เรื่องของอหิงสาที่คนไทยไม่รู้จัก


มหาตมะ คานธี เป็นคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เป็นผู้นำกระบวนการ Quit India Movement (เป็นกระบวนการอารยะขัดขืน) เพื่อแยกอินเดียและปากีสถานออกจากสหราชอาณาจักร

สิ่งที่แปลกประหลาดของคานธี ที่โลกตะวันตกไม่เคยพบเห็นมาก่อน คืออหิงสา และการต่อสู้โดยสันติวิธี คานธีอาจเป็นคนแรกในยุคปัจจุบัน ที่แสดงให้อารยธรรมตะวันตก ซึ่งทะนงตนว่าเป็นเลิศในศิลปวิทยาการ ได้เห็นว่าปรัชญาตะวันออกลึกซึ้งขนาดไหน

คานธียืนยันมาตลอดว่าตนเป็นฮินดู ยึดถือในคัมภีร์ภควัตคีตา แต่จากประวัติการศึกษา อีกทั้งการวิเคราะห์สภาพสังคมอินเดียในเวลานั้น ทั้งอหิงสาและการต่อสู้โดยสันติวิธี น่าจะเป็นแนวคิดตามศาสนาเชน (Jainism; ซึ่งไม่ใช่ Zen) ซึ่งผมคิดว่านี่คืออิสรภาพที่แท้จริงในความหมายของศาสนา

หลายปีก่อนผมไปเที่ยวอินเดีย เจอ"พระพุทธรูปโป๊" แต่ก่อนที่จะเริ่มโวยวาย ผู้นำเที่ยวก็รีบอธิบายว่านั่นคือรูปของมหาวีระ ศาสดาของเชน

มหาวีระเป็นลูกพระเจ้าสิทธารถะ กษัตริย์แห่งกรุงเวสาลี (ปัจจุบันอยู่ในรัฐพิหาร) มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยพุทธกาล ในยุครุ่งเรือง มีสานุศิษย์ประมาณสี่แสนคน มหาวีระออกผนวชแสวงหาสัจธรรมอยู่สิบสองปีครึ่งจึงบรรลุธรรม

หลักคิดของเชน จะมองว่าคล้ายกับพุทธก็คล้าย จะว่าต่างก็ต่าง ปรากฏข้อความอ้างอิงจากวิกิพีเดียที่บอกว่าคัมภีร์พุทธเรียกเชนว่านิคัณฑะ (พบคำว่านิคัณฑุในสคารวสูตร แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่) เชนมีหลักธรรมจริยาห้าประการที่ยึดถืออย่างเคร่งครัด (คล้ายกับศีลห้าแต่ชาวพุทธในปัจจุบันกลับไม่เคร่ง)

  1. อหิงสา การไม่ใช้ความรุนแรง
  2. ความสัตย์ การยึดถือความเป็นจริง
  3. ไม่ลักทรัพย์
  4. การถือพรหมจรรย์
  5. การไม่ครอบครอง

หลักธรรมจริยาข้อห้า เป็นเหตุให้พระเชนไม่นุ่งผ้า (ปัจจุบันมีพระเชนที่นุ่งผ้า ส่วนท่านที่เคร่งก็ยังคงไม่นุ่งผ้าเช่นเดิม)

เช่นเดียวกับการที่พุทธมีพุทธบริษัท เชนก็มีเชนบริษัทสี่อย่างซึ่งแบ่งแบบเดียวกัน ในสมัยพุทธกาลซึ่งระบบวรรณะรุนแรงมาก การที่ทั้งพุทธและเชนจัดแบ่งสานุศิษย์โดยข้ามชนชั้น น่าจะเป็นแรงผลักดันอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้มีผู้คนมาเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก

เชนมีสานุศิษย์เป็นคนจากวรรณะแพศย์ (พ่อค้า-ชาวนา) เป็นจำนวนมาก ทำให้ทำนุบำรุงศาสนาสืบต่อมาในอินเดียได้จนถึงปัจจุบัน; สำหรับฆราวาสเชน ด้วยหลักการไม่ครอบครอง จึงบริจาคทรัพย์สินเงินทองให้วัด เป็นกำลังของศาสนา; บันทึก: การเกิดขึ้นและล่มสลายของพระพุทธศาสนาในอินเดีย (พระอาจารย์มหาชัยวุธ) และ Decline of Buddhism in India (wikipedia)

หากท่านผู้รู้พบสิ่งใดในบันทึกนี้ที่ผิดพลาดไป  ขอความกรุณาช่วยแย้งและแสดงเหตุผลเพื่อความเข้าใจอันถูกต้องด้วย และผมขออภัยมาล่วงหน้าเลยครับ

หมายเลขบันทึก: 94608เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2007 05:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

P

ปัจจุบัน วิธีนี้ ยังมีใครนำไปใช้และได้ผลแบบท่านคานธีอีกไหมคะ

แต่ในส่วนตัว เห็นด้วยต่อการไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ

ขณะนี้ การประนีประนอม ที่เราเห็นๆ ของส่วนกลาง  อาจต้องปรับนิดหน่อยหรือเปล่า

เกรงว่าคุณธรรมแบบคานธี คงจะต้องใช้กับคนที่มีคุณธรรมเช่นเดียวกันจึงจะได้ผลครับ ขืนใช้วิธีแบบนี้กับนายพุ่มไม้ อาจจะตายเปล่า

อาจเป็นเพราะไม่ค่อยมีคนถามคำถามแบบคุณศิรินันท์ก่อนนะครับ (คิดก่อนทำ) แต่มีการนำรูปแบบ ของอารยะขัดขืนไปใช้เลย โดยคิดเพียงแต่ว่ามันเคยใช้ได้มาก่อน --> ในบางกรณี แทนที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกัน หันหน้าเข้ามาพูดจากันด้วยเหตุผล กลับขยายความขัดแย้งให้กว้างขึ้น แบ่งแยกสังคมเป็นก๊กเป็นเหล่า

P

แนะนำหนังสือ ปรัชญาอินเดีย ของ อาจารย์อดิศักดิ์ ทองบุญ ....

เจริญพร

ขอบคุณครับ เข้าใจว่าเล่มที่พระอาจารย์แนะนำนี้ ราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์เมื่อปี ๒๕๒๔ ใช่ไหมครับ ถ้าใช่คงหาซื้อยากในตอนนี้
P

ปรัชญาอินเดีย ของ อาจารย์อดิศักดิ์ ทองบุญ ....

๒๕๒๔ ตามที่คุณโยมว่านั้น เป็นการพิมพ์ครั้งแรก... พิมพ์ครั้งที่สอง ๒๕๓๒... และตอนนี้มีพิมพ์ครั้งที่สาม ๒๕๔๖ ... ซึ่งคิดว่า ผู้สนใจคงจะหาได้ไม่ยาก...

อาตมาเรียนปรัชญาอินเดียกับอาจารย์อดิศักดิ์ประมาณปี ๒๕๓๗-๒๕๓๘... เมื่ออ้างถึง หลักอหิงสาของปรัชญาเชน ก็นึกถึงคำสอนของอาจารย์ที่บอกว่า ปรัชญาเชนถือว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็น ชีวะ คือมีชีวิตทั้งนั้น ...ฯลฯ ประมาณนี้ .... ซึ่งจะโยงมาถึง หลักอหิงสา ...

แต่แนวคิดยากส์ พูดไม่จบ จึงแว๊บขึ้นมาว่า แนะนำหนังสืออาจารย์ดีกว่า ประมาณนี้...

ขอกล่าวถึงอาจารย์อดิศักดิ์นิดหน่อย... อาจารย์สอนหนังสือดีมาก ตอบได้ชัดเจนทุกเรื่อง... นำแนวคิดปรัชญาอินเดียสำนักต่างๆ ไปโยงกับปรัชญาตะวันตกสำนักต่างๆ ด้วย ... ทำให้นิสิตเข้าใจปรัชญาสำนักต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น....

สำหรับอาตมา ยืนยันได้ว่า ความรู้ปรัชญาพื้นฐานทั้งหมดที่ได้มาจากครู... ประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ได้มาจากอาจารย์อดิศักดิ์...

ตอนเรียนปรัชญาอินเดีย อาตมาทำรายงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์หลักสยาทวาทของปรัชญาเชน... เสียดายมิได้เก็บต้นฉบับไว้ เพราะอยากรู้ว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อน อาตมามีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้.....

สำหรับผู้สนใจเชิงตรรกศาสตร์ ลองดู  ตรรกศาสตร์ : หลักสยาทวาทของปรัชญาเชน  ซึ่งอาตมาได้วิจารณ์ไว้เล็กน้อย....

เจริญพร

เข้าใจล่ะครับ พอพระอาจารย์แนะนำ ผมก็ค้นเน็ตดูว่าที่ไหนจะมีขายบ้าง ไปเจอที่ศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์ ซึ่งเขาเขียนชื่อว่า "ปรัชญาอินเดีย พ.3 พ.ศ.2546" แต่ผมไม่ใช่บรรณารักษ์ ก็เลยไม่รู้ว่า พ. ย่อมาจากพิมพ์ครั้งที่ ประกอบกับมี citation อะไรสักอย่างที่อ้างถึงหนังสือเล่มนี้ แต่บอกว่าพิมพ์ปี 2524 ครับ

จะลองไปหามาอ่านครับ กราบขอบพระคุณพระอาจารย์ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท