คุณคิดว่า "Gotoknow" นั้น เป็นสีอะไร?


Blog จะเป็นคลังที่รวบรวม Explicit & Tacit Knowledge ที่ห่อหุ้มไปด้วย “บริบท”

             จากการที่ได้อ่านหนังสือเตรียมเข้าเรียนเรื่อง ชายชอบ ในวันนี้ ประกอบกับการได้อ่านบันทึกของ นายบอน เรื่อง  “gotoknow คือคลังความรู้ของประเทศหรือคลังความรู้เฉพาะกลุ่ม รวมถึงการประชุมคณาจารย์ อาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษา พัฒนบูรณาการศาสตร์ในวันพุธที่ผ่านมา ก็ได้เห็นมุมมองอีกหลาย ๆ มิติ ซึ่งจะขอนำเรียนในบันทึกนี้ไว้เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่เห็นคุณค่าครับ 

       มิติแรกที่จะนำเรียนก็คือเรื่องของ การมอง Gotoknow ว่าเป็น "ชายขอบ" สำหรับนักวิชาการและผู้บริหารส่วนใหญ่ในประเทศ ซึ่งผมเองได้เริ่มฉุกคิดมาตั้งแต่ได้อ่านบันทึกของ นายบอน ว่าที่เรากำลังหลงใหลได้ปลื้มกับ Gotoknow ของเรานั้น เป็นคลังความรู้ของประเทศหรือคลังความรู้เฉพาะกลุ่ม

       ซึ่งผมเองก็ได้รับการยืนยันแนวคิดจากที่ประชุมที่อุดมไปด้วยนักวิชาการผู้ที่มีความรู้ความสามารถในระดับประเทศหลาย ๆ ครั้งว่า

ไม่มีเวลาที่จะเข้าไปเขียนบล็อค

งานประจำก็เยอะอยู่แล้ว จะให้เข้าไปอ่านไปเขียน Comment คงจะไม่ไหว

ไม่มีประโยชน์ เป็นเรื่องไร้สาระอ่านหนังสือ เขียนหนังสือดีกว่า

 นักศึกษาเอาเวลาไปอ่านหนังสือเยอะ ๆ ดีกว่า อย่ามาให้ความสนใจกับบล็อกนี้มากเลย

            ท่านกำลังมองพวกเราสมาชิก Gotoknow ที่เข้ามาทำงานกันตรงนี้ "เป็นชายขอบของวงการวิชาการหรือเปล่าหนอ" ถ้าเป็นอย่างนั้น สิ่งที่ผมเสียใจและเสียดายมาก ๆ มิได้เกิดจากว่าเขาจะมองเราอย่างไร แต่เสียดายที่เราจะไม่ได้มีโอกาสได้อ่านบันทึกดี ๆ จากผู้เชี่ยวชาญ ผู้รู้เหล่านั้นมากกว่า เพราะท่านมองข้าม พลังของบล็อค

          พลังของบล็อค มิได้อยู่ที่ใครเขียนดีหรือไม่ดี เขียนมากหรือเขียนน้อย แต่อยู่ที่ การที่ได้เขียน เขียนในทุก ๆ บริบท ในทุก ๆ โอกาส ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกความคิด คิดอะไรก็ใส่มากันเลย เพราะสิ่งที่เขียนลงไปในแต่ละวันนั้นนอกจากจะมีแก่นหรือเนื้อหาสาระแล้ว เรายังสามารถใส่สิ่งที่หนังสือไม่สามารถใส่ได้นั่นก็คือ บริบท ณ วันนั้น ณ ความคิดนั้น ณ บัดนั้น

               ในอดีตและปัจจุบัน กว่าเราจะได้อ่านหนังสือของผู้เชี่ยวชาญระดับ ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาจารย์ หรือปราชญ์ ในสาขาต่าง ๆ กันแต่ละเล่มนั้น เราต้องรอแรมเดือน แรมปี หรือกระทั่งแรมทศวรรษ กว่าจะได้อ่านหนังสือของท่านในแต่ละเล่ม

                ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นหนังสือในแต่ละเล่มนั้น ท่านก็ตัดแล้วตัดอีก คัดแต่สิ่งที่สำคัญ คัด แก่น มาให้เราอ่าน แต่งแล้ว แต่งอีก ตัดก้าน ตัดใบที่ไม่สวยงามออก จนเหลือเป็น หลักวิชาการ ทฤษฎี องค์ความรู้ มาให้พวกเราอ่านกัน แต่ในบางครั้งการนำ หลักวิชาการ ทฤษฎี องค์ความรู้มาใช้นั้น ผู้นำไปใช้ต้องพิจารณาถึงคำว่า บริบท ว่าตอนนั้นเราควรจะใช้อะไร ใช้อย่างไร ซึ่งแล้วแต่ใครจะหยิบไปใช้ ณ ช่วงเวลาใดของชีวิต ซึ่งถ้าจะเขียนอธิบายบริบทลงไปในแต่ละขั้นตอนโดยรายละเอียด หนังสือและเล่มคงจะหนาประมาณหนึ่งหมื่นหน้า ซึ่งโรงพิมพ์ที่ไหนคงจะไม่พิมพ์ให้เราเป็นแน่

             ดังนั้น Blog จะเป็นคลังที่รวบรวม Explicit & Tacit Knowledge ที่ห่อหุ้มไปด้วย บริบท ว่าวันนี้ เวลานี้เราและเขาไปไหนมา ไปมาแล้วเจออะไร เจอแล้วมองอย่างไร มองแล้วคิดอย่างไร คิดแล้วมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร ปัญหาในการมอง ณ ขณะนั้น คืออะไร และสิ่งที่สำคัญที่เราอยากรู้มาก ๆ เลยก็คือ ความคิดแวบแรกเมื่อได้สัมผัสของเขา คืออะไร แวบแรกในการมอง แวบแรกในการคิด แวบแรกในการตัดสินใจ แวบแรกในการแก้ปัญหา และแวบแรกในการพัฒนา นั้นคืออะไร

                 แวบแรก หรือสิ่งที่เกิดขึ้น ณ บัดนั้นที่เราได้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตา หู จมูก ลิ้น กาย จากนั้น แวบแรก ใจเราคิดอย่างไร แวบแรกที่บริสุทธิ์ ที่ปราศจากคำว่า ได้หรือไม่ได้ หรือแม้ว่าความคิดส่วนใดเข้ามาวินิจฉัยตัดสินสิ่งนั้น มองปุ๊บคิดปั๊บ ท่านผู้รู้เหล่านั้น ท่านคิดอย่างไร สิ่งนี้แหละที่เราต้องการ สิ่งนี้แหละที่บล็อกสามารถถอดออกมาได้

                 เพราะถ้าเรารอเอาความคิดที่เราได้สัมผัสมานั้นให้ค้างอยู่เป็นเวลานาน ความคิดเหล่านั้นจะถูกผสมปนเปไปด้วยสิ่งต่าง ๆ จากประสบการณ์ของเรามากมาย ไม่ว่าจะเป็นความหวาดกลัว ความถูกผิดและความคิดของบุคคลอื่นรวมกันเข้ามา ถ้าปัจจัยที่เจ้ามาต่าง ๆ เหล่านั้นมีอิทธิพลมากกว่าเรา เขาพูดเก่งกว่าเรา มีอำนาจหน้าที่การงานตำแหน่งสูงกว่าเรา ความคิดแวบแรกนั้นก็จะหายไป หมดไปอย่างไม่มีวันหวนกลับคืน

               ความคิดแวบแรกนั้นสำคัญไฉน? ต้องย้อนกลับไปถามว่า มนุษย์กับเครื่องจักรแตกต่างกันอย่างไร  ความแตกต่างคงจะมีมากมายหลายประการ แต่สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งก็เรื่องของ ประสบการณ์ มนุษย์มีความทรงจำที่เก็บไว้ในระดับจิตต่าง ๆ จากการที่ชีวิตได้ผันผ่านพบประสบเจอกับสิ่งใด ๆ มาก็ตาม และโดยเฉพาะผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ที่ผ่านประสบการณ์มามาก ๆ สิ่งที่เห็นจะผนวกกับประสบการณ์แล้วสิ่งนั้นจะผุดขึ้นมา สิ่งนั้นคืออะไรล่ะ สิ่งที่ท่านมองเห็นด้วยใจ ผ่องถ่ายออกมาให้เราเห็นบ้างได้ไหมครับ

              เพราะเราต่างคนต่างประสบการณ์ สิ่งต่าง ๆ ที่สัมผัสนั้นการมองเห็นที่ใจก็แตกต่างกัน ทุกครั้งที่เราสัมผัสสิ่งใด เราจะตัดสินใจในบัดดลว่าสิ่งที่เราสัมผัสนั้น เป็นอย่างไร สิ่งที่เราตัดสินนั้นเมื่อก่อนเราเคยเจอประสบการณ์แบบใดมา และประสบการณ์เหล่านั้นสอนอะไรเราไว้

              ทำไมเราเห็นโครงเหล็กที่มีล้อสี่ล้อ มีเครื่องยนต์ มีพวงมาลัย เติมน้ำมันแล้ววิ่งได้ว่า รถทำไมเราเห็นกระดาษที่ใช้ซื้อของแลกเปลี่ยนสินค้าได้ว่า เงิน เราคิดและเรียกสิ่งเหล่านั้นได้เพราะเราเรียนรู้มาว่าสิ่งที่เราเห็นนั้น แบบนั้น เขาเรียกว่าอะไรกัน ทำไมเราเห็นสีขาว ก็บอกว่านี่คือสีขาว ทำไมเราเห็นสีดำ แล้วก็บอกว่านี่คือสีดำ เพราะผู้รู้ในอดีตกำหนดไว้ว่า ถ้าคุณเห็นสีแบบนี้คุณจะเรียกมันว่าอย่างไร ถ้าคุณเห็นสีแบบนั้นคุณจะเรียกมันว่าอย่างไร เนี่ยคือสีขาวและนั่นคือสีดำ แต่ว่าครูหรือผู้รู้จะสอนหรือกำหนดให้เราได้หมดไว้ว่าสิ่งที่เราเห็นนั้น มันคือขาวขุ่น ขาวจั๊วะ ขาวมาก ขาวน้อย ดำมาก ดำน้อย ดำสุด ๆ หรือว่าจะเป็นเทา ๆ มีกี่เฉด กี่สี สิ่งเหล่านั้นจะตัดสินได้ต้องมาจากประสบการณ์ของแต่ละคน

               บางคนบอกว่านี่ขาวที่สุดกว่า บางคนก็บอกว่าผมเคยเจอมาขาวกว่านี้อีก คนหนึ่งบอกว่าคนนี้ดีแล้ว อีกคนหนึ่งก็บอกว่ามีคนดีกว่านี้อีก บางคนอาจจะเกิดมา 20 ปี ได้เห็นสีขาว 10 ปี อีกคน เกิดมา 20 ปีเท่ากัน อาจจะเห็นสีขาวมาแล้วเป็นพันพันเฉด หรือว่าบางคนเห็นสีขาวแล้วเขาอาจจะบอกว่า นั่นเป็นสีดำ


แล้วเรามอง Gotoknow ว่าเป็นสีอะไร?

หมายเลขบันทึก: 40131เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2006 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ชอบบันทึกนี้จังคะ อ.ปภังกร...

แลกเปลี่ยนและเรียนว่าเห็นด้วยกับสิ่งที่อาจารย์เขียนค่ะเพราะหากเราเชื่อว่าความรู้นั้นมีทั้งที่เป็นExplicit & Tacit Knowledge แล้ว  ไม่ว่าใครเขียนอะไร ทำไม ที่ไหนอย่างไรแล้วละก้อสิ่งที่เขียนล้วนแล้วแต่คือองค์ความรู้ทั้งสิ้น  ถูกที่สุดที่จะบอกว่าขึ้นอยู่กับว่าเมื่ออ่านแล้วท่านใดจะสามารถนำไปใช้ภายใต้บริบทชีวิตของท่านๆอย่างไร ดังนั้นจึงแลกเปลี่ยนค่ะว่า gotoknow เป็นสีอะไรก็ได้ที่เราบรรดาสมาชิกเข้ามาด้วยความเต็มใจ และเขียนทุกอย่างอย่างที่ใจอยากเขียน อย่างอิสระและไม่ได้ทำร้ายใคร หากคิดและถามว่าเราจะได้อะไรจากการเข้ามาที่ gotoknow ดิฉันคนหนึ่งค่ะที่คิดว่าตอบไม่ได้จริงๆเพราะไม่เคยตั้งต้นคิดว่าอยากหรือไม่อยากได้อะไรค่ะ  ยินดีที่ได้อ่านและขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ของอาจารย์ค่ะ นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดเห็นเล็กๆค่ะอาจารย์ขอบคุณค่ะ

     GotoKnow.Org คือโอกาสของคน "ชายขอบ" และผมก็มองว่าไม่ใช่ "ชายขอบ" ของวงวิชาการหรอกครับ
  • อ่านบันทึกนี้แล้วชอบครับ แต่มันยาวมากเลยครับ
  • Gotoknow.org  คือ โอกาสของการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • Gotoknow.org  คือ สนามฝึกฝนกระบวนการทางปัญญาขั้นสูงสุดคือ "ลิขิต" ซึ่งกว่าจะมาถึงขั้นนี้ ต้องผ่านขั้นของ "สุ - จิ - ปุ -และปฏิบัติ"มาแล้วในระดับหนึ่ง
  • เป็นสังคมของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่ใช่สังคมของผู้รู้
  • หากถามว่าสีอะไร ผมมองว่าสังคมแห่งนี้ ได้ก้าวข้ามกับดักของคู่ตรงข้ามไปไกลแล้ว ข้ามถูก-ผิด ,ขาว-ดำ ,ได้-ไม่ได้ ฯลฯ
  • ลปรร.ครับ

 

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับ ความเห็นของพี่ "สิงห์ป่าสัก" ถูกใจมากครับ

ขอบคุณเป็นอย่างยิ่งเลยครับทุก ๆ ท่านที่ให้ความคิดเห็นและชี้แนะครับ

ผมจะนำสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับจากทุก ๆท่านไปปรับปรุงเพื่อสร้างกรอบการทำงานในปัจจุบันและอนาคตครับ

ขอพระคุณเป็นอย่างสูงอีกครั้งครับ

โดยปกติแล้ว เวทีวิชาการต่างๆจะทำให้หลายท่านได้รู้จักผู้ที่มีองค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งในเวทีเหล่านั้น ไม่มีทางที่จะพบกับนายบอนแน่นอน และก่อนหน้านี้ ผมแทบไม่เคยคิดเลยว่า จะได้มีโอกาสที่จะสื่อสารกับผู้ที่ทรงคุณวุฒิและทรงความรู้มากมายหลายท่าน ผ่านเวที gotoknow แห่งนี้

 

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง คงไม่มีใครมาสนใจนายบอนมากนักหรอกนะครับ ( ขนาดเดินผ่านหน้าท่าน อ.Panda ท่านยังไม่ชายตาแลเลย เพราะนายบอน ดูเป็นคนที่ธรรมดามากๆ ไม่ได้โดดเด่นอะไรนัก)

 

เช่นกันที่อีกหลายท่านในที่นี้ มีองค์ความรู้หลายอย่าง ซ่อนอยู่  ที่ำไม่อาจจะเอามาตรฐานการผ่านเวทีวิชาการต่างๆ มาเป็นเกณฑ์วัดคุณค่าในจุดนั้นได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท