เรียนวิชาสานกระติบข้าวที่บ้านนาสะไมย์ -2 หัดสานกระติบหลักสูตรเร่งรัด


เพียงแค่เรามีวัตถุดิบที่มีความเหนียวไม่ขาดง่าย มีลักษณะเป็นเส้น ก็สามารถนำมาสานกันจนกลายเป็นผืน หรือขึ้นเป็นรูปทรงต่างๆได้ด้วยสองมือของเรา ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องจักรใหญ่โตที่ไหน

ในเวลา 2 วันที่บ้านนาสะไมย์ (อ.เมือง จ.ยโสธร) ครูเป้ ครูโบ๋ย และญาติๆช่วยกันสอนขั้นตอนต่างๆในการสานกระติบข้าวให้อย่างละเอียด แม้จะยังไม่ครบถ้วนนักแต่ก็อยากเก็บมาเล่าสู่กันฟัง          

เพียงแค่เรามีวัตถุดิบที่มีความเหนียวไม่ขาดง่าย มีลักษณะเป็นเส้น ก็สามารถนำมาสานกันจนกลายเป็นผืน หรือขึ้นเป็นรูปทรงต่างๆได้ด้วยสองมือของเรา ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องจักรใหญ่โตที่ไหน น่าภูมิใจออกค่ะ ขอขอบคุณคุณครูที่บ้านนาสะไมย์ทุกคนไว้ ณ ที่นี้

ขั้นตอนต่างๆในการทำกระติบเท่าที่จำได้มีดังนี้ค่ะ (มีตรงไหนผิดก็ท้วงด้วยนะคะ)

จักตอก

ก่อนจะสานกระติบก็ต้องมีการเตรียมวัสดุกันก่อน เริ่มจากตอกที่จะใช้สาน หากเป็นสมัยก่อนแต่ละบ้านก็จะไปตัดไผ่ตามหัวไร่ปลายนามาใช้ แต่เมื่อผลิตจำนวนมากขึ้น บวกกับหมู่บ้านขยายตัวออกไป ตอนนี้แทบทุกบ้านก็จะซื้อไม้ไผ่จากพ่อค้าที่เอามาขาย เมื่อได้ท่อนไม้ไผ่ความยาวที่ต้องการแล้ว ใช้มีดผ่าซีกให้ได้ขนาดแล้วจักเป็นตอก แม่ของโบ๋ยบอกว่าต้องเลือกใช้ไม้ด้านนอกที่ติดกับเปลือกสีเขียวของไผ่เพราะจะเหนียวกว่า แม่ของเป้บอกว่าส่วนที่อยู่ด้านในที่เหลือใช้ก็อาจจะเอาไปจุดไฟ หรือทำเป็นไม้ปิ้งไก่ก็ยังได้ (แล้ววันรุ่งขึ้นเราก็ได้กินปิ้งไก่กันค่ะ) ไม้ไผ่ชิ้นเล็กๆกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร สามารถจักเป็นตอกบางๆได้ประมาณ 20 เส้นเชียวนะคะ ขั้นตอนนี้คุณครูทั้งหลายเห็นท่าเก้ๆกังๆของลูกศิษย์แล้วคงกลัวมีดจะบาดมือ เลยให้ดูเฉยๆไม่ได้ให้ลองทำ

  

มีดที่ใช้ผ่าไม้ไผ่จนเป็นตอ

จากไม้ไผ่เป็นท่อน ผ่าเล็กลงเรื่อยๆ

พอตอกบางมากๆ เวลาผ่ามักใช้ปากคาบปลายที่ผ่าออกมา ที่นี่ใครๆก็ทำกันอย่างนี้ค่ะ

 

ขูดตอก

เมื่อได้เส้นตอก ขั้นตอนต่อไปคือการขูดตอกให้เรียบและบางตามต้องการ ใช้เครื่องมือที่ประดิษฐ์กันอย่างง่ายๆ วางใบมีดเหล็ก 2 อันลงบนท่อนไม้ให้ทำมุมแหลม สามารถปรับมุมเลือกความหนาของตอกก็ได้ พรมน้ำที่เส้นตอกก่อนเพื่อไม่ให้หักหรือขาดง่าย วิธีการขูดให้วางเส้นตอกลงไประหว่างใบมีด กะให้โดนมีดตั้งแต่ประมาณกึ่งกลางเส้นตอก แล้วดึงเข้าหาตัวแรงๆ ส่วนของเส้นตอกที่หนาจะถูกขูดออกไปเป็นฝอย (ฝอยนี้ก็เอาไปใช้จุดไฟได้ดี) กลับเส้นตอกโดยเอามือจับด้านที่ขูดแล้ว วางเส้นตอกลักษณะเดิมแล้วขูดอีกด้านหนึ่ง ก็จะได้เส้นตอกที่เรียบสม่ำเสมอ แล้วก็นำเส้นตอกไปตากแดดให้แห้ง

เครื่องมือสำหรับขูดตอก 

เมื่อขูดไปเรื่อยๆ ฝอยอาจจะอุดที่ใบมีด ต้องคอยดึงออก

ตอกที่ขูดได้ขนาดแล้ว นำไปตากแดดให้แห้ง

 

สานตัวกระติบ

ต่อไปจะเริ่มสานกันแล้วนะคะ  อุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือขันใส่น้ำค่ะ ระหว่างสานต้องคอยพรมน้ำ เอาน้ำลูบเส้นตอกอยู่เสมอ จะช่วยให้ตอกนิ่ม สานง่าย และไม่แตกง่าย สำหรับเลขาฯยังต้องมีอุปกรณ์สำคัญคือกระดาษและปากกาเอาไว้จดวิธีสานลายต่างๆ จะอาศัยความจำ ความเคยชิน หรือใช้ตามองอย่างเป้กับโบ๋ยและแม่ๆก็ยังไม่สำเร็จค่ะ ยังมองลายไม่ค่อยออกเสียด้วยซ้ำ

ครูเป้กำลังตั้งใจสอนนักเรียน

 

การสานขั้นแรก เรียกว่า ก่อ เริ่มจากเส้นตอกด้านซ้ายมือ 5 เส้น และด้านขวามือ 5 เส้น นำมาสอดเป็นลายเวียน 2 แถวต่อไปเรื่อยๆจนได้ความยาวที่ต้องการ ระหว่างสานต้องคอยจัดตอกให้เข้ามุม 90 องศาชิดแน่นไม่อย่างนั้นลายจะหลวมทำให้ความแข็งแรงลดลง และดูลายยากด้วยค่ะ เราได้เรียนจากทวดของโบ๋ย และได้ทบทวนซ้ำกับเป้อีกครั้งหนึ่ง

  

 

ยายทวดก่อให้ดู

  


นักเรียนลองก่อเอง ใช้แท่นไม้ยกให้ตอกลอยจากพื้น ทำให้สานง่ายขึ้น

เมื่อก่อได้ความยาวที่ต้องการแล้ว ก็ ม้วน แถบแบนๆเข้าหากันเป็นวงกลม ขัดลายตรงรอยต่อให้เรียบร้อย ก็จะขึ้นเป็นวงกระติบตามความกว้างที่สาน แล้วเก็บเส้นตอกด้านปลายให้เรียบร้อย

ก่อและม้วนเสร็จ มีทั้งที่ยังไม่ได้เก็บปลายตอกและเก็บเรียบร้อยแล้ว

ต่อไปก็เป็นการสานลาย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สนุกมาก เพราะมีหลายลายต่อกันไป เป้สอนให้สานแบบง่ายที่สุด มี 3 ลาย คือ ลายสอง ลายเวียน และลายคุบ ตามลำดับดังนี้ค่ะ

ลายสอง 8 แถว

ลายเวียน 2 แถว

ลายคุบ 4-5 แถว  (ดูความยาวให้เหมาะสม)

ลายเวียน 2 แถว

แล้วเก็บเส้นตอก อีกครั้ง

ก็เป็นอันจบการสานตัวกระติบค่ะ

เป้สานได้อย่างคล่องแคล่วมาก เสียงตอกกระทบกันเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ลองฟังดูนะคะ

ระหว่างสานมี 2 อย่างที่ต้องทำอยู่ตลอด คือพรมน้ำที่เส้นตอกบ่อยๆ กับจัดเส้นตอกให้ขัดกันแน่นทุกครั้งที่สานครบรอบ การจัดเส้นตอกนี้ เป้พยายามสอนให้เลขาฯใช้มือซ้ายจับตัวกระติบแล้วใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้คอยขยี้เส้นตอกด้านซ้ายกับขวาให้เบียดเข้าหากัน เป้ทำได้รวดเร็วและเป็นจังหวะสม่ำเสมอ แต่เลขาฯพยายามอย่างไรก็ยังทำไม่ได้อยู่ดี คงเป็นเพราะไม่กล้าออกแรงมาก กลัวเส้นตอกจะแตก และอาจเป็นเพราะไม่ค่อยได้ใช้มือซ้ายจึงทำให้ไม่มีแรง

โบ๋ยกำลังเก็บปลายตอก คล่องแคล่วไม่แพ้เป้

ตัวกระติบที่สานเสร็จแล้ว (ยังไม่ได้ตัดปลายตอกให้เรียบร้อย)

พับ

เมื่อได้ตัวกระติบเป็นทรงกระบอกแล้ว ก็ทำการพับริมเข้าข้างในประมาณ 1.5 ซม. ทั้ง 2 ด้านหัวท้าย แล้วพับครึ่งให้ลายคุกเข้าไปอยู่ด้านใน ลายสองอยู่ด้านนอก ให้ริมที่พับแล้วด้านลายคุกมาชนกับริมที่พับเข้าไปด้านลายสองพอดี นำตัวกระติบ 2 ฝามาประกอบกันก็จะเป็นกระติบข้าวที่ยังไม่มีฝาและก้น

ตัวกระติบที่พับแล้ว  

สานฝา

ได้ตัวกระติบได้แล้วก็ย้ายไปเรียนกับครูโบ๋ยบ้าง บ้านโบ๋ยอยู่ใกล้กับบ้านเป้มาก ถ้าเดินทางลัดประมาณ 10-15 เมตรก็ถึงแล้วค่ะ โบ๋ยสอนให้สานฝาด้านล่าง (ก้น) เป็นการสอดขัดลายธรรมดาแต่ต้องทำให้เป็น 2 ชั้น ส่วนฝาด้านบนกระติบที่เป็นรูปดาว ทั้งโบ๋ยและเป้บอกว่ายังสานไม่เป็นเหมือนกัน แม่ของโบ๋ยสานให้ดูด้วยความเร็วสูงมากจนตามไม่ทัน ต้องถอยมาฝึกสานก้นให้คล่องเสียก่อน (แต่สุดท้ายแม่ของเป้ก็สอนลายดาวให้ นักเรียนทั้งหลายรวมทั้งเป้ด้วย ต่างก็ตั้งใจเรียนจนเวลาผ่านไปหลายชั่วโมงโดยไม่รู้ตัวเลยค่ะ)

ฝาด้านล่าง ลายขัดธรรมดาทั้ง 2 ชั้น

ฝาด้านบน ชั้นบนเป็นลายดาว ชั้นล่าง (ด้านในกระติบ) ลายขัดธรรมดา

ใส่ฝา

หลังจากนั้นเราก็จะตัดฝาให้เป็นวงกลม โดยทาบขนาดจากตัวกระติบที่สานและพับไว้แล้ว ใช้ดินสอขีดรอบนอกตัวกระติบ แล้วตัดตามนั้น ดึงริมตัวกระติบด้านลายคุกที่อยู่ด้านในลงจนถึงส่วนที่พับ จะวางฝาลงไปในตัวกระติบได้พอดีโดยมีส่วนที่พับรองรับไว้  พับตัวกระติบด้านลายสองลงบนฝากระติบ จะทำให้ฝาถูกประกอบจากทั้งด้านบนและล่าง แล้วหงายตัวกระติบขึ้น ใช้สันมีดกระทุ้งส่วนที่พับให้ราบลงกับส่วนฝาเพื่อเตรียมเย็บ

ด้านซ้ายเป็นฝาบน (ยังไม่ได้เย็บ) ด้านขวาคือก้นกระติบ (เย็บแล้ว)

เย็บ

ในการเย็บ ใช้อุปกรณ์คือ เข็มตัวใหญ่และเส้นเอ็น เริ่มร้อยเส้นเอ็นเข้าในเข็มแล้วขมวดปมเหมือนเวลาจะเย็บผ้า ครูโบ๋ยให้แทงเข็มจากด้านในกระติบออกไปด้านนอก (ถ้าครูเป้จะแทงจากด้านนอกเข้าไปด้านใน)  เย็บให้ทั้ง 3 แผ่น (ตัวกระติบริมที่พับ ฝา และริมที่พับอีกด้าน) ติดกันด้วยวิธีคล้ายด้นถอยหลัง จะเห็นรอยด้นด้านนอกฝา และเกิดเป็นลายด้านในฝา ในการเย็บต้องใช้แรงมากพอสมควรทีเดียวค่ะ ไหนจะรอยพับริมที่หนาอยู่แล้ว และฝากระติบที่สานสองชั้น แค่แทงเข็มบางครั้งก็ต้องใช้วิธีหมุนให้ทะลุ กว่าจะได้สักฝาก็ดึงกันจนแทบหมดแรงเหมือนกันค่ะ

นักเรียนกำลับหัดเย็บ

รอยเย็บด้านใน

ผ่านขั้นตอนต่างๆมาถึงตรงนี้ เราก็จะได้เป็นกระติบข้าวหน้าตาที่คุ้นเคย ยังมีขั้นตอนสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือการใส่ขาที่บางแห่งก็ทำจากกาบตาล บางแห่งก็ใช้ไม้ที่มีในท้องถิ่น เอามาขดให้เป็นวง ขามีหน้าที่ยกตัวกระติบให้ลอยพ้นพื้น เวลาใส่ข้าวเหนียวร้อนๆจะได้สามารถระบายความร้อนได้ดี ข้าวก้นกระติบจะได้ไม่แฉะ แล้วก็ยังมีการใส่หู ทำคิ้วด้วยเส้นเอ็น แม่ของเป้บอกว่ามีเครื่องจักรช่วยทำให้ จะทำได้เร็วมาก เนื่องจากเวลามีน้อย เราจึงไม่ได้ใส่ขา คิ้ว และหู แค่ทบทวนที่เรียนมาแล้วไม่ให้ลืมนี่ก็แทบแย่แล้วค่ะ

ขากระติบ

กระติบข้าวที่ใส่ขา ใส่คิ้วและหูเรียบร้อยแล้ว

 ครูเป้และครูโบ๋ยสอนวิชาให้แล้ว ยังแถมกระติบสวยๆมาอีกหลายใบ  แต่ละใบก็มีลายต่างๆกัน โอกาสหน้าอยากจะไปเรียนสานลายอื่นๆบ้าง ถ้าสนใจไปด้วยกันนะคะ

ของฝากจากบ้านนาสะไมย์

ลายขิดดอกแก้ว

ลายแมงมุม

ลายไก่ต๊อก

ลายนี้ลืมชื่อเสียแล้วค่ะ...

เมื่อวันก่อนอยากทบทวนวิชาที่ไปเรียนมาแต่ไม่มีเส้นตอกไม้ไผ่ เลยประยุกต์ใช้กระดาษแข็งแทน เป็นกระดาษแข็งที่เอาไว้คั่นในแฟ้ม เข้าใจว่าประมาณ 220 กรัม ตัดกว้างประมาณ 4 มม.  เลือกใช้สีให้เห็นลายง่ายๆ

ใช้เพียงความจำกับสมุดที่จดมาลองดูว่าจะทำเองโดยไม่มีครูนั่งอยู่ข้างๆได้หรือไม่ นานทีเดียวกว่าจะสำเร็จออกมาเป็นกระติบกระดาษหน้าตาแบบนี้ค่ะ

ตัวกระติบที่สาน และตัดส่วนเกินเสร็จแล้ว(เก็บปลายผิดเล็กน้อย) 

ตัวกระติบหลังพับแล้ว

ฝาบน

ฝาล่าง (ก้นกระติบ)

วิธีสานอย่างละเอียดอยู่ที่ บันทึกคนชอบสาน นะคะ

(  ตอนที่ 1    ตอนที่ 3 )

คำสำคัญ (Tags): #กระติบ#สาน
หมายเลขบันทึก: 408012เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2010 20:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ไม่เคยรู้เลยแฮะ ว่ากระติ๊บใส่ข้าวเหนียวมีหลายลายขนาดนี้ เด็กๆเคยแต่สานปลาตะเพียน สานเสื่อ ก็คิดว่าสุดยอดแล้ว เห็นคุณๆ เค้าสานกระติ๊บกันแล้วทึ่งจริงๆ เดี๋ยวว่างๆ จะตัดกระดาษมาสานบ้าง ดูน่าสนุกดี

ขอบคุณมุที่เอามาเล่าสู่กันฟัง

สงสัยนิดนึงว่าถ้าอยากสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิพูนพลังเนี่ย ทำได้ไงบ้าง มุพอจะมีเบอร์บัญชีมั้ย

ส้ม ทองฉาน

สุดยอดมากค่ะ ขอยืมขั้นตอนไปหัดทำหน่อยนะคะ

เก่งมากเลยค่ะ ^_^

สอบถามหน่อย อยากสั่งซื้ออะคะ มีจำหน่ายมั๊ยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท