เรียนวิชาสานกระติบข้าวที่บ้านนาสะไมย์ -1 บ้านนาสะไมย์และคุณครูคนเก่ง


การให้เด็กๆฝึกหัดจักสานน่าจะช่วยฝึกสมาธิไปด้วยในตัว

ในพิธีรับมอบทุนการศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา น้องเป้ (ด.ญ.รุ่งฤดี อุทปัท) นักเขียนจดหมายคนหนึ่งของเราได้มอบกระติบข้าวให้เป็นของฝากแก่ตัวแทนผู้ให้ทุนชาวญี่ปุ่น และมีกระติบน้อยให้เลขาฯด้วยหนึ่งคู่ กระติบนี้แม่ของเป้เป็นคนสาน แต่เป้บอกว่าเป้เองก็สานได้ ที่หมู่บ้านใครๆก็สานกระติบเป็นกันทั้งนั้น ด้วยความที่เป็นคนชอบสาน เลขาฯเลยได้โอกาสไปเยี่ยมเยียน และฝากตัวเป็นศิษย์ให้ครูเป้และครูโบ๋ย (ด.ช. อนุชิต อุปชัย) ชาวนาสะไมย์สอนวิชาสานกระติบข้าวให้ในช่วงปิดเทอมเดือนตุลาคมที่ผ่านมาค่ะ

   

กระติ๊บคู่แรก แม่ของเป้สานให้

     บ้านนาสะไมย์เท่าที่เป้กับโบ๋ยพาเดินเที่ยวมีขนาดค่อนข้างใหญ่ทีเดียว มีสำนักงาน อบต. นาสะไมย์ โรงเรียนบ้านนาสะไมย์ มีวัดถึง 2 วัด เป็นวัดบ้านขนาดเล็กอยู่ในชุมชน กับวัดป่าที่มีบริเวณกว้าง มีต้นไม้ใหญ่มากมาย แต่อยู่ไกลออกไปนิดหนึ่ง มีหน่วยกู้ภัยฉุกเฉิน และยังมีหน่วยไปรษณีย์ให้เป้ไปส่งจดหมายได้สะดวกมาก ที่น่าทึ่งก็คือ ที่หมู่บ้านนี้ มีช่างฝีมือทำงานหลากหลายชนิดอยู่ด้วยกัน บางคนเป็นช่างแกะสลักไม้ บางคนเป็นช่างหัตถกรรมทองเหลือง บางคนทำหมอน ทำกระติบข้าว บางบ้านก็ทำเป็นโรงงานขนาดเล็กทำอุปกรณ์การเกษตรง่ายๆ เช่น จอบ เสียม เดินไปทางไหนก็เห็นคนกำลังทำงานกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะการสานกระติบข้าวดูเหมือนเป็นงานสบายๆที่ทำได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ นั่งรวมกลุ่มคุยกันไปทำกันไป บางคนตาดูทีวีมือก็สานไปโดยไม่ต้องมอง อย่างเช่นน้องโบ๋ยของเรามีความสามารถนอนดูทีวีไปสานไปได้โดยไม่ผิดพลาดเลย เยี่ยมจริงๆค่ะ

  

หกแยกกระติบข้าว กลางบ้านนาสะไมย์

  

ทำงานไปคุยเล่นกันไป

     นอกจากมีฝ่ายผลิตอยู่ในหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก ที่นี่ยังมีพ่อค้าแม่ค้าอยู่หลายคน ทำหน้าที่รับซื้อสินค้าที่เพื่อนบ้านผลิตนำไปขายในต่างจังหวัด ป้าของเป้ก็เป็นแม่ค้าคนหนึ่งค่ะ เย็นวันที่เลขาฯเดินทางไปถึง ป้ากำลังบรรทุกของขึ้นรถเตรียมไปขายหมอนและที่นอนในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน ออกเดินทางกันตั้งแต่ตีสี่ แวะค้างกลางทางไปเรื่อยๆ 2-3 วันจึงจะกลับ แน่นอนว่าขากลับก็หาซื้อของกลับมาขายได้ด้วย การที่คนทำกับคนขายเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกันซึ่งก็เป็นญาติกันแทบทั้งนั้น ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการเอาเปรียบหรือกดราคา  หมู่บ้านนี้ที่มีทั้งช่างฝีมือและพ่อค้าอยู่ด้วยกัน ก็เลยมีเศรษฐกิจค่อนข้างจะคึกคัก มีตลาดชาวบ้านที่คนในหมู่บ้านเองและหมู่บ้านใกล้เคียงจะเอาพืชผักผลไม้ อาหาร และสินค้านานาชนิดมาตั้งขายทุกเช้าตั้งแต่ประมาณตี 5 พอเกือบๆ 7 โมงตลาดก็วาย แต่หลายคนก็ยังจับกลุ่มคุยกันอย่างสนุกสนาน

 

บรรยากาศตลาดในหมู่บ้าน (ช่วงใกล้จะวาย)

 

 ไต้จุดไฟวางขายในตลาดเช้า ห่อสวยดี

     เรื่องประทับใจมากที่สุด เห็นจะเป็นชีวิตในครอบครัวของน้องๆ ที่บ้านเป้อยู่กันสามรุ่น คือ ตายาย พ่อแม่ เป้และพี่ชาย ยายของเป้อายุเจ็ดสิบกว่าแล้วแต่ยังแข็งแรงและกระฉับกระเฉง เดินเหินได้ว่องไวไม่แพ้คนหนุ่มสาว ทุกเช้ายายจะหาบคอนตะกร้าสองใบไปนา เพื่อดูแลต้นข้าว ดักปลา และเก็บผักที่ปลูกไว้แถวนั้น แม้แต่วันที่มีพายุในช่วงเช้า พอฝนเริ่มซายายก็ออกไปนาเหมือนทุกวัน ส่วนตาก็ออกไปพูดคุยสนทนากับเพื่อนบ้านญาติมิตรอยู่เสมอ ช่วงที่ว่างตาก็จะจักตอกสะสมไว้เรื่อยๆ นอกจากดูทีวีรายการมวยที่ตาชื่นชอบ ก็ไม่เห็นตาจะนั่งอยู่เฉยๆเลยค่ะ

     แม่ดอน(อุดร)ของเป้นั้นยิ่งขยัน มีเวลาว่างเพียงนิดเดียวถ้าไม่หยิบนี่ก็ฉวยนั่นขึ้นมาทำตลอดเวลา ยายเล่าว่าเคยชักชวนให้แม่ดอนเป็นแม่ค้าพาเอากระติบและสินค้าอื่นๆไปขายตามต่างจังหวัดอย่างที่พี่น้องคนอื่นทำกัน แน่นอนว่าการค้าขายถ้าทำได้ดีจะมีกำไรมากกว่ามานั่งสานกระติบหลังขดหลังแข็งแน่ๆ แม่ดอนก็ลองไปครั้งหนึ่ง แต่สุดท้ายก็คิดว่าชอบทำมากกว่า การขายไม่ค่อยจะชอบ ซึ่งก็เป็นเรื่องดีสำหรับเป้และพี่ชาย ที่มีแม่อยู่ที่บ้านตลอดเวลา คอยดูแลเอาใจใส่ลูกได้แม้ในเวลาที่พ่อไปทำงานที่ต่างจังหวัด (พ่อของเป้เป็นช่างแกะสลักไม้ด้วยค่ะ)

 

แม่ดอนของเป้ กำลังเย็บฝากระติบ

   สำหรับโบ๋ย ครอบครัวอยู่ด้วยกันถึง 4 รุ่น ยายทวดแม้อายุมากแล้วก็ยังสามารถช่วยสานส่วนต่างๆของกระติบได้ ส่วนยายก็มีความสามารถหลายอย่าง ที่เลขาฯได้ชิมคือซาลาเปาไส้หมู อร่อยสมกับที่มีคนมาขอให้ยายช่วยทำเวลามีงานต่างๆอยู่เสมอ แม่ของโบ๋ยก็ทำกระติบได้คล่องแคล่วมาก แถมยังตำส้มตำอร่อยอีกนะคะ

 

แม่ของโบ๋ย ใช้สันมีดกระทุ้งฝากระติบให้เรียบ

     มาคิดดูแล้ว การที่แม่ของทั้งเป้และโบ๋ยอยู่ติดบ้านโดยที่มีงานทำสร้างรายได้ไปด้วย น่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากทีเดียวค่ะ ทำให้แม่ได้ดูแลลูกๆอย่างใกล้ชิด ได้ถ่ายทอดการสานกระติบอย่างเป็นธรรมชาติ จนทั้งเป้และโบ๋ยไม่สามารถตอบได้ว่าสานกระติบเป็นตั้งแต่เมื่อไหร่ จำได้แค่ว่าสมัยเรียนอนุบาลก็ได้สานช่วยแม่บ้างแล้ว ทั้งสองคนแม้จะอยู่ชั้น ม.2 เรียกได้ว่ากำลังเป็นวัยรุ่น แต่พอปิดเทอมก็ชอบที่จะอยู่บ้านช่วยแม่สานกระติบ ไม่ได้คิดจะออกไปเที่ยวเล่นที่ไหน 

  

 เป้และโบ๋ย สานกระติบอย่างคล่องแคล่วทั้งคู่

     เลขาฯเคยไปเยี่ยมน้องๆมาหลายครั้ง ถ้าเป็นน้องที่เรียนเก่ง พ่อแม่ก็มักจะสนับสนุนให้เรียนอย่างเดียว อย่างมากก็ช่วยทำงานบ้านบ้างเล็กๆน้อยๆ ไม่ค่อยเห็นบ้านไหนที่ให้ลูกช่วยทำงานจักสาน ทอผ้า ทอเสื่อ หรือหัตถกรรมอื่นๆเป็นล่ำเป็นสันอย่างนี้ มีโอกาสได้คุยกับแม่ของเป้ แม่บอกว่าต้องหัดให้ลูกทำเป็นไว้ ถึงแม้เป้จะเรียนเก่ง อาจจะได้เรียนสูงๆ แต่ถ้าจบมาแล้วตกงาน อย่างน้อยก็มีวิชาที่ได้จากแม่พอเลี้ยงชีวิตไปได้ไม่อดอยาก จะได้อุ่นใจทั้งแม่และตัวเป้เอง  หลังจากที่ได้ลองหัดสานกระติบอยู่สองวัน ทำให้ยิ่งรู้สึกว่าการให้เด็กๆฝึกหัดจักสานน่าจะช่วยฝึกสมาธิไปด้วยในตัว และน่าจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เป้และโบ๋ยเรียนเก่งกันทั้งคู่เลยค่ะ

     เรื่องการสานกระติบคงต้องยกไปเล่าคราวหน้านะคะ เดี๋ยวบันทึกนี้จะยาวเกินไป

ตอนที่ 2   ตอนที่ 3 )

หมายเลขบันทึก: 406828เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2010 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

ที่ไหนนะคะเนี่ย

หมู่บ้าน สะอาดน่าอยู่ จังค่ะ

อยู่ อ. เมือง จ.ยโสธรค่ะ ลืมบอกไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท