เป็นอย่างยิ่งด้วย.

    ขอเจริญพร

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)  น้องนก : คุณครูจุฑารัตน์ และผู้อ่านทุกท่านครับ

    • ผมก็ทั้งดีใจและภูมิใจกับคนหนองบัวมากทีเดียว คุณครูจุฑารัตน์นี่ เธอเป็นคนหนองบัวครับ เป็นลูกชาวนา เป็นเพื่อนของน้องสาวผม น้องผมเล่าว่าตอนเป็นเด็กลำบาก ตอนเรียนก็ต้องดิ้นรนมากมาย ก็เหมือนกับเด็กๆส่วนใหญ่ของหนองบัว
    • แต่ตอนนี้เธอได้มาเป็นครูสอนลูกหลานคนชนบท เหมือนอย่างที่เธอเคยก่อเกิด
    • ต่อมากระทั่งเดี๋ยวนี้ สามีเธอเป็นนายทหาร และลูกชายก็ได้การศึกษาขั้นสูง เป็นนายตำรวจ 
    • เพียงหนึ่งรุ่นของคน ลูกชาวนาบ้านนอกอย่างเธอจากหนองบัวและครอบครัว ก็ทำหน้าที่ของตนและทำงานให้กับสังคมได้มากมาย เธอจึงไม่ได้สอนความรู้เด็กๆอย่างเดียว ทว่า สอนออกมาจากความซาบซึ้งต่อคำว่าการศึกษาเรียนรู้กับการพัฒนาคนและสังคมอย่างเป็นเนื้อเดียวกับชีวิต
    • แล้วเมื่อตอนเด็กๆก็เคยไปบ้านตาลิน ผมนึกภาพออกว่านอกจากจะได้มีความสุขไปกับได้สอนและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กแล้ว เขาจะต้องได้มีความสุขไปกับรำลึกถึงยามเด็กและความยากลำบากของตน ที่จะทำให้ซาบซึ้งกับชีวิตของเด็กๆและถ่ายทอดทุกอย่างให้เด็กๆออกมาจากหัวใจ
    • ต้องถือว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการสนทนาและต่อเติมแรงคิด-แรงทำกันจากพระคุณเจ้าและพรรคพวกจากหนองบัวละครับ ได้ความคิดและประทับใจดีครับ ทำกันให้งอกเงยขึ้นมาทีละนิดละหน่อย ก็เกิดสิ่งที่ดีๆได้มากเหมือนกัน
    • นี่ผมเพิ่งเตรียมบรรยายการประชุมปฏิบัติการของเครือข่ายอาจารย์และนักวิจัยจากทั่วประเทศเสร็จครับ จะบรรยายสายๆของวันเสาร์นี้ครับ แวะเข้ามาดูก่อนนอนสักงีบเลยได้เสวนาก่อนนอน

    กราบนมัสการด้วยความเคารพ

    โรงเรียนนี้อายุเท่าดิฉันเลยค่ะ

    • แต่เด็กๆไม่ค่อยจะมีแล้วครับ
    • ที่เหลือก็จะเป็นเด็กยากจนและขาดโอกาสอีกหลายด้าน
    • โรงเรียนนี้แหละครับที่อยากได้หนังสือคุณณัฐรดาไปให้เด็กๆด้วย

    ......บ้านถนน....

    ชื่อนี้ทำให้ผมนึกถึงชื่อหมู่บ้าน หมู่บ้านหนึ่งสมัยที่ผมไปเรียนหนังสือระดับ ม.ปลาย ที่จ.สระบุรี หมู่บ้านนี้มีชื่อว่า......บ้านถนนเหล็ก...... ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ติดต่อกับอำเภอเสาไห้ แถบนั้นประชากรส่วนใหญ่เป็นคนยวน...พูดภาษายวนกันทั้งหมู่บ้าน ถามคนเฒ่าคนแก่ก็ได้ทราบว่า เป็นการตั้งตามลักษณะของถนน (ทางรถไฟ) ที่ตัดผ่านหมู่บ้านมาจาก อำเภอภาชี - ไป- ภาคอีสาน

    แม่ของแม่ใหญ่ผมก็เป็นคนลาวเหมือนอาจารย์เลยครับ เดิมอยู่บ้านหนองสีดา ตั้งอยู่ในเขตอำเภอหนองแซง.... เป็นลาวเวียงครับ

    ส่วนคนยวนสระบุรี/ราชบุรี มาจากเชียงแสน/บางส่วนมาจากลาวตอนเหนือ

    ลาวพวนหรือไทพวน.......มาจาก บริเวณทุ่งไหหิน เมืองพวน (แขวงเซียงขวางในปัจจุบัน)

    ลาวแง้ว.......................มาจาก เมืองหลวงพระบาง

    ไทดำหรือลาวโซ่ง..........มาจาก เมืองซำเหนือของลาว ซึ่งอยู่ติดกับเมืองเซินลา/เมืองเดียนเบียนฟูของเวียดนาม

    จากการศึกษาประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ไทย - ลาว (ซึ่งไม่ค่อยดีนัก_ในยุคนั้น) พอประมวลออกมาได้เป็นอย่างนี้ครับ.

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    อาจารย์สมบัติพูดถึงประวัติศาสตร์ที่มาที่ไปของคนในชุมชนในที่ต่าง ๆ รวมทั้งที่หนองบัวแล้ว

    นึกอยากชวนอาจารย์สมบัติช่วยแกะรอยตามหาพื้นเพภูมิหลังที่มาของคนหนองบัว-หนองกลับบ้างจังเลย

    ที่อาตมาพบข้อสันนิษฐานของอาจารย์วลัยลักษณ์ ทรงสิริ ในอินเตอร์เน็ตมีอยู่นิดเดียวเอง ท่านว่าคนหนองบัวบางส่วนมีเชื้อสายไทยใหญ่(กำลังหาหนังสือพจนานุกรมภาษาไทยใหญ่ เจอแต่พจนานุกรมภาษา ปาเกอะญอ-กะเหรี่ยง)

    อาตมาก็คิดว่าเชื้อสายไทยใหญ่ ไม่น่าจะเป็นรอบนอกหนองบัว แต่คงจะเป็นหนองบัว-หนองกลับนี่แหละ แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลอะไรมากกว่านี้

    คนหนองบัว-หนองกลับ ก็พูดเหน่อ แปร่ง ผสมรวมกันหลายภาษา ทั้งลาว ไทยใหญ่(พบบางคำ) ไทยทรงดำ(โซ่ง)

    ที่อำเภอบางระกำ พิษณุโลกมีพี่น้องไทยทรงดำ(โซ่ง) เยอะมาก เคยไปเห็นพิธีเผาศพก็มีพิธีกรรมหลายอย่างแตกต่างจากที่เราคุ้นเคย เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน ประเพณีการกินอยู่การแต่งกายก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเด่นชัด

    ญาติพี่น้องผมก็มาจากหนองแซงสระบุรีครับ มีพ่อใหญ่-แม่ใหญ่ครอบครัวหนึ่งนามสกุลพินสีดาไม่รู้ว่าจะเกี่ยวกับการคิดตั้งนามสกุลเพื่อรำลึกถึงถิ่นฐานบ้านเกิดดั้งเดิมด้วยหรือเปล่าต้องกลับไปลองถามดูแล้วครับ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีญาติพี่น้องอยู่แถวนั้นอยู่หลายครอบครัวครับ

    ขอสนับสนุนแนวคิดและคำเชิญชวนของพระคุณเจ้าครับ รวมทั้งท่านอื่นๆที่สามารถเป็นนักวิจัยสมัครเล่นด้วยครับ ค่อยๆทำแบบสะสมไปเรื่อยๆ แล้วก็หาประเด็นหรือนำข้อมูลมาสอบทานกันในนี้ก็ได้ครับจะได้ทำได้นานๆ 

    ฟัง ๆ แล้ว ดูเหมือนว่าผมเป็นคนยวนปนลาว .......ไม่ใช่คนไทย

    ความจริงก็มีความเป็นไทยปะปนอยู่บ้างครับ คือว่า ย่าผมก็เป็นคนไทยด้วยเหมือนกัน พ่อผมก็พูดไทย(ปู่เป็นพวน) พูดง่าย ๆ ก็คือว่า ย่าเป็นคนไทยส่วนน้อยที่อยู่ท่ามกลางคนยวน คนพวน คนแง้ว คนลาว คนโซ่งครับ

    ย่ามีพื้นเพเป็นคนแถว ๆ สระทะเล /ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี ท่านมีญาติพี่น้องอยู่แถว ๆ หนองโพ / เนินมะกอก / เขาทอง อ.พยุหะคีรี ....บ้านเก่า/ถิ่นเกิดหลวงพ่อเดิม....... นั่นแหละครับ นอกจากนั้นยังมีญาติอยู่ที่เขาโคกเผ่น (วัดที่พระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงอุปถัมภ์) อ.ท่าตะโก และตำบลสำโรงชัย อ.ไพศาลีอีก

    .......ที่เล่าปูพื้นมานี้ เพื่อต้องการอธิบายว่า ถ้อยเสียงสำเนียงไทยของย่ารวมทั้งบรรดาญาติพี่น้องข้างย่านี่...สุดยอดครับ....เหน่อสุด ๆ ยิ่งกว่าไทยหนองบัวอีก.....เหน่อแบบหนองบัวและเหน่อแบบย่าผมนี่ พี่สาวผมพูดได้กันทุกคน เนื่องจากพี่ ๆ คลุกคลี ผูกพันอยู่กับย่า อาเขย อาสะใภ้..ลูกพี่/ลูกน้อง ที่เป็นไทยหนองบัวแล้วก็ออกไปทำไร่อยู่ในดงด้วยกัน (ร่องดู่ หนองไผ่ หนองขาม เขาสูง เขาดิน ทรัพย์ย้อย...หรือว่า...ซับย้อย....ฯลฯ)

    เหน่อแบบหนองบัวเนี่ย จะว่าเหมือนสุพรรณบุรี ก็มีคนบอกว่าไม่เหมือนเสียที่เดียว.......ผมเองก็เคยสงสัยเหมือนกันครับ.....ผู้หลักผู้ใหญ่สันนิษฐานว่า...ไทยหนองบัว เป็นไทยโบราณแขนงหนึ่ง (เช่นเดียวกับไทยสำโรงชัย...ซึ่งย่าผมออกเสียงว่า...ซ้ำโหล่งไช...)ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมจริง ๆ (เขาว่ากันว่า) น่าจะเป็น....สุโขทัยครับ.......ที่คนพื้นนั้นออกเสียงว่า......ซุโข่ไท.......

    ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่อของการสันนิษฐาน......ส่วนเรื่องของความเป็นจริงนั้น คงต้องแสวงหา..กูรู....มาตั้งสมมติฐาน และมาค้นหาความจริงกันต่อไปครับ

    อ่านไปแล้วก็ขำครับ ยิ่งย้อนไปเมื่อตอนเป็นเด็กแล้วนึกๆดูก็พบว่าในกลุ่มเพื่อนๆและในชุมชนนี่เราอยู่กันแบบเหน่อๆเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยเต็มไปหมดเลยนะครับ

    ชาวบ้านและเพื่อนๆแถวสระงาม ห้วยวารีนี่ก็เหน่อไปอีกแบบอย่างที่คุณสมบัติว่านั่นแหละครับ ใหม่ๆผมก็ไม่รู้เรื่อง แถวรังย้อยก็เหน่อไปอีกทาง คนในตัวเมืองก็เหน่อไปอีกทาง

    แม้แต่ชาวจีนท้องถิ่นก็ออกสำเนียงไปอีกทาง คนแถวบ้านผมก็ออกลาวไปอีกทาง เวลาเจอกันและอยู่ด้วยกันนานๆ ก็คุ้นเคยและรู้เรื่องไปเอง แต่ก็ต่างล้อเลียนกันเล่นสนุกสนาน

    มานึกๆดูแล้วก็รูสึกว่า เหน่อกันทั้งอำเภอนี่เนาะ ต่างคนต่างคิดว่าตนเองพูดไม่เหน่อและมีสำเนียงไทยกลางมากกว่าเพื่อน

    พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

    อ่านแล้วอดขำไม่ได้เลย

    คนหนองบัว-หนองกลับ ก็บอกว่าตัวเองไม่ได้เป็นลาว ทั้ง ๆ หลายคำมากที่พูดเป็นภาษาลาว

    และก็มักจะบอกว่า คนรอบนอกนั่นแหละเป็นลาว

    แต่เป็นลาวนี่ก็ดี เพราะพูดได้อย่างน้อยตั้ง ๒ ภาษา ได้เปรียบอาตมาพูดได้ภาษาเดียวเอง

    ถ้าใครว่าคนหนองบัวพูดเหน่อ ก็จะเถียงว่า เหน่อตังไหง่ล๊าว....ไม่เหน่อด๊อกแหน่..

    ภาษาลาวนี่ หากใครพูดและฟังอารมณ์การพูดได้ ก็จะรู้ว่ามันมีอารมณ์ขันอยู่ในภาษาและสำเนียงการพูดมากจริงๆครับ ผมนั้นพูดลาวและเป็นลูกลาว แต่ก็ชอบฟังคนพูดลาวครับ โดยเฉพาะลาวอีสานน่ะครับ มันมีอารมณ์ขันอยู่ในวิธีพูดมากๆครับ คนหนองบัวพูดเหน่อๆผมก็ชอบฟังเช่นกันครับ มันดูเป็นธรรมชาติและจริงใจดีครับ

    เมื่อเย็นวานนี้ ได้นั่งคุยกับอาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ พอคุยแล้วก็เพิ่งนึกออกว่าอาจารย์พนมนั้นเคยมาเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ต่อจากคุณครูประสิทธิ์ ยั่งยืน และก่อนคุณครูบุญส่ง ว่องสารกิจ ตอนนี้เลยชวนอาจารย์ไว้เผื่อว่าจะได้ทำกิจกรรมพัฒนาโรงเรียนกับชุมชน ร่วมกับคุณครูและชาวบ้าน ด้วยกัน

    โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ตามแหล่งต่างๆของประเทศไทย  ๕  แห่ง นครสวรรค์ นครนายก พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก สุโขทัย

    ๑. โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) บ้านตาลิน ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ๖๐๑๑๐

    ๒. โรงเรียนวัดคูหาสวรรค์ (วันครู ๒๕๐๔) ชุมชนคูหาสวรรค์ ถนนคูหาสวรรค์ ตำบลธานี อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ๖๔๐๐๐

    ๓. โรงเรียนคุรุประชาชนูทิศ (วันครู ๒๕๐๔) เลขที่ ๑๕ บ้านศรีชนูทิศ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ๖๕๑๓๐

    ๔. โรงเรียนบ้านคลองตะเคียน หมู่ ๒ (วันครู ๒๕๐๔) ตำบลคลองตะเคียน อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑๓๐๐๐

    ๕. โรงเรียนวันครู ๒๕๐๔  หมู่ ๕ ตำบลเกาะโพธิ์ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก  ๒๖๑๓๐

    ขอถือโอกาสนี้ สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๓ แด่ญาติพี่น้อง ลูกหลาน หมู่มิตร คนบ้านห้วยถั่วเหนือ บ้านกลาง บ้านใต้ บ้านรังย้อย บ้านเกาะแก้ว บ้านป่ารัง บ้านตาลิน ศิษย์เก่าโรงเรียนวันครู ชุมชนโดยรอบโรงเรีบนวันครู(๒๕๐๔) คนหนองบัว เครือข่ายกัลยาณมิตร และผู้อ่านทุกท่านนะครับ

     ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย พระบารมีปกเกล้าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล รวมทั้งสิ่งที่ทุกท่านเคารพนับถือ หลวงพ่อเดิม หลวงพ่ออ๋อย หลวงพ่อสีลา หลวงพ่อแดง ดวงวิญญาณของปู่ย่าตายาย ผู้เฒ่าผู้แก่และบรรพชนทั้งหลาย จงร่วมเป็นขวัญและกำลังชีวิต ให้ทุกขณะและทุกอริยาทบทในชีวิตของทุกท่านจงได้กอปรด้วยพลังแห่งความเป็นสัมมา กร้าแกร่งในพลังปัญญาและปรีชาญาณในการแก้ปัญหาต่างๆ มีพลังแห่งสติ พลังแห่งความตั้งมั่น ตบะ บากบั่น อดทน พลังแห่งความริเริ่มสร้างสรรค์

    มุ่งสู่ความสุขและความศานติ สงบเย็นทั้งกายใจ เจริญงอกงามในการปฏิบัติธรรมแห่งชีวิตทั้งเพื่อผู้อื่นและตนเอง มีความงอกงามก้าวหน้าในการเรียนรู้ในทุกสถาน พึ่งตนเอง พอเพียง มีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาวะสังคม และสามารถเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีของหมู่มิตร เพื่อนร่วมงาน ลูกหลาน ญาติพี่น้อง ให้ได้ปฏิบัติและเรียนรู้สิ่งดีไปด้วยกันอยู่เสมอ

    จำเพาะเวทีของคนบ้านตาลินและคนหนองบัวนี้ ก็ขอให้เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ เป็นแหล่งพัฒนาบทบาทของทุกท่านที่เข้ามาสร้างสรรค์สิ่งต่างๆด้วยกัน ให้ได้ประสบการณ์ชีวิตที่ดีสำหรับนำกลับไปทำการงานและดำเนินชีวิตเหมือนได้หมู่มิตรและที่ปรึกษาหารือให้ชีวิตกอปรด้วยความมีสติปัญญาและการใช้เหตุผลที่พอดี พอเพียง และเหมาะสมแก่เหตุปัจจัยแห่งชีวิตตนอยู่เสมอ ได้ความรอบด้าน มีความรู้ และมีสายตาที่เท่าทันโลกรอบข้าง

    หากเป็นพ่อแม่ เป็นผู้นำของครอบครัว ก็ขอให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายผู้คนผู้มีน้ำใจแห่งมิตร มีความรู้ มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ และมีความดีงามอยู่ในตนเองอย่างหลากหลายทั่วประเทศในเวทีนี้ และได้เวทีนี้เป็นแหล่งบ่มเพาะศักยภาพความเป็นครอบครัวของพ่อแม่ เพื่อสามารถเป็นที่ปรึกษาอันเท่าทันโลกแก่ลูก เป็นครูและเป็นผู้นำประสบการณ์ที่ดีมาสู่การเรียนรู้ของลูก เป็นกลุ่มสังคมและเป็นสถาบันอันดับแรกที่สร้างความมั่นคงเข้มแข็งของสังคมอย่างมีพลัง

    หากเป็นเด็กและเยาวชนคนบ้านตาลินและคนหนองบัวในทุกชุมชน รวมทั้งในท้องถิ่นต่างๆที่ได้เข้ามาเป็นเพื่อนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนหนองบัว ก็มีความองอาจสง่างาม รอบรู้ทางสังคม มองไกลสู่โลกกว้าง มีปัญญาและความฉลาดต่อการเข้าถึงวิทยาการและเทคโนโลยีที่เห็นประโยชน์สุขของคน ชุมชน และสังคม เป็นฐาน เรียนรู้ความกว้างขวางของโลกรอบข้างอย่างนอบน้อม เคารพผู้อื่น และเห็นภาวะผู้นำของตนเอง มีความเชื่อมั่น แจ่มแจ้ง และชัดเจนในสิ่งที่สังคมของตนมี สามารถแบ่งปัน นำเสนอความแตกต่างให้กับผู้อื่น และสามารถนำการปฏิบัติให้แก่ผู้อื่นด้วยหนทางที่แตกต่างหลากหลายยิ่งขึ้น จากความเป็นตัวของตัวเองได้เสมอ

                                  

                                 อ้างอิงภาพภาพจากวิรัตน์ คำศรีจันทร์ CheewaKasemCm.jpg

    หากเป็นคนทำงานท้องถิ่นและคนของราชการ ก็เป็นคนบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ มีภูมิปัญญาพอเพียงแก่การทำการงานสังคมให้รอบคอบ เชื่อมโยงความเป็นท้องถิ่น ความเป็นสาธารณะของสังคมไทย และความเป็นสากลของโลก เป็นความอุ่นใจของประชาชน เป็นกำลังทางวิชาการเพื่อการสร้างสุขภาวะของชุมชนทุกระดับขึ้นจากฐานชุมชนให้งอกงามและเป็นตัวของตัวเอง ได้มีโอกาสฟื้นฟูและส่งเสริมการเรียนรู้ตนเองของชุมชนให้ยิ่งงอกงาม สนุก ประสบความสำเร็จทีละเล็กละน้อยในการได้สร้างและสะสมพลังความรู้อย่างในเวทีคนหนองบัวช่วยกันให้มากยิ่งๆขึ้น ทำให้ผู้คนเห็นคุณค่าแห่งชีวิตและมีโอกาสพัฒนาตนเองเพื่อมีส่วนร่วมต่อการสร้างสรรค์ในสิ่งที่ต้องการทำเพื่อผู้อยู่ร่วมกันกับอื่น

    คนหนองบัวทุกท่านที่เข้ามาพัฒนาเวทีคนบ้านตาลิน ชุมชนโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) และเวทีคนหนองบัวด้วยกันในทุกเวทีย่อยๆ ก็ขอจงได้ประสบทุกสิ่งในข้างต้น และขอให้ได้ประสบการณ์ที่ดี สามารถร่วมสร้างสรรค์ และทำให้เวทีคนหนองบัวมีความคึกคัก ได้ความเป็นชุมชนและเครือข่ายของคนที่คิดดี ทำดี มีส่วนร่วมต่อการพัฒนาทั้งเพื่อกลุ่มก้อนของตนเองและเพื่อความเป็นสาธารณะในทุกขอบเขตที่ทุกท่านสามารถนำตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมได้

     ด้วยพลังความสร้างสรรค์สิ่งดี จากการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติของเราทุกท่านดังกล่าว ก็ขอให้เป็นเหตุปัจจัยส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบข้างให้มีแต่ความสุข มีสุขภาวะสาธารณะ และทุกท่านก็ประสบแต่สิ่งดี ตลอดปี ๒๕๕๓ และตลอดไป ทุกท่าน เทอญฯ 

  • ขอแก้ไขข้อมูลตรง dialogues box 28 นะครับ ที่บอกว่า อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์  เคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) นั้น ไม่ถูกต้องครับ
  • อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ เคยไปเป็นครูที่โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) อยู่ระยะหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นผู้อำนวยการครับ 
  • เลยลิ๊งค์ให้ไปเยี่ยมเยียนท่านได้ที่โรงเรียนบ้านหนองไผ่นะครับ คลิ๊กลงไปบนชื่ออาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ได้เลยครับ ผมจำได้ว่าเคยเจอกับอาจารย์พนมบนศาลาวัดใหม่(นิกร ปทุมรักษ์) เวลามีงานบุญ วันพระ อาจารย์พนมมักมาทำบุญกับชาวบ้านบ้านตาลิน
  • แล้วก็ขอบอกกล่าวไปด้วยเลยนะครับ คุณณัฐรดา สุขสุธรรมวงศ์ บล๊อกเกอร์ของ โอเคเนชั่น และ GotoKnow นักเขียนสีน้ำพฤกษศาสตร์ กับครูอุ๋ย  สำนักพิมพ์  ได้พิมพ์หนังสือรวมผลงานของคุณณัฐรดา ซึ่งคงจะเป็นหนังสือแนวคู่มือสำหรับศึกษาและฝึกฝนตนเองของผู้สนใจงานเขียนสีน้ำพฤกษศาสตร์และการใช้ศิลปะทำงานฝีมือแบบใจรักสมัครเล่น พอพิมพ์ออกมาแล้ว ผู้เขียนปวารนาว่าจะขอเผยแพร่และบริจาคให้แก่โรงเรียนต่างๆทั่วประเทศ ๑๐ โรงเรียนตามการแนะนำของผู้อ่านบล๊อกที่เธอเขียน 
  • โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) เป็นโรงเรียนหนึ่งที่มีคนเสนอชื่อเข้าไปด้วย ดูเหมือนว่าคนเสนอจะเป็นอาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ ซึ่งตอนนี้ทางผู้เขียน บรรณาธิการ และสำนักพิมพ์ ได้ทำหนังสือออกมาแล้ว เลยได้จัดส่งให้ทางโรงเรียนแล้วนะครับ
  • ผมเลยนำมาบอกกล่าวไว้ที่นี้ด้วย เพราะเมื่อหนังสือส่งไปถึงโรงเรียนแล้ว ก็จะได้ทราบความเป็นมาเพื่อรำลึกถึงน้ำใจของทุกท่านที่มีแก่เด็กๆในชนบทครับ
  • รวมทั้งบอกกล่าวไว้ด้วยก็ดีเหมือนกัน เพราะนึกขึ้นมาได้ว่า ผมเคยเคยรับหนังสือส่งให้โรงเรียน แต่นานหลายปีแล้ว ทั้งโรงเรียนหนองคอก โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) และโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) เป็นหนังสือ ศิลปวัฒนธรรม และบางครั้งก็เป็นงานเขียนที่คิดว่าดี เพราะอยากให้เด็กที่บ้านมีหนังสือดีๆอ่าน รวมทั้งเป็นเครื่องรำลึกถึงคุณครูและโรงเรียนเก่าตนเอง แต่ไม่เคยทราบเลยว่าเขาส่งให้หรือไม่หรือโรงเรียนบ้านเราได้รับหรือไม่ ทั้งที่บอกเป็นสมาชิกรับเพื่อบริจาคให้เด็กๆนานเป็นปีเลยทีเดียว เคยถามคนที่พอรู้จัก ก็ไม่มีใครทราบเลย ก็แปลกดี
  • คราวนี้เลยบอกกล่าวให้ทราบกันไปด้วยเลยนะครับ
  •                                

    นำดอกปีบ ริมแม่น้ำแควน้อยมา คารวะครู เนื่องในโอกาส วันครู ค่ะ

    • ((วันนี้วันพฤหัส ถือว่าเป็น วันครู แต่วันครูคือวันเสาร์ที่ ๑๖ มกราคม ๕๓))
    • เมื่อเย็น คุณณัฐรดาโทรศัพท์มาบอกกล่าวเรื่องหนังสือของเธอเช่นกันค่ะ ว่าสัปดาห์หน้าหนังสือคงถึงมือเด็กๆ ต้องขอขอบพระคุณ คุณณัฐรดา และครูอุ๋ย แทนเด็กๆ ด้วยเช่นกันค่ะ
    • เลยขอนำรูปดอกชมพูพันธุ์ทิพย์ที่หล่นพราวบนสนามหญ้าตามโคนต้นไม้หน้าสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียนที่ทำงานเดิมของผม มาแบ่งกันชมเป็นการแลกเปลี่ยนกันนะครับ ข้างๆตรงบริเวณนี้ก็มีต้นดอกปีบอยู่ต้นหนึ่ง เวลาเดินเข้าไป มองด้านขวาก็เห็นดอกชมพูพันธุทิพย์ มองด้านซ้ายก็เห็นดอกปีบอยู่เต็มพื้นสนามหญ้า เห็นอาจารย์ณัฐพัชร์เอาดอกปีบมาฝาก ก็เลยนำรูปดอกชมพูพันธุ์ทิพย์มาแบ่งปันกันดูบ้างนะครับ
    • ดอกปีบมีกลิ่นหอมอ่อนโยนนอบน้อม เด็กๆในชนบทชอบดอกปีบเพราะนอกจากต้นมะขามเทศและมะขามแต้จะมีแมลงทับชอบไปเกาะอยู่ตามยอดและช่อดอกแล้ว ก็ชอบไปเกาะตามต้นดอกปีบด้วย
    • คนเฒ่าคนแก่มักให้เด็กๆรู้จักเก็บดอกปีบไปบูชาพระ ส่วนเด็กๆเวลาเห็นแมลงทับก็นึกถึงพระอินทร์ เวลาทายว่า "อะไรเอ่ย เขียวเหมือนพระอินทร์ บินอยู่บนฟ้า" เด็กๆในชนบทก็จะตอบได้ทันทีว่า "แมลงทับ" 
    • เวลานอนใต้ร่มไม้และเห็นแมลงทับบินอยู่บนยอดดอกปีบ ก็มักจินตนาการไปตามนิทานผู้ใหญ่ว่า พระอินทร์เหาะมาเอาดอกปีบ เสด็จไปไหว้พระพุทธเจ้าบนสวรรค์

                             

                            

    • ขอแก้ไขข้อมูลเรื่องหนังสือที่คุณณัฐรดากับสำนักพิมพ์ครูอุ๋ยทำและบริจาคให้โรงเรียน แล้วก็จะรวมถึงโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔)ด้วยนั้น เล่มนี้เป็นการเขียนสีน้ำเพื่อการตบแต่งนะครับ
    • ขอร่วมกับเด็กๆและชาวบ้านบ้านตาลิน อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์กับคุณณัฐรดานะครับ ที่ได้นึกถึงและแบ่งปันสิ่งดีๆไปให้ การลุงทุนทางปัญญาและสร้างเด็กนั้น เป็นการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของการพัฒนาในเรื่องต่างๆดีที่สุดครับ

                            

    มอบคารวะและสักการะแด่คุณครู บุรพคณาจารย์ และผู้ดำเนินชีวิตเป็นครูแก่ผู้คนทุกคนครับ

    กราบคุณครูประถมต้นของผม โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) และมัคนายกของชุมชน : คุณครูประสิทธิ์ รัชตสิทธิ์ บ้านชุมแสง | คุณครูเหลือ ศรีสวัสด์ บ้านใต้ | คุณครูทองหล่อ บุญเกิด บ้านเตาอิฐ | คุณครูเสาวนิตย์ ภู่เกตุ บ้านหนองบัว | คุณครูชัยยุทธ ภู่เกตุ บ้านหนองบัว | คุณครูชาญชัย เหลืองสุรภีสกุล บ้านรังย้อย | คุณครูเสริญ บ้านป่ารัง | คุณครูกิตติ เกตุยา บ้านห้วยถั่วเหนือ | ครูพ่อใหญ่เรือง พินสีดา บ้านไดเจ๊กห้า | พ่อใหญ่คำ พินสีดา | พ่อใหญ่น้อง บุศย์ดี | ครูแสวง แสงอาภา | พ่อใหญ่บุญ |

     

                       'มอบแด่ครูทั้งปวง เนื่องในวันครู ๒๕๕๓'

                                                  

                                                   (๑)
                                 วันครู พระคุณครู ขอน้อมรำลึก
                                 ถึงผู้บ่มเพาะ เพียรฝึก ให้การศึกษา
                                 ขจัดพาล ปกป้องภัย ให้ความเมตตา
                                 เพื่อแกร่งกร้า เจริญสติปัญญา กายและใจ

                                                   (๒)
                                 พ่อแม่
     บุรพคณาจารย์ เป็นปฐม
                                 ให้ชีวิต ให้การอบรม เป็นคนได้
                                 สร้างพื้นฐาน เรียนรู้สังคม เจริญวัย
                                 เป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ ตลอดกาล

                                 ครูผู้ให้การศึกษา วิชาความรู้
                                 ดุจพ่อแม่ ผู้เฝ้าดู ให้รู้รอบด้าน
                                 ตระหนักรู้ ในตัวตน เพื่อการงาน
                                 รู้สร้างสาน สุขภาวะ แก่สังคม

                                 อุปัชฌาจารย์ อีกทั้งกัลยาณมิตร
                                 คือครูให้รู้คิด ความเหมาะสม
                                 เรียนรู้ตน ครองธรรม อันควรชื่นชม
                                 เป็นพลเมือง สร้างสังคม ด้วยจิตวิญญาณ

                                 เพื่อนมนุษย์ สรรพชีวิต ร่วมทุกข์สุข
                                 คือครูผู้ร่วมยุค วัฏฏสงสาร
                                 ต่างแบ่งปันเรียนรู้ เจือจาร
                                 ได้ก้าวผ่าน สร้างชีวิต เป็นทุนแห่งตน

                                                (๓)
                                 ข้าขอประณตน้อม ศิระกราน
                                 น้อมกาย จิตวิญญาณ น้อมนำผล
                                 ด้วยสำนึก ถึงคุณครู ผู้เพียรสร้างคน
                                 ร่วมผองชน จบเกล้า บูชาครู
     
                                                   (๔)
                                 "จะน้อมตน ปฏิบัติ วิถีแห่งธรรม
                                 ครองตน ครองธรรม ตระหนักรู้
                                 ครองงาน สานสิ่งดีงาม ความเป็นครู
                                 ใช้ความรู้ ด้วยสติปัญญา และคุณธรรม

                                 กราบหนึ่ง
    น้อมรำลึก พระคุณครูทั้งปวง
                                 กราบสอง ใดก้าวล่วง ขอสมาทุกกรรมกล้ำ 
                                 กราบสาม ขอผสานชีวิต งาน และธรรม
                                 สร้างสังคม สานสิ่งดีงาม บูชาครู"

                                                              วันครู ๒๕๕๓
                                                              เสาร์ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๓
                                                              วิรัตน์ คำศรีจันทร์
                                                              มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ

    ความเป็นมาของหมู่ ๕ บ้านตาลิน ของตำบลหนองบัว
    และเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวันครู (๒๕๐๔)

    เมื่อเย็นวานวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๔ ผมได้มีโอกาสกับคุณฉิก : คุณศักดิ์ศรี พิทักษ์อำนวย ลูกหลานคนหนองบัวและเป็นน้องเพื่อน-รุ่นน้องโรงเรียนหนองบัวเทพฯกับหนองคอก ไปเยี่ยมคารวะอดีตนายอำเภอของอำเภอท่านหนึ่งที่ตลาดสี่มุมเมือง ชื่อ นายสมหมาย ฉัตรทอง ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งนายอำเภออยู่ที่อำเภอหนองบัวในช่วงปี ๒๕๒๔-๒๕๒๘ และเป็นผู้ศึกษารวบรวมข้อมูลอำเภอหนองบัวไว้เป็นอย่างดีท่านหนึ่ง ตลอดจนนำประชาชนทำอนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์และนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ ปัจจุบันท่านอายุ ๖๘ ปี

    ได้ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับอำเภอหนองบัวอีกหลายอย่างรวมทั้งเกี่ยวกับบ้านตาลินและโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) โดยท่านได้เล่าให้ฟังว่าที่บ้านตาลินได้แบ่งเป็นหมู่ ๕ มาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็เนื่องด้วยท่านนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์เช่นกัน โดยในยุคของท่านปีหนึ่ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๕ และหมู่ ๗ เดิมของอำเภอหนองบัว ทำงานได้ไม่เต็ทมที่เนื่องจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งนั้นชราภาพมากแล้ว นายอำเภออรุณจึงยุบหมู่ ๕ และหมู่ ๗ เดิมในตัวชุมชนของหนองบัว แล้วตั้งหมู่ ๕ ขึ้นใหม่ที่บ้านตาลิน ซึ่งเป็นศูนย์กลางชุมชนบ้านตาลินและเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔)มาจนถึงปัจจุบัน

    ๑๖ มกราคม วันครู ๒๕๕๕
    ขอน้อมคารวะคุณครูและร่วมรำลึกวาระ ๕๐ ปีของการก่อตั้งโรงเรียนวันครู ๒๕๐๔ จากเงินบริจาคของคุณครูประชาบาลทั่วประเทศ ของบ้านตาลิน อำเภอหนองบัว และอีก ๔ แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเสมือนเป็นอนุสาวรีย์ของครูและอุดมการณ์ทางการศึกษาเพื่อชนบทของสังคมไทย

    แวะมาเยี่ยมและให้ดอกไม้
    เวทีคนบ้านตาลิน
    ดูสติถิผู้มาเยี่ยมชุมชนบ้านนี้แล้ว
    น่าปลื้มใจนะเนี่ย เลยหนึ่งหมื่นไปแล้ว

    แสดงว่าลูกหลานคนบ้านตาลินนั้น
    จากบ้านไปศึกษา เรียนหนังสือ
    ทำงานนอกหนองบัวมากขึ้น

    อยู่ำไำกลบ้าน เมื่อคิดถึงบ้านแล้วเข้ามาอ่าน
    นอกจากจะช่วยหายคิดถึงบ้านได้บ้างแล้ว
    ก็ยังได้ความรู้ เรื่องใกล้ๆตัวอีกมากมาย



    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข)ครับ

    จริงด้วยครับ คนเข้ามาอ่านเยอะมากนะครับเนี่ย ตอนนี้ผมกลับไปบ้านที่บ้านตาลินและหนองบัวครับ จะไปร่วมจัดนิทรรศการเสริมแรงบุญให้กับโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) งาน ๘๙ ปีของโรงเรียน สร้างอาคารเรียนและศูนย์เรียนรู้ดนตรีไทย และน้อมเกล้าเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถน่ะครับ จะจัดในวันที่ ๑๒ สิงหาคมนี้

    หลังจากนั้น ทางโรงเรียนหนองบัว ในนามของศูนย์พัฒนาการเรียนรู้ภูมิปัญญาอิงถิ่นฐาน ของเครือข่ายโรงเรียนที่ได้รับรางวัลโรงเรียนในฝัน จังหวัดนครสวรรค์ ก็จะจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในวันที่ ๑๓-๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๕ อย่างที่เคยจัดให้กับเครือข่ายไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

    ผมอยากได้กราบนิมนต์พระคุณเจ้ากับท่านพระอธิการโชคชัย ได้ไปร่วมกันเป็นวิทยากรเหมือนอย่างครั้งที่แล้วอีกน่ะครับ แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นการเหมาะสมไหมเพราะอยู่ในช่วงกาลพรรษา ผมคิดว่าจะหารถอำนวยความสะดวกไปกลับวัดในทุกวันให้ได้น่ะครับ จะขออนุญาตโทรศัพท์เรียนปรึกษาต่อไปอีกนะครับ

    เป็นประวัติศาสตร์ชุมชนที่เขียนได้น่าอ่านมาก ชื่นชมอาจารย์วิรัตน์ที่สืบค้นเขียนให้ชาวชุมชนไม่ลืมรากเหง้า และเกิดความรักท้องถิ่น นี่แหละคือครูของชุมชนที่น่าศรัทธา

    ขอคุณอาจารย์ธเนศครับ หากมีโอกาสนำเอาเรื่องราวของชุมชนและของโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔)นี้ มาเปิดประเด็นเสวนาและเคลื่อนไหวสังคมทางด้านความรู้ต่างๆ จะนำมาเล่าให้อาจารย์ทราบและอาจจะต้องขอคำชี้แนะจากอาจารย์ด้วยนะครับ

    ตอนนี้ผมได้เริ่มขอหารือผู้ใหญ่บ้านกับเจ้าอาวาสวัดของชุมชนที่อยู่ติดกับโรงเรียน เพื่อดึงเอาเนื้อหาเท่าที่มีเหล่านี้ออกมาทำสื่อ แล้วจะขอจัดศาลาสาธารณะของชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในวัดกับโรงเรียน ให้เป็นแหล่งจัดแสดงข้องมูลเหล่านี้ของชุมชน จะได้มีคนได้อ่านและทำให้เกิดหัวข้อการพูดถึงชุมชน เกิดการทบทวนข้อมูล แล้วก็ไปจัดเวทีย่อยๆเพื่อคุยและรวบรวมข้อมูลไว้เป็นระยะๆ ก็น่าจะทำให้เป็นชุมชนที่น่าสนใจ น่าเรียนรู้ และคงจะสามารถใช้พลังความรู้ส่งเสริมกำลังความริเริ่มสร้างสรรค์ต่างๆออกมาจากชุมชนได้อีก 

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท