ชุดความรู้ที่สมดุล


ชุดความรู้ที่สมดุลคือต้องมีความรู้ที่ผิดพลาดและสำเร็จประกอบเข้าอยู่ด้วยกัน

ในการทดลองความรู้หลักการอะไรต่าง ๆ ที่ได้รับ ได้รู้มาใหม่ ๆ นั้น โอสกาสในการผิดพลาดย่อมต้องมีสูงกว่าความสำเร็จ ดังนั้นคนเราจึง "ไม่กล้า" ที่จะเรียนรู้จากการทดลอง

หัวใจของการวิจัยไม่ว่าจะเป็นทางด้าน Pure science และ Apply science ก็จึงต้องว่ากันด้วยเรื่องนี้ให้กระจ่าง เพราะการกลัว ๆ กล้า ๆ เพราะเราตั้งต้นด้วยคิดว่าจะได้หรือเสียนั้นคือการปิดหนทางที่เราจะเรียนรู้จากทุกย่าง ๆ ก้าวที่เราเดินไป

การมองเป้าหมายว่าสิ่งที่ได้นั้นคือ "ความรู้" หรือหลักการต่าง ๆ ที่เราได้เห็นจากกระบวนการไม่ว่าสิ่งที่ทดลองทำนั้นจะสำเร็จหรือล้มเหลว ถ้าเราล้มเหลวเราก็จะได้รู้ว่าทำไมล้มเหลว แล้วเราก็จะเริ่มตั้งสมมติฐานเพื่อทดลองในครั้งใหม่

แต่ถ้าหากเราทำสำเร็จในที่แรกหรือทำได้ในครั้งเดียว ใหม่ ๆ นั้นเราอาจจะดีใจ แต่ถ้าคนอื่นไปทำสิ่งใดแล้วเขาล้มเหลว เราก็จะไม่มีความรู้ที่คู่ควรจะไปบอกเขาได้เลย

ดังนั้นถ้าหากเราสังเกตุให้ดีในระหว่างการพูดคุยทั้งเป็นทางและไม่เป็นทางการ ถ้าหากสิ่งใดเรารู้จากการปฏิบัติเอง ลองผิด ลองถูกเอง น้ำหนักเสียงของเรานั้นจะหนักแน่น เพราะสิ่งที่เราพูดของมามั่นบ่งบอกถึงความมั่นใจ

แต่ถ้าเรื่องใดเราเคยแต่ทำถูกไม่เคยทำผิด หรือใช้วิธีเรียนลัดเอาก็คือ เรียนรู้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะไปอบรม สัมมนา อ่านหนังสือ สอบถาม พูดคุย ถอดความรู้ จัดกระบวนการ เราก็เพียงได้แต่ Data ที่สามารถหลอกให้เราหลงได้ว่า "เรารู้แล้ว"

สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เรารู้ได้จริง แต่เราไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เพราะการปฏิบัติจริงนั้นมีรายละเอียด มีกลเม็ด มีเคล็ดลับที่ผู้ปฏิบัติเท่านั้นที่จะสามารถบอกออกมาได้

เพราะการศึกษาไม่ว่าจะเรื่องใดมักจะต้องประกอบด้วยตัวแปรมากกว่าหนึ่งเสมอ เพราะตัวแปรเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลแตกต่างไปนั้น ถ้าหากเรามีเพียงแต่ชุดความรู้ที่ผู้อื่นถอดมา หรือเพียงอ่านมาเราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างทันท่วงที

การลองผิดแล้วผิดจากมีค่ามากกว่าการลองถูกแล้วถูก

การลองผิดคือลองไปเรื่อย เขาบอกมาแล้วก็ไม่เชื่อ ยังไม่เชื่อของลองดูก่อน ลองไปเรื่อย เขาบอกว่าอันนี้ดีแล้ว ก็พยายามหาทางที่ดีกว่า ลองเอาสิ่งที่เขาทำแล้วประสบความสำเร็จผสมกับสัญชาตญาณนักวิจัยของเรา แล้วค่อย ๆ ปรับ ประยุกตร์ จากนั้นจึงสังเคราะห์ออกมาเป็นชุดความรู้ใหม่ ซึ่งเราจะได้ชุดความรู้ที่ "สมดุล"

ชุดความรู้ที่สมดุลคือต้องมีความรู้ที่ผิดพลาดและสำเร็จประกอบเข้าอยู่ด้วยกัน

ในปัจจุบันเอกสารตำราทางวิชาการมักจะบ่งบอกถึงวิธีการที่ประสบความสำเร็จเป็นส่วนใหญ่ ผู้อื่นก็มักจะหลงชื่นชมกับสิ่งที่ผู้เขียนทำแล้วประสบความสำเร็จ หรือผู้เขียนก็เพียงแต่เขียนแนวทางหรือวิธีการที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ โดยปฏิเสธว่ากระบวนการที่ทำแล้วล้มเหลวนั้น "ไม่สำคัญ"

เมื่อเป็นเช่นนี้วงการวิชาการในเมืองไทยจึงไม่เข้มแข็ง เพราะองค์ความรู้จะหายไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง อาทิเช่น ถ้าหากผู้เขียนหนังสือหรือผู้วิจัยทดลองสองครั้ง โดยในครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ แล้วมาประสบความสำเร็จในครั้งที่ 2 นักวิจัยก็เขียนแต่เพียงกระบวนการในครั้งที่ 2 โดยทิ้ง "ความรู้" ในครั้งแรกไป

แต่ส่วนใหญ่แล้ว การทดลองหรือการวิจัยต่าง ๆ นั้นมักจะทำกันซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ดังนั้นในทุก ๆ ครั้งที่เราเจอผลสำเร็จ เราก็มักจะทิ้งความรู้จากความผิดพลาดนับสิบนับร้อยครั้งนั้นไป

ความรู้นั้นเป็นความรู้ที่ผิดพลาดจริง ๆ หรือไม่...?

ถ้าหากเราวัดว่า ความรู้นั้นผิดพลาดเพราะสิ่งที่ค้นคว้า หรือผลการวิจัยที่ได้ออกมาไม่ตรงตามเป้าหมายที่เราวางไว้ในโครงการวิจัยนั้นก็ถูกต้องว่าเป็นสิ่งที่ผิดพลาดจริง ๆ

แต่สิ่งที่ได้ออกมานั้นไม่มีใครจะปฏิเสธได้ว่าสิ่งนั้นคือ "ความรู้" เพราะสิ่งที่ได้ออกมาจากความผิดพลาด เป็นเพียงสิ่งที่ไม่ตรงกับเป้าหมายของเรา แต่อาจจะตรงกับเป้าหมายในโครงการอื่น ซึ่งอาจจะเป็นโครงการในอดีต หรืออนาคต ซึ่งนักวิจัยรุ่นใหม่ยังไม่ได้คิดหรือยังไม่ได้เขียนโครงการขึ้นมาเท่านั้นเอง

การตระหนักในเรื่องความสมดุลในชุดความรู้นั้นจะทำให้เราได้ความรู้มากกว่าหนึ่งในโครงการวิจัยเพียงหนึ่ง

การตระหนักในกระบวนการที่ได้ความรู้หรือผลงานที่ไม่ตรงกับโครงร่างการวิจัยอาจจะมีความหมายมากกว่าผลงานการวิจัยที่สรุปได้ออกมา...

หมายเลขบันทึก: 336672เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2010 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชีวิตของคนเรามีทั้งดีทั้งชั่ว การรู้ดีรู้ชั่วจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นของ “ชีวิต”

ชีวิตของคนเรามีทั้งสุขทั้งทุกข์ การรู้ทุกข์รู้สุขจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นของ “ชีวิต

ความเลวหรือความชั่วในชีวิตเปรียบได้กับเครื่องปรุงรสให้กับชีวิตนั้นมีรสชาด

ความเลวหรือความผิดพลาดจากการวิจัยก็คือรสชาดทางวิชาการนั้นเอง

ชุดความรู้ที่ดูเลิศหรูเพราะอะไรอะไรก็มีแต่สำเร็จและสำเร็จช่างดูจืดชืด ยิ่งพอกินพอเสพเข้าไปนาน ๆ เข้าก็จะเริ่มมีอาการ “เอียนทางความรู้”

ความผิดพลาดนั้นเปรียบเสมือน “พริกไทย” ที่เพิ่มกลิ่นฉุนให้อาหารจานนั้นมีความร้อนแรง

ยิ่งไปคนไทยด้วยแล้ว ถ้าไม่มีพริกขี้หนูเพื่อใช้เคียงคู่เมนูอาหาร สิ่งที่เราทานก็ไม่สามารถเติมชีวิตในการทำงานให้กระชุ่มกระชวย

Sample bias จึงเป็นเหมือนเครื่องชูรสให้เอกสาร ตำรา หรือผลงานวิจัยนั้นเร้าใจ น่าสนใจ

สนใจเพราะความสมบูรณ์ เร้าใจเพราะเกิดความ “สมดุล”

ในการคิด การดำเนินชีวิตก็เป็นเช่นนั้น เราต้องรู้จักนำความผิดพลาดกลับมาย้อนคิดให้เป็นแรง เป็นพลัง เพื่อที่จะใช้ฝ่าฟันอุปสรรคที่ตั้งขวางอยู่เบื้องหน้า

อย่าพึงปฏิเสธความล้มเหลว ขอพึงใช้ความล้มเหลวเป็นเครื่องเร้า แรงกระตุ้น เพื่อสร้างชีวิตให้ “สมดุล...”

อ่านแล้วทำให้หนูนึกถึงคำว่า "ผิดเป็นครู" หากเปิดใจยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากการวิจัย โดยปราศจากอคติ หรือปราศจาการบีบอัดกรอบความคิดของตนเองให้อยู่ในกรอบ คงจะทำให้เห็นช่องทางและต่อยอดองค์ความรู้ในตนเองได้ดีนะคะ แต่เมื่อไหร่ที่ทำงานมุ่งผลลัพย์มากเกิดไปอาจจะทำให้เกิดการมองข้ามความรู้ระหว่างวิจัยไปอย่างน่าเสียดายขอบพระคุณค่ะสำหรับความรู้ (^_^)

คำว่า "ผิดเป็นครู" นั้น ต้องพิจารณาให้ดีเพราะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 นัยยะ

นัยยะแรกคือ คนที่มักจะทำผิดซ้ำ ๆ ผิดบ่อย ๆ ผิดเพราะมาท ผิดเพราะจงใจ ผิดไปเรื่อย ผิดซ้ำ ผิดซาก แต่พอทำผิดเข้าก็ชอบเข้าข้างตัวเองว่า "ผิดไปครู" ความผิดตามนัยยะนี้ที่บุคคลได้กระทำนั้นไม่มีประโยชน์ รังแต่จะเกิดทุกข์โทษเพราะจะสร้าง "สันดาน" ที่ไม่ดี

สันดานที่ไม่ดีคือ มักง่าย ไม่รอบคอบ ผิดอย่างไรก็ยังมีทางออกโดยพร้อมเตรียมคำตอบเพื่อบอกกับคนรอบ ๆ ข้างว่า "ผิดเป็นครู"

เราพึงจะต้องระวังแนวความคิดตามนัยยะแรกนี้ให้มาก ก็เพราะว่าคนเราส่วนใหญ่นั้นชอบเข้าข้างตนเอง ผิดแล้วไม่ยอมรับผิด ผิดแล้วก็อ้างโน่น อ้างนี่ไปเรื่อย อ้างไปเรื่อยเฉื่อยว่า "ผิดเป็นครู"

น่า... ไม่เป็นไรน่า ปลอบใจกันโดยไม่ใช่หลักการของเหตุและผลว่า การบอกคนอื่นว่าทำผิดแล้วไม่เป็นอะไรจะสร้างอุปนิสัย "ไร้ความรับผิดชอบ" ต่อการทำความผิด

เมื่อผิดแล้วก็มีแต่คนมาบอกว่าไม่เป็นไร "ผิดเป็นครู" แล้วก็เลยรู้สึกว่าความผิดที่เขาทำนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องผิดเป็นเรื่องธรรมดา ใคร ๆ ก็ทำผิดกันได้ ผิดนิดหน่อยไม่เห็นเป็นไร

การปล่อยปะละเลยความคิดเล็กน้อยจนนี้จะสะสมกลายเป็นความผิดใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น

หนีเที่ยว ขโมยเงิน เบียดเบียน ทำร้ายสัตว์ ทำลายกัน ค่อย ๆ สะสมเพิ่มดีกรีจากครูจนกลายเป็น "อาชญากร"

บางครั้งทำความผิดจนเข้าขั้นอาชญากรแล้วก็ยังรู้สึกตัวอยู่ว่า "ผิดเป็นครู"

เขาเชื่ออย่างนั้นเพราะคนในสังคมสอนเขามาอย่างนั้น สังคมสอนเขาว่าทำผิดได้ไม่เป็นไร ทำผิดก็มีแต่คนคอยให้อภัย จนวันหนึ่งจิตใจหลงผิดมากไปจนไม่สามารถที่จะเยียวยา

คนเราเดี๋ยวนี้จึงทำผิดกันไปเรื่อย ผิดกันจนเป็นปกติ ผิดกันจนเป็น "ประชาธิปไตย" พวกมากลากไป พวกผิดมากก็ลากพวกผิดน้อย พวกผิดน้อยหน่อยก็รู้สึกว่าไม่ผิดเลย

ผิดอย่างไรก็คือผิด แต่เดี๋ยวนี้คนเรามีเหตุผลว่าผิดได้ นิดหน่อย พอได้ สังสรรค์ เข้าสังคม ความผิดจึงกลายเป็นที่ชื่นชมยินดีในหมู่โจร

เวลาโจรเขาปล้นเขาจะรู้สึกว่าตนเองผิดบ้างหรือไม่ แต่ถ้าหากใครสามารถสืบย้อนกลับไปได้จุดเริ่มต้นเขาก็มาจากการลักเล็กขโมยน้อยแล้วมีคนคอยสอนเขาว่าไม่เป็นไร "ผิดเป็นครู..."

 

จุดสำคัญของบุคคลตามนัยยะแรกก็คือ "ผิดไม่รู้จักผิด" ผิดแล้วไม่ยอมรับว่าตนเองผิด ผิดแล้วอ้างไปข้าง ๆ คู ๆ ว่า "ผิดเป็นครู"

ส่วนในชุดความรู้ที่สมดุลที่ว่าด้วยเรื่องความผิดที่มีประโยชน์นั้น จุดสำคัญคือ "ต้องยอมรับผิด" ต้องยอมรับอย่างเต็มใจว่าตนเองผิด ผิดอย่างไม่มีเงื่อนไข และเป็นการผิดโดยไม่ต้องใช้เหตุผลใด ๆ มาโต้แย้ง

เมื่อเรารับได้ว่าตนเองผิด กระบวนการต่อไปก็จะเริ่มต้นด้วยการคิดว่าเราผิดทำไม...?

ต้นเหตุจากการผิดพลาดนั้นคืออะไร ถ้าหากย้อนเวลาได้เราควรทำอะไร เราทำอะไรได้ดีมากกว่านี้หรือไม่ และเมื่อย้อนเวลาไม่ได้ ในบัดนี้เราควรแก้ไขปัญหาอย่างไร และมีวิธีการอย่างไรที่จะปกป้องไม่ให้ความผิดพลาดเช่นนี้เกิดขึ้นมาอีก

การเรียนรู้จากความผิดพลาดไม่ว่าจุดจบจะไปอยู่ที่ใดไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขหรือปกป้อง จุดเริ่มต้นที่สำคัญนั้นคือการ "ยอมรับผิด"

ยอมรับผิดด้วยใจของตนเอง ใจที่ยอมรับนั้นเป็นการเปิดทางให้วงจรของปัญญาหมุนวนเพื่อให้เกิดวงจรในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาความผิดเป็น "ความรู้ (Error Knowledge Management)"

การพัฒนาความรู้จากความผิดนั้นจึงเปรียบได้กับการมีครูที่สร้างเกลียวความรู้จากผลแห่งกรรม

ไม่ว่ากรรมดีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "กรรมชั่ว" ที่เรานั้นได้เคยก่อ กำลังก่อ หรือคิดที่จะก่อ ถ้าหากเรายอมรับได้ว่านั่นเป็นความผิด เป็นสิ่งที่ผิด การยอมรับความผิดนั้นก็เปรียบเสมือนยอมรับให้ครูเดินเข้ามาในบ้าน มาเปิดใจ เปิดหน้า เปิดกระดาน แล้วเจือจานความรู้ (Tacit knowledge) ให้กับศิษย์ด้วยหัวใจ

ความผิดนั้นจึงเป็นครูที่ประเสริฐ เพราะน้ำตาแห่งทุกข์ย่อมให้ประสบการณ์ฝังลึก (Tacit Experience) ที่วิเศษสุด ประดุจขุมทรัพย์ที่เต็มไปด้วยอัญมณี

ขอให้เราทั้งหลายย้อนกลับมาพิเคราะห์ พิจารณาจากครูที่ประเสริฐคนนี้เถิด ยกท่านขึ้นมาเพื่อสอนใจ ยกท่านขึ้นมาสอนตัวสอนใจเรา...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท