ทิฏฐิ มานะ


หลวงปู่บอกว่า ทิฏฐินี้ ถ้าปราศจากปัญญา มานะหรืออุปาทานจะเข้ายึด ทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นนั้นๆ หลวงปู่ท่านว่า..ถ้ามีปัญญา ก็จะทำลายความยึดมั่นถือมั่นได้...

เราคงคุ้นเคยกับคำว่าทิฏฐิและมานะที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ดิฉันเองก็เพิ่งมารู้ว่าความหมายของทิฏฐิ มานะ ที่ดิฉันเข้าใจว่าแบบทั่วๆ ไปว่าเป็นความดื้อดึง กับความพยายามนั้นมีความหมายแตกต่างจากที่บัญญัติในพระธรรม

วันนี้ฟังเทปหลวงปู่ชาเช่นเคย..ท่านได้เทศน์ถึงเรื่อง ทิฏฐิ มานะไว้ว่า..

ทิฏฐิ คือ ความเห็น...  ความเห็นนั้นมีได้หลายอย่าง มีได้ตลอดเวลา... เช่น เห็นว่า นี่คือเรา นั่นคือเขา มีทั้งมิจฉาทิฏฐิ และสัมมาทิฏฐิ

มานะ คือ ตัวยึด เป็นตัวอุปาทาน

หลวงปู่บอกว่า ทิฏฐินี้ ถ้าปราศจากปัญญา มานะหรืออุปาทานจะเข้ายึด ทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นนั้นๆ  หลวงปู่ท่านว่า..ถ้ามีปัญญา ก็จะทำลายความยึดมั่นถือมั่นได้...

โดยมานะ ๙ ได้แก่..

เป็น

สำคัญตัวว่า

เลิศกว่าเขา

เสมอเขา

ต่ำกว่าเขา

เลิศกว่าเขา

เป็นเลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา

เป็นเลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา

เป็นเลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าต่ำกว่าเขา

เสมอเขา

เป็นเสมอเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา

เป็นเสมอเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา

เป็นเสมอเขา สำคัญตัวว่าต่ำกว่าเขา

ต่ำกว่าเขา

เป็นต่ำกว่าเขาสำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา

เป็นต่ำกว่าเขาสำคัญตัวว่าเสมอเขา

เป็นต่ำกว่าเขาสำคัญตัวว่าต่ำกว่าเขา

จะเห็นได้ว่ามีคำสำคัญในเรื่อง มานะ คือคำว่า เป็น กับ สำคัญตัวว่า ซึ่งเป็นเรื่องของการยึดรูปกับนาม ยึดว่ามี"เรา" มี"เขา" ไม่ว่าจะเป็นการยึดทางกาย (รูปธรรม) หรือทางใจ (นามธรรม)

หลวงปู่ชาท่านเทศน์ว่า พระพุทธองค์ท่านสอนให้รู้จักรูปกับนาม เพื่อที่จะปล่อยวางได้ ไม่ยึดไว้..

ดิฉันมองไปรอบๆ ตัวก็เห็นทั้ง ทิฏฐิ และมานะ มีการแยกเรา แยกเขา มีการคิดว่าเรื่องนี้ถูก เรื่องนี้ผิด เรื่องพรรคนี้ถูก พรรคนี้ผิด มีการคิดเปรียบเทียบเรากับเขาตลอดเวลา..

เมื่อมีการคิดเปรียบเทียบ ก็เกิดความคิดว่ามีการได้เปรียบเสียเปรียบขึ้น เมื่อคิดว่าตนได้เปรียบก็อาจจะเป็นสุข เมื่อคิดว่าตนเสียเปรียบก็อาจจะเป็นทุกข์

ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ที่เกิดนั้น..ไม่เที่ยง..เพราะเกิดจากทิฏฐิ(ความเห็น)ที่ขาดปัญญา ทำให้เกิดอุปาทานคิดโน่นคิดนี่  ความคิดเห็นนี้..ไม่จีรัง เปลี่ยนได้ตลอดเวลา..ดังนั้น ทุกข์หรือสุขที่เกิดขึ้นก็เปลี่ยนสภาพได้ตลอดเช่นกัน..

เจริญสติ รู้ตัว เจริญปัญญา ลดทิฏฐิ มานะ ลดการยึดมั่นถือมั่นในรูป นาม ลงได้ ชีวิตก็จะเบาสบายขึ้นค่ะ.. 

 
หมายเลขบันทึก: 99898เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2007 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

สวัสดีค่ะ

สาธุค่ะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ sasinanda

หลายวันนี้ได้ยินเรื่องเปรียบเทียบเยอะ วันนี้ได้ฟังเทปหลวงปู่ เลยนำมาเขียนเตือนสติตัวเอง กับนำมาฝากพี่น้องชาว G2K ค่ะ..

ขอบคุณที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยียนนะคะ ; )

  • ตามมาอ่านธรรมมะตอนดึกๆๆ
  • ถ้าลดทิฐิได้ก็จะดีครับ
  • อาจารย์นอนดึกจัง
  • บันทึกสวยจังเลยครับ
  • แต่ร้อนจังฮ่าๆๆๆๆ
ตามมา ลดมานะในบันทึกของอาจารย์ครับ ผมเองเป็นคนมีมานะสูงมาก ตอนบวชรบกับมานะตลอดเวลา เผลอแว่บมาแล้ว ต้องอาศัยการกำหนดถี่ๆ จึงพอจับได้ไล่ทันครับ

จะเห็นได้ว่ามีคำสำคัญในเรื่อง มานะ คือคำว่า เป็น กับ สำคัญตัวว่า ซึ่งเป็นเรื่องของการยึดรูปกับนาม

     ขอบคุณสำหรับ บันทึกนี้ อ่านยามเช้า นี้ ดีมากเลยคะ

ก ารรู้จัก แยก รูป แยกนาม....ให้ไม่ยึดมั่น ถือมั่น...

สวัสดีค่ะ อ.ขจิต ฝอยทอง

ธรรมะ อ่านเมื่อไหร่ก็ดีค่ะ : )

ปรกติจะหลับแล้วล่ะค่ะ แต่เมื่อคืนตั้งใจว่าจะเขียนบันทึกธรรมะสักเรื่องถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในวันวิสาขบูชา แต่ทั้งวันเขียนไม่ออก เพิ่งมาเขียนออกตอนดึกๆ นั่นแหละค่ะ

ธีมบันทึกนี้ได้มาจากคุณLittle Jazz \(^o^)/  น่ะค่ะ อ.ขจิตคงทราบแล้ว เพราะเห็นเอาไปใช้อบรมที่ราชภัฎกำแพงเพชรด้วย

ร้อนเหรอคะ?  สงสัยเทียนจะเยอะไปหน่อย อิอิ แต่ว่าดิฉันเป็นคนร้อนแรงที่ปฏิบัติธรรมน่ะค่ะ 5555 พูดเล่นค่ะ ^ ^

ขอบคุณที่แวะเข้ามาเยี่ยมให้ความเห็นนะคะ..

สวัสดีค่ะ อ.พิชัย กรรณกุลสุนทร

ดิฉันเองพอมาอ่านเรื่อง มานะ ก็เลยรู้ว่าเราเองก็เคยมีมานะอยู่มาก..เคยคิดเปรียบเทียบบ่อย คนนี้สู้เราได้ คนนี้สู้ไม่ได้ ไม่ได้เรื่อง ประมาณนั้น โดยไม่รู้ตัว ยิ่งตอนเรียนหนังสือ จะมีการเปรียบเทียบตลอดค่ะ สถานการณ์มันพาไปค่ะ เพราะเรียนแล้วมีการแข่งขัน..

ตอนนี้เรื่องการเปรียบเทียบดี/ไม่ดี ลดลงค่ะ เพราะรู้สึกว่าเทียบไปก็เท่านั้น แต่ใจที่แวบไปคิดนั้นยังมีอยู่ค่ะ แต่มักจะดึงกลับมาทันการณ์ก่อนเลยเถิด ^ ^ 

เมื่อครู่เพิ่งเข้าไปอ่านและเขียนข้อคิดเห็นในเรื่องเมตตาภาวนาของอาจารย์เองค่ะ : ) 

ขอบคุณอาจารย์ที่เข้ามาเล่าประสบการณ์ให้ฟังนะคะ..you are not alone ค่ะ อิอิ ^ ^

สวัสดีค่ะ คุณดอกแก้ว

เริ่มเช้าวันใหม่ด้วยจิตที่เป็นธรรมะ เจริญสติ เจริญปัญญาก่อนเริ่มวัน นั้นดีแน่นอนค่ะ ^ ^

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ..

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์

นับได้ว่าอาจารย์เป็นผู้มีความคิดความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนยิ่งผู้หนึ่ง(ขอชื่นชมครับ) 

สามารถนำเสนอ"มานะ"ที่แสนจะ"ธรรมดา"ให้รู้ว่ามัน"ไม่ธรรมดา"ได้อย่างยอดเยี่ยม

สมัยที่เรียนหนังสือ เรียนได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง มานะทิฐิในตัวก็ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งไปด้วย สอบชิงทุน ก.พ.ได้มันก็สอบได้ด้วย แทบจะมองไม่เห็นความสามารถของคนอื่นเลย  (ขนาดของมานะทิฐิเป็นปฏิภาคโดยตรงกับความสำเร็จ)

อยู่มาวันหนึ่ง มีโอกาสอ่านพระอภิธรรมปิฎก จึงรู้ว่าตัวเอง"ไม่รู้อะไรเลย" ยิ่งพอเริ่มปฏิธรรมเจริญสติ ยิ่งเห็นความ"โง่"ของตัวเองที่เคยคิดว่าตัวเอง"เก่งกว่า...ฉลาดกว่า"คนอื่น  

ตอนนี้รู้สึกว่าตัวเอง"โชคดี"เหลือเกินที่พบว่า"ยังโง่อยู่มาก"

ขอบคุณอาจารย์ครับ  ที่นำสิ่งดีๆมีประโยชน์มาเขียน จะรออ่านอีกนะครับ

สวัสดีค่ะอ.ศิริศักดิ์

อาจารย์ชมแบบนี้เล่นเอาดิฉัน   เลยนะคะ

โอ..เดี๋ยวต้องลดทิฎฐิมานะลงซักหน่อย  

มาแล้วค่ะ..เรื่อง"มานะ"นี้ดิฉันว่าพระพุทธองค์ท่านไม่"ธรรมดา" จริงๆ สามารถแยกแยะให้เห็นได้ชัดเจนว่ามานะเป็นอย่างไร และมีผลอย่างไร

เรื่องการเปรียบเทียบเรา-เขานี้เป็นเรื่องที่หลายๆ คนไม่รู้ตัวค่ะ เหมือนที่อาจารย์ว่าไว้ พอตัวเองได้เกียรตินิยม เจ้ามานะก็ได้กับเขาด้วย สอบทุนได้ มานะก็ยิ่งแรงกล้าขึ้นไปอีก...เหมือนกันเลยค่ะ

ตอนดิฉันเรียนหนังสือ ก็เป็นเหมือนกัน เพราะเราเติบโตมาบนสังคมที่มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ การแข่งขันก็ต้องเกิดขึ้น เพื่อคัดเลือกคนที่เหมาะสมให้อยู่รอดต่อไป แต่ปรากฎว่าคนที่เข้าแข่งขัน ไม่ทำตัวเป็นจ๊อคกี้ แต่กลายเป็นม้า ให้"มานะ"เป็นจ๊อคกี้เสียแทน

หันไปทางไหนก็มีแต่การแข่งขันค่ะเดี๋ยวนี้ ในเกมส์โชว์ ในการเรียน เด็กๆ จะถูกเปรียบเทียบตลอด เรียกว่ามานะถูกเสริมให้เกิดมากๆ โดยเฉพาะแบบสดมภ์ซ้ายสุด คือมักจะสำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา ไม่ว่าจะเป็นเลิศกว่าเขาหรือไม่ก็ตาม..เพราะทุกอย่างสื่อให้เห็นว่า "เลิศกว่า"แล้วจะ"ดีกว่า" ได้เงินรางวัล ได้ของตอบแทน ได้รับคำชื่นชม "มากกว่า" คนก็เลยอยากเป็นมากกว่าที่ตัวเองเป็นเสมอ..

ปัญหานี้เราแก้ให้เขาได้ยาก เพราะทิศทางกระแสสังคมมันพาให้เกิดมานะได้สูงมาก..เรื่องเหล่านี้ต้องตระหนักเอง จึงจะเห็น

ก็ได้หวังว่าแต่ละคนคงจะได้มีโอกาสรับรู้เหมือนกับอาจารย์ เห็นทาง ตอนที่ได้อ่านพระอภิธรรมปิฎกนี่แหละค่ะ

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ ที่เป็นผู้ชักนำให้ดิฉันมาเดินเส้นทางสายธรรมนี้ด้วยกัน ^ ^

  • เราโชคดี ที่ได้พบ พุทธศาสน์
  • ผ่องผุดผาด สัจธรรม ทุกคำสอน
  • ฟังดร.กมลวัลย์ ทุกขั้นตอน
  • ฉุกคิดย้อน ทะลุ ปุถุชน
  • ยังพิโรธ โกรธหลง ประสงค์ร้าย
  • มุ่งทำลาย ชีวัน กันปี้ป่น
  • สามจังหวัด ภาคใต้ ตายกี่คน
  • น้ำตาหล่น เคล้าเลือด มิเหือดจาง
  • นี่มานะ หรือทิฐิ ตริตรองหนา
  • เป็นมิจฉา ทิฐิ ชัด คอยขัดขวาง
  • สมานฉันท์ สันติธรรม ยังอำพราง
  • เมื่อไรฟ้า สว่าง...ทักษิณเอย
  • หายร้อนแล้วครับอาจารย์
  • ฮ่าๆๆๆๆ

ขอบคุณ อาจารย์ นะครับ ที่เอาธรรมะ มาฝากพวกเรา อยู่เนือง ๆ  การให้ธรรมะ ย่อมชนะการให้ทั้งปวงครับ

( สัพพทานัง ธรรมทานัง ชิเนติ )

สวัสดีค่ะ อ.พิสูจน์

ฟังข่าวสามจังหวัดภาคใต้แล้ว.....พูดไม่ออกเลยค่ะ

ไม่รู้ว่าอะไรมาบดบังจิตใจคนเหล่านั้น ถึงได้กระทำเช่นนี้ไปได้...  ถ้าเขารู้จักแก่นธรรมสักนิด ไม่ว่าจะเป็นธรรมในศาสนาใด ก็คงไม่ทำกันแบบนี้..

ทิฏฐิมานะ เป็นความดื้อดึง ยึดถือผิดๆ แบบขาดปัญญา.. น่าสงสารคนที่ถูกทิฏฐิมานะควบคุมอยู่ และยิ่งสงสารคนที่ถูกคนเหล่านี้กระทำอีกต่อหนึ่งด้วย..

ตราบใดที่ยังยึดถือทิฏฐิมานะ มีพวกเขา พวกเรา ไม่ไว้ใจกัน ไม่ได้มองว่าเราก็เป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน ความสงบสุขคงเกิดได้ยาก.. แต่คนที่อยู่ในพื้นที่ เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็คงทำใจได้ยากเหมือนกัน..น่าเห็นใจมากค่ะ..ก็ได้แต่แผ่เมตตาจิตไปให้ทุกคน ให้สงบสุขค่ะ..

ขอบคุณอาจารย์ที่เข้ามาเขียนกลอนเพราะๆ ให้อ่านและได้สาระด้วยค่ะ ; )

สวัสดีค่ะ อ.ขจิต ฝอยทอง

เอาแบ็คกราวด์ออกไปแล้วค่ะ ; )  ไม่ร้อนแล้วนะคะ 555

พอเอาออกไปก็สว่างขึ้น กระจ่างตาดีค่ะ  

ขอบคุณนะคะที่แวะมาเยี่ยมอีกรอบ

สวัสดีค่ะคุณหมอจิ้น

ดิฉันว่านอกจากที่ดิฉันนำธรรมมาฝากเพื่อนพี่น้องใน G2K แล้ว ในการเขียนบันทึก ดิฉันยังได้ทบทวน ได้สอบตัวเอง ในเรื่องที่ตัวเองเขียน เหมือนเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วยในตัว.. ถ้ามีเวลา จะพยายามเขียนเรื่อยๆ ค่ะ

ยุคสมัยนี้ ที่มีแต่ข่าวสารในเชิงโลกีย์ การได้เขียนได้อ่านเรื่องราวธรรมะรอบๆ ตัวเราบ้าง น่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งคนเขียนและคนอ่านค่ะ แทนที่จะไปดูเรื่องนอกตัว หันมามองเรื่องในตัวจะดีกว่า ลดความวุ่นวายได้เยอะค่ะ

ขอบคุณคุณหมอมากนะคะ ที่แวะมาอ่านและให้ข้อคิดเห็นดีๆ เสมอค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์

  • มาเรียนรู้และทบทวน ภาคปริยัติกับท่านอาจารย์ครับ
  • ผมจะพยาจำให้ได้ครับ  และนำมาไตร่ตรองเพื่อสอบทวน สภาวะอารมณ์ของตนว่าเป็นอย่างไรบ้างในเรื่องนี้
  • รู้สึกว่าจะมีทุกๆ กลุ่มเลยครับ  ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมที่เราสัมผัสในขณะนั้นๆ
  • ขอบคุณอาจารย์มากครับ

      

     

สวัสดีค่ะอาจารย์..กมลวัลย์

  • ครูอ้อยมาช้าไปใช่ไหมคะ  จะมาเรียนว่า  ..จะไป สพจ.นะคะเร็วๆนี้ค่ะ
  • อ่านแล้วดีจังเลยค่ะ  จะเข้ามาอ่านบ่อยๆค่ะ 

ไปแล้วค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณหมอสุพัฒน์ kmsabai

แหะๆ ต้องบอกว่าเพิ่งศึกษาปริยัติเรื่องนี้หลังฟังเทปหลวงปู่ชาค่ะ ค้นจากเน็ตเนี่ยแหละค่ะ แต่พออ่านแล้วก็ร้องอ๋อ..อาการแบบนี้เราเคยเป็น...แล้วก็ยังเป็นอยู่บ้าง 555 แต่อาการไม่สาหัสเหมือนก่อนนี้ ^ ^

ดิฉันว่ายากมากที่ใครสักคนจะไม่เคยเปรียบเทียบตัวเองกับใคร ไม่ว่าจะเลิศกว่า เสมอกัน หรือต่ำกว่า มันเป็นธรรมชาติ ตามความเข้าใจของตัวเอง ดิฉันว่าพระพุทธองค์คงต้องการให้เรารู้ตัวว่าเรากำลังเทียบอยู่ รู้แล้วก็ปล่อย เพราะเทียบแล้วก็เท่านั้น ไม่ได้ทำให้เขา หรือเราเปลี่ยน(จากการเปรียบเทียบ) เราก็ยังเป็นเราในแบบของเรา เขาก็ยังเป็นเขา แบบของเขา ท่านจึงว่าให้นำปัญญามากำจัด"มานะ"เสียค่ะ จะได้ไม่มาจับยึดทิฎฐิกลายเป็นความคิดผิดหลงผิดไปค่ะ : )

เจริญสติกันต่อค่ะคุณหมอ..เส้นทางสายธรรม เปิดกว้างสำหรับทุกคนเสมอค่ะ ^ ^ ดีใจที่มีเพื่อนร่วมทางมากใน G2K ค่ะ

สวัสดีค่ะ ครูอ้อย..

จะมาแล้วหรือคะ ดีจังเลยค่ะ   อย่าลืมบอกล่วงหน้านะคะ จะได้แต่งตัวสวยๆ แล้วเตรียมกล้องถ่ายรูปไว้ถ่ายรูปคู่ค่ะ ^ ^  

P
สวัสดีค่ะ
มาอ่านเตือนสติตัวเองค่ะ
คนเรานานๆไป ก็หลงๆไปบ้างเหมือนกันนะคะ
ต้องมีการเตือนๆกันไว้ก็ดีค่ะ ได้คิดดีค่ะ

สวัสดีค่ะคุณsasinanda

ดิฉันก็ทำบ่อยๆ ค่ะ กลับเข้ามาอ่านที่ตัวเองกับคนอื่นๆ เขียน เพราะต้องการเตือนสติตัวเอง บางทีก็พบอะไรใหม่ๆ ตอนอ่านรอบ ๒ รอบ ๓ ค่ะ

ธรรม อยู่ในตัวเรา และรอบตัวเราจริงๆ สังเกตดีๆ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของจิตเลยค่ะ..

ขอบคุณที่แวะเข้ามาให้ข้อคิดเห็นนะคะ ^ ^

  • สวัสดีคะอาจารย์กมลวัลย์
  • โดยส่วนตัวชอบศึกษาคำสอนของหลวงปู่ชา แต่ก็ไม่ได้ลึกซึ้งมากมายเท่าใด เพิ่งเรียนรู้ได้ไม่นาน
  • แปลกนะคะ บางครั้งเราก็รู้ว่าอะไรควรปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่การปล่อยวางลง บางครั้งก็เป็นเรื่องยาก แม้จะรู้ว่าถ้าไม่ยึดติดแล้วจะทำให้จิตปล่อยวาง สบาย ไม่ร้อนรน และ ไม่ทุกข์ใจ

สวัสดีค่ะคุณกมลนารี

คำสอนของหลวงปู่ชา เข้าใจง่าย ท่านสามารถอธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายๆ ด้วยตัวอย่างที่ท่านยก แล้วท่านก็ไม่เน้นคำศัพท์ปริยัติมากนัก ดิฉันรู้สึกว่าท่านเน้นให้เข้าใจและนำไปปฏิบัติค่ะ

เรื่องการปล่อยวาง จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยากค่ะ.. ดิฉันพบว่าเรื่องที่เคยคิดว่าปล่อยยากในอดีต..วันนี้ปล่อยง่ายขึ้น เคยสงสัยตัวเองเหมือนกันว่าทำไม๊..เราเคยทุกข์กับเรื่องนี้มากๆ แต่วันนี้ไม่ทุกข์แล้ว..มาใหม่ปุ๊บก็ปล่อยได้เกือบทันที.. ดิฉันตอบตัวเองค่ะว่า เมื่อเราเห็นเหตุและผลของสิ่งนั้นๆ จริงๆ แล้ว เราจะปล่อยได้ค่อนข้างเร็วค่ะ

ส่วนใหญ่ที่ปล่อยไม่ได้ เพราะมักคิดว่ามันมีผลกับเรา เรื่องนั้นเรื่องนี้จะกระทบเรา ไม่ทางกายก็ทางใจ ทางใดทางหนึ่ง ... เมื่อ"คิด"ว่ามีผล..ก็เกิดทุกข์ได้ทันที แต่เมื่อรู้ว่าเป็นแค่ความ"คิด" ยังไม่จริง หรือเป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว แก้ไขไม่ได้..ก็จะทำให้ปล่อยได้ง่ายขึ้นค่ะ...

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ

ดีมากครับ ได้ปัญญาเพิ่มแก่ตัว

เป็นธรรมะที่ดีมากๆครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท