เงิน คือ "กรรม..."


คนเดี๋ยวนี้อ่านหนังสือธรรมะกันมากก็เลยรู้มาก
คนเดี๋ยวนี้ฟังซีดีธรรมะกันมากก็ยิ่งรู้มาก
แต่สัดส่วนแห่งความรู้มากเมื่อเทียบกับการ "ปฏิบัติ" แล้วนั้น การปฏิบัติมีสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก

ธรรมะนั้นจักเกิดขึ้นได้ด้วยการ "ปฏิบัติ"
เพราะธรรมะนั้นเป็น "ปัจจัตตัง" ธรรมะนั้นเป็นสิ่งที่รู้และเห็นได้ด้วยตนเอง

มรณานุสสติกัมมัฏฐานก็เช่นเดียวกัน
จะท่องเอา อ่านเอามันก็ไม่ได้ดอก ไม่ได้ผล
ต้องสู้ ต้องลงมือปฏิบัติ
นำชีวิตนี้ให้เข้าไปอยู่ใกล้ความตายให้มากที่สุด "ตายเสียก่อนตาย"
ใครหน้าไหนเล่าที่จะ "หนีความตาย" ไปได้พ้น...

คนในสังคมทุกวันนี้จึงหนีความจริง ความจริงแห่ง "ความตาย..."
จะรวยสักเท่าใด จะหล่อ จะสวยสักปานใด ถึงคราวจะตายอะไรอะไรก็ "ช่วย" ไม่ได้

คนเราเดี๋ยวนี้เหนื่อยกันมาก เหนื่อยหาเงิน หาทอง บำรุงหน้า บำรุงตา หาแล้วก็ตาย สวยแล้วก็ "ตาย..."

ไม่รู้สินะ ทำไม "เงิน" ถึงมีค่า มีบทบาทสำคัญต่อคนในสังคมแห่งนี้
ทำไมคนถึงเอา "เงิน" เป็นตัวกำหนด "ทิศทาง" ของชีวิต

มีเงินก็ตาย ไม่มีเงินก็ตาย
มีเงินน้อยก็ตาย มีเงินมากก็ตาย
ตายไปก็เอาเงินสักแดงไปไม่ได้...

ตอนเช้า ๆ เห็นมนุษย์เงินเดือนขับรถกันให้ขวักไขว่
ขับรถไปทำงาน "หาเงิน หาทอง..."
ออกจากบ้านกันตั้งแต่เช้า "กุลี กุจอ..."
กว่าจะกลับบ้านก็ดึก "เหนื่อยจนสายเอ็นแทบขาด"
สิ้นเดือนมาก็ได้ผลตอบแทนเป็น "เงินบาท" ก่อนกลับบ้านก็แวะจ่ายตลาด ใช้หนี้ ใช้สิน...

ในอีกทาง สุนัขตัวจ้อย เจ้าของมีข้าวให้ตอนเช้าหนึ่งกาละมัง ตอนเย็นหนึ่งกาละมัง
กินอิ่มแล้วก็นอนผึ่งแดดหลับ "สบาย..."
ตอนเย็นก็วิ่งไป วิ่งมา วิ่งเล่นกับ "เพื่อน ๆ" สบาย...

แต่สัตว์ประเสริฐอย่างเราน่ะสิ
ทำงานก็เหนื่อยแล้ว กลับบ้านยังต้องมีภาระหนี้สินติดตามมาจนต้องนอนเอาเท้าก่ายหน้าผาก

ถึงแม้นจะมีเตียงนุ่ม ๆ แต่ก็นอนไม่มีความสุขสู้สุนัขที่นอนเล่นอยู่ข้างถนน
เฮ้อ เกิดเป็นคน คนมีกรรม กรรมของคน คน "กรรม" เงิน...

(ที่มาจากบันทึก สางขี้วัว จึงรู้วาง)

หมายเลขบันทึก: 306957เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2009 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สาธุเจ้าค่ะ

ความรู้สึกเหมือนจะตาย

ถ้าไม่สัมผัสเอง ก็ไม่รู้ดอกว่า เจ้าความกลัว

มันกระโดดมาห่อหุ้มใจ รุนแรงเพียงใด

ร่างกายสั่นเทา ยิ่งสติอ่อน จิตใจยิ่งดิ้นรน

หนีสภาวะบีบคั้นที่ใจบอกตนเองว่า ตายแน่ ตาย แน่ ๆ

วูบเดียว มันเหนือคำบรรยาย โชคดีแท้

ที่มีโอกาสได้เรียนรู้ เพื่อประเมินตนเองว่า

ความกลัวตาย แท้ที่จริง มันยังมีอยู่เพื่อให้เรียนรู้

ให้ทำความเข้าใจ ให้วาง

หากไม่ระลึกถึงความตาย คนเราก็มักจะหลงเพลิน

ไปตามมายาของจิต ที่ล่อลวงให้หลงไหล

ร้อง รำ ทำ เพลง กระโดด โลดเต้นกันไป

หารู้ไม่ ความตายจ่ออยู่ทุกลมหายใจ

ถ้าประมาทตายไปแบบหลง ๆ ก็คง

เห็นชัดว่า ที่ชอบ ๆ ที่จะไปของผู้นั้นจะเป็นที่ใด

ดังนั้นยังมีชีวิตอยู่ มีลมหายใจอยู่

ต้องเร่งเพียรมีสติ ให้จิต ให้ใจ คุ้นเคยกับที่ชอบ ๆ

ที่เป็นสภาวะแห่งความพ้นทุกข์ทั้งปวง

สาธุเจ้าค่ะ 

สวัสดีค่ะท่าน

มีเงินคือกรรม ไม่มีเงินก็ กรรม 555

ต้องปล่อยวางให้มากๆ สินะคะ

ขอบคุณค่ะ

เอ่... สงสัยจะเริ่ม "ฉลาด" เข้าแล้ว

ระวังนะ รู้ธรรมมากแล้วจะ "เมาธรรม" นะ

ติดดีนี่แก้กว่าติดชั่วซะอีกนะ

เดี๋ยวนี้เริ่มมองใครตาขวาง ๆ รึยัง...?

คนเราเริ่มรู้ธรรมะมากถ้าไม่ระวังจิต ระวังใจ จะหลงไหลแล้ว "เมาธรรม" นะ...

ระวังให้ดี ระวังให้ดี

รู้มาก หลงมากนะ...

คนรู้มาก...นี่ฝึกฝนตนยากเหมือนกันนะ...

คนรู้มาก...นี่มักจะเดินทางแสวงหาครูสอนตน สอดส่องดูว่าครูคนไหนเก่ง ครูคนไหนเป็นที่นิยม ... ก็จะตระเวณไป ตระเวณไป

อะไรในเนื้อหาในหนังสือธรรมะนี่รู้หมด ท่องได้หมด เพราะธรรมชาติให้เนื้อสมองในการเรียนรู้ได้มากดี แต่เสียอย่างเดียวฝึกฝนตนเองนี่ก็ยากอยู่นะ เพราะอะไรล่ะ? ก็เพราะได้เจ้าความรู้มากนี่แหละ ... คำสอนของครูบาอาจารย์ก็เอามาตีความ มาคิด มาวิเคราะห์ มาพิจารณาอยู่นั่นแหละว่า ว่ามันใช่เหรอ มันจริงเหรอ...

"รู้มาก...หลงมาก" อย่างที่ท่านว่านั่นแหละ

ลอกเลียน copy ไปในความถูกที่มันผิด โดยปราศจากการน้อมเข้ามามอง มาพิจารณาในตนเอง แทนที่ว่านะ... จากคำสอนหรือองค์ความรู้ต่างๆ ที่ตนเองได้รับนั้นจะนำมาทบทวนกับตนเอง แต่กลับนำมาเพ่งโทษ และคิดว่าตนเองนั้นดีกว่า ชัดเจนกว่า แน่กว่า รู้มากกว่า ถือหนังสือธรรมะว่อนไปทั่ว เพื่อให้ผู้คนได้รู้ได้เห็นว่า "ฉันนี้นะคือ ผู้ศึกษาในพระธรรม"

หากถามว่าดีไหม ... ก็ดีอยู่นะ

แต่ขาดนิดเดียว่า นำมาใช้ในวิถีชีวิต วิถีประจำวันของตนเองไม่ได้...

ธรรมะนั้นเป็น "ของสูง" คนที่รู้ธรรมมาก ๆ ก็เลยจะกลายเป็น "คนสูง" แล้วสมมติตนนั้นว่าสูงกว่าคนอื่น

คนที่รู้สึกว่าตัวเองเก่งเรื่องทางโลกแล้ว ยังไม่สู้กับคนที่รู้สึกว่าตนเองนั้นเก่งทางธรรม

คนที่รู้สึกว่าตนเองเก่งทางเรื่อง "ธรรมะ" นั้นจะสมมติตน ยกตน หลงตนให้สูง ให้เหนือกว่าคนที่เก่งทางโลกเสียอีก

"หลงธรรม" นี้น่ากลัวกว่า "หลงโลก" อีกนะ

หลงโลกเวียนว่ายตายเกิดไป เวียนว่ายตายเกิดมา ยังจะหมดภพหมดชาติเร็วกว่าคนที่หลงธรรมแล้วขึ้นไปติดอยู่บนสวรรค์เป็นเทพ เป็นพรหม

ไฟที่กว่าร้อนนั้น ตนเองจับอยู่ยังรู้สึกร้อน จับแล้วยังรู้จักสะบัด รู้จักปล่อย

แต่น้ำเย็นที่ว่าเย็นนั้น มันนำความเย็น ความสบายแบบฉาบฉวย

ดื่มน้ำเย็นเข้าไปเรื่อย ๆ ดื่มน้ำเย็นเข้าไปในขณะร่างกายร้อน ๆ มันเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่สุมอยู่ภายใน รอวันสปาร์ค รอวัน "ระเบิด"

มือหนึ่งที่จับไฟอยู่ร้อนก็รู้จักปล่อย แต่อีกมือหนึ่งที่จับก้อนน้ำแข็งอยู่เย็นสบาย พอรู้สึกตัวอีกที "มือชา" หมดความรู้สึกจะปล่อยก็ไม่ทันการณ์แล้ว...

ระวังอย่าให้ติดกับเรื่อง "สมมติในธรรม"

เรื่องสมมติในธรรมนั้นก็ได้แก่ ชื่อเรียกอันโน้น นิยามศัพท์อันนี้ หลักการอันโน้น ทฤษฎีอันนี้

ตอนที่พระพุทธเจ้าท่านปฏิบัติ ท่านตรัสรู้นั้นไม่มีชื่อเรียกอย่างนี้หรอก

ชื่อพวกนี้ "ผู้รู้" มาสมมติมาตั้งชื่อเอาเอง

ว่าทำอันนี้เป็นอย่างนี้ ชื่ออย่างนี้

ปฏิบัติถึงขั้นนี้ เป็นอย่างนั้น เรียกอย่างนั้น

พอรู้มากก็ "สงสัย" มาก สงสัยเพราะ "รู้ก่อนทำ"

การรู้ก่อนทำนั้นจะทำให้ทำ "สร้างภาพ" ที่เป็นตุ๊กตาขึ้นมาก่อน

จากนั้นเราถึงจะค่อยหา ค่อยทำ ค่อยสร้างสรรค์ "กรรม" ให้เป็นไปตามภาพที่สร้างขึ้นมา

หลุมพรางของนักปฏิบัติก็อยู่ตรงที่ติด "ภาพมายา" แบบนี้แหละ

พอสร้างภาพปุ๊บ หัวสมองก็นึกถึงหนังสือ นึกถึงทฤษฎีปั๊บ

พอนึก "ถึง" ได้แล้วก็นึกว่าตัวเอง "ถึง" แล้ว...

เรื่องธรรมะนั้นเป็นเรื่องปล่อย เรื่องวางนะ

ความรู้ที่เขาสมมติขึ้นมาบนโลกก็ปล่อยไว้บนโลกอย่างนี้แหละ

ความรู้อันได้แก่ "วิชาการเรื่องธรรมะ" ก็เช่นเดียวกัน เกิดขึ้นมาบนโลกก็ปล่อยไว้บนโลกนี้แหละ

ลืม ๆ วิชาการไปบ้างก็ได้...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท