อิสระทางความรู้ (Knowledge liberation)


ทำลาย “วรรณะทางความรู้ (Knowledge Complexion)” แล้วสร้าง “อิสระทางความรู้ (Knowledge liberation)”

ในเมืองไทยมีผู้รู้ ในโลกนี้มีผู้รู้ แต่เมื่อถึงเวลาที่จะทำ “ผู้รู้ไม่ได้ทำ แต่ผู้ที่ทำไม่ได้รู้” หรือรู้แต่รู้ไม่เพียงพอ
เมื่อรู้ทำไม่รู้ หรือรู้ไม่เพียงพอแล้วอยากรู้ ขวนขวายหาความรู้ ก็หาความรู้ได้บ้าง หาไม่ได้บ้าง เพราะว่าไม่รู้ว่าผู้รู้อยู่ที่ไหน...?

“ผู้รู้จริงมักไม่พูด ผู้ที่พูดมักไม่รู้...!”
เป็นภาษิตแห่งในสังคมฐานความรู้ (Knowledge base society) ที่ผ่านมาจนถึงเวลา ณ ปัจจุบัน

เราอยากให้ผู้รู้เชื่อมต่อกับผู้อยากรู้ใช่ไหม...?
เราอยากให้ผู้อยากรู้ได้ความรู้ ณ เวลาที่เขาต้องการใช่ไหม...?

ความรู้ที่ระเบิดออกมา (Knowledge Explosion) ในทุกวันนี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็น “ความรู้จินตนาการ (Knowledge Imagination) มากกว่าความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge)

“ผู้รู้ไม่เขียน ผู้เขียนไม่รู้...”
เพราะผู้รู้มัวแต่ง่วนทำงาน ทดลอง วิจัยในชีวิต ด้วยชีวิต
ผู้เขียนก็มัวแต่เขียน ง่วนในการเขียน จึงต้อง “เขียนทั้งชีวิต...”

ปัญหานี้ เราจะนำคนรู้มาเขียนก็ไม่ไหว
ใครล่ะจะเอาเวลามานั่งเขียน นั่งเรียบเรียง หรือถ้ามีก็มีน้อยมาก น้อยจนไม่พอเพียง ไม่เพียงพอที่จะบอก ไม่เพียงพอต่อปัญหา ไม่เพียงพอต่อความอยากรู้ เพราะปัญหาและความอยากรู้ก็แปรเปลี่ยนไปตามสภาพสังคมที่ศิวิไลซ์ ปัญหาต่าง ๆ ก็พัฒนาไป พัฒนาตาม

ความรู้ที่มากก็มากเกิน ความรู้ที่น้อยก็น้อยเกิน
ความรู้ที่มาก คือ ความรู้ที่ถ่ายทอดออกมาเพื่อหาประโยชน์ หารายได้เข้าสู่ตน อันนี้มีมากและมากเกิน
ความรู้ที่น้อย คือ ความรู้ที่ให้ด้วยหัวใจที่เสียสละ ให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เป็นความรู้ที่ไร้พิษ ขาดภัย อันนี้มีน้อยและน้อยเกิน

งานทุกงาน ปัญหาทุกอย่าง ประสบการณ์ทุกวินาทีมีค่า
ถ้าคิดจะเป็นนักปฏิบัติและนักเขียนในตัวคนเดียวกันนั้นหนักมาก “ต้องเสียสละมาก” ต้องสละเวลาในชีวิตมาก ต้องเสียสละเวลาของครอบครัวมาก...

ครอบครัวเป็นฐานของชีวิต ของจิตใจ
ครอบครัวเป็นงานหลัก เป็นหน้าที่หลัก งานเขียนเป็นหน้าที่รอง หน้าที่รอง...

งาน + ครอบครัว + ภาระส่วนตัว = เวลาทั้งชีวิต
ถ้าหากจะเขียน ต้องเจียดเวลางาน เจียดเวลาของครอบครัว เจียดเวลาในการทำภาระส่วนตัว เจียดได้ก็เขียนได้...

สำหรับปัญหานี้วิธีแก้ไขที่ดีที่สุด คนส่วนใหญ่คิดว่าคือ การสกัดความรู้หรือที่บ้านเรามักเรียกว่า “การวิจัย...”
หลักการหรือแนวคิดนี้ดี แต่มีปัญหาหรือข้อเสียอยู่ตรงนี้ “การปฏิบัติ…”

ซึ่งปัญหาหลักอันเป็นปัญหาใหญ่นั้นอยู่ที่ “ผู้ทำ” หรือที่เรียกว่า “ผู้วิจัย”
ผู้วิจัยหรือนักวิจัยนั้นมักจะเป็นนักนักวิชาการ เป็นอาจารย์ เป็นข้าราชการ
นักวิจัยที่มีอาชีพหลักดังที่กล่าวนี้มักจะเข้าไปทำงานวิจัย โดยหลักการคือเข้าไปเก็บข้อมูลของผู้รู้ทั้งหลาย “ผู้รู้ที่ไม่มีเวลาเขียน” หรือ “ผู้รู้ที่ไม่ถนัดเขียน...”
เข้าไปเพื่อถอดความรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ตามความรู้ที่ตัวเองมี เขียนออกมาตามความเชี่ยวชาญตามสายงานที่ตนเองทำ

แต่ทว่า... นักวิจัยทั้งหลายมักจะมีคุณสมบัติหนึ่งที่เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งสำหรับการวิจัยคือ “เป็นผู้ที่เรียนจบสูง”

การเรียนจบสูงนี้เป็นปัญหาหลัก เป็นปัญหาใหญ่...!
เพราะคนเรียนสูง อัตตา ตัวตนก็สูงตามไปด้วย
ปัญหาของคนเรียนสูง มักคิดว่า ตนเองนั้นเก่ง ตนเองนั้นมีความรู้ ตนเองนั้นหรูกว่าผู้ที่จะเข้าไปเก็บ ไปสัมภาษณ์เพื่อเอาข้อมูล

คนเรียนสูงมักเป็นคนฟังไม่เป็น “การเก็บข้อมูลก็เลยกลายเป็นการสอนคนที่ให้ข้อมูล”
การเรียนสูงนั้น ทำให้จิตใจของนักวิจัยมัก “ดูถูกความรู้ของผู้ปฏิบัติ”
การดูถูกความรู้ของไม่ได้เรียนหรือผู้ปฏิบัตินั้น เป็นปัญหาตัวฉกาจของวงการวิชาการไทยที่ “ไม่พัฒนา...”

การเข้าไปเก็บข้อมูล เพื่อนำความรู้มาบอก มาเชื่อมต่อกับผู้ที่อยากรู้ ต้องการความรู้ จึงกลายเป็น “การเหยียบความรู้” และ “การเหยียบภูมิปัญญาความรู้ของผู้ปฏิบัติ...”

นำความรู้จากไปตำรา ไปเหยียบย่ำความรู้ของผู้ทดลอง

นำความรู้ของตัวเองไปบอกเขา พอเขาไม่รู้ ก็มักบอก มักออกมาสรุป มักออกมารายงานว่า ชุมชน ไม่รู้ ชุมชนนี้มีปัญหา ชุมชนนี้ต้อง “พึ่งพาความรู้...”
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุ เป็นหนึ่งในที่มาของแนวคิดที่ว่า “สังคมนี้มีความเหลื่อมล้ำทางความรู้...”

นักวิจัยมักเป็นคนพูดเก่งแต่ฟังไม่ค่อยเป็น...
แต่ถ้าหากเราคิดและตระหนักไว้เสมอว่า “เรามีหน้าที่ฟังก็ฟังไป” มีหน้าที่เก็บข้อมูล มีหน้าที่สกัดความรู้ที่ฝังลึก อยู่ในคนละแต่ละคนก็ทำไป เก็บเสร็จแล้วมีหน้าที่เขียนก็เขียนไป
เราใช้ความรู้ทำหน้าที่ของเรา เขาให้ความรู้ตามหน้าที่ของเขาอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหา “ความเหลื่อมล้ำทางความรู้ก็ไม่มี...”

คนเราแต่ละคนมีความรู้ คนเราแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญ แต่ทำไมเล่าเราถึงคิดว่า คนที่ไม่รู้ความรู้ในด้านที่เรารู้ “เป็นคนที่ไม่รู้” เป็นคนมีปัญหา เป็นคนที่จำเป็นจักต้องพึ่งพา “ผู้รู้...”

ปัญหาสำคัญของการเหลื่อมล้ำทางความรู้นั้นจึงเป็นสาเหตุที่ว่าด้วย “เราคิดว่าเขาไม่รู้” และที่สำคัญที่สุดคือ “เขาควรจะรู้ให้เหมือนเรา...”

คนเราทุกวันนี้ยุ่งเพราะความรู้ “รู้ดีก็ยุ่ง รู้ไม่ดีก็ยิ่งยุ่ง...”
รู้มากยุ่งมาก รู้น้อยก็มีคนคอยบอกเราว่าการรู้น้อยนั้น “เป็นปัญหา...”

การแก้ปัญหานี้จึงต้องแก้ด้วยการไม่คิดว่า “เรารู้มากกว่าเขา” และ “เขาควรจะรู้ให้เหมือนเรา...”

เรารู้ดีพอแล้วเหรอที่จะให้เขามาเดินตามความรู้ของเรา
เรามีแรง มีกำลังพอแล้วเหรอที่จะแบกรับเขาให้เป็นภาระในชีวิตเรา...

ทำลาย “วรรณะทางความรู้ (Knowledge Complexion)” แล้วสร้าง “อิสระทางความรู้ (Knowledge liberation)”

ให้คนแต่ละคนตระหนักรู้ถึง “อิสระทางความรู้” ของตน
ภูมิใจในสิ่งที่ตนรู้ ภูมิใจในความรู้ที่ตนมี ภูมิใจในความแตกต่างที่เราไม่คิดว่า “แตกแยก...”

 “ถ้าคุณจะรู้เรื่องอะไร ก็ขอให้รู้เรื่องนั้นให้ถึงที่สุด...”
รู้อะไรก็ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล...
รู้ก็รู้ให้จริง เล่นก็เล่นให้จริง

ให้เขาเดินตามสายทางความรู้ของเขา โดยมี “ศีล” เป็นเครื่องกั้นอันอยู่ตรงที่ขอบถนน

ใช้ “ศีล” เป็นกฎหมาย ใช้ศีลเป็นกฎจราจร
ใช้ “สติ” เป็นตัวขับเคลื่อนชีวิตที่จะเดินทางไปตามเส้นทางแห่งความรู้ที่เขาเลือก ที่เขาภูมิใจอย่าง “อิสระ...”

ถ้าเป็นเช่นนี้...
แม้นถนนแห่งความรู้จะมีหลากหลาย ต่ถนนทุกสายจะมุ่งตรงไปที่ตัว “ปัญญา”
ปัญญาที่แน่วแน่ มั่นคง และซื่อตรงต่อ “ศานติสุข” ของตนเองและส่วนรวม

หากเราทั้งหลายเดินตามถนนของตน แต่ละคนก็เดินตามถนนของเขา
ชีวิตนี้ย่อมสดใส สังคมนี้ย่อมศิวิไลซ์ ด้วยเพราะไม่มีจิตใจดวงไหนที่ “เหลื่อมล้ำ...”


หมายเลขบันทึก: 256640เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2009 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ

เป็นมุมมองที่น่าสนใจและน่าต่อยอดความคิดมากค่ะ

สี่รบกวนสุญฺญตา ช่วยเพิ่มคำสำคัญว่า digital divide และ gotoknow forum อีกสักนิดได้ไหมค่ะ เนื่องจากขณะนี้ทีมงาน gotoknow.org กำลังจัดกิจกรรม"เขียนและขุดเรื่องเล่าของเราชาว GotoKnow กับ การลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้" ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนนะค่ะอาจารย์ ชอบคำว่าอิสระทางความรู้ค่ะ

หากมีอิสระทางร่างกาย สามารถใช้แรงกำลังพัฒนาประเทศ

หากอิสระทางจิตใจ ก็สามารถใช้ใจอันบริสุทธิ์เพื่อคิดเพื่อดำเนินงานให้ประเทศพัฒนาไปได้

และหากอิสระทางความคิด สมองไม่ถูกปิดกั้น ความคิดไม่ถูกขัดขวาง ย่อมเกิดความคิดอันสร้างสรรค์และการแก้ไขปัญหา ส่งผลให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้อย่างไม่มีขีดจำกัด เนื่องจากคิดสิ่งดีๆ ได้เรื่อยๆ

ขอบคุณค่ะ

คุณสุญญตาครับ

บทความนี้ คือความจริงทุกอย่างครับ โดยเฉพาะประเทศไทย สังคมเราเป็นเช่นนั้นจริงๆ ผู้มีความรู้ทั้งหลายถ้ารู้จักใช้ศีลเป็นกฏหมาย ใช้สติที่เรียกว่าสัมมาทิฐิเป็นตัวขับเคลื่อน ประเทศของเราก็คงไม่ด้อยกว่าใครในโลก เพราะความรู้คือพลัง ทุกวันนี้มันเกิดเหตุการณ์ที่ว่า "ผู้รู้ไม่ได้ทำ ผู้ทำไม่ได้รู้"

ยกตัวอย่างด้านการเมืองไทย นักการเมืองไทย ส่วนใหญ่เป็นผู้ไม่รู้ (ไม่มีความรู้มีแตความกระสันต์เรื่องผลประโยชน์) แต่...มีโอกาสเนื่องจากมีเงินมีพรรคมีพวก จึงมีโอกาสปกครองบ้านเมืองโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ส่วนตน มากกว่าส่วนรวม บ้านเมืองถึงได้วุ่นวายเช่นนี้....

ขอบคุณ ที่เขียนบทความนี้ขึ้นมาผู้คนจะได้หูตาสว่างขึ้นอีกมากเลยทีเดียวครับ

อาจารย์เก

สี่รบกวนสุญฺญตา ช่วยเพิ่มคำสำคัญว่า digital divide และ gotoknow forum อีกสักนิดได้ไหมค่ะ เนื่องจากขณะนี้ทีมงาน gotoknow.org กำลังจัดกิจกรรม"เขียนและขุดเรื่องเล่าของเราชาว GotoKnow กับ การลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้" ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

 

ok ok

การที่จะให้อิสระทางความรู้แก่กันและกันได้นั้น เราต้องหัดเป็นคน "ใจกว้าง"

ใจกว้างที่จะยอมรับความคิดเห็น แนวคิดที่แตกต่าง อย่างเต็มใจ "ด้วยใจ..."

คนที่จะใจกว้างนั้น ต้องฝึกหัดทำใจของตนให้ "ต่ำ" เปรียบดังผืนน้ำในมหาสมุทร

เพราะเหตุที่มหาสมุทรต่ำกว่าแม่น้ำทั้งหลาย มหาสมุทรจึงเป็นราชาแห่งแม่น้ำทั้งปวง

ในฐานะที่เราชาว G2K เป็นผู้ขับเคลื่อนแนวคิดที่ดีเลิศ ที่ประเสริฐ ที่จะลดการเหลื่อมล้ำทางความรู้ของสังคมแล้ว เราจักต้องลดทิฏฐิ มานะ อัตตา และตัวตน ของตน ยอมตน ทำใจให้ต่ำ รับฟัง ข้อคิดเห็น แนวคิดของคนทั้งหลาย "ด้วยใจ อย่างเต็มใจ..."

 

คนไทยมิใช่คนใจร้าย คนไทยเป็นคนเสียสละ คนไทยเป็นคนที่พร้อมที่จะให้ความรู้กับสังคม คนไทยพร้อมที่จะทำประโยชน์กับสาธารณะชน แต่คนไทยยัง "ไม่พร้อมที่จะฟัง..."

คนไทยพร้อมที่จะพูด พร้อมที่จะบอก แต่ไม่พร้อมที่จะฟัง

คนที่พูดเลยหมดกำลังใจที่จะบอก หมดแรงทที่จะพูด

คนที่ฟัง ๆ กันอยู่ ก็ "ฟังกันเป็นมารยาท" ฟังกันตามธรรมเนียม

คนไทยเรียนเก่งมาก ทำงานเก่งมาก รู้มาก

ถ้าหากคนไทยยอมรับความเก่งของกันและกัน ยอมรับความรู้ของกันและคน ยอมรับความเหลื่อมล้ำในความรู้ของกันและกัน สังคมวิชาการของเมืองไทยนั้นจักเจริญรุ่งเรือง

จุดเริ่มต้นต้องทำใจยอมรับให้ได้ในความเหลื่อมล้ำนะ

ยอมรับเขาแบบที่เป็นเขา ยอมรับความรู้ ยอมรับประสบการณ์ ยอมรับจินตนาการ น้อมยอมรับด้วยใจจริง

หัวหน้า หัวจักร คีย์แมน ต้องแสดงภาพพจน์แห่งการยอมรับแบบจริงใจให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

เป็นโอกาสดีแล้วที่มี Gotoknow forum เวทีนี้เป็นเวทีที่แสดงให้เห็นว่า keyman ของเมืองไทยยอมรับในความรู้ของแต่ละคนที่ "เหลื่อมล้ำเพราะแตกต่าง"

วงออเครสต้าแตกต่างอย่างสอดประสาน เพราะไวยากรยอมรับรู้โน๊ตที่แตกต่างกัน แล้วเรียบเรียงเสียงประสานออกมาอย่างวิจิตร บรรจง

Keyman ใน g2k นี้ก็เป็นเช่นนั้น เพราะยอมรับความเหลื่อมล้ำเพราะแตกต่าง

เหลื่อมล้ำเพราะแตกต่าง มิใช่เหลื่อมล้ำเพราะไม่รู้

ในตราบใดที่โรงเรียนยังมีครู ก็ย่อมต้องมีนักเรียน

ในตราบใดที่โลกนี้ยังมีความสกปรก ก็ย่อมต้องมีคนทำความสะอาด

คนทำความสะอาดก็เป็นครู เป็นผู้รู้ เป็นเชี่ยวชาญในงานทำความสะอาดนั้น

ยอมรับความรู้ เพราะคนทุกผู้ย่อมรู้ในหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด

ความรู้ในหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดนั้นเอง จะสอดประสานให้สังคมนี้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท