โรจน์
นาย โรจนศักดิ์ ทองคำเจริญ

เมื่อความเงียบ คือ คำตอบ ตอนที่ 1


ตอนนี้ผมรู้ได้ทันทีว่าผู้ป่วยเลือกตอบบางคำถาม ที่ผู้ป่วยเงียบคือ คำตอบว่า เรื่องแม่เป็นประเด็น

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ผมได้ไปทำ palliative grand round (มีนักจิต+กายภาพ+สังคมสงเคราะห์+พยาบาลเจ้าของไข้+เลขากัลยาณมิตร+ผม) เป็นผู้ป่วยชายอายุ 50 ปี เป็นมะเร็งตับ เป็นมา 6 เดือน ผู้ป่วยรู้แล้วว่าเป็นมะเร็ง แม่ผู้ป่วยเป็นผู้ดูแล ผู้ป่วยแยกทางกับภรรยาได้ 10 กว่าปีแล้ว มีลูกสาว 1 คนอายุ 20 ปี(อยู่กับแม่)

ผู้ป่วยอาชีพทำอาหาร ที่บ้านอยู่ร่วมกับพี่น้อง เมื่อก่อนผู้ป่วยกินเหล้าหนักมาตลอด จนป่วยจึงหยุด เรื่องที่เจ้าของไข้ปรึกษา คือ เรื่องปวดรุนแรง

บทสนทนาก่อนดู case

พยาบาลเจ้าของไข้ "ผู้ป่วยพูดน้อย ถามอะไรก็ไม่ค่อยตอบ"

พยาบาลหัวหน้า ward "คนไข้เข้าถึงยาก ไม่ค่อยแสดงออก"

ผม "เรื่องปวดคนไข้บ่นไหมครับ"

พยาบาล "คนไข้จะไม่ค่อยขอยาฉีด แต่จะนอนเงียบๆ ที่เตียงสีหน้าเจ็บปวดจนเราต้องเดินไปถาม"

ผม "เห็นว่าแม่มาดูตลอด แล้วภรรยามาบ้างไหม"

พยาบาล " แม่มาทีไรร้องไห้เพราะสงสารลูก อยากให้ลูกอยู่ได้นานๆ ส่วนภรรยามาเยี่ยมแต่ก็ไม่ได้คุยกันนาน"

ผมเห็นประเด็นหลายอย่างคือ

1.คนไข้แสดงออกน้อย

2.อาการเจ็บปวดรุนแรง

3. แยกทางกับภรรยา

4.ทุกข์ของแม่ผู้ป่วย

บทสนทนากับผู้ป่วย

ผู้ป่วยนอนบนเตียง ยิ้มเล็กน้อยเมื่อเห็นทีมเรา ผู้ป่วยรูปร่างผอม เห็นก้อนที่ท้องชัดเจน สีหน้าหมองคล้ำ

ผมเริ่มบทสนทนา "ผมชื่อหมอโรจนศักดิ์ แพทย์เจ้าของไข้ปรึกษาให้มาช่วยดูแลคุณลุงครับ"

" เห็นว่าปวดท้องเยอะ ตอนนี้เป็นยังไงครับ"

ผู้ป่วยพูดเสียงเบาๆ "ไม่ปวดแล้ว"

ผม " นอน รพ. มา 2 สัปดาห์ เห็นว่า คุณแม่มาเฝ้าตลอด"

ผู้ป่วยนิ่งเงียบไปนาน ตามองไปบนเพดาน ผมรอคำตอบสักพัก

ผม "ที่เงียบเพราะคิดอะไรอยู่ครับ"

ผู้ป่วยก็เงียบ ผมรู้สึกว่า ไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยไม่อยากตอบ หรือ คนไข้สับสนจากโรคตับที่เป็นอยู่ เลยลองเปลี่ยนเป็นคำถามอื่น

ผม " เห็นว่าเป็นกุ๊ก ได้ข่าวว่าทำอาหารเก่ง"

ผู้ป่วยสีหน้ายิ้มขึ้นมา แต่ก็ยังเงียบ

ผม "ตอนที่อยู่ที่ร้าน มีหน้าที่ทำอะไรครับ"

ผู้ป่วย "ช่วยเขาไปทุกเรื่อง แต่ที่ทำเก่งก็เป็น ตือฮวน" สีหน้าผู้ป่วยฉายแววความสุขขึ้นมาบ้าง ตอนนี้ผมรู้ได้ทันทีว่าผู้ป่วยเลือกตอบบางคำถาม ที่ผู้ป่วยเงียบคือ คำตอบว่า เรื่องแม่เป็นประเด็น (ผู้ป่วยไม่ได้เป็น delirium หรือที่เรียนกันว่าภาวะสับสนจากการป่วย)

ผม " ที่ผ่านมาช่วยคุณแม่ขายอาหารมาตลอด"

ผู้ป่วย " จริงๆก็ไม่ได้ช่วยมาก"

ผม "ที่ไม่ได้ช่วยมากหมายความว่าอะไร"

ผู้ป่วยเงียบนาน(เป็นนาที)+น้ำตาเริ่มซึม มองขึ้นไปที่เพดานอีกครั้ง ผมรู้ทันทีว่าตอนนี้เราน่าจะเข้าประเด็นแล้ว แต่ผู้ป่วยไม่ตอบ ช่วงก่อนเข้ามาคุย ได้ทราบจากพยาบาลว่าผู้ป่วยกินเหล้า/ไม่ค่อยกลับบ้าน แม่เตือนก็ไม่เชื่อ ผมเดาว่าผู้ป่วยน่าจะรู้สึกผิดกับอดีต

ผมคิดว่าเราอาจกดดันผู้ป่วยมากไปหรือไม่เลยลอง test

"วันนี้คุยไหวไหมครับ หรือจะพักก่อนดีครับ"

ผู้ป่วย "คุยต่อได้ครับ" (ผมรู้เลยว่าเราสร้างความสัมพันธ์ได้แล้ว เพราะผู้ป่วยยังอยากคุยต่อถึงจะเป็นประเด็นไม่สบายใจ)

ผม " พอทราบไหมครับว่าตัวเองเป็นโรคอะไร/จะหายไหม"

ผู้ป่วย "เป็นมะเร็ง คงไม่หายแล้ว"

ผม "ถ้ากลับไปบ้านจะไปทำอะไร"

ผู้ป่วย "ไปขอโทษแม่"

ผม "ทำไมถึงต้องขอโทษครับ"

ผู้ป่วยร้องไห้มากขึ้น ร้องไห้แบบที่หลายคนอึ้ง หลังจากร้องไปสักพัก

ผู้ป่วย "ผมไม่เคยดูแลแม่เลย แต่แม่ก็ยังดูแลดีมาตลอด จนกระทั้งวันสุดท้าย"

ผม "แล้วแม่รู้ไหมว่าคุณอยากขอโทษ?"

ผู้ป่วย "ไม่รู้ แต่กลัวบอกแล้วแม่จะร้องไห้ ผมทำแม่ร้องไห้มาหลายครั้ง"

ผม " ผมคิดว่าการร้องไห้เป็นการปลดปล่อยความไม่สบายใจ การร้องไห้ไม่ใช่เรื่องผิด" ผู้ป่วยมองผมแล้วยิ้มทั้งน้ำตา

ผม "ผมเชื่อว่าคุณแม่จะให้อภัย" ผู้ป่วยดูสีหน้ากังวล ดูเหมือนจะไม่เห็นด้วยกับประโยคนี้

ผู้ป่วย "ผมคงทำอะไรไม่ได้แล้ว"

ผม "ถ้าอย่างนั้น อยากให้ผมช่วยอะไรไหมครับ"

ผู้ป่วย "คุณหมอและพยาบาลดีกับผมมาก ผมขอบคุณครับ"

ผม "ยินดีครับ ผมมาสัปดาห์ละครั้ง ถ้ามีอะไรอยากให้ช่วยก็บอกกับเลขาโครงการ หรือพยาบาลประจำหอผู้ป่วยได้"

จบการสนทนาไปในแบบที่ยังไม่จบ "แต่ก็ไม่จำเป็นต้องจบในครั้งเดียว" ตอนต่อไป เป็น post-interview conference เป็นบทสนทนาของผม กับนักจิตวิทยา วิเคราะห์ผู้ป่วย+ comment จุดอ่อนผมในช่วงที่สัมภาษณ์ ติดตามตอนต่อไปครับ

คำสำคัญ (Tags): #communication#end-of -life care#silence
หมายเลขบันทึก: 161468เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2008 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

หมอโรจน์ค่ะ เคยสังเกตไหมค่ะว่า ในขณะที่คนไข้แสดงอารมณ์ออกมา  มีเจ้าหน้าที่เราหลายคนอึ้ง และบางคนน้ำตาซึม เป็นปฏิสัมพันธ์ตอบ 

การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายในลักษณะเหล่านี้บ่อยๆ เจ้าหน้าที่บางคนก็แย่ไปเลย เครียดกับตัวเอง 

ในแง่การดูแลแบบองค์รวม นอกจากดูแลคนไข้แล้ว ก็ต้องดูแลตัวเองด้วย   หมอมีเทคนิคอะไรแนะนำให้เจ้าหน้าที่มีการเตรียมความพร้อมสำหรับตัวเองบ้าง   ลองเขียนเล่าหน่อยได้ไหมค่ะ

น้องโรจน์ครับ

  • ขอบคุณมากครับกับเรื่องนี้
  • ความใส่ใจ ทำให้เราเข้าถึงคนไข้ ซึ่งไม่งายนักที่ทำได้แบบนี้
ความใส่ใจ การให้เวลาและ การสังเกต สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ค่ะ

สวัสดีครับ

P อาจารย์ หมอเจ๊ 

ผมเองในช่วงแรกๆก็เป็นครับ เวลาที่ผู้ป่วยร้องไห้แล้ว ทำอะไรไม่ถูก เครียด+เก็บไปคิดต่อที่บ้าน บางครั้งพาลจะทุกข์ไปด้วย (เกิดความรู้สึกย้อนเข้าไปในตัวเอง ถึงประสบการณ์เจ็บปวดของตัวเอง นี่คงเป็นเหตุให้หมอหลายคนเลือกที่จะไม่แสดงความรู้สึก ซึ่งก็ผิดธรรมชาติ)

บุคคลากรการแพทย์บางคนใช้วิธี เดินหนี หรือไม่ก็ปลอบให้หยุดร้อง หรือพยายามให้กำลังใจคนไข้
 มี blog ที่น่าอ่านเรื่อง APHN Diploma of Palliative Care ๒๓: The silver line ของอาจารย์หมอเต็ม

จากคำถามที่ว่า "มีเทคนิคอะไรแนะนำให้เจ้าหน้าที่มีการเตรียมความพร้อมสำหรับตัวเองบ้าง?"

ผมเองคิดว่า "ไม่มีเทคนิคครับ" เพราะไม่ใช่เรื่องเทคนิค

เป็นเรื่องของการมี "จิตใจที่แข็งแกร่งแต่อ่อนโยน"

ผมคิดว่าข้อธรรมที่ยึดถือแล้วจะทำสิ่งนี้ได้คือ "พรมวิหาร4"

1.เมตตา = ปราถนาให้ผู้อื่นมีสุข

2.กรุณา = อยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

3.มุทิตา = เห็นผู้อื่นได้ดีก็ดีใจ+อนุโมทนา(ไม่อิจฉา)

4.อุเบกขา = ใช้ยากที่สุด และสำคัญมากในงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย คนส่วนใหญ่ว่าคือ วางเฉย(เฉย) คือเลิกยุ่ง เลิกสนใจ (neglect) ซึ่งไม่ใช่ความหมายแท้จริง

การวางเฉยที่แท้คือ วางใจเฉยเวลาเจอเรื่องที่ไม่ถูกใจ-เรื่องเศร้า แต่ยังต้องทำตามหน้าที่/ปฏิบัติตามธรรม

ในกรณีนี้ ผมมองว่า"ผู้ป่วยร้องไห้เพราะทุกข์มาก หน้าที่ของเราคือช่วยเขาให้ทุกข์น้อยลง คนที่จะช่วยเขาให้พ้นทุกข์ ต้องมีความมั่นคงทางใจ/เข้มแข็ง ถึงจะทำได้"

ที่ผ่านมายิ่งช่วยยิ่งสุข-ยิ่งช่วยยิ่งปลง+ยิ่งช่วยยิ่งทุกข์น้อย+ยิ่งช่วยยิ่งพัฒนาตัวเอง

ถ้าเมื่อไหร่ยิ่งช่วยยิ่งทุกข์แปลว่าเรา ยึดติด และกำลังหลงทาง "ต้องตั้งศูนย์(ไม่ยึด ไม่มี ทำงานเพื่องาน)ใหม่

 สวัสดีครับอาจารย์เต็ม/คุณอุบล

P  อาจารย์เต็ม ขอบคุณสำหรับบทเรียนเรื่อง silverline ที่นำมาใช้ใน case นี้

 


P  เห็นด้วยกับคุณอุบล อย่างยิ่งครับ

silence  +   ร่ายมนตรา ( หาคำพูดที่เหมาะสมในการสื่อสารให้เข้าใจว่ารับรู้ความรู้สึกที่เขาสื่อออกมา)

แปลว่า  ต้องตามดูใจตัวเองไปด้วยระหว่างมีปฏิสัมพันธ์   จึงจะไม่ in จนเสียศูนย์

ต้องฝึกตัวเองให้มากจริงๆด้วยค่ะ    

ขอบคุณค่ะ หมอโรจน์

ขอขอบคุณอาจารย์เต็ม สำหรับความรู้จาก the silver line ผ่านทางบันทึกนี้ด้วยค่ะ

 

ความเห็นของผมต่อมนตรา

การร่ายมนต์บทเดียวกัน เช่น ในเรื่อง Harry Potter ร่ายมนต์บทเดียวกันได้ effect ที่ต่างกัน จะสังเกตว่า แม่มด/พ่อมดที่ชำนาญในการร่ายมนต์จะไม่ตายตัวกับบทใดบทหนึ่ง จะมุ่งที่ผลที่ต้องการ เช่น ต้องการได้ไข่มังกร แต่ไม่จำกัดวิธี harry ใช้มนต์เรียกไม้กวาดที่ตนเองชำนาญในการขี่ไม้กวาดหนีมังกรได้สำเร็จและนำไข่มังกรมาได้ เหมือนกับคนอื่นที่ใช้มนต์นสูงกว่าในการต่อสู้กับมังกร

"มนตราจะไม่ศักดิ์สิทธิ์ถ้าผู้ร่ายมนต์ไม่สัทธา

มนตราจะไร้ผลถ้าไม่ชำนาญในการใช้

มนตราจะได้ผลถ้าคนร่ายใช้ใจร่ายมนต์

และมนต์ตราจะได้ผลสูงสุดเมื่อไม่ได้มนตราอย่างเดียว"

 P

อ่านอย่างสนใจมากค่ะ

ขอบคุณคุณหมอโรจน์ที่เขียนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท