โรจน์
นาย โรจนศักดิ์ ทองคำเจริญ

รักนิรันดร์


ผู้ป่วยยิ้มแก้มแทบปริ ลุงก็ดูเขินๆ (น่ารักดีครับ) ผมรู้ว่าลุงพูดไม่เก่ง (แต่รักหมดใจ ) ผมเลยขอถ่ายรูปคู่รักแห่งปี (ผมยกให้เลยครับ)

วันนี้มีเรื่องราวดีๆ ทีผมได้พบเจอครับ

เป็นเรื่องราวของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายที่มีครอบครัวที่ดี ดูแลผู้ป่วยอย่างเอาใจใส่อย่างดี

1 เดือนก่อน ผู้ป่วยรายนี้มาหาผมด้วยอาการปวดแขนขวา+แขนอ่อนแรง ผู้ป่วยเคยรักษามะเร็งปอดด้วยการผ่าตัด/เคมีบำบัด/ฉายแสงเมื่อ 2 ปีก่อน สรุปว่า เป็นจากมะเร็งกลับเป็นซ้ำและกดเส้นประสาทผมปรึกษาทางอายุรแพทย์และหมอกระดูก สรุปว่าส่งผู้ป่วยไปรักษาด้วยเคมีบำบัดที่ลำปาง  ลูกๆของผู้ป่วยพาผู้ป่วยไปลำปาง ได้เคมีบำบัดได้ 1 ครั้ง ปรากฏว่า ผู้ป่วยมีเม็ดเลือดขาวต่ำมากจนให้เคโมไม่ได้ ผู้ป่วยท้อใจเป็นอย่างมาก

ผมและทีม PCU ปางส้านนำโดย พี่ต๊ะ (หัวหน้า สอ.) พาผมไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ผมปรับยาลดปวดจนผู้ป่วยปวดน้อยมาก (ได้ให้ MST )

ผม " ป้าเป็นไงบ้าง "

ผู้ป่วยสีหน้าทุกข์อย่างมาก อ่อนเพลีย และดูแววตาหม่นหมอง

ผู้ป่วย " ขอหมอช่วยยาโรคให้ป้าเต๊อะ "(ช่วยรักษาป้า)

ผม " ป้าได้เคโมแล้วดีขึ้นไหม?"

ผู้ป่วย "แย่ลง ติ๊กๆ (แย่ลงเรื่อยๆ) เม็ดเลือดมันน้อย ให้ยาก็เพลีย ผมก็ร่วง"

ผม " ดูสีหน้าไม่ค่อยสบายใจ มีอะไรบอกหมอไหม"

ผู้ป่วย " หมอยาป้าได้ว่า ? ป้าบ่อยากไป เคโมละ"

ผม " เคโม ฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่ก็ฆ่าเซลล์ปกติ" 

"ผมจะดูแลป้าเต็มที่ เช่น หายปวดอย่างที่ผมเคยสัญญา แต่เรื่อง หายจากมะเร็งอาจจะเป็นไปได้ยาก"

ผู้ป่วย "ป้าเข้าใจ"

ผม " รู้ว่าไม่หายแล้วรู้สึกอย่างไร"

ผู้ป่วย "กล้วตายละลูกหลาน "

ผม " พอกลัวแล้ว เกิดอะไรขึ้น "

ผู้ป่วย " บ่สบายใจ เจ็บปวดตวย(ด้วย) "

ผม " ความกลัวเกิดขึ้นกับทุกคนที่เพชิญกับโรคร้ายผมเข้าใจ ความกลัวเพิ่มความปวด  แต่ยังไงก็ยังดีที่ลูกหลานดูแลอย่างดี"

ผู้ป่วย "แต้ (จริง) ลูกมาทุกคืน อยู่ตวยตลอด" ผู้ป่วยยิ้มน้อยๆ ผู้ป่วยมีลูก 4 คนพลัดกันมาดูแล

ผม "ทุกครั้งที่กลัว ขอให้ตั้งสติ รับรู้ว่ากลัว และนึกถึงสิ่งที่นับถือ นึกถึงความดีที่ทำ"

ระหว่างสนทนา มีลูก 2 คน หลาน 1 คน และ สามีฟังอยู่ด้วย ผมเลยใช้วิธีสอนทำสมาธิแล้วจับตัวผู้ป่วยเพื่อส่งความปราถนาดีให้ผู้ป่วย (ได้วิธีนี้จากการอบรมจาก เพชิญความตายอย่างสงบ )

หลังทำผู้ป่วยจับมือผมไว้แน่นแล้วยิ้ม แล้วบอกว่า "ถ้าทุกครั้งที่กลัวฉันจะนึกถึงหมอ"

ผมก็ดีใจเล็กๆ ที่ผู้ป่วยนึกถึงผม แวบหนึ่งที่ผมมองเห็นสายตาของลุงสูงอายุที่แอบมองอยู่ห่างๆ (สามีผู้ป่วย) ด้วยสีหน้ากังวล

ผมนัดผู้ป่วยจะเยี่ยมบ้านอีกครั้ง 1 สัปดาห์ครับ

1 สัปดาห์ต่อมา

 

ผมเยี่ยมบ้านผู้ป่วยครั้งที่ 2

 ผู้ป่วยสีหน้ายิ้มแย้ม บอกว่าหายกลัวแล้วแต่ยังปวดบ้าง วันนี้ผมเล็งสามีไว้ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ก่อน เพราะรู้สึกว่าลุงน่าจะมีความกังวลใจ ลูกเล่าให้ฟังว่า "พ่อไม่ยอมนอน เอาแต่เฝ้าแม่ตลอด บางครั้งผู้ป่วยหลับมาก ก็จะปลุกแม่เพราะกล้วว่า แม่จะเป็นอะไรไป"

ผมเรียกลุงมานั่งใกล้ๆ เพราะ ลุงนั่งห่างมาก

ผม "เหนื่อยไหม "

ลุงยิ้มแต่ไม่ตอบ

ผม " เห็นว่าเฝ้าป้าตลอดเป็นห่วงป้ามากไหม"

ลุงยิ้มแต่ไม่ตอบ

ลูกสาว "พ่อดูแลแม่ดีมาก ลุกมาหุงข้าวให้แม่กิน คอยประคองเวลาแม่เดิน เป็นห่วงเป็นใย ไม่ไปไหนไกล"

ผมหันไปคุยกับผู้ป่วย " ป้าโชคดีที่ได้ลุงเป็นผัว (พ่อขุนราม มากๆ ครับ : ) "

ผู้ป่วยยิ้มแก้มแทบปริ ลุงก็ดูเขินๆ (น่ารักดีครับ) ผมรู้ว่าลุงพูดไม่เก่ง (แต่รักหมดใจ ) ผมเลยขอถ่ายรูปคู่รักแห่งปี (ผมยกให้เลยครับ)

คราวนี้ ผมให้ลุงและคนทั้งครอบครัวสัมผัส แล้วทำสมาธิส่งความปราถนาดี

ส่งท้ายด้วย แนะนำให้ทุกคน พูดถึงความดีผู้ป่วยให้ผู้ป่วยฟัง ส่วนคุณลุงที่พูดไม่เก่ง ก็ให้สื่อด้วยการสัมผัสส่งพลังแทน ดู work ทีเดียวเพราะ เราทำได้ประมาณ 5-10 นาที (มีเรื่องขำๆ เกิดขึ้นคือ พอทำสมาธิเสร็จปรากฏว่า พยาบาลผมหลับ จนได้หัวเราะกันทั่งบ้านเลยครับ) เราจะดูแลผู้ป่วยร่วมกันต่อไปจนกว่าจะจบครับ

หมายเลขบันทึก: 166796เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2008 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

ดีจริงๆครับ หลายคนไม่อยากดูผู้ป่วย Palliative  เพราะคิดว่าจะมีแต่เรื่องเศร้า ต้องมีแต่การร้องไห้ฟูมฟาย เหมือนกับในหนัง(ผู้กำกับนิยายน้ำเน่ามักอ้างว่าที่ยังน้ำเน่าอยู่อย่างนี้เพราะสังคมเป็นไทยเป็นอย่างนี้ และคนดูก็ชอบ) ตอนจบของหนังเรื่องนี้นางเอกของเราน่าจะhappy ending(แต่อาจปวดนิดหน่อย) แต่ผมยังกังวลอยู่เล็กน้อยว่าพระเอกของเราจะอยู่อย่างไร ภายหลังคนรักที่อยู่ด้วยกันมาหลายปี ต้องจากไป

  

สวัสดีค่ะ

 เข้ามาอนุโมทนากับการตั้งใจ ดูแลผู้ป่วยอย่างจริงใจ มีการฝึกจิต ฝึกสมาธิ ที่น้อยคน จะทุ่มเททำได้ ขอให้ทุกสิ่งที่หมอตั้งใจ จงสำเร็จไปตามปรารถนาทุกประการไปค่ะ

สวัสดีครับ นนท์ การสูญเสียที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง บทจบคงต้องเป็นการจากลา เราช่วยเหลืออย่างเต็มที่ได้ แต่ผู้ป่วยและครอบครัวกำลังเตรียมตัวอย่างช้าๆ การเยียวยาต้องใช้เวลา มีบางคนเคยบอกว่า " Grief is never really end"

ถึงเสียใจแต่ภาพที่ดีเหล่านี้จะยังคงติดอยู่ในใจของทุกคนตลอดไป

 

P คุณ ตันติราพันธ์ ขอบคุณที่ให้กำลังใจครับ

สวัสดีค่ะ

  • รู้สึกดีไปด้วยค่ะ
  • ทำให้เห็นมุมมองใหม่สำหรับผู้ดูแล palliative
  • บ่อยครั้งเราจะมุ่งแต่ใช้การรักษาทางยาดูแลผู้ป่วย ในขณะที่จริงๆผู้ป่วยโหยหาการดูแลทางใจ
  • เป็นเพราะเราเองไปกลัวว่าการบอกความจริงจะทำให้ผู้ป่วยอาการทรุดลงเพราะหมดกำลังใจ
  • เรื่องที่หมอเล่าทำให้สัมผัสได้ว่าแท้จริงอาการผู้ป่วยที่ดูมากนั้น เกิดจากการอยากหนีความจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตัวเอง
  • การไม่พร้อมที่จะรับมือกับอนาคต
  • และไขว่คว้าความสุขที่น่าจะมีอยู่รอบตัวแล้วมองไม่เห็นเพราะความอยากหนีความจริงมาบดบัง
  • แต่การช่วยดึงคนป่วยกลับมาให้รับรู้ความจริงของเรา ก็ต้องฝึกทักษะในการเพื่อไม่ให้เกิดสิ่งที่เราเองกลัว
  • เขียนเล่าบ่อยๆนะหมอนะ เพื่อให้คนอื่นๆได้ร่วมเรียนรู้
  • นี่แหละจุดเด่นและเสน่ห์ของหมอเวชศาสตร์ครอบครัว

อ่านแล้วชื่นใจจังค่ะคุณหมอ ทำให้นึกถึงคุณหมอวิชัยที่ รพ ภูมิพล ที่ดูแลคุณแม่ก่อนเสียด้วยโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาว วันหนึ่งคุณหมอเข้ามาเยี่ยมและบอกแม่ว่า "เมื่อเช้าผมไปทำบุญที่วัดลาดพร้าวมา ผมขอยกผลบุญให้คุณป้าทั้งหมดเลยนะครับ" ได้คุณหมอดูแลดี ๆ แสดงออกว่าเห็นอกเห็นใจคนไข้ ญาติผู้ป่วยก็รู้สึกดีขึ้นเยอะค่ะ 

ขอบคุณอาจารย์หมอเจ้และ พี่อักษร ครับ

ผมถามคนไข้ว่า มีอะไรอยากจะบอกลุงมั๊ย

คนไข้เงียบไปพักนึง ก่อนพูดเบาๆ เขาก็รู้ว่าฉันคิดยังไง

ผมชอบถามคนไข้หรือชวนคนไข้ให้ชมผู้ดูแล แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยพูด มันไม่ง่ายนะครับ แต่สายตามันบอก

คู่นี้ งดงามมากครับ

 

ดูเหมือนกันครับอาจารย์ ถึงแม้จะเป็นปีก็ยังประทับใจครับ

เอื้อม...นิสิตเเพทย์มน.

สวัสดีค่ะพี่หมอ.....เป็นหมอนี่มันเปนยากจังเลยน่ะค่ะ

ตอนนี้หนูท้อมากค่ะ เรียนแพทย์ปี 5แล้ว

เครียด ...มากกก.ค่ะ..เคยร้องไห้ด้วย...

......

เป็นหมอเป็นยากจริงๆ

วันนึงหนูท้อใจ แต่ได้รับกะลังใจจากผู้ป่วยนี่แหละค่ะ

เค้าบอกว่า หมอผมดีใจจังจะได้กลับบ้านแล้ว

แล้วหนูก้ได้ ของขวัญจากคนไข้ด้วยค่ะ

ปลื้มเรย

วันนี้ก้เรยหายเครียดไปในตัว

.............

วันนี้หนูได้เข้าใจความรู้สึกของคนเป็นแพทย์แล้ว.....

ยินดีกับน้องเอื้อมที่พบความจริงในการทำงาน

มีความสุขกับสิ่งที่เราทำ-ทำงานเพื่องาน-เสพสุขจากงาน-เรียนรู้จากงาน-เติบโตจากงาน เราจะมีสุขที่แท้จริง

  • แวะมาทักทายคุณหมอโรจน์
  • ด้วยความคิดถึงค่ะ
  • เป็นกำลังใจให้กับการทำงานในทุกๆวันจ๊า

ขอบคุณอาจารย์หมอเจ๋ครับ

ปารชิชาติ RN ศูนย์สุขภาพชุมชนหัวนา หนองบัวลำภู

เพิ่งรับงานที่จะดูแลผู้ป่วย ระยะสุดท้าย อายุแค่ 19 ปี พอได้เข้าไปสัมผัสกับเขา รุ้สึกว่า หากย้อนเวลาได้ คนไข้คงมีอะไรตั้งหลายอย่างที่เขาอยากจะทำ เขาต้องการกำลังใจ ต้องการการดูแล ผู้ป่วยรับรู้ว่าความตายมารอเขาอยู่ แต่เราเพิ่งเห็นการทำใจก่อนตายจริงๆ *** ต้องขอบคุณ หมอนะค่ะที่มีเรื่องเล่าในมุมมองต่างๆ ที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ช่วยให้กำลังใจเขา..จะติดตามผลงานตลอดค่ะ

สวัสดีครับคุณปารชิชาติ ดีใจที่สนใจงานนี้ครับ.....สิ่งสำคัญที่สุดในการช่วยเหลือคนไข้ไม่ว่าจะระยะสุดท้ายหรือไม่...เริ่มที่ใจก่อนเสมอครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท