จะห้าม "จิต" อย่างไรไม่ให้ "ปรุง"...?


จะห้าม "จิต" อย่างไรไม่ให้ "ปรุง"  คำถามที่ล้ำค่าจากโยมอ้อม สคส. รวมถึงคำถามชวนต่อยอดของโยม “มะปรางเปรี้ยว” โยม “จุฑารัตน” และ โยม "J.moraqot"


จากประสบการณ์เล็ก ๆ น้อยที่ได้บวชมาขอโอกาสเล่าสิ่งที่ตนได้เคยประสบและสิ่งที่เคยได้แก้ไขให้ฟังดังนี้ครับ


ที่นี่ เวลานี้ งานวัน ๆ หนึ่งอาตมาก็คือได้แต่เฝ้านั่งดูจิตเกิด ความคิดเกิด ดูไป ตามไป มันอยู่เฉย ๆ ก็ลองคิด ลองปรุง ลองไปลองมาสารพัด จึงได้ทราบกับตนเองว่า “จิตนั้นจะห้ามมันก็ไม่ได้ จะปรุงไปก็ใช่การณ์”


จิตดวงนี้ถ้ายัง “ไม่ตาย” อย่างไรมันก็ต้องปรุง ปรุงไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะตาย “ห้ามไม่ได้ แต่รู้ทันมันได้”


ยิ่งห้าม ยิ่งเหนื่อย ยิ่งเครียด ห้ามจิตก็เปรียบหนึ่งกับเราห้ามลมหายใจ
ห้ามไม่ให้ร่างกายไม่ให้หายใจก็เหมือนกับห้ามจิตไม่ให้คิด อย่างไง๊ อย่างไงจิตก็ต้องดิ้นรนที่จะคิด เหมือนกับร่างกายก็ต้องพยายามดิ้นรนที่จะหาลมหายใจ
คิดได้แต่แต่อย่าไปปรุงต่อ

ท่านอาจารย์สอนให้อาตมาคิด...
เวลานั่งรถไปกับท่าน ท่านก็กระตุ้นให้คิด หาโจทย์มาทาย โดยเฉพาะเรื่องบวกเลข บวกลบก็พอไหว แต่ถ้าเริ่มมีคูณ มีหารเรื่อย ๆ อันนี้ชักเริ่มปวดหัว (แรก ๆ)
แรก ๆ ปวดหัว คิดไม่ออก คิดช้า แต่คิดไปเรื่อย ๆ คิดได้ คิดเร็วขึ้น สนุก เพราะหัวสมองของเราต้องคิด ต้องใช้ ไม่ใช้ มันทึ่ม มันเซ่อ ต้องใช้ ใช้มาก ๆ ใช้เรื่อย ๆ “ใช้คิด แต่ไม่ใช้ปรุง”


คิดเป็นเรื่องของสมอง
ปรุงเป็นเรื่องของจิต


คิดเรื่องงานนั้นต้องคิดมาก ๆ คิดเยอะ ๆ คิดไตร่ตรองให้รอบคอบและละเอียด แต่คิดเสร็จแล้วทำงานต้องจบ ไม่ต้องเป็นกังวลต่อ


กังวลต่อนั้นเป็นอย่างไร...?
การกังวลต่อนั้นอย่างที่อาตมาเคยเป็นและยังเป็นอยู่ก็คือ “กลัวจะไม่ดี” กลัวจะมีคนติ ผลงานจะออกมาอย่างไร คนจะพูดอย่างไร เจ้านายจะว่าอย่างไร สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “จิตปรุง” อันนี้ทำให้เหนื่อย การคิดงานไม่เหนื่อย “สนุก”


อาตมาที่มาบวชนี้ก็ตั้งใจมาฝึก ใจหนึ่งกิเลสก็เรียกร้อง มาเคาะประตูบ้านอยู่ทุกวัน ๆ มาไปเถอะ ออกเถอะ สึกเถอะ ๆ จะมาเดินทวนกระแสกิเลสอยู่ทำไม แต่ที่อยู่ก็เพราะว่าตอนนี้อาตมาได้ฝึก ได้ปรับเปลี่ยนตัวเอง จากคนที่เคยแย่ในหลาย ๆ ด้าน ตอนนี้ก็ยังแย่อยู่แต่เหลือด้านน้อยลง บางด้านก็เบาบางลง


สำหรับเรื่องการคิดกังวลนั้น ตอนนี้ก็ฝ่าวิกฤตมาได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะแก้ไม่ได้อย่างหายขาดแต่ก็พอทำงานได้อย่างมีความสุข “สุขกายและสุขจิต”


"จิตสุข" เรื่องกังวลนั้นเมื่อก่อนเป็นมาก แต่เดี๋ยวนี้ลดลงไปเยอะ โดยเฉพาะเมื่อเดือนก่อนที่ต้องขึ้นสวดปาฏิโมกข์ที่วัดแพร่ฯ ตอนนั้นเกร็งมาก เครียดไปหมด กลัวไม่ดี กลัวคนอื่นว่า ยิ่งกลัว ยิ่งเครียด ยิ่งเครียด ยิ่งเพลีย ทวน ท่องอะไรก็ไม่ได้มันเครียดไปหมด
ตอนนั้นที่ผ่านวิกฤตมาได้เพราะใจคิดอยู่อย่างหนึ่งว่า “จะทำบุญให้โยมพ่อโยมแม่ ใครจะว่าดีไม่ดีก็ช่าง จะทำบุญโว้ย จะทำบุญ ไม่ได้ทำอวดใคร” (คิดในใจว่าอย่างนี้) การปรุงในจิตถึงดับลง ผลงานที่ออกมาจึงพอดี พอได้ จิตจึงสงบและ "สุข" ได้


การต่อสู้กับการปรุงนั้น ถ้าจากประสบการณ์ที่อาตมาได้มาประสบกับตัวเองตั้งแต่เริ่มบวชก็คือ
ตอนแรกท่านอาจารย์ให้อาตมาทำงานอย่างเดียว ไม่ให้นั่งสมาธิ ไม่ให้เดินจงกลม วันนั้นเคยลงไปเดินจงกลมยังโดนว่าเลย “ทำไมไม่ไปทำงาน” อ้าว... ผิดด้วยเหรอนี่ เรานะจะอุตส่าห์ขยันภาวนา
ตอนนั้นด้วยความโง่ดักดานของตนเอง นึกว่านั่งสมาธิ เดินจงกลมแล้วจะสงบ แต่ที่ไหนได้ ไอ้เรามันคนอยู่ทางโลกมานาน ฟุ้งซ่านมาเยอะ ไปนั่งสมาธิ เดินจงกลม แล้วก็จะฟุ้งซ่าน "บ้า" ไปใหญ่ (อันนี้รู้มาทีหลังครับ) ท่านอาจารย์ก็เลยให้ทำงาน ทำงาน แล้วก็ทำงาน เป็นอุบายการสอนของคนที่ฟุ้งซ่านมาก พอทำงานแล้วจิตใจก็จะสงบ “ไม่ปรุง” ไปได้เองโดยปริยาย เพราะจิตใจมันจดจ่ออยู่กับงาน แต่งานนั้นต้องไม่ใช่งานคิดนั้น "ต้องเป็นงานกรรมกร" งานใช้แรง ใช้กำลัง งานปฏิบัติ ใช้มือสองมือทำ ทำ ทำ ทำ แล้วก็ทำ ทำอยู่นั่นแหละทั้งวันทั้งคืน อย่าปล่อยให้ว่าง เพราะว่างเป็นวุ่น จิตใจว้าวุ่นเพราะฟุ้งซ่านมาก


แต่พออยู่ได้สักหกเจ็ดเดือน เรานั่งทำงานอยู่ ท่านพระอาจารย์ขึ้นมาเห็น ทำไมไม่ไปสวดมนต์นั่งสมาธิกับเขา ไม่ไปสวดมนต์เดี๋ยวจะให้ไปแบกปูน

อ้าววว...!


อ้อออ... ตอนนี้จิตเราเริ่มอยู่ในสภาวะที่ไปสวดมนต์นั่งสมาธิได้แล้ว ไม่ฟุ้งซ่านมากเหมือนแต่เดิม จึงช่วงนี้ต้องรีบภาวนา "สภาวะจิตพร้อม"

เพราะประสบการณ์ที่เราเคยผ่านมาทั้งดีและไม่ดี ทั้งฟุ้งซ่านและสงบ ถ้าได้นั่งพิเคราะห์พิจารณาโดยใช้สมาธิจะทำงานเกิด “ปัญญา” ได้ เพราะศีลเรามีอยู่แล้ว จิตพร้อมไม่ฟุ้งซ่าน ควรจะเริ่มต้นการนั่งสมาธิ


มาตอนนี้ช่วงที่สาม... แล้วแต่เรา ท่านอาจารย์ปล่อย จะทำอะไรก็ทำ เพราะตอนนี้เราเริ่มรู้แล้วว่าเวลาไหนควรทำอะไร เวลาไหนควรทำงาน เวลาไหนควรนั่งสมาธิ เวลาไหนควรสวดมนต์ เพราะเราเริ่มรู้จักตนเอง รู้จักจริตตนเอง รู้จัก “สันดาน” ตนเอง รู้เองต้องแก้เอง ท่านคอยดูอยู่ห่าง ๆ ประเมินจากผลงานที่ออกมา

เล่ามาเสียยาวเลยไม่ทราบว่าอาตมาตอบตรงประเด็นหรือเปล่า...?


ขออนุญาตสรุปคร่าว ๆ ไว้อย่างนี้ก็คือ

  • ถ้าคิดเรื่องงานให้คิดมาก ๆ คิดมากจะดี เพราะเป็นการฝึกสมอง
  • แต่ถ้าฟุ้งซ่านกลัวงานไม่ดี กลัวคำพูดคนอื่น ต้องหาอุบายทำจิตให้สงบ ท่านพระอาจารย์สอนว่า “ทำดี ไม่เห็นต้องกลัวใคร ไม่ทำ ทำดีสิต้องกลัว”
  • ถ้าจิตฟุ้งซ่านมาก ไม่ควรนั่งสมาธิ เดินจงกลม เดี๋ยวจะบ้าไปกันใหญ่ ให้หางานทำ งานใช้แรง ใช้กำลัง
  • ทำไปได้สักระยะสังเกตตนเองพอเริ่มนิ่ง ไม่คิดมากแล้ว ก็ค่อยหันมาเดินจงกลม สวดมนต์ แล้วนั่งสมาธิ จิตจะสงบและปัญญาจะเห็นจริตของตนเองว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป
  • หรือไม่ใช้ไม้ตายที่อาตมาใช้เลยก็ได้ คิดมากนัก ฟุ้งซ่านมาก “หลับ” ไม่ต้องสนใจใคร


พระอาจารย์เคยบอกว่า ไปนอนซะดีกว่าจะเสียเวลามานั่งคุยกัน

ปกติที่วัดนี้เขาไม่ชอบให้นอน ให้ทำความเพียรเยอะ ๆ แต่ถ้าเรามานั่งคุยกัน เราก็จะคุยกันแต่เรื่องทางโลก เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่อง “ผู้หญิง” เดี๋ยวก็ได้ฟุ้งซ่านอยากสึกกัน ไปนอนซะดีกว่า

อาตมาก็เลยใช้มุขนี้ตอนที่จิตมันเริ่มฟุ้งซ่านมาก ๆ ถ้าคิดอะไรไม่ออก ห้ามไม่ไหว “หลับ” เลยดีกว่า

นอนดูลมหายใจสักพักเดี๋ยวก็หลับ พอหลับตื่นมาก็ลืม เพราะมันเป็นแค่อารมณ์ที่จิตปรุงขึ้น “ลืมคิด ลืมปรุง” ถ้าคิดได้ก็อย่าไปปรุงต่อล่ะ เพราะอาตมาเคย หลับไปแล้ว ลืมไปแล้ว นึกขึ้นมาได้ปรุงต่ออีก อย่างนี้เรียกว่าเสียเวลาสองต่อ คือเสียทั้งเวลาหลับและเสียทั้งเวลาปรุง

  • ฟุ้งซ่านอย่าคุยมาก เพื่อนให้คำปรึกษาดีก็ยุ่ง ให้คำปรึกษาไม่ดีไม่ถูกใจก็ยุ่งกันไปใหญ่

เพื่อนให้คำปรึกษาดี ชมเรา ใจเราก็ฟอง ใจเราก็ฟู เห่อเหิม ถ้าตอนหลังใครมาติจะแฟ้บมาก

เพื่อนติเรา เราก็ยิ่งกังวลหนัก ใครมาชมก็หาว่าเขาโกหก พูดปลอบใจเรา... เนี่ยแหละ "ปรุง"


เรื่องงานนั้นท่านพระอาจารย์บอกว่า ทำให้ “เต็มที่” เต็มที่คือดีแล้ว

ดีเต็มความสามารถของเรา ใครจะว่าอย่างไรก็ช่างหัวเขา เราทำเต็มที่ของเราแล้ว (แต่ต้องเต็มที่จริง ๆ นะ) ถ้าเราเต็มที่แล้ว เราจะไม่กังวล การปรุงก็จะหยุดไปเองโดยธรรมชาติ แต่ถ้าทำไม่เต็มที่ อย่างไง๊ อย่างไงก็เครียดเพราะต้องกังวลอยู่วันยังค่ำ เพราะถึงแม้ว่าใครไม่รู้ ใจเราก็รู้เอง ว่าเราไม่เต็มที่ เรื่องฟลุ๊ค ๆ ที่เราทำไม่เต็มที่แล้วงานจะออกมาดีไม่มีในพระพุทธศาสนา


ที่อาตมาเล่ามาทั้งหมดนี้เป็นการหยุดการปรุงเรื่องงานนะ
แต่ถ้าปรุงเรื่องอื่น ฯลฯ ต้องใช้อุบายที่แตกต่างกันไป


อยู่วัดนี้มีหน้าที่หลักคือ “สกัดจิต” นั่ง ๆ ทำงานก็ดูจิตไป เพลินดี สนุกดี มันคิดก็ดูมัน ตามดูมัน “สกัด” มันบ้าง ปล่อยมันบ้าง ดูซิ ปล่อยแล้วจะไปไหน โอ้โห ไปไกลเลยนะ บางทีเพลินดึงกลับแทบไม่ทัน เพลินข้ามวันก็ยังมี
ลองตามดูจิต ตามดูสิ่งที่ปรุงดูนะ “ดูเฉย ๆ นะ อย่าปรุงเพิ่ม”


คำสำคัญ (Tags): #จิตศาสตร์
หมายเลขบันทึก: 180199เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2008 13:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

กราบนมัสการค่ะ

- มะนาวหวานว่าคนเราทุกวันนี้ต่างตกอยู่ในภาวะที่จิตถูกปรุงเกินกำหนด และเกินความพอดีไปเสียเยอะนะคะพระคุณท่าน

- กราบขอบพระคุณ พระคุณท่านที่ให้ความรู้และชี้ทางสว่างให้คนที่อยู่ในโลกมืดอีกมากมายได้ ตาสว่างเจ้าค่ะ

สาธุเจ้าค่ะ

กราบ นมัสการพระอาจารย์...

การปรุงคือการคิดแบบไร้การควบคุม ใจลอย เพ้อฝัน

การคิดคือการพิจารณาคิดค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดปัญญา คิดเป็นกระบวนการ คิดอย่างมีระบบ

ถ้าต้องการให้จิตว่าง ก็คือหยุดปรุง หยุดคิด หยุดพิจารณา แล้วอยู่กับลมอย่างเดียว

ใช่ไหมครับ

กราบนมัสการพระอาจารย์คะ

บันทึกนี้ ต่อยอดให้เข้าใจมากขึ้น จากบันทึกก่อน ปรุงจิตน้อย นอนน้อย ประโยชน์มาก...

ชอบประโยคนี้มากคะ "คิดเรื่องงานนั้นต้องคิดมาก ๆ คิดเยอะ ๆ คิดไตร่ตรองให้รอบคอบและละเอียด แต่คิดเสร็จแล้วทำงานต้องจบ ไม่ต้องเป็นกังวลต่อ" .. ดิฉันเองใช้ได้ผลกับเรื่องเรียน เมื่ออกจากห้องสอบ จะไม่กลับไปกังวลกับสิ่งที่ทำอีกเลย แต่เรียนรู้ว่าเราพลาดอะไรไปบ้าง แต่ไม่คิดวกไปวกมาให้ปวดหัว ว่ากลัวคะแนนออกมาไม่ดี คิดอย่างเดียว รอคะแนนสอบออก ก็รู้กัน

แต่กับเรื่องงาน ต้องฝึกอีกเยอะคะ ก็กังวลเหมือนที่พระอาจารย์เขียนไว้ กลัวไม่ดี กลัวนู้น กลัวนี้ บางทีกลัวความคาดหวังจากคนอื่น .. เลยกลายเป็นว่าเอามาทำให้จิตใจเป็นทุกข์ กังวล ปรุงแต่งไปเรื่อย

ขอบพระคุณมากคะ

ถ้าต้องการให้จิตว่าง ก็คือหยุดปรุง หยุดคิด หยุดพิจารณา แล้วอยู่กับลมอย่างเดียว

ใช่ไหมครับ

เจริญพร

"ใช่แล้ว" สำหรับคนที่มีพื้นฐานจิตนิ่งอยู่ในระดับหนึ่ง เคยปฏิบัติ เคยฝึกมีพื้นฐานมาพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทำอยู่สถานที่ที่ควบคุมสภาวะแวดล้อมได้ เช่น วัด หรือสถานที่ปฏิบัติภาวนา

แต่หากเป็นในสังคม ริมถนน กลางตลาด หรือสถานที่ทำงาน สิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะความโกรธเข้ามาสัมผัสเราเร็วมาก ดูลมหายใจอาจไม่ทัน เราอาจจะใช้คำว่า "เหอะ" คำเดียว ดังเช่นที่องค์หลวงพ่อชา สุภทฺโท เคยกล่าวเคยสอนไว้ "เหอะ" แล้วดีดอารมณ์ทิ้งออกไปให้เร็วที่สุด

แต่สำหรับบุคคลที่ยังไม่เคยฝึกสมาธิ ในเบื้องต้นดูลมหายใจอาจจะไม่ทันหรือเอาไม่อยู่ อุบายการแก้ที่อาตมาเคยใช้ก็คือต้องรีบหางานอะไรให้ใจทำ ไม่หยุด ไม่นิ่ง หางานใช้แรงทำ ให้มือไม่ว่าง ใจไม่ว่าง

ไม่ว่างไปคิด ไม่ว่างไปปรุง พอใจสงบได้ขั้นหนึ่งแล้วจึงจะค่อยกลับมาดูลม อยู่กับลม

ถ้าหลุดอีก ก็ทำงานอีก ทำเข้าไป ทำแล้ว ทำเล่า ทำซักพัก อารมณ์ที่ปรุงนั้นก็จะบรรเทา ทุเลาลง สติก็จะเริ่มกลับมา "ทัน"

สติมาปัญญาก็เกิด จากนั้นแต่ละคนก็จะหาอุบาย "ดีด" อารมณ์ต่าง ๆ ที่ปรุงอยู่นั้นออกไปเสียได้จากจิตเรา...

อุบายการภาวนามีมากมายหลากหลายแล้วแต่จริตและพื้นฐานจิตของแต่บุคคล เราต้องรู้จักเลือกอุบายที่เหมาะสมและสามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้านั้นได้อย่างทันท่วงที

ทันที่จะไม่ตกลงไปเป็นทาสของอารมณ์ที่ปรุงขึ้นจากความโลภ โกรธ และหลง

เจริญพร

 

เจริญพร โยมมะปรางเปรี้ยว

อาตมาเป็นเฉกเช่นเดียวกันกับคุณโยมและชีวิตก็ยังคงจะต้องฝึกตลอดตราบใดที่ยังมีลมหายใจ

บางครั้งท่านอาจารย์สั่งให้อาตมาทำอะไร อาตมาก็คิดกลัวไปโน่น คิดหวั่นไปนี่ หลาย ๆ ครั้งต้องบอกกับตัวเองว่า "ท่านอาจารย์สั่งให้ทำ ไม่ได้สั่งให้คิด" ท่านสั่งเราก็ทำ

เมื่อทำไปแล้ว ก็ไม่เห็นเป็นอย่างที่ปรุงที่กลัวเลย ที่แท้จิตเราหลอกเราเอง

การที่เรากลัว เพราะเรายังคิดว่า "มีตัวเรา"

การมีตัวเรา ทำให้เรากลัวที่จะเสียหน้าเมื่อถูกตำหนิ เสียชื่อเสียงหากถูกติฉินนินทา

"ตัวตน" นี่แหละ เป็นสิ่งที่สำคัญ

ถ้าเราทำดี มีให้ทำก็ทำไป

ใครจะว่าจะด่า ถ้าเรายังมีตัวโดน เราก็โดน ถ้าเราไม่มีตัวตน เราก็ไม่โดน

อาตมากำลังฝึกตัวฝึกตนให้เล็ก ให้เบา ให้บาง ให้ใส เวลาใครว่า ใครชมอะไรจะได้ทะลุ ไม่โดนทั้งดี ไม่เจ็บทั้งร้าย

พอเราไม่มีตัวตนหรือตัวตนน้อยลงแล้ว จิตเราก็จะเลิกวิตก กังวลไปโดยปริยาย

การที่ไม่มีตัวตนได้นั้น จะต้องอาศัยการวิเคราะห์กาย ซึ่งต้องพยายามดูแขน ดูขา ดูส่วนประกอบต่าง ๆ ในร่างกายที่ประกอบขึ้นมาเป็น "คน" แต่คนนั้นมิใช่เรา

เราต้องพิจารณาบ่อย ๆ

พิจารณาไปเรื่อย ๆ เราก็จะเห็นว่าเป็นแค่เลือด แค่ผิวหนัง แค่ผม แค่ตับ แค่หัวใจ มารวม ๆ กันให้เราอยู่ ให้จิตเราได้อาศัย "อีกไม่นานแล้วก็ตายแล้ว" ให้เขาด่าบ้าง ชมบ้าง จะเป็นไรไป ไม่นานก็ตาย

คิดอย่างนี้เสียได้ก็สบาย เบาและโล่งจากการปรุง...

กราบนมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

  • สติมา ปัญญาจะเกิด
  • จิตเป็นนาย  กายเป็นบ่าว
  • เราต้องรู้จักเลือกอุบายที่เหมาะสมและสามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้านั้นได้อย่างทันท่วงที
  • ได้ข้อคิด และจะทดลองปฏิบัติตามค่ะ   เพื่อความรู้สึกที่หลงทางไปพักหนึ่งจากจิตที่ปรุงเกินกำหนด  จะทำให้ลดน้อยลงบ้าง  และทำให้สภาวะจิตพร้อม
  • ขอบพระคุณ  พระคุณเจ้าค่ะ

กราบนะมัสการครับ

เข้ามารับความรู้

และอนุโมทนาครับ

กราบนมัสการ

  • ผมได้ติดตามมาจากบันทึก "ปรุงจิตน้อย นอนน้อย ประโยชน์มาก"
  • และได้ข้อคิดแนวปฏิบัติในการทำจิตให้ว่างในบันทึกนี้...
  • สาธุ สาธุ จะขอนำไปปฏิบัติเพื่อให้จิตพร้อม ปัญญาจะได้เกิด...สาธุ
  • จะขอติดตามข้อคติธรรมจากพระคุณเจ้าต่อไปครับ

เจริญพรมายังโยมทุกท่านซึ่งเปรียบเสมือครูที่ประเสริฐของอาตมา

การได้แง่คิด คำถาม ข้อปฏิบัติจากทุก ๆ ท่าน เป็นเหมือนเข็มเล่มเล็ก ๆ ที่สะกิดให้อาตมาได้คิด ได้เล่าถึงเรื่องราวที่ได้ประสบมาด้วยชีวิต แลกด้วยชีวิต

ตัวอาตมาเองก็มิได้มีความรู้มากอะไร ถ้าเปรียบเทียบก็เพียงได้แค่เศษเสี้ยวธุลีขององค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์

แต่วันนี้ได้มีโอกาสนำประสบการณ์ที่ทำที่ประสบมาด้วยชีวิตเล่าผ่าน Gotoknow บล็อกที่ทรงคุณค่ายิ่งของไทยและของโลกนี้ จึงขอโอกาสถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านเป็นตัวหนังสือ ก็ด้วยรับความเมตตา อนุญาตจากองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์

ขอพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ และสังฆานุภาพ และความดีที่ท่านทั้งสองเคยได้ประพฤติปฏิบัติ จงช่วยอำนวยผลให้คุณโยมมีแรง กำลัง พลัง ที่จะต่อสู้กับกิเลสที่ประสบพบเจอนั้นได้

หากมีความทุกข์ใดอยู่ขอจงพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงนั้น หากมีความสุขดีอยู่แล้วขอจงมีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไปตลอดกาลนาน...

เจริญพร

นะมัสการครับ

นิมนต์ไปเที่ยวกัมมาสทัมมะนิคม ในกุรุรัฐครับ http://gotoknow.org/blog/poldejw/179864

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท