Palliative Care ปฐมนิเทศน์แพทย์ใช้ทุนใหม่ ๓ : หนังสั้น Made in Heaven


ทุกปีเวลาปฐมนิเทศน์แพทย์ใช้ทุนใหม่ เราจะฉายภาพยนตร์เรื่องยาวกันตอนกลางคืนวันเสาร์ หลังกิจกรรมสันทนาการและ walk rally ในภาคบ่าย แล้วรุ่งเช้าวันอาทิตย์จะมานั่งคุยกัน เพื่อโยงสู่เรื่อง palliative  care

ปีนี้เป็นปีแรกที่ผมเปลี่ยนมาเป็น ฉายหนังสั้นตอนเช้าแล้วคุยกันเลย เพราะอยากให้น้องหมอได้พักผ่อนบ้าง ไม่อยากให้การอบรมหนักจนเกินไป


ผมเลือกหนังสั้นฝีมือคนไทย เรื่อง Made in Heaven กำกับโคย อมร หะริณนิติสุข

มีความยาวแค่ ๑๒ นาที เท่านั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับพ่อค้าขายก๋วยเตียวหนุ่มที่มาพบรักกับคุณหมอสาวสวยที่เป็นคนบอกตนเองว่าเป็นมะเร็งลำไส้ระยะสุดท้าย


เนื้อหาดูค่อนข้างจะไม่สมจริงเท่าไร แต่ผมชอบวิธีการนำเสนอของภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่สั้น กระชับ แต่แปลกแปร่ง และจบแบบทิ้งให้ความรู้สึกนึกคิดของคนดูยังตลบอบอวลไปหมด ไม่มีข้อสรุป มีแต่คำถาม

ต้องบอกตามตรงว่า ผมดูหนังเรื่องนี้รอบแรกจบ แล้วต้องเปิดซ้ำเพราะคิดว่า เป็นแค่หนังตัวอย่าง อยากดูตอนเต็มๆ แต่ว่า มันมีเท่านั้นจริงๆ


ผมฉายหนังสั้นเรื่องนี้ให้น้องหมอซึ่งถูกแบ่งเป็น ๓ กลุ่มดู ต่อจากกิจกรรมช่วยกันค้นหา คำที่บ่งบอกความรู้สึก โดยตั้งโจทย์ให้กลุ่มละเรื่องดังนี้
๑. ความรู้สึกและคิดเห็นเกี่ยวกับตัวผู้ป่วย คือหนุ่มขายก๋วยเตี๋ยว
๒. ความรู้สึกและคิดเห็นเกี่ยวกับตัวคุณหมอแสนสวย
๓. ความรู้สึกและคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสั้นในภาพรวม


มันเป็นไปตามที่ผมคาด หลังดูหนังจบ หนังสั้นเรื่องนี้สร้างความรู้สึกและความคิดเห็นของน้องหมอ รวมถึงอาจารย์ที่ร่วมดูอยู่ได้อย่างหลากหลาย

ผมให้แต่ละกลุ่มได้มีโอกาสใช้สุนทรียสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้สึกและความคิดเห็นของตนเองในกลุ่มย่อยระยะหนึ่ง ก่อนให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนขึ้นมานำเสนอในกลุ่มใหญ่

นี่เป็นบางส่วนของการนำเสนอ

                                หนังโดยรวม


ความรู้สึก: งง สงสาร เห็นใจ เครียด เสี่ยว สยอง แย่
ความคิดเห็น: หนังสร้างไม่เคลียร์ หนังน่าจะต้นทุนต่ำ ซวยทั้งคนไข้และหมอเพราะคิดว่าหมอินิจฉัยผิด สื่อความหมายเรื่องเวลาโดยการแพนกล้องไปที่ปฏิทินได้ดี หนังสร้างให้ต้องตีความได้อย่างหลากหลาย หนังสั้นดี คิดไม่ออก

                                        ผู้ป่วย


ความรู้สึก: สงสาร เครียด เวทนา เศร้า หมดหวัง งง กลัว ชื่นชม
ความคิดเห็น: ต้องการที่พึ่ง ไม่ยอมรับความจริง อารมณ์เปลี่ยนเร็ว แต่งตัวเชย ควรตรวจสอบชื่อคนไข้ว่าถูกต้องหรือไม่ก่อนบอกคำวินิจฉัย จีบหมอดูไม่สมเหตุสมผล

                               หมอสาวสวย


ความรู้สึก: ดี เข้าใจ เครียดแทน ชอบ เห็นใจ ไม่ไว้ใจ ระแวง งง กลัว
ความคิดเห็น:  พูดดี น่าจะให้คำปรึกษาคนไข้ได้ดีกว่านี้ ชอบตัดบทและไม่สนใจอารมณ์คนไข้ แสดงอารมณ์ไม่เหมาะสม ไม่ค่อยฟังคนไข้ สนทนาราบรื่นดี

                     สิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน


เหตุการณ์เดียวกัน แต่สามารถสร้างความรู้สึกและความคิดเห็นได้หลากหลาย แตกต่างกันอย่าสิ้นเชิงจากลบสุดๆ ถึงบวกสุดๆ
ความรู้สึกของผู้อื่น ถ้าไม่ถามแล้วเดาเอาเอง มีโอกาสผิด
ถ้าไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญ จะไม่เข้าใจความรู้สึกและเหตุผลของผู้อื่น
ถ้าไม่รู้ว่าตัวเองเบื่อ ไม่สนใจ เป็นการปิดโอกาสการเรียนรู้จากกลุ่มและผู้อื่น
ไม่ควรตัดสินคนไข้ก่อนฟัง
การดูแลคนไข้ต้องเป็นองค์รวม โดยเฉพาะคนไข้เครียดมากๆ
สามารถตามทันตนเองมากขึ้น
ต้องเข้าใจความรู้สึกและความคิดของตนเองและผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา
ความรู้สึกและความคิดมันแยกกันไม่ขาด

หมายเลขบันทึก: 254995เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2009 07:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท