จิตตปัญญาเวชศึกษา 37: Voice of Judgment


เสียงแห่งการตัดสิน Voice of Judgment

ช่วง 3-4 วันที่ผ่านไป จัด workshop สุนทรียสนทนาให้กับอาจารย์แพทย์ อาจารย์คณะพยาบาล และบุคลากรสนับสนุนประมาณ 24-25 ท่าน ที่ รร.หาดแก้วรีสอร์ท กระบวนกรคือ พี่วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ณัฐฬส วังวิญญู และหมอวรวุฒิ ผอ.รพ.สันทราย เรียกว่างานนี้เชิญ "เซียน" ลงมาใต้เลยทีเดียว สำหรับพี่วิธาน กับณัฐฬส ครั้งนี้เป็น second visit ส่วนวรวุฒิเป็นครั้งโหมโรง (แปลว่าจะต้องมีบรรเลงต่อๆไปอีก อิ อิ) มางานนี้ก็ประทับใจกันมากๆเหมือนเดิม แต่ละคนก็นำเอาประสบการณ์ตรงของตน มาเผยแพร่ แลกเปลี่ยน ให้ได้รับทราบความรู้สึก และผู้อื่นทราบที่มาความเป็นมา ของกระบวนทัศน์ ของพฤติกรรมของตนเอง

ผมเคย post เรื่องทฤษฎีตัวยู (Theory U) ของออตโต ชาร์มเมอร ์ไปหลายเดือนก่อน  คราวนี้ก็ได้มา "แตะๆ" ลงลึกไปตามขาลงของตัวยูกัน เผื่อจะได้มีลู่ทางไปสู่ก้นบึ้งแห่งมหาสมุทรแห่งปัญญาของแต่ละปัจเจกได้ ในแต่ละส่วนของทฤษฎีตัวยู ได้แก่ Open Mind, Open Heart และ Open Will (จิตตื่นรู้ ใจกระจ่าง และเจตน์จำนงค์) ก็จะมีอุปสรรคพิเศษ ที่เราแต่ละคนต้องทำงานทะลุทลวงไปกันเอง 3 เสียงแห่งอุปสรรค นี้ได้แก่ Voice of Judgment, Voice of Cynism และ Voice of Fear นั่นเอง

เสียงแห่งการตัดสิน (Voice of Judgment)

อุปสรรคสำคัญของจิตตื่นรู้่ก็คือ เสียงแห่งการตัดสิน การจำได้หมายรู้เดิม ใช้สัญญาเดิมๆ มาด่วนฟันธง ตัดสินและวาดภาพของโลกของเราไปตามอุปปาทานเดิมๆ 

ในการที่ใครๆรับรู้เรื่องราว ข้อมูล เสียงที่เข้ามากระทบ ตัวหนังสือที่ผ่านตา รสที่สัมผัสลิ้น กลิ่นโดนฆานประสาท ยังไม่มีความหมายใดๆจนกว่า เราเป็นคนให้ความหมาย ตรงนี้อาจจะยกเว้นการให้ความหมายเรื่องราวที่เกี่ยวกับ survival หรือ เพื่อการอยู่รอด เช่น ความกลัวต่อภยันอันตรายต่างๆ ที่สติของเราอาจจะยังไม่ทันให้ความหมายใดๆ ร่างกายจะใช้ข้อมูลเท่าที่มี เกิดปฏิกิริยาตอบสนองไปเสียก่อนแล้ว เช่น เหยียบตาปูปุ๊บ เราก็จะสะดุ้ง ชักเท้ากลับ กระโดดโหยงๆออกไป ใช้เวลาชั่วพริบตา หรือเสียงอะไรดังๆมากๆใกล้ๆตัว เราก็อาจจะสะดุ้ง ค้อมศีรษะลง เดินถลาออกห่างออกไปจากแหล่งเสียง ข้อมูลที่เหลือเราก็จะค่อยๆซึมซับ ด้วยบริบททั้งหมด และตีความ แปลความทีหลัง

การให้ความหมายเป็นความจำเป็น เพื่อที่จะเกิดการตอบสนอง ทำอะไรต่อไป แต่ในที่นี้ เมื่อเราพูดถึง voice of judgment หรือ "เสียงแห่งการตัดสิน" หมายถึงการรีบด่วนตัดสินไป โดยยังไม่ทันได้พิจารณา ใคร่ครวญ ไปเสียหมดทุกอย่าง ความหมายก็จะมาจากสัญญาเก่าๆ ความทรงจำเก่าๆ และบางทีก็เป็นสัญญาวิปลาส ก็จะก่อให้เกิดปฏิกิริยา ความรู้ หรือความเข้าใจที่วิปลาส  อย่างไรก็อย่างนั้น

หมอวรวุฒิเล่าให้ฟังเรื่องราวที่น่าสะเทือนใจ และทรงพลัง คือ เรื่องราวของปกากญอ

 เรื่องราวของปกากญอ

ครั้งหนึ่ง หมอวรวุฒิได้ไปออกหน่วย ณ หมู่บ้านปกากญอ (ที่เราเรียก "กะเหรี่ยง" แต่ปรากฏว่า เขาจะไม่ชอบถูกเรียกว่ากะเหรี่ยง มันมี tone of racism สะเทือนใจเขา... นี่ผมก็พึ่งทราบเหมือนกัน) แห่งหนึ่ง ขึ้นรถไปก็ถามว่าไกลไหม

คนรถตอบว่า "30 กิโลครับ คุณหมอ"

"อ้อ... ถ้างั้น เดี๋ยวเที่ยงๆก็คงจะถึงนะ" หมอวรวุฒิคาดการณ์ กระหยิ่มยิ้มย่อง

"น่าจะประมาณค่ำๆโน่นแหละครับ คุณหมอ"

"อารายกัน ระยะทาง 30 กิโล เดินทางยังไงไปถึงค่ำ ออกแต่เช้านี่นะ?" หมอวรวุฒิสงสัย แต่ก็ช่างมันเถอะ เดี๋ยวก็จะทราบ

ถนนแรกก็ออกจาก รพ. ลาดยาง เรียบร้อย รถวิ่งไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงทางแยก ออกจากถนนหลัก จากถนนลาดยางก็กลายเป็นลูกรังสีแดง รถก็ขโยกๆลงไป ความเร็วตกลงเล็กน้อย ฝุ่นสีแดงปลิวกระจายขณะที่รถแหวกไปเบื้องหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง จนเวลาผ่านไปนานเท่าไรไม่ทราบ ก็ถึงทางแยกอีก ทีนี้จากถนนลูกรัง ก็กลายเป็นถนนทะเลฝุ่นแทน

ถนนทะเลฝุ่น เพราะฝุ่นหนาหนัก ท่วมถนน ก่อด้วยอิฐ หิน กรวด ทราย หนาขนาดครึ่งฟุต ตอนนี้ทุกคนใส่เสื้อผ้าสีเดียวกันหมด คือสีฝุ่น ความเร็วของรถลดลง ช้าไปกว่าเดิมอีก เปลวฝุ่นทิ้งตามหลังรถเป็นมังกรสีเทา บิดม้วน แตกกระจายใส่ข้างทาง ที่ยานพาหนะน้อยคัน จะเคยผ่านเข้ามา ร่องรอยการเดินทางแทบจะไม่มีปรากฏ

หมดจากถนนทะเลฝุ่น ต่อด้วยถนนเลียบขอบเหว เป็นถนนเลนเดียว ฝั่งหนึ่งเป็นผนังภูเขาทะมึนสูง ถนนเอนลาดเทออกไปสู่อีกฝั่ง เป็นขอบเหวลึกลงไป เห็นต้นไม้อยู่ไกลๆ หมอวรวุฒิมองไปก้นเหว ขยับตัวมาอีกฝั่งอย่างไม่รู้ตัว คนขับรถก็ชวนคุย "เมื่อวานตายไปสองครับ หมอ"

"หือ? ใครตายเหรอ" หมอวรวุฒิถาม

"ขับไม่ดี รถไหลลงเหวไปนั่นแหละครับ ไม่รอด ตายหมด 2 คน" คนขับรถตอบ แถมยกมือชี้ให้ดู ขับมือเดียวซะด้วย การเดินทางลดความเหงาลงไปทันที กลายเป็นความตื่นเต้น และประสาทตื่นตัวขึ้นมาโดยอัตโนมัติ หมอวรวุฒิถามไปว่า เอ.. ถนนมันมีแค่นี้แล้วถ้ามีรถสวนทำยังล่ะ? คนขับก็ตอบมาว่า "ใครมาน้อยกว่าก็เป็นฝ่ายถอยครับ" (ใครขับมาเกิดครึ่งทาง ก็ได้ไปก่อน คนที่มาน้อยกว่าต้องกระดืบๆถอยไต่ขอบเหวกลับไปตั้งต้นใหม่) แต่แล้วก็พิสูจน์ว่าเลือกคนขับถูก (หรือดวงยังไม่ถึงวาระ) ก็พ้นถนนขอบเหวมาได้ มาเข้าสู่ถนน 16 ร่องน้ำแทน

ถนน 16 ร่องน้ำเป็นถนนหลุม ถนนบ่อ เต็มไปด้วยการออกแบบตามธรรมชาติที่จะไม่มีถนน คนขับอารมณ์ดี ชี้แจง เล่าเทคนิกให้ฟังขณะเดินทาง "นี่ๆ ตรวนี้กระโดดมาปุ็บ ต้องหักไปทางโน้นนะครับ ไม่งั้นติดหล่ม ถึงตรงนี้เร่งเครื่องเอาไว้ก่อนเลย อย่าเบารถ เพราะต้องกระโจนข้ามร่องไปให้ได้สามร่องทีเดียว ลานตรงโน้นเห็นว่างๆอย่าไปเชียว เพราะจะไปไหนต่อไม่ได้ฯลฯ" ฟังดูแล้ว จินตนาการไปว่ากว่าไอ้คนขับรถมันจะรู้ทั้งหมดนี่ มันเคยติดหล่มมากี่ครั้งวะนี่

ในที่สุด ก็มาถึงปากทาง ไม่เห็นถนนอะไรอีกแล้ว เห็นแต่ชาวบ้านปกากญอหลายคน ยืนรออยู่ หลายคนสะพายบ้าง ถือบ้าง ดาบบ้านยาวเฟื้อยก็มี ดาบสั้นๆก็มี "อืม..." วรวุฒิคิด "เหมือนเทกซัสเลยหวะ ทำไมต้องถือดาบด้วยเนี่ย" ปรากฏว่าปกากญอคนหนึ่ง ก็ชี้มือให้ขับรถไปอีกเนิน ลงเขาไป ทีแท้ทางไปหมู่บ้าน ต้องเดินลงเขาไปอีก 2 กิโล ไม่มีทางรถวิ่ง ชาวปากะยอเขาก็เลยช่วยกันสร้างถนนให้รถวิ่งลงไปได้ด้วยมีดดาบ วันนี้เอง คุณหมอใหญ่จะมาเยี่ยม อา... ในที่สุดก็ถึงถนนสุดท้าย "ถนน hand-made" ที่สร้างมาได้แค่วันเดียว รถก็วิ่งปุเลงๆ หัวคว่ำ กระเด็น กระดอน ลงควน ลงเนิน แหวกต้นไม้ลงไปสองกิโลเมตรถึงหมู่บ้าน ก็มีอยู่หลายครัวเรือน หมอและพรรคพวกก็ตรวจ รักษา จ่ายยา ด้วยความสงสัย ไม่ทราบว่าเพราะอะไร หมอวรวุฒิก็เลยถามไปว่า "เออ... อยู่กันขนาดนี้ เจ็บป่วยมาทำไงเนี่ย?"

"ก็เดินไปข้างบนขรับ" ปกากญอตอบ (ที่จริงเสียงในฟิล์มจะเป็นอีกอย่าง นี่เป็นฉบับพากย์)

"อ๋อ แล้วก็รอรถโดยสาร ใช่ไหม?"

"บ่ บ่มีรถโดยสาร"

"อ้าว! แล้วรถอะไรล่ะ"

"ปลายๆเดิือนจะมีรถผ่าน ผู้ใหญ่บ้านต้องเข้าเมือง ก็จะติดอาศัยไป"

"อ้าว... แล้ว ถ้าเป็นอะไรตอนเวลาอื่น ไม่ใช่ปลายเดือนละ?"

"ก็ต้องไปรอที่ปากทาง ว่าอาจจะมีรถผ่านขรับ"

นึกถึงสภาพถนน และทิศทาง และประสบการณ์ที่ผ่านมา หมอวรวุฒิกลืนน้ำลาย เอ... รถอะไรมันจะผ่านมาทำอะไรแถวนี่ละ หลุดปากถามไปว่า "รอทีนึง นานถึงเท่าไรล่ะ

"แล้วแต่ขรับ บางทีก็วันนึง บางทีก็ 3-4 วัน!!!"

โอ้โห ตั้งสามสี่วัน การเดินทางไป รพ. ของชาวบ้านปกากญอ ที่อยู่ห่างจาก รพ. แค่ 30 กิโลเมตร 

เรื่องราวของชาวปกากญอ เป็นเรื่องจริงแท้แน่นอน แต่เป็นอีกโลกหนึ่งที่เราไม่เคยรับรู้ เราอยู่ในโลกอีกแบบ โลกที่หน้าบ้านมีถนนคอนกรีตลาดยาง มีร้านอาหาร มีร้านของชำ มีคาร์ฟู มีโลตัส การเดินทาง 30 กิโล แบบ "สมบุกสมบัน" อาจจะหมายถึงรถติดเป็นชั่วโมง แอร์รถเสีย ไฟแดงเยอะ ฯลฯ แต่เราจะจินตนาการไม่ออกถึงการเดินทาง 3-4 วันในระยะทางแค่นี้

เมื่อเราไม่เห็นเรื่องแบบนี้ เราก็จะไม่มีช่องว่างให้ความจริงว่าเดินทาง 30 กิโลเมตรใช้่เวลาหลายวันอยู่ในหัวสมอง นึกถึง scenario ที่แม่ปกากญอคนหนึ่ง มีลูกป่วย ต้องอุ้มลูกขึ้นเขามา 2 กิโล เสร็จแล้วก็นั่งรอข้างทาง ว่าเมื่อไรจะมีรถมา ระหว่างรอ ก็จะเฝ้าดูลูกที่อาจจะอาการหนักลงๆ ในที่สุด หลังจากรอได้ 4 วัน ก็มีรถผ่าน โบกรถมาส่งที่ รพ. บอกหมอว่าลูกป่วยมาได้ 4 วันแล้ว หมอเห็นเด็กไข้สูง ทั้งเพลีย ทั้ง dehydrate ก็ดุแม่ปกากญอไปโดยไม่ทันคิด "อะไรกัน ไปทำอะไรอยู่ ลูกป่วยไม่รีบพามาหาหมอ ปล่อยให้เป็นอยู่ได้ตั้ง 4 วัน ไม่รักลูกเลยหรือยังไง?"

แล้วแม่ปกากญอคนนั้นจะรู้สึกอย่างไร?

 

 

หมายเลขบันทึก: 153045เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2007 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

พวกเราทุกคน จะมีโลกส่วนตัว และเราจะใช้ประสบการณ์เก่า ความเชื่อ คุณค่า value ความทรงจำ ความหมาย ของเราเอาไปทาบเคียงกับข้อมูลที่เข้ามาเสมอ ดังนั้นเรียกได้ว่า พวกเราทุกคน "มีความเสี่ยง" ที่จะตัดสินผิด เข้าใจผิด และพลอยคิดผิด กระทำผิดไปด้วย 

ปัญหาก็คือ สิ่งที่เราทำ ไม่ได้มีผลกระทบต่อตัวเราคนเดียว แต่มักจะไปทำให้คนอื่นโดนหางเลขไปด้วยเสมอ ยิ่งอาชีพแพทย์ พยาบาล เป็นอาชีพที่การสื่อสาร ความเข้าใจ สำคัญมากๆ เพราะจะต้่องมี trustworthiness หรือ คุณสมบัติ "ไว้ใจได้" เป็นสรณะ เราจะเกาหลังให้ใคร เราก็ต้องเข้าใจเสียก่อนว่าเขาคันตรงไหนของหลัง ไม่ใช่เกาตรงไหนก็ได้ คันแค่ไหน ต้องการเกาขูดๆ หรือเกาเบาๆ ไม่ใช่เกาตามใจคนเกา แต่เป็นการเกาเพื่อคนที่ีคัน

เมื่อเรามี voice of judgment เราก็จะฟังน้อยลง หรือไม่ได้ฟังใครเลย ทันทีที่ได้ยินเสียง เริ่มต้นไปได้ไม่เท่าไร เราก็ download ของเก่าๆ มาเติมเต็มเอง หยุดฟัง ได้ยินแต่เสียงง้องๆแง้งๆ พอเสียงหยุด เราก็ใส่สิ่งที่เรามีอยู่ก่อนออกไปทั้งหมด เรียกอีกอย่างว่าอันความจริง มีอยู่ version เดียว คือของเราเองเท่านั้น ที่เราทำท่าฟัง ก็ทำไปยังงั้นเอง ไม่ได้มีอะไรเข้าหัว เข้าหู ไม่ได้มีอะไรใหม่เกิดขึ้น

ในที่ประชุมที่ไหนก็ตาม หรือห้องเรียน ถ้ารับรู้โดยมีเสียงแห่งการตัดสินกำกับ พอเสร็จการประชุม ก็จะไม่ได้อะไรเลย เหมือนกับไม่มีประชุม เพราะไม่มีใครฟังใคร มีแต่คนพกพาเอาวาระของตนเองเข้ามา จะระบาย ไม่ได้เตรียมตัวที่จะดูแลวาระของคนอื่นๆเลย ก่อนเข้าประชุมมีอยู่แค่ไหน ออกจากห้องประชุมก็มีเท่าเดิม ส่วนนักเรียนที่เดินเข้าห้องด้วยสมองที่เต็ม ก็จะไม่รับอะไรเข้าไปเพิ่มเติม เรียกว่าไม่พร้อมที่จะเรียน 

อาจารย์คะ  "Voice of Cynism และ Voice of Fear"

เป็นอย่างไรคะ...(มีในบันทึกไหนแล้ว? หรือว่ากำลังจะเขียนต่อไปคะ)...อยากอ่านค่ะ..ขอบคุณค่ะ

เรื่องมันยาวครับ แต่จะมีต่อครับ ใจเย็นๆ อาจารย์ลองให้ความเห็นในภาคแรกนี้ก่อนก็ได้ครับ

 

สวัสดีค่ะ

การที่เราฟังใครๆน้อยลงเป็นเพราะ

1.เรามีความภูมิใจ และความเชื่อในความสำคัญของตนเองอย่างยิ่ง

2.ความภูมิใจอย่างหยิ่งผยอง นึกว่าตนเองสำคัญกว่าหรือรู้มากกว่าคนอื่น

3  ความรักและชื่นชมตัวเองอย่างล้นเหลือในรูปลักษณ์หรือความสามารถ

ใช่ไหมคะ  เราจึงมีvoice of judgement พร้อมอยู่ที่จะตัดสินอะไรๆอยู่แล้ว

สวัสดีครับคุณ sasinanda

ทั้งสามข้อ และเหตุผลอื่นๆอีกครับ

คนเราถ้าไม่ได้ให้ความหมายกับสิ่งที่เรารับรู้ ก็จะไม่ทราบว่าจะทำอะไรต่อ ยิ่งไม่ได้เป็นอะไรที่คุกคาม survival ข้อมูลจะต้องมีความหมายเสียก่อน

การที่เราจะหลีกเลี่ยง voice of judgment เราต้อง "ช้าลง" กว่านี้อีกนิดนึง ไม่ด่วนตัดสิน แขวนเรื่องราวต่างๆไว้ก่อน อย่าพึ่งให้คุณค่า ทั้งดี/ไม่ดี เราอาจจะรู้สึกด้อยค่าอยู่ก็ได้ในการจะมี voice of judgment เช่น  ฉันคงออกไปยืนร้องเพลงต่อหน้าคนจำนวนมากไม่ได้แน่ๆ ฉันคงพูดในที่สาธารณไม่ได้แน่ๆ เสียงแห่ง judgment เหล่านี้ก็จะปิดกั้นความเป็นไปได้มากมายออกไปจากโลกของเรา

เราอาจจะท้อแท้ คิดว่าถ้าเจออย่างนี้ก็จะไม่มีทางออก สุดท้ายอาจจะถึงขั้นฆ่าตัวตาย ก็เพราะ voice of judgment ได้เหมือนกัน เพราะเรามองไม่เห็น choice อื่นๆ

เราอาจจะเกลียดตัวเอง เพราะ voice of judgment ก็ได้ เราช่างน่าเกลียด อ้วนไป ผอมไป คนคงจะไม่ชอบ ไม่รัก ไม่นับถือ

เสียงแห่งการตัดสินมีหลากหลายรูปแบบครับ และน่ากลัวในหลากหลายรูปแบบด้วยเช่นกัน 

สวัสดีครับ

  • เท่าที่ผมสัมผัสมา Voice of Judgment เป็นอุปสรรคต่องานพัฒนามากจริงๆครับ
  • สัญญาเก่าๆ จากปูมหลังชีวิตในวัยเด็กของคนๆนั้นน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งใช่ไหมครับ
  • ร่วมกับการปรุงแต่งส่วนตัวเข้าไปอีกจนเละ
  • ทำให้ยากที่จะปรับ paradigm ให้คิดบวกในยามยาก หรือเมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ
  • มักเชื่อแบบฝังหัว
  • ในที่ประชุมถ้าหากประธานในที่ประชุม มีแนวคิดแบบนี้ หากสมาชิกเสนออะไรมา แต่ประสิทธิภาพการฟังและรับรู้ของประธานไม่ดีพอ สิ่งที่จะพบก็คือ วงแตก การไหลลื่นของความคิดดีๆมีอุปสรรค
  • ---
  • อยากทราบกระบวนการ input การคิดเชิงบวก และแขวนเรื่องราวต่างๆไว้
  • การพูดน้อยๆ ฟังเสียงข้างในตัวเองให้มากพอช่วยได้ไหมครับ

สวัสดีครับอาจารย์

  มาดูเซียนเขาถกกันในนี้ครับ ^_^ 

   P พี่กบ.... ข้ามสีทันดร

 

  ท่านอาจารย์P sasinanda

และอาจารย์P จันทรรัตน์

ครับ...^_^

สวัสดีครับ คุณข้ามสีทันดร

สัญญามักจะไม่เก่าครับ เราหยิบมาใช้ทุกวันเลย ถูกอุปาทานต่อเติม ตกแต่ง มาตลอดชีวิต รู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง ดังนั้นเวลาเราใช้สัญญานั้น เราแทบจะไม่ต้องคิดเลย มันสวมกับสิ่งกระตุ้นออกมาจากศีรษะเราเลยนั่นทีเดียว

การแขวนก็คือการอย่าพึ่งสวมอะไรให้กับอะไร เวลาเรารับรู้อะไร

อาจจะไม่ต้องแม้แต่คิดเชิงบวก เอาเป็นคิดทุกเชิง จะดีไหม ยังไม่ตัดสินคุณค่าของมัน แต่มองย้อนไปหาแหล่งกำเนิด ที่มาของมันแทน เราอาจจะใกล้เคียงกับสิ่งที่มันเป็นจริงๆได้มากขึ้นก็ได้ 

  • ขอบพระคุณมากครับที่กรุณาชี้แนะ
  • แล้วผมจะเข้ามาเรียนรู้อีกนะครับ

http://gotoknow.org/blog/ariyachon/146986

เรื่อง ลิงค์  กันได้ เสริมกันพอดี ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท