โรงเรียนแห่งความสุข : สวัสดีครับคุณครู (ครูพิสมัย เทวาพิทักษ์)


และแทนที่จะสอนผ่านตำราและทฤษฎีต่างๆ กลับเลือกที่จะค้นหา “ต้นเรื่อง” หรือ “ต้นแบบ” ใกล้ๆ ตัวมาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนเช่นนี้ ถือเป็นกลยุทธง่ายๆ แต่ไม่ธรรมดา

ภาคเช้าของกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็น “โรงเรียนแห่งความสุข” ในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๔
ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่  ยังคงใช้กระบวนการเดิมเหมือนที่เคยขับเคลื่อนเมื่อวันที่ ๒๓-๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๓ ณ วิทยาเขตแม่สะเรียงและวิทยาเขตแม่ฮ่องสอน

 

กิจกรรมที่ว่านั้นประกอบด้วยกิจกรรมหลัก  คือ การเปิดเวทีด้วยกิจกรรม ต้นไม้แห่งความคาดหวัง”  (แต่โดยส่วนตัวแล้วผมเรียกชื่อกิจกรรมนี้ว่า “ดวงใจแห่งความคาดหวัง”  เพราะเห็นว่ากระดาษที่ตัดมานั้น  ดูเป็นรูปหัวใจมากกว่ารูปใบไม้) 

ถัดจากนั้นก็เป็นการละลายพฤติกรรมทางความคิดในหัวข้อ “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  รวมถึงการส่งต่อไปสู่การบรรยายผ่านกระบวนการบอกเล่าและเสวนาในประเด็น “สมองกับการเรียนรู้”  ก่อนจะปิดภาคเช้าด้วยกิจกรรมการถอดบทเรียน ความเป็นครู”  ผ่านประสบการณ์อันทรงคุณค่าของ คุณครูพิสมัย เทวาพิทักษ์ จากโรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก"  

 

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า  การออกแบบเวทีการเรียนรู้ในแต่ละครั้ง  ทีมวิทยากรและทีมผู้ประสานงานโครงการจะขับเคลื่อนร่วมกันอย่าง “ชัดเจน มีพลังและเป็นกันเอง” เอามากๆ  ไล่เรียงจากการจัดสถานที่ เครื่องเสียง อุปกรณ์อันหมายถึงกระดาษ ปากกา ดินสอสี รวมไปจนถึงรูปแบบอันเป็นกระบวนการและประเด็นคำถามต่างๆ  ก็ล้วนแล้วแต่ถูก “ออกแบบร่วมกัน” อย่างน่าประทับใจ

 

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ในช่วงการถอดบทเรียนผ่าน "ประสบการณ์ชีวิตความเป็นครู"  ทุกคนก็เห็นพ้องกับการรังสรรค์รูปแบบให้เรียบง่ายและเป็นกันเอง  ด้วยการให้พิธีกรและวิทยากรได้นั่งสนทนากันด้วยอิริยาบถที่สบายๆ บนชุดรับแขกเล็กๆ  ซึ่งเน้นยุทธศาสตร์ความใกล้ชิดกับนักศึกษาให้มากที่สุด  โดยใช้รูปแบบการ “เล่าเรื่อง”  เป็นกลไกของการขับเคลื่อน  ด้วยหวังว่าเรื่องเล่าเหล่านั้น จะมีสถานะเป็น “เรื่องเล่าเร้าพลัง”  ที่ปลุกให้นักศึกษาเกิดทัศนคติที่ดีต่อการใช้ชีวิต และมีไฟฝันในการก้าวย่างไปสู่การเป็น “ครูเพื่อศิษย์”
 

สารภาพแบบเปิดเปลือยตามสไตล์ของผมเลยว่า ผมประทับใจกระบวนการนี้ค่อนข้างมากเป็นพิเศษ  กล่าวคือ  ผมประทับใจผู้นำกระบวนการอย่าง “คุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร  ที่มีมุมมองลุ่มลึกในการคัดกรอง “วิทยากร”  มาร่วมเสวนา  รวมถึงการต้องยกเครดิตให้กับทีมงาน “ผู้ประสานงานโครงการฯ” จากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ด้วยเหมือนกัน  เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา  ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า  ทีมงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ หลายท่านก็ล้วนมีส่วนอย่างมากกับการนำพาให้ “คุณจตุพร”  ไปรู้จักกับ “คุณครูพิสมัย เทวาพิทักษ์”   จนในที่สุดคุณครูพิสมัยฯ  ก็ปลงใจอุทิศตัวเป็นวิทยากรเพื่อสะท้อนภาพชีวิต “ความเป็นครู”  สู่คนรุ่นหลังอย่างเมตตา และไม่อิดออด


เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้  ผมมองเป็นความสำเร็จในการทำงานในภาพของเครือข่ายระหว่างคุณเอกกับทีมทำงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  และนั่นก็หมายถึงความสำเร็จของการ gotoknow.org  ด้วยเหมือนกัน

เช่นเดียวกันนั้น
ผมมองเป็นความสำเร็จของการนำพาเรื่องราวของ “คนดีๆ” และเรื่องราวอันเป็น “แบบอย่าง” ที่ดีมาสื่อสารกับสาธารณะ ทั้งในมิติของการเชิดชูความดีและคนดี  ควบคู่ไปกับการสื่อสารเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังเดินทางอยู่ในถนนสายเดียวกัน
 


และยิ่งวิทยากรเป็น “คนพื้นถิ่น” ของที่นี่  ยิ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะในบริบทของ “คนบ้านเดียวกัน”  ย่อม “เข้าใจ เห็นใจ และเป็นกำลังใจ”   ให้กันและกันได้เป็นอย่างดี  มิหนำซ้ำประสบการณ์ชีวิตก็ย่อมมีกลิ่นอายที่ใกล้เคียง  จึงย่อมช่วยให้  “ผู้เรียน” หรือ “นักศึกษา” ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้สามารถปะติดปะต่อสารัตถะต่างๆ ได้อย่างไม่ยากเย็น  แถมพ่วงด้วยการต่อยอดสู่การเป็นเครือข่ายระหว่างวิทยากรกับผู้เรียนได้อีกต่างหาก

 

ครั้งนี้คุณจตุพรฯ  ยังคงยืนยันหนักแน่นในการเรียนเชิญ  คุณครูพิสมัยฯ มาเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับนักศึกษา  เพราะเชื่อและศรัทธาอย่างแรงกล้าว่าคุณครูพิสมัยฯ  แห่งโรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็กคือ คนจริง..ครูจริง เสียงจริง คิดจริงและทำจริง และที่สำคัญคือ การเป็น “ต้นแบบของการเป็นครู”  ที่ใช้  “ใจนำพา ศรัทธานำทาง”  อย่างชัดเจน 



เบื้องต้นคุณจตุพรฯ
 ได้แนะนำประวัติโดยสังเขปของคุณครูพิสมัยฯ ให้ทุกคนได้รับรู้  โดยพุ่งประเด็นไปสู่ผลลัพธ์อันเป็นความสำเร็จเชิงประจักษ์อย่างกว้างๆ  อาทิ  การเป็นครูธรรมดาคนหนึ่งที่  “ไม่ได้เรียนจบมาทางศิลปะ...แต่กลับต้องมาสอนศิลปะ”  

 

คุณจตุพรฯ เกริ่นถึงเรื่องราวดังกล่าวในประมาณว่า
  
           ...ด้วยความที่คุณครูพิสมัยฯ  ไม่ได้เรียนมาในทางศิลปะ  จึงถูกหมิ่นแคลนจากสังคมศิลปะอย่างหนักหน่วงว่าคงไม่สามารถสอนลูกศิษย์ให้เก่งในทางศิลปะได้  แต่ถึงกระนั้น  คุณครูพิสมัยฯ  ก็ไม่เคยย่อท้อ หดหู่ หรือสิ้นหวังไปกับคำหมิ่นแคลนเหล่านั้น  ตรงกันข้ามกลับมองเป็น “โอกาส”  ในการที่จะพัฒนาตัวเองและลูกศิษย์ไปพร้อมๆ กัน  โดยการจุดประกายไฟในตัวเองว่า “ต้องทำให้ได้”  จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ  สามารถพานักเรียนก้าวไปสู่ฝั่งฝันได้อย่างทระนง  กวาดรางวัลมาแทบทุกสถาบัน ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก !...


การเปิดเปลือยประวัติโดยสังเขปเช่นนั้น  ผมมองเป็นกลยุทธอันสำคัญที่คุณจตุพรฯ  พยายามเปิดภาพความสำเร็จให้เห็นอย่างตรงไปตรงมา  เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาได้เกิดความกระหายที่จะเรียนรู้  ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับ “วิธีคิดวิธีปฏิบัติ” หรือ “กลยุทธ” ต่างๆ นั้น  คุณจตุพรฯ  ได้ข้ามไปเพื่อให้คุณครูพิสมัยฯ เป็นผู้บอกเล่าด้วยตนเอง  รวมถึงการทิ้งเป็นโจทย์ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ร่วมกับคุณครูพิสมัยฯ โดยตรง

สำหรับผมนั้น  ถึงแม้จะเคยฟังคุณครูพิสมัยฯ  บอกเล่าประสบการณ์ชีวิตทั้งในแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการมาแล้วหลายรอบ  พอมาถึงครั้งนี้  ก็ยังอดที่จะรู้สึกตื่นเต้นและซาบซึ้งกับเรื่องเล่าของคุณครูพิสมัยฯ ไม่ได้อยู่ดี   

 

ครั้งนี้  ผมชอบตอนที่ครูพิสมัยเล่าถึงฉากชีวิตในครอบครัวเป็นที่สุด ..


คุณครูพิสมัยฯ  เล่าอย่างภาคภูมิและเต็มไปด้วยพลังว่า 
        
           “เกิดและโตในครอบครัวชาวนา  มีพี่น้องหลายคน  พ่อกับแม่จะสอนให้เห็นคุณค่าและความหมายของครอบครัว  ยกตัวอย่างเช่น การรับประทานอาหารเย็นร่วมกันอย่างพร้อมหน้าให้ได้มากที่สุด  และพอเสร็จสิ้นกิจกรรมก็จะเป็นการพูดจาประสาพ่อแม่ลูก  โดยเฉพาะคุณพ่อนั้น  มักจะสรรหา หรือรังสรรค์กิจกรรมต่างๆ มาให้คนในครอบครัวได้สังสรรค์ทางความคิดด้วยกันอยู่บ่อยๆ เป็นต้นว่า การพาลูกๆ ทายปัญหาต่างๆ ชวนให้คิดเลขแข่งกัน เป็นการลับสมองไปในตัว...”  และนั่นก็คือสิ่งที่คุณครูพิสมัยชื่นชอบมากเป็นพิเศษ

 

ไม่เพียงเท่านั้น คุณครูพิสมัยฯ ยังฉายให้เห็นมิติในครอบครัวอย่างภาคูมิใจอีกว่า

          

        “แม่จะเป็นผู้บริหารจัดการให้ทุกคนรับประทานอาหารพร้อมหน้ากันเสมอ และแม่จะสอนให้ลูกๆ ได้รู้และตระหนักว่าพ่อจะเป็นคนแรกในการนำไปสู่การรับประทานอาหาร (เหมือนประธานทำหน้าที่เปิดประชุม)  เสร็จจากนั้นทุกคนก็จะลงมือรับประทานอาหารร่วมกัน ใครมีอะไรก็จะนำมาบอกกล่าวเล่าแจ้งกันตรงนั้น ...”

 

เช่นเดียวกับอีกเรื่องแต่ยึดโยงกันได้อย่างน่าประทับใจ นั่นก็คือ เรื่องราวของการปลูกฝังให้เห็นคุณค่าของ “ข้าวและชาวนา” ดังว่า
 

           “ก่อนทานข้าวในแต่ละมื้อ พ่อจะให้ทุกคนนั่งนิ่งพนมมือและกล่าวคำบูชาข้าวพร้อมกัน”

 

 




แน่นอนครับ เรื่องราวหรือกฎกติกาเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ที่ผมพยายามถอดความออกมานั้น  เป็นเสมือนกระจกที่ส่องสะท้อนให้เห็นว่า คุณพ่อของคุณครูพิสมัยฯ  กำลังปลูกสร้างเจตคติ ของลูกๆ ให้เห็นคุณค่าและบุญคุณของ “ข้าวและชาวนาไทย”  อย่างไม่ผิดเพี้ยน  และนั่นยังรวมไปถึงการฝากฝังแนวคิดแบบนิ่งเนียนให้ลูกๆ ได้เห็นความสำคัญของการรักบ้านเกิด รักและภูมิใจในรากเหง้า หรือแม้แต่การเห็นความสำคัญอันยิ่งใหญ่ของสถาบันทางครอบครัวไปพร้อมๆ กัน

 

 

จึงไม่แปลกเลยสักนิดหากจะสรุปรวบรัดว่าปรากฏการณ์เช่นนั้น คือ “ทุน” อันมหัศจรรย์ที่มีอยู่ในตัวตนของคุณครูพิสมัย  เป็นทุนที่ได้รับการเพาะบ่มมาจากสถาบันครอบครัวที่เรียบง่าย  สมถะเป็นทุนชีวิตที่ได้จากการยืนหยัดอย่างทระนงบนรากเหง้าของสังคมเกษตรกรรม...

จึงไม่แปลกที่วันนี้ "คุณครูพิสมัยฯ" ... คุณครูเล็กๆ คนหนึ่งจะเติบโตและกล้าแกร่งเป็น “ครูเพื่อศิษย์”  อย่างมหัศจรรย์  ไม่เคยได้เรียนสายศิลปะมาเลยสักนิด  แต่ก็สามารถใช้ “หัวใจ” นำทางไปสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพลูกศิษย์ได้อย่างน่าทึ่ง  มิหนำซ้ำยังเป็นส่วนหนึ่งในทีมงานของโรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็กในการขับเคลื่อนกระบวนการสอนนักเรียนให้ “ทำนา” ได้และทำนาอย่างจริงๆ จังๆ...



การเติบโตและงอกงามท่ามกลางสถาบันครอบครัวเล็กๆ แต่อบอุ่น รวมถึงการอยู่ภายใต้อ้อมกอดอันเป็นบริบทของธรรมชาติอันเป็นท้องทุ่งแห่งเกษตรกรรมที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังเช่นนี้  ถือเป็นกลไกอันสำคัญที่หนุนนำให้คุณครูพิสมัยฯ เติบโตและหยัดยืนอยู่ในถนนสายของการเป็นแม่พิมพ์ของชาติได้อย่างดียิ่ง  เพราะไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติอันเกิดจากท้องไร่ท้องนา  หรือแม้แต่ความรักความอบอุ่นในครอบครัว  ก็ล้วนแล้วแต่หล่อหลอมให้คุณครูพิสมัยฯ เป็นคนละเอียดอ่อน  รักและศรัทธาต่อธรรมชาติ  เห็นความงามของศิลปะ และรักนักเรียนเสมือน  พ่อกับแม่ที่รักลูกๆ ของตัวเอง  ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีอยู่อย่างหลากล้นและฝังรากลึกอยู่ในตัวตนของคุณครูพิสมัยฯ  จนในที่สุดแล้วคุณครูพิสมัยฯ ก็ดึง หรือหยิบออกมาใช้ได้อย่างมีพลัง !

 

ถึงวินาทีนี้  ผมจึงยังอยากจะยืนยันว่า กระบวนการของการเสริมสร้างแนวคิดเรื่อง “โรงเรียนแห่งความสุข” ที่ “มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่” ได้จัดกระทำขึ้นโดยการเชิญวิทยากรภายนอกมาร่วมปรุงแต่งหลักสูตรเช่นนี้ ถือว่า “น่าคิดและน่าสนใจ” อย่างยิ่ง 

 

เพราะมันคือการพุ่งประเด็นไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจ สร้างอุดมการณ์และอุดมคติของความเป็นครูที่ดีให้กับลูกศิษย์ที่กำลังเรียนในหลักสูตรดังกล่าว  เพราะครูที่ดีเท่านั้น จึงจะสามารถสร้างโรงเรียนที่ดีและโรงเรียนแห่งความสุขได้... 

 

และแทนที่จะสอนผ่านตำราและทฤษฎีต่างๆ กลับเลือกที่จะค้นหา “ต้นเรื่อง” หรือ “ต้นแบบ” ใกล้ๆ ตัวมาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนเช่นนี้  ถือเป็นกลยุทธง่ายๆ แต่ไม่ธรรมดาจริงๆ

 

ยิ่งการนำพามาซึ่งคุณครูพิสมัยฯ นั้นก็ยิ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชม เพราะนี่คือการสอนผ่าน “ต้นแบบ” ที่มี “ลมหายใจ” มี “วิญญาณความเป็นครู” ที่แตะต้องและสัมผัสได้อย่างมีชีวิต แถมยังมีผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างไม่กังขา รวมถึงการเห็นเส้นทางชีวิตจากวัยเด็กสู่วันวัยความเป็นครูที่ผ่านการขับเคี่ยวและต่อสู้มาอย่างยาวนาน ยิ่งสอนความเป็นชีวิตได้อย่างน่าเคารพ   มิหนำซ้ำยังเป็นคน “พื้นถิ่น” ที่ง่ายต่อการสื่อสารและนำพาไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจและเติมเต็มพลังให้กันและกันอย่างง่ายงาม 

...นี่คือกระบวนคิดของคำว่า “แบบอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน” 
.... และครูพิสมัยฯ ก็คือแบบอย่างของความเป็นครูด้วยเช่นกัน

 

 

แต่สำหรับผมนั้น  คุณครูพิสมัยฯ  เป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตอันเป็นวัฒนธรรม หรือจิตวิญญาณของความเป็นครูที่น่าทึ่ง  เติบโตจากสังคมชนบท  สู่การเติบใหญ่เป็นแม่พิมพ์ของชาติที่ต้องสอนสารพัดวิชาชีพควบคู่ไปกับการสอนวิชาคนให้กับลูกศิษย์อย่างไม่ลดละ

 

และสำหรับเวทีนี้  ผมคิดว่าคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ หรือแม้แต่คุณจตุพรฯ  และคุณครูพิสมัยฯ ก็เถอะ  ต่างก็ได้ขับเคลื่อนทุกอย่างได้อย่างลงตัวแล้ว  เพราะมันทำให้ผมได้เชื่อและศรัทธาว่า  “ศิลปะขัดเกลาและเยียวยาจิตใจมนุษย์ ...ชาวนา คือคุณค่าของการหล่อเลี้ยงชีวิต ..ครอบครัวคือกำแพงแห่งการป้องภัย..”

 

ส่วนผู้เรียนที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนั้น  ผมไม่รู้หรอกว่า เขาเชื่อและศรัทธา หรือแม้แต่มองในมุมเดียวกับผมหรือไม่  ถึงกระนั้น ผมก็ยังเชื่อว่า  ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งยัง “รักและศรัทธาต่ออาชีพครู” รวมถึงการได้ฟังเรื่องเล่าจากคุณครูพิสมัยแล้ว  จะมีแรงบันดาลใจของการเป็นครูที่ดี...เป็นครูเพื่อศิษย์ อย่างแน่นอน

 

สวัสดีครับคุณครู

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 424741เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2011 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • มาเชียร์น้องแผ่นดินและน้องเอก
  • จำได้ว่าเคยพบครูท่านนี้ครับ
  • คุณครูพิสมัย เทวาพิทักษ์ 
  • ฝากระลึกถึงด้วยครับ

ชอบชื่อโรงเรียนนี้จังเลย อยู่หนแห่งใดหนอ 

สวัสดีค่ะอาจารย์แผ่นดิน

  • แม้มิใช่ "คนบ้านเดียวกัน" ก็ขอเข้ามาคารวะคุณครูพิสมัย  เทวาพิทักษ์  ด้วยหัวใจชื่นชมและนิยมในตัวตนแห่งครูเพื่อศิษย์ด้วยคนค่ะ
  • กลับนึกทึ่งในความสามารถอันมากล้นในการนำกระบวนการของน้องเอกมาใช้กับนักศึกษาให้ได้รับการตระหนักในวิธีคิดที่ควรจะเห็นเป็นตัวแบบอย่างที่ดี
  • ขอบคุณอาจารย์แผ่นดินกับเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมาแล้วก่อให้เกิดพลังที่จะปฏิบัติต่อลูกศิษย์เฉกเช่นเดียวกับตัวต้นแบบอันเป็นแบบอย่างที่อาจารย์นำมาเล่าขานนั่นหนอ
  • บุญรักษานะคะ...
  • ขอบคุณค่ะ

พบบันทึกใหม่ใน FB จึงคลิกเพื่อลิงค์ต่อมาในทันใด ทั้ง ๆ ที่มือกำลังตรวจงานนักศึกษาอยู่ เพียรอ่านทุกตัวอักษรของผู้ร่วมชะตากรรม เอ้ย ผู้ร่วมงานร่วมสมัย

การขับเคลื่อนเริ่มจากความคิดหนึ่งสู่ความคิดหนึ่ง หลาย ๆ ความคิด กับทีมงานเล็กจิ๋ว นำพาวิทยากรที่มีภูมิรู้อย่างมีคุณค่ามาพบหน้าค่าตากัน ทั้ง ๆ ที่เห็นแต่ภาพ อ่านแต่งานเขียน

มหัศจรรย์ Gotoknow กระมัง ... เครือข่ายแห่งความดีสร้างไม่ยาก หากมีหัวใจที่ตรงกัน คิดเรื่องตรงกัน ไม่คิดเรื่องของตัวเองมากกว่าคิดเรื่องผู้อื่น สังคมอื่น

ขอบคุณท่านอาจารย์แผ่นดินที่มอบบันทึกนี้ให้กับทางทีมงาน ถึงแม้ฮาร์ดดิสก์ท่านจะถึงวางวาย แต่ทุกอย่างยังคงแจ่มชัดในความคิดคำนึงที่เรื่องราวที่ผ่านมา

ขอบคุณครับ คุณครูแผ่นดิน ;)

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ผมประทับใจเรื่องเล่าคุณครูพิสมัยฯ เสมอ  มันมีกลิ่นอายท้องทุ่งและรากเหง้าของสังคมเล็กในวิถีเกษตรกรรมและความเข้มแข็งของครอบครัวที่หล่อหลอมให้ก้าวทะยานมาเป็นครูของคุณครูพิสมัยฯ อย่างยิ่ง..

คุณครูพิสมัยฯ ยืนยันว่า กิจกรรมในวงข้าวที่มีพ่อเป็นคนเชื่อมการเรียนรู้ต่างๆ นั้นมีผลส่งต่อสู่การเป็นแรงบันดาลใจในการก้าวมาเป็น "ครู" อย่างมาก  และยังได้ใช้ความเป็นรากเหง้าของสังคมเกษตรกรรมมาเคลื่อนขับการทำนาของนักเรียน จนเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่ต้องปรบมือให้จริงๆ...

สวัสดีครับ อ.โสภณ เปียสนิท

โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก ..เป็นโรงเรียนที่สอนให้เด็กๆ ทำนากันอย่างจริงจังครับ สอนความเป็นวัฒนธรรมและรากเหง้าให้กับคนในท้องถิ่น  ผมยังไม่มีโอกาสไปเห็นด้วยตาตัวเอง แต่การสัมผัสผ่านเรื่องเล่านั้น ก็พลอยให้ผมตื่นตาตื่นใจไปด้วยเช่นกัน

โรงเรียนบ้านร้องขี้เหล็ก อยู่ ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด  จ.เชียงใหม่  มีลิงค์ที่น่าสนใจเยอะครับ ยกตัวอย่างเช่น...

http://gotoknow.org/blog/mhsresearch/257378

http://gotoknow.org/blog/amazingrongkeelek/279345

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ..Lioness_ann

กระบวนการที่ถูกนำมาขับเคลื่อนนั้น เสมือนให้ต้นแบบได้เดินเรื่องด้วยตนเอง จะได้มีชีวิตและมีพลัง สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ฟังได้อย่างรวดเร็ว เพราะสัมผัสได้แบบใกล้ชิด ..

การสอน โดยอาศัยต้นแบบเช่นนี้ ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีครับ บางทีดีกว่าหนังสือด้วยซ้ำไป อ่านเรื่องราวผ่านปากคำเรื่องเล่าในเวลาไม่มากมายนัก แต่กลับได้แรงบันดาลใจที่จะไปขยายผล และฝ่าข้ามวังวนที่ตนเองำลังสัมผัส หรือเผชิญอยู่ตรงหน้า

ยิ่งได้คนในพื้นที่เช่นนี้ ยิ่งช่วยให้ผู้ฟัง หรือผู้เรียน รู้สึกตื่นตัว กระหายที่จะรับรู้รับฟังและร่วมแลกเปลี่ยน  เห็นถือว่ามี "นาฏการณ์ชีวิต" ที่ใกล้เคียงกันนั่นเอง..

สวัสดีครับ อ.วัสฯ Wasawat Deemarn

ผมพยายามเขียนให้ดีที่สุดครับ แต่ก็ทำได้ไม่ดีนัก เพราะติดขัดอะไรๆ หลายอย่าง แต่จะทะยอยเขียนลงเรื่อยๆ ครับ เพราะผมเองก็เรียนรู้อะไรๆ ได้จากเวทีเหล่านี้มากจริงๆ..

แน่นอนครับ ครั้งนี้ก็เป็นภาพสะท้อนของพลังเครือข่ายแห่งชาวบล็อกฯ เหมือนกัน  และยังหมายรวมถึงการคิดนอกกรอบของอาจารย์ฯ และทีมงานของอาจารย์ฯ ที่เล็กแต่พริกขี้หนูจริงๆ..

และเวทีเช่นนี้ ก็เป็เวทีของการเชิดชูคนดีด้วยเหมือนกัน นะครับ...

ขอบคุณที่กล้าพอที่จะเปิดหลักสูตรด้วยกระบวนการในทำนองนี้ นะครับ

 

ขอบคุณครับ..

เห็นบรรยากาศ-อารมณ์ของกระบวนการประรีตจังเลยครับ

เวทีเเบบนี้ยิ่งทำก็ยิ่งได้เรียนรู้

เราเติบโต เขาเติบโต

 

ขอบคุณทุกท่านที่ให้โอกาสผมครับ

dialogue level IV: when we see the future emerging. I in NOW!

เรียนอาจารย์แผ่นดิน

ได้อ่านบันทึกของอาจารย์แล้วประทับใจมากค่ะ  ในส่วนหนึ่งของทีมงานต้องขอขอบคุณทีมวิทยากรเป็นอย่างสูง  ถึงแม้ว่าพวกเราจะเหน็ดเหนื่อยจากการจัดกิจกรรมหลายกิจกรรมและแต่ละกิจกรรมได้แบ่งออกเป็นหลายรุ่น  แต่เมื่อได้เห็นพลังของทีมวิทยากร พวกเราก็พร้อมที่จะร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนกระบวนการอย่างมีความสุข ไปพร้อมกับเสียงหัวเราะ ของทีมงานและทีมวิทยากร  ขอขอบพระคุณค่ะ

โดยเนื้อหาอาจจะใช้เวลาอ่านไม่ทั้งหมด แต่อ่านแล้วสะดุดข้อความ หรือประโยคเพียงประโยค ก็พอจะวิเคราะห์หรือมองเห็นมุมมอง ความเชื่อมั่น ศรัทธาในความเป็นครูของครูพิสมัย และก็เชื่อมั่นว่า ไม่ว่าจะทำอะไรหากมีความศรัทธาและเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองพยายามที่จะทำนั้นก็เป็นแสงจุดประกายที่ดีที่จะก้าวเดินต่อไป "ตามวีถีหน้าที่ของตน"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท