การจัดการความรู้ในภาคประชาสังคม ตอน 1


การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (19)

ภาคประชาสังคมที่ใช้การจัดการความรู้เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกับภาครัฐ ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ท้องถิ่นมีหลายหน่วยงานที่โดดเด่น  ได้แก่  โรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี  มูลนิธิข้าวขวัญเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น  พัฒนาพันธุกรรมข้าว  และพืชพื้นบ้าน  วิจัยและพัฒนาผกระทบของสารเคมีทางการเกษตร  ตลอดจนค้นหาทางเลือกร่วมกับเกษตรกรในการทำเกษตรที่ไม่ใช่สารเคมี

ภาพการสาธิตของโรงเรียนชาวนา ในงานมหกรรมการจัดการความรู้ภูมิภาค ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร

กิจกรรมส่วนใหญ่ของมูลนิธิ มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรและชุมชน  มีการเรียนรู้จากความรู้ภายนอก  และการฟื้นฟูความรู้ดั้งเดิมมาจัดการอย่างบูรณาการเพื่อให้เกิดระบบการเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม  อนุรักษ์  และฟื้นฟูธรรมชาติ  สามารถลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก  และสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น  สานสร้างเครือข่ายของผู้ผลิต  และผู้บริโภคที่เห็นคุณค่า  และความสำคัญกับเรื่องของวิถีชีวิต  สังคม  สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม  อันเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างการพัฒนาระบบเกษตรกรรม  กับการพัฒนาวิถีชีวิตอย่างเป็นสุข  รวมถึงการพัฒนาด้านอื่นอย่างรอบด้าน  กิจกรรมสำคัญที่ขยายองค์ความรู้หรือใช้การจัดการความรู้ให้แก่ชาวนา  เพื่อการพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ คือ โรงเรียนชาวนา  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงของนักเรียนชาวนาในจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อส่งเสริมระบบเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ด้วยกระบวนการเรียนรู้ ฝึกทักษะจากพื้นที่จริง ฝึกการตั้งคำถาม การค้นคว้าหาความรู้อย่างเป็นระบบ  ฝึกตั้งโจทย์ปัญหา  การตั้งเป้าหมาย  การวิเคราะห์และถ่ายทอด  การบันทึกและหาข้อสรุป  หลักสูตรที่สำคัญได้แก่  การบริหารจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี  การปรับปรุงบำรุงดินโดยชีววิธี  และการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าว ทำให้ได้องค์ความรู้จากพื้นที่จริง เช่น การขยายเชื้อจุลินทรีย์ การฆ่าหญ้าโดยไม่ใช้สารเคมี เทคนิคการปลูกข้าวและกำจัดแมลง นอกจากนี้ยังฝึกหัดกระบวนการเพื่อนช่วยเพื่อนด้วยการเยี่ยมเยียนสร้างเครือข่าย ตลอดจนกระบวนการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ผลของการดำเนินงานทำให้มีผู้ขอศึกษาดูงานและเรียนรู้ ตลอดจนขอให้เป็นวิทยากรฝึกอบรมให้จำนวนมาก  ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ ได้แก่  มีกิจกรรมที่สนับสนุนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคลและกลุ่ม มีกระบวนการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจากสถานที่จริงและปรับให้เหมาะสมกับบริบท และมีกระบวนการเสริมแรงจูงใจ ปัจจุบันคุณเดชา  ศิริภัทร  ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิข้าวขวัญ  และคุณจันทนา  หงษา  ดำรงตำแหน่งผู้จัดการมูลนิธิข้าวขวัญ

รูปแบบการจัดการความรู้ของ มูลนิธิข้าวขวัญ

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) เป็นหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นผู้รับผิดชอบและบุกเบิกงานดังกล่าว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาและส่งเสริมด้านการจัดการความรู้แก่สังคมไทย ด้วยการเผยแพร่หลักการและชุดเครื่องมือต่างๆ ให้เหมาะสมกับบริบทของไทย เสริมสร้างเครือข่ายขยายผลให้หน่วยงานต่างๆ อย่างแพร่หลาย อาจสรุปได้ว่า แนวคิดและวิธีการการจัดการความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมแพร่ขยายไปตามหน่วยงานต่างๆ นั้น เกิดจากอิทธิพลและแนวความคิดของ สคส. เกือบทั้งสิ้น ถือว่าคุณูปการต่อประเทศไทยอย่างยิ่งที่ใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อการพัฒนาองค์กร พัฒนางาน และพัฒนาคน ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในบรรดาเครื่องมือการบริหารจัดการที่มีอยู่มากมายในขณะนี้ แม้ว่าปัจจุบัน สคส. จะแปรสภาพเป็นองค์กรอิสระที่พึ่งรายได้ของตนเอง อยู่ในรูปของมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ในปี พ.ศ. 2550 โดยมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธาน และ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด เป็นผู้อำนวยการ ที่มีวิสัยทัศน์ เป็นผู้นำด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่นำไปสู่การต่อยอดความสำเร็จเพื่อเพิ่มพูนมูลค่าและคุณค่าให้กับองค์กรและสังคม ทำให้ต้องบริหารจัดการให้สามารถปฏิบัติภารกิจอยู่ได้ ด้วยการผลิตผลงานในรูปของหนังสือและซีดีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดการความรู้ จัดจำหน่าย และรับดำเนินการเรื่องการเป็นวิทยากรกระบวนการ KM ให้แก่หน่วยงานต่างๆ การร่วมจัดภาคีและจัดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กิจกรรมการขับเคลื่อน KM ในรูปแบบต่างๆ  เช่น  การจัดการความรู้: จากหลักการสู่การปฏิบัติ  จากการจัดการความรู้สู่การพัฒนาองค์กรแหล่งการเรียนรู้  จากการจัดการความรู้สู่การสร้างนวัตกรรม  แผนที่ผลลัพธ์กับการจัดการความรู้  ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องโตด้วย OM (Outcome Mapping) และสุนทรียสนทนา (Dialogue):  รากฐานการพัฒนาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้  โดยมีวิทยากรประจำที่สำคัญ คือ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ศาสตราภิชานไกรฤทธิ์  บุณยเกียรติ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด คุณธวัช หมัดเต๊ะ คุณอุรพิณ ชูเกาะทวด คุณวรรณา เลิศวิจิตรจรัส และคุณอุไรวรรณ  เทิดบารมี  ดังนั้น หากส่วนราชการหรือภาคส่วนต่างๆ สนใจที่จะใช้บริการของ สคส. สามารถติดต่อได้โดยตรงที่เว็บไซต์ kmi.or.th และหากมีองค์กรที่มีจิตสาธารณะเห็นคุณค่าของ สคส. จะรับเป็นผู้สนับสนุนน่าจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับ สคส. ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยการจัดการความรู้นี้

ภาพแนวคิดการจัดการความรู้ของ สคส.

การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (รวมบท)

การจัดการความรู้ในภาคประชาสังคม ตอน 1  ตอน 2

หมายเลขบันทึก: 277478เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2009 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท