สรุปประเด็นวิจัยเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงในอีสาน


การพัฒนาคน พัฒนากลุ่มโดยเน้นการปลุกจิตสำนึกในการพัฒนาแบบพึ่งตนเอง สามารถอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤติทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

         จากผลการประชุมในวันที่ ๒๒  กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ณ โรงแรมเจริญธานีปริ๊นเซส จ.ขอนแก่น ในประเด็นวิจัยเพื่อประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในระดับชุมชน  ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นตัวแทนของนักวิจัยจากสถาบันการศึกษา และหน่วยงานราชการต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานพัฒนาองค์กรเอกชน และองค์กรภาคประชาชน เข้าร่วมจำนวน ๒๕ คน  ได้พบว่า แนวทางที่ควรจะทำงานวิจัยแบบเร่งด่วน ในระยะ ๓ ปี ข้างหน้านั้น มีประเด็นหัวข้อหลัก ๆ อยู่ ๓ หัวข้อใหญ่ ๆ ด้วยกัน ตามลำดับ คือ

 

๑.                   การพัฒนาคน  พัฒนากลุ่มโดยเน้นการปลุกจิตสำนึกในการพัฒนาแบบพึ่งตนเอง สามารถอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤติทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขและพัฒนาระบบทรัพยากร ระบบสังคม ระบบเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกระดับ

๒.                  การพัฒนาชุดความรู้ เทคนิคและวิธีการในการทำงานด้านต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้แก่ ชุดความรู้ในการจัดการทรัพยากร การผลิต การแปรรูป การจัดการในระดับตัวบุคคล ครัวเรือน และชุมชน ที่เชื่อมโยงกัน จนเป็นชุดความรู้ที่สามารถสนับสนุนระบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้

๓.                  การพัฒนาระบบการผลิตและการตลาด รวมถึงการแปรรูปที่สามารถดำเนินงานในระดับชุมชนแบบพึ่งตนเองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและลดการเสี่ยงต่อเหตุการณ์ผันผวนที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระดับท้องถิ่นและสังคมโลก

 

ประเด็นทั้ง ๓ ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นข้อสรุปสาระสำคัญ ของการพัฒนาที่นำเสนอโดย ผู้มีประสบการณ์สูง และเป็นตัวแทนจากชุมชนที่มีการจัดการระบบเศรษฐกิจพอเพียงระดับครัวเรือนและชุมชน จากเครือข่ายปราชญ์อีสาน จากเครือข่ายข้าวอินทรีย์ของภาคอีสาน และจากกลุ่มญาติธรรมของสันติอโศก ซึ่งมีแนวคิดและหลักการที่สามารถปฏิบัติได้จริง เป็นตัวอย่างที่ดี (Best practice) ในการดำเนินงานที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในระดับกลุ่ม ชุมชน ภูมิภาค และประเทศ ได้อย่างเป็นจริง

 

ผมจึงหวังว่า แผนนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่กำหนดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนายุทธศาสตร์การวิจัยของชาติให้เข้าสู่เส้นทางของความเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และระบบการเกษตรที่ยั่งยืนและเป็นอยู่จริงมากกว่าเดิม

หมายเลขบันทึก: 167367เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2008 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 10:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ชื่นชม ยินดีสวัสดีค่ะอาจารย์ เห็นด้วยเลยค่ะ ที่จะพัฒนาคนเป็นอันดับหนึ่ง

 

  • ยกมือชอบใจ และเห็นด้วย กับ "การพัฒนาคน" เหนือสิ่งอื่นใด ด้วยคนครับ อิ อิ
  • นึกถึงคำตอบสุดท้ายที่ผมพยายามศึกษา ว่า จะยกระดับราคาข้าวอย่างไร ? เมื่อนานมาแล้ว เคยคุยเล่น ๆ กับเพื่อนชาวเวียตนาม ว่า เฮ้ย! เราจับมือกันเป็นกลุ่ม OPEC ค้าข้าว ครัวโลก กันดีไหม .. ทำเป็นเล่นไป เวียตนาม ถ้ารัฐบาลเขาเอาด้วย หันซ้าย หันขวา เร็วยังกะฟ้าผ่า แต่ติดตรงพี่ไทยของเรานี่ล่ะ ผลประโยชน์มันเยอะเกินกว่าจะทิ้งมาพัฒนาชาติ
  • .. สุดท้าย อะไรจะเกิดขึ้นถ้าข้าว กิโล ละ 100 บาท ?
  • ตามใดถ้าเรายังไม่พัฒนาคน ก่อนมันก็เหมือนสามล้อถูกหวย รังแต่จะสร้างปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมาเป็นพรวน
  • ว่าแต่ว่า จะพัฒนาใคร อย่างไร ครับ ถึงจะคุ้มค่าและยั่งยืนที่สุดครับท่านอาจารย์

สวัสดีครับท่านคุณครู ดร.แสวง

  • โคกเพชรกำลังเร่งสปีด "การปลุกจิตสำนึกในการพัฒนาแบบพึ่งตนเอง" เต็มกำลังแรงม้า
  • เพราะเชื่อว่า  ถ้าพัฒนาคนได้ตามสเป๊กนี้แล้ว  อย่างอื่นหายห่วง  เพราะแผ่นดินไทยสมบูรณ์พร้อมสำหรับคนพันธุ์นี้อยู่ตลอดเวลา
  • แต่ที่ประเทศไทยเป๋ไปเป๋มา แอ่นขวาแอ่นซ้าย ล้มลุกคลุกคลาน หัวทิ่มหัวตำ ศีรษะคะมำหน้าหงาย ไม่ยอมหายกันสักทีนั้น  ก็เป็นเพราะคนของเรา "เมาความอุดมสมบูรณ์" จนเพียบแป้ จึงเป็นได้แค่ "ทาสยุคใหม่" ที่ปลดปล่อยยังไงก็ไม่ยอมหนีจากเรือนทาส (ดูแค่นิสัยพื้นฐานที่สรุปได้ว่าเป็นนายสั่งตัวเองไม่ได้ ต้องคอยให้คนอื่นบังคับ เรียนจบออกมาหางานทำ แทนที่จะเรียนมาเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพอิสระ ฯลฯ ทั้งนี้เพราะแกร่งไม่พอนั่นเอง)
  • แลกเปลี่ยนแบบตรงๆและหนักไปนิด  ต้องขออภัยครับ
  • สวัสดีครับ

P 3. ครูวุฒิ

ขออนุญาต แลกเปลี่ยน ท่าน อาจารย์วุฒิ ค่ะ

แต่ที่ประเทศไทยเป๋ไปเป๋มา แอ่นขวาแอ่นซ้าย ล้มลุกคลุกคลาน หัวทิ่มหัวตำ ศีรษะคะมำหน้าหงาย ไม่ยอมหายกันสักทีนั้น  ก็เป็นเพราะคนของเรา "เมาความอุดมสมบูรณ์" จนเพียบแป้ จึงเป็นได้แค่ "ทาสยุคใหม่" ที่ปลดปล่อยยังไงก็ไม่ยอมหนีจากเรือนทาส (ดูแค่นิสัยพื้นฐานที่สรุปได้ว่าเป็นนายสั่งตัวเองไม่ได้ ต้องคอยให้คนอื่นบังคับ เรียนจบออกมาหางานทำ แทนที่จะเรียนมาเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพอิสระ ฯลฯ ทั้งนี้เพราะแกร่งไม่พอนั่นเอง)

อยากขอคำแนะนำจังเลยค่ะว่า อาจารย์วุฒิ คิดว่า ประโยคข้างบน ควรจะมีทางออก หรือแก้ไข อย่างไรบ้างคะ อยากเรียนรู้มาก ๆ และอยากคิดหาทางออก ร่วมด้วยช่วยกัย น่ะค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

เรียน ท่านทั้งสอง

ผมคิดว่าเราต้องเอเรือออกจากโอ่งให้ได้ก่อนครับ

ตอนนี้กำลังวนในโอ่งของ "ระบบการศึกษา"

 ที่ไม่มีทั้ง "การเรียน" และ "การศึกษา"

ผู้สอนก็ไม่เรียน

ผู้เรียน ก็ไม่เรียน

ปล่อยให้ภาคเอกชน และประชาชนเรียนกันไปตามมีตามเกิด

เราจึงมีนักบริหารธุรกิจมืออาชีพ เกษตรกรมีออาชีพ กันอยู่ประปราย แบบตามมีตามเกิด แต่ก็พอจะค้ำยันประเทศได้บ้าง  แบบน่าสมเพท

มีผู้ที่สอนคนอื่นอยู่ในปัจจุบัน สักกี่คนที่กล้าจะเทียบฝีมือคนเหล่านั้น

เขาเก่งจากการปฏิบัติ ทำไมเราไม่เลียนแบบบ้าง

ไม่เรียนก็ไม่ว่า เลียนแบบบ้างก็ยังดี

เรามีทั้งข้อมูล ทฤษฎี หลักการสารพัด

ถ้าบวกการปฏิบัติจริงๆ น่าจะพัฒนาไปได้เร็วกว่าเรียนแบบไม่มีหลักการนะครับ

แต่ อนิจจา......

เรามัวแต่นั่งท่องทฤษฎี หลักการ และบีบบังคับให้เด็กรุ่นใหม่ท่องตามเราให้ได้

ใครท่องได้ก็ได้เกียรตินิยม ใครได้น้อยก็ลดหลั่นลงมา

เมื่อไหร่วิชาการของเรา จะออกดอก ออกผล ต่อยอดเป็นจริงเป็นจรังเสียที

ขนาดหลักสูตรท้องถิ่นที่ทางผู้รู้ ได้ช่วยกำหนดแนวทางให้ท่านได้มีโอกาสยกเรือออกจากโอ่ง ท่านก็เลี่ยงบาลีหาเรื่องที่จะพายเรือ เฉพาะแต่ในโอ่ง กันเสียจนแทบจะไร้สาระ

เราต้องอ้างที่จะ "เรียน" ไม่ใช่อ้างสารพัดที่จะ "ไม่เรียน"

ผมว่าครูวุฒิกำลังจะสร้างสื่งที่เป็นจริง

และน่าจะเป็นต้นแบบ ให้ท่านที่ชอบพายเรือในโอ่ง ได้เห็นว่า การจะออกนอกโอ่ง นั้นทำกันอย่างไร

ขอให้ประสพผลสำเร็จครับ

ผมก็กำลังทำในมุมคล้ายๆกัน

จะพานักศึกษาปีหนึ่งไปวางฐานคิด "เกษตรอินทรีย์" "เกษตรยั่งยืน" "เกษตรผสมผสาน" และ "เศรษฐกิจพอเพียง" ก่อนที่นักทำลายสมองมนุษย์ จะเปิดศึกทำลายเขาในปีต่อๆไป ด้วยความรู้ที่แยกส่วนและเป็นพิษ

ผมจะลองดู ว่าเขาพอจะสามารถมีภูมิต้านทานกันระบบการสอนแบบทำลายสมองได้หรือไม่ สักแค่ไหน

บางทีกระแสแรงๆ อะไรก็ต้านยากครับ

แค่คิดก็หนัก แต่ไม่ท้อครับ

เรียนขออนุญาตท่านคุณครู ดร.แสวง ใช้พื้นที่ตรงนี้นิดหนึ่งครับ

ขอบคุณคุณ P บัวปริ่มน้ำ ที่ให้ความสนใจความคิดเห็นของผมขอสรุปทางออกสั้นๆต่อยอดจากที่ท่านคุณครู ดร.แสวงเลยนะครับ

  • เริ่มจากการทุ่มทุนฟูมฟักเด็กๆมาตั้งแต่ก่อนการเรียนอนุบาล (รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว) โดยต้องมีศูนย์ฟูมฟักและกล่อมเกลาที่ได้มาตรฐาน ทั้งด้านบุคลากร วัสดุอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ อาคารสถานที่ เครื่องเล่นสนาม อาหารการกิน ฯลฯ (แทนการจัดงบประมาณไปทิ้งลงชักโครกอย่างปัจจุบัน)
  • ทุ่มเทงบประมาณไปพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ใช้ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์และมือถึง โดยเฉพาะระดับปฐมวัยและประถมศึกษา แทนการเลี้ยงบอนไซในกระถางอย่างปัจจุบัน (เอาแค่งบประมาณที่ได้รับจัดสรรปัจจุบันก็พอเพียง  แต่ต้องให้ถึงโรงเรียนโดยตรงและมากที่สุด อย่างน้อย รร.ละ 300,000 บาทต่อปีเป็นฐาน ส่วนเกินจัดให่ตามปริมาณงาน)
  • เลิกทำลายความเชื่อมันของผู้เรียน ด้วยวิธีการเรียนการสอนแบบอ่านท่องไปจิ้มตอบเอาคะแนน เปลี่ยนมาร่วมเรียนรู้แบบกัลยาณมิตร เอาหัวใจที่ศรัทธาของเด็กมาก่อน (ปัจจุบันครูส่วนใหญ่เอาความหวาดกลัวของเด็กมาก่อน) ชวนเด็กเรียนแบบถึงลูกถึงคน ครูนักเรียนทำกิจกรรมร่วมกัน (แทนการที่ครูมีหน้าที่สั่งๆๆๆและรอตรวจอย่างเดียวดังปัจจุบัน) ให้ความสำคัญกับความสามารถเฉพาะตัวของเด็กและโอกาสในการฝึกฝนและแสดงออกอย่างเต็มที่ทั้งทางด้านดนตรี กีฬา ศิลปะ(ทุกแขนง) ภาษา วรรณกรรม ฯลฯ ส่วนเด็กที่ชอบวิชาการแบบเน้นทฤษฎีหลักการและการทดลองเชิงวิทยาศาสตร์และคณิตศาสร์ ก็สร้างฐานให้เขาเต็มที่ไปเลย ฯลฯ
  • เบื้องบนก็ต้องเลิกเลิกจุ้นจ้านงานของสถานศึกษา (แบบจับมือเขียน หรืออ่านให้เขียนตามอย่างในปัจจุบัน) ต้องให้ผู้บริหารสถานศึกษารับผิดชอบผิดถูกชั่วดีแบบเต็ม 100  โดยมีเป้าหมายและมาตรฐานกลางเป็นตัวชี้วัด (ปัจจุบันผู้บริหารสถานศึกษาเรียนจบ ป.เอก ป.โท มากมาย แต่เป็นได้แค่ผู้ทำตามคำสั่งจากเบื้องบน(หลายชั้นหลายระดับด้วย)  แล้วอย่างนี้เราจะเรียนกันไปทำไม แล้วเมื่อไหร่เขาจะได้เป็นมืออาชีพกันซักที)
  • ถ้าจะให้ผมดีไซน์ระบบ  ผมจะยกเลิกการจ้าง"ข้าราชการครู" ในรูปแบบปัจจุบัน แต่เปลี่ยนมาเป็นการจ้าง "ทีมงานนักจัดการศึกษามืออาชีพ" แทน (ถ้าสนใจในประเด็นนี้ รบกวนติดตามที่บล๊อกครูวุฒิไปเรื่อยๆ ผมกะจะเขียนเร็วๆนี้ครั)
  • ฯลฯ
  • ขอบคุณท่านคุณครู ดร.แสวง ในฐานะเจ้าของพื้นที่  และคุณบัวปริ่มน้ำมากครับ ที่ให้เกียรติสะกิดต่อมอึดอัดของผม
  • สวัสดีครับ

ผมว่าครูวุฒิกำลังจะสร้างสื่งที่เป็นจริง

และน่าจะเป็นต้นแบบ ให้ท่านที่ชอบพายเรือในโอ่ง ได้เห็นว่า การจะออกนอกโอ่ง นั้นทำกันอย่างไร

ขอให้ประสพผลสำเร็จครับ

ผมก็กำลังทำในมุมคล้ายๆกัน

  • เรียนท่านคุณครู ดร.แสวง
  • ขอบคุณครับสำหรับกำลังใจและอำอวยพรตรงนี้
  • แหะ...ผมมั่นใจขึ้นก็เพราะท่านนั่นแหละครับ
  • ผมเชื่อมั่นว่าท่านทำได้แน่นอน  เพราะที่ผ่านมาท่านก็ทำได้อยู่แล้ว (พา นศ.เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านผ่านโทรศัพท์มือถือ , ทำนาและวนเกษตรให้ชาวนาดู  ฯลฯ ยังงี้ ผู้เรียนได้เรียนรู้จากของจริง อันเป็นความรู้แท้ที่เต็มไปด้วยปรัญาที่จำเป็นสำหรับชีวิตทั้งนั้นครับ)
  • สวัสดีครับ

จะหาโอกาสไปเยี่ยมบ้านโคกเพชรให้เห็นกับตาครับ

ฟังแล้วไม่สะใจ!!!!

อิอิ

แหะ ๆ ๆ ๆ ...

ถ้าท่านคุณครู ดร.มาเยี่ยมโคกเพชร  เห็นแน่ๆก็

  • ความรกรุงรังของต้นไม้ ใบไม้ และหญ้าแห้งๆ (ภารโรงเยอะ)
  • ความไม่เป็นทางการ (คิดยังไง  อยากทำอะไร ไถ่ถามพูดคุยทำความเข้าใจกันเสร็จ ลงมือเลย สรุปคือ มีแผนแต่ไม่นิ่งครับ)
  • ความมอมแมมของทั้งเด็กและครู (ลุยแต่ดินแต่ขยะ ป่าย่อมๆ และดินโคลน)
  • และความธรรมดาๆของโรงเรียนบ้านนอก...(แบบขะแมร์) ครับ

แหะ ๆ ๆ ๆ...

ไว้นัดกันอีกที

ไม่ทราบครูบาไปดูหรือยังครับ

น่าจะไปพร้อมกันนะครับ

อุ อุ... ผมขอไปด้วย ช่วย 2 หลึง....

ครับ

ครูวุฒิพร้อมตลอดไหมครับ

ช่วงเปิดเทอมน่าจะดีกว่าไหมครับ

อยากจะวางแผนงานเชื่อมโยงหลักสูตรท้องถิ่นครับ

ที่คาดว่าจะต้องเริ่มใน ๒-๓ เดือนนี้ครับ

ถ้ามีแผนงานอะไรช่วยทำรสยการส่งมาให้หน่อยได้ไหมครับ

ผมจะได้วางแผนถูก

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท