หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

นักเรียนรุ่นเสาร์ ๕ (๗) : เก็บตกช่วงเวลาโปรโมชั่น


ความเหลื่อมล้ำของความเข้าใจภาษาทำให้การคุยของผู้คนเกิดผลบานปลายด้านบวกหรือลบก็ได้ ระวังนะตัวเอง

เขียนเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้งเอาไว้ก่อนหน้า แต่ก็รู้สึกเหมือนว่ามีสิ่งที่ได้รู้บางเรื่องหายไป บางเรื่องความเข้าใจของตัวเองเบลอๆและยังอยากรู้ต่อ จึงไปตามหาเรื่องราวจากบันทึกของรุ่นพี่และรื้อทวนความจำว่าตอนที่กำลังเรียนรู้มีอะไรที่เอ๊ะมาสะกิดๆบ้าง ขอเก็บตกมันมารวบรวมเพิ่มไว้ตรงนี้แหละ

มีเรื่องราวสะกิดให้สนใจความหมายของคำที่ใช้จากการได้คุยกับคุณยะ ฑูตสันติภาพค่ะ คุณยะเล่าให้ฟังว่า การใช้คำบางคำที่พูดคุยกันตามประสบการณ์ของเขานั้น มีคำพ้องที่สามารถทำให้เกิดความเข้าใจผิดในความหมายแล้วบานปลายได้เมื่อลงมือใช้มัน

ฉันแปลง่ายๆจากสิ่งที่คุณยะเล่าได้ว่า สิ่งที่เขาเล่าให้ฟังหมายถึงมิติของภาษาที่มีคำแปลที่มีความต่าง เวลาพูดคุยกับใครจำเป็นต้องใช้ภาษาที่คำแปลความที่เหมือนกันจึงสื่อกันตรงเรื่องราวและไม่ก่อความเข้าใจผิดให้ผิดใจกัน

ภาษาของนักวิชาการกับชาวบ้านบางครั้งก็มีคำพ้อง เสียงพ้องที่คนฟังแปลความหมายต่างเป็นความเหลื่อมล้ำของความเข้าใจภาษาที่สามารถทำให้การคุยกันของผู้คนเกิดผลบานปลายด้านบวกหรือลบก็ได้ เวลาคุยเรื่องวิชาการหรือภาษาเฉพาะให้เกิดความเข้าใจจึงต้องเรียนการแปลความ ความที่ว่านี้หมายถึงความหมายของคำที่ใช้คุยกัน เรื่องราวที่สื่อสารกันอยู่จึงสามารถทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันได้

ภาษาคุ้นหูก็มีเรื่องราวที่แปลความต่างกันออกไปได้ อย่างเช่น ๓ คำที่มีคำว่า "ชาติ" ฟังอาจารย์มาแล้วฉันจึงรู้ว่ามีคำแปลต่าง

๓ คำ "ชาติ" ที่ต่างมีเรื่องราวที่รุ่นพี่ ๔ส๑ บันทึกเอาไว้ สามารถช่วยให้คนที่ตามเรียนรู้เข้าใจได้ง่ายขึ้นกว่าฉันเขียนเองมากมาย จึงขอหากินง่ายๆด้วยการลิงค์ไปให้อ่านเน้อ

ตัวอย่างที่พอช่วยให้เข้าใจโดยสังเขปเรื่อง ๓ คำ "ชาติ" "ชาติพันธุ์" "เชื้อชาติ" และ "ชาติภูมิ" ใครที่เบลอๆเหมือนฉันไปอ่านที่รุ่นพี่เขียนไว้กันนะคะ

เพิ่งนึกออกว่าการชวนให้ไปเรียนรู้เรื่องราวของชีวิตริมน้ำป่าสักในอดีตนั้น ที่จริงต้องการให้เข้าใจความเป็นเมืองท่าของอยุธยาสมัยก่อน ที่มีชาวต่างชาติเข้ามามีสัมพันธ์กับคนไทย เข้าใจระยะห่างของความสัมพันธ์ (distance) ที่มีคำกล่าวขานสอนกันต่อมาว่า "กาละเทศะ" ว่ามีที่มาของมันลึกล้ำอย่างไร

การพานักเรียนโข่งไปเยี่ยมชุมชนคลองตะเคียนก็เพื่อให้เข้าใจความเป็นศูนย์กลางของแต่ละสถานที่ในยุคกรุงศรีอยุธยา ทั้งวัดมหาธาตุ เขตราชวัง ร้านค้า และกุโบ (สุสาน) เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของการจัดการพื้นที่

เรียนรู้วิธีจัดความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนผ่านจากวัดมาสู่ความสัมพันธ์ของคนกับสถานที่ว่าทำให้เกิดอะไร จากคนสร้างวัดปรับสู่เป็น การเป็น "ข้าวัด" สู่การเป็นอาสาสมัคร ที่ความเป็นจักรวรรดิราชได้มอบศักดิ์ให้ แล้วในที่สุดผันผ่านกลายเป็นข้าราชการมีพลวัตรมาอย่างไร

สิ่งที่เปลี่ยนผ่านเหล่านี้ในถิ่นฐานอย่างเมืองท่าคือบทเรียนที่มีค่าสำหรับเรียนรู้ความเป็นพหุวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ทั้งสิ้น การเกิดความเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ที่เชื่อมโยงกันเื้อื้อให้เข้าใจสังคมที่เปลี่ยนผ่านมาได้มากขึ้น

เมื่ออาจารย์ศรีศักร์เอ่ยถึงความเป็นชุมชนว่ามีความหมายคือพื้นที่โครงสร้างทางสังคม ที่มีผังเครือญาติเป็นเครื่องมือเชื่อมให้เกิดความสัมพันธ์ แวบหนึ่งฉันก็เริ่มมีคำตอบให้ตัวเองว่า อืม นี่มันเป็นการสอนให้ใช้เครื่องมือเรียนรู้ชุมชนที่เคยผ่านหูมานี่นา โชคดีของฉันแล้วนาที่ได้ครูดีมาสอนเรื่องนี้ แล้วเจ้าเครื่องมือเหล่านี้ใครไม่รู้จักถือว่าเชยสะบัดแล้วนะคะ ด้วยเหตุผลว่าเดี๋ยวนี้เด็กๆเขาก็เรียนกันอยู่นะนา

อาจารย์ได้เอ่ยถึงคำว่า "สังคมพุลักษณ์" ให้ได้ยิน และกรุณาขยายความให้เกิดความกระจ่างว่า ภายใต้สังคมพหุลักษณ์นั้นมีความละเอียดอ่อนแฝงอยู่ การเป็นสมาชิกของบ้านมีสำนึกของชาติพันธุ์แฝงอยู่ การต่อรองเพื่อรองรับชาติพันธุ์สามารถมีผลทำให้การไม่ระวังเมื่อมีสัมพันธ์ต่อกันในบางครั้ง ก่อการกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นได้

พัฒนาการที่เกิดขึ้นของเรื่อง "สัญชาติ" คำอีกคำหนึ่งที่มีคำว่า "ชาติ" ก็เป็นอะไรที่เปิดมุมมองให้ฉัน เมื่ออาจารย์เกริ่นว่า สัญชาติเกิดขึ้นมาเมื่อมีเขตดินแดนทางการปกครอง เมื่อเขตดินแดนทางการปกครองเกิดขึ้น การปรับเปลี่ยนให้เป็นชาติพันธุ์ไทยที่ลงตัวในสังคมพหุลักษณ์ในอดีตไม่ก่อความขัดแย้ง

การไปเยี่ยมชมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์แห่งการเป็นเมืองท่าของอยุธยาในอดีตเป็นบทเรียนรู้ของเรื่องนี้ค่ะ

อาจารย์ชี้ให้เห็นมุมว่า การจัดการแบบมองปัจเจกก่อความขัดแย้งให้เกิดขึ้น ความเหลื่อมล้ำของค่านิยมเป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตย ในอดีตกษัตริย์ใช้อำนาจเหนือธรรมชาติเข้ามาช่วยจัดการ

การขัดแย้งเป็นค่านิยม การจัดการความขัดแย้งต้องจัดการความเหลื่อมล้ำทางค่านิยม

สำหรับค่านิยมเมื่อจะแปลความหมายให้ทำความเข้าใจความต่างของค่านิยมเดิมและค่านิยมใหม่

ค่านิยมเดิมหมายไปถึง ยศช้าง ขุนนางพระ ส่วนยศพระ ขุนนาง พ่อค้า เป็นค่านิยมใหม่

แต่ก่อนคนทุกศาสนา ทั้งคาธอลิก อิสลาม พุทธ มีอะไรไม่รู้ไปวัดไว้ก่อน

ในความเป็นจักรวรรดิราชที่ละลายความมั่งคั่งของผู้คนผ่านการสร้างวัด ถือเป็นการทำประโยชน์ให้วัด ไม่บอกก็คงจะรู้กันแล้วนะว่าจะดูว่าแผ่นดินไหนรุ่งเรืองให้ดูที่ "วัด"

มิน่าสมัยนี้ คนสมัยใหม่จึงยังติด "วัด" จะทำอะไรจึงใช้ "วัด" กันไปหมด วัดกันจนแทบจะอ๊วกกับตัวเลข...นี่ก็เป็นอะไรของความเหลื่อมล้ำของความหมายคำที่นำมาใช้ในภาษาไทยของเรา ออกนอกเรื่องไปหน่อย วกกลับมาที่เรื่องราวที่เก็บตกได้ต่อดีกว่า...อิอิ

อาจารย์ชี้ว่า จุดเปลี่ยนของวัฒนธรรมเริ่มจากความเป็นจักรวรรดิราช

ที่วัดไชยวัฒนารามซึ่งเป็นวัดที่มีรูปทรงเราขาคณิตที่ถูกต้องที่สุด มียกระดับ มีโครงสร้างวัดขึ้นมา เป็นเรื่องใหม่ของสังคมยุคนั้น และต่อมามีการโยงโครงสร้างวัดอย่างนี้ไปที่วัดอรุณ

เมื่ออาจารย์เล่าเรื่องการจัดการที่นำเรื่องเหนือธรรมชาติเข้ามาสื่อสารกับสังคมโดยแสดงผ่านการสร้างวัดด้วยเหตุผลว่าสร้างเพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้าเพื่อยกระดับความเป็นสามัญชนของผู้ปกครอง ฉันก็ได้ยินเสียงหนึ่งดังขึ้นในหู "อืม ไม่ว่าใครก็ตาม จะอยู่สูงหรืออยู่ต่ำระดับใดก็ตาม ล้วนต้องการความยอมรับการดำรงอยู่ของตัวตนของตัวกันทั้งน๊านนนนนนนนนนเลย"

อาจารย์แลกเปลี่ยนว่า ศีลธรรมและจริยธรรมเป็นผลมาจากวัดจัดการ มิติทางเขตแดนของสังคมที่เปลี่ยนผ่านมีศาสนาเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยน

อีกเรื่องที่พูดถึงว่า ความเจริญของเมืองไทยเกิดจากคนต่างชาติ สะกิดต่อมคิดไว้ให้ฉันใคร่ครวญไม่น้อยเลย

ดีใจที่ได้ช่วงวันดีเสาร์ ๕ ได้ไปเรียนรู้ที่อยุธยา แล้วได้รู้ว่าฉันเข้าใจผิดอย่างมากกับความหมายของมรดกโลกที่อยุธยาเป็นอยู่

อาจารย์เฉลยว่าความเป็นมรดกโลกของอยุธยาอยู่ที่ความสามารถจัดการเขตแดนให้มีคูคลองล้อมรอบเมืองถูกหลักที่สากลยอมรับ เมื่อความเป็นคูคลองหายไป ความเป็นมรดกโลกก็หายไปด้วย ความไม่เข้าใจแล้วไปทำลายนี้แหละที่ส่งผลให้มีการถอดถอนรายชื่อออกไป

ขอบคุณอาจารย์ศรีศักร์ วัลลิโภดมอย่างยิ่งที่มาเคาะกระโหลกให้มีที่ว่างบรรจุความทรงจำใหม่กว่าเดิม แถมยังทำให้เกิดความอยากเรียนประวัติศาสตร์ไทยขึ้นมาตะหงิดๆเชียวค่ะ

ก่อนจบบันทึกเก็บตกฉบับนี้ มีคำคมมาฝากแก่ทุกๆคนที่มาร่วมเรียนและอ่านบันทึกนี้ค่ะ

"ความรักดูแลคน ทำพลาด ผิด ความรักให้โอกาส ความรักไม่ทำร้าย"

ชอบก็นำไปใช้เป็นข้อคิดนำชีวิต แล้วมอบหัวใจรักให้แก่กันและกันนะคะ ของฝากชิ้นนี้อาจารศรีศักร์ วัลลิโภดมมอบไว้ก่อนจากกันค่ะ

๒๙ มีนาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 348368เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2010 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท