BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

คืนนี้... ระวังเปรตมาเยี่ยม !


คืนนี้... ระวังเปรตมาเยี่ยม !

วันนี้... แรมค่ำ ๑ เดือน ๑๐ ถือกันว่าเป็นวันสารททำบุญเดือนสิบหนแรก และวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบก็จะเป็นวันสารททำบุญเดือนสิบหนหลัง ซึ่งเรื่องวันสารทนั้น ผู้เขียนเคยเล่าไว้บ้างแล้ว (ผู้สนใจคลิกที่นี้)... วันสารททำบุญเดือนสิบปักษ์ใต้นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันชิงเปรต โดยวันทำบุญหนแรกเรียกว่า วันรับเปรต ส่วนวันทำบุญหนหลังเรียกว่า วันส่งเปรต

การทำบุญเดือนสิบหรือวันชิงเปรตนี้ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ผู้เขียนก็ไม่ทราบประวัติ รับรู้กันแต่เพียงว่าการทำบุญเดือนสิบเพื่ออุทิศไปให้เปรตผู้เป็นญาตินั้นมีเค้าเงื่อนที่มาจากติโรกุฑฑสูตร ซึ่งเรื่องราวจะเป็นไปอย่างไรนั้น ผู้สนใจจะทราบก็ คลิกอ่านที่นี้ สำหรับบันทึกนี้จะเล่าเฉพาะเรื่องราวปรำปราของปักษ์ใต้บ้านเราเท่านั้น...

ฟังมาตั้งแต่จำความได้ว่า พอถึงเดือน ๑๐ แรมค่ำ ๑ ของทุกปี ยมบาลก็จะปล่อยให้เปรตกลับมาเยี่ยมญาติได้กึ่งเดือน ดังนั้น วันนี้จึงมีการทำบุญครั้งแรกเพื่อต้อนรับเปรตที่กลับมาเยี่ยม (วันรับเปรต) และพอเปรตจะกลับในวันแรม ๑๕ ค่ำ ก็จะมีการทำบุญอีกครั้งเพื่อเลี้ยงส่งพร้อมของฝากแก่บรรดาเปรตที่จะจากไป (วันส่งเปรต)...

จำได้ว่า สมัยก่อนตอนเป็นเด็กนั้น ตอนเย็นๆ พวกเราซึ่งวิ่งเล่นอยู่ที่บริเวณลานข้างบ้านนั้น มักจะถูกผู้ใหญ่ที่ผ่านไปผ่านมา บอกว่า แค่ค่ำแล้ว หลบบ้านได้แล้ว เค้าปล่อยเปรตมาคืนนี้... ซึ่งพวกเราก็มักจะกล้าๆ กลัวๆ (ถ้าอยู่กันเยอะก็กล้า แต่ถ้าเล่นอยู่ ๒-๓ คน ไม่นานก็จะแยกย้ายกันกลับ 5 5 5...) และในช่วงกึ่งเดือนนี้ สังเกตได้ว่า ตามลานข้างๆ บ้านนั้น เด็กๆ ค่อนข้างจะเลิกวิ่งไล่จับกันเร็วเป็นพิเศษ... แต่พอทำบุญส่งเปรตแล้ว พวกเด็กๆ ก็จะเล่นกันจนผู้ใหญ่มาตามอีกครั้ง โดยอ้างว่า ยมบาลพาเปรตกลับหมดแล้ว (5 5 5...)

แต่นั้นแหละ ! บางครั้งเลยวันทำบุญส่งเปรต ๒-๓ วันแล้ว ถ้าวิ่งเล่นอยู่น้อยคน ก็อาจถูกผู้ใหญ่ที่ผ่านมาล้อว่า เฮ หลบขึ้นเรือนได้แล้ว เปรตยังหลบไม่หมดที แลกเดียวเห็นเงาสูงๆ ผ่านไปวาบๆ ... พวกเราเด็กๆ ก็มาคิดกันว่า เออ ! น่ากลัว ยังมั้งเหลย... จึงแยกย้ายกันกลับบ้านอีกครั้ง (5 5 5....)

แม้ว่าข้ออ้างที่ผู้ใหญ่บอกเรื่องเปรต อาจใช้หลอกให้เด็กๆ ขึ้นเรือนได้ก่อนเวลาปกติก็จริง แต่บางครั้งเรื่องเปรตก็อาจเป็นข้ออ้างที่เด็กใช้โต้กลับผู้ใหญ่ได้เหมือนกัน กล่าวคือ บางครั้งผู้ใหญ่ต้องการให้เด็กไปซื้อของหรือเอาบางสิ่งบางอย่างจากเรือนใกล้ๆ กันในเวลากลางคืน... เด็กก็ปฏิเสธไม่ไปโดยอ้างว่า กลัวเปรต... (5 5 5...) คราวนี้ แม้บางครั้งผู้ใหญ่จะอ้างว่าเปรตไม่มีจริง แต่เด็กบางคนก็ยืนยันว่าไม่ไปเด็ดขาดเพราะกลัวเปรต ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงต้องไปเอง (5 5 5...)

สมัยก่อน เรื่องเปรตในช่วงเดือนสิบนี้ มักจะมีสำนวนที่อ้างถึงอยู่เสมอ เช่น บางคนที่เกียจคร้านการงานไม่ค่อยทำ ก็อาจถูกสั่งสอนว่า ทำงานทำการเสียบ้าง ช่วงนี้เปรตมาเยี่ยม บัดสีพวกเปรตมั้ง ! (5 5 5...) สำหรับบางคนที่เกะกะเกเร หรือเมามายไม่เป็นเรื่องเป็นราว ก็อาจถูกตำหนิว่า  เดือนสิบแล้ว หยุดเสียมั่ง ! เหม่อ ! ไม่อายเปรต ! (5 5 5...)

สมัยก่อนสังคมไม่ซับซ้อน ในสังคมหนึ่งมีวัฒนธรรมเดียว ข่าวสารก็ไม่หลากหลาย ดังนั้น เมื่อถึงเดือนสิบ คำหนึ่งที่มักอ้างถึงก็คือ เปรต ... แต่ปัจจุบันสังคมซับซ้อน มีความหลากหลายสูงเป็นพหุวัฒนธรรม การบริโภคข่าวสารก็มาจากทั่วโลก อย่างไรก็ตาม คงจะไม่โบราณจนเกินไปนัก ถ้าจะเตือนว่า...

  • คืนนี้... ระวังเปรตจะมาเยี่ยม
หมายเลขบันทึก: 208916เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2008 21:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 12:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

มันเป็นเรื่องจริงมั้ยครับ

ไม่มีรูป Thailandkid

 

เรื่อง เปรต เรื่อง ผี  หรือเรื่องลึกลับอื่นๆ ที่พิสูจน์ไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์ แต่ในทางปรัชญาบางสำนักก็ยอมรับความรู้ความจริงทำนองนี้ เรียกกันว่า ประจักษประมาณพิเศษ

ประจักษประมาณพิเศษ ก็คือ สิ่งที่เรารับรู้ได้โดยตัวเอง และเป็นจริงสำหรับเราเท่านั้น

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า

ให้ยินได้ฟังเรื่องเปรตมาแรกเอียด เปรตยังลามมาถึงอิสลามเรา

บางทียังนึกว่าเปรตเป็นของโหมเรา เพระคลุกคลีคุ้นชินกันมายาวนานกับเพื่อนชาวพุทธ

วันนี้เข้าใจเปรตมากขึ้น

เปรตคำเดียวเป็นคำปกติ หยอกกัน

ถ้าเปรตๆ 2คำ ทำท่าหวิบ

ถ้าเติมคำอ้าย ... หวิบแล้ว

เปรตจะเป็นอะไรก็ตาม ยังคงอยู่คู่ และติดตาม ในวิถีของเราต่อไปทั้งไทยพุทธ และอิสลาม

P บังหีม

 

บังให้ความเห็นมาต้องมีเชิงอรรถ...

  • แรกเอียด  = เป็นเด็ก
  • โหมเรา    = พวกเรา
  • หวิบ        = เคือง, ไม่พอใจ, โกรธ

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้าที่ชี้แนะ

กำลังหัดเขียนให้อ่านง่าย เช่นมีแถบ เน้นข้อความ

ก็ต้องขอความอนุเคราะห์ จากพระคุณเจ้า

ซึ่งมีความเป็นพุทโธโลยี่อย่างสูง

P บังหีม

 

  • ทำอย่างไรให้อ่านได้สะดวก ?

จำได้ว่า ตอนหัดทำหนังสือครั้งแรกนั้น ใช้อักษรตัวเล็ก ภาษาก็มักจะเรียกติดกันเป็นพืด ไม่ค่อยขึ้นย่อหน้าใหม่ (เหตุผลหลักก็คือประหยัดหรือตระหนี่นั่นเอง 5 5 5...)

เมื่อทำผ่าน ๒-๓ เล่ม จึงค่อยๆ ซึมซับว่า หนังสือจะเขียนดีอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าตัวอักษรเล็ก คนก็ไม่ค่อยสนใจจะอ่าน (พอเริ่มแก่ เริ่มเข้าถึงเรื่องนี้) และอย่าขี้เหนียวหน้า เว้นช่องไฟห่างๆ บ้าง มีรูปประกอบบ้าง ปล่อยหน้าว่างไว้บ้าง เพื่อเป็นการทอดความคิดและพักสายตา...

เมื่อก่อนไม่ค่อยมีเครื่องมือ ก็ค่อยๆ ซื้อสะสมสร้างที่ละอย่าง เช่น แม๊กตัวใหญ่ เครื่องตัดหนังสือ... แต่ก็แปลก พอเครื่องมือค่อนข้างจะเพียงพอ ก็เบื่อทำหนังสือ... (ทำท่าบ่นเรื่องส่วนตัวอีกแล้ว 5 5 5 )

เจริญพร

กราบนมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพอย่างสูง ผมเชื่อในเรื่องของการทำดีแล้วได้ดี หลวงพี่อยู่จังหวัดไหนครับ

สถานการณืทางปักษ์ใต้ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ

ไม่มีรูป ubon

 

สถานการณ์ปักษ์ใต้ตอนนี้ แต่ละบ้านมีหนมเดือนสิบ เช่น หนมเจาะหู หนมต้ม หนมลา และแกงคั้ว ติดอยู่เกือบทุกบ้าน มากบ้างน้อยบ้าง เพราะเพิ่งทำบุญชิงเปรตแลกวา...

เจริญพร

นมัสการค่ะ

เรื่องเปรตมีอยู่ในพระไตรปิฎกด้วยค่ะหลวงพี่ เคยได้อ่านในพระไตรปิฎกของมหามงกุฏ..แต่จำเล่มไม่ได้แล้วค่ะ :)

แต่ขนมรา อร่อยดีนะค่ะ เลยต้องชิงเปรตกิน :)

PDhamma

 

เรื่อง เปรต ในพระไตรปิฏกมีกระจายอยู่ทั่วไป สาขาศาสนาเปรียบเทียบของ ม.มหิดล เคยมีผู้ทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้มาแล้ว...

เจริญพร

พูดถึงเรื่อง การทำบุญเดือนสิบหรือชิงเปรตเป็นวัฒนธรรมภาคใต้ที่ดีมาก แต่มาดูสภาพการณ์ปัจจุบันนะครับวันเหล่านี้มีความสำคัญก็จริงแต่บางปีก็ตรงกับวันจันทร์-ศุกร์ คือวันราชการ ผู้ที่ทำงานก็ต้องลางานไปทำบุญแต่ก็ไม่มีปัญหานะครับ แต่ในสถานศึกษาตั้งแต่ระดับ ประถม - มหาวิทยาลัย นั้นกำลังสอบกันอยู่ ก็ระยะนี้บางครั้งตารางสอบออกตรงกับวันชิงเปรตพอดี ผมเคยมาสอบในวันชิงเปรตตอนเรียนที่มหาวิทยาลัยในสงขลานี่นะครับ และต้องมาสอบในวันลากพระด้วย ก็คิดขึ้นว่าวัฒนธรรมอันดีของเรานั้นเรากำลังลืมเรากำลังมองด้านเดียว การศึกษาก็กำหนดแล้วว่าต้องสอดคล้องกับท้องถิ่น แต่เราก็ทำแต่เอกสารว่ามีหลักสูตรที่สอดคล้องกับท้องถิ่น พอถึงวันชิงเปรตโรงเรียนต้องปิดภายใน การปิดภายในนี้ ก็คือ แอบปิดเรียน ในโรงเรียนที่ผมอยู่นะครับไม่กล้าประกาศออกประชาสัมพันธ์ว่าปิดภายในวันเดือนสิบ เพราะอะไรเพราะกลัวความผิด นี้คือปมปัญหาที่ต้องแก้ไข กล่าวคือต้องเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น เมื่อถึงวันสำคัญของวัฒนธรรมท้องถิ่นควรปิดให้นักเรียนไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องปิดภายในต้องเข้าใจและเข้าถึงด้วยนะครับ

Ppakorn

 

ก็เป็นอย่างที่อาจารย์วิจารณ์มานั้นแหละ... ตอนเด็กๆ หลวงพี่เรียนประถมเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ยังเหมือนเดิม ซึ่งพอสรุปแนวปฏิบัติได้ ๓ นัย กล่าวคือ

  • บางครั้งก็ปิดเลย
  • บางครั้งก็บอกให้มาตอนเช้าก่อน พอสายๆ ก็จะปล่อยให้กลับบ้าน
  • บางครั้งก็ไม่ปิด ใครไม่มาก็อนุญาตให้ลาได้

รื่องทำนองนี้ ถ้าเรามองว่าเป็นปัญหาก็เป็น ถ้ามองว่าไม่เป็นก็ไม่เป็น... อนึ่ง การที่วิธีการดำเนินการยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิม อาจเป็นข้อสรูปได้ว่า แนวทางนี้ยังใช้ได้อยู่...

เจริญพร

 

นมัสการครับ

เดือนสิบปีนี้ผมกะม่ายได้กลับคอน บุญหลังกะติดสอบ มหาลัยกะม่ายปิด 4 ปีนุแหละหว่างอิได้หลบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท