กรณี GT200 : เหตุใด GT200 จึงเข้าข่ายวิทยาศาสตร์จอมปลอม?



เหตุใด GT200 จึงเข้าข่ายวิทยาศาสตร์จอมปลอม?


ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

E-mail : [email protected]  
Web : http://portal.in.th/buncha
  

 

ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ คณะกรรมการทดสอบอุปกรณ์ GT200 กำลังดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและจัดหาสถานที่เพื่อทำการตรวจสอบอุปกรณ์ดังกล่าว [ล่าสุด : การทดสอบจะจัดดำเนินการในวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย] สังคมไทยย่อมคาดหวังว่าหลักเกณฑ์การทดสอบจะมีความละเอียดรัดกุมตามหลักวิชาการ และการตรวจสอบจะเป็นไปอย่างรอบคอบและโปร่งใส ซึ่งจะส่งผลให้ผลการทดสอบมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการทดสอบดังกล่าวเป็นการทดสอบสมรรถนะ (performance) ของ GT200 โดยใช้วิธีการทางสถิติเป็นหลัก ผมจึงขอแสดงความคิดเห็นในมุมมองทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากที่ผมมีพื้นฐานทางฟิสิกส์ และมีประสบการณ์ในการจัดซื้อและใช้งานอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในระหว่างการทำงานที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ทัศนะต่อกรณี GT200 ณ ที่นี้ จะแสดงหลักการและหลักฐาน ประกอบคำอธิบายโดยย่อเพื่อชี้ให้เห็นว่า เหตุใดอุปกรณ์ GT200 จึงไม่เป็นอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ และเข้าข่ายอุปกรณ์ลวงโลก ดังที่มีนักวิชาการบางท่านออกมาทักท้วงก่อนหน้านี้ (ข้อมูลและคำอธิบายเพิ่มเติมจะนำเสนอในโอกาสต่อไป หากมีผู้สนใจ)

 
ลองพิจารณาเอกสารซึ่งระบุข้อมูลทางเทคนิคของ GT200 จากบริษัท GlobalTechnical ในภาพต่อไปนี้

   



ข้อมูลทางเทคนิคของอุปกรณ์ GT200


ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสมรรถนะของเครื่องว่าจะสามารถทำงานได้ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ (เช่น ตรวจจับวัตถุระเบิด และ/หรือ สารเสพติด ฯลฯ) มีอย่างน้อย 4 อย่าง ได้แก่  

  • แหล่งพลังงาน (Power Source)
  • วิธีการตรวจจับ (Detection Method)
  • ระยะห่างที่สามารถตรวจจับได้ (Detection Distance)
  • ปริมาณน้อยที่สุดที่ตรวจจับได้ (Minimum Detection Quantity)


อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสำคัญนี้ทั้ง 4 อย่างนี้เองที่ส่อพิรุธ และทำให้ผู้ที่เข้าใจหลักการและขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันเกิดข้อกังขาอย่างยิ่งว่า GT200 ไม่สามารถตรวจจับวัตถุระเบิด สารเสพติด และอื่นๆ ได้จริง


ข้อมูลทั้ง 4 อย่างนี้จะขอเรียกว่า  “จุดพิรุธ” โดยจะแสดงเหตุผลสำหรับจุดพิรุธที่หนึ่งแยกออกมาต่างหาก ส่วนจุดพิรุธที่สอง ที่สามและที่สี่จะพิจารณาร่วมกันดังเหตุผลที่จะปรากฏต่อไป

 

จุดพิรุธที่หนึ่ง - แหล่งพลังงาน (Power Source) : ไฟฟ้าสถิต (Static Elctricity)


เหตุผลที่ทำให้เชื่อว่าไม่จริง
: ไฟฟ้าสถิตที่กล่าวถึงนี้ หมายถึง ไฟฟ้าสถิตบนร่างกายของผู้ใช้ (โดยที่ผู้ใช้จะต้องตระเตรียมร่างกายให้พร้อมอย่างถูกต้องตามวิธีการที่บริษัทกำหนดไว้) อย่างไรก็ตาม แม้ไฟฟ้าสถิตที่เกิดขึ้นจะมีอยู่ตลอดเวลา แต่ปัญหาก็คือ ประจุที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าสถิตดังกล่าวมีปริมาณน้อยมากจนเป็นไปไม่ได้ว่าจะสามารถนำไปใช้ในการทำให้ชิ้นส่วนของอุปกรณ์ขยับเขยื้อนได้   (หากยังเชื่อว่าสามารถนำไฟฟ้าสถิตดังกล่าวไปใช้ได้จริง ก็ต้องถามต่อถึงกลไกการถ่ายโอนประจุระหว่างร่างกายกับอุปกรณ์ GT200 นี้ว่าเป็นอย่างไร)


      
จุดพิรุธที่สอง - วิธีการตรวจจับ (Detection Method) : สภาพแม่เหล็กไดอา-พารา (Dia-Para Magnetism)

จุดพิรุธที่สาม - ระยะห่างที่สามารถตรวจจับได้ (Detection Distance) : พื้นดิน (Land) 700 เมตร, ทะเล (Sea) 850 เมตร, อากาศ (Air) 4000 เมตร, ใต้น้ำ (Underwater) 500 เมตร และใต้ดิน (Underground) 60 เมตร

จุดพิรุธที่สี่ - ปริมาณน้อยที่สุดที่ตรวจจับได้ (Minimum Detection Quantity) : พิโคกรัม (Picogram)


เหตุผลที่ทำให้เชื่อว่าไม่จริง
: ลองมาทำความเข้าใจคำว่า สภาพแม่เหล็กไดอาและสภาพแม่เหล็กพารา กันก่อน


สภาพแม่เหล็กไดอา (diamagnetism)
หมายถึง การที่สสารที่อยู่ในสนามแม่เหล็กภายนอกแสดงการต่อต้านสนามแม่เหล็กภายนอกนั้น โดยโมเมนต์แม่เหล็ก (magnetic moment) ขององค์ประกอบของสสารจะชี้ในทิศทางที่สวนทางกันกับทิศทางของสนามแม่เหล็กภายนอก (ในภาพประกอบ ลูกศรใหญ่แทนสนามแม่เหล็กภายนอก ส่วนลูกศรเล็กแทนโมเมนต์แม่เหล็ก)

จริงๆ แล้วสภาพแม่เหล็กไดอาเป็นสมบัติพื้นฐานของสสารทุกชนิด แต่หากสสารชนิดหนึ่งๆ มีสภาพแม่เหล็กแบบอื่นที่โดดเด่นกว่าก็จะไม่แสดงสภาพแม่เหล็กไดอาออกมา สำหรับสสารที่แสดงสภาพแม่เหล็กไดอาอย่างชัดเจน เช่น ไฮโดรเจน ทองแดง ทองคำ ปรอท และน้ำ เป็นต้น  


 

แผนภาพอย่างง่ายแสดงสภาพแม่เหล็กไดอา

ซ้าย : สนามแม่เหล็กภายนอกเป็นศูนย์ (H = 0)
ขวา : สนามแม่เหล็กภายนอก H (ลูกศรใหญ่) ชี้ไปทางขวามือ (โปรดสังเกตทิศทางของลูกศรเล็กซึ่งแทนโมเมนต์แม่เหล็ก)


สภาพแม่เหล็กพารา (paramagnetism) หมายถึง การที่สสารบางชนิดเมื่ออยู่ในสนามแม่เหล็กภายนอกจะแสดงการยอมตามสนามแม่เหล็กนั้น โดยโมเมนต์แม่เหล็กขององค์ประกอบของสสารนั้นจะชี้ในทิศทางเดียวกันกับทิศทางของสนามแม่เหล็กภายนอก ทั้งนี้สภาพแม่เหล็กพาราจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิอย่างมาก หากอุณหภูมิสูง ก็จะทำให้สภาพแม่เหล็กพาราลดลงจนกระทั่งหมดไปได้ สำหรับสสารที่แสดงสภาพแม่เหล็กพาราอย่างชัดเจน เช่น อะลูมิเนียม ทังสเตน และแมงกานีส เป็นต้น  




แผนภาพอย่างง่ายแสดงสภาพแม่เหล็กพารา

ซ้าย : สนามแม่เหล็กภายนอกเป็นศูนย์ (H = 0) โมเมนต์แม่เหล็ก (ลูกศรเล็ก) ชี้อย่างสุ่มๆ  
ขวา : สนามแม่เหล็กภายนอก H ชี้ไปทางขวามือ (โปรดสังเกตทิศทางของลูกศรเล็กซึ่งแทนโมเมนต์แม่เหล็ก)

 
ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกรณี GT200 ได้แก่

       หนึ่ง – การที่สภาพแม่เหล็กไดอาและสภาพแม่เหล็กพาราจะปรากฏให้ตรวจวัดได้นั้น สสารจะต้องอยู่ในสนามแม่เหล็ก

       สอง
– เนื่องจากสภาพแม่เหล็กไดอาและสภาพแม่เหล็กพาราของสสารอ่อนมากๆ (วัดเป็นตัวเลขจะได้ค่าน้อย) จึงต้องใช้สนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงเพียงพอในการเหนี่ยวนำให้สสารแสดงสมบัติดังกล่าวออกมา



เมื่อพิจารณาจุดพิรุธที่สาม กล่าวคือ สามารถตรวจจับสารได้ในระยะไกลระดับหลายสิบเมตร (ผ่านใต้ดิน) จนถึงหลายพันเมตร (ผ่านอากาศ) ได้ และจุดพิรุธที่สี่ กล่าวคือ สามารถตรวจจับสารในปริมาณน้อยมากๆ ในระดับพิโคกรัม (picogram) หรือหนึ่งในล้านล้านกรัม (เขียนเป็นตัวเลขคือ 0.000000000001 กรัม) ประกอบกับจุดพิรุธที่สอง (เรื่องสภาพแม่เหล็กไดอาและสภาพแม่เหล็กพารา) จะเห็นว่า 

  • ข้อกล่าวอ้างเกี่ยวกับสมรรถนะของ GT200 ขัดแย้งกับหลักการทางฟิสิกส์ที่ว่าสสารนั้นจะต้องอยู่ในสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงเพียงพอ
  • ในปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่ามีเทคนิคใดๆ ที่มีความไว (sensitivity) สูงเพียงพอที่จะตรวจวัดค่าของสภาพแม่เหล็กที่มีปริมาณน้อยมากๆ ในระยะที่ไกลเช่นนั้นได้ (จริงๆ แล้วหากมีเทคนิคที่มีความไวมากขนาดนั้น สัญญาณรบกวนจากสสารอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กว่าก็จะบดบังสัญญาณที่ต้องการจนไม่อาจวัดค่าได้ เว้นแต่จะมีวิธีการแยกสัญญาณที่ต้องการออกมาได้อย่างชัดเจน)



อนึ่ง ในช่วงที่ผ่านมามีผู้เสนอกลไกการทำงานในลักษณะอื่นๆ ขึ้นมา เช่น

  • “GT200 อาจใช้หลักการทางควอนตัมฟิสิกส์"

    ข้อสังเกต : ต้องถามกลับไปว่า หลักการข้อไหนของกลศาสตร์ควอนตัมที่ถูกใช้?  การออกแบบอุปกรณ์สอดคล้องกับหลักการที่ว่าอย่างไร? และมีการตรวจสอบโดยนักฟิสิกส์และวิศวกรที่เข้าใจหลักการนั้นแล้วหรือไม่? อย่างไร?

  • "อุปกรณ์นี้ไม่ใช่อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ แต่มันทำงานได้"

    ข้อสังเกต : หากไม่ใช่อุปกรณ์ตรวจจับวัตถุระเบิดหรือสารเสพติดด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้ว อุปกรณ์นี้มีหลักการทำงานอย่างไรเล่า? และหากหน่วยงานของรัฐยึดหลักการที่ว่าสามารถใช้งานอุปกรณ์ใดๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องรองรับแล้ว จะส่งผลอย่างไรบ้างต่ออุปกรณ์ต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคต?

    ส่วนคำว่า "แต่มันทำงานได้" ก็จำเป็นต้องขอหลักฐานที่มีหลักการทางสถิติเข้าไปจับ เพราะเพียงแค่ความรู้สึกของคนนั้นไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน ดังเช่นในกรณี GT200 นี้



ด้วยเหตุผลหลักที่แสดงไว้ ณ นี้ (และเหตุผลประกอบอื่นๆ)
ผมมีความคิดเห็นตามหลักการทางวิชาการและหลักฐานที่ปรากฏว่า
อุปกรณ์ GT200 ไม่ใช่อุปกรณ์ที่สามารถตรวจจับวัตถุระเบิด (และสารเสพติด และอื่นๆ) ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
เว้นแต่จะมีหลักฐานใหม่ในทางวิชาการที่เชื่อถือได้มาหักล้างข้อสรุปนี้โดยปราศจากข้อกังขา

 


ประวัติของบทความ

  • ดัดแปลงจากบทความ "เหตุใด GT200 จึงเข้าข่ายวิทยาศาสตร์จอมปลอม?" ซึ่งตีพิมพ์ใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ เซ็คชั่น จุดประกาย เสาร์สวัสดี คอลัมน์ Event Horizon วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553     


บันทึกที่เกี่ยวข้อง

 


คำสำคัญ (Tags): #gt200
หมายเลขบันทึก: 334251เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2010 05:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)

จะติดตามอ่านต่อไปค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

อรุณสวัสดิ์ครับ ครูอ้อย

         ประเด็นนี้สำคัญมาก ไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่า แต่ยังเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและสวัสดิภาพของคนที่เกี่ยวข้องด้วยครับ

เจอแบบนี้แย่เลย ประเทศไทย...ทำไมหนอ ทางการทหารถึงซื้อมาใช้ ต่อไปจะมีการตรวจเรือเหาะไหมเนี่ยพี่ชิว!!!!!! น่าสนใจนะครับพี่.....

อ.แอ๊ด 014

         ใช่แล้วครับ ดูเหมือนบ้านเรานี่จะอาการหนักในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความคิด-ความรู้-ความเชื่อ นี่หนักแบบซึมลึกเลย

         พี่เคยพูดกับผู้ใหญ่ใน สวทช. อย่างน้อย 3 ท่านว่า ในขณะที่เรา (หมายถึง สวทช. และวงการวิทยาศาสตร์โดยรวม) พยายามทำ Public Understanding of Science คือเผยแพร่ความรู้ให้สาธารณชนเข้าใจวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น (เช่น เผยแพร่งานวิจัย)....

         ก็ยังมีอีกด้านหนึ่งที่ควรทำ หรือต้องทำด้วยคือ Public Awareness of Pseudo-Science คือ ทำให้คนฉุกคิด และเข้าใจเกี่ยวกับการแอบอ้างวิทยาศาสตร์แบบมั่วซั่ว นำวิทยาศาสตร์ไปปู้ยี่ปู้ยำเพื่อหวังผลทางการค้า (หรือขยายจำนวนสาวก ฯลฯ) อีกด้วย

         กรณี GT200 นี่เป็นกรณี Pseudo-Science ที่ชัดเจน และมีผลกระทบอย่างลุ่มลึกในหลากหลายมิติครับ

         สำหรับทหาร (รวมทั้งองค์กรอื่นๆ ที่จัดซื้อและใช้เครื่องนี้) นั้น พี่ยังเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าถูกชี้นำไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้องครับ

ได้ความรู้ใหม่ ขอบพระคุณค่ะท่านอาจารย์หมอรู้รอบทิศ

เศร้าจังคะ เวลาเจอข่าวการจัดซื้อในทางไม่ชอบแล้ว เฮ้อ

แต่ก็ยังโชคดีที่มีท่านผู้กล้าต่อสู้เพื่อความถูกต้องนะคะ  

คุณปู ณ อันดามัน

         ด้วยความยินดีครับ

         ขอบอกฟามลับเล็กๆ (จริงๆ ก็ไม่ลับอะไร...อิอิ) ว่าจริงๆ แล้ว ก่อนหน้านี้ผมทำงานต่อต้าน วิทยาศาสตร์จอมปลอม (Pseudo-Science) ทำนองนี้มาระยะหนึ่ง เช่น เรื่องน้ำพลังแม่เหล็ก น้ำมันเบนซินจากพืช กรณีไอน์สไตน์พบ-พระพุทธเจ้าเห็น ฯลฯ แต่ไม่ค่อยมีแนวร่วม ก็เลยเหนื่อยๆ เนือยๆ ไป

         ถึงได้หันมาดูเมฆ พับกระดาษ แทนไงครับ มีความสุขกว่ากันเยอะเลย

         แต่กรณีนี้ต้องกลับมาใหม่ครับ มาให้กำลังใจ อ.ดร.เจษฎา ซึ่งผมถือว่าเป็น hero คนหนึ่งในด้านการต่อต้าน Pseudo-Science

         ในภาพกว้างกว่านั้น ผมกำลังจะไปคุยกับผู้ใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์อีกครั้ง ในมุมที่จะทำเรื่องพื้นฐานกว่ากรณีเฉพาะเช่นนี้ นั่นคือ ปรัชญาวิทยาศาสตร์ (Philosophy of Science) ซึ่งจะมีแง่มุมหนึ่งที่ว่าด้วย การแยกแยะระหว่างวิทยาศาสตร์แท้ (Real Science) กับ วิทยาศาสตร์จอมปลอม (Pseudo-Science)

         ขอบคุณที่แวะมาแต่เช้าครับ

ดีตรงที่ทำให้คนสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นนะคะ

เป็นโอกาสที่เด็กๆจะได้เรียนรู้*^__^*

น้อง Pizza

        ใช่แล้วครับ เป็นโอกาสดีที่จะทำให้ได้เรียนรู้ความจริงผ่านวิทยาศาสตร์กันอีกครั้ง

        แต่เล่นเอาคนที่เกี่ยวข้องแทบไม่ได้นอนเชียวครับ...อิอิ

ได้ความรู้จากผู้รู้ แล้วค่อยชื่นใจจริง

ตามมาอ่านด้วยคนครับ

เป็นข้อมูลที่ไม่เคยทราบมาก่อนเลย

ยังคงต้องติดตามต่อไป และมีเครื่องอื่นๆที่ต้องตามเช่นกัน

คนไทยจะได้ตาสว่างกันเสียที

ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ จะรอเรื่องดีๆ อีกต่อไปครับ

คุณครูดอกเตอร์ชิว สวัสดีค่ะ

      อือ ก็ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไม่เข้าใจเลย แต่รับทราบถึงประสิทธิภาพก็โอเค สำหรับคนที่ไม่เข้าใจนะคะ อย่างพี่เหมียวเป็นต้น อิ อิ ก็ยังคิดว่าเออ ดีจังเลยไงคะ   ก็ขอชื่นชมดร.เจษฎา ดังว่าแหละค่ะ  และคงจะมีอะไรที่มากมายกว่านี้นะคะ  ขอบคุณที่ให้ความรู้ค่ะ

ระลึกถึง...พี่เหมียว

ขอบคุณนะคะข้อมูล

พี่ติดตามข่าวมาหลายวัน เกิดความสงสัยเหมือนกัน นักวิชาการคงต้องช่วยกันพิสูจน์ต่อไป

สวัสดีครับท่านดร.บัญชา

ข่าวนี้ผมมองว่าเป็นวิกฤติของการจัดซื้อจัดจ้างจากภาษีครับ

แต่ในวิกฤติตัวนี้เป็นโอกาสของวิทยาศาสตร์ที่จะแสดงให้คนไทย

ได้รับรู้รับทราบสิ่งที่ถูกต้องกันเสียที่ อาศัยจุดสนใจตรงนี้แหละครับ

ให้สติคนไทย ที่รัฐให้นโยบายการศึกษามา "กดให้ต่ำ ทำให้โง่ ปกครองง่าย" 

ไม่เช่นนั้นก็จะมีที่นอนหมอนมุ้งแม่เหล็กรักษาโรค น้ำดื่มยืดอายุ วัตถุเพื่มขนาด

อะไรต่อมิอะไรมาหลอกขายให้ชาวบ้าน ใช้โอกาสตรงนี้ทำเถอะครับ 

หน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้าง

เชื่อเถอะเขาไม่ไง่รู้ว่าที่ซื้อมาคืออะไร แต่แกล้งเพราะได้รับสารละลายความดี

คนพวกนี้กว่าจะมานั้งมีอำนาจ ณ จุดนี้ ผ่านการสอบ การคัดสรรมาอย่างดี

พอมาอยู่ ณ จุดนี้ไม่ทราบเป็นไร โง่ทุกที สอบให้รู้แล้วรอดูปปช.เป็นภาคต่อไป

เออ...น่าทุเรศบวกสงสารแปลว่าสังเวชจริงๆ เสียดายตังค์

ขอขอบพระคุณที่แบ่งปันข้อมูลดีๆ

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สำหรับข้อมูลที่ให้กับคนในสังคม

สวัสดีครับ คุณคนตานี

        ตอบช้าไปหน่อย เพราะได้ปรับปรุงบทความให้รัดกุมยิ่งขึ้น ขอบคุณที่แวะเวียนมาอ่านครับ

        เดี๋ยววันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ นี้ ก็จะมีการทดสอบ (เน้นในทางสถิติ) แล้วครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ประถม

        ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่นำเสนอไว้นี้สื่อสารมวลชนไม่ได้นำเสนอในรายละเอียด แต่เนื่องจากผมคิดว่าสำคัญ จึงนำมาบันทึกไว้เพื่อประกอบการพิจารณาครับ

พี่เหมียว สวัสดีครับ

         คิดถึงเช่นกันครับ ช่วงที่ผ่านมานี้ผมมีงานหนักๆ เข้ามาต่อเนื่องจริงๆ เลยหายยยยยไปจาก G2K เลย แต่กรณีนี้ต้องกลับมาเน้นหน่อย ไม่งั้นเดี๋ยวจะเงียบหายไปครับ

พี่ไก่-ประกาย สวัสดีครับ

         ในแง่วิชาการนี่ถ้าจะตรวจสอบก็ตรงไปตรงมาครับ คือ แกะเครื่องดูเลย

         แต่ปัญหาก็คือ อาจจจะมีคนเจ็บตัวเยอะ ตอนนี้เข้าใจว่าน่าจะหาทาง "soft landing" กันอยู่ครับ....

สวัสดีครับ คุณชาวฝนแปดแดดสี่

          นี่แค่เรื่องเดียวในบ้านเราครับ ยังมีเรื่องอีกมากมายที่ต้องสะสาง ไม่งั้นเราอาจจะไม่ไปไหน (หรือตกเหวไปโน่น...)

สวัสดีครับ พี่ตุ๊กตา

         หวังว่าข้อมูลจะเป็นประโยชน์นะครับ

         ผมยังไม่ได้เขียนถึงหนังสือของพี่เลย...ฮือฮือ

ขอบคุณค่ะ

ตาสว่างสะที

อยากบอกว่าเด็กน้อยที่รร.บอกว่าไอ้เส้นที่คล้ายเสาอากาศนั่นนะ

ทำไมมันแหย่แล้วรู้ไปหมด

มันรู้ได้อย่างไร

แล้วการ์ดนั้นมันเสียบแล้วรู้เลยหรือคับม่ามี๊

ในการ์ดมันมีอะไรคับ ทำไมมันเก่งจริงหรือ

น้องอีกคนพูดว่า ม่ามี๊คับผมว่าถ้าเค้าเก่งจริง

...ผมว่าป่านี้ตู้ATMทุกตู้ระเบิดไปนานแล้ว

น้องผู้หญิงบอกว่าหนูว่าเหมือนของเล่นเลยนะ  อิอ...แพงจัง

ค่ะ แล้วบันทึกนี้จะช่วยพี่ให้ตอบเด็กน้อยได้ ดีใจจังเลย

โชคดีประเทศไทยที่มีนักวิทยาศาสตร์เปิดเผยความจริง

ขอบคุณค่ะ

ขอให้มีความสุขมากๆนะคะ

ครูต้อย สวัสดีครับ

        กรณี GT200 นี่สามารถใช้ในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และอื่นๆ ได้เลยครับ

        นับเป็นกรณีตัวอย่างสำคัญที่เด็กไทยทุกคนควรได้เรียนรู้เอาไว้ จะได้ไม่ทำผิดเช่นคนในรุ่นปัจจุบันครับ

        เดี๋ยวจะนำเมฆไปฝากครับ

สุขสันต์วันตรุษจีนจ้า   ซินเจียยู่อี่  ซินนี้ฮวดใช้

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้  for u  Happy  Valentine  Day

สวัสดีค่ะ พี่ชิว

พรุ่งนี้พี่ชิวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทดสอบที่บ้านวิทย์ด้วยหรือเปล่าคะ

ยังไงก็ขอเอาใจช่วยพี่ชิวเรื่อง Pseudo Science ด้วยนะคะ :-)

สวัสดีค่ะ พี่ชิว นี่น้องแอม JSTP รุ่น 8 เองนะคะ

เรื่อง GT200 นี่เป็นบททดสอบวิกฤติศรัทธาของแอมต่อผู้ใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์ไทยเลยค่ะ

(ซึ่งศรัทธาในผู้ใหญ่ของคณะวิทยาฯ จุฬาเนี่ยแอมหมดไปนานละ :P)

และแอมก็ยังลุ้นอยู่อีกเรื่องว่าการเมืองจะครอบงำการทดลองมากแค่ไหน อำนาจรัฐเปลี่ยนกฎฟิสิกส์พื้นฐานได้มั้ย?

เห็นข่าวลือเขาว่ากันว่าผลทดสอบจะได้พบ 13/20 แล้วเขาจะรับรองผลกันว่าใช้ได้ 100% นะคะ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่านอกจากวิธีการทดลองแล้ว เขายังสามารถบิดเบือนหลักคณิตศาสตร์พื้นฐานได้ด้วยรึเปล่า? :P

แอมก็หวังว่ามันคงเป็นแค่ข่าวลือที่ไม่เป็นจริงนะคะ :)

โชคดีค่ะ

สวัสดีครับ KruPom

       ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนครับ นำ Origami Rose Buds ไปฝากแล้วครับ

สวัสดีครับ เอ-แม่นีโอ

       เรื่อง Pseudo-Science นี่จริงๆ พี่กะว่าจะไม่เข้าไปยุ่งด้วยแล้ว แต่กรณี GT200 นี่มันมีผลกระทบกว้างไกลและลุ่มลึกมากๆ ถึงขนาดชีวิตคน & ความมั่นคงเลยทีเดียว

       ตอนนี้กำลังเขียนบทความว่าด้วย คณิตศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการทดสอบ GT200 อยู่ครับ - ด้วยความเป็นห่วงว่า สถิติและคณิตศาสตร์จะถูกบิดเบือน กลายเป็น Pseudo-Stat กับ Pseudo-Math ไปด้วย!!!

สวัสดีครับ AM

          อำนาจรัฐเปลี่ยนกฎฟิสิกส์และกฏคณิตศาสตร์ไม่ได้ แต่สามารถบิดเบือนการตีความโดยซุกซ่อนข้อเท็จจริง และ/หรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้องได้ครับ

          อย่างที่พี่แกล้งเรียกว่า Pseudo-Stat กับ Pseudo-Math นั่นไง!

          อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ดูเหมือนผู้ใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์จะไม่ได้ทำอะไรเลย ยิ่งพวกนักวิทย์-นักเทคโนฯ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ยิ่งแล้วใหญ่ครับ (บางคนบอกว่า ไม่ยุ่งดีกว่า....ด้วยซ้ำ!)

          ทำให้พี่ไม่แปลกใจแล้วครับว่า ทำไมตอนที่พี่ต่อต้าน Pseudo-Science ในรูปของสินค้า หรือต่อต้านการบิดเบือนวิทยาศาสตร์ในกรณี ไอน์สไตน์พบ-พระพุทธเจ้าเห็น-ทพ.สม มั่ว ถึงได้ไม่มีใครออกมาช่วย

          อย่าให้รุ่นเราเป็นเหมือนรุ่นนี้นะครับ!!!

ตอนนี้คนที่เกี่ยวข้องกับ GT200 อาจจะหาทาง landing กันไว้แล้ว

แต่ประเด็นเรื่อง วิทยาศาสตร์เทียม น่าจะเดินหน้าต่อนะคะพี่

จะรอฟังค่ะ

sasi_ad_nstda

สงสัยมานานเรื่อง GT200 ได้ฟังมาก็พอสมควร แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่พอไดhอ่านบันทึกนี้ ขอบอกว่า ขอบพระคุณมาก ๆค่ะ พี่ชิว

หนูเห็นด้วยกับ วิทยาศาสตร์จอมปลอม (Pseudo-Science) ถ้ามีผู้ให้ความกระจ่าง คงสร้างพลังปัญญาได้อีกมากโขค่ะ จะรอติดตามนะคะ

ติดตามข่าวสารจากข่าว แต่ไม่ค่อยละเอียดชัดเจนนักค่ะ  ได้ศึกษาจากบันทึกของอาจารย์ ทำให้มีข้อมูลมากขึ้น

จะมาติดตามต่อค่ะ

ตอนนี้ต้องไปดูแลลูกศิษย์ก่อน เพราะกำลังเข้าค่ายอบรมและแข่งขันหุ่นยนต์ฯ ค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

 

สวัสดีครับ อ.บัญชา (ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร ขอเรียกว่าอาจารย์ก็แล้วกันนะครับ)

ผมได้ติดตามบล็อกของอาจารญืมาระยะหนึ่งแล้วครับ และคิดว่าจะติดตามต่อไป แต่ผมคงไม่ได้ทักทายอาจารย์บ่อยนักเพราะไม่ค่อยชำนาญในการเรียบเรียงคำพูด ต้องขออภัยด้วยครับ

วันนี้ผมทักทายเพราะมีเรื่องสงสัยเกี่ยวกับสมองอยากขอคำชี้แนะจากอาจารย์ครับ

คือ ทุกวันนี้ผมได้ยินคนพูดกันมากถึงเรื่องการทำงานของสมองซีกซ้ายและซีกขวา

ระยะแรกๆ ก็พูดไปในทำนองเดียวกัน เช่นซีกซ้ายทำง่นเกี่ยวกับการใช้ภาษา ซีกขวาเกี่ยวกับจินตนาการ ฯลฯ

แต่หลังๆ ผมเริ่มได้ยินได้เห็นหน้าที่ของสมองแบบพิศดารขึ้นเรื่องๆ เช่นบางคนบอกว่า "การทำงานอย่างมีสติ เป็นการใช้สมองซีกขวา แต่การใช้ความเคยชินเป็นซีกซ้าย" บ้างก็บอกว่า "คนที่ถนัดซีกขวาจะเข้าใจเรื่องนามธรรมได้ดีกว่าซีกซ้าย" และอื่นๆอีกมากมาย

ผมสังเกตุว่าทุกวันนี้ทักษะอะไรที่มันดูตรงๆทื่อๆ คนก็มักจะโยนไปให้ซีกซ้ายเสียหมด ส่วนซีกขวาก็ถูกยกยอราวกับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ กลายเป็นกระแสซีกขวาฟีเวอร์

ผมพยายามค้นหาข้อมูลว่าที่แท้จริงแล้วสมองซีกไหนทำอะไรได้บ้าง เป็นจริงอย่างที่หลายคนพูดหรือเปล่า

ผมหาอ่านหนังสือหลายเล่ม และดูหลายๆเว็บไซต์, อาจเป็นเพราะผมหาข้อมูลไม่เก่ง และเป็นคนไม่ค่อยกว้างขวาง, แต่ผมยังไม่สามารถหาข้อมูลที่มีการอ้างอิงหลักฐานหรืองานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับเรื่องการทำงานของสมองทั้งสองซีกเลยครับ

ผมจึงอยากรู้ว่าที่แท้แล้วสมองทั้งสองซีกมีการทำงานเป็นส่วนๆแบบที่มีการกล่าวอ้างกันจริง หรือเป็นเพียงทฤษฎี หรือเป็นความเชื่อกันแน่

ผมต้องขออภัยถ้าหากอาจารย์เคยเขียนบทความที่ตอบปัญหานี้ไว้แล้ว หรือถ้าอาจารย์ทราบที่อยู่ของคำตอบ โปรดชี้แจง link นั้น หรือหนังสือเล่มนั้น ให้ผมได้ทราบจะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท