ชีวิตที่พอเพียง : ๘๗๐a. ข้อคิดเห็นเรื่องนโยบายวิทยาศาสตร์ของประเทศ ๓. ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของการวิจัย สร้างผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างจริงจัง


 
ตอนที่ ๑
ตอนที่ ๒

          มีผู้มาให้ความเห็นในบันทึกเรื่องนี้ตอนที่แล้ว    ทำให้ผมเกิดความคิดว่า โจทย์ของท่าน รมต. อาจจจะเบี่ยงไปหน่อย   พูดแบบไม่ถนอมน้ำใจก็ว่าโจทย์ผิด   จึงเขียนตอนที่ ๓ แก้ตัว    โดยตั้งโจทย์ใหม่ตามหัวข้อข้างบน 

  
          ย้ำว่า ต้องเริ่มต้นที่ผลประโยชน์ของประเทศ ที่จะได้จากการวิจัย   โดยต้องไม่ลืมว่าการวิจัยไม่ใช้ยาผีบอก ที่แก้ได้ทุกโรค   และปัญหาของประเทศหลายเรื่องก็แก้ไม่ได้ด้วยการวิจัย   รวมทั้งต้องยอมรับว่า การวิจัยที่ทำกันอยู่จำนวนไม่น้อยสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์    คือไม่ทำเสียจะดีกว่า   เป็นผลงานวิจัยที่ก่ออันตรายหรือความเสียหาย ไม่ให้ประโยชน์ต่อบ้านเมือง


          คำตอบต่อคำถามในหัวข้อข้างบน ตอบแบบกำปั้นทุบดินได้ว่า    ทำ ๒ แนว  คือมาตรการเชิงลบ  กับมาตรการเชิงบวก

มาตรการเชิงลบ
          หลักการคือต้องหาทางปิดกั้น หรือลด งานวิจัยชนิดที่ไม่ควรทำ    หาทางปิดกั้นหรือเปลี่ยนแปลงจารีตผิดๆ ด้านการวิจัยหรือวิชาการ ที่เอาใจความเห็นแก่ตัวของมนุษย์  ไม่มุ่งเอาประโยชนืสังคมเป็นหลัก   หาทางปิดกั้นสภาพแยกส่วนหรือต่างคนต่างทำ ต่างหน่วยงานต่างทำ  

มาตรการเชิงบวก
          หลักการคือหาทางส่งเสริมให้มีการวิจัยชนิดที่สร้างคุณค่าและมูลค่าให้แก่สังคม    ซึ่งการเพิ่มงบประมาณวิจัยเป็นส่วนย่อยอยู่ในมาตรการเชิงบวกนี้   และมาตรการแต่ละมาตรการที่เสนอไว้ข้างล่าง จะมีการดำเนินการบูรณาการอยู่ใน initiatives   ไม่ใช่แยกกันทำในแต่ละมาตรการ   และต้องเข้าใจว่า การเพิ่มงบประมาณวิจัยอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องที่เสี่ยงสูง ต่อการเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์   หรือกลับก่อโทษแก่สังคม เพราะทำให้เกิดวัฒนธรรมวิจัยชนิดด้อยคุณภาพ หรือแค่คุณภาพปานกลาง (mediocre) เต็มไปหมด

 สร้างความเชื่อมั่นระยะยาว ว่าการวิจัยที่ดี มีคุณภาพสูง ที่มีคุณประโยชน์แท้จริง จะได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังสมเหตุสมผล

          การประกาศว่าจะเพิ่มงบประมาณวิจัยเป็นเท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้ปี ไม่มีผลต่อความเชื่อมั่นของสังคมมากนัก    เพราะเดี๋ยวนี้เป็นที่รู้กันว่าภาคการเมืองอ่อนแอลงอย่างน่าตกใจ   รัฐบาลหรือนักการเมืองประกาศอะไรออกมาผู้คนเขาไม่ค่อยเชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริง   เขามองเป็นการหาเสียงระยะสั้นไปหมด


          การเพิ่มงบประมาณวิจัย ไม่สำคัญเท่าการเพิ่มคุณค่าของงานวิจัยต่อสังคม   และการที่จะเพิ่มปริมาณและคุณภาพของคุณค่างานวิจัย   นอกจากเพิ่มเงินลงทุนวิจัยแล้ว   การเตรียมการเรื่องคนและโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยมีความสำคัญยิ่งกว่า   และเราต้องการดึงดูดคนสมองดีจำนวนหนึ่งเข้ามา    หากไม่มีความชัดเจนและเชื่อถือได้ของโครงการแผนงาน คนฉลาดจะไม่เข้ามา


          จึงควรกำหนดสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า initiatives ขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนความเข้มแข็งและคุณประโยชน์ด้านการวิจัย   แต่ละ initiative มีระยะเวลา ๑๐ ปี มีระบบการจัดการที่มีคุณภาพสูง   โดยมีการประเมินอย่างเข้มงวดเป็นระยะๆ   เพื่อปรับระบบการจัดการให้เกิดคุณประโยชน์แท้จริงต่อบ้านเมือง   และหาทางบูรณาการเข้าในระบบประจำต่อไป


          งบประมาณในบริบทราชการและการเมืองไทย มีความไม่แน่นอน   แต่ initiatives มีความเป็นรูปธรรม ผ่านการกลั่นกรองจากหลายฝ่ายหลายความคิด   จะสื่อสารต่อสังคม และสร้างความเชื่อมั่นระยะยาวได้ดีกว่านโยบายด้านงบประมาณ  

 
 จัดระบบการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาระดับประเทศเสียใหม่    ให้เอื้อต่อประโยชน์ของนักวิจัยในประเทศมากขึ้น   ให้ช่วยอำนวยความสะดวดต่อการจดสิทธิบัตร และต่อการนำไปใช้ประโยชน์โดยฝ่ายธุรกิจภายในประเทศ   ไม่ใช่เอื้อต่อบริษัทต่างประเทศเป็นหลัก อย่างในปัจจุบัน


 สร้างนักวิจัยคุณภาพสูงด้านต่างๆ โดยเร็ว    สร้างอย่างมีแผนว่าต้องการคนในสาขาใดเท่าไร    โดยที่กระบวนการสร้างบูรณาการอยู่กับ initiatives ต่างๆ   และเข้าไปต่อยอดโครงการที่ประสบความสำเร็จสูงอยู่แล้ว เช่นโครงการ คปก.

 
          เรื่องการเพิ่มจำนวนนักวิจัยจำนวนมากอย่างรวดเร็วนี้   ควรศึกษาตัวอย่างประเทศจีน   มีข้อมูลจากผลงานวิจัยของ ศ. ดร. ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ว่า ในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๙๕ – ๒๐๐๕ จีนสามารถเพิ่มบุคลากรด้านการวิจัยได้ถึงร้อยละ ๖.๑ ต่อปี   ย้ำว่าเราต้องระมัดระวัง ให้การเพิ่มจำนวนนักวิจัยและบุคลากรวิจัย ต้องคำนึงถึงคุณภาพในระดับต่างๆ ตามเป้าหมายด้วย    อย่ามุ่งแต่จำนวน

 
 อย่าเพิ่มงบประมาณให้แก่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเดี่ยวๆ   ให้สร้าง “โครงการ ๑๐ ปี” ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง    ให้แต่ละโครงการมีเป้าหมายชัดเจน   มีลักษณะการจัดการแบบ virtual organization   ที่มีความร่วมมือหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง    บางโครงการให้ฝ่าย demand side แสดงบทบาทนำ    บางโครงการให้ฝ่าย supply side แสดงบทบาทนำ   มีกลไกตรวจสอบประเมินผลงานร่วมกัน เพื่อเปรียบเทียบผลงาน   และเรียนรู้ว่าวิธีจัดการแบบใดให้ผลดีต่อบ้านเมืองมากกว่า

          เป้าหมายของโครงการเหล่านี้ต้องซ้อนกันหลายมิติ   ทั้งเพื่อเป้าหมายการพัฒนาบ้านเมืองในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เป็น “ชุดของเป้าหมาย”   และเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบวิจัย ร ะบบบัณฑิตศึกษา  ระบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 

 จัดโครงการ รางวัล “ครูผู้จุดประกายความคิดเชิงวิทยาศาสตร์” เป็นโครงการ ๑๐ ปี   ชวน นสพ. ๒ – ๓ ฉบับ เปิดคอลัมน์นี้ ทุกวันเสาร์หรืออาทิตย์    ให้ครูส่งเรื่องของตนมาลง   ว่าตนสอนให้นักเรียนมีความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ (scientific thinking) อย่างไร   โดยที่ครูที่ส่งเรื่องมาไม่จำเป็นต้องเป็นครูวิทยาศาสตร์    จะเป็นครูในสาระวิชาใดก็ได้   ที่จริงเราอยากได้ครูที่สอนสาระอื่นๆ แล้วมีผลต่อ scientific thinking ของนักเรียน

          และเปิด เว็บไซต์ ให้ครูเขียน บล็อก เล่าเรื่องของตน   มีทีมงานคอยตรวจสอบหาครูที่มาเล่าเรื่องใน นสพ. และใน บล็อก ที่มีแววน่าจะเข้าเกณฑ์เป็น “ครูผู้จุดประกายความคิดเชิงวิทยาศาสตร์”   แล้วไปเยี่ยมถึงโรงเรียน เพื่อขอข้อมูลเพิ่มขึ้นสำหรับพิจารณายกย่องเป็น “ครูผู้จุดประกายความคิดเชิงวิทยาศาสตร์” ประจำปี …  ซึ่งน่าจะมีจำนวนปีละ ๕๐ คน


          “ครูผู้จุดประกายความคิดเชิงวิทยาศาสตร์” จะได้รับเงินสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้ของศิษย์ของตน หรือเพื่อการสร้างทีมงาน หรือเครือข่ายครู   ได้รับโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ได้รับรางวัลในปีเดียวกัน   และร่วมกับผู้ได้รับรางวัลในปีต่อๆ มา  


          ในที่สุดจะเกิด “ชุมชนครูผู้จุดประกายความคิดเชิงวิทยาศาสตร์” แห่งประเทศไทย   ที่ครูเหล่านี้ได้รับทรัพยากร และการจัดการเครือข่าย แบบ empowerment

 แนวคิด “ครูผู้จุดประกายความคิดเชิงวิทยาศาสตร์” นี้    สามารถนำไปใช้สนับสนุน empower ครู  ที่มีความสามารถ/ผลงาน พิเศษ ด้านอื่นๆ ได้ด้วย   เช่นด้านภาษา  ด้านช่วยเหลือนักเรียนวัยรุ่น เป็นต้น 

 

วิจารณ์ พานิช
๓ พ.ย. ๕๒

       
         
                  
          


 

หมายเลขบันทึก: 310515เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2009 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท