วันระพีเสวนา


  

ที่มา:ประกายปัญญา

โครงการระพีเสวนาเกิดจากแรงบันดาลใจในปฏิปทาของศาสตราจารย์ระพี สาคริก ที่ได้ทุ่มเทแรงจิตแรงใจให้กับกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตการเกษตรเข้ากับหลักพุทธธรรม อันนำไปสู่การเข้าถึงคุณค่าของการขัดเกลาจิตใจตนเอง  ..โดยหัวใจสำคัญที่ท่านเน้นอยู่ที่การเรียนรู้เพื่อการเอาชนะใจตนเองให้หลุดพ้นจากความถือตนและยึดติดวัตถุ ซึ่งท้ายที่สุดคือจิตใจที่มีความเป็นไท..

 

.ประเวศ วะสี บอกว่า ..การเรียนที่ติดกรอบระบบการศึกษาในปัจจุบันที่มุ่งเรียนวิชาเพื่อใช้เป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จทางวัตถุของงชีวิต นำมาซึ่งความทุกข์ของผู้เรียนและสังคม ..หากการเรียนเอาวิชาเป็นตัวตั้งจะก่อเกิดความทุกข์ แต่หากนำชีวิตเป็นตัวตั้งการศึกษาจะกลายเป็นการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและมีความสุข แนวคิดนี้ได้รับการตอบรับจากการศึกษาทางเลือก..

เพื่อเป็นการบูชาแด่ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ปูชะนียาจารย์ท่านสำคัญของวงการศึกษาไทย ..โครงการระพีเสวนาจึงจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีผสมผสานภาคีเครือข่ายที่เกิดขึ้นของกลุ่ม องค์กร และสถาบัน ต่างๆ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน//

ในวันที่15 ธันวาคม ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

มหาชีวาลัยอีสานเป็นพันธมิตรกับชาวรุ่งอรุณมานาน ชื่นชมในการเป็นผู้นำวิธีคิด วิธีเรียน และวิธีปฏิบัติ ในแบบแผนเชิงเอกลักษณ์สไตล์รุ่งอรุณ ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมก็เห็นได้ชัดว่ามีอะไรให้อึ้งกิมกี่อยู่เสมอ เก็บมาเล่าให้เครือข่ายที่รู้จักฟัง รุ่งอรุณเขายังงั้น เขายังงี้ แค่เล่าถึงก็ปิติได้ มาบัดนี้ได้รับจดหมายน้อยให้ไปร่วมงานวันระพีเสวนา รู้สึกยินดีเหมือนปลากระดี่ได้น้ำ เข้ากับสภาพน้ำหลากที่ท่วมท้นบุรีรัมย์ในขณะนี้

 

ผมรีบกระจายข่าวไปถึงชาวปูนซีเมนต์ กลุ่มผลิตภัณฑ์กระดาษ ซึ่งมีการบ้านที่จะทำร่วมกันไปเป็นภาคีร่วมแสดงฝีมือในครั้งนี้ด้วย เราจะหารือวิธีสะท้อนเรื่องราวผ่านการจัดบอร์ดในวันงานดังกล่าว ที่บ่งบอกถึงตัวตนในสไตล์มหาชีวาลัยอีสาน

เรายังปูดข่าวไปถึงเครือข่ายลานปัญญา ที่เกาะกลุ่มกลมเกลียวกันในนามคนแซ่เฮ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าชาวเฮฮาศาสตร์ให้มาร่วมงานนี้  ผมเคยพาสมาชิกบางส่วนไปเยี่ยมโรงเรียนรุ่งอรุณในวันปาฐกถาเมื่อปีที่แล้ว ในวันระพีเสวนาเราจะชวนเพื่อนกลุ่มดังกล่าวมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย อนึ่ง ถ้านักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุขว่าง จะเสนอให้มาร่วมงานดังกล่าวด้วย

  

ที่มา แนวคิด แนวปฏิบัติ

มหาชีวาลัยอีสานเป็นกลุ่มงานชาวบ้านที่ปักหลักแก้ไขปัญหาอย่างหัวเห็ด

ริเริ่มจากสิ่งที่รุมล้อมตัวตนตามเหตุและปัจจัยในขณะนั้น..

  • จากที่ไม่มีบ่อน้ำ แหล่งน้ำ ต้องใช้เกวียนไปบรรทุกน้ำมาบริโภคไปกลับเป็นระทาง6ก.ม. ต่อมาเจาะบ่อบาดาล ทำแท็งค์น้ำ มีน้ำไหลออกจากก๊อก  ออกจากฝักบัว มีสปริงเกอร์รดผักและต้นไม้
  • จากไม่มีถนน สัญจรตามคันนา มาสู่ทางเท้า จากเดินมาปั่นจักรยาน ขี่มอเตอร์ไซด์ ขับรถยนต์ ตัดถนนเองเป็นทางดิน  ยังไม่มีถนนลาดยาง ทางเข้าซิกแซกเล็กน้อย มีป้ายบอกบ้าง แต่ก็หลงทางเข้ากันบ่อยๆ โดนต่อว่า บ่นเป็นหมีกินผึ้ง ..แต่ก็เข้ายาก ออกง่าย ใช่ไหมละครับ
  • จากจุดตะเกียงน้ำมันก๊าช มาใช้เครื่องปั่นไฟ ติดต่อเดินไฟแรงสูงเข้ามา ตอนนี้น้ำไหลไฟสว่าง แต่ก็มีภาระค่าไฟเดือนละโขเหมือนกัน เปลี่ยนจากการใช้พัดไม้ไผ่ วันไหนลมไม่พัดก็เปิดพัดลม..
  • ไฟฟ้านำมาซึ่งการสื่อสาร ทีวี โทรศัพท์ อินเตอเน็ท และสื่อการเรียนการสอน กระตุ้นให้เกิดการดูงาน ฝึกอบรม เสวนา และจัดค่ายให้นักศึกษา บางครั้งภาคธุระกิจ บริษัทก็แวะมาร่วมด้วยช่วยกันที่นี่
  • ในขณะเดียวกันพื้นที่แห้งแล้งเสื่อมโทรมแห่งนี้ ก็ค่อยๆฟื้นตัวช้าๆจากการปลูกพืช ต้นไม้ เลี้ยงไก่เลี้ยงกาทำมาหากินตามอัตภาพ พออยู่ได้ พอไหว แม้บางครั้งจะหนักอึ้งบ้างก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ขี้เหม็นทั่วไป
  • มีผู้คนแวะมาเยี่ยมมากขึ้น เขาเหล่านี้เอาความรู้ ความคิด ความปรารถนาดีมาเยือน เกิดเป็นมิตรเป็นญาติ เป็นเครือข่ายอนุบาลสังคมที่เปราะบางให้มีที่ยึดเหนี่ยว สวรรค์เริ่มมีตา  จูงใจให้คนเหล่านี้ไปมาหาสู่กันและกัน หวังว่าในที่สุดก็จะได้รูปแบบการสร้างสังคมสมานฉันท์และสันติสุขได้ ถ้ามีการสืบสานต่อๆไป
  • มหาชีวาลัยอีสาน ยังไม่มีแหล่งทุนช่วยเหลือสนับสนุน ไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดใดๆ จึงทำตามมีตามเกิด แต่อย่างน้อยก็ได้ทำละครับ ไม่ได้เอาเท้าราน้ำ ไม่ได้เป็นนกแก้วนกขุนทอง ไม่ได้ทำทองไม่รู้ร้อน แต่รู้สึกร้อนๆหนาวๆกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง มาโดยตลอด..จริงๆนะพี่น้องครับ..

ย้อนรอยมองไปข้างหลัง เห็นว่ากระแสโลกาภิวัฒน์นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมชนบทอย่างกระแทกกระทั้น ประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษาให้รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง จึงติดโรคบริโภคนิยมกันทั่วหน้า เกิดอาการสำลักความเจริญ มีความเสื่อมตามมาทุกรูปแบบ ทุกคนสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ แต่ไม่ทราบว่าจะแก้ไขกันอย่างไร ที่ซ้ำร้ายความรู้ไม่พอที่จะอยู่ในท้องถิ่น กลายเป็นยิปซีเร่ร่อนไปเป็นมนุษย์โรงงาน เปลี่ยนสถานะจากเกษตรกรไปเป็นกรรมกร ทิ้งชุดความรู้เดิม ไปแสวงหาทักษะชีวิตใหม่เหมือนไฟล้นก้น มีผลให้สังคมเกิดอาการจับต้นชนปลายไม่ถูก วิธีคิด จิตใจสับสนอลหม่าน ตอบไม่ได้ว่าจะวางอนาคตตนเองไว้ที่ไหน ตัวเองรู้อะไร ถนัดอะไร มีทักษะอะไร ถามเมื่อไหร่ก็ใบ้กินแบะๆ

ประเด็นนี้: มหาชีวาลัยจึงสนใจเรื่องกำหนดใจตนเอง ถามตัวเองว่าเจ้าเป็นไผ เกิดมาทำไม มีหน้าที่อะไรบ้างหรือยัง?

มหาชีวาลัยอีสาน เห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมท้องถิ่นอย่างสับสนอลหม่าน ชาวบ้านถูกล้างสมองผ่านโครงการอบรม ผ่านสื่อ ผ่านการดำเนินชีวิตแบบมนุษย์พันธุ์ใหม่ อยากรวยมากๆ ง่ายๆ เร็วๆ แต่ไม่สนใจการใฝ่เรียนใฝ่รู้ ไม่ยอมสู้สิ่งยาก ผลลัพธ์ไปออกที่วิถีชุมชนที่นับวันจะยุ่งเหยิง

ประเด็นนี้: มหาชีวาลัยฯ จึงสร้างโลกตนเอง เพื่อตอบคำถาม..ถ้าจะอยู่ได้อยู่รอดจะต้องรู้อะไร ทำอะไร

เราทำการบ้านแบบลองถูกลองผิด คลานบ้าง เดินบ้าง วิ่งบ้าง หกล้มคลุกคลานกับการเรียนรู้แบบอิงระบบนี้  เสียเวลา เสียรู้ เสียโอกาสไปบ้าง แต่เราไม่เคยเสียสถานะของผู้เรียน มองเห็นความไม่รู้ของตนเองชัดเจนขึ้น ว่าแท้ที่จริงแล้วความรู้ที่เรามีน้อยนิดนี้ ยังไม่เพียงพอที่จะดูแลตัวเองและสังคมให้อยู่รอดได้

ประเด็นนี้: ได้คำตอบว่าไม่มีอะไรสูญเปล่า ผิดก็ได้เรียน ถูกก็ได้เรียน 

  

สื่อต่างๆ ความเจริญ ความรวดเร็ว แทนที่จะมาช่วยเสริมสร้างสังคมให้ปกติสุข ผลลัพธ์ออกมาตรงกันข้าม สังคมแตกแยก น้ำจิตน้ำใจหายาก คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น ต่างคนต่างคิดที่จะเอาตัวรอดรวมทั้งการศึกษา แทนที่จะช่วยกันดูแลฟื้นฟูโรงเรียนใกล้บ้าน กลับพาลูกหนีไปเข้าโรงเรียนดีๆในเมือง ลอยเพสถานศึกษาในท้องถิ่น หลักสูตรที่สอนก็ไม่ได้เอื้ออวยต่อความเป็นจริงในท้องถิ่น เรียนวิชาต่างๆมากมายแต่ได้ความรู้น้อย โดยเฉพาะความคิดอาการน่าเป็นห่วง เด็กเบื่อเนื้อหาหลักสูตร เบื่อครู เบื่อโรงเรียน เราจะทำอย่างไร?

 

ประเด็นนี้: ใหญ่และยากมาก เราพยายามทดลองหลายรูปแบบ ตั้งแต่ระดับประถม-มัธยม-อุดมศึกษา แต่ก็ล้มไม่เป็นท่า ข้อนี้ยอมรับว่าตัวเองกึ๋นไม่พอมีปัญญาจำกัด ต้องกินน้ำใบบัวบกอีกหลายหม้อ เพราะการศึกษาในระบบนั้นแข็งกระด้างปรับยากแก้ยาก เลยต้องแว๊บมาหาการศึกษาทางเลือก การศึกษาแบบอิงระบบ หรือที่เรียกว่าตามอัธยาศัย  เรียนอะไรๆก็ดีทั้งนั้น การตั้งจิตตั้งใจที่จะเรียนอย่างเอาจริง เอาความรู้ ไม่เอาเฉพาะกระดาษมาหลอกตัวเอง น่าเป็นห่วงถ้าเกิดการเรียนแบบผีหลอก!!

เรารวบรวมเอาสิ่งที่เป็นประสบการณ์ตรง มาเป็นเนื้อหาในการอบรมชาวบ้าน จัดค่ายเรียนรู้ จัดสัมมนาให้กลุ่มผู้สนใจ พยายามพัฒนากระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้มีศักยภาพมากขึ้น แต่เราก็ยังขาดความพร้อมด้านปัจจัยพื้นฐาน เช่น ที่พัก โรงอาหาร ลานกีฬา ห้องน้ำ การจัดค่ายเรียนรู้จึงขาดๆเกินๆ เราไม่รู้จะร้องเพลงอะไร มีกติกาทางบังคับไว้ คนที่ทำงานด้านนี้ต้องไม่แสวงหาผลกำไร เราจึงตกอยู่ในสภาพนี้ ไม่เจริญเท่าที่ควร สาหัสกับการพัฒนาสังคมอย่างเหนื่อยยาก ถ้าไม่มีทุนเดิมไว้ให้บ้าง คงบอกเลิกศาลาไปกับการแบกภาระเพื่อพัฒนาแบบลากไม้ทางปลาย ถือว่าเป็นหน้าที่มนุษย์ก็ใช่ ได้บุญได้กุศลก็เข้าใจได้ แต่มีเรื่องที่ต้องตีบทให้แตกอีกมากนัก เพราะเราไม่ได้อยู่ในจุดเดียวกับพระสงฆ์ที่ไม่มีภาระทางโลก

ประเด็นนี้: พยายามอธิบายเรื่องพอเพียง พอดี พอใช้พอเหมาะ แต่บางกลุ่มที่ติดนิสัยสุดเริดก็เหมือนเป่าปี่ให้ควายฟัง เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ยากตรงที่ไม่พอเพียงความรู้นี่แหละเป็นประเด็นสำคัญ

 

ดอกผล บทเรียน

ดอกผลที่เกิดจากการทำงานที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ จุดนี้เข้าใจง่าย เห็นผลง่าย ไม่ซับซ้อน เพราะปลูกมะม่วง มันก็ออกผลมาเป็นมะม่วง ไม่มีต้นอะไรออกมาเป็นมาม่า ซื้อแป๊บซี่โคล่า  แต่ดอกผลที่เกิดกับตัวคนละเอียดอ่อน ซับซ้อน บางที่เรานึกว่าดีแล้วยังย้อนมาบิดตะกูดอีก มีอกุศลแฝงอยู่ทั่วไป ความหวังดี ความเจตนาดีบางทีก็แปรผลออกมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ มีเรื่องเสมือนจริงให้เราคิดจนสมองแฉะ

บทเรียนที่มีประสิทธิภาพควรเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ โดยศึกษาจากตำราเป็นทุนเบื้องต้นไว้พอสมควร ลงมือเรียนไปปรับแก้ไป อย่ารีบร้อนฟันธง บังเอิญว่านิสัยพี่ไทยใจร้อน ชอบรับรู้มากกว่าการเรียนรู้ มีอินเตอร์เน็ทให้ค้นคว้าก็ไม่ใช้เป็นเครื่องมือให้การแสวหาความรู้ จ้องแต่จะก็อปปี้ความรู้ของคนชาติอื่นจนไม่เหลือรากเหง้าของเราเอง

ประเด็นนี้: ทำให้ต้นทุนความรู้ที่เป็นฐานหลักของเราเสียหาย เพราะพี่ไทยไปหลงปลื้มความรู้ของชนชาติอื่นจนลืมกำพืดของตนเอง ทอดทิ้งภูมิปัญญาของเราเอง สุดท้ายทำให้คนไทยไม่มีชุดความรู้ของเชื้อชาติไทยไปแลกกับชุดความรู้ของชนชาติอื่น เกิดสภาวะบ้องตื้นทั่วไปในทุกระดับชั้น ต้องไปซื้อความรู้ความคิดของชนชาติอื่น แม้แต่งานวิจัยบางแห่งก็บ้าทฤษฏี สอนกันไปโท่งๆเสียเงิน เสียเวลา แต่หาประโยชน์อะไรมิได้ แล้วมาตอแยกันว่าวิจัยขึ้นหิ้ง ถ้ายังกังขาก็น่าจะทำการวิจัยเรื่องหิ้งก็ดีนะขอรับ

 

ปัญหาอุปสรรคจากการทดลองปฏิบัติการจัดกระบวนการเรียนรู้

การจัดการทดลองการเรียนรู้ให้กับคนพันธุ์ใหม่ สังคมพันธุ์ใหม่ นโยบายใหม่ ภายใต้โครงสร้างมักง่ายต่อการเรียนรู้ นำไปสู่มาตรฐานอีแอบ คุณภาพการศึกษาและพัฒนาของสังคมไทยนับวันจะยุ่งยากและยุ่งเหยิงในตัวเอง ตอบไม่ได้ไอไม่ดังว่าจะสะสางปัญหานี้อย่างไร

 

ประเด็นนี้: มหาชีวาลัยอีสานอธิบายว่า เราคงจะต้องทำตัวเหมือนรถยนต์ ที่มีไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟท้าย มีเกียร์เดินหน้า เกียร์ถอยหลัง มีกำลังส่งเป็นแรงม้า มีอะไรต่อมิอะไรแต่สุดท้ายก็ต้องมีใบขับขี่ มีกฎจราจร ต้องหยุดตามจังหวะไฟเขียวไฟแดง สรุปว่าทุกอย่างไม่มีสุดโต่ง ควรต้องบูรณาการความรับผิดชอบเหมือนกลไกของรถยนต์ทั้งคัน

 

1.  เราอาศัยเครือข่ายจัดการเรียนรู้ของ gotoknow.org

    และ http://lanpanya.com/sutthinun/ เป็นเครื่องมือในการแสวงหาและ

    เชื่อมโยงความรู้

2. ให้ความสำคัญความรู้ในตัวคน ในธรรมชาติ ในตำรา ในสื่อ IT.

3. สร้างเครือข่ายเฮฮาศาสตร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรทางวิชาการ เป็นตัว

    ช่วยที่ดีและเหมาะสมกับการเอื้ออาทรความรู้

น่าจะช่วยกันอธิบายบริบท “การหลอมรวมการเรียนรู้เพื่อความเป็นไท”

ประเด็นที่จะนำเสนอในการจัดบอร์ดและจัดสื่อขยายความคิดเห็น

  • การทดลองเครือข่ายจำหน่ายผลผลิตตรงจากท้องทุ่งสู่ครัวเมืองกรุง

  • การปลูกพืชพลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับครัวเรือนเกษตรกร

  • เทคนิควิธีการปลูกพืชในที่แห้งแล้งเพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อม

  • เมนูพืชอาหารสมุนไพรแบบผสมผสาน

  • แนวทางดำเนินงานเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงตามสไตล์มหาชีวาลัยอีสาน

  • บริบทเครือข่ายพันธมิตรวิชาการที่เกิดจากการประสานใจผ่านไอที.

 

ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้ที่ อิเมล์:adm...@arsomsilp.ac.th

 
หมายเลขบันทึก: 211554เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2008 19:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ชวนพวกเราไป แล้วไม่บอกว่าจะจัดที่ไหน เมื่อไหร่ แล้วจะไปกันยังไงละเนี่ย...ฮ่าๆๆ ตรงช่วงเรียนพอดีไหมครับ อิอิ

พ่อขาๆ

ไว้ครูแอนจะต้องปลุกจิตสำนึกให้เด็กๆ เรียกหาคำว่า "ทำไม" บ่อยๆ หน่อยแล้วล่ะค่ะพ่อ

คิดถึงพ่อนะคะ

P

 

15 ธันวาคม 2551

ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ขอรายละเอียดตาม อีเมล์ ข้างบนครับ

P

 

ทำไม ทำไม ครูตัวเล็กแต่หัวใจเกร่งแห่งเมืองชายแดนใต้

ยืนหยัดสอนลูกศิษย์อย่างทุ่มเท ลำบากกว่าครูภาคอื่น

เอาใจช่วยนะแอน

สวัสดีค่ะพี่ชายใหญ่

  • ไม่ได้แวะมาทักทายพี่ชายใหญ่ของครูอ้อยเลย  แต่ในหัวใจคิดถึงพี่ชายใหญ่เสมอนะคะ
  • ครูอ้อยน้องสาวของพี่คนนี้  กำลังเพียรพยายามไปทุกเรื่องค่ะ

รักษาสุขภาพด้วยค่ะ  คิดถึง พี่หวี น้องออย และทุกคน เจ้าเหมย ต้นไม้ ใบหญ้า  กลิ่นดิน  ต้นลั่นทม  ป้ายบอกทางเข้าบ้าน..... และ .....

P

นานทักที มาเป็นชุดเลย

เมื่อไหร่หนอจะเรียนจบเป็น ดร.อ้อย เสียที

ขาใหญ่หัวลำโพงสบายดีนะครับ

ต้นปีหน้าคุยกันว่าจะนั่งรถไฟไปเฮฮาที่เชียงแสน

ฝ่ายเลขาชวนมาแล้วนะครับ

กราบสวัสดีพ่อครูครับ

  • วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เดินทางไปนิเทศนิสิตครูพันธุ์ใหม่ที่อำเภอนาดูน ก็หวนให้คิดถึงพ่อครูฯ อยู่ไม่น้อยเลยครับ ก็เลยนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากพ่อครูฯ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์ที่ไปด้วยกันเพื่อต่อยอดครับ
  • อ่านบันทึกนี้แล้ว ทำให้รู้จักสวนป่ามหาชีวาลัยอีสานมากยิ่งขึ้นครับ ขอบพระคุณครับ

Nadool01 

  • พ่อครูคะ
  • จะขอลอกเลียนแบบ เพียงสักน้อยก็ยังดี
  • ที่ทำเพื่อสังคม โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
  • เป็นกำลังใจให้พ่อครูค่ะ

P

 

ดีใจที่เห็นคณาจารย์คณะศึกษาศาสตร์

ลงไปดูแลการศึกษาถึงที่ถึงแก่น

จะทำให้ลูกศิษย์แน่นแฟ้นการบริบทการศึกษายิ่งขึ้น

สบายดีนะครับ

P

 

คิดถึงอาจารย์เพราะเย็นนี้ เราจะยำยอดฟักทองอีก

สบายดีนะครับ ยังประทับใจที่ได้เจอกัน

ด้วยความระลึกถึงครับ

ถ้าว่าง วันที่15 ธันวาคม 51 มาร่วมงานที่ศูนย์วัฒนธรรมดีไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท