โรงเรียนแห่งความสุข : ว่าด้วยการทบทวน "ความสุขและความทรงจำ" ที่เป็นปัจจุบันของคนเรา


ผมจัดกระบวนการนี้เอง และได้รับการเติมเต็มพลังใจจากกิจกรรมนี้เองอย่างเหลือเชื่อ...


ทุกครั้งที่เดินทางไปร่วมทีม  “ถอดบทเรียน” กับคุณเอกจตุพรฯ  ผมจะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เปิดเวทีเสมอ  โดยใช้กิจกรรมละลายพฤติกรรมเป็นสื่อในการนำเข้าสู่เวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ซึ่งผมใช้ชื่อกิจกรรมนั้นว่า “รู้จักฉัน รู้จักเธอ”  

จะว่าไปแล้ว ผมไม่ได้สันทัดเรื่องละลายพฤติกรรมเอาซะเลย  สงสัยทีมงานคงมองว่าสายอาชีพของผมยึดโยงอยู่กับ  “กิจกรรมนิสิต”  จึงน่าจะมีทักษะในการนันทนาการมากกว่าใครๆ กระมัง   ถึงได้มอบหมายภารกิจอันทรงเกียรตินี้ให้ผมอย่างเสมอต้น เสมอปลาย

 

สารภาพให้ชัดอีกรอบตรงนี้เลยว่า ...ผมเป็นคน “ตี กลอง ร้องเพลง” ไม่เป็นเลยสักนิด   แต่ในวิถีขององค์กรนั้น  ผมกลับมีทีมงานที่เต็มไปด้วยพรสวรรค์ในด้านเหล่านี้อย่างครบครัน  เรียกได้ว่า “บันเทิงเริงปัญญา”  เต็มรูปแบบนั่นแหละ  โดยหลักๆ แล้ว ผมจะทำหน้าที่เป็น “กุนซือ” อยู่หลังเวทีเสียมากกว่า  พองานเสร็จก็จะทำหน้าที่นำเรื่องราวต่างๆ มาสะท้อนไว้ในเว็ปบล็อก  จนอาจทำให้ใครๆ ต่างหลงผิดสรุปไปเองว่าผม “สันทัด”  ในเรื่องนี้เหลือเกิน
  

 

ถามว่า “หนักใจมั๊ย” กับกิจกรรมละลายพฤติกรรมที่ได้รับมอบมา

      
บอกตามตรงว่า “มีบ้าง” แต่ไม่ถึงขั้นต้องกดดันตัวเองจนมากมาย ตรงกันข้ามกลับมองเชิงบวกเป็นความ “ท้าทาย” ของตัวเอง  พยายามเรียกสติ คิดรูปแบบที่ตนเองถนัด พยายามหาสื่อมาประกอบเป็นโจทย์การเรียนรู้  รวมถึงหาสื่อมาประกอบเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สัมผัสเพื่อก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในเช้าชื่นของการเรียนรู้ -
 
หลายๆ เวทีผมเปิดตัวด้วยกลวิธีออกตัวแบบเขินๆ ว่างานนี้ทีมงานเลือกคนผิดแล้ว เช้าชื่นเช่นนี้ ไม่น่าเชิญคนหน้าบึ้งหน้างออย่างผมมาให้พบเจอตั้งแต่แรกเลย เพราะพลอยแต่จะทำให้เขร่งเครียดกันซะเปล่าๆ
 
แต่ก็แทบไม่น่าเชื่อเลยนะครับ  หน้าตาเหมือนหัวหน้าม็อบอย่างผม  จะทำให้มีคนจำนวนไม่น้อย  “หลงผิด” ขำขันกันหลายคน  และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะถึงแม้มุกผมจะดู “ลึกเร้น” มาก  กระนั้นก็ยังมีใครอีกหลายคนยังทันที่จะวกกลับมาหัวเราะได้อยู่ดี...

 

 

ครับ, ผมวิเคราะห์ตัวตนของผมก่อนเสมอ  ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ผมเป็นคน “ไร้สคริป” หรือเรียกง่ายๆ คือไม่ค่อยวางแผนอะไรมามาก หากแต่งานในทำนองนี้  ผมไม่มี “ลูกทีม” เหมือนอยู่ กทม” (กลางทุ่งมหาสารคาม)  ผมเลยต้องจัดแต่งอะไรล่วงหน้าไว้บ้าง ดังนั้นในทุกครั้งที่เปิดเวทีให้ทีมงานนั้น  ผมจึงพยายามหาสื่อต่างๆ มานำเข้าสู่กระบวนการเสมอ 
 
ครั้งนี้ ผมเปิดตัวกิจกรรม “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  แตกต่างไปจากทุกครั้ง คราวนี้ไม่มี powerpoint ที่เป็นสไลด์ภาพสวยๆ และบทกลอนชวนคิดชวนหวามไหวให้อ่านเหมือนเวทีอื่นๆ  ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า  ผมมองว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้เป็นคนหนุ่มสาว “หัวไว”  ใช้ชีวิตใน “ตัวเมือง” น่าจะมีความดื้อ (กล้าแสดงออก) เต็มกำลังอยู่แล้ว  สื่อแบบนั้นจึงอาจดู “เฉิ่มเชย” ในสายตาของพวกเขา  และยิ่งคนร่วมๆ สามร้อยกว่าคน  สื่อที่ผมว่าคงยากที่จะดึงความสนใจมาได้โดยง่าย  กอปรกับเวลาอัน “จำกัด”  ผมเลยต้องระวังมากเป็นพิเศษ
 
ด้วยเหตุนี้  ผมจึงเปิดเวทีด้วยคลิปสั้นๆ ที่มีชื่อว่า “สุขใจที่ได้พูดอีสาน”   
    -   คลิปดังกล่าวนี้ เป็นงานสร้างสรรค์ของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ผมได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าของผลงานแบบไร้เงื่อนไขในการเผยแพร่  และเชื่อว่าสื่อชิ้นนี้จะสร้างความผ่อนคลายแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เป็นอย่างดี  แถมยังสามารถใช้เป็นวาทกรรมในการนำเข้าสู่บทเรียนตามโจทย์ของผมได้อย่างไม่กังขา นั่นก็คือวาทกรรมที่ว่า “ความสุข”  ด้วยเหตุนี้แหละ  ผมถึงไม่ลังเลในการนำมาเป็นสื่อ (ตัวช่วยของตัวเอง) -

 

 

ทันทีที่คลิปนี้ถูกฉายขึ้นจอโปรเจคเตอร์  ผู้ชมทั้งหลายที่ก่อนนั้นดูซุกซน พูดจาหยอกล้อกันยกใหญ่ก็เริ่มเงียบกริบอย่างแทบไม่น่าเชื่อ  แถมยังปล่อยเสียงหัวเราะออกมาพร้อมกันเป็นระยะๆ  ทำเอาบรรยากาศในห้องประชุมคึกคักในอีกแบบหนึ่งซึ่งต่างจากการยังไม่เปิดเวทีอย่างมากโข
 
คลิปสั้นๆ ชุดนี้  สื่อสารเรื่องราวนิสิตชายหญิงคู่หนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม บังเอิญพบกันในลิฟท์  พอมีโทรศัพท์เรียกเข้า แต่ไม่มีใครกล้ารับสาย เพราะไม่กล้าพูด “อีสาน” กระทั่งเวลาผ่านไปสักอึดใจเดียว ทั้งสองคนก็หลุด “ตัวตน” (รากเหง้า) ออกมาอย่างเปิดเปลือยด้วยการพูดอีสานอย่างเต็มปากเต็มคำ และเป็นการพูดในแบบสุขใจสุดๆ ...ไม่อาการเคอะเขินกันและกัน...สุดท้ายยังหันมาทักทายกันด้วยภาษาอีสานอย่างออกรสออกชาติ

 

 

ผมไม่สรุปแนวคิดในคลิปสั้นๆ นั้น  แต่เชื่อมโยงเข้าสู่กิจกรรม “รู้จักฉันรู้จักเธอ” โดยทันที  โดยเริ่มจากการฉาย powerpoint ขึ้นจอพร้อมกับเปิดตัวชื่อกิจกรรมนี้ว่า “ความสุข..และความทรงจำที่เป็นปัจจุบันของฉัน” 

ผมอธิบายแบบรวบรัดว่า  ให้ทุกคนวาดรูปลงในกระดาษที่ได้รับแจกไป  โดยให้ย้อนคิดไปถึงเรื่องราวชีวิตของตัวเอง ทั้งในอดีตและปัจจุบันว่ามีเรื่องราวใดบ้างที่ตนเองได้เรียนรู้และสัมผัสได้ว่านั่นคือ “ความสุขที่เป็นปัจจุบัน” ของตัวเอง “นึกถึงทีไร แล้วเห็นภาพแจ่มชัด  มีชีวิตชีวา และนึกถึงทีไร  ก็ทำให้ตัวเองมีพลังในการก้าวเดินไปสู่โลกแห่งการงานและการใช้ชีวิต” 
พร้อมๆ กับการขยายความสั้นๆ ว่า ทุกคนสามารถเขียนคำอธิบายภาพได้  หรือจะส่งเป็นกระดาษเปล่าๆ ด้วยก็ได้เหมือนกัน  เพราะเราเชื่อว่า ไม่มีอะไรที่ปราศจาก “ความหมาย” ...

 




ผมให้เวลาไม่มากนัก  แถมยังหยิกแซวอีกรอบว่า “ใครคิดนานแสดงว่าแก่แล้ว..จำอะไรไม่ได้แล้ว...(มีคนเฮและฮาอีกไม่น้อยกับคำๆ นี้) 

นอกจากนั้น ยังท้าทายอีกทีว่า  ภาพทั้งหมดนี้จะส่งไปให้นักเรียนที่โรงเรียนของคุณครูได้ดูกันจะๆ ว่า “นี่แหละฝีมือครู”  (เช่นกัน, มีคนเฮและฮา อีกรอบ) 
ในช่วงที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกำลังตั้งหน้าตั้งตาวาดรูปอยู่นั้น  ทีมวิทยากร ก็จะทยอยเดินสังเกตการณ์อย่างเงียบๆ เพื่อประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียน ขณะที่หัวหน้าทีมฯ ก็เปิดเพลงคลอเบาๆ สร้าง “สุนทรียะ” ไปแบบเนียนๆ

 

 

สำหรับผมแล้ว  ผมมีความเชื่อและศรัทธาว่า “ศิลปะแห่งการเขียนและการวาด” หรือแม้แต่การ “พูด”  (รวมถึงศิลปะทุกแขนง) ล้วนเป็นเครื่องมืออันยิ่งใหญ่ในการขัดเกลาจิตใจของมนุษยชาติให้ละเอียดอ่อนและงดงาม   เฉกเช่นกับวาทกรรมอันคุ้นเคยว่า “ศิลปะบำบัด” นั่นเอง

ผมได้แต่หวังว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นนั้น  จะไม่เพียงชวนให้แต่ละคนได้ทบทวนความสุขอันเป็น "พลังชีวิต" ของตัวเองเท่านั้น  แต่ยังหวังว่ากิจกรรมที่ว่านี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ “บทเรียน” ได้เป็นอย่างดี  เพราะสิ่งเหล่านั้น  จะเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกให้พวกเขามีสมาธิ, มีความสงบทางใจ,  มีจินตนาการ, มีกระบวนการวิเคราะห์และสังเคราะห์ถึงเรื่องราวอันเป็นร่องรอยประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง (ทบทวน) ไปพร้อมๆ กับการออกแบบทางความคิดเพื่อถ่ายทอด หรือสื่อสารออกจากตัวเองไปสู่ผู้อื่น

 

...................

 

ด้วยความที่ว่าเวลามีจำกัด  (ปกติผมจะใช้เวลาในกิจกรรมนี้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง) เมื่อประเมินว่าการวาดรูปดำเนินไปได้สักระยะ  มีความเป็นรูปธรรมและลงตัวแล้ว  ผมจึงแจ้งให้ทุกคนวางมือจากการวาดรูป หรือแม้แต่การเขียนคำบรรยายใต้รูปวาด  โดยให้ทุกคนเพ่งมองมายังด้านหน้าเวทีเพียงจุดเดียว
 
ผมถามว่า “ใครอยากเล่าเรื่องราวภาพวาดของตัวเองให้เพื่อนฟังบ้าง”

     -  แน่นอนครับ  กลุ่มนี้ใช้เวลาในการเขินอายไม่นานนัก  มีคนชูมือหราขึ้นอย่างฉับพลัน  และดุ่มเดินออกมาเล่าเรื่องราว “ความสุข” ของตัวเองผ่านภาพวาดให้เพื่อนๆ ได้ฟังอย่างทระนง โดยมี "ผมกับคุณจตุพรฯ"  คอยหยิกหยอกอยู่ข้างๆ 
       ทันทีที่คนแรกพูดจบ  ผมก็ยังชวนคนอื่นๆ  ออกมาเล่าเรื่องของตัวเอง  รวมถึงชวนให้เพื่อนๆ  เสนอชื่อให้ใครสักคนออกมาเล่าเรื่องสลับกันไป  และปิดท้ายด้วยการให้ "คุณครูพิสมัยฯ"  ในฐานะคุณครูศิลปะ เลือกภาพวาดมาหนึ่งภาพ  เพื่อให้เจ้าตัวได้ออกมาเล่าเรื่องราวแห่ง “ความสุข”  ให้เพื่อนๆ ได้ร่วมรับฟัง-

 

 

จากการประเมินข้างต้นแบบรวมๆ ทำให้เห็นว่า กิจกรรมนี้ละลายพฤติกรรมผู้คนได้ดีไม่แพ้เวทีอื่นๆ ทุกคนเฮฮา หัวเราะ ร้องแซว หรือแม้แต่การถามทักแบบทีเล่นทีจริงกันอย่างอบอุ่น  คล้ายกับกระตุกให้แต่ละคนเปิดประตูใจให้เพื่อนๆ ได้ร่วมรับรู้ และรับฟังเรื่องราวอันดีงามของกันและกัน เป็นการเติมและเสริมพลังให้กันในอีกมิติหนึ่งไปในตัว
  
เรื่องราวความสุขในภาพวาด
สำหรับภาพชีวิตอันเป็น “ความสุข” ของผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้นั้น  เกือบครึ่งต่อครึ่งสื่อสารมาในทำนองเดียวกันอย่างน่าชื่นใจ  เป็นความสุขที่แต่ละคนสัมผัสและแตะต้องร่วมกันได้อย่างง่ายงาม  เป็นต้นว่า
 

-  ความสุขที่ได้เที่ยวกับเพื่อนๆ   
-  ความสุขที่เห็นคนในชาติรัก และสามัคคี
-  ความสุขกับการได้คิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน
-  ความสุขในวิถีชีวิตที่สมถะ พอเพียง
-  ความสุขของการได้ออกค่ายอาสาพัฒนาเพื่อเด็กๆ บนดอย
-  ความสุขของการเป็น "ครูดอย"
-  ความสุขของการได้เห็น "ลูกศิษย์" ประสบ "ความสำเร็จ" ในการใช้ชีวิต
-  ความสุขของการได้เห็น "ลูกศิษย์" มี "ความรู้" จากการสอนของตัวเอง
-  ความสุขของการได้เป็น “ครู”

 

นั่นคือประเด็นที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด 
เป็น “ความสุข” ที่พวกเขา “นึกถึง” แล้วเกิดเป็น “พลัง”  ในการขับเคลื่อนชีวิตและการงานของตนเอง  และเป็นที่น่าชื่นใจว่าเรื่องราวเหล่านั้น  ครึ่งต่อครึ่งล้วนเกี่ยวโยงและร้อยรัดอยู่กับ “ความเป็นครู” แทบทั้งสิ้น

 



เหนือสิ่งอื่นใด  กิจกรรม “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  ภาค ความสุข..และความทรงจำที่เป็นปัจจุบันของฉัน”  นั้น  ผมเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า นอกจากการกระตุ้นให้แต่ละคนได้เปิดใจสื่อสารเรื่องราวตัวเองไปยังผู้อื่นนั้น  เป็นเสมือนกระบวนการชวนให้มีการทบทวนตัวเองผ่านเรื่องเล่าและความทรงจำ “เชิงบวก”  เพื่อเตือนสติตัวเองว่าในชีวิตของคนเรานั้น “มีเรื่องอันดีงามอยู่ในตัวตนของตัวเองเสมอ”  และเรื่องเหล่านั้นแหละ  คือ "วัตถุดิบ" ที่สำคัญที่แต่ละคนควรต้องเรียนรู้ที่จะหยิบมาเติมเป็นเชื้อเพลิงให้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน กรณีการสื่อสารเรื่องราวผ่าน ภาพวาดและการเล่าเรื่อง ก็เป็นการเสริมพลังให้คนอื่นได้อีกวิธีหนึ่ง  เพราะบางทีเรื่องราวของตัวเองก็อาจพ้องกับเรื่องคนอื่น  หรือเรื่องราวของตัวเอง  ก็อาจสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้อย่างไม่คาดคิด 
 
สิ่งเหล่านี้ จึงเป็นการ “เปิดเปลือย”  ตัวเองสู่ผู้อื่น เป็นการผ่องถ่ายพลังใจให้กันและกันแบบง่ายๆ แต่ไม่ไร้ความหมาย
  
นั่นคือ กิจกรรมละลายพฤติกรรมในแบบฉบับของผม  อาจไม่เฮฮา สนุกสนาน ขำกลิ้งมากนัก แต่ก็เชื่อว่ามันคือการ “ละลายพฤติกรรมทางความคิด”  ที่ท้าทายผู้เข้าร่วมกิจกรรมอยู่มาก  กล่าวคือ...

        เป็นการท้าทายให้เกิดการทบทวนตัวเอง  
       
ท้าทายให้เรียนรู้ที่จะเติมพลังให้ตัวเองด้วยความสุขและความทรงจำที่เป็นปัจจุบันของตัวเอง 
        รวมถึงการเรียนรู้ที่จะแบ่งปันความสุขไปยังคนรอบกาย
        และท้าทายต่อการนำกระบวนการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในโรงเรียน หรือสังคมรอบกายของตัวเอง 
  

 

 

ในส่วนที่เกี่ยวกับการวาดภาพ (drawing)  การเขียน (Writing) และการเล่าเรื่อง (Telling) ที่มีขึ้นในเวลาอันจำกัดนั้น  ผมก็พยายามสื่อสารกลับไปในทำนองว่ากิจกรรมเหล่านั้นคือการเสริมและเติมพลังชีวิตได้เหมือนกัน  เพราะกิจกรรมทั้งสามนั้นมีสถานะของการบัดบำ (Therapy) โลกและชีวิตได้อย่างดียิ่ง  เป็นการผนึกศาสตร์หลายๆ ศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อก่อให้เกิดความผ่อนคลาย  สงบ  มีสมาธิ  เกิดจินตนาการ  สู่การควบคุมประสาทส่วนต่างๆ  รวมไปถึงฝึกการคิด  เรียบเรียง สังเคราะห์  กลั่นกรองเพื่อสื่อสาร หรือนำมาใช้  เป็นการหา “สมดุล” ให้กับชีวิตได้ในอีกทางหนึ่ง 

หรือหากจะเรียกว่า "เป็นกระบวนการของการนำพาไปสู่จิตวิญญาณและสัจจะของตัวเอง" ! ด้วยก็คงไม่ผิดกระมัง
 
นั่นคือบทสรุปที่ผมไม่มีเวลาสรุปในเวทีครั้งนั้น  แต่ก็มีความสุขกับการได้รับรู้เรื่องราวความสุขของคนอื่นอย่างล้นเหลือ  มันเหมือนกับว่า ผมจัดกระบวนการนี้เอง และได้รับการเติมเต็มพลังใจจากกิจกรรมนี้เองอย่างเหลือเชื่อ...
 
วันนี้  ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจอันหน่วงหนัก  และก่อนที่ตัวเองจะพ่ายพับกับสังขารที่ถูกบดเบียดจากเรื่องร้ายๆ มาทั้งวัน  ผมก็พาตัวเองออกมานั่งบททวน “ความสุข” ของตัวเองอย่างเงียบๆ  กระทั่งพบว่า  “โรงเรียนแห่งความสุข  คือความสุขที่เป็นความทรงจำของผมด้วยเหมือนกัน”

 

และภาพที่หลับตาเห็นนั้น ชัดเจน แจ่มชัด สวยงามและมีพลังอย่างมหาศาล...

ขอบคุณโรงเรียนแห่งความสุข ที่เติมเต็มในตัวผม....(นะครับ)

 

....

เวทีถอดบทเรียน :โรงเรียนแห่งความสุข
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
23 มกราคม 2554

 

 

หมายเลขบันทึก: 430774เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2011 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

ขอบคุณที่มีเรื่องราวดีๆ มาให้อ่าน ให้แอบเก็บไปใช้บ้าง ขอบคุณครับ

ขอบคุณ คน กทม. (กลางทุ่งมหาสารคาม) ผู้เปิดหัวได้อย่างมีความสุขครับ :)

เเละ ทักทาย นายชมด้วย > สบายดีนะครับท่าน ?? มีโอกาสจะชวนนายชมไปลุยงานด้วยกันอีกครับ 

 

สวัสดีครับ อ.ตุ้ย นายชม

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ  ..ต้องขอบคุณหัวหน้าทีมครับที่โยนไมค์ให้ผมเปิดหัวมาหลายครั้ง  เลยต้องเตรียมรับมือไว้ตลอด
ตอนนี้ ก็พยายามจะสร้างทีมถอดบทเรียนที่ ม.มหาสารคาม
เป็นการเริ่มต้นด้วยการคิด..แต่เป็นการคิดเงียบๆ ที่คนอื่นๆ ได้ยินชัดถ้อยชัดคำเลยทีเดียว

สวัสดีครับ คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ผมเริ่มจะไม่สบายครับ งานรอบกายรุมตลอด วันนี้ประชุม ISO ทั้งวัน มีผู้บริหารมาคุยด้วยหลายท่าน ส่วนใหญ่สนใจงานถอดบทเรียน...ผมไม่รู้จะว่ายังไง บอกแต่เพียงว่า ผมเองก็งูๆ ปลาๆ...ปลาตัวใหญ่ๆ อยู่กรุงเทพฯ...

ที่ทำๆ ทุกวันนี้ ใจนำา ศรัทธานำทาง ครับ

 

ปลาอะไรครับที่กรุงเทพ...??

ที่ กรุงเทพมี "ปลาล้า" ครับ  :) เเละที่ มหาสารคามมี "ปลาร้า" (หมักจนได้ที่) ของจริงครับ

วันก่อนมีคนโทรมาคุยเรื่อง การทำงานชุมชน หมายถึงอยากให้ผมทำ workshop เรื่องนี้ให้ ก็เลยคิดไปถึง นิสิตที่มหาสารคาม ผมคิดไปถึงการเขียนหนังสือ อยากเขียนเรื่องราวจากประสบการณ์ในประเด็นนี้ รวมถึงทำ หลักสูตรเล็กๆครับ

ยังไงคงได้คุยกันในรายละเอียด ผมเองงานช่วงหลังมากขึ้น ต้องบริหารจัดการดีๆครับ

เจอกันที่หาดใหญ่ครับ...

คุณพนัส...

หนังสือ ถอดบทเรียนนอกกรอบ  เล่มนั้นใช้เป็นพื้นฐาน เลยนะครับ ให้ผู้สนใจอ่านก่อนก็ได้ครับ ผมคิดว่าในรายละเอียดคงต้องไปนั่งคิดหลักสูตรกันครับ

สวัสดีค่ะอ.พนัส...คน กทม.

      ขอบคุณสำหรับเรื่องเล่าประสบการณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ...อ่านไปแล้ว...ก็สุขใจค่ะ

กิจกรรมน่าสนใจ  มีความรู้แฝงความหมายแง่คิดคำคมในชีวิต...^_^  เป็นกำลังใจค่ะ..

  • สวัสดีค่ะ
  • มีความสุข  และได้แนวคิด จากการได้อ่านนี้ค่ะ
  • เพราะกำลังทำเรื่องจัดการเรียนรู้อย่างไรให้เด็กมีความสุขอยู่ค่ะ
  • จะขออนุญาตปรึกษาอาจารย์ด้วยนะคะ

สมชื่อ "โรงเรียนแห่งความสุข" เลยนะคะ คนทำก็มีความสุข คนอ่านก็มีความสุข ^_^

สวัสดีครับ คุณ แผ่นดิน ;)...

ผมคงเป็นคนแรก ๆ ที่คุณ แผ่นดินได้ส่งข่าวถึงการกำเนิดเกิดขึ้นของบันทึกหมายเลข 3 โรงเรียนแห่งความสุขนี้

ผมเองได้อ่านคร่าว ๆ ไปหลายรอบ แต่วันนี้ได้เข้ามาอ่านทุกตัวอักษร เพื่อจะได้รับรสความรู้สึกในตัวอักษรที่กลั่นออกมาอย่างตั้งใจ

"ความสุขที่เป็นปัจจุบัน" หัวข้อการคิด การเขียน การวาด ที่สามารถสรุปภาพได้ตามวัตถุประสงค์ของตรีมงาน

คุณ แผ่นดิน เป็นนักเล่าเรื่องที่ผมว่า เก่งเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศนี้ ผมชอบนั่งฟัง และนั่งคิดตามไปกับว่าที่คุณครูเหล่านี้ด้วย

ผมชอบนั่งดูสื่อที่คุณ แผ่นดิน นำเสนอถึงรากเหง้าที่คนหลาย ๆ คนมักไม่ค่อยนึกถึง เมื่อเติบโตมาในชีวิต

สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการกระตุ้นอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการฉุกคิดว่า ขณะนี้ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ มีคุณค่าบ้างหรือไม่ หน้าที่ตนคืออะไร

ทีมงานรู้สึกถึงความเสียสละในการเดินทาง การจัดสรรเวลาอันมีค่าของคุณ แผ่นดิน อย่างมาก เลขาฯ จำเป็นต้องดูแลเป็นอย่างดี มีอะไรขาดตกบกพร่อง ถึงมีความกังวลใจเกิดขึ้นเสมอ

ขอบคุณมากครับ ชีวิตการทำงานมีคุณค่าขึ้นเยอะ นับจากได้รับเกียรติร่วมงานด้วย

"โรงเรียนแห่งความสุข" สร้างอะไรไว้เกิดที่ใจเราคาดคิดจริง ๆ

ขอบคุณครับ ;)...

สวัสดีครับ คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

วันนี้ผมนั่งเขียนตำราการสอนวิชาพัฒนานิสิต
ผมพุ่งประเด็นการเรียนรู้แบบกลุ่ม เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เปิดทุกพื้นที่ในมหาวิทยาลัยและชุมชนเป็นห้องเรียน...
ผมอยากให้เรียนแบบ "บันเทิงเริงปัญญา"
มีชั่วโมงบรรยายไม่เกิน 12 ชั่วโมงที่เหลือคือการเรียนรู้ด้วยตนเอง และเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง...

สิ่งหนึ่งที่ผมบรรจุเข้าไปก็คือ  เรื่องการจัดการความรู้และเทคนิคการจัดกิจกรรมในชุมชนแบบมีส่วนร่วม...

และที่สำคัญ คือ พยายามมุ่งการเรียนการสอนให้เกิด "กระบวนการ" ให้ได้มากที่สุด
ไม่ใช่บรรยาย และบรรยาย
และนั่นก็รวมถึงการให้นิสิตได้เสนองานในรูปแบบความถนัดของตัวเอง 

ทั้งหมดนี้กำลังออกแบบการเรียนรู้ครับ

 

อ้อ..ลืมไปครับ คณเอก

"ถอดบทเรียนนอกกรอบ"
เป็นหนังสือที่ผมบรรจุให้นิสิตอ่านประกอบด้วยครับ
ใจจริง อยากขอมาพิมพ์ที่มหาวิทยาลัยเลยด้วยซ้ำไป

 

สวัสดีครับ น้องเทียนน้อย

ไม่ว่าใกล้ไกล, ไปที่ไหนพี่พบกพาความเป็นคน "กทม" ไปแบบไม่ตกหล่น..
ภูมิใจเสนอ "กทม" ..กลางทุ่งมหาสารคาม อย่างเต็มล้นเลยครับ

สวัสดีครับ อ.ลำดวน

แวะมาอ่านบันทึกแห่งความสุขก่อนนอนของตัวเองอีกครั้ง
ตอนนี้มาสัมมนาการสอนและการสร้างสื่อการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป
พรุ่งนี้ ก็เดินทางกลับมหาวิทยาลัยแล้วครับ
มีอะไรให้ช่วย ก็ยินดี นะครับ

สวัสดีครับ คุณแหม่มnoomam lek

ผมถือว่าโชคดีมากที่ถูกนพาไปเรียนรู้ในเวทีนี้...
ความสุขทั้งปวงยังคงแจ่มชัดและมีชีวิตจวบจนบัดนี้

และหวังว่า เวทีโรงเรียนแห่งความสุข

จะนำพาความสุขไปสู่การสร้างคนและสร้างองค์กรได้เช่นกัน นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท