จิตตปัญญาเวชศึกษา 6: บัณฑิตแพทย์ที่มีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์


ไม่สามารถจะเสแสร้งว่าจะสามารถละเลยการดูแลรักษาจิตให้คงไว้ซึ่งคุณธรรม แม้เพียงชั่วขณะ เพื่อได้รับความสบายทางกาย โดยไม่มีผลกระทบต่อเจตนคติ มุมมอง หรือ สภาวะจิตทั้งหมดของตนเอง

บัณฑิตแพทย์ที่มีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์

ณ ขณะนี้ สังคมดูเหมือนจะมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องของคุณธรรม ความดี ความงาม และความสุข ความสบาย จากผลของ poll สำรวจ ลงตีพิมพ์ในหน้า editorial ของ The Nation ที่ว่า 70% ของประชากรที่สำรวจคิดว่ารัฐบาลที่คอรับชันนั้นยอมรับได้ ตราบใดที่ทำให้ชีวิตของเขาได้อะไรบางอย่างที่เป็นความสุข และ 82% คิดว่าถ้าตัวเขาเองต้องละเมิดกฏ ระเบียบ หรือกฏหมาย เพื่อจะให้ได้มาซึ่งความสุข ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้เช่นกัน

ในการพัฒนาสภาวะจิตของมนุษย์นั้น มี step ที่ชัดเจน คือจาก ฉัน เธอ เรา และ เราทั้งหมด (I you we us and all of us) สังคมที่จะ "สูงขึ้น" ทางจิตวิญญาณนั้น ไม่ได้ใช้เครื่องมือวัดความเจริญทางวัตถุ ความสุขสบายทางกาย แต่ต้องมีการบูรณาการไปด้วยกับสภาวะจิต ทั้งของปัจเจกบุคคล และของระดับจิตร่วม (stage of consciousness) ด้วยเสมอ

สภาวะจิตนั้น เหมือนอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย มีความสำคัญ มีหน้าที่ และสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด การดูแลตนเอง จะต้องประกอบด้วยการดูแลร่างกาย ดูแลจิตใจ และดูแลจิตวิญญาณ รวมทั้งการเข้าใจถึงความไหลเลื่อน เคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลง เชื่อมโยง หรือเหตุปัจจัย หรือ อิทัปปัจจยตา หรือ Interconnectedness ระหว่างเรื่องราว เหตุการณ์ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เราไม่สามารถแยกความสะดวกสบายทางกาย ออกจากความสุขสงบของจิตวิญญาณได้ และไม่สามารถจะเสแสร้งว่าจะสามารถละเลยการดูแลรักษาจิตให้คงไว้ซึ่งคุณธรรม แม้เพียงชั่วขณะ เพื่อได้รับความสบายทางกาย โดยไม่มีผลกระทบต่อเจตนคติ มุมมอง หรือ สภาวะจิตทั้งหมดของตนเอง

ยุคนี้เป็นยุคแห่ง sense of agency คนเราเกือบทุกคนจะดิ้นรนพยายาม "ดูแลตนเอง" มากขึ้น แต่ก็เป็นในระดับ "ฉัน หรือ I" เท่านั้น เกิดการเสียสมดุล เพราะมีการใส่ใจ ดูแล เรื่องของ "เธอ เรา" น้อยลง หรือแทบจะไม่มีเลย ไม่ต้องพูดถึงระดับจิตร่วมที่จะดูแล "เราทั้งหมด หรือ all of us" ที่มีไม่กี่ดวงจิตที่กำเนิดมาได้บรรลุไปถึง

ที่มาของหมอ พยาบาล

ทำไมถึงมีอาชีพหมอ อาชีพพยาบาล มาตั้งแต่แรก? ลองจินตนาการสมัยก่อนโน้น ที่ยังไม่มียาปฏิชีวนะ ไม่มีการผ่าตัด ไม่มีเครื่องมือเครื่องไม้ ไม่รู้จักเรื่องเทคนิกการปลอดเชื้อ ไม่มีวัคซีน มนุษย์ได้อยู่กับสัจจธรรมของมนุษย์เองมาแต่แรกเริ่ม คือ "เกิด แก่ เจ็บ และตาย" แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เพียงแค่ "สังเกต" สิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น คนกลุ่มนี้คิดว่าน่าจะเป็นหน้าที่ เป็นสิ่งที่ตนเองเกิดมามีภาระรับผิดชอบ ที่จะต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งกับความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้น "กับผู้อื่น"

นี่จึงเป็นที่มาของอาชีพหมอ อาชีพพยาบาล

ในปรัชญาแห่งวิชาชีพแพทย์นั้น บ่งชี้ไว้ชัดเจน ต่างกรรมต่างวาระ ต่างยุคสมัย ว่าคุณค่าและเป้าหมายจิตวิญญาณของวิชาชีพนี้คือ

 เพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ 

นั่นเป็นการวางแผนที่ของระดับจิตร่วมของแพทย์ พยาบาล ว่าคือ "เราทั้งหมด หรือ all of us" นั่นเองตั้งแต่แรกเริ่ม

ในการพัฒนาระดับจิตร่วมนั้น ต้องใชความพยายาม และพลังทุกอย่างเพื่อความสำเร็จ

อิทธิบาท 4 (The Four Bases of Power)

  1. ฉันทะ (desire)
  2. วิริยะ (persistence)
  3. จิตตะ (intent)
  4. วิมังสา (discrimination)

==================================================

บัณฑิตแพทย์ที่มีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์

ถ้าหากสภาวะจิตเป็นสถานะที่ฝึกฝนได้ เรียนรู้ได้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ฝึกอย่างไร เรียนรู้อย่างไร หลักสูตรการเป็นมนุษย์ที่แท้ มีความจำเป็นเพียงไหนต่อวิชาชีพแพทย์ พยาบาล? สำหรับอาชีพบางอาชีพนั้น จำเป็นต้องมีคุณธรรม จริยธรรม เหนือกว่าวงการอื่นๆ เป็นเพราะ ความจำเป็น ไม่ใช่เป็นเพราะเพื่ออภิสิทธิ์อะไร แต่เป็นเพราะ "หากไม่มี จะเกิดผลเสียต่อสังคมที่รุนแรง" อาจารย์วิจารณ์ พานิช ได้เขียนบทความไว้ว่า "นักการเมืองนั้น จะต้องยึดถือระดับคุณธรรม จริยธรรมที่สูงกว่าพ่อค้า หรือนักธุรกิจ" เพราะหน้าที่นักการเมือง จะเข้าไปบริหารประเทศ เอาทรัพยากรต่างๆไปใช้ เพื่อความสงบสุขของประชาชนทั้งประเทศ

อาชีพหมอ พยาบาล ก็มีความสำคัญโดยตรงไม่น้อย เพราะเราทำงานเพื่อ "คุณภาพชีวิต" ของประชาชน ดังนั้น เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ที่หลักสูตรการฝึกอบรมผลิตแพทย์พยาบาล จะต้องมี "วิธี" กระบวนการ การจัดประสบการณ์ ที่เอื้อต่อการพัฒนา value เรื่องคุณธรรม จริยธรรม ที่จะนำไปสู่ stage of consciousness หรือ ระดับจิตร่วม เพื่อ "เราทั้งหมด" อยู่ในตัวบัณฑิตแพทย์ พยาบาล อันพึงประสงค์ของสังคม

CONTENTS OR COMPETENCIES

  1. ชีวิตและสังคม

  2. สุนทรียศาสตร์

  3. self reflection competency 

  4. interpersonal competency

  5. cultural competency

  6. Interconnectedness

1. ชีวิตและสังคม

ในบทความ จิตตปัญญาเวชศึกษา ได้เขียนไว้ว่ามนุษย์เรานี้ เกิดมาควรจะหมายรู้สองอย่าง และพยายามที่จะรักษา "สมดุล" ของทั้งสองประการนี้ ก็จะนำไปสู่ชีวิตอันอุดมได้ คือ เรามีชีวิต และ เรามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดเวลา

สองเรื่องนี้ (ชีวิต และ สังคม) เป็นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ไม่เพียงแต่แพทย์ พยาบาล เท่านั้น เพียงแต่ หมอหรือพยาบาลมีความจำเป็น และต้องนำเอาความรู้เรื่องนี้มาใช้ในหน้าที่การงานโดยตรง ทุกวัน ทุกเวลา

การเรียนรู้เรื่องชีวิตนี้ไม่เพียงแต่ด้าน biology (ซึ่งเรียนกันมากมาย.... จนเกินไปรึเปล่า?) แต่หมายถึงด้านอื่นๆของชีวิตด้วย ได้แก่ อารมณ์ความรู้สึก ความรัก จินตนาการ หากเราเรียนแต่ "วิทยาศาสตร์ชีวภาพ" เพียงอย่างเดียว จะเกิดการรับรู้ที่บิดเบี้ยวของการคงอยู่ในสังคม จะเกิด concept ของ self ที่เป็น "ฉัน" หรือ "I" เพียงเท่านั้น มองไม่เห็น "เธอ" และยิ่งมองไม่เห็น "เรา" รวมทั้งไม่มีทางไปถึง "เราทั้งหมด" ได้

พื้นฐาน องค์ประกอบของสังคม เช่น ปรัชญา จริยศาตร์ การเมือง การปกครอง กฏหมาย ล้วนเป็นรากฐานของการเข้าใจ "เธอ" และ "เขาทั้งหลาย" ที่จะต้องพัฒนากลายเป็น "เรา" และ "เราทั้งหมด" การที่นักศึกษาขาดความรู้ ขาดการคิดวิเคราะห์ในเรื่องเหล่านี้ จะกลายเป็นคนที่มีแต่ self-centred ทราบแต่ว่าตนเองรู้อะไร ไม่รู้อะไร ไม่สนใจว่าคนอื่นคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร

2. สุนทรียศาสตร์

ในการดูแล "ตนเอง" นั้น อาจจะกล่าวได้อีกแบบหนึ่ง หรืออีกมุมมองหนึ่งว่า คือการเรียนรู้ที่จะเสาะหา รับรู้ "ความงาม" ให้ได้นั่นเอง ในการพัฒนาพิสัยของ "ฉัน หรือ I" คือการเพิ่มเติมอวัยวะการรับรู้ความสุนทรีย์ได้

การดูแลตนเอง ทั้งกาย จิตใจ อารมณ์ หรือจิตวิญญาณ เป็นเรื่องสำคัญ และเป็น competency ที่จำเป็นสำหรับบุคลากรที่จะมีหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของคนอื่นด้วย หมอ หรือ พยาบาล ที่ทำหน้าที่อยู่ด้วยความทุกข์กาย ทุกข์ใจ อารมณ์ที่หม่นหมอง มีแต่จะนำพาพลังด้านลบเหล่านี้ไปถ่ายทอดให้แก่คนไข้ บางครั้งบางครากลายเป็นคนไข้อาจจะต้องเป็นคน counseling หมอ หรือพยาบาล เสียด้วยซ้ำไป

สุนทรียศาสตร์ ทำให้คน "อ่อนนุ่มลง" และมีใจกว้าง รับรู้ความแตกต่างอย่างปราศจากความกลัว ปราศจาก prejudice หรือการด่วนตัดสิน value ของสิ่งที่ตนเองไม่เห็นด้วย ด้วยสภาวะจิตตื่นรู้ กระตือรือร้นในการเรียนรู้ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่น อย่างที่สุนทรียศาสตร์จะตระเตรียมให้ จะทำให้เราบรรลุ state of consciousness ที่สูงขึ้น ได้บ่อยขึ้น บ่อยมากขึ้น เป็นพื้นฐานอันสำคัญในการปรับ "ระดับจิตร่วม" หรือ state of consciousness ให้ได้

สุนทรียศาสตร์ยังเป็นเสมือน mind sanctuary ที่ทำให้ อารมณ์ ความรู้สึก หรือแม้แต่จิตวิญญาณ ได้มีการ recharge battery เติมพลัง ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เพื่อจะได้พร้อมจะเกิดการเรียนรู้ใหม่ได้ต่อไป หลังจากที่เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้าลง เป็นการสร้าง ภูมิคุ้มกันทางจิตอารมณ์ นั่นเอง

3. Self Reflection Competency

ประการแรกในสภาวะที่นำไปสู่จิตตื่นรู้ คือ "สติ mindfulness" หนทางหนึ่งที่ตัวเราจะมี awareness ว่า ณ ขณะนี้เราทำอะไรอยู่ เราอยูที่ไหน เดินทางไปทางไหน ก็คือ ความสามารถในการสะท้อนตนเอง หรือ self reflection competency

บัณฑิตในระดับผู้ใหญ่ (andragogy หรือ adult learner) มีหน้าที่ดูแลตนเอง ทราบว่าตนเองจะต้องทำอะไร เข้าใจในเป้าหมาย วิถีชีวิตของตนเอง บัณฑิตแพทย์จะต้องพัฒนา competency ในการเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ให้มากที่สุด ก่อนที่จะสามารถไปเข้าใจความทุกข์ และบริบทของคนอื่นได้ ถ้าลำพังตนเองยังไม่สามารถดูแลได้แล้ว การไปดูแลคนอื่นก็จะขาดความสมบูรณ์ ขาดความชำนาญ ขาดมโนสำนึกหรือความศรัทธาในสิ่งที่ตนเองพูด ในสิ่งที่ตนเองกำลังแนะนำ ก็จะนำไปสู่ความล้มเหลวในการสื่อสาร

การสะท้อนตนเองยังเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับสภาวะอีกประการหนึ่ง คือ การพัฒนาเจตคติ หรือ การเกิดคุณค่า ชีวิตทีมีความหมาย ของตนเอง ซึ่งจะเป็นสภาวะของจิตทีตื่นรู้ ไม่เพียงแต่มีชีวิต เพื่ออยู่รอด และอยู่ร่วม แต่เป็นการอยู่อย่างมีความหมายด้วย

ในระดับ advanced การสามารถทำ self reflection ยังเป็นเครื่องมือจำเป็นในการ work with the shadow หรือการทำงานกับ "เงา" ของเราเอง ที่ได้มีการเก็บกดเอาพลังงานบางอย่างไว้ สิ่งที่ทำให้อารมณ์ของเราถูกรบกวนรายวัน รู้สึกจี๊ด เป็นพักๆ ทำลายสมาธิและจิตตื่นรู้ ซึ่งการจะแก้ไข จะต้องทำโดยตนเอง โดย self ที่เติบโตและ mature เต็มที่แล้วเท่านั้น

4. Interpersonal competency

การอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ และมีขั้นตอนของการพัฒนา มีมิติหรือพิสัยของความสามารถด้านต่างๆ ต้องอาศัยการฝึกฝนเป็นอย่างดี

skill ที่สำคัญพื้นฐานที่สุด คือ การฟังอย่างลึกซึ้ง การฟังอย่างที่ Margaret Wheatley พรรณนาว่า "เมื่อเรารับฟังผู้อื่นอย่างหมดหัวใจ ดุจดั่งเอาถ้อยคำ และมากกว่า ถ้อยคำของผู้พูดมาอาบ มาดื่มกิน เอามาซึมซับเป็นตัวตนของเรา และยินยอม ให้การอาบ การดื่มกิน เหล่านั้น เข้ามาเปลี่ยนแปลงตัวเรา เข้ามากลายร่างเราให้แปรเปลี่ยนไป" การพัฒนาการฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นการห้อยแขวนการตัดสิน การด่วนตัดสินที่เต็มไปด้วยความผิดพลาด และเป็นชีวิตที่เร่งร้อน เหมือนมดเดินอยู่ในกะทะร้อน ไม่สามารถที่จะใคร่ครวญอะไรได้

เมื่อสามารถฟังอย่างลึกซึ้ง เวลาถ่ายทอดออกมาก็จะเป็นการถ่ายทอดสิ่งที่ใคร่ครวญ สิ่งที่ได้ไตร่ตรองไปแล้ว การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือ empathy (อตฺตานํ อุปมํ กเร) ก็จะพัฒนาขึ้น เกิดขึ้นได้ และ empathy นี้เอง เป็นองค์ประกอบเบื้องต้นที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการพัฒนาจริยธรรม ในข้อ principle of autonomy ได้

5. Cultural competency

ข้อเท็จจริงอีกประการก็คือ "คนเราต่างกัน" เมื่อคนเราต่างกัน คุณภาพชีวิตที่ดี ความหมายของชีวิตอันอุดม ก็จะแตกต่างกันไปด้วย ในการดูแลรักษาคนไข้ และครอบครัวนั้น เราไม่ได้ดูแลให้เขามีคุณภาพชีวตที่ดี "แบบเรา" แต่ต้องเป็นการดูแล "ตามวาระของเขา"

หมอ และ พยาบาล จะต้องเปิดกว้าง รับรู้ และยอมรับ ในความต่างของวัฒนธรรมประเพณี ศาสนา ความเชื่อได้อย่างเต็มที่ มิฉะนั้นในบางกรณีอาจจะเกิดปัญหาความไม่เข้าใจในการรับรู้ระหว่างหมอ กับ คนไข้ได้ นำมาซึ่งการมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดี

6. Interconnectedness

อาจจะกล่าวได้ว่า เป็น ความรู้ที่สำคัญและลึกซึ้งในการที่จะดำรงชีวิต และเป็นพื้นฐานความรู้อันจำเป็น ในการที่จะสร้างกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ (health promotion) ให้เกิดขึ้น

ทุกสิ่งทุกอย่างมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง (อิทัปปัจจยตา) มีเหตุอันเป็นการกำเนิดวงล้อแห่งชีวิต (dependent origination ปฏิจจสมุปบาท)

วิชา contemplative education หรือ จิตตปัญญาศึกษา หรือการเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญ ณ มหาวิทยาลัยนาโรปะ อันเป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งมาโดย เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช พระตันตระวัชรยานจากธิเบต เน้นที่การใคร่ครวญถึงความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง ถ้าหากนักศึกษาแพทย์สามารถเชื่อมโยงว่า การเรียนรู้ที่ทำอยู่ ทำให้เขาเป็นคนดีได้อย่างไร เป็นหมอที่ดีได้อย่างไร และเชื่อมโยงต่อไปว่า การเป็นหมอที่ดี การเป็นคนที่ดีของเขานั้น จะทำให้สังคม สิ่งแวดล้อมน่าอยู่ ศิวิไลซ์ เป็นชีวิตและสังคมอันอุดมได้อย่างไร เช่นนี่แล้ว เมื่อการเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงครบวงจรอันสัมบูรณ์ จริยศาสตร์ก็อาจจะไม่ต้องแยกเป็นวิชาออกมาต่างหากก็ยังได้ เพราะ คนก็จะเป็นคนดี ไปโดยเนื้อผ้า ไปตามสิ่งที่ควรจะเป็น

ทุกวันนี้ปัญหาเกิดขึ้นเพราะ cognitions ขององค์ความรู้ต่างๆ ไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง

เรียนไป ก็เอาไปโกงกิน

ฉลาดไป ก็เอาไปใช้เอารัดเอาเปรียบ

รู้มากไปก็นำไปประกอบการเห็นแก่ตัว

ศึกษาสูงๆกลับกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว

อ่านมากกลายเป็นคนแคบ มองไม่ไกลเกิดตัวเอง หรือแค่คนรอบข้างของตนเอง 

ถ้าหากเรานำเอา competency ทั้ง 6  ประการนี้สอดใส่รวมกับหลักสูตรแพทยศาสตร ก่อนและหลังปริญญาได้ ก็น่าจะเกิดการเปลี่นแปลงอะไรบางอย่าง

ทีนี้ในการจัดหลักสูตรนอกเหนือจาก competencies หรือ contents แล้ว ยังต้องมีการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ด้วย สำหรับ จิตตปัญญาเวชศึกษา นั้น อาจจะจัดได้ดังนี้

LEARNING EXPERIENCES

  1. Integrated curriculum

  2. Context-based learning

  3. Longitudinal, repeating experiencing

  4. Self Reflection

  5. Role Model

  6. Organizational Culture

1. Integrating curriculum

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ณ ปัจจุบัน มีเนื้อหามากมาย competencies ที่ยกมานั้น ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการเพิ่มเติมลงไปบนหลักสูตรปัจจุบันเท่านั้น แต่สามารถจัดเป็นการ "บูรณาการ" เข้าไปกับกิจกรรมที่มีอยู่แล้ว เน้นที่ learning objectives เหล่านี้มากขึ้น จัดลำดับความสำคัญให้ชัดเจน และพัฒนา self-directed learning ให้เต็มที่

2. Contexted-based learning

ใช้ทรัพยากรจริงที่สำคัญที่สุดในบริบทของงานที่นักเรียนจะต้องทำ คือการทำงานกับคนไข้ ครอบครัวของคนไข้ ชาวบ้าน ประชาชน เริ่มแต่เนิ่นๆมากที่สุด basic sciences ด้านชีวิตและสังคม มีความสำคัญไม่แพ้พยาธิ สรีระวิทยา ชีวเคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์เลย ควรจะมีจัดลำดับความสำคัญของสาระต่างๆตาม context ใหม่ในหลักสูตรให้เหมาะสมว่า นักเรียนเรียนไปเพื่อทำอะไร เป็นอะไร และมีความหมายอย่างไรต่อเขาในอนาคต

3. Longitudinal and repeating experiencing

ในการพัฒนา "คุณค่า" หรือ "ชีวิตที่มีความหมาย" นั้น จะต้องเป็นกิจกรรมที่เกิดซ้ำๆ มีการทบทวน ไตร่ตรอง มีการเห็นจริง จะต้องเป็น ปัญญาเชิงปฏิบัติ คุณค่าเหล่านี้จึงจะหล่อหลอมรวมกับบุคลิกของนักศึกษาที่ค่อยๆพัฒนามาในมหาวิทยาลัยได้

การเรียนเป็นท่อนๆ เรียนแล้วเลิก ไม่มีการนำมาปฏิบัติ ไม่มีการนำมาทบทวน ก็จะเป็นแค่ "ความทรงจำ" ยังไม่เกิดเรื่องเล่า ยังไม่เป็นประสบการณ์ตรง สิ่งเหล่านี้จำเป็นในการที่จะหล่อหลอมเข้ากับบุคลิก กลายเป็นตัวตนของนักศึกษาที่เติบโต เราไม่ได้ต้องการบัณฑิตที่จำได้แต่หลักจริยธรรม แต่เขาเหล่านั้นจะต้องบูรณาการเข้าไปกับตัวตนของเขาให้ได้ เพื่อที่จะกลายเป็นสมาชิกของสังคมที่เข้มแข็ง พัฒนาต่อไปได้

4. Self Reflection

ประสบการณ์ตรงที่สำคัญอีกประการก็คือ การที่นักศึกษาได้มีเวลา และโอกาสในการใคร่ครวญ คิด ใตร่ตรองว่า กิจกรรม ความรู้ และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มันทำให้เขาเป็นคนอย่างไร เป็นหมอแบบไหน เป็นนักเรียนเช่นไร เป็นพ่อ หรือเป็นแม่อย่างไร และจะกลายเป็นสมาชิกของสังคมที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงต่อไปยังไงบ้าง

การคิดใคร่ครวญไตร่ตรอง เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่สำคัญ การมองหา impact ของสิ่งที่เขาทำทุกวัน เช่น การไปดูแลคนไข้ การไปช่วยเหลือ พูดคุยกับญาติและครอบครัว การไปอยู่เวร ณ ห้องฉุกเฉิน ได้ปฏิบัติหน้าที่ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนไข้ ไปออกหมู่บ้าน ออก clinical immersion กับโรงพยาบาลชุมชน ประสบการณ์เหล่านั้น มีผลกระทบต่อตัวเขาอย่างไรบ้าง

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในการจัดกิจกรรมที่ คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เราพบว่า นักศึกษาสามารถสะท้อนและบูรณาการ value ทางสังคม จริยศาสตร์ ออกมาได้อย่างดี ถ้าให้โอกาสและเวลา แต่ตรงกันข้าม หากไม่ได้มี session การสะท้อน กิจกรรมเหล่านี้ก็อาจจะผ่านไปเฉยๆ เป็นการสูญเปล่าอย่างน่าเสียดายยิ่ง

5. Role Model และ 6. Organizational Culture

ไม่มีอะไรจะหล่อหลอมคนได้ดีเท่ากับการจัดการสิ่งแวดล้อม ความเคยชิน ชีวิตจริง ให้เป็นไปประกอบด้วย value ต่างๆที่ set ไว้

นักศึกษาทุกคนมาจากหลากที่หลากถิ่น แต่ก็ถูกหล่อหลอมได้ด้วยสิ่งแวดล้อมในการศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัย หล่อหลอมจากสิ่งแวดล้อมในหอพัก โรงยิม สถานพักผ่อน วัฒนธรรมขององค์กร คำพูด ปฏิสัมพันธฺของอาจารย์ รุ่นพี่ และเพื่อนร่วมงาน day-in day-out ทุกๆวัน ในช่วงอายุที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลิกภาพอย่างยิ่ง

สิ่งที่สอนทั้งหมดจะไร้ความหมาย ถ้าไม่มีการเกิดขึ้นจริง มีคนทำจริงๆ โดยเฉพาะคนที่มีตำแหน่งเป็น role model โดยเฉพาะบรรยากาศโดยทั่วไปขององค์กร ดังนั้นหลักสูตรจะสัมฤทธิผลหรือไม่ การสร้างองค์กรมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับผลผลิตที่โรงเรียนแพทย์จะสร้างออกมา อย่างหลีกเลี่ยงมิได้

=================================================

การประเมินความเป็นมนุษย์

ฟังดูแปลกๆ แต่หากเป็น formative assessment เพื่อค้นหามิติที่จะพัฒนาต่อ ก็จะกลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สุด

เราคงจะไม่ตัดสินว่าใครเป็น/ไม่เป็นมนุษย์ เพราะการเรียนในชั้นอุดมศึกษานั้น ศักยภาพ สำคัญกว่า cross-sectional status คนๆนี้มีศักยภาพที่จะเป็นอะไรต่อ ทำอะไรต่อ สำคัญมากกว่า ณ ขณะนี้เขาทำอะไรอยู่

ความเป็นมนุษย์ หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ การเกิดระดับจิตร่วมสูงสุด เป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนาในระยะยาว และตลอดไป ทั้งนักศึกษา อาจารย์ องค์กร ชุมชน และประเทศชาติ รวมไปถึงมวลมนุษยชาติ

  • จิตตปัญญาเวชศึกษา
  • จิตตปัญญาเวชศึกษา และการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน
  • จิตตปัญญาเวชศึกษา การเรียนแพทย์ด้วยใจที่ใคร่ครวญ
  • จิตตปัญญาเวชศึกษา สังคมศาสตร์ในหลักสูตรแพทยศาสตร์
  • จิตตปัญญาเวชศึกษา ประเมินแบบสร้างเสริมมณฑลแห่งพลัง
  • หมายเลขบันทึก: 106398เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2007 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (6)

    รู้สึกชอบบทความนี้ครับ ผมเองยังคงต้องฝึกฝนต่อ ขัดเกลาตัวเองให้หยาบกระด้างน้อย ของคุณครับ

    ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

    เป็นconceptualizationที่มีคุณค่า    อยากให้เผยแพร่ได้มากๆ

    วันก่อนพบท่านอาจารย์วิจารณ์  ท่านให้คำแนะนำว่ากระบวนการself-reflectionในงานนี้มีความสำคัญมาก 

    ลืมไปอีกข้อหนึ่งครับ  อาจารย์วิจารณ์บอกด้วยว่าถ้าเป็นไปได้ กิจกรรมที่ตึกเย็นศิระน่าจะออกแบบให้เยาวชนอื่นๆที่มิใช่ นศพ.เข้ามามีส่วนร่วมด้วยครับ

    ประเสริฐ

    http://gotoknow.org/blog/sph

    สวัสดีครับ อ.ประเสริฐ

    ขอบพระคุณที่ได้กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียนครับ

    ที่จริงกิจกรรมต่างๆนั้น เราก็อยากจะขยายไปให้มากขึ้นครับ แต่จำนวนคนควบคุมมีน้อย และเป็นการทำงานกับผู้ป่วยและครอบครัวของเขาจริงๆ เรื่องสิทธิผู้ป่วยและการปฏิสัมพันธ์จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่กันมากพอสมควร

    ที่คิดกันยังไม่ถึงขนาดเยาวชนทั่วไปครับ เอาแค่นักศึกษาแพทย์ให้ทั่วถ้วน คงจะเป็นโครงการต่อไป

    ขอบพระคุณอีกครั้งสำหรับข้อคิดเห็นครับ

    สมเป็นอาจารย์แพทย์จริง ๆ ครับพี่

    เรื่องเหล่านี้เหมาะสมอย่างยิ่ง ที่ควรได้รับการปลูกฝัง โดยเฉพาะยุคสมัยนี้ ทุกวันนี้ก็พยายามที่จะพัฒนาตัวเองอยู่ครับ

    ยินดีที่ทราบว่าสังฆะของเรานั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆครับ การวาดภาพโมเสอิกให้สวยนั้น วาดจากมุมเล็กมุมน้อย แล้วค่อยๆมารวมกันเป็นภาพวิจิตรตระการตาทีหลัง ขอเพียงเริ่มจากตัวเราเอง ขยายไปหาครอบครัว คนรอบข้าง ชุมชน

     แล้วเราก็จะเป็นหนึ่งเดียว (all of us) ในที่สุด

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท