Gotoknow Forum 2009 (1): ธนาคารชีวิต


ธนาคารชีวิต

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 และวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา Gotoknow จัดงาน forum ครั้งที่หนึ่ง ฉลองครบรอบอายุ 4 ขวบปี เชื้อเชิญสมาชิก blogger ทีีหลายต่อหลายคนเคยสนทนากันผ่าน virtual world เป็นปีๆให้ได้มาพบกันตัวเป็นๆ ยืนยันว่าที่คุยๆกันไม่ได้คุยกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และตัวจริงนั้นหล่อ (สวย) กว่ารูปเป็นไหนๆ หลังจากนี้เวลาอ่าน blog ของแต่ละท่าน เราจะได้รำลึกถึงสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง (นุ่ม ทุ่ม แหลม กัมปนาท แหบเครือ) ปะปนกับสำเนียงเหนือ ใต้ อีสาน กลาง ตะวันตก แบบ authentic ประกอบเนื้อหาสาระที่อ่านไปด้วย การอ่านแบบภาววิสัย (objective and impersonal and I in it) จะได้เลื่อนชั้นเป็นการถ่ายทอดทั้ง contents ทั้ง intention ทั้งตัวตนและความสัมพันธ์ (subjective, personal and I in You)

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่พบในงานนี้ก็คือ คุณภาพรูปถ่ายของเจ้าของ blog ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไรเลย ไม่ทราบเป็นเพราะเลือกมาไม่ดี หรือว่ารังสีออร่าของแต่ละท่านไม่สามารถถูกบันทึกได้ด้วยระบบดิจิตอล หลายต่อหลายคนเห็นหน้าแล้วก็ต้องถามย้ำแล้วย้ำอีกว่าใช่แน่หรือ คนนี้เนี่ยนะ คนตัวเล็กกลายเป็นคนตัวสูง ตัวใหญ่หดลงเหลือตัวนิดเดียว คนเฒ่ากลายเป็นเด็ก วัยรุ่นกลายเป็นชรา สรุปแล้วน่าจะลองให้ทุกๆท่านกลับไปหารูปใหม่มาใช้ (ยกเว้นบางคนที่รูปหน้าเด็กมากๆ ใครต่อใครแนะนำให้เปลี่ยนก็คงจะไม่ยอมง่ายๆ ไม่เหมือนคนที่ถูกทักว่ารูปแก่ไป อ้วนไป โทรมไป จะดูตอบสนองต่อเสียงนกเสียงกาได้ดีกว่า)

ลองดูสินค้าตัวอย่าง จากรูปตัวจริง (ไม่ได้ตัดต่อ หรือใช้ photoshop.... มากนัก แต่อย่างใด)

ธนาคารชีวิต

บ่ายวันแรก เป็นโปรแกรมไปชม รับฟังเรื่องราวของ "ธนาคารชีวิต" ที่ชุมชนคูเต่า ตามธรรมเนียมของ สคส. ก็มีการทำ BAR (before action review) เสียก่อน ก็แบ่งกลุ่ม ไต่ถามแลกเปลี่ยนกันว่าประเดี๋ยวอยากจะได้อะไรบ้าง อยากจะเห็นอะไร รู้อะไร พวกเราก็จัดแยกเป็นสามกลุ่ม สามสี สีส้ม สีน้ำเงิน และสีชมพู

รายละเอียดของธนาคารชีวิตที่ว่า คงจะมีคนถ่ายทอดเป็นอย่างดีตาม blogs ต่างๆใน gotoknow ไปแล้ว ผมขอสะท้อนมุมมองแบบ informal ของผมเองไปอีกนิดนึงก็แล้วกัน

เขียน BAR เสร็จ ผมก็เกิดความคิดว่า ถ้าเราจะเอาให้ได้ตาม BAR สงสัยจะต้องไปค้างที่ชุมชนนี่สักอาทิตย์นึงจึงจะได้ทั้งหมดตามที่คาดหวัง การทำ BAR นั้นมีประโยชน์ที่ทำให้เราทำกิจกรรมอย่างมีวัตถุประสงค์ ไม่เลื่อนลอย จะได้มีอะไรมายึดเหนี่ยวสมาธิ เกิดธัมมะวิจัยได้ ตั้งหลักไปก่อน

แต่มองอีกมุมหนึ่ง ตัวผมเองคิดว่า บางครั้งการตั้งเป้าหมาย ตั้งเข็ม ที่ลงละเอียด ลงกรอบมากไปอาจจะเป็นพันธนาการผูกมัด ที่จริงศักยภาพในการเรียนรู้ของมนุษย์นั้นกว้างใหญ่ไพศาลเกินจินตนาการ  และไร้ขีดจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้่าเรากำลังจะได้ไปเจออะไรที่ "น่าจะดี" ผมคิดว่าการทำ BAR ที่ดีที่สุด ก็คือการตั้งจิตอธิษฐานว่าชีวิตเรากำลังจะได้เรียนรู้อะไรที่เป็นมงคล ได้อะไรมาประดับกาย ประดับใจให้ประภัสสรกว่าเดิม ทำจิตใจให้ปลอดโปร่งโล่งสบาย รับได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ศิโรราบต่อประสบการณ์ที่กำลังเผชิญเบื้องหน้า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยบังเอิญ แต่เพื่อทำให้เราได้เรียน ได้รู้ ได้รู้สึก ได้คิด ได้ใคร่ครวญ เพราะการตั้งเป้าให้ละเอียดเกินไป ในเวลาจำกัดด้วย อาจจะทำให้เราเผอเรอ เกิดทุรนทุราย ยังไม่ได้ยินได้ฟังสิ่งที่เราตั้งใจมาถามสักที พอเรากระวนกระวาย ใจไม่สงบ เราก็จะพลาดอะไรที่เราเผอิญ "ตั้งใจไว้ว่าไม่ได้มาฟังเรื่องนี้" ปิดการรับรู้ไปโดยไม่รู้ตัว ในกรณีที่ผมจะไปเรียนอะไรที่ค่อนข้างจะยิ่งใหญ่ และสำคัญๆ ผมคิดว่าการ open mind, open heart, open will เป็นการเตรียมตัวที่เหมาะสมและเปิดกว้าง ไม่มี rule out มีแต่ rule in และรับหมด ไม่รังเกียจเดียดฉันท์อะไรไว้ล่วงหน้า จึงไม่ได้รู้สึกว่าขั้นตอนใดๆเป็นการเสียเวลาเลยแม้่แต่วินาทีเดียว

เดินทางมาถึงวัดคูเต่า ก็มีชาวบ้านออกมาต้อนรับตั้งแต่หน้าวัด มีคนเฒ่า คนแก่ เด็ก หนุ่ม สาว ชรา เดินไปเดินมาอย่างคึกคัก ที่นี่ดูจะไม่แปลกหน้าต่อการมีคนมาเยี่ยม มาดูงาน เพราะกิจกรรมธนาคารชีวิตทำมาได้ 20 กว่าปีแล้ว ถ้าจำไม่ผิด จะเริ่มตั้งแต่ 18 ตุลาคม 2527 จนบัดนี้ก็ร่วม 54-55 ปี น่าจะมีสัก 3 generations life span ที่เป็นผู้ก่อตั้ง หรือโตมากับโครงการ และเกิดมาหลังโครงการ อยู่ในชุมชนนี้

ท่านทอง สมภารวัดดอน ต.คูเต่า ศูนย์รวมยึดเหนี่ยวจิตใจ และโครงการธนาคารชีวิต

"โยมอยู่ได้ วัดอยู่ได้ ชาวบ้านอยู่ได้" เป็นวิสัยทัศน์ที่เรียบง่าย เริ่มต้นจากการตั้งโครงการมาเพื่อแก้ปัญหา ไม่สร้างปัญหา อาศัยจุดแข็งสองประการ คือ หนึ่งมีวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน และสองมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว

เริ่มต้นมีสมาชิกแค่ 18 คน (ฟังอย่างกับ 18 ยอดมนุษย์ทองคำ) และหลังจากนั้น ด้วยเจตจำนงความมุ่งมั่น และการใช้หัวใจในการสืบทอด กิจกรรมก็ได้ตกทอดมาเป็นเวลากว่ายี่สิบปี มีกลุ่มกิจกรรมมงคล 38 ประการ เป็นเสมือนวิชาเลือกส่วนตัวของสมาชิก ว่าใครจะเอาหมัดตั๊กแตก ใครจะเอาฝ่ามือพยัคฆ์ ไว่้ต่อสู้กับมารในชีวิตประจำวัน ผลก็คือ ชาวบ้านมีมงคลเป็นเกราะเพชรประภัสร เป็นอาภรณ์ชั้นในของหัวใจ และสะท้อนถึงความสงบสุข ความเป็นอยู่ ออกมาทางใบหน้า ทางวาจา ทางคำพูด

"เราไม่ได้ต้องการกฏ กฏหมายข้อบังคับอะไร เพราะของเดิมของเราก็ทำมาได้อยู่ดีอยู่แล้ว" ท่านทองพูดถึงตอนที่มีเจ้าหน้าที่สหกรณ์จังหวัดจะมาเกลี้ยกล่อมให้จดทะเบียน "เมื่อ มีปัญหาเราก็ใช้วิธีปรองดอง พูดคุยกัน ชี้แจงกัน ให้อภัยกัน สุดท้าย ทุกคนก็อยากจะอยู่ในชุมชนต่อไปอย่างมีความสุข ไม่อยากถูกรังเกียจเดียดฉันท์ เราก็อยู่กันได้่"

 

เมื่อธนาคารชีวิตเริ่มต้น มีอุบายให้ชุมชนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นคนทำ เป็นคนดูแล จากการเก็บออมแค่วันละบาท ไม่มากกว่านี้ ไม่น้อยกว่านี้ ธนาคารชีวิตก็มีต้นทุนเพียงพอ เพราะไม่ได้เป็นต้นทุนที่ใช้่เงินเป็นหลัก (ไม่ใช้่เงินเป็นจุดเริ่มของการทำลาย ล่มสลาย) แต่ใช้เงินออม ที่ได้มาจากการลดอบายมุข ได้มาจากการลดความฟุ่มเฟือย เป็นเงินที่มีจิตอธิษฐาน (intention) เพื่อชุมชน เป็นอนุโมทนาของปัจเจกต่อกุศลแก่ส่วนรวม ต้นทุนที่แท้คือจิตทาน คือทานบารมี คือสามัคคีบารมี และความดี ธนาคารชีวิตแห่งนี้จึงมีต้นทุนที่หนักแน่น ยั่งยืน และร่มเย็น มีภูมิคุ้มกันอันกล้าแกร่งที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆที่ประเดประดังเข้ามาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ในองค์กร หรือกิจกรรมใดๆก็ตาม วิสัยทัศน์ แรงบันดาลใจ หรือที่มาแรงผลักดันจะเป็นสิ่งกำหนดว่าคนในองค์กรหรือกิจกรรมนั้นๆ จะไปได้ไกล ไปอย่างมั่นคงเพียงไร อะไรเป็นความเสี่ยง เป็นความท้าทายต่อจุดกำเนิดพลังงานนั้นๆบ้าง สำหรับวัดดอน ต.คูเต่านั้น มีเอกลักษณ์ที่อาศัย "จุดแข็ง" ของชุมชนที่น่าสนใจ มีการเปลี่ยนแปลง "คุณค่า" ทางนามธรรม ให้กลายเป็นรูปธรรมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการปลูกฝัง หยั่งราก ผลิใบ ออกดอกออกผล

เงินที่เก็บเป็นกองกลาง มีไว้ใช้สำหรับประโยชน์ส่วนรวมของชุมชน มีกันเป็นเงินสำรองบำรุงสุขภาพ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะมีเงินช่วย 20% สำหรับ OPD case หรือ 200 บาท ถ้าต้องนอน รพ. มีกันไว้ส่วนหนึ่งสำหรับช่วยเหลือเวลามีสมาชิกเสียชีวิต สำหรับเป็นค่างานศพ

แต่ที่น่าสนใจก็คือเงินกู้ เมื่อมีเงินเก็บ ก็จะมีการปล่อยกู้ ที่ไม่ได้เน้นดอกเบี้ย เมื่อมีคนสนใจจะกู้ คณะกรรมการก็จะให้ผู้ที่จะมากู้ทั้งหมด มาพูดคุยกันเอง บอกถึงความจำเป็นของตนให้เพื่อนๆฟัง ว่าตนจะเอาเงินไปใช้ทำอะไร และคนที่จะมากู้ทั้งหมดเป็นคนตกลงว่าใครควรจะได้เป็นคนกู้ในครั้งนี้

การทำเช่นนี้ ทำให้เงินกู้นั้นเป็นเงินที่ศักดิ์สิทธิ์ คนกู้ตระหนักรู้ว่า มีคนจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนนี้เช่นกัน แต่เพราะเขาเห็นว่าเราจำเป็นกว่า จึงเสียสละให้ ทำให้คนได้เงินไปไม่กล้านำไปใช้สุรุ่ยสุร่าย เพราะเป็นเงินที่มาจากการเสียสละ มีสัจจะส่วนตัวอยู่ในการได้มาซึ่งเงินนี้

มีกรณีน้อยมากๆที่นานๆจะมีคนส่งเงินคืนไม่ทัน ก็จะใช้ระบบปรองดอง พูดคุยกัน โดยคณะกรรมการ โดยสมาชิกของกลุ่ม สุดท้ายอาจจะเป็นการพูดโดยท่านสมภารทอง ซึ่งมักจะลงเอยโดยการรอมชอมและพยายามหาเงินมาคืนได้ในที่สุด เพราะไม่มีใครอยากทำให้ตนเองแตกแยกจากชุมชน และเห็นประโยชน์ในการทำตนตามกฏระเบียบ หรือ community codes of conduct ระบบแบบนี้คงจะเกิดยากถ้าเราอิงกับกฏหมาย หรืออะไรที่ rigid และแห้งแล้ง ไม่มีการพูดจากัน ไม่มีกระบวนการที่ทำให้มองเห็นความจำเป็นและการเห็นอกเห็นใจ หรือกระบวนการที่นำไปสู่การให้อภัย การกลับเนื้อกลับตัว

  

 

บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่มาให้ความรู้ เปิดใจ ประกายตาเปี่ยมไปด้วยความสุข แรงบันดาลใจทำให้ผู้มาฟังก็เกิดความปิติ เกิดความสนใจ เมื่อความอยากรู้ผุดกำเนิด กระบวนการแสวงหาความรู้ก็ตามมาโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ ท่านสมภารทองเล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านสมาชิกธนาคารชีวิตแห่งนี้ ได้มีการจับกลุ่มย่อยกิจกรรมกันเอง โดยแต่ละกลุ่มก็เลือกเอาหัวข้อใดก็ได้จาก "มงคล 38 ประการ" มาเป็นชื่อและกระบวนทัศน์ของกลุ่ม เมื่อถึงเวลา ก็จะมีการจัดกิจกรรมภาคปฏิบัติเพื่อให้สะท้อนคุณค่าของมงคลนั้นๆ เป็นกิจวัตรประจำ รวมทั้งโยงใยไปถึงกลุ่มเยาวชน คือลูกหลานของสมาชิก ที่จะสืบทอด แปรเปลี่ยนคุณค่านามธรรมออกเป็นกิจกรรม พฤติกรรม เป็นรูปธรรม เหมือนกับ Outcome Mapping ที่ผมไปเข้าฝึกอบรมมาของ อ.ประพนธ์ ผาสุขยืดนั่นเลยทีเดียว

ผมคิดว่าทุกเนื้อหา ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ยิน ได้ฟัง แม้เพียงช่วงสั้น มีอะไรมากมายรอคอยการตกผลึกภานในตัวเรา ความคาดหวังต่างๆนั้น ผมคิดว่าเราสามารถวางลงไว้ก่อน และรีบตักตวงรับรู้ในสิ่งที่ผุดปรากฏอยู่เบื้องหน้า คุณค่าที่เป็นอะไรละเอียดอ่อนนั้น น่าจะมีประโยชน์มากกว่า methodology ต่างๆ เพราะที่สุดแล้ว แรงบันดาลใจ หรือ The Source ของพฤติกรรมของเราต่างหากที่จะ hold values ที่แท้ ไม่ว่าแต่ละท้องที่ แต่ละถิ่น บริบทแตกต่างกัน อาจจะทำไม่เหมือนกัน แต่หากแรงผลักรากฐานที่แท้ มาจากหัวใจ มาจากความหวังดี มาจากการทำเพื่อเธอ เพื่อส่วนรวม ผลที่ได้ก็จะไม่ต่างกันสักเท่าไหร่

สมภารทอง วัดดอน ต.คูเต่า

ถ่ายรูปหมู่หน้าศาลา

พี่เต็มกำลังเข้าฌานระดับสูงอยู่ครับ ใครอย่าเข้ามาใกล้เชียว อิ อิ อิ

รูปนี้ได้รับความกรุณามาจากคุณซูซานครับ ชอบมากๆครับ

หมายเลขบันทึก: 263710เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2009 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

สวัสดีค่ะ อาจารย์หมอ

  • รูปครูอ้อยจากกล้องของอาจารย์หมอ สวยไม่อ้วน  ไม่แก่
  • แต่ที่แน่ๆๆ  อาจารย์หมอไม่แก่เลยค่ะ

ครูอ้อย รักและเคารพ อาจารย์หมอเสมอค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ ผมรู้สึกประทับใจกับหลักในการคิดและวิเคราะห์ของอาจารย์มากเลยครับ มันละเอียดและลึกซึ้งมาก ผมยังไม่รู้เลยว่าเมื่อไรผมจะได้มีความสามารถได้สักเสี้ยวหนึ่งของอาจารย์ได้เลย อีกอย่างรูปถ่ายแต่ละรูปที่อาจารย์ถ่ายมาระดับมืออาชีพเลยนะเนี่ย

สวัสดีครับ อาจารย์หมอPhoenix

  • มาทบทวนและติดตามผลจากอาจารย์ครับ
  • ผมยัง งงๆ กับวัดดอน กับวัดคูเต่า ครับอาจารย์
  • สงสัยผมมัวแต่นั่งบี้มดดำตัวเล็กๆที่หล่นมาใส่อยู่แน่เลย ..อิอิ

ขอบคุณครับ ที่เอารูปคนหล่อๆ สวยๆ มาลงให้ชม เอิ๊กๆๆๆ

  • กลัวมาช้า
  • ฮ่าๆๆ
  • เอามาเพิ่มครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

แวะมาทักทายค่ะ

 

สวัสดีคะอาจารย์

อาจารย์หายเหนื่อยยังคะ

เป็นปลื้มมากคะ

ไก่ขอภาพจากคุณเอก จตุพร มาฝากอาจารย์นะคะ

สวัสดีครับครูอ้อย และ สะมะนึก

ดีใจที่ได้เจอะเจอตัวจริงครับ ครอบครัวน่ารัก มิน่า ทำอะไรๆก็น่ารัก ขอบคุณสะ-มะ-นึก ครับ ผมลืมชื่อวัดไปน่ะครับ นึกแล้วว่าต้องมีคนเมตตาบอกทางให้

สุรเชษฐครับ

ดีใจที่ได้มาเจอในงานนี้เช่นกันครับ เราต่างก็มีกุศลที่จะเสริมซึ่งกันและกัน และเรียนรู้จากกันตลอดเวลานะครับ

โห อ.ขจิตครับ

high tech มากๆ ได้ดูรูปเป็นที่ระลึกจมเลย ขอบพระคุณมากครับ

คุณไก่ครับ

ทีมขอนแก่น อีสานน่ารักจริงๆครับ ถ้ามีโอกาสจะไปเยี่ยมคืนบ้าง

คุณประกายครับ

ขอบคุณมากๆครับ ส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยมีรูปอยู่ด้วย นานๆจะมีใน collection ซะทีนึง

ชอบสไตล์การแต่งตัวของอาจารย์มากๆค่ะ หน้าตาอาจารย์ตัวเป็นๆ ยังหน้าเด็กๆนะคะ ขอบคุณที่ชมทีมเราค่ะ ยินดีต้อนรับค่ะ ถ้ามาขอนแก่นทีมเราจะพาทัวร์ค่ะ

อาจารย์สกลคะ

 ขอบคุณสำหรับบทเรียงร้อยถ้อยคำอันเป็นสาระค่ะ

เห็นรูปที่อาจารย์ถ่ายแล้วบอกได้เลยว่าสมควรแบกกล้องระดับโปรต่อไปนะคะ

 

สุขจันทร์

สวัสดีค่ะอาจารย์หมอสกล มาทักทายอาจารย์ค่ะ ไม่ได้ไปร่วมงานเเต่ติดตามจาก blog

หลายต่อหลายท่าน ประทับใจค่ะโอกาสหน้าจัดอีกคงได้ไป ที่สำคัญมาบอกอาจารย์ว่าหนูเป็นลูกศิษย์วิชา palliative care แอบเรียนตั้งเเต่ HA Forum ปี 49

หลายอย่างที่เรียนรู้จากอาจารย์วันนั้นได้นำมาพัฒนางานต่อ เหมือนได้เเรงบันดาลใจจากท่านอาจารย์ค่ะรวมทั้งอาจารย์หมอเต็มด้วย วันนี้แวะมาขอบคุณค่ะ

อ.Jan Pครับ

ฮ่า ฮ่า เรียกว่าเป็นการลงทุนที่ผลตอบแทนคุ้มค่าครับ (แต่แบกน้ำหนักหน่อย)

คุณสุธีรา Pครับ

งาน palliative care นั้น เรา "ขอยืม" พลังมาจากเรื่องราวของชีวิตผู้คนมาเป็นที่มาของพลังงาน ทุกครั้งที่ไปสนทนาเรื่องนี้ที่ไหน ผมได้มากกว่าที่ให้เสมอเลยครับ

ยินดีที่มาร่วมเป็นสังฆะกันครับ

เรียน อาจารย์หมอสกลค่ะ

อาร์มขอสารภาพ ครั้งแรกที่เห็นอาจารย์อาร์มรู้สึกเกรงมากเลยค่ะ

แต่ว่าพอได้คุยกับอาจารย์(ครั้งแรกที่หน้า lobby โรงแรม)ก็รู้สึกหายเกรงค่ะ

ชอบการแต่งตัวอาจารย์มากเลยค่ะ แหะๆ

คุณอาร์มP ครับ

แหม Usablelab น่าจะผ่อนคลายนะครับ มีทั้ง อ.จันทวรรณและอ.ธวัชชัย เกรง (เกร็ง) มากๆระวังเป็นตะคริว

ชอบจริงต้องลองแต่งเองด้วยครับ แล้วจะติดใจ (ไม่ต้องห่วงเรื่อง size รอบเอว อิ อิ)

ได้เรียนรู้ เกี่ยวกับ Outcome Mapping อย่กเข้าร่วม ฝูงนก ฟีนิกส์ ด้วยคนครับ บ้านอยู่เชียงใหม่ ทำงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตำแหน่งหัวหน้าแผนกพัฒนาและฝึกอบรม อนาคต อยากหาความรู้เพื่อเป็นวิทยากร (คงนานนะครับ)

ลองเป็นหัวหน้าแผนกพัฒนา ผมน่าจะเป็นฝ่ายเรียนมากกว่านะครับ ยินดีจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยคนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท