หลากเรื่อง หลายราว ๑ : การศึกษาไทย...


วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่เราทำงานแต่เหมือนว่างานนั้น "เดินถอยหลัง" เพราะว่าเราต้องกลับมา "ตั้งนั่งร้าน" อีกแล้ว...!

แต่ทว่า... การตั้งนั่งร้านงวดนี้ดูเหมือนว่าจะสบายกว่าครั้งก่อน ๆ เพราะด้วยเรามี "ผู้ช่วย" คนสำคัญซึ่งเขานั้น "ไม่เกี่ยงงาน..."

เมื่อก่อน (ช่วงสงกรานต์) ตอนที่เราจะตั้งนานเราหา "คนไทย" มาช่วยงานไม่ได้เลย แต่ละคนก็ต่าง "เล่นตัว" ไม่ว่างอย่างนั้น ติดงานอย่างนี้

แต่วันนี้เรามี "คนไทยใหญ่" ซึ่งมีใบอนุญาตทำงานโดยเขา "ไม่เกี่ยงงาน" พร้อมช่วยงานเราอย่างเต็มที่

เมืองไทยที่ได้ชื่อว่า "ศิวิไลซ์" อนาคตจะต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาค "การก่อสร้าง" อย่างแน่นอน

เพราะเด็ก ๆ สมัยนี้นั้นเน้นไปร่ำ ไปเรียนหนังสือกันเยอะ

เมื่อเรียนหนังสือมากก็ไม่สามารถมาตรากตรำทำงานตากแดด ตากลมได้

เด็กแต่ละคนก็จะวิ่งเข้าหาสมัครงานใน "บริษัท" ห้าง ร้าน อันได้ชื่อว่าทำงาน "ออฟฟิช"

ดังนั้นงานก่อสร้างซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "งานกรรมกร" นั้น ในทศวรรษหน้านี้จะเริ่มขาดแคลนเป็นอย่างหนัก

เมื่ออุปทาน (Supply) มีลดน้อยลง แต่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐนั้นจะทำให้เกิดการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงทำให้แนวโน้มค่าจ้างในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นจะต้องเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยเลยทีเดียว

คนงานซึ่งเป็นคนไทยแท้จะเริ่มแก่และหมดแรง

คนงานหนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็เข้าโรงงานหรือ "ตกงาน" เพราะหวังว่าจะได้แต่งาน "ออฟฟิช..."

คนมีเงินหน่อยก็เรียนเพิ่มตรี โท และเอก ก็ประจวบเหมาะเข้าระบบ "ธุรกิจการศึกษา..."

คนมีเงินเรียน จบสูงไม่รู้จะทำอะไรก็ไปสมัครเป็นครู เป็นอาจารย์ แล้วนำ "อัตตา" นำตัวตนไปสอน ให้ถ่ายทอดให้เด็กรุ่นต่อ ๆ ไป

แนวโน้มค่านิยมของเด็กไทยจึงเรียนกันเป็น "แฟชั่น"

ธุรกิจการศึกษาในประเทศจะเติบโต รวมถึง "ต่างประเทศ" อย่างเช่น "ออสเตรเลีย" จะได้รับความนิยมสูงขึ้น

ภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นจะต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติเป็นหลัก

หากรัฐเปิดช่อง หรือทำให้แรงงานต่างชาติที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย อยู่ได้ ทำงานได้ ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็จะ "อยู่รอด..."

แต่ทว่าเด็กไทยที่เรียนมาก ๆ จบสูง ๆ โดยเฉพาะจบเมืองนอกนั้น จะมาพาการศึกษาไทย "ลงเหว..." ด้วยค่านิยมหรูหรา และมองคนไทยด้วยกันเป็นคนไร้ค่า แบ่งแยกกันด้วยภาษาและ "วัฒนธรรม..."

อนาคตการศึกษาไทยในทศวรรษหน้านั้นน่าเป็นห่วงมาก

เพราะอาจารย์ในปัจจุบันจบเมืองนอกเยอะ ภูมิปัญญาไทย วัฒนธรรมไทย "ครูไทย" จะค่อย ๆ "เกษียณ" และลางเลือนไปจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัย

ช่องว่างหรือ "สูญญากาศ" แห่งยุคการศึกษาจะทำให้เกิด "การศึกษาเอ๋อ (Autistic Education) คือ เรียน ๆ ไปแบบเบลอ ๆ ใครเขาเรียนก็เรียนตาม...

ท่าน ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน ผู้ที่เขียนตำราเรื่อง "พุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics)" ได้กล่าวถึงระบบเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันว่าเป็น "เศรษฐศาสตร์เอ๋อ (Autistic Economics)" (จำความได้จากชั้นเรียนของหลักสูตรพัฒนบูรณาการศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

ท่านกล่าวถึงระบบเศรษฐศาสตร์ที่เมื่อเกิดอะไรก็ตามที่ไม่เป็นตามหลักการทฤษฎี นักเศรษฐศาสตร์ก็มักกล่าวว่าสิ่งนั้นเป็น "วิกฤติ"

นักเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันพูดได้แค่ว่าเป็น "วิกฤติ"

วิกฤติเศรษฐกิจก็ดี วิกฤตการณ์ทางการศึกษาก็ดี เป็นคำนิยามที่บอกให้รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปตามหลักการหรือตำราที่ชาวต่างประเทศนั้นเขียนตำราแล้วอาจารย์ไทยนำมาบรรยายกัน

เมื่อตอบปัญหาไม่ได้ หรือไม่อยู่ในทฤษฎีก็บอกได้แค่ว่ามันเป็น "วิกฤติ" หรือจะตอบให้ดูดีหน่อยก็เป็น "กรณีศึกษา (Case Study)"

ไม่ว่าจะนิยามว่าเป็นสิ่งใด "วิกฤติ" หรือ "กรณีศึกษา" สิ่งทั้งหลายนั้นก็ตั้งอยู่ใน "จิตใจ" ของคน "คนจริง ๆ..."

เวลาคนเราทุกข์นั้น ทุกข์จริง ๆ เวลาตายก็ "ตายจริง ๆ" ตายมาก ๆ ก็เป็นวิกฤติ วิกฤตที่นักวิชาการทั้งหลายทำได้โดยการตั้งเป็น "กรณีศึกษา..."

การศึกษาไทยในทศวรรษนี้ถ้าหากละเลยเรื่องของ "ศีลธรรม" อันเป็น "คุณธรรม" ที่ใช้นำชีวิตของเด็กแล้ว การศึกษาไทยจะก้าวไปในเส้นทางแห่งความ "หายนะ..."

การสร้าง "คุณธรรม" ให้กับเด็กสมัยนี้นั้นไม่ง่ายเลย

เพราะว่าค่านิยมของศาสนา โดยเฉพาะ "พุทธศาสนา" นั้นโดยสร้างภาพ สร้างค่าให้เป็นเรื่องของคนเก่า คนแก่ คนตกยุค คน "ล้าสมัย..."

นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งของนักวิชาการทางการศึกษาในปัจจุบันที่จะสร้างราก วางฐานใหม่โดยการสร้าง "คุณธรรม" ประจำจิตใจ ให้เหมือนกับคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ของเรา

คนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ของเราท่านมี "ศีลธรรม" และ "คุณธรรม" นำชีวิต

แต่เมื่อหมดคนรุ่นท่านเป็นแล้ว เด็กรุ่นใหม่ที่มี "แฟชั่น" นำชีวิตนั้นจะพาการศึกษาให้ "ล่มจม..."

คนที่จะมารับไม้ต่อ "ปูชนียบุคคล" ทางด้านการศึกษาได้จะต้อง "เข้มแข็ง" และต้องเข้ามารับไม้ต่อก่อนที่คนเก่า คนแก่ จะล้มหาย "ตาย" จากโลกนี้ไป

คนที่จะเข้ามารับสืบทอดงาน จะต้องมี "ความเข้มแข็ง" ของจิตอย่างยวดยิ่ง

เพราะกระแสสังคมระบบประชาธิปไตยนั้นบีบรัด รุมเร้า ให้เรา "ปุถุชน" อันเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนต้องเดินตามเขา ขุนเขาแห่ง "ประชาธิปไตย"

ใครล่ะจะยืนขวางต้านทานแรงลมแห่งสังคมที่ชอบกันแต่การ "โอนอ่อนผ่อนตาม"

ใครล่ะจะมีรากฐาน "จิตใจ" ที่มั่นคง สามารถยืนทะนงต้านทานพายุแห่ง "ผลประโยชน์" ที่โหมกระหน่ำ

ในวันนี้ "เรา" ยังยืนอยู่ได้เพราะมี "ขุนเขา" ที่แข็งแรงเป็นฉาก เป็นกำแพง ต้านทานแรงลมให้กับเรา

หากวันหน้าท่านไม่อยู่แล้ว เมื่อลมพัดมา ต้นไม้ต้นน้อย ๆ อย่างเราจะยืนอยู่ต้านทานแรงลมได้อย่างไร

"รากแก้ว" เท่านั้นที่จะทำให้เราอยู่ได้

"ศีลธรรม" ศีล และ ธรรม คือ "รากแก้ว" อันแท้จริง

ดังนั้นเราต้องมั่นคงในศีล และเข้าใจใน "ธรรม" เพื่อที่จะยืนอยู่และทำงานโดยอยู่เหนือ "โลกธรรม"

การทำความดี และการเสียสละในสังคมนี้ทำได้ยากถึงยากมาก

ยากเพราะเราติดอยู่กับโลกธรรม ลาภ ยศ คำนินทาและสรรเสริญ ความทุกข์ แล "ความทุกข์..."

ทุกข์หน่อยก็กลัวแล้ว เขาด่าหน่อยก็ถอยแล้ว คนเราเดี๋ยวนี้ไม่มั่นคง ไม่เข้มแข็ง เพราะขาดรากแก้ว มีแต่ "รากฝอย"

รากฝอยคือ ความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่กระจัดกระจาย แล้วเราก็รวบรวมมาเป็นหนังสือเล่มหนา ๆ แล้วก็ไปแลกมาด้วย "ปริญญา" ที่อันเรียกได้ว่า "ดุษฎี"

ดุษฎีบัณฑิต คือ ความเป็น ความไป ความอยู่ ความตายของ "การศึกษาไทย"

คนที่จบ "ดุษฎีบัณฑิต" คือคนที่กำชะตาชีวิตของคำว่า "อาจารย์"

อาจารย์ที่สามารถ "สอนครู" ครูประถม ครูมัธยม ครูอุดม(ชั้นสอง ชั้นสาม) และครูอาชีวะ

ดุษฎีเมืองนอก ข่มดุษฎีเมืองไทย จะมีบ้างไหมใครจบดุษฎีบัณฑิตด้วยจิตด้วยใจ แล้วมีโอกาสทำงานเพื่อสังคม...

เมื่อเรายังอยู่ในสังคม ต้องรู้จักใช้ "หัวโขน" ให้เป็นประโยชน์

เป็นประโยชน์ในที่นี่คือมีหัวโขนในการทำความดี และสร้างชีวีด้วยการ "เสียสละ"

เดี๋ยวนี้คนจบสูงเสียสละน้อย เพราะต้องคอยตัดสินใจเรื่อง "ผลประโยชน์..."

คนหลายคนเมื่อก่อนเป็นคนดี แต่เมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เขาก็ "เปลี่ยนไป" เป็นคนไทยที่ไร้ "อุดมการณ์"

อุดมการณ์ "อุดมกิน" ทิ้งบ้าน จากถิ่น อุทิศชีวินทำเพื่อ "เงิน"

ทรัพย์สิน ชื่อเสียง เพศตรงข้าม เป็นสิ่งเย้ายวนใจที่ทำให้คนดี ๆ ทั้งหลายกลายเป็น "คนเลว..."

เลวเพราะละทิ้งอุดมการณ์ อุดมการณ์แห่งการเสียสละเพื่อ "ส่วนรวม..."

ผลประโยชน์ส่วนตัวเมื่อมาบดบังตาแล้ว การสร้างภาพเพื่อตนเองนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญในลำดับแรก

เมื่อภาพพจน์ในสังคมดี ผลประโยชน์ต่าง ๆ ก็ตามมา

อุดมการณ์ในการทำความดีเริ่มถดถอย เพราะต้องตั้งตาตั้งตาคอยรับใช้ "เจ้านาย"

ได้ครับผม เหมาะสมครับท่าน ท่านให้เงินมาผมก็ให้งานท่านไป

เงินกับระบบการศึกษาไทยจึงกลายเป็นไม้เบื่อ ไม้เมาซึ่งกันและกัน

แต่จะว่าไปก็ต้องย้อนกลับมาหาต้นเหตุก็คือ "นักธุรกิจ" นี่แหละ

นักธุรกิจที่มีแนวคิดของ "เศรษฐศาสตร์ (เอ๋อ...)"

Autistic Economics นั้นสอนให้เราเห็นแก่ตัว

นักธุรกิจทั้งหลาย คอยจ้องบ่อนทำลาย "สติ" ของเรา เพื่อนำเพื่อนรักคือ "กิเลส" เข้าครอบงำจิตใจ

นักธุรกิจทั้งหลายนี่แหละตัวดี เขาอยู่ของเขาดี ๆ ก็สร้างเงิน สร้างก้อนหินให้มีค่า

คนทั้งหลายจึงกระเสือกกระสนร่ำเรียน ทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่ง "เงินตรา" อันสามารถขายได้ทั้ง "กายใจ..."

ถ้าคนเราทำงานยังหวัง "เงิน" อยู่ อุดมการณ์ก็ไม่มี ไม่ต้องพูดถึง

คำว่าหวังเงินในที่นี้คือ หวังเกินตัว เกินความ "พอดี..."

พออยู่ พอดี พอกิน ถ้าเกินคำว่าพอแล้ว การเกินนี่เอลจะกิน "อุดมการณ์"

สุดท้ายก็ต้องย้อนมาที่ "ศีลธรรม" จักต้องน้อมนำเข้ามาเป็นฐานสู่จิต สู่ใจให้ได้

ถ้าไม่มีศีลธรรม การศึกษาไทย ประเทศไทยก็จบ

การปลูกฝังศีลธรรมให้กับเด็ก ให้กับครู ให้กับอาจารย์จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญอันเร่งด่วน

ปราการด่านแรกก็คือ การลดมานะ ละทิฏฐิของอาจารย์ทั้งหลายให้ได้ก่อน แต่ถ้าว่าไปไม่มีกำแพงใดที่จะต้านทาน "แรงแห่งธรรม" ได้ถ้าเอาจริง...

หากเราพยายามทำลายกำแพง "ทิฏฐิ มานะ" อัตตา ตัวตน ด้วยธรรมที่บริสุทธิ์แล้ว เราเชื่อว่าการศึกษาไทยจะสดใส

ใครล่ะจะเป็นแกน เป็นหลักในการน้อมนำ "ศีลธรรม" เข้าสู่วงการ "อาจารย์ไทย"

ใครล่ะจะได้ชื่อว่าเป็นคนไทยที่อุทิศทุ่มเทเพื่อวงการการศึกษาไทยที่วันนี้จำเป็นต้องใช้ "คุณธรรม..."

คุณธรรมนำชีวิต คุณธรรมจักลิขิต "การศึกษาไทย..."

หมายเลขบันทึก: 301595เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2009 20:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อืม..............การศึกษาไทย

 

ทำให้นึกย้อนไปถึง อาจารย์ที่เคยสอนหนังสือตั้งแต่สมัยประถม

แต่ละท่านทุ่มเท แรงกาย แรงใจ

สอนสั่งเด็กอย่างเต็มความสามารถ

ไม่ได้สนเงินตรา ไม่มีการสอนพิเศษ

มีกิจกรรมให้นักเรียนทำ อย่างไม่ขาดสาย

สอนการใช้ชีวิต

ปลูกผัก ปลูกข้าว เลี้ยงปลา เลี้ยงเห็ด

กวาดสนาม เก็บขยะ

 

โอ้ สิ่งเหล่านี้ ครูปลูกฝังมาเเต่เด็ก

เป็นความงดงามของการใช้ชีวิตในวงการ การศึกษา

 

แต่ตอนนี้ หันกลับไปมอง โรงเรียนเดิมที่เคยเรียน

แล้วหลานชายตั้งไป เรียน

ทุกอย่างเปลี่ยนไป หลานชายวัย 7 ขวบ

แบกกระเป๋า เป้ ใบใหญ่ไป โรงเรียน

เสาร์ อาทิตย์ ไป เรียนพิเศษ

 

นาข้าวเดิม หลายแปลง ถูกถม แปลสภาพเป็น อาคารเรียนใหม่

น่ามันคือ สัญญาณของอะไรหนอ

เด็ก เจ็ดแปดขวบ ตั้งไปเรียนพิเศษ

 

การศึกษาที่ถูกวางไว้ในระบบนี้เกิดอะไรขึ้น

ถ้าอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นก็ขอให้ "เสียสละ" เวลาย้อนกลับไป "พิจารณา" ตนเอง

เพราะตนเองนี้เป็น "ผลผลิต" จากระบบการศึกษาที่เปลี่ยนไปเป็นอย่างนั้น

ทำไมหนอ เราถึงต้องเรียน...?

ทำไมหนอ เราเรียนจบชั้นนี้แล้ว ทำไมต้องเรียนต่อชั้นนั้น...?

เรียนไปแล้วได้อะไร เพื่อน ๆ ที่เราไม่ได้เรียนเขาเป็นอย่างไร...?

มีโจทย์ มีคำถามมากมายที่ให้คิด

เริ่มต้นคิดจากตัวเรา เริ่มต้นคิดจาก "ความรู้ที่ฝังลึก" อยู่ในตัวของเรา

เพราะสิ่งที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับ "ตัวเรา"

เราใช้ตัวเราแลกมาซึ่งความรู้นี้

เราใช้ใจเราแลกมาซึ่ง "กระดาษ" ซึ่งสมมติเรียกว่า "ปริญญา" ต่าง ๆ เหล่านี้

ลองพิจารณา ให้รอบคอบ ถ้วนถี่ดูสักที

แต่ถ้าคิดทั้งทีให้คิดดัง ๆ

คิดอยู่ ก็ขอให้มือพิมพ์ตามไปด้วย

คิดมันลงในบล็อกนี่แหละ คิดไปเรื่อย

ตั้งคำถาม ทำไม ทำไม และทำไม..."

คิดอย่างไร ตอบอย่างไรก็พิมพ์ออกมาอย่างนั้น

พิมพ์ให้หัวสมองกับมือในสัมพันธ์กัน แล้วคำตอบนั้นจะสว่างด้วยตนเอง...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท