ตายดีต้องสงบหรือไม่


ตั้งใจจะเขียนบันทึกนี้ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว..แต่อุณหภูมิการเมืองและอารมณ์ของหลายๆคนคงทะลุจุดเดือดอยู่ จึงขอขยับมาอาทิตย์นี้แทน

ถึงจะเป็นบันทึกที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ผมคงต้องขอเริ่มด้วยการแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนนะครับ


ตายดีต้องสงบหรือไม่

คำถามนี้แวะเวียนมากระตุ้นเตือนให้ผมหาคำตอบอยู่หลายครั้ง แต่ก็ให้คำตอบกับตัวเองแบบฟันธงไม่ได้ แล้วมันก็กลับมาอีกในเช้าวันหลังฝนแรกของหาดใหญ่ปีนี้

ผมพาเจ้าสามตัวออกไปวิ่งตอนเช้าเหมือนทุกวัน ไปเจอแอ่งน้ำกลางถนนหลายแอ่ง แต่ละแอ่งมีแมลงเม่านอนตายเกลื่อน...


หลายครั้ง เราจะเห็นข่าวหรือแม้แต่การรายงานของแพทย์เมื่อคนไข้เสียชีวิตทั้งไทยและเทศ ที่ว่า ...แล้วนาย/นาง....ก็จากไปอย่างสงบ หรือ he/she died peacefully...

ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่ ประโยคนี้ดูจะเข้าข่าย.. มนตรา palliative care ได้อีกประโยคหนึ่ง คือ ใช้กันพร่ำเพรื่อเพื่อให้ดูดี หรือเขียนโดยอัตโนมัติอย่างไร้ความหมายที่แท้จริง

มีข้อถกเถียงกันครับ แม้แต่ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย อาจจะต้องบอกว่า เถียงกันแบบเอาเป็นเอาตาย ชนิดไม่มองหน้ากันเลยด้วยซ้ำ

ฝ่ายหนึ่งยืนยันว่า ตายดีต้องสงบ ถ้าตายไม่สงบ ต้องถือเป็นตายไม่ดีทั้งสิ้น

อีกฝ่ายหนึ่งแย้งว่า ตายดี ไม่จำเป็นต้องสงบ มีบางวัฒนธรรมที่ต้องตายในขณะอารมณ์รุนแรงด้วย จึงจะถือว่าตายดี 

ผมเองเชื่อมาตลอดว่าตายดีควรสงบ พอมาเจอข้อแย้งนี้เข้าก็อึ้งเหมือนกัน พยายามคิดถึงกรณีต่างๆที่ใกล้เคียง เช่น ความตายในสงครามแบบพลีชีพเพื่อชาติ ความตายในอารมณ์ฮึกเหิมเพื่อหมู่คณะ

ทำไมผมเอาคำถามไร้สาระแบบนี้มาถาม

เพราะบางครั้งเราไม่รู้จริงๆครับว่า คนไข้หรือผู้กำลังจะเสียชีวิตตรงหน้าเราคิดเรื่องนี้อย่างไร เราจะได้ช่วยเขาได้ถูกจริต จะเหมารวมว่าตายดีต้องสงบได้จริงหรือไม่

มีความเห็นเรื่องนี้อย่างไรกันบ้างครับ

หรือมีใครพอจะทราบว่า มีวัฒนธรรมไหนบ้างที่ถือว่า ตายไปในขณะมีอารมณ์รุนแรงคือ ตายดี ช่วยยกตัวอย่างให้ด้วยนะครับ

หมายเลขบันทึก: 361127เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2010 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (51)

ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำๆ แมลงเม่าบินงงงัน ตกน้ำตาย ... ไปสวรรค์

สวัสดีค่ะอาจารย์หมอเต็ม เคยอ่านหนังสือ กล่าวไว้ว่าช่วงก่อนสิ้นลม เป็นช่วงที่สำคัญมากๆ ดังนั้นคนเราควรได้ตระหนักและระลึกว่าให้คิดถึงแต่เรื่องดีๆ ก่อนจะลาลับโลกไป

พออ่านบันทึกนี้แล้ว คิดว่าเอหากผู้ที่ตายแบบไม่ทันได้ตั้งตัว เค้าจะมีเวลาได้คิดไหมคะ ถ้าการตายอย่างสงบ อาจช่วยให้ไปสู่ภพภูมิที่ดีๆ แล้วสรุปว่าไม่ได้ดูการกระทำที่ผ่านมารึคะ ...

P

  • เร็วจังน้องปู ผมยัง พิสูจน์อักษร ไม่เสร็จเลย
  • ผมว่าวัฒนธรรมในศาสนาพุทธของเรา เชื่อเรื่อง ตายอย่างสงบ นะครับ สิ่งที่น้องปูให้ความเห็นมา ก็มีพื้นฐานมาจากศาสนาของเราครับ อยากให้ลองมองกว้างๆกว่ากรอบของเราดูบ้างนะครับ
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์หมอเต็มศักดิ์
  • ตายดีต้องสงบหรือไม่ ?  น่าคิดนะคะ...แต่ที่รู้ ๆ ก็คือความสงบบ่งบอก
    ให้รู้ว่าไม่ทรมาน...
  • เท่าที่ทราบวาระสุดท้ายแห่งจิตสำคัญที่สุด  หากจิตเป็นกุศลจะไปสู่สุคติก่อนค่ะ
    คนโบราณจึงมักให้ผู้ตายตั้งมั่นอยู่ในพระรัตนตรัยเพื่อมิให้จิตเป็นอกุศล..

 

สวัสดีค่ะ

ได้รับหนังสือของคุณหมอจากน้องสี่แล้วค่ะ ขอขอบพระคุณอย่างสูง ได้มอบให้ห้องสมุดไป ๑ เล่ม

ระยะหลังนี้พี่คิม  พยายามเรียนรู้เรื่องตายมากขึ้นค่ะ คือทำดีในเวลาทีเหลืออยู่  ฝึกภาวนาให้เป็นและทำบ่อย ๆ ค่ะ

 

สวัสดี ครับ อาจารย์หมอเติมศักดิ์

ผมเคยคิดถึงคำ คำ นี้ เช่นกัน....และมองลึก...ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เลย ครับ

สิ่ง ดี ดี หากมองแล้ว ต้อง สงบ เย็น ...ไม่ร้อนลุ่ม หรือทุรนทุราย

....

ลัทธิบางลัทธิ น่ากลัวมาก นะครับ คุณหมอ ...ผมเคยเห็นบนจอทีวี..

...

ความสุข สงบ และร่มเย็นภายในบ้านตัวเอง ....หากได้ตายแล้ว น่าจะถือว่าตายดีได้ นะครับ

ขอบพระคุณบันทึกแรกที่ได้อ่านคืนนี้ ครับ

 

ผมเคยคิดถึงคำ คำ นี้ เช่นกัน....และมองลึกถึง...ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

P

  • ขอบพระคุณครับ
  • ความเห็นใกล้เคียงกันกับผมและน้องปู
  • ผมอยากจะลองยกกรณืสมมุติให้ลองคิดเป็นรูปธรรมนะครับ

สมมุติว่า คนที่กำลังจะเสียชีวิตเป็นนายทหารที่ไม่เคยเข้าวัด ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนไม่ดีนะครับ ความสำเร็จและความภาคภูมิใจของเขาคือ วีรกรรมในสงคราม

เวลาเราจะพูดนำเขาก่อนเสียชีวิต เราจะพูดเรื่องคำสอนทางศาสนา หรือ วีรกรรมที่เขาภูมิใจมาตลอดชีวิต ครับ

P

  • สวัสดีครับพี่คิม
  • แล้วพี่คิดเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ

นึกประสบการณ์ไม่ออกเลยค่ะอาจารย์ เรื่องการตายแบบรุนแรงเนี่ย เมื่อก่อนปูยังเคยคิดว่าหากตายไปแล้วก็หมดกรรมค่ะ แต่ก็ขอยอมใช้กรรม;)ดีกว่า) แต่ความตายที่จำได้แม่น

คือ ช่วงหนึ่งที่มีทหารพลีชีพขึ้นเครื่องระเบิดตัวเองตายไปกับศัตรู ไม่แน่ใจว่าเค้าจะนึกภาวนาหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือการกระทำเค้าได้รับการยกย่องและการตายได้จารึกไว้

 

P

  • ขอบคุณครับ
  • ลัทธิอะไรหรือครับ
  • คำถามต่อของผมคือ สมมุติว่าเราจับพลัดจับผลู ต้องเข้าไปดูคนที่เชื่อในลัทธิอย่างว่าก่อนตาย เราจะน้อมนำเขาให้สงบ หรือ อย่างไรดี

P

  • บันทึกนี้จะออกแนวฮาร์ดคอร์หน่อยๆนะครับ
  • ได้ตัวอย่างมาเพิ่มแล้ว ขอบคุณมาก ใช่ครับ มีคนที่พลีชีพด้วยศรัทธาในบางสิ่งมากมาย ส่วนหนึ่งก็เสียชีวิตในเหตุการณ์นั้นทันที ก็คงจบตรงนั้น
  • แต่ถ้าสมมุติเขาไม่ตายทันที เขาเกิดมีชีวิตรอดมาอีกช่วงหนึ่งให้เราได้มีโอกาสดูแล เราจะต้องเหนี่ยวนำเขาก่อนตาย เราจะพูดถึง เหตุการณ์พลีชีพของเขาให้ฮึกเหิมก่อนตาย หรือ พูดให้เขาสงบจิตใจ ดีครับ

นำสิ่งนี้...มาช่วยลดความหนักหน่วงของชีวิต นะครับ คุณหมอ

 

อาจารย์หมอ ครับ ลัทธิ ที่เลื่อมไส จิตที่เลื่อมใส ขณะที่กำลังใกล้ตายถือว่าสงบแล้ว  เพราะมีเป้าหมาย แม้จะมีความรุนแรง หรือโหดร้าย ร่วมอยู่ 

คนกลุ่มนี้ การชักจูง ชี้นำ ในช่วงเวลาเพียงน้อยนิด น่าจะแก้ยาก นะครับ เพราะเค้าซึบซับมานาน...การตายในมุมของเขาคือตายดีแล้ว(แต่น่ากลัวในมุมของเรา)

 

ผมเชื่อเช่นนั้น นะครับ

ดีใจนะครับ ที่ลปรร.กับอาจารย์หมอ

 

อ่านบันทึกท่านอาจารย์เต็มนี่ เหมือนมีการบ้านอยู่ตลอดเวลาเลยนะคะเนี่ย อิ อิ งานเก่ายังค้างอยู่เลยค่ะ หากแต่ยังไม่ลืมนะคะ เรื่อง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จำได้ค่ะ จำได้

พออ.ถามว่าจะพูดอะไรดี มีสองตัวเลือก เอ ตอบยากจังเลยค่ะ ก่อนอื่นต้องชื่นชมพูดให้เขาฮึกเหิม ภาคภูมิในวีรกรรมก่อนค่ะ พอถึงขั้นยอมรับ แล้วก็ส่งเสริมให้เค้าได้ไปสงบค่ะ

อ.ค่ะ นึกได้อีกเรื่องค่ะ อ่านหนังสือจำแน่นแต่น่ากลัว เป็นอีกฝ่ายที่ฆ่าเชลยคุกให้หนูวิ่งผ่านท่อจุดไฟเผา จ่อที่ท้องทารุณมากๆค่ะ อย่างนี้ควรให้คนทำตายตกกะทะทองแดง

แล้วกรณีที่พ่อเจ็บป่วยอยู่ ลูกไม่อยากให้พ่อทรมานจึงร้องขอต่อแพทย์ให้พ่อจากไปสงบ นี่ แต่พ่อยังไม่อยากไป แพทย์ควรจะทำอย่างไรคะ ... ขอบพระคุณ ฝันดีค่ะ

P

  • ขอบคุณครับ
  • จริงด้วยครับ ถ้าเขาซึมซับสิ่งนั้นมาจนศรัทธาแรงกล้า แล้วมองว่าแบบนั้นคือตายดีของเขา แต่น่ากลัวในมุมเรา เวลาเราจะช่วยเขา เราจะช่วยยังไง ..เพราะเราก็กลัว
  • มันทำให้ผมคิดถึงอีกกรณีที่เบาลงมาหน่อย แต่ก็ยากเหมือนกัน
  • เด็กในวัยที่ยังเชื่อว่าความ ตายคือการนอนหลับ เดี๋ยวก็ตื่นขึ้นมาใหม่ แต่น้องเขากำลังจะตายจริงๆ น้องเขาชอบกินไอติม เราจะพูดนำเขาเรื่องไอติม หรือ ให้น้องเขา..ปล่อยวาง

อ้ายหยา ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างนี้ ปูก็ชอบกินไอติมมากๆเลยค่ะ อีกประเด็นที่ปิ๊งแว้บได้ คือ เรื่องความสุข ความพอใจ ขณะตาย น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดกระมัง ? คะ

อยากคุยกับอาจารย์นาน ๆ จังเลย ครับ

พรุ่งนี้เรามาใหม่ดีมั้ยครับคุณpoo

........

ฝันดี...ทั้งสองท่านเลยะนะครับ

 

P

  • ไอเดียน้องปูดีนะครับ พูดมันทั้งสองอย่าง แต่ดูตามลำดับแล้ว เรื่องสงบเอาไว้ใกล้กว่า
  • ตัวอย่างแรกไม่ค่อยเข้าใจครับ ตกลงที่ตาย คือหนูหรือคนครับ
  • หมอช่วยให้ใครตายเร็วขึ้นไม่ได้หรอกครับ เพราะนั่นเป็น ฆาตกรรม 
  • ถ้าคนไข้ที่เป็นพ่อ อยากอยู่ต่อทั้งๆที่ต้องปั๊มต้องคาท่อ ก็เป็นสิทธิของเขาที่เราต้องยอมรับและหาคำอธิบายว่าเพื่ออะไร บางทีก็มีเป้าหมายที่เราไม่ทราบ และเป็ฯไปได้

ทั้งหนูและเชลยค่ะอาจารย์ เรื่องจริงของussrที่โหดมากๆเลยค่ะที่ ถ้าเป็นหนังคงไม่กล้าดู เหมือนหนังไทยเรื่อง ลองของ เป็นความตายที่น่ากลัวที่สุด สมัยนี้คงไม่มีแล้วค่ะ

 

 

เริ่มตั้งแต่ "ตายดีในมุมของใคร?"

ของคนที่กำลังจะตาย ของญาติๆ ของทีมหมอพยาบาล ของนักวิชาการเรื่องตายดี ของนักศาสนา นักประวัติศาสตร์ thanotologist (นักมรณวิทยา) ฯลฯ

ซึ่งผมสงสัยว่าของทั้งหมดข้างต้น (และอื่นๆ) จะลงเอยเหมือนกัน (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าถูก ผิด ดีกว่า ด้อยกว่าแต่อย่างใดเลย) แล้วสุดท้าย "เรา" (ใครก็ได้) จะนำเอาอันไหนไปใช้ (True success is not in the learning but in its application to the benefit of mankind)

แน่นอนเมื่อบุคคลได้มีนิยามของตายดี (ไม่จำเป็นต้องประกาศออกมา) ก็จะผลักออกมาเป็นเจตจำนง ความมุ่งมั่น นำไปรวมกับบริบทจริงในชีวิต สุุดท้ายออกมาเป็นพฤติกรรม ซึ่งจะใกล้เคียงกับตายดีเริ่มแรกสุดแค่ไหน ก็สุดจะกำหนดได้ (ทำให้สงสัยว่า "ทฤษฎีตายดี" นั้น จะมีประโยชน์เชิงปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน หรือหรือไม่) แม้ว่าผมเชื่อสุดหัวใจว่า "the source" เหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อกระบวนคิดและพฤติกรรม แต่ยังไงๆ เราก็ยังอยู่ในบริบทแห่งโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของเรา

นั่นเป็นอารัมภบท ยังไม่ได้พูดถึงเนื้อหาของ blog นี้เลย อิ อิ

สำหรับ yes or no ผมคิดว่าคงจะต้องแยกกลุ่มออกเป็นสองกลุ่มก็พอ คือ ตัวคนไข้เอง และคนอื่นๆ

สำหรับคนอื่นๆ (ญาติ หมอ เพื่อน ฯลฯ) ถ้าคนไข้ไม่สงบ และเราเป็นคนที่มีความสัมพันธ์กับเขา เราก็จะไม่สบายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจิตของเราไม่ถึงขั้นวางอุเบกขา เมื่อไรก็ตามที่เรานำเอาประสบการณ์เก่าของเรามา match กับสิ่งที่คนไข้อาจจะกำลังเผชิญอยู่ และมีอาการไม่สงบ เราก็จะนำเอาความชอบของเรามาแปลผลเสมอ (ในที่นี้ คงยกเว้นคนนอกที่รู้สึกว่าการกระวนกระวายเป็นเรื่องดี การกระสับกระส่ายเป็นเรื่องสนุก)

แต่ถ้าคำนึงถึงตัวคนไข้เอง มันมี "ความเป็นไปได้" เกิดขึ้น เพราะ "อาการไม่สงบ" นั้น เป็น outcome ปลายที่ผสมผสานจากหลายเรื่อง อย่างน้อยก็จากสมองทั้งสามส่วน คือ ฐานกาย ฐานใจ และฐานความคิด

เราแสดงออกทาง "กาย" และเดาไปว่า ฐานใจ และฐานความคิดของคนไข้เป็นยังไง หน้าตาบูดเบี้ยว "น่า" จะแปลว่าไม่ดี (ซึ่งไม่จริงเสมอไป เราบูดเบี้ยวเวลากินเปรี้ยวจี๊ด เวลาร้องไห้ เวลาหัวเราะ) หน้าตาสงบดูเรียบดี (ซึ่งไม่จริงเสมอไป เวลาเราปวดท้องนั่งอยู่ในรถทัวร์ที่วิ่งอีก 5 ชั่วโมง ตอนนั้นสีหน้าเราอาจจะเย็นชา เรียบเฉยสุดๆก็ได้) แค่ตรงนี้ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง​ "สงบหรือไม่สงบ" อาจจะต้องใช้วิจารณญาณว่าตนเอง "รู้ หรือ คิดไปเอง" ว่า ณ ขณะนี้คนไข้สงบ/ไม่สงบ

ทั้งๆที่ความ "ไม่แน่นอน" ในการประเมิน ผมว่าประเด็นสำคัญที่สุดก็คือพฤติกรรม ว่าเรา ทั้งคนไข้่ และคนอื่นๆรอบๆข้าง "ได้ใช้ชีวิตอย่างไร" ในประสบการณ์ข้างหน้านี้ เต็มที่แล้ว? อย่างมีสติ? ไม่ download ของเก่ามาใช้? อยู่กับปัจจุบันอย่างแท้จริง?

เพราะถึงที่สุดแล้ว ทุกๆครั้ง เมื่อคนจากเราไปต่อหน้าต่อตา มันควรจะมีความหมายอะไรบางอย่างหลงเหลือ ที่เราควรจะเป็นอิสระจากความหมายเก่าๆ นิยามเก่าๆ ความเชื่อเก่าๆ เพื่อที่เราจะได้ "เรียน" จากเหตุการณ์ศักดิ์สิทธิ์ที่เราถูกส่งมาเผชิญตรงนั้น ณ เวลานั้นอย่างเต็มที่จริงๆ

 

P

  • อ่านตัวอย่างของน้องปูแล้ว นึกไปถึงเรื่องในพระไตรปิฎกที่หลวงพี่ไพศาลเคยเล่าให้ฟัง

พระนางสามาวดีซึ่งเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า ถูกนางอิจฉามเหสีอีกคนหนึ่งหลอกให้เข้าไปอยู่ในห้องกับบริวารอีกห้าร้อย แล้วถูกเผาทั้งเป็นกันทั้งหมด ก่อนเสียชีวิตสตรีเหล่านี้ยังบรรลุธรรมระดับอนาคามีได้เลย โดยเจริญเมตตาให้แม้แต่ผู้วางแผนชั่วช้านี้

  • นั่นหมายความว่า แม้แต่ต้องเผชิญความตายอันน่าสยดสยอง ผู้กำลังจะตายก็ยังบรรลุธรรมได้
  • เอ.. แต่เจ้าคนบงการเนี่ย.. ไม่รู้เหมือนกันนะว่า ตอนตาย จะตายดีหรือเปล่า

P

  • ดีจัง สกลทำให้ผมเห็นประเด็นนี้ในมุมที่กว้างกว่าเดิม และเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่อง
  • ทำให้ผมคิดถึงคำพูดติดปากของ Currow ที่ว่า ..It's depend...

เรียนอาจารย์หมอเต็มศักดิ์

พี่มีความรู้สึกว่า หลายครั้งที่เราบอกว่าให้เขาตายอย่างสงบ แต่ลึก ๆ บอกไม่ได้ว่าคนที่กำลังจะตายจะสงบจริงไหม อย่างน้อยก็อย่าให้ทุรนทุราย หรือต้องยื้อให้เจ็บปวดอีกต่อไป

  • เคยมีประสบการณ์ ในช่วงที่ญาติยอมรับและคุยกับคุณหมอแล้วว่า No CPR ใจก็ยังกังวลว่าถึงที่สุดแล้ว คนไข้จะยินยอมเหมือนญาติไหม ความรู้สึกว่าทรมาน เหมือนกัน คุณหมอจะเดินมาถามย้ำอยู่หลายครั้ง เผื่อเปลี่ยนใจ

P

  • สวัสดีครับพี่ไก่ เหตุการณ์ทางขอนแก่นเป็นไงบ้างครั้ง วิทยากรจากรพ.ขอนแก่นที่ผมเชิญมาพูดเรื่องกรณีคนไข้เสียตา ต้องยกเลิกการเดินทางเลย
  • ครับ ไม่มีใครรู้จริงๆว่า สงบหรือไม่ เราประเมินจากมุมของเราทั้งนั้น
  • นั่นสิครับ ญาติยอม คนไข้ยอมหรือไม่ยอมไม่รู้ แต่บอกไม่ได้แล้ว อย่างนี้จะสงบหรือไม่

อรุณสวัสดิ์ค่ะอาจารย์หมอเต็ม

มาอ่านหลายๆ ท่านแล้วได้มองหลายๆ มุมดีจัง ขอบพระคุณค่ะ ดูเหมือนว่าทุกสิ่งจะ It's depend ...  ทำให้คิดถึง บันทึกการเดินทาง กาละ เทศะ ด้วยค่ะ

True success is not in the learning but in its application to the benefit of mankind  ประโยคของท่านอ.สกลข้างต้นนี้ประทับใจมากๆ ค่ะ เป็นสิ่งที่ปูต้องพยายามฝึกต่อๆไป ...

จริงด้วยครับ ถ้าเขาซึมซับสิ่งนั้นมาจนศรัทธาแรงกล้า แล้วมองว่าแบบนั้นคือตายดีของเขา แต่น่ากลัวในมุมเรา เวลาเราจะช่วยเขา เราจะช่วยยังไง ..เพราะเราก็กลัว

อาจารย์ครับ..ในความกลัว บางครั้งก็หาเหตุผลรองรับไม่ได้เหมือนกัน นะครับ

และหากคิดว่า...ความกลัวเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรือ่งใหญ่โตแล้ว  การเอาชนะทุกสิ่งน่าจะใช้ได้กับคำว่า...ความเข้าใจและความรักที่มีต่อกัน..

ดังนั้นเด็กในวัยที่ยังเชื่อว่าความ ตายคือการนอนหลับ เดี๋ยวก็ตื่นขึ้นมาใหม่ แต่น้องเขากำลังจะตายจริงๆ น้องเขาชอบกินไอติม เราจะพูดนำเขาเรื่องไอติม หรือ ให้น้องเขา..ปล่อยวาง ได้อย่างไร

ผมคิดต่อครับว่า..เด็กวัยนี้ ด้วยความเชื่อของเขาเขาจะรู้สึกอย่างนั้น จริง ๆ

 เขาเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ของจิตใจ.. การตายจึงไม่น่ากลัว..

แล้วเราจะพูดนำให้น้องปล่อยวางเรื่องความชอบ...ด้วยเหตุผลเราคงมี 108 เหตุผล แต่เหตุผลเดียวที่ผมยังคงรู้สึกเช่นเดิมคือ หากหนูได้หลับลงแล้วตื่นขึ้นมา  สิ่งที่หนูใฝ่ฝันจะมาอยู่ตรงหน้าหนูจริงๆ   ...น้าขอสัญญา... ณ เวลาที่ปล่อยวาง จิตก็ดับ ...ความทุกข์ก็ไม่มี...ผมว่าเป็นการหลอกลวงที่มีจิตใฝ่ดีอยู่นะครับ อาจารย์

...

 

ได้พูดคุญกับอาจารย์แล้วมีความสุข นะครับ...ทั้ง ๆ ที่เคลียดต้องคิดหาคำตอบให้อาจารย์

ขอบพระคุณ อาจารย์เติมคักดิ์มาก ครับ

 

 

ได้พูดคุยกับอาจารย์แล้วมีความสุข นะครับ...ทั้ง ๆ ที่เครียดต้องคิดหาคำตอบให้อาจารย์

มายกมือด้วยคนค่ะ แต่ดีหน่อยที่ไม่ใช่การสอบจริงๆ จีงไม่เครียด ๕ ๕ ;)

พยายามนึกหนัง เกี่ยวกับความตาย หลายๆ เรื่อง .. นี่เรื่องจริงค่ะ ที่หอ. ๕ มช. นศ.สาว ทาสีห้องพักสีชมพู แล้วผูกคอตาย เพราะรัก น่ากลัวมากๆ ค่ะ ห้องนั้นร้างอยู่หลายปี   

 

คุณpoo น่ากลัวนะครับ พูดอะไรก็ไม่รู้

...วันนี้คงฝันไม่ดี เป็นแน่แท้...

 

PP

  • อืมม.. ผมกลายเป็น ตัวทำเครียด ซะแล้ว ๕๕๕
  • น้องปูอดใจรอไม่นาน บันทึก กาละ-เทศะ แนวใหม่..มีวิดิโอ ด้วย จะคลอดแล้วครับ แต่ตอนนี้ผมกำลังหัดจัดการกับมันอยู่ รับรองอันนั้น..ไม่มีเครียด ครับ
  • เห็นด้วยกับคุณแสงฯ นะครับ ความรักความเข้าใจ จะช่วยให้คำตอบกับเราสำหรับคำถามที่ยากๆเสมอ
  • ฝันดีนะครับ  รูปนั้นเอามาฝากน้องปูคนเดียวนะครับ

มิได้เลยค่ะอ.หมอ ... เล่าได้แบบมีความสุข โดยมิเครียด เลยค่ะ

แหม คุณแสงฯ ก็ ปกติหนุ่มๆ เค้าไม่กลัวผี มิใช่รึคะ ? ๕ ๕  อยู่หอ มีเรื่องเล่าเยอะแยะมากมาย คิดได้อีกเรื่องหนึ่งแล้วค่ะ มีดนตรีไทยประกอบอีกตะหาก  ใครอยู่ม. เชิงดอย จะได้ยินบ่อย ... บรื๊อ ๆ  ...  ขอบคุณภาพประกอบนะคะ อิ อิ  แต่คืนนั้นฝันดีค่ะ ;)

ว้าว ๆ  ดีจังเลยค่ะ อ.หมอ ฯ เมื่อเช้าปูเพิ่งไปตะลุย NZ :  armchair traveller ค่ะ ชอบจัง มีเส้นทางเดินป่าหลายด้วย จะรอชมด้วยใจจดจ่อนะคะ ขอบคุณล่วงพน้า ฝันดีค่ะ

 

 

P

  • ผมเคยไปนอนหอพักของรพ.สวนดอกอยู่ ๑ เดือน ได้ยินแต่เรื่องเล่าถึงกลุ่มคนในชุดแต่งกายโบราณเดินสวนกับเราอะไรเทือกนั้นนะครับ
  • อีกอึดใจครับ จะค่อยๆปล่อยบันทึกออกมาเรื่อยๆนะครับ

ตายดีน่าจะสงบนะครับ ในกรณีที่ตำรวจถูกวางระเบิด ไปทำความดี แต่ไม่สงบเนอะ เสียงดังตูม แต่เป็นการตายเพื่อชาติ (แอบมาถามคุณหมอว่า ที่แสนปาล์ม กำแพงแสน พอสู้ที่สวนดอกได้ไหม ฮ่าๆๆ)

P

  • ทหารกับตำรวจนี่แหละครับ ที่เราคาดเดาลำบาก
  • อืมม.. แสนปาล์ม นี่ไม่ได้เจอกับตัวเองนะครับ ผมยังเฉยๆ แต่ก็อุ่นใจ เพราะไปกับพระครับ

ตอนนี้ขอนแก่นก็สงบแต่จะมีคลื่นใต้น้ำ ใต้ดินหรือไม่รอฟังข่าว คนให้ข่าวคือแม่ค้าในตลาด ให้ข้อมูลได้ดี

P

  • ขอบคุณครับ
  • ช่วงนี้ แก้วใหญ่ ขึ้นด้วยครับ เริ่มอ้วน

P

  • หวังว่าคงไม่เกิดการสูญเสียมากไปว่านี้นะครับ
  • มันคือ การเผาบ้านตัวเอง ชัดๆ 
  • การเยียวยาเรื่องอารมณ์ สำคัญกว่า การพูดคุยด้วยเหตุผล นะครับช่วงนี้

สวัสดีค่ะอาจารย์

ตายดีต้องสงบหรือไม่ ฟันธงลงไปไม่ได้เช่นกันค่ะแต่มีเรื่องแบ่งบันที่น่าจะพอตอบคำถามนี้บ้าง

ท่าน ว.วชิร ได้กล่าวไว้ว่าการที่คนเราเรียนรู้ให้เท่าทันธรรมดาประโยชน์ข้อหนึ่งคือการตายดี

ธรรมดาของชีวิตทุกชีวิตมีด้วยกัน 5 อย่างคือ

1 แก่

2 เจ็บ

3 ตาย

4 พลัดพราก

5 ทุกคนมีกรรมเป็นของของตน

ถ้าเราเข้าใจ รู้เท่าทันทั้ง 5 นี้เราจะตายดี ตายอย่างยอมตาย อย่างที่อาจารย์ว่าตายในสงคราม พลีชีพเพื่อชาติ ถ้าเราพิจารนาตามธรรมดาของชีวิตทั้งห้าข้อแล้ว แล้วคนที่กระทำการดังกล่าวเรียนรู้เท่าทันและน้อมนำมาใช้มาปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเขา เขาก็ย่อมจะตายดี โดยที่จะสงบหรือไม่สงบนั้นอาจอยู่ที่กรรมหรือการกระทำของเขาเอง หนูว่าการตายดีขึ้นอยู่กับตรงนี้ทั้ง5 ส่วนสงบถือว่าตายดีไหมเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น

ไม่แสดงตน

  • ต้องขอบคุณมากครับ ที่ช่วยต่อยอดความคิดได้ลึกซึ้งขึ้น
  • การรู้เท่าทัน  ๕ ประการที่ท่านว่า เป็น การตายดีในมุมมองชาวพุทธเรา ที่เราคุ้นเคยนะครับ
  • ทำให้ผมเกิดคำถามขึ้นว่า การรู้เท่าทัน กับ การยอมรับ ในเรื่อง ๕ ประการนี้ เหมือนกันหรือไม่
  • เดิมผมคิดว่าเรื่องเดียวกัน แต่ตอนนี้เริ่มเห็นว่าแตกต่าง เช่น คนไข้อาจจะรู้เท่าทันว่าใจตนเองยังไม่ยอมรับความตาย แต่ก็ไม่ได้ผลักใสความคิดนั้นออกไป ยอมรับความคิดที่ไม่ยอมรับของตนเอง เอ..เป็นไปได้หรือเปล่านะครับ

สองสามวันนี้มีคำประเภทนี้เข้ามาวนเวียนในสมองบ่อยเหมือนกัน

ยอมรับ ยอมจำนน รับรู้ รู้เท่าทัน เข้าใจ

ซึ่งเหมือนๆกับคำ ภาษา ทุกคำ ก็คือคนพูดคนฟัง มีอิสระที่จะให้ความหมายและตีความ แปลความไปต่างๆนานา (ในทางปฏิบัติ ไม่มีใครคอยโบกพจนานุกรมว่า "ที่ถูก" ต้องแปลว่าอะไร หรือมีการ declare ว่า "โดยสากล" ทุกคนต้องหมายความว่าอะไร)

เหมือนเป็นเช่นนี้ ผมก็ค่อนไปทางเชื่อว่ามีแนวโน้มที่คนจะคิดต่างกัน เพราะเราคิดอะไร แปลอะไรนั้น มันขึ้นอยู่กับ "ประสบการณ์เก่า" ไม่ได้ขึ้นกับตำราภาษาไทย edition ไหน รุ่นไหน ปีไหน แบบเวลาเราเขียนตำราทางการศึกษา ที่จะมีการ define คำศัพท์เสียก่อน คือตกลงกันก่อนว่าคำนี้ต่อไปนี้ จะหมายถึงอย่างนี้ๆ

และกลับจะเป็นเรื่องเสี่ยงเสียด้วยซ้ำ หากเราเข้าใจว่าในทางปฏิบัติ จะมีการ "ตกลง" กันเรื่องความหมายของคำต่างๆเหล่านี้ให้เรียบร้อย

อย่างตัวอย่างที่พี่เต็มยกมานั้นชัดเจน มีคนไข้หลายคนที่เข้าใจตนเองแน่นอนว่าสถานการณ์นี้ยอมรับไม่ได้ หรือตายเสียดีกว่า (case request euthanasia จะเป็นตัวอย่างที่ extreme) "ฉันรู้ว่าปวด รู้ว่าทรมาน รู้ว่ากำลังจะตาย แต่ฉันทำอะไรถึงได้ deserve ที่จะเป็นแบบนี้? ฉันทำบุญ ทำประโยชน์ ทำความดีมาทั้งชีวิต"

disease, illness และ suffering นั้น มีส่วนเหมือนและต่าง มีส่วนซ้อนและเกิน ปนๆกัน การแพทย์สมัยก่อน เราเจาะลึก เข้าใจ bacteria virus fungus เราก็เอาชนะโรคติดเชื้อได้ เน้นที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ ทางชีวะ เราประสบความสำเร็จขั้นต้น แต่ในปัจจุบัน disease มันไม่ simple เฉพาะการติดเชื้อ กว่า 90% มันเป็น behavior-related ไม่ว่าจะเป็น AIDs accident cardiovascular anxiety cancer etc ดังนั้น WHO ถึงได้ออก People-centred healthcare, harmonizing body and mind ออกมา

ramble ออกมาไกลมาก

เราจะไปบอกเขาไหมว่า "คุณยังไม่เข้าใจเรื่องกรรม ยังศึกษาไม่ดีพอ ไม่งั้นจะไม่บ่นหรือพูดแบบนี้" นั่นเป็นการสนทนาแบบ logic ไม่เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก เน้นฐานคิด ไร้่อารมณ์ และที่เลวร้ายคือ บางทีอาจจะไม่ "สนใจ" อารมณ์ความรู้สึก ของตัวเองยังพอว่า แต่ลามไปถึงความรู้สึกของคนอื่นด้วยรึเปล่า

P

  • สกลแตะประเด็นสำคัญ เรื่อง การตัดสินผู้อื่นเร็วไป ซึ่งเรื่องนี้  ผมว่าเราคุ้นชินมาก ทั้งหมอ พยาบาล ทั้งๆที่รู้ตัว คอยระวังอยู่ ช่วยเตือนกันก็แล้ว ก็ยังเป็นอยู่จนถึงทุกวันนี้
  • ก็เราอยุ่ในวิชาชีพที่จะต้องประเมิน ประเมิน..ประเมิน วินิจฉัย วินิจฉัยแยกโรค วิเคราะห์ผู้อื่น มาตลอดชีวิต มันอดเลี่ยงไม่ได้ ที่จะ ตัดสิน
  • การประเมินว่า คนไข้เป็นปวดรุนแรง เศร้าซึม จน จิตตก ก็เป็นการตัดสินทั้งนั้น..ในกรอบของเรา ไม่ค่อยเอากรอบของคนไข้มาใช้เท่าไร

ผมยังจำได้ที่เราเคยสนทนากันครั้งหนึ่ง (น่าจะกับพี่นั่นแหละ แต่มีใครด้วยจำไม่ได้แล้ว)

ที่ว่าแม้กระทั่ง "pain" ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องไม่ดี เรื่องเลวร้าย สำหรับคนไข้เสมอ มันจะมี "บริบท" เข้ามาด้วย (เหมือนทุกๆอย่างใน palliative care มั้ง) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง retrospective การ "ผ่านความเจ็บปวด" มาได้ ก็เป็น achievement ได้อย่างหนึ่ง หรือแม้แต่ "ขณะกำลังปวด" ก็อาจจะมีความหมายว่า "ฉันยังมีชีวิตอยู่" ซึ่งสำหรับบางคนยังดีกว่าความชาด้าน ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่รู้สึกรู้สมอะไรอีกต่อไป

Pain Free ในกรณีเช่นนี้ กลับกลายเป็น Lifeless ไปเสียยังงั้น!!

การเปิดพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ ทำให้ใจเราสงบลงจริงๆ แม้ว่าจะไม่ตลอดเวลา แต่ดูเหมือนว่าเรื่องราวต่างๆมัน "น่าสนใจมากขึ้น" มันยังมีอะไรให้เราได้เรียน มีอะไรให้เราได้แปลกประหลาดใจ

เมื่อวานตอนไปราวน์กับน้อง นศพ. ก็มีคนนึงสะท้อนออกมาว่า "ได้เห็นคนไข้วันนี้ทั้งสองคน ต่างก็มี "เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ มีจิตวิญญาณ" คนหนึ่งมีครอบครัว อีกคนหนึ่งมีหลวงน้า มีพระที่สนิทสนมคุ้นเคย รู้สึกว่าเขา "เก่งจัง" มากกว่าที่เราเคยคิดว่าคนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายน่าจะรู้สึก"

ผมเลยหยอดต่อ "แล้วจะมีอะไรต่อจากนั้น?"

"ก็เลยทำให้เราหวนกลับมาถามตัวเองค่ะว่า หนูเองมีอะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เป็นจิตวิญญาณอย่างที่คนไข้มีแล้วหรือยัง"

Another day that has made my day!!!

ตามความคิดส่วนตัวก็รู้สึกว่าสงบมันน่าจะดีกว่า แต่ก็เห็นด้วยกับอาจารย์สกลค่ะว่ามันขึ้นกับบริบทและยังมีอีกหลายวัฒนธรรมที่เราไม่รู้

มีเรื่องที่อาจทำให้เกิดความสงบและไม่สงบในช่วงการเสียชีวิตมาเล่าให้ฟังค่ะ

มีครั้งหนึ่งเคยพูดเรื่อง "การร้องไห้" ว่าควรให้ญาติร้องไห้ข้างๆเตียงคนไข้ได้ตอนคนไข้ใกล้เสียชีวิตตามตำราและวัฒนธรรมฝรั่ง

แต่มีอาจารย์ท่านหนึ่งแย้งว่า การร้องไห้จะทำให้จิตเป็นพะวงและกลายเป็นตายไม่ดีตามหลักของพุทธศาสนา

แล้วพี่พยาบาลอีกคนก็แย้งขึ้นมาอีกว่า แต่สำหรับวัฒนธรรมของชาวเขาแล้วเนี่ย เค้าจะมาแข่งกันร้องไห้ที่วอร์ดเลย ยิ่งร้องยังยิ่งแปลว่าดีกับทั้งคนไข้และญาติ

เลยทำให้ได้เปิดใจเรื่องนี้มากขึ้นค่ะ

P

  • การเปิดพื้นที่ สำคัญมาก ใช้ศํพท์ทันสมัยจริงนะ ชุดเดียวกับ ขอคืนพื้นที่
  • แต่ตามที่สกลเคยสอนเรื่อง voice dialogue
  • ถ้าเป็นเรื่องทั่วไป ก็พอจะเปิดพื้นที่ให้ แต่ถ้าอะไรที่มันค้านไพ่ทองของเรา เราจะไม่ค่อยเปิดเท่าไร
  • เรื่องนศพ. ต้องบอกว่า..เยี่ยม

P

  • สวัสดีครับ
  • อ.แชมป์..พรเลิศ ก็เคยเล่าเรื่องวีรบุรุษซานติก้าผับชาวญี่ปุ่น ที่มาเสียชีวิตในไอซียุูในรพ. จุฬาฯ ตอนก่อนจะเสียชีวิต พี่สาวซึ่งมาจากญี่ปุ่นก็มายืนส่งเสียงดังข้างเตียง เป็นธรรมเนียมส่งคนไข้ให้ไปดีของเขา ซึ่งถ้าเราไม่รู้ก็จะตกอกตกใจครับ

ยอมรับความคิดที่ไม่ยอมรับของตัวเอง น่าปวดหัวจังเลยค่ะอาจารย์จะเป็นแบบกรณีนี้ไหมคะ ถ้ามีสองอย่างให้เลือก

1 สิ่งที่ง่าย

2 สิ่งที่ถูก

บางครั้งเราเลือกทำสิ่งที่ง่ายแทนสิ่งที่ถูกต้องมันจึงเกิดกรณีอย่างที่อาจารย์ว่า "ยอมรับความคิดที่ไม่ยอมรับของตัวเอง"

แต่บางครั้งก็ไม่ใช่สาเหตุนี้ในทุกๆครั้งไป อาจารย์ว่าอย่างนี้ไหม

P

  • ผมคิดว่า ความสำคัญอยู่ที่ เราอย่าคิดเอาเอง หรือเอากรอบความคิดของเราไปใส่ นะครับ

ตายสงบหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่ามองในมุมของใคร.....ถ้ามุมผู้ป่วย/ใครตอบให้...มุมมองของผู้ดูแลใกล้ชิด....หรือมุมมองของญาติห่างๆ ....แต่มีมุมหนึ่งที่คนอยู่ข้างหลังตอบได้ก็คือ.....ทุกอย่างที่ทำไปสบายใจหรือเปล่า...ปิติ/อิ่มใจมีมั๊ย....อย่างน้อยที่สุดก็ตอบตัวเองได้.....

อนันตะบริบาล

  • ประเด็นสำคัญและตรงไปตรงมา ทำแล้ว คนทำรู้สึกอย่างไร ตอบตัวเองได้ ครับ
  • อยากแนะนำให้สมัครเป็นสมาชิกครับ เพราะ จะได้ติดตามความเห็นของตัวเองได้ด้วยว่าไปให้ความเห็นที่ไหนบ้าง นอกเหนือจาก ควรเขียนบันทึกได้แล้ว เหมือน ที่นี่

เรียน อาจารย์เต็มศักดิ์

ขอคิดด้วยคนครับ คำว่า"ตายดี"ของผม คือ "ได้ดีก่อนจะตาย" ครับ ส่วนความสงบนั้นเป็นของแถม เป็นความหวังอันสูงสุดครับ

ขอบพระคุณครับ

ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร

หมอลัญฉน์ศักดิ์

  • เข้าทาง สช. เลย ตายดีได้ ต้อง อยู่ดี มาก่อน ครับ ไม่ใช่จะมาหาทาง ตายดี โดยชีวิตทั้งชีวิตไม่สนใจเตรียมตัวเลย
  • ขอบคุณนะครับ ที่มาจุดประกาย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท