การจัดการความรู้ในภาคประชาสังคม ตอน 2


การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (20)

มหาชีวาลัยอีสาน โดยครูบาสุทธินันท์ ปรัชญาพฤทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้านแห่งจังหวัดบุรีรัมย์ ที่เชื่อมั่นในพลังความรู้ของชุมชนว่า สามารถใช้ความรู้แก้ปัญหาในพื้นที่ได้ด้วยการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่มต่างๆ โดยใช้ปัญหาจากพื้นที่จริง พัฒนาและสร้างชุดความรู้ใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตนเองภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผสมผสานกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เช่น กรณีการทำเกษตรประณีต 1 ไร่ร่วมกับกลุ่มปราชญ์อีสาน โดยกำหนดโจทย์ว่าองค์ความรู้ ในการทำเกษตรอย่างประณีตในที่ดิน 1 ไร่ เป็นอย่างไร โดยศึกษาปัญหาของชุมชนให้ชาวบ้านตั้งคำถามและเป็นผู้ตอบคำถามนั้นด้วยตนเอง ด้วยการพัฒนาศักยภาพของแกนนำชุมชน  จัดระบบกระบวนการเรียนรู้  และสร้างเครือข่ายชุมชนแห่งการเรียนรู้ขึ้น  ด้วยความรู้และความสามารถที่ลุ่มลึกของครูบาสุทธินันท์ จึงสามารถสร้างเครือข่ายมหาชีวาลัยอีสานให้สามารถจัดการความรู้ในชุมชนที่เชื่อมโยงและต่อยอดขยายผลกับชุมชนอื่นๆ รวมทั้งส่วนราชการและภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างดียิ่ง  ทำให้มหาชีวาลัยอีสานเป็นสถานที่ศึกษาดูงานและเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงให้แก่หน่วยงานราชการต่างๆ  มีกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งปี เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมป่าไม้ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม โรงเรียนและสถาบันการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น   นอกจากนี้ครูบาสุทธินันท์ ยังเป็น Blogger ที่มีแฟนคลับประจำ ชื่อว่า เฮฮาศาสตร์ ภายใต้ชื่อเว็บไซต์ gotoknow.org/blog/sutthinun โดยแนะนำประวัติตัวเองด้วยความถ่อมตัวและมีอารมณ์ขัน อย่างย่อว่า

เป็นชาวบ้านธรรมด๊าธรรมดา          ถิ่นที่มายี้แหลกแจกกระหน่ำ

เมืองที่กันดารดิ้นกินน้ำดำ                           บุรีรัมย์ทำงามหน้ามาทุกงาน

อยู่กลางดิน กินกลางดอน นอนฝันเฟื่อง          ยุ่งกับเรื่องปลูกป่าภักษาหาร

เลี้ยงเป็ดไก่ปูปลามาช้านาน                         ตั้งเตาถ่านหน้าดำหากำไร

            ก่อกิจการบ้านเรียนโฮมสกูล                        ตั้งเป็นศูนย์ศึกษาปัญญาใหม่

มีชื่อว่ามหาชีวาลัย                                                สอนลูกไทยให้พ้นคนเชยๆ

แต่ก็มีปัญหาคนช่วยสอน                            ครูดีๆ เขาก็งอนทำเฉยๆ

            ชวนคนไหนก็ไม่สนใจเลย                           มีไหมเอ่ย ครูอกหัก ขอสักคน.

 

ภาพครูบาสุทธินันท์ และบทกลอนแนะนำตัวเอง

ภาคประชาสังคมเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อน และสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน โดยแท้จริงแล้วภาคประชาสังคมมีชุดความรู้ของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ หากมีผู้เชื่อมโยงโดยนำเอาเครื่องมือการจัดการความรู้มาใช้ในภาคประชาสังคมนั้น จะทำให้ความรู้ฝังลึก และความรู้ชัดแจ้ง หมุนและก่อตัวเกิดชุดความรู้ใหม่ ถ่ายทอด และขยายผลในวงกว้างมากขึ้น เป็นวงจรแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง หากทำได้ก็จะส่งผลดีต่อประชาชน และพื้นที่มิใช่น้อย แต่ด้วยความแตกต่างทางบริบท วัฒนธรรม วิถีชีวิต หรือแม้แต่ลักษณะการรวมกลุ่ม ทำให้ในการนำเครื่องมือการจัดการความรู้ไปใช้ หรือถ่ายทอดนั้นมิใช่เรื่องง่ายต้องมีวิธีการ หรือกระบวนในการจัดการความรู้ที่เฉพาะ สามารถผนวก หรือเนียนเข้ากับวิถีชีวิตของกลุ่มคนเหล่านั้น ซึ่งต้องอาศัยผู้จัดการและการจัดการที่ดี ขณะนี้ได้มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จให้เห็นบ้างแล้ว และคาดว่าภาคประชาสังคมจะสร้างเครือข่ายการจัดการความรู้ เพื่อการพัฒนาได้อย่างรวดเร็วในอนาคต ปัจจัยความสำเร็จ คือ ผู้นำของภาคประชาสังคม ที่เป็นแบบอย่าง เป็นผู้เสียสละ ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การมีหน่วยงานสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรเอกชน หรือองค์กรสาธารณะ ในรูปแบบของพันธมิตร เครือข่าย การสนับสนุนงบประมาณ กระบวนการ การฝึกทักษะ และความเข้มแข็งของชุมชนที่พร้อมเรียนรู้ร่วมกัน

การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (รวมบท)

การจัดการความรู้ในภาคประชาสังคม ตอน 1 ตอน 2

การจัดการความรู้ในภาคราชการ

หมายเลขบันทึก: 278150เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2009 17:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท