BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สรุปแนวคิดการกระทำเหนือหน้าที่ ๒. (จบ)


การกระทำเหนือหน้าที่

. มาตรฐานศีลธรรม 2  ระดับ               

ตามแนวคิดของโบฌองพ์ หลักศีลธรรมในปัจจุบันควรจะแบ่งเป็น 2 มาตรฐาน คือ ระดับข้อผูกพันซึ่งควบคุมทุกคนไว้ และระดับเหนือข้อผูกพันหรืออธิกรรมซึ่งเป็นสิ่งที่เลือกได้ตามความสมัครใจ ระดับนี้เหมะสมสำหรับบางคนผู้มีความสามารถ เสียสละ หรือกล้าหาญเป็นพิเศษเท่านั้น โดยระดับข้อผูกพันจะสอดคล้องกับคุณธรรมทั่วไป ส่วนระดับเหนือข้อผูกพันหรืออธิกรรมจะสอดคล้องกับคุณธรรมเชิงอุดมคติลำดับความต่อเนื่องของมาตรฐานศีลธรรม 2 ระดับ เริ่มตั้งแต่ข้อผูกพันระดับแข็งซึ่งเป็นสิ่งที่เข้มงวดให้ทุกคนกระทำ เพราะถ้าไม่กระทำก็จะเป็นความผิดหรือเป็นผู้ไร้คุณธรรม (คนเลว คนชั่ว) ไปถึงอธิกรรมแบบนักบุญและแบบวีรบุรุษซึ่งเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากลำบากที่สุด                

ปัญหาของมาตรฐานศีลธรรม 2 ระดับ มีสองประเด็น คือ การอธิบายลำดับความต่อเนื่อง ด้วยว่าไม่สามารถแยกย่อยการกระทำทางศีลธรรมให้ละเอียดชัดเจนได้ ซึ่งโบฌองพ์บอกว่าอาจเป็นนามธรรมเกินไป และบางอย่าง เช่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ก็ไม่สามารถกำหนดได้ว่าเป็นข้อผูกพันหรือคุณธรรม เพราะเป็นสิ่งที่คาบเกี่ยวอยู่ระหว่างข้อผูกพันระดับอ่อนกับอธิกรรมระดับต่ำ               

ลัทธิคานต์และประโยชน์นิยมไม่สามารถรองรับมาตรฐานศีลธรรม 2 ระดับได้ เนื่องจากไม่มีที่ว่างไว้รองรับอธิกรรม ทฤษฎีทั้งสองนี้จึงจัดเป็นฝ่ายคัดค้านอธิกรรม

ส่วนจริยศาสตร์คุณธรรมอาจมีที่ว่างไว้รองรับมาตรฐานศีลธรรม 2 ระดับได้ เนื่องจากเน้นที่ลักษณะนิสัยที่มีคุณธรรมของผู้กระทำเป็นเกณฑ์ แต่จริยศาสตร์คุณธรรมมิได้กำหนดหรือแบ่งแยกเป็นคุณธรรมทั่วไปสำหรับทุกคนกับคุณธรรมเชิงอุดมคติสำหรับคนบางคนโบฌองพ์ให้ความเห็นว่าทฤษฎีจริยศาสตร์ปัจจุบันยังมีความคลุมเครือ ขาดความชัดเจน ซึ่งผู้วิจัยมีความเห็นว่า โบฌองพ์ได้กลับไปหาข้อสงสัยของฮูมและทฤษฎีสังคมซึ่งเป็นพื้นฐานที่มาแห่งหลักศีลธรรม นั่นคือ การย้อนกลับที่เดิมนั่นเอง  

4. ข้อเสนอแนะ                

ผู้วิจัยมีความเห็นว่า มโนทัศน์ของการกระทำเหนือหน้าที่ยังได้รับความสนใจในแวดวงวิชาการปรัชญาของไทยน้อยมาก ดังนั้น จึงมีเรื่องที่น่าสนใจและสามารถศึกษาวิจัยได้อีกมาก  ตัวอย่าง...

ด้านปรัชญาศาสนา สามารถนำมาศึกษาเกี่ยวกับตามแนวคิดการกระทำเหนือหน้าที่ตามหลักศาสนาต่างๆ หรือนำมาเปรียบเทียบระหว่างศาสนาหรือนิกายได้ เช่น การกระทำเหนือหน้าที่ในพุทธปรัชญา การกระทำเหนือหน้าที่ในปรัชญาอิสลาม หรือเปรียบเทียบแนวคิดการกระทำเหนือหน้าที่ระหว่างโปรแตสแตนท์กับคาทอลิกในปรัชญาคริสต์ เป็นต้น               

ด้านปรัชญาตะวันออก สามารถศึกษาแนวคิดการกระทำเหนือหน้าที่ในปรัชญาตะวันออกได้ เช่น การกระทำเหนือหน้าที่ในลัทธิชินโต ลัทธิเต๋า หรือปรัชญาอินเดีย เป็นต้น                

ด้านทฤษฎีจริยศาสตร์ สามารถศึกษาเชิงลึกเฉพาะแขนงได้ เช่น การกระทำเหนือหน้าที่ในประโยชน์นิยม อัชฌัตติกญาณนิยม หรือจริยศาสตร์บนฐานของสิทธิ เป็นต้น               

ด้านแนวคิดของนักปรัชญา สามารถศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดของนักปรัชญาเฉพาะบุคลได้ เช่น แนวคิดการกระทำเหนือหน้าที่ของโสคราติส อไควนัส หรือกามูส์  เป็นต้น               

ด้านจริยศาสตร์ประยุกต์ สามารถนำมโนทัศน์ของการกระทำเหนือหน้าที่มาศึกษาพฤติกรรมของบุคลในสังคมได้ เช่น พฤติกรรมของสืบ นาคเสถียรในฐานะการกระทำเหนือหน้าที่ หรือสามารถนำมาศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมปัจจุบัน เช่น ปฏิบัติการระเบิดพลีชีพของกลุ่มก่อการร้ายกับการกระทำเหนือหน้าที่ เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 84310เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2007 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

นมัสการครับ ผมได้อ่านเรื่องการกระทำเหนือหน้าที่หลายตลบครับ ขออนุญาตท่านตีความแบบมั่วๆนะครับว่า เรื่องของการกระทำเหนือหน้าที่ ผมว่าเป็นเรื่องของกระบวนทัศน์ใหม่ครับ  อย่างน้อย คนที่จะมีแนวคิดแบบการกระทำเหนือหน้าที่ได้ จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมสูงครับ และจะต้องเป็นผู้ที่คิดไม่เหมือนใครครับ ไม่มีกรอบ ไม่มีเพดาน ไม่มีกำแพงประเพณี  ผมว่าคนที่มีลักษณะดังกล่าว หรือกลุ่มความคิดที่มีลักษณะดังกล่าว น่าจะตรงกับแนวคิดแบบ โพสท์ โมเดิร์น นะครับ  โพสท์ โมเดิร์น จะมองว่าแนวคิดทุกอย่างเป็นเพียงวาทกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อครอบงำความคิด โพสท์โมเดิร์น ต้องเป็นตัวของตัวเอง ไม่เชื่อในวาทกรรมแม้กระทั่งคำสอนทางศาสนา  ถามว่าแล้วจะให้เชื่อใคร  เชื่อตัวเองครับ ผมก็แสดงความคิดเห็นมาแบบลองผิดลองถูกครับ ไม่ทราบว่าจะเข้าประเด็นหรือเข้ารกเข้าพงครับ  ขอบคุณครับ

small man.....

ยินดีที่ท่านผ.อ. เข้ามาเยี่ยม บันทึกนี้ ไม่ค่อยมีใครเข้ามาเยี่ยม....  

ตามความเห็นของท่านผ.อ. แนวคิดโพสท์โมเดิร์นทั่วไปเป็นอย่างไร และเฉพาะด้านจริยศาสตร์นั้น โพสต์โมเติร์นเป็นไปอย่างไร....

เพราะการกระทำเหนือหน้าที่เป็นมโนทัศน์ทางจริยศาสตร์...

เจริญพร  

บลีอกนี้ ถึงไม่ได้ตั้งอยู่ริมทางหลวง แต่ก็มีคนแวะมามากนะครับ แต่อ่านแล้วอาจจะคิดว่าไม่สามารถเพิ่มเติมประเด็นอะไรได้ (หรือกลัวก็ไม่รู้) ก็เลยไม่เขียน

อีกอย่างหนึ่ง คือผมชอบฟัง background music อันนี้ครับ

Conductor .....

รู้สึกปลื้มที่วันนี้มีคุณโยมเข้ามาเยี่ยมอีก.... 

ก็ยังเฝ้ารออยู่ว่า วันหนึ่งจะมีผู้สนใจเป็นกรณีพิเศษ ก็ยังไม่มี............

เจริญพร

นมัสการครับ โพสท์โมเดิร์น เป็นเพียงวิถีความคิดครับ หลักการของโพสท์โมเดิร์น คือ การปฏิเสธสิ่งที่เชื่อว่าเป็นความจริงแท้ โดยมีแนวคิดว่าไม่มีข้อเท็จจริงใดใช้ได้กับทุกเหตุการณ์ ทุกเวลา ทุกโอกาส ไม่มีความจริงตายตัว ใครคิดอย่างรก็เป็นอย่างนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า โพสท์โมเดิร์นปฏิเสธเหตุผลนะครับ แต่มองเหตุผลขึ้นอยู่กับความเป็นจริงภายใต้เงื่อนไขและบริบทที่เปลี่ยนไป ดังนั้นโพสท์โมเดิร์นจึงไม่มีหลักจริยศาสตร์ที่ตายตัว เพียงแต่ว่าให้เป็นตัวของตัวเองโดยกล้าเผชิญปัญหา กล้าประเมินวิธีปฏิบัติ และกล้าลงมือทำการด้วยความรับผิดชอบ...ครับ

small man ....

ในเบื้องต้น ท่านผ.อ. บอกว่า คนผู้ที่ดำเนินการการกระทำเหนือหน้าที่ น่าจะตรงกับแนวคิดแบบ โพสท์ โมเดิร์น....

และคุณโยมบอกว่า จริยศาสตร์แนวโพสท์ โมเดิร์นไม่มีหลักการตายตัว ....ทำนองนี้

ส่วน การกระทำเหนือหน้าที่ ซึ่งเป็นมโนทัศน์ทางจริยศาสตร์ ผูกโยงอยู่กับคำว่า หน้าที่ ...

ดังนั้น จึงถามท่านผ.อ. ต่อว่า ความหมายและขอบเขตของหน้าที่ตามจริยศาสตร์แนวโพสท์ โมเดิร์น ควรจะเป็นอย่างไร ?

เมื่อได้กรอบนี้แล้ว ค่อยนำมาโยงเข้ากับการกระทำเหนือหน้าที่อีกครั้ง....

เจริญพร 

นมัสการครับ ตามที่ท่านอาจารย์ถามมาว่าความหมายและขอบเขตของหน้าที่ตามจริยศาสตร์แนวโพสท์โมเดิร์น ควรจะเป็นอย่างไร คำถามนี้โพสท์โมเดิร์นไม่มีคำตอบครับ แต่พอจะอนุมานได้ว่าจริยศาสตร์ของ โพสท์โมเดิร์นคือการกระทำที่หลุดกรอบ(เป็นตัวของตัวเอง) โดยไม่ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น คำอธิบายแค่นี้สั้นไป (แต่ก็มีแค่นี้จริงๆนะครับ เพราะโพสท์โมเดิร์นเป็นเพียงวาทกรรมเท่านั้นเอง ไม่มีหลักอะไรมารองรับ) ผมขออนุญาตเปรียบเทียบเลยดีกว่านะครับระหว่างโพสท์โมเดิร์นกับการกระทำเหนือหน้าที่ คือ ตอนแรก ผมก็คิดง่ายๆว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แต่พอเจาะลึกลงไปจริงๆแล้ว เป็นคนละเรื่องกันครับ คือ มีส่วนเหมือนกันอยู่บ้างในประเด็นของการคิดนอกกรอบ และ การเลือกตามความสมัครใจ แต่สิ่งที่ต่างกันคือเป้าหมายครับ  การกระทำเหนือหน้าที่ เป็นการกระทำที่มีอุดมการณ์ และเป็นการกระทำเพื่อสังคมส่วนรวม แต่โพสท์โมเดิร์น ไม่มีอุดมการณ์ และเป็นการกระทำเพื่อตนเองครับ  ผมขออนุญาตยกตัวอย่างโพสท์โมเดิร์นในสังคมไทย เช่น กลุ่ม NGO  กลุ่มสันติอโศก กลุ่มนักเขียนแนวใหม่(เช่น ปราบดา หยุ่น)  กลุ่มศิลปินสร้างสรรค์  พวกนี้เป็นพวกออกนอกกรอบครับ แต่ไม่ได้เป็นการกระทำเหนือหน้าที่  เป็นเพียงการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง เป็นการออกนอกกรอบจากวาทกรรมและกฏเกณฑ์ของสังคม  ผมว่าพวกโพสท์โมเดิร์นมีมากครับ แต่พวกการกระทำเหนือหน้าที่ ผมว่ามีน้อยครับ เพราะไปติดกรอบของคำว่าหน้าที่นั่นเอง (แต่บางครั้งก็แบ่งยากครับ ว่าทำเพื่อแสดงความเป็นตัวเองหรือทำเพื่อสังคม)

 small man ...

จริยศาสตร์ตามแนวคิดของโพสท์ โมเดิร์น ตามที่ท่าน ผ.อ. ว่ามานั้น ตรงกับแนวคิด อัชฌัตติกญาณนิยมเชิงจริยะ (ethical intuitionism)...

ไม่แน่ใจว่าท่านผ.อ. มีกรอบความคิดประเด็นนี้หรือไม่ อาตมาลองไปค้นดูก็ไม่เจอข้อเขียนที่เป็นภาษาไทยเจอแต่ภาษาอังกฤษhttp://en.wikipedia.org/wiki/Ethical_intuitionism ...

แนวคิดนี้ก็มีกรอบความคิดเรื่อง หน้าที่ เรียกว่า ไพรมา ฟาซี (prima fasie) ซึ่งตามสำนวนไทยน่าจะเรียกว่า หน้าที่เฉพาะหน้า (ดู http://en.wikipedia.org/wiki/Prima_facie )

อาตมาคิดว่า การค้นหากรอบความคิดเรื่องการกระทำเหนือหน้าที่ในแนวคิดโพสท์ โมเดิร์น น่าสนใจมาก และประเด็นนี้ คิดว่าในโลกนี้ น่าจะยังไม่เคยมีใครเคยทำวิจัย....

การที่ท่าน ผ.อ. เปิดประเด็นนี้ขึ้นมา ทำให้อาตมามีเรื่องคิดเล่นๆ อีกประเด็นหนึ่ง...

เจริญพร

Man In Flame .....

รับรู้ความเห็นคุณโยมแล้ว... 

อาตมาไม่ชอบมีรูปซึ่งรู้สึกว่าไม่เหมาะสม (โดยเฉพาะรูปเคารพทางพระศาสนา) ดังนั้น จะลบความเห็นทิ้ง ....

ขอความกรุณา ถ้าจะแสดงความเห็นครั้งต่อไป อย่าใส่รูปเข้ามาในบล็อกนี้อีกต่อไป....

เจริญพร 

นมัสการครับ...แนวคิดแบบโพสท์โมเดิร์น เคยฮือฮาเมื่อปี 2546 ครับ ผมศึกษาจากบทความของนักวิชาการ จากหนังสือปาริชาติ ของ ม.ทักษิณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 ตุลาคม 2545 - มีนาคม 2546 และศึกษาจากหนังสือของท่าน ศ.กีรติ บุญเจือ ครับ วันนี้ก่อนที่ผมจะตอบท่าน ผมก็โทรศัพท์คุยกับเพื่อนที่เป็นอาจารย์อยู่ ม.ทักษิณ ครับ ถามถึงแนวคิดและความเคลื่อนไหวของโพสท์โมเดิร์น  เพื่อนบอกว่าเดี๋ยวนี้เขาเลิกฮิตแล้ว และโพสท์โมเดิร์น ก็เป็นเพียงวาทกรรมเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมาก แต่ เพื่อนผมอาจจะพูดผิดก็ได้นะครับ

small man ......

อาตมาก็ไม่เคยอ่านหนังสือโพสท์ โมเดิร์น เพียงแต่ติดตามข่าวในฐานะนักศึกษาวิชาปรัชญาเท่านั้น .... ตอนเรียนปรัชญาตะวันตก เคยฟังอาจารย์ฮันท์ บรรยายครั้งเดียว รายละเอียดอื่นๆ ลืมไปหมดแล้ว จำได้แต่เพียง...  

We can continue .....end

We คือ กลุ่มคน เช่น คนไทย ชาวพุทธ คนอีสาน กลุ่มธรรมศาสตร์ หรือใหญ่สุดก็ มวลมนุษยชาติ ... we นี้ จะมีกรอบครอบคลุมไว้ ซึ่งอาจเป็น ขนบ ธรรมเนียม จารีต ประเพณี วัฒนธรรม ....

Can คือ กลุ่มคนที่ได้ชื่อว่า we มีเจตจำนง ความมุ่งหวัง หรือศักยภาพบางอย่างเพื่อ continue

Continue คือ การดำเนินการไปสู่บางอย่างตามที่ we มุ่งหวัง เพื่อไปสู่ end

End คือ จุดมุ่งหมายที่คาดหวัง ซึ่ง we จะกำหนดไว้แล้ว

นั่นคือ แนวคิด ยุคโมเดิร์น

.........

เมื่อมาสู่ โพสท์โมเดิร์น we จะถูกทำลายไป หรือกระจายตัว กลายเป็น I I I I  (ไอ ไอ ไอ)... ฯลฯ สาเหตุที่ we กระจายตัวออกมา เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดความเป็น we ได้แก่ ขนบ...วัฒนธรรม ถูกทำลาย นั่นเอง

เมื่อ we ถูกทำลาย can ก็จะถูกทำลายไป และ end ก็ถูกทำลายไป ... แต่ continue ก็จะต้องดำเนินการต่อไป....

อธิบายอาจจะยากสักหน่อย สรุปง่ายๆ ว่า เมื่อ ไม่มี we มีแต่ I ก็จะกลายเป็นยุคตัวใครตัวมัน ไม่ยึดถืออะไร ไม่มีอะไรเป็นกรอบหรือบรรทัดฐาน ... ประมาณนี้

เจริญพร  

นมัสการครับ โพสท์โมเดิร์น ก็คงจะตรงกับที่ท่านอาจารย์ว่าไว้ครับ คือ ไม่ยึดถืออะไร ไม่มีอะไรเป็นกรอบเป็นฐาน เพราะโพสท์โมเดิร์น ไม่ได้มุ่งเสนอทฤษฎีที่เป็นระบบระเบียบในการอธิบายสังคม ไม่มีระเบียบวิธีที่แจ่มชัด ไม่มีอุดมการณ์เพื่อวันข้างหน้า ไม่ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงโลก และ ไม่ได้พูดถึงสังคมที่พึงปรารถนา (ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : 2544)

กราบนมัสการครับ

เรื่อง "ก็ยังเฝ้ารออยู่ว่า วันหนึ่งจะมีผู้สนใจเป็นกรณีพิเศษ ก็ยังไม่มี............" ผมคิดว่ายังคงต้องรอต่อไปครับ เรื่องที่เราเอามาแลกเปลี่ยน ก็ต้องมีคนที่จะแลกเปลี่ยนด้วย ถ้าเป็นเรื่องเฉพาะทาง ก็จะมีผู้ที่แลกเปลี่ยนด้วยน้อยเป็นธรรมดา

บางทีมีแต่คนอ่านเฉยๆ เหมือนคนเป็นนาย ซึ่งแรกๆ ก็ไม่มีคนอ่านเท่าไหร่ -- เนื่องจากเขียนในยามวิกาล และเขียนเรื่องที่ค่อนข้างขัดกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในทางปฏิบัติทั่วไป -- แต่ในที่สุดก็พูดกันปากต่อปากไปเรื่อยๆ บางทีคนอ่านอาจจะอยากมาหาทางออกต่อเรื่องที่ขัดอกขัดใจ (ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของผู้เขียน ซึ่งเขียนให้คิด ไม่ได้เขียนให้เชื่อครับ)

บางทีหากเรื่องที่เขียน ช่วยให้คนนำไปเทียบเคียงได้กับชีวิตของเขา ก็อาจจะมีผู้ให้ความสนใจมากขึ้นอีกนะครับ

ขอบคุณมากๆเลยครับ ที่มีการตั้งประเด็นนี้ขึ้นมา

ผมรู้สึกว่าได้ความรู้เพิ่มขึ้น โดยที่ยังไม่ได้เรียนมาเลยก็ตาม

และวิธีการตอบเช่นนี้ ก็รู้สึกตรงใจผมอย่างมาก

แต่ในเรื่องของประเด็นผมยังไม่มีแนวคิดใด

จะแสดงได้

แต่ก็พอจะมีแนวทางในการคุยในเรื่อง

จริยศาสตร์ของค้านท์ในชั้นเรียนได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณครับผม 

ไม่มีรูป

แมวน้อย

 

การเรียนปรัชญาทุกสาขา อาจจัดลำดับได้ดังนี้

  1. อธิบายความคิดของนักคิดหรือสำนักคิดนั้นๆ ได้ถูกต้องตรงประเด็น
  2. เห็นข้อบกพร่องแล้วคัดค้าน (1) ได้
  3. นำ (1) และ (2) หลายๆ อย่างมาผสมผสานแล้วก็ประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุน ขยายความ บางประเด็นที่ต้องการได้ดังใจนึก...
  4. ทิ้งทั้งหมด แล้วก็นำเสนอระบบคิดของตนเอง...

สำหรับจริยศาสตร์คานท์นั้น มีผู้ศึกษา วิจัย และวิจารณ์ไว้มากมาย จึงไม่ยากที่จะให้เกิด (1) และ (2)...  ส่วน (3) นั้น ขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาของแต่ละคน...

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท