AAR : Gotoknow "Blog Life Cycle" Episode I


อีกครั้งหนึ่งกับคำถามที่ดียิ่งจากท่านอาจารย์จันทรรัตน์ ในบันทึก ธุรกิจไทยกับการตลาดเพื่อสังคม "จริง ๆ หรือ???" ซึ่งเป็นคำถามที่ผมและเพื่อนอีกหลาย ๆ คนเคยพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการใน MSN บ้างและตามสถานที่ต่าง ๆ บ้างกับสภาพความเป็นมาและความที่จะเป็นไปของ Gotoknow กับสังคมอุดมปัญญาแห่งนี้ ว่าจะเดินทางไปอย่างไรและสำเร็จตามเป้าประสงค์สูงสุดของการมีชุมชนแห่งนี้หรือไม่

หลังจากที่ผมได้นั่งคิด นอนคิดและตีลังกาวิเคราะห์มาเกือบ 3 วัน ผมก็สรุปออกมาเป็น AAR (After Action Review) จาก Tacit Knowledge ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้ 2 เรื่องหลัก ๆ ก็คือ

  1. Blog Life Cycle (วงจรชีวิตของบล็อก Gotoknow) ประยุกต์มาจาก Product Life Cycle (วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์)
  2. Blogger Behavior (พฤติกรรมผู้ใช้บล็อก) ประยุกต์มาจาก Customer Behavior (พฤติกรรมผู้บริโภค)

โดยเป็น AAR มุมมองจากด้านล่าง (ผู้ใช้) ขึ้นบน (ผู้บริหาร) ซึ่งผมคิดว่าทาง สคส. และผู้บริหาร Gotoknow เองน่าจะเปิดกว้างทางด้านความคิด (ซึ่งอาจจะผิด) ในการเปิดรับ AAR ซึ่งเกิดจากผู้ใช้ตัวเล็ก ๆ อย่างเรา ที่มีจุดมุ่งหมายที่บริสุทธิ์ โดยมุ่งหวังที่จะให้ชุมชนบนโลกไซเบอร์ (Cyber) แห่งนี้ เป็นชุมชนที่อุดมไปด้วยความรู้และปัญญา เพื่อที่จะทำให้ประโยชน์กับสังคมและประเทศไทยสืบต่อไป


Blog Life Cycle

จากการสืบค้นเริ่มตั้งแต่บันทึกแรกของท่าน ดร.จันทวรรณ น้อยวัน (กว่าจะเป็น GotoKnow.org) ซึ่งได้กล่าวถึงที่ไปที่มาของชุมชนแห่งนี้ไว้ในวันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2548 ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า "ให้เป็นระบบหลักที่ใช้ให้บริการบล็อคของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ที่ให้ชื่อว่า GotoKnow.org (The Gateway of Thailand's Online Knowledge Management) โดยใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อการจัดการความรู้ของไทย"

ก่อนหน้านั้นท่านก็ได้กล่าวถึงช่วงและขั้นตอนของการพัฒนา(Development) โดยมีท่าน ดร.ธวัชชัย ร่วมกันคิดและสร้าง Gotoknow  นี้ขึ้นมา "GoToKnow.org เป็นเสมือนเส้นทางที่นำเข้าสู่การจัดการความรู้ของประเทศไทย โดยเน้นที่การสร้างคลังความรู้ผ่านทางระบบบล็อคที่สร้างขึ้นเพื่อคนไทย โดยนักวิจัยคนไทย ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐของไทย (สคส.) การเติบโตของคลังความรู้นี้ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากสมาชิกผู้ใช้บริการ ที่ร่วมกันสร้าง แลกเปลี่ยน และเผยแพร่ความรู้ในบริบทต่างๆ ให้ทั่วถึงกันในทุกองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน" (ดร.จันทวรรณ น้อยวัน กว่าจะเป็น GotoKnow.org) ดังนั้นเส้นของ Blog Life Cycle ในช่วง Introduction จึงเริ่มกำเนิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 ....

ช่วงแรกของชีวิตโดยทั่ว ๆ ไปไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ จะเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดแห่งวงจรชีวิต

เป็นห้วงเวลาตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ ว่า "เราจะอยู่หรือไป"

การชักชวน เชิญชวน การทำ Integrated Marketing เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ทั้งการพัฒนาระบบ การสร้างสมาชิก และการบริหารงานภายใน เป็นสิ่งที่ต้องคิด วางแผน พัฒนาและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา

แต่ด้วยจุดแข็งซึ่งขอยกความดีให้กับผู้พัฒนาระบบที่สร้างชุมชนแห่งนี้ให้ "ง่าย" ต่อการสร้างและการเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ที่มีความ "เชี่ยว" หรือ "ชาญ" ทางด้านคอมพิวเตอร์และ Internet มากหรือน้อย ก็สามารถเข้าถึงและใช้ได้

รวมทั้งการดำเนินตามเป้าประสงค์หลักของ สคส. นั่นก็คือ "การจัดการความรู้" การเปิดรับความคิดเห็น การสร้างเวทีพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) ระหว่างผู้ใช้และผู้พัฒนาระบบแบบฉับพลันทันใด ทำให้ Gotoknow สามารถพัฒนาจาก Version 1 มาเป็น Version 2 จนปัจจุบันเข้าสู่ยุค Generation ที่ 3 จาก USA กลับมาอยู่ที่เมืองไทย จนทำให้ G2K เดินผ่านช่วงแนะนำตัว (Introduction) มาได้อย่างงดงาม เพราะใช้เวลาเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น (พฤษภาคม - ต้นเดือนสิงหาคม)

เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 4 Gotoknow ก็เข้าสู่ขั้นชีวิตของการเจริญเติบโต (Growth) อย่างเต็มสูบเต็มกำลัง นับตั้งแต่วันนั้น (ต้นเดือนสิงหาคม) มาจนถึงวันนี้ (ประมาณ 1 ปีครึ่ง)  ความรู้สึกลึก ๆ ที่เราในฐานะผู้ใช้ทั้งสมาชิกเก่า สมาชิกกลาง และสมาชิกใหม่หลาย ๆ ท่าน เริ่มหวั่นวิตกจนทำให้เกิดประเด็นในการพูดคุยในเรื่องอนาคตของ Gotoknow ว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งในเรื่องของคุณภาพที่เดินไม่ทันความเจริญเติบโตทางด้านปริมาณ

รวมถึงร้อยละของบันทึกที่เกิดขึ้นจาก Tacit Knowledge เมื่อทำการเปรียบเทียบ (Benchmarking) กับ Blog จากหลาย ๆ ประเทศที่สามารถรวบรวมองค์ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้เราหลาย ๆ คนเริ่มพูดคุยและเริ่มห่วงใยถึงความเป็นไปที่จะเกิดขึ้นกับสังคมดี ๆ แห่งนี้ครับ

 

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

8 พฤศจิกายน 2549

 

 

คำสำคัญ (Tags): #gotoknow#aar#สคส
หมายเลขบันทึก: 58147เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2006 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

มาลงชื่อติดตามค่ะ

ขอบคุณกับการบันทึก..มีหลายอย่างที่ไม่รู้ก็ได้รู้จากบันทึกนี้ค่ะ....

 

ขอบคุณมากที่ช่วยคิดวิเคราะห์ค่ะคุณปภังกร มีประโยชน์มากค่ะ

ถ้ามองจริงๆ แล้ว ตอนนี้ developer ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญก็มีมาช่วยหนึ่งคนแล้ว ส่วน developer ที่ยังไม่เชี่ยวชาญก็เตรียมไว้แล้วหนึ่งคนค่ะ อีกสองคนกำลังพยายามฝึกฝนวิทยายุทธค่ะ และคนที่จะมีบทบาทสำคัญของการ training การติดตั้งระบบก็มีช่วยหนึ่งคนแล้วค่ะ

คงต้องเรียนถามว่า ไม่ทราบหวั่นวิตกเรื่องอนาคตของ GotoKnow ในประเด็นใดบ้างค่ะ ดิฉันจะได้เข้าใจว่าคิดอย่างไร และจะได้อธิบายต่อยอดได้ค่ะ

"คุณภาพที่เดินไม่ทันความเจริญเติบโตทางด้านปริมาณ" หมายถึง คุณภาพของบันทึก หรือ คุณภาพของระบบค่ะ ดิฉันคาดว่า คุณปภังกรคงหมายถึง คุณภาพของบันทึกแน่นอน เพราะคำชื่นชมในตัวระบบมีให้เห็นในบันทึกนี้แล้ว

เรื่องคุณภาพของบันทึกนี้ เราฝึกให้คนเขียนดีหรือฝึกให้คนเขียนในเรื่อง tacit knowledge นั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายนะค่ะ แต่สิ่งที่ระบบเราจะทำให้ได้ คือ การใช้ระบบ vote คุณภาพของบันทึกค่ะ ซึ่งต้นแบบดูได้ที่ http://digg.com ค่ะ นอกจากนี้ เราก็ได้ปรับปรุงระบบให้ดึงเอาบล็อกของคน สคส. และ คนที่ได้รางวัลสุดคะนึง มาใส่ในหน้าหลักของ GotoKnow เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีในการบันทึกค่ะ

 

การใช้ระบบ invitation เชื้อเชิญคนที่อยากให้เข้ามาเขียนเท่านั้นมาสมัครเป็นสมาชิกเพื่อเขียน tacit knowledge แทนการการลงทะเบียนเป็นสมาชิกของคนทั่วๆ ไป ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งค่ะ

แต่เท่าที่เคยจำได้ว่า GotoKnow มี discussion เรื่องนี้มาหลายครั้งแล้วค่ะ ดิฉันคาดว่า สคส. คงไม่อยากใช้นโยบายนี้ค่ะ เพราะ สคส. คงอยากให้คนไทยทุกคนได้ฝึกการลิขิตใน GotoKnow ด้วยค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้นคงขึ้นกับทาง สคส. ค่ะ 

  • สวัสดีครับท่านอาจารย์จันทรรัตน์
  • บันทึกนี้ได้แนวคิดริเริ่มมาจากคำถามและการบ้านของท่านอาจารย์ที่ฝากไว้ให้คิดและวิเคราะห์ครับ
  • ขอขอบพระคุณที่อาจารย์เช่นกันครับ
  • ที่เตรียมไว้จะมีอีก 2 บันทึกครับ บันทึกแรกนี้เป็นการโยนหินถามทางครับ เพราะยังเสียว ๆ ครับกับการอาจหาญวิพากษ์ Gotoknow แต่พอได้รับคำตอบจากท่าน ดร.จันทวรรณ ก็สบายใจขึ้นครับที่ท่านเปิดกว้างรับแนวคิดเล็ก ๆ จากผมครับ
  • ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับท่าน ดร.จันทวรรณ ที่กรุณารับฟังการวิเคราะห์และความห่วงใยจาก Blogger ตัวน้อย ๆ อย่างผมครับ เพราะตอนแรกก็ไม่ค่อยกล้าเท่าไหร่ครับ
  • สำหรับข้อคิดเห็นและข้อแลกเปลี่ยนต่าง ๆ ที่ท่าน ดร.จันทวรรณ กล่าวว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดครับ ต้องขออภัยที่ทิ้งเวลาไว้นานหลายชั่วครับที่ยังไม่ได้นำบันทึกที่สองมาลง จนอาจทำให้เกิดความไม่สบายใจของผู้ที่เข้ามาอ่านโดยเฉพาะผู้ที่พัฒนาระบบครับ
  • โดยเฉพาะประเด็นสุดท้ายเรื่องการเปิดกว้าง ไม่ปิดกั้นหรือ Screen ในการรับสมาชิก นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดีที่สุดครับ เป็นจุดแข็งมาก ๆ สำหรับ Gotoknow แห่งนี้ ซึ่งเมื่อผนวกกับระบบที่ท่าน ดร.จันทวรรณกับ ท่านดร.ธวัชชัยสร้างระบบที่ดีและ "ง่าย" ทำให้พวกเราสามารถบันทึก Tacit และฝึกหรือวิทยายุทธได้อย่างไร้ขีดจำกัดครับ
  • แต่หัวใจหลักของบันทึกที่ 2 จะอยู่ที่ประเด็นในเรื่องของ "การไม่สามารถรักษาคนหรือ Blogger" ที่เข้ามาสมัครและเริ่มทำ Blog หลาย ๆ ท่านที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ บางครั้งแค่มีคน "คุณอำนวย" ส่งเสริมอีกนิด ก็จะเป็น Blogger ที่มี Tacit Knowledge หลั่งไหลและพรั่งพรูออกมาได้ ดั่งเช่น มีท่าน ดร.จันทวรรณ เป็นคุณอำนวยในการแลกเปลี่ยนและพัฒนาระบบ ทำให้ G2K พัฒนาได้มาถึงขึ้นนี้ซึ่งเร็วมาก ๆ เลยครับ
  • โดยทางด้านบันทึกหลาย ๆ ท่านเมื่อเข้ามาแล้วไม่ได้รับการตอบรับหรือตอบรับน้อยจากสังคม โดยเฉพาะขาดคุณอำนวยประคับประคอง กระตุ้น ฉุกคิด หรือจัดกระบวนการกระชาก Tacit Knowledge ทำให้คนเก่งและดีที่ตั้งใจเข้ามา (ซึ่งกว่าจะเข้ามาก็ค่อนข้างยาก) ค่อย ๆ ห่างหายจาก G2K ไปทีละคนสองคนครับ อันนี้เป็นความห่วงใยลึก ๆ ซึ่งเป็นประเด็นหลักในบันทึกที่สองจะกราบเรียนให้ทาง สคส. ทราบครับ
  • ขอขอบพระคุณอีกครั้งครับที่ท่านเปิดโอกาสรับฟัง Tacit Knowledge เล็ก ๆ จากผมครั้งนี้ครับ

เมื่อวานไม่ได้มาลงความเห็นไว้ค่ะ มีเหตุขัดข้องส่วนตัวบางอย่าง ประกอบกับ ตั้งใจ อ่านให้จบก่อนด้วยค่ะ

รู้สึกมีส่วนต้องรับผิดชอบร่วมกับอาจารย์ สำหรับบันทึกนี้ หนึ่งในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่ใช้บล็อกใน gotoknow บันทึกและถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของชีวิตมาเป็นเวลากว่า 8 เดือน อีกส่วนหนึ่งคือเป็นคนที่เขียนลงในบันทึกของอาจารย์ในประเด็นที่ คาดว่า มีในใจอาจารย์รวมทั้งอีกหลายๆท่านที่ผ่านทาง MSN กับอาจารย์อย่างที่อาจารย์เอ่ยนำ..แต่ทำไมสิ่งที่มีในใจจึงไม่ปรากฎจนกระทั่ง..มาเป็นบันทึกนี้ตอนนี้...เป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่งค่ะ

ขอแสดงความเห็นในเรื่องของ life cycle ที่อาจารย์ยกมา ...เห็นด้วยค่ะว่า เมื่อสิ่งใดก็ตามถึงเป้าหมายสูงสุด มักจะมีช่วง "ขาลง" ด้วย...แต่ในการทำอย่างไรเพื่อให้เกิด curve ซ้อน ที่จะทำให้มี multiple curve of maturity ที่ซ้อนทับกันชิด จนทำให้ภาวะ maturity นั้นอยู่นานขึ้น

ประเด็นนี้เข้าใจว่า ท่านผู้อำนวยและดูแล คงมีแผนการในใจแล้ว ถึงได้เกิดกิจกรรมต่างๆมากมายทับซ้อนเลื่อมเวลากันอย่างต่อเนื่องและในเชิงรุก ซึ่งที่กล่าวอย่างนี้เพราะได้ติดตามอ่านงานบันทึกความสำเร็จต่างๆของกิจกรรม ที่กระจายตัวอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง ซึ่งขอชื่นชมเป็นอย่างสูง ทั้งผู้ที่อำนวย ผู้ที่จัดการ และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ตลอดจนผู้ที่สนับสนุนทางด้านกำลังใจต่างๆ

ส่วนประเด็นที่อาจารย์ออกจะกังวลกับการบันทึกความเห็นนั้น...พอจะเข้าใจลางๆ ในตอนนี้...

Once you come to be us, you are us. But you have never been and will not be us cause you are not us.

จบแบบภาษาต่างชาติเล็กน้อยค่ะ..ไม่ได้ลอกใครค่ะ เขียนเอง...เพื่อถ่ายโทษที่ทำให้อาจารย์ไม่สบายใจค่ะ

 

  • สวัสดีครับท่านอาจารย์จันทรรัตน์
  • ก่อนอื่นต้องกราบขอบพระคุณและขออภัยเช่นกันครับ ทั้งในส่วนของการเปิดประเด็นการคิดที่ดี ๆ เช่นนี้ รวมถึงบางครั้งอาจจะต้องพาดพิงถึงท่านอาจารย์ไปบ้างต้องกราบขออภัยครับ
  • สำหรับเรื่องความไม่สบายใจนั้น ตอนนี้ผ่านมา 24 ชั่วโมง ความไม่สบายใจกลับถูกแทนที่ด้วยความโล่งใจครับ
  • "โล่ง" ต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ผมเองได้ประสบและพยายามวิเคราะห์โดยทำ AAR กับเพื่อน ๆ วันนี้ได้ถ่ายทอดออกมา ถึงแม้ว่าจะไม่ดีและนุ่มนวลเท่าใดนัก แต่ก็รู้สึกดีที่ได้ทำก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้ทำครับ
  • ในเรื่องของ Life Cycle อาจารย์กล่าวถูกต้องเป็นอย่างยิ่งครับ ซึ่งอาจจะต้องแบ่ง Life Cycle ออกมาเป็นศาสตร์ เป็นสาขา ซึ่งอาจจะต้องมีเจ้าภาพเป็นทั้งคุณเอื้อและคุณอำนวย คอยเป็นพี่เลี้ยง ประคับประคอง ชี้นำ อย่างเช่นที่อาจารย์เป็นคุณอำนวยให้ผมตลอดมาครับ
  • ถ้าอย่างไรก็ขออนุญาตเชิญอาจารย์เป็นเจ้าภาพทางในศาสตร์สาขาสำหรับผมและเพื่อน ๆ ใน G2K แห่งนี้ด้วยนะครับ
  • ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับท่านอาจารย์จันทรรัตน์
  • สำหรับประเด็นสุดท้ายที่ท่านอาจารย์เขียนมา (ภาษาอังกฤษ) ตอนนี้ผมกำลังพยายามแปลครับ เพราะภาษาอังกฤษผมไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ครับ
  • พูดถึงเรื่องนี้แล้ว (ภาษาอังกฤษ)จะขออนุญาตเล่าไว้ในบันทึกของบล็อก ไดอารี่ชีวิต ว่าผมเคยเสียค่าโง่ แปลภาษาอังกฤษผิดจนต้องเลิกกับผู้หญิงที่ดี ๆ ไปคนหนึ่งครับ
  • ต้องกราบขอบพระคุณท่านเป็นอีกครั้งเป็นอย่างสูงครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท