เมื่อไซบอร์ก กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว


เมื่อคืน มีสารคดีเรื่องไซบอร์กในเคเบิลทีวี

Ray Kurzweil กล่าวถึงเรื่องนี้ในหนังสือของเขา ดังที่ผมเคยเขียนถึงในแผนที่เดินทาง (Roadmap) การวิจัยเทคโนโลยี   ผมอ่าน ยังนึกว่า อีกห้า หรือสิบปี กว่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง

แต่จริง ๆ แล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้ มันเกิดขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว ก้าวหน้าพอสมควรระดับทดลองในคนจริง ๆ เพียงแต่ยังไม่วางขายแพร่หลาย

การต่อเชื่อมสมองกับเครื่องมือกล ที่เรียกไซบอร์ก ศักยภาพหลากหลาย ตั้งแต่ ใช้รักษาโรคทางสมองที่เกิดจากคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปรกติ ใช้เสริมสมรรถนะทางกายให้ผู้พิการ ให้กลับมามีชีวิตคล้ายปรกติได้ (คุมกล้ามเนื้อ หรือใช้จำลองประสาทรับรู้) เช่น สวมโครงหุ่นยนต์ ทำให้สามารถแบกของหนักได้กว่าเดิมนับสิบเท่า (ลองนึกถึงคนแก่ไม่มีเรี่ยวแรงเคลื่อนไหว สวมชุดเหล่านี้แทนชุดเกราะอ่อนที่ใช้ปัจจุบัน สามารถแบกร่างกายตนเองเดินไปเดินมาได้โดยไม่ตองใช้คนช่วย) ใช้ทางทหาร (ในทีวี มีการคุมสมองหนู บังคับวิ่งซ้ายหันขวาหันได้เลย)

http://www.medindia.net/afp/images/Lifestyle-Japan-science-robots-109427.jpg

source: http://www.medindia.net/afp/images/Lifestyle-Japan-science-robots-109427.jpg

 

ไซบอร์ก ต้องการความรู้หลายแขนงมาบูรณาการ

เช่น ใช้เรื่องที่เกี่ยวกับคลื่นไฟฟ้า อาจใช้แนวคิดเรื่อง dynamical systems ซึ่งปรากฎการณ์ที่ซับซ้อนที่ประพฤติตามกฎที่อธิบายได้โดยกลุ่มของสมการเชิงอนุพันธ์ แม้ดูเผิน ๆ จะเป็นปรากฎการณ์เชิงสุ่ม แต่จริง ๆ แล้วจะมีรูปแบบซ่อนอยู่ให้พอสืบสาว และเทคนิคทางคณิตศาสตร์ที่ใช้ในสาขานี้ สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ต้องทราบสมการเชิงอนุพันธ์ก่อน เช่น วิธีของปวงกาเร นำมาใช้ในการวินิจฉัยรูปแบบคลื่นสมองผิดปรกติ

รูปแบบเหล่านี้ รู้จักกันในนาม attractors ซึ่งสามารถปรับแต่ง ขยับตำแหน่ง หรือแม้แต่กำจัดออก ในมิตินามธรรมที่เรียกว่่า phase space ได้ หากมีการแทรกแซง ซึ่งหากมีการจับคู่รูปแบบของ attractors กับรูปแบบการตอบสนอง ก็หมายความว่า สามารถแทรกแซงให้เกิดการตอบสนองให้สอดคล้องกับที่ต้องการได้ (เช่น ในสารคดี ใช้การฝังอิเล็กโทรดในสมองและให้สัญญาณไฟฟ้ากระตุ้น ทำให้รักษาอาการมือเท้าสั่นจากโรคพาร์กินสันได้แบบทันตาเห็น กลับมาเดิน หยิบจับสิ่งของราวไม่เคยเป็นโรค)

หรือในกระบวนการรับรู้ ใช้การจับคู่ (mapping) เพื่อแยกแยะระหว่างข้อมูลที่ตรวจวัดได้ กับระบบที่นิยามไว้ก่อน ว่าเป็นระบบไหน ก็ต้องใช้คณิตศาสตร์อีกแนว เช่น การใช้เทคนิค artificial neural network (ANN; ชื่อเหมือนระบบชีวภาพ แต่จริง ๆ แล้ว เป็นแนวคิดทางคณิตศาสตร์) ทำให้จับคู่เรื่องที่ซับซ้อนเรื่องหนึ่ง เข้ากับเรื่องที่ซับซ้อนอีกเรื่องหนึ่งได้ หรือที่เรียกรวม ๆ ว่า pattern recognition (ตัวอย่างเช่น การแปลงภาพตัวอักษรที่สแกนภาพมา ให้กลายเป็นข้อความที่เหมือนกับเราพิมพ์เข้าไปในงานเอกสาร สามารถใช้ประมวลผลต่อได้)

ในวารสารทาง chemical engineering เมื่อยี่สิบปีก่อน เวลาอธิบายปรากฎการณ์อย่างง่ายให้กระชับ ผมเคยเห็นใช้ regression analysis กันเป็นหลัก แต่พอถึงปัจจุบัน กลายเป็นใช้ ANN กันเกือบหมด

ลองนึกถึงสมองมีรูปแบบคลื่นไฟฟ้ากระจายอยู่ทั่ว รูปแบบเหล่านี้สามารถใช้เครื่องวัดทางการแพทย์ที่ไว ๆ มาบันทึกรูปแบบในตำแหน่งและกระสวนการเปลี่ยนแปลงในเวลาต่าง ๆ ซึ่งจะเทียบเท่าการสั่งการผ่านเซลล์ประสาท

หลายปีก่อน มีการทดลองอ่านใจลิงได้ล่วงหน้าอย่างหยาบ ๆ ว่าลิงจะขยับซ้ายหรือขวา โดยใช้วิธีต่อตรงคลื่นสมองลิงกับหน่วยประมวลผล

ในส่วนของการควบคุมชิ้นส่วนกลที่ซับซ้อนให้มีความยืดหยุ่น ก็ยังต้องอาศัยความเข้าใจอีกหลายแขนง นอกเหนือจากการเขียนซอฟท์แวร์ เช่น ความเข้าใจเรื่อง topology, geometric computation เป็นต้น

หากเขียนให้ทำงานเฉพาะแบบตายตัวมาก ๆ แบบนั้น คนเขียนซอฟท์แวร์ จะทำแบบมวยวัด ก็ไม่มีปัญหา ก็ทำได้เหมือนกัน แต่หากจะขยับขึ้นมาในระดับที่ยืดหยุ่น ทำแบบเอนกประสงค์ได้ ต้องการความรู้ทางคณิตศาสตร์ระดับสูง

การสั่งให้หยิบวัตถุสักชิ้น เราทำโดยไม่ต้องคิด แต่สั่งสมองกล กลับไม่ได้ง่ายเช่นนั้น

ถ้าใช้ภาษาระดับล่าง การหยิบ ประกอบด้วยขั้นตอนย่อยมากมหาศาล แทรกแทรกระดับการเคลื่อนไหวข้อต่อทุกขั้น สั่งแบบนั้น ก็ได้ แต่คนสั่งคงเหนื่อยตายเสียก่อน

แต่ใช้ภาษาระดับบน สั่งแบบนามธรรมกว่า สั้นกว่ามาก

การสร้างภาษาระดับบน ใช้คณิตศาสตร์นามธรรมมาก พื้นไม่พอ ก็สร้างคำสั่งแบบนั้นยาก

ทำไมญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องไซบอร์ก จนเกือบเหมือนการหมกมุ่น ? (ตั้งแต่ยี่สิบปีก่อน ไซบอร์ก ก็เป็นเรื่องที่ธรรมดาในการ์ตูนญี่ปุ่น แสดงว่า เป็นประเด็นที่มีการตื่นตัวพอสมควรตั้งแต่ยุคนั้น)

ประเด็นนี้ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ มองว่า ญี่ปุ่นรู้ตัวล่วงหน้ามานาน ว่าจะมีวิกฤติประชากรศาสตร์ คือ จะเป็นประเทศ "สังคมชราภาพ" จึงให้ความสำคัญกับการวิจัยด้านนี้

บ้านเรา ยังมีคนที่มองว่า เรื่องพวกนี้ไร้สาระ

ที่มองอย่างนั้น เพราะไปตัดสินเอาจากกิจกรรมการแข่งหุ่นเล่นเกมส์

แต่จริง ๆ แล้ว ควรมองว่า เป็นระยะฟักตัวขั้นเริ่มต้นของการพัฒนาไปสู่การใช้งานจริงในชีวิตประจำวันในอนาคต เป็นการลงทุน ไม่ใช่การผลาญเงินผลาญเวลา เพราะกว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้อง สั่งสม องค์ความรู้จากกิจกรรมแบบนี้แหละ ไปทีละขั้น

อายุขัยเฉลี่ยของชาวญี่ปุ่นที่หง่อมหมดสภาพ อยู่ที่ราว 72 ปี ในขณะที่ประเทศในเขตอาเซียน จะอยู่ที่ราว 60 ปีเท่านั้น แสดงว่า คนญี่ปุ่น อายุยืนมาก การแก่หง่อม จะเป็นปัญหาในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า เมื่อฐานประชากรเป็นไปตามลำดับการพัฒนาของประเทศ คือ ประชากรรุ่นใหม่น้อยลงเรื่อย ๆ (ซึ่งไทยก็จะเริ่มเจอปัญหานี้ โดยไม่ได้เตรียมตัวที่จะเป็นสังคมชราภาพ)

ผลคือ เขาต้องดิ้นรนคิดหาทางหนีทีไล่ ในการรับมือกับสังคมอนาคตที่คนแทบไม่มีกำลังวังชาช่วยตัวเองได้

ทางเลือกแรก ส่งไปอยู่ในประเทศที่ค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาก (เช่น ไทย !) เพราะตามสูตรสำหรับการเก็บออมสำหรับคนวัยทำงานนั้น ต้องมีเงินเก็บมากพอ แล้วเอาผลตอบแทนการลงทุนปีนั้น เป็นค่าใช้จ่ายปีเดียวกัน ดังนั้น ที่ไหนใช้จ่ายน้อย คนก็มีความสามารถสู้ราคาได้ง่ายกว่าการอยู่ในสถานที่ ซึ่งค่าครองชีพสูงลิ่ว

ทางเลือกถัดมา คือ ทุ่มทุนสร้างเทคโนโลยีที่จะชดเชยความพิการ ซึ่งก็คือไซบอร์ก และหุ่นยนต์ (ซึ่งใครเป็นผู้นำด้านนี้ นอกจากนำมาใช้เองแล้ว ยังส่งออกไปขายคนอื่นได้ด้วย อีกต่างหาก)

หรือการสร้างนวัตกรรมทางสังคม เช่น ระบบเครดิตการดูแลคนชราข้ามถิ่น เหมือนระับบการเงิน มีการรวมศูนย์การคิดเครดิตชั่วโมง สามารถสะสมแต้มด้วยการดูแลคนชรา เพื่อแลกกับการให้คนอื่นดูแลแทนเราเมื่อไม่สะดวกทำเอง (ซึ่งหนังสือเงินตราแห่งอนาคต วิถีใหม่สู่การรังสรค์ความมั่งคั่ง งาน และโลกอันชาญฉลาด เล่าไว้อย่างน่าคิดยิ่ง)

หมายเลขบันทึก: 154348เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2007 00:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 08:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ อ.วิบุล

เบิร์ดเอาสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยมาฝากค่ะ

ปี 2563 ประเทศไทยจะมีูผู้้สูงอายุเกือบ 12,000,000 คน นั่นก็คือทุกครอบครัวที่มีคนวัยทำงาน 3 คนต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน

70 % ของคนวัยทำงานจำนวน 44 ,000,000 คนในปัจจุบันไม่มีหลักประกันรายได้เมื่อเกษียณอายุ

ปัจจุบันรัฐจ่ายเงินสงเคราะห์แก่ผู้สูงอายุยากจน 1,800,000 คนเพียงคนละ 500 บาท / เดือน ( ไม่ทราบเหตุผลว่าเพราะเหตุใดอาจจะเป็นเพราะไม่มีเงินงบประมาณมากนักก็ได้ค่ะ )

ที่มาจาก สสส., สกว.,และสวรส.ค่ะ ( ตัวเต็มช่างเถอะเนาะคะ เพราะยาวเหลือเกิน )

กราฟประชากรเป็นเรื่องที่วุ่นวายใจกันพอสมควร..เพราะอัตราการเกิดลดลงส่งผลกระทบในอนาคตหลายอย่างนะคะแม้แต่มหาวิทยาลัยที่แข่งกันตั้งจน ถึง 100 กว่าแห่งในตอนนี้ เพราะทำนายได้ว่าเด็กที่อยู่ในวัยเรียนก็ต้องลดลงเช่นเดียวกัน เป้าหมายการศึกษาที่ตั้งไว้ที่เด็กอาจไม่พอน่ะค่ะสำหรับการบริหารงานในอนาคต เป็นไปได้มั้ยคะที่คนอายุ 60 ถ้าเค้าอยากเรียนมหาวิทยาลัยเค้าก็จะมีโอกาสเรียนเช่นเดียวกัน

รัฐสวัสดิการก็ต้องคิดในเรื่องนี้อย่างจริงจังเช่นเดียวกัน บางทีอาชีพที่น่าสนใจในอนาคตคือสร้างหมู่บ้านคนชรา ( แบบเป็นหมู่บ้านอยู่ในทำเลสงบ ธรรมชาติสวย มีบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุครบวงจรอยู่ในนั้น ) หรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุน่ะค่ะ ^ ^

 

ขอบคุณครับ คุณเบิร์ด สำหรับการแวะมาเยี่ยมเยียนทักทาย ฝากข้อมูล และสำหรับการ์ดปีใหม่ (รับด้วยความแปลกใจสุด ๆ ครับ !)

 

  • ญี่ปุ่น ส่งคนมาอยู่โฮมสเตย์ในไทย เพื่อให้คุมค่าใช้จ่ายได้ ในระดับการบริการที่ดี
  • สักวันหนึ่ง ไทยก็อาจต้องทำอย่างเดียวกัน
  • ก็อาจต้องส่งไปพม่ากระมังครับ ? เพราะเดี๋ยวนี้เห็นแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันครึกครื้น บางจังหวัด พม่าเต็มเมือง...
  • จะดูว่า ภาคการเมืองมีกึ๋นไหม ก็ดูจากว่า เขาทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
  • แต่ไม่ใช่ดูจากการ "พูดว่าจะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้"
  • ตามปรกติ คณิตศาสตร์ที่บรรยายภาษาการเมืองของการ "ทำ" และ "พูด" จะเป็น orthogonal vector ซึ่งกันและกันครับ

พูดเล่นไปแล้ว เอาแบบจริงจังบ้าง

  • ผมมองว่า ต้องเกิดการเคลื่อนตัวแบบมหภาคไปในทางที่คิดรับมือกับเรื่องสังคมชราภาพ
  • ระดับบุคคล การออม การลงทุน การประกันสุขภาพ เป็นเรื่องจำเป็น
  • ระดับภาคประชาคม ก็ต้องการการตั้งกลุ่ม ชุมชน ที่สะท้อนแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับ
  • ระดับภาครัฐ ต้องส่งเสริมด้านภาษี ด้านมาตรการส่งเสริมการออม การลงทุน การประกัน การดูแลคนชราและทุพพลภาพ แบบครบวงจร
  • ส่วนจะเห็นว่า จะส่งเสริมเรื่องไซบอร์ก โรบอท หรือเปล่า ก็ตามแต่จะเห็นควร (ผมอยู่นอกวง พูดหรอยปากแหละ ไม่ใช่ทำเองเป็น)
  • จะรอแค่แบมือ รอรับเงินแจก ก็จะเข้าวงจรการเป็นขอทานแบบเรื้อรัง เพราะต่อให้ได้เงินมาแบบนั้น ก็ไม่ใช่จะอยู่ได้ !
  • เรื่องหวังให้ได้ออกทีวีรายการประเภทโศกนาฎกรรมบันเทิงหลังข่าว ก็โอเคนะ พอช่วยได้บ้าง ปีนึง ตั้ง 365 คน (แน่ะ !)

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท