APHN Diploma of Palliative Care ๒๔: Voices for Hospices 2007


   บันทึกนี้ ไม่เกี่ยวกับหลักสูตรที่ไปเรียน แต่เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจและให้แรงบันดาลใจได้ดีเยี่ยม ผมขอบันทึกเอาไว้ตรงนี้ ถือเป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ไปพบเห็นมาแล้วกันนะครับ
    ผมมาสิงคโปร์รอบนี้ ได้มีโอกาสสัมผัสโรงละครเก่าของที่นี่ คือ Victoria Theatre ซึ่งเคยเป็นโรงละครสำคัญก่อนจะถูกเจ้า ทุเรียนผ่าซีก The Esplanade แย่งชิงตำแหน่งไป เพราะสิงคโปร์..เจ้าภาพที่จัดอบรมคราวนี้ ใจป้ำซื้อบัตรคอนเสิร์ตเล็กๆ แต่สุดยอดในความคิดของผม ให้กับนักเรียนทุกคน
    คอนเสิร์ตนี้ชื่อ Voices for Hospices 2007 เนื่องในวัน World Hospice Day  ๖ ตุลาคม ของทุกปี
    งานนี้เป็นการแสดงดนตรีเพื่อวงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ และแพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก แน่นอนครับ เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนให้หันมาสนใจ คน และ งาน ด้านนี้มากขึ้น
    การแสดงประกอบด้วยนักแสดงหลากหลาย ตั้งแต่เด็กอายุ ๗ ขวบไปจนถึงคุณตาคุณยายวัยเกิน ๗๐ ตั้งแต่นักร้องนักแสดงมืออาชีพไปจนถึงเด็กกลุ่มดาว์นหรือพิการทางปัญญา ตั้งแต่การแสดงเดี่ยวไปจนถึงยกกันมาเป็นร้อย
    มันไม่ใช่คอนเสิร์ตใหญ๋โต เหมือน Linkin' Park  ที่มาเปิดการแสดงไล่เลี่ยกัน แต่คนก็เต็มโรงละครซึ่งผมกะๆเอาด้วยสายตาว่าน่าจะระดับ ๑๐๐๐ ที่นั่ง ระหว่างนั่งชม บรรดาเพื่อนนักเรียนที่มาด้วยค่อยๆทะยอยกันกลับบ้านก่อน เริ่มจากกลุ่มอินเดียซึ่งกลับไปตั้งแต่ยังไม่ถึงพักครึ่ง แล้วที่เหลือก็กลับไปจนหมด เหลือผมดูจนจบคนเดียว เพราะชอบ ชอบมาก
    ความสำคัญอยู่ที่การแสดงออกและการยอมรับครับ ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขาปลูกฝังกันมาดี นักแสดงกลุ่มดาว์น ซึ่งพูดก็ยังไม่ชัดหรือคุณป้าแก่ๆที่แสดงเป็นแม่พูดตามบทตะกุกตะกัก แต่เป็นการแสดงออกที่ซื่อๆ ตรงจุด เรียกความประทับใจคนมากๆ
    บรรดาคุณลุงคุณป้าจาก National University of Singapore ที่มาประสานเสียงในชุดเมดเลย์เพลงดิสนีย์ ก็ปล่อยแก่กันสุดๆ
    นักร้องประสานเสียงเด็กๆ ก็ร้องได้เพราะมาก
    เรียกได้ว่า เรียกเสียงปรบมือ หัวเราะและน้ำตากันตลอด

    รายการที่ผมชอบเป็นพิเศษ คือ การแสดงของ Little HeartStrings ซึ่งเป็นกลุ่มนักไวโอลินอายุตั้งแต่ ๗ ถึง ๑๒  ปีที่ฝีมือไม่ธรรมดาจริงๆ เขาไม่ได้แสดงครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่รวมกลุ่มตระเวณแสดงตามโรงพยาบาล hospice และสถานที่สำคัญๆในสิงคโปร์มาตลอดทั้งปีแล้ว เพื่อกระตุ้นเตือนการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ
    ทำไมผมถึงประทับใจรายการนี้เป็นพิเศษ คงต้องตอบว่า อยู่ที่ฝีมือครับ ทั้งความสามารถการเล่นไวโอลิน และการร้องเพลง ทั้งสด ทั้งใส ไร้การปรุงแต่งด้วยเครื่องแต่งกาย น้ำเสียงและท่าทาง ซึ่งเรื่องนี้ผมเห็นว่าแตกต่างจากการแสดงของเด็กๆในบ้านเราหลายๆแห่งค่อนข้างมาก ที่ปรุง แต่งกันจนกลายเป็นผู้ใหญ่เกินไป
    ผมจำเนื้อเพลงที่ออกมาจากปากเจ้าหนูตัวเล็กสุดที่ยืดคอขึ้นหาไมโครโฟน ตรงช่วงที่ว่า You raise me up to more than I can be ได้ไม่ลืม เพราะมันทำให้บรรดาคุณพ่อคุณแม่ที่นั่งดูอยู่ปาดน้ำตากันเป็นแถว

    เกือบห้าทุ่ม ตามเวลาบ้านเขา ผมออกจากโรงละคร เดินเลียบไปตามแม่น้ำสิงคโปร์ฝั่งอาคารรัฐสภาของเขาคนเดียว เพื่อมาขึ้นรถใต้ดินที่สถานี Clark Quay กลับโรงแรมที่พัก มองเห็นชีวิตยามค่ำคืนที่เป็น นานาชาติ เอามากๆ ท่ามกลางสายฝนปรอยๆ แล้วแว็บหนึ่งเสียงเพลงท่อนนั้นก็ดังขึ้นในหัวผมอีกครั้ง

    You raise me up to more than I can be

    เพราะ ใครหนอ ที่ทำให้เราก้าวมาถึงจุดนี้ได้..  ..

๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ 

<<   APHN Diploma of Palliative Care ๒๓: The silver line

APHN Diploma of Palliative Care ๒๕: โตๆกันแล้ว อยากเรียนยังไง   >>

หมายเลขบันทึก: 157751เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2008 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีเจ้าค่ะ คุณลุงหมอ

           สวัสดีปีใหม่นะเจ้าค่ะ  แวะมาเป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ.....คิคิ รักษาสุขภาพด้วยนะเจ้าค่ะ อากาศเริ่มเปลี่ยนแปลงเจ้าค่ะ...

          เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ -------> น้องจิ ^_^

อาจารย์เขียนได้น่า ... ไปเดินข้างๆ ด้วยจังเลยค่ะ

P สวัสดีปีใหม่ครับ หลานจิ

  • เป็นกำลังใจให้หลานด้วย สองเท่าครับ 

Pสวัสดีครับ

  • ถ้าเดินหลายคน ต้องเดินอีกฝั่งครับ คนละบรรยากาศ 

ถ้างั้นเอาไว้โอกาสดีๆ อาจารย์ชวนหนูไปด้วยนะคะ

 

อยากไป ...   ดู   ไป ...  ฟัง   ที่อื่นบ้าง

 

สวัสดีปีใหม่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท