APHN Diploma of Palliative Care ๒๖: พงศาวลี..ผังเครือญาติ genogram


  ในหลักสูตรนี้ มีชั่วโมงที่สอนวิธีเขียน ผังเครือญาติ หรือ genogram กันอย่างเอาจริงเอาจัง แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญต่อการดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายมาก ซึ่งจะเสริมกับ บันทึกของท่านนกไฟอันนี้ นะครับ

  ชํ่วโมงนี้ คุณหมอ Cynthia Goh และ Rosalie Shaw เป็นผู้นำสอน ด้วยการแนะนำให้รู้จักสัญญลักษณ์และเส้นสายที่สื่อความหมายต่างๆ แล้วให้นักเรียนโข่งแต่ละคนเขียนผังเครือญาติของตนเอง ในระหว่างนี้ก็จะมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย ว่าจะเขียนยังไงเพื่อสื่อว่า แยกกันอยู่ หย่าขาด กิ๊ก ฝาแฝด มีคู่หลายคน สัมพันธภาพแบบไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ หรือแบบพิสดารแหวกแนว พึ่งพาฝ่ายเดียว พึ่งพาอาศํย  เรียกได้ว่า สารพัดจะจินตนาการไปถึงได้

  สมาชิกในครอบครัว ซึ่งก็เหมือนตัวละครแต่ละตัวและลักษณะความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มีผลกระทบต่อการดูแลรักษาคนไข้มาก ผลกระทบจากความเจ็บป่วย ใกล้ตายและเสียชีวิตของคนไข้ก็กระทบกลับไปยังบุคคลเหล่านั้นด้วยเช่นกัน

เราได้อะไรจากผังเครือญาติและสัมพันธภาพเหล่านี้                                                           

- ทำให้เรามองเห็นภาพของคนๆนั้นในภาพรวมจริงๆ เห็นความเป็นคนของเขา ลองดูเรื่องที่ผมเจอกับตนเองนะครับ
  คุณป้าแก่ๆ คนไข้ของผมคนหนึ่ง มารักษามั้งไม่รักษามั้ง นัดมาเจอผมก็มาไม่ตรงเวลา  แล้ววันหนึ่งก็หายไปไม่มารักษาต่อ  แน่นอนครับ อย่างนี้หมอเราก็จะจัดอยู่ในกลุ่มคนไข้ปฏิเสธการรักษา ซึ่งถ้าได้หลงกลับมารักษาอีกที ก็จะต้องถูกหมอปากจัดอย่างผมต่อว่าและอบรมสักหนึ่งยกก่อนรักษาต่อให้ ทำนองว่า ป้าไม่รักตัวเองรึ สุขภาพตัวเองไม่ดูแล้วใครจะดู มีเรื่องอะไรนักหนาที่มันสำคัญกว่าเรื่องสุขภาพตัวเอง อะไรปานนั้น
แต่วันที่ป้ากลับมาหาผม ผมกำลังจะเริ่มบทเดิมๆอยู่แล้ว เรียกได้ว่า คำพูดชุดเก่าๆขึ้นมาติดอยู่ตรงริมฝีปากแล้ว แต่เอะใจที่สีหน้าท่าทางป้าวันนี้ไม่ดีเลย เลยเปลี่ยนใจถามคุณป้าไปว่า "ป้าเป็นไงเหรอ ที่หายไป" คำตอบที่คนไข้ตอบผม เล่นเอาผมใจหายแวบเลย นี่ถ้าเราไม่ถาม ก็คงใส่แกเป็นชุด แล้วแกคงยิ่งแย่ไปอีก ป้าแกตอบผมว่า "ลูกชายที่ดูอยู่ มันตาย"  ครับ ป้าอยู่คนเดียว สามีเสียแล้ว แถมยังต้องดูแลลูกชายซึ่งพิการจากอุบัติเหตุมานานมากแล้ว เป็นภาระที่ทำให้แกต้องพะวักพะวนเรื่องการรักษาของตัวเอง จนมามั้งไม่มามั้ง อยางที่ผมเล่าตั้งแต่ต้น

  นับแต่วันนั้นผมก็ไม่กล้าใส่คำพูดประโยคเด็ดเดิมๆ กับคนไข้ที่ปฏิเสธการรักษาแล้วกลับมาอีกเลย วงเล็บ ถ้าไม่ได้ถามสาเหตุเสียก่อน

- ทำให้เราสามารถปรับการดูแลรักษาโดยเฉพาะที่บ้าน ได้เหมาะสมกับสภาพต่างๆของคนไข้มากขึ้น
  ผมมีคนไข้หลายคนที่ทุกครั้งที่มาหาผม ลูกคนที่มาด้วยจะฟังและถามผมได้ถูกใจผมนัก คำถามดี ฟังรู้เรื่อง แต่ขอโทษเถอะครับ พอถามไปถามมา ลูกคนนี้อยู่คนละบ้าน ดีไม่ดีอยู่กันคนละจังหวัดด้วยซ้ำ แต่เวลามาเจอหมอ จะต้องเป็นคนพาพ่อมาเพราะเรียนสูง แหลงกลางชับ หรือคุยกับหมอพอรู้เรื่อง ส่วนลูกคนที่ดูแล รู้เรื่องคนไข้ดีที่สุดไม่กล้ามา ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ คือ ลูกคนที่พาคนไข้มาหาหมอ รู้เรื่องดีทุกอย่าง แต่ไม่ได้ถ่ายทอดสิ่งที่ถามและฟังจากหมอกกลับไปถึงลูกคนที่ดูแลประจำเลย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะครับว่า เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นประจำ
ผมต้องแก้ปัญหาบอกคนไข้ให้เอาตัวจริงมากด้วย หรือย้ำกับลูกคนที่พามาว่าต้องถ่ายทอดให้ดี

- ทำให้เรารู้ว่าใครสำคัญ อย่างไร
  ครับ มันทำให้เรารู้ว่าใครเป็นใคร ใครคือ
คุณแจ๋ว..คนที่รับภาระดูแลคนไข้หนักอยู่คนเดียว
พี่ใหญ่..คนตัดสินใจเรื่องการรักษา ถ้าคนไข้ไม่รู้ตัวหรือไม่สามารถตัดสินใจเองได้ อาจจะเป็นพี่ใหญ่จริงๆ หรือผู้จ่ายกะตังค์   
ลูกชายจากกรุงเทพฯ
..ลูกคนที่การศึกษาดีงานการดี แต่ไม่อยู่กับคนไข้ นานๆจะแวะกลับมาดูสักที แล้วมักจะมีความคิดความต้องการที่แปลกแยกไปจากคนอื่น

                                                                                                                                                

  ถึงผังเครือญาติจะบอกเราหลายอย่าง แต่ผมเองไม่ได้ทำผังเครือญาติคนไข้ทุกราย ต้องบอกว่า น้อยมาก ด้วยเหตุผลเดิมๆ คือ เวลา แต่เริ่มหัดช้กระดาษว่างๆ วาดผังที่เรารู้ข้อมูล แล้วค่อยๆเติมให้มากขึ้นตามลำดับเวลาที่รู้จักคนไข้มากขึ้น เหมือนเติมภาพตัวต่อที่ผมชอบเล่น ทำให้การพบหน้าคนไข้แต่ละครั้งมีเรื่องราวที่น่าสนใจ

  สำหรับการซักประวัติผังเครือญาติอย่างเอาเป็นเอาตาย โดยเฉพาะกะจะให้สำเร็จ้สมบูรณ์ครบถ้วนในครั้งเดียว โดยเฉพาะครั้งแรกที่เจอกัน ผมว่าเป็นการลุกล้ำเรื่องส่วนตัวคนไข้เร็วไป คนไข้อาจงงๆ ด้วยว่า.. นี่มาหาหมอ พยาบาล หรือมาหาเจ้าหน้าที่สำรวจสำมะโนประชากรกันแน่


๙ ตุลาคม ๒๕๕๐

<<  APHN Diploma of Palliative Care ๒๕: โตๆกันแล้ว อยากเรียนยังไง

APHN Diploma of Palliative Care ๒๗: Wit; อีกแล้วครับท่าน  >>

หมายเลขบันทึก: 159033เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2008 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 06:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ปัญหาที่อาจารย์ว่าเป็นเรื่องจริง

ยกตัวอย่างแม่ ของพี่  ป่วยเป็นเบาหวาน

คนดูแลแม่...เป็นน้องสาว

คนที่พาแม่มาหาหมอ.... เป็นพี่สาว

คนเข้าไปคุยกับหมอเป็น....ตัวพี่เอง

บางครั้ง....ถ้าหมอต้องการรายละเอียดมาก เราก็โทรศัพท์ให้หมอคุยกับน้องสาวที่ดูแลแม่ได้

ใช้ เทคโนโลยี่เข้าช่วย    ก็สามารถรู้ปัญหาผู้ป่วยได้เช่นกันค่ะ

genogram เป็นเครื่องมือที่ ผมใช้บ่อยที่สุดเวลา family approach

work มากครับ ทำให้เราเห็นบริบทของครอบครัวทั้งหมดได้ แล้วยังเป็นขอ้มูลทงาสัญลักษณ์ที่รู้กันในผู้ที่มีความรู้เรื่อง genogram มีผลดีต่อการรักษาความลับผู้ป่วยในกรณีทีมีผู้มาอ่านใน OPD card

P  พี่อุบลครับ

  • ขอบคุณครับ เรื่องคุยกันทางโทรศัพท์
  • ผมว่านี่เป็นลักษณะเด่นของสังคมไทย ที่ลูกๆยังช่วยกันดูแลพ่อแม่ แต่เราก็ต้องพยายามปิดช่องโหว่ที่เกิดจากการส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ให้ได้ หรือให้เหลือน้อยที่สุดนะครับ

P  น้องโรจน์ครับ

  • ประสบการณ์เรื่องการเขียนผังเครือญาติของผมยังไม่มากครับ กำลังฝึกหัด
  • ของน้องนี่ น่าจะถึงระดับ ผังชุมชน อย่างที่พี่โกมาตรเขียนไว้ในหนังสือยอดนิยม วิถีชุมชน นะครับ  ผมอ่านแล้วทึ่งมากเลย
  • ตามมาบอกคุณหมอ
  • อยากให้อ่านหนังสือเล่มนี้จัง
  • บันทึกเวชกรรมไทย สาธารณสุขหรือสาธารณทุกข์
  • ของอาจารย์หมอ ประเวศ วะสีครับ
  • ไปถึง หาดใหญ่ น่าจะเป็น 26 หรือ 27 แต่จะไปเยี่ยนคุณหมอ 27 ครับ
  • มีพี่สาวที่เจ้าของค่ายภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเทพา
  • คนนี้
  • ไปรับครับ
  • ขอบพระคุณมากครับที่เป็นห่วง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท