KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 615. แนะนำหนังสือ KM ในภาคการศึกษา (๕.๒)


นานาทัศนะ : การจัดการความรู้เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้ในภาคการศึกษา

ตอนที่ ๑ , ตอนที่ ๒ , ตอนที่ ๓ , ตอนที่ ๔, ตอนที่ ๕.๑

3. รายละเอียดของหลักสูตรในการทดลอง มีดังนี้

3.1 หลักสูตรที่ 1 ขั้นประถมศึกษา เน้นการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี ความเข้าใจพื้นฐานเดิมของคนส่วนใหญ่ เข้าใจว่าแมลงในสวนมักเป็นแมลงที่ให้โทษ ก็มักจะพ่นยาจนตายหมด แต่ความจริงแล้ว แมลงส่วนใหญ่ก็ยังมีประโยชน์ ดังนั้น จึงให้ชาวนาเรียนรู้เรื่องแมลง เพื่อจะได้ทำความรู้จักแมลงแต่ละชนิดที่พบในนา ขั้นแรกต้องรู้จักควบคุมโรคแมลงในนาข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี ให้ไปจับแมลงจริงๆ จากแปลงนามาศึกษา และแยกชนิด แยกประเภท และนำมาวาดรูประบายสี พร้อมกับศึกษาเพิ่มเติมจากคู่มือ เพื่อให้เข้าใจและรู้จักชื่อ ลักษณะทั้งคุณและโทษของทั้งแมลงดีและแมลงที่เป็นศัตรูพืช พร้อมเฝ้าสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ ของแมลงที่พบ หากยังเข้าใจไม่ชัดเจน ก็ควรศึกษาจากของจริง คือศึกษาจากแปลงนา ซึ่งทุกคนต้องเรียนรู้ในลักษณะดังที่กล่าวมา จนเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองว่าแมลงที่พบเห็นในนานั้น ส่วนใหญ่เป็นแมลงที่มีประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ หลังจากนั้น ก็นำมาสู่กระบวนการจัดการแมลงให้เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูก ซึ่งมีหลักการปฏิบัติดังนี้ ถ้ามีแมลงดี 1 ตัว แมลงไม่ดี 5 ตัว เราไม่ต้องทำอะไร แมลงสามารถคุมกันได้ เพราะธรรมชาติจะมีวิธีจัดการด้วยตัวเอง ดังเช่น แมลงดีในธรรมชาติจะจัดการกับแมลงที่เป็นศัตรูพืช หากแมลงคุมกันเองไม่ได้ ก็ให้ใช้สมุนไพรที่ไม่ไปทำลายแมลงดี แต่ให้ไปขับไล่แมลงไม่ดีที่เป็นศัตรูเท่านั้น เช่น สะเดา ข่า ตะไคร้หอม ส่วนสมุนไพรที่ฆ่าแมลงดีก็มี เช่น ยาสูบ โล่ติ้น ห้ามใช้เด็ดขาด เพราะเราต้องการจะใช้สมุนไพรเพื่อจะเลิกใช้สารเคมี ก็จะเป็นการลดต้นทุนการใช้สารเคมี อีกทั้ง สุขภาพของชาวนาก็ดีขึ้น

 

3.2 หลักสูตรที่ 2 ขั้นมัธยมศึกษา คือการปรับปรุงสภาพดินโดยวิธีรรมชาติ มีแม่ธรณีเป็นสัญลักษณ์ เพราะถือว่าดินคือแม่ธรณีที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เริ่มจากแต่ละคนนำดินในนามาตรวจ ทั้งโดยวิธีวิทยาศาสตร์ วิธีการดม หากดินไม่ดี ก็ปรับปรุงดินโดยวิธีที่ง่ายที่สุด คือสอนให้รู้จักประโยชน์ของจุลินทรีย์ที่มีต่อพืช โดยใช้ฟางเป็นหลักในการปรับสภาพดิน เช่น หลังจากทำนาเกี่ยวข้าวเสร็จ ให้นำฟางไปรดน้ำและย่ำ ฟางจะปล่อยจุลินทรีย์ พอย่ำและทิ้งไว้ 10 วัน ฟางในนาทั้งหมดก็กลายเป็นปุ๋ยหมด หลังจากนั้นไม่ต้องใส่ปุ๋ย ก็จะทำให้ต้นข้าวงามและไม่มีโรค หรืออาจเก็บจุลินทรีย์จากซากพืชซากไม้ที่ผุพังและนำมาเพาะขยาย

มีการทดลองปลูกข้าวโดยนำดินที่มีคุณสมบัติต่างกันมาทดลองปลูกข้าวจริงๆ ซึ่งมีอายุ 1 เดือน ปลูกในกระถาง 3 กระถาง

กระถางที่ 1 ปลูกในดินเผาฟางไม่ใส่ปุ๋ย รากจะตื้น เพราะไม่สามารถลงข้างล่าง แต่จะกินอาหารที่หน้าดิน เพราะปุ๋ยอยู่หน้าดิน

กระถางที่ 2 ปลูกในดินที่มีปุ๋ยเคมี จะมีรากยาวบ้างเล็กน้อย แต่รากจะดำ เพราะปุ๋ยเคมีทำลายรากข้าว รากข้าวต้องแตกใหม่เรื่อยๆ รากเก่าก็จะเน่าและไม่ยาว แต่แตกกอดี พอเดือนที่ 2 ต้องใส่ปุ๋ยเคมีใหม่ เพราะปุ๋ยหมด

กระถางที่ 3 ใช้ปุ๋ยชีวภาพ ต้นข้าวจะแข็งแรงและแตกกอพอสมควร รากก็จะยาวมาก ถ้าใส่จุลินทรีย์ไป ต้นข้าวจะไม่แตกกอภายในเดือนแรก ถ้าชาวบ้านไม่ถอนรากมาดู ก็จะต้องใส่ปุ๋ยเคมีแน่ เพราะถือว่าต้นไม่โตไม่แตกกอ ต้นก็เหลือง แต่พอถอนรากมาดู จะตกใจ รากจะยาวมาก มีสีขาวและแตกใหญ่มาก เพราะใส่จุลินทรีย์ ไม่ต้องใส่ปุ๋ย รากยาวเปรียบเหมือนความรู้ฝังลึกที่ต้องสร้างฐานก่อน พอเข้าเดือนที่ 2 ต้นข้าวแตกกอมากกว่าใช้ปุ๋ยเคมี หลังจากนั้นก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยอีกเลย

อย่างไรก็ดี ที่ต้องทำการทดลองและบันทึก ก็เพราะชาวนามองเห็นแต่ต้นข้าว ก็จะใส่ปุ๋ยเคมีภายในเดือนเดียว เพราะเข้าใจว่าต้นข้าวไม่แตกกอ แต่ความจริงแล้วต้นข้าวโตที่รากก่อนซึ่งอยู่ในดิน

3.3 หลักสูตรที่ 3 ขั้นอุดมศึกษา คือคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์ข้าวในระบอบเกษตรกรรมยั่งยืน  ซึ่งยึดถือแม่โพสพที่ถือว่าเป็นเทพแห่งพันธุ์ข้าวมาเป็นสัญลักษณ์ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวมีหลายวิธี ที่ง่ายที่สุดคือ นำพันธุ์ข้าวที่ชอบมาปรับปรุง เช่น พันธุ์ชัยนาท พันธ์สุพรรณ พันธุ์ปทุมธานี โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ฉีดยาฆ่าแมลง เพื่อให้มีผลผลิตสูง วิธีการคือ คัดเลือกเมล็ดข้าวที่สวยที่สุด โดยลงมติว่าแต่ละพันธุ์ต้องการข้าวแบบไหน เช่น ต้องการข้าวแดงก็ต้องแดงล้วน ข้าวขาวก็ต้องขาวล้วน ข้าวดำก็ต้องดำล้วน หรือต้องการเมล็ดยาวหรือสั้น เป็นต้น คัดเลือกให้ได้รูปแบบสวยที่สุดและดีที่สุด เช่นเดียวกับการประกวดนางงามจักรวาล ต้องใส่เสื้อผ้าน้อยที่สุดถึงจะเห็นว่าสวยขนาดไหน ข้าวก็ต้องถอดเปลือกออกให้เห็นข้างในว่าสวยแบบไหน ถึงจะนำไปเพาะ นำข้าวกล้องไปเพาะในทรายหรือขี้เถ้าแกลบ แต่อย่าให้จมูกข้าวหลุด อย่าเพาะในดิน เพราะจะเน่า พอครบ 10 วันให้ย้ายได้ เพราะอาหารในเมล็ดข้าวหมด ถ้าไม่ย้ายก็จะเหลือง ให้ย้ายลงดิน ไปปลูกประมาณร้อยต้น หรือจะปลูกแบบสวนครัวก็ได้ โดยการขังน้ำแล้วปลูก กอละหนึ่งต้น และตรวจสอบทุกต้น ผลผลิตต้นไหนดีที่สุด สวยที่สุด ก็เลือกต้นที่ดีที่สุดไปเพาะพันธุ์ข้าว ต้นที่พันธุ์ไม่ดีก็ให้ทิ้งไป ทั้งนี้ในจำนวนที่เพาะหนึ่งร้อยต้น จะมีประมาณ 5 ต้น ที่สามารถนำไปเพาะพันธุ์ได้

นอกจากนี้ ส่งเสริมให้ใช้เครื่องดำนา เพราะภาคกลางเลิกดำนาไป 30 ปี หากจะกลับมาดำนาใหม่ จะไม่มีแรงงาน ในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน ใช้เครื่องดำนาหมด แต่คนไทยใช้หว่าน ทำให้มีปัญหาเรื่องวัชพืช เครื่องดำนาจะเพาะกล้าแบบหญ้าหรือเพาะเป็นแผ่น นำไปตัดเป็นชิ้นๆ ใส่เป็นช่อง เป็นการปรับความรู้เก่าให้มาใช้วิธีใหม่ ซึ่งครั้งแรกชาวนาจะงง เพราะการใช้เครื่องดำจะห่างมาก พอ 3 เดือนจะค่อยเต็ม และผลผลิตจะสูงกว่าที่ใช้การหว่าน เรียกว่า เป็นการจัดการความรู้โดยปฏิบัติ

เทคนิคการสร้างพันธุ์ข้าวขึ้นมาใหม่เป็นเรื่องไม่ยาก แต่ต้องใช้เวลา เพราะการทดลองปลูกข้าว ต้องปลูกถึง 8 รอบ ๆ ละ 6 เดือน (คัดพันธุ์ใช้เวลา 2 เดือน ปลูกใช้เวลา 6 เดือน) ถึงจะได้พันธุ์แท้ที่ต้องการ บางสายพันธุ์ได้ตั้ง 200 ถังต่อไร่ โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี 

มูลนิธิข้าวขวัญได้ผสมพันธุ์ข้าวที่มี 2 สีในเมล็ดเดียวกันได้ เรียกข้าวแคปซูล ครึ่งหนึ่งเป็นสีแดง อีกครึ่งหนึ่งเป็นสีขาว มีหลายสายพันธุ์มาก ทุกพันธุ์จะมี 2 สีหมด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ช่วยคัดพันธุ์ข้าวให้นักเรียนชาวนาไปปลูกเป็นมงคล 1 เมล็ด ขณะนี้ชาวนากำลังขยายพันธุ์ เรียกชื่อว่า ข้าวปทุมเทพ

4. การเลือกผู้เรียน เลือกจาก 4 อำเภอในจังหวัดสุพรรณบุรี ตามจำนวนเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิข้าวขวัญที่มีเพียง 4 คน กำหนดให้แต่ละอำเภอเลือกกลุ่มวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เช่น เชื้อสายไทยเขมร ไทยลาวพวน ไทยทรงดำ ไทยลาวเวียง เพื่อต้องการทราบว่าวัฒนธรรมที่ต่างกันมีผลต่อการจัดการความรู้เพียงใด ต้องการสร้างความรู้ฝังลึกจากทุกกลุ่มที่มีแตกต่างกัน โดยมีข้อตกลงในการเรียนดังนี้

4.1 ทุกคนต้องแบ่งที่นามาเข้าโครงการ คนละ 2 ไร่ เพื่อทำแบบที่มูลนิธิกำหนดให้ และเปรียบเทียบว่าต่างจากการทำแบบเดิมอย่างไร

4.2 พบกันสัปดาห์ละ 1 วันๆ ละ 3 ชั่วโมง คือ 9.00-12.00 . หากกำหนดวันแล้ว ห้ามเปลี่ยนวัน

4.3 ห้ามขาดเรียนติดต่อกัน 2 ครั้ง ถ้าขาดเรียนต้องส่งคนมาแทนและสามารถนำไปถ่ายทอดกันได้ ถ้าขาดเรียนเกิน 5 ครั้ง ถือว่าสอบตก จะไม่ได้วุฒิบัตร ถ้ามาประชุมติดต่อกัน 10 ครั้งจะได้เสื้อรุ่นเป็นกรรมสิทธิ์

5. กระบวนการเรียนรู้ เริ่มจากเชิญวิทยากรภายนอกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น นำชาวนาดีเด่นแห่งชาติ ปี 2538 มาถ่ายทอดวิธีทำนาที่ได้ผลโดยใช้การจัดการความรู้ จนสามารถทำให้ซื้อที่นาได้ร้อยกว่าไร่ ภายใน 10 ปี ซึ่งจากเดิมต้องเช่าที่นาจำนวน 60 ไร่ และสามารถให้การศึกษาแก่บุตรได้จนถึงระดับปริญญาโท รวมทั้งเชิญชาวต่างชาติที่มีความสนใจเรื่องการจัดการความรู้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วยทั้งนี้มีกระบวนการจัดการความรู้ดังนี้

5.1 การเรียนรู้ร่วมกัน โดยวิธีการดึงความรู้ฝังลึกของชาวนาหรือผู้รู้ออกมา และเรียนรู้ร่วมกัน เช่น การพิสูจน์คุณภาพดินด้วยการดม เป็นวิธีการพิสูจน์ที่มีมาแต่โบราณ มีความแม่นยำ และใช้ประโยชน์ได้สูงกว่าการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หรือการเรียนรู้การคัดพันธุ์ข้าวโดยใช้เวลาน้อยแต่ได้ปริมาณข้าวมาก หรือการศึกษาแมลงที่เป็นทั้งประโยชน์และโทษต่อการเกษตรกรรม หรือการศึกษาเรื่องสวนสมุนไพรที่จะนำมาเป็นยาปราบศัตรูพืช      

5.2 การจดบันทึกอย่างละเอียดตามขั้นตอนของการจัดการความรู้ รวมทั้งจดบันทึกประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำนาข้าวที่หายไปจากชุมชน เช่น พิธีแฮะนาหรือพิธีแรกนาขวัญ และนำเยาวชนมาดูพิธี การลงแขกดำนา เกี่ยวข้าว การรับขวัญข้าว การขอขมาแม่ธรณีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคยเป็นที่เคารพและสร้างความศรัทธาต่อจิตวิญญาณทางการเกษตรกลับคืนมา เช่น การแสดงความเคารพต่อแม่โพสพ แม่คงคา แม่ธรณี เป็นต้น

6. การประเมินผล จากการจัด 3 ครั้ง ทั้งใน 3 หลักสูตร พบว่า สามารถลดต้นทุนได้จริง ปลดเปลื้องหนี้สินลดลง สิ่งแวดล้อมและสุขภาพกายและสุขภาพจิตดีขึ้น มีปลา ปู ไส้เดือน และสาหร่ายเพิ่มขึ้น ความรักสามัคคีเพิ่มขึ้น ชาวบ้านสามารถฟื้นฟูวัฒนธรรมได้ เช่น การเล่นเพลงพื้นบ้าน การลงแขก ที่เลิกไป 30 กว่าปี มีการสอนเกี่ยวข้าวหรือทำปุ๋ยหมักโดยคนเฒ่าคนแก่ การสร้างแม่โพสพองค์ใหม่ เกิดพิธีทำขวัญข้าว เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยชาวบ้าน และมีความภูมิใจและเชื่อมั่นในตนเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ทุกเวที มีการเปลี่ยนแปลงจากคนไม่มีความรู้เลยกลายเป็นคนมีความภูมิใจและถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้ เด็กๆ สนุกกับการเข้าร่วมพิธีกรรม เข้าร่วมทำจุลินทรีย์ กลายเป็นเทคนิค ความรู้ชาวบ้าน ที่ถ่ายทอดกันได้ เรียกชาวนาที่จบหลักสูตรอุดมศึกษาว่า บัณฑิตข้าว และสามารถฟื้นศักดิ์ศรีได้เพราะการจัดการความรู้ หากเป็นเช่นนี้ก็จะช่วยคนไทยให้รอดได้ เพราะคนไทยที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ ประมาณ 50 % มีพื้นฐานจากสังคมชาวนาหรือสังคมเกษตรกร

สรุป    ที่กล่าวข้างต้นเป็นแนวคิดและวิธีการนำการจัดการความรู้ไปใช้ปรับกระบวนทัศน์ของชาวนา เพื่อแก้ปัญหาและให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงวิธีการทำนาข้าวมาเป็นแบบเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งนี้ หากนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนชาวนาไปใช้ในแวดวงใดก็ตาม ควรต้องนำกระบวนการไปปรับใช้ ให้เหมาะกับรูปแบบการเรียนรู้ของแวดวงนั้น เพราะกระบวนการจัดการความรู้สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกวงการ ดังเช่น มูลนิธิข้าวขวัญเคยเป็นวิทยากรอบรมเรื่องการจัดการความรู้ให้แก่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งมีลักษณะงานไม่เหมือนในโรงเรียนชาวนาเลย แต่พนักงานบริษัทปูนซิเมนต์ไทยก็สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานในองค์กรได้บรรลุวัตถุประสงค์เช่นกัน

วิจารณ์ พานิช

๑๒ พ.ย. ๕๑

 
 

หมายเลขบันทึก: 224026เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2008 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท