On OLPC (one laptop per child) หนึ่งคนหนึ่งเครื่อง ไทยได้หรือเสีย


ผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องหนึ่งคนหนึ่งเครื่อง ทำไมหลายคนหนึ่งเครื่องไม่ได้

ผมบ่นเรื่องนี้กับเพื่อนมานานมากครับ ตั้งแต่ได้ยินชื่อโครงการก็เริ่มบ่นแล้ว บ่นมาร่วมปีจนเพื่อนเขาไม่อยากจะฟัง ผมเลยต้องมาบ่นให้คุณๆ ฟัง โครงการ OLPC นั้นริเริ่มโดย Media Lab ของ MIT   (http://www.laptop.org ) ภารกิจหลักโครงการคือให้เด็กทั่วโลกได้มีโอกาสค้นคว้า ทดลอง และแสดงออกในความเป็นตัวของเขาเอง

ผมลองดูที่หน้าการมีส่วนร่วม (http://www.laptopfoundation.org/participate/ ) อ่านได้สักพักแล้วรู้สึกเวียนศีรษะ ลองอ่านย่อหน้านี้นะครับ

The primary mission of the One Laptop per Child (OLPC) movement is to ensure that every school-aged child in the lesser-developed parts of the world owns their own personal laptop that they can use to learn and to learn about learning.

ผมอ่านแล้วนึกไปไหนต่อไหน นี่คงเป็นอีกครั้งในประวัติศาสตร์ที่ความไม่เข้าใจบวกกับความหวังดี (ตื้นๆ) จะส่งผลกระทบ... กระทบต่ออะไรไม่ทราบ แต่ไม่ได้มากระทบสมองน้องๆ ในต่างจังหวัดแน่ครับ

ผมติดใจข้อความที่ว่า to ensure that every school-aged child… owns their own personal laptop มาก ยิ่งอ่านยิ่งรู้สึกมวนท้อง ถ้าผมต้องพิมพ์ซ้ำอีกรอบคงต้องอาเจียนออกมาแน่
ผมขออธิบายเป็นห้าประเด็นดังนี้นะครับ

ประเด็นแรกคือการมองแบบเหมารวมของฝรั่ง อเมริกาอีกตามเคย เบื่อกันหรือยังครับ จริงๆ ผมว่าผมทำใจได้แล้วนะ ถ้าเรื่องมันไม่มาเกิดที่บ้านเรา เหมารวมแบบว่าทุกพื้นที่ที่เขากำลังพัฒนาต้องการคอมพิวเตอร์ ถ้าคอมพิวเตอร์ไปถึง เด็กก็จะได้เรียน “เรียนเกี่ยวกับการเรียน” (learn about learning) การเรียนเกี่ยวกับการเรียนนี่ไม่ใช่ของที่อยู่ๆ จะเรียนกับได้เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์ไปวางตรงหน้านะครับ เพราะการจะเข้าใจถึงการเรียนได้ต้องมีกระบวนการคิดแบบ critical thinking (แปลเป็นไทยว่าอะไรผมไม่ทราบจริงๆ คิดแบบวิกฤต?) ต้องผ่านการวิเคราะห์และสังเคราะห์ ถึงจะเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ได้

ถัดมาคือเรื่องโครงสร้างทางสังคมครับ เป็นประเด็นที่ผมคุยกับคุณ Ben Campbell เกี่ยวกับบทความที่ผ่านตาในชั้นเรียนนั้นคือเรื่อง Steel axes for stone age Australians[*] คงต้องเล่าเรื่องย่อนิดหนึ่งครับ เรื่องนี้เกิดในสังคมอะบอริจินในออสเตรเลีย อุปกรณ์สำคัญของการยังชีพในชนเผ่าคือขวานหินครับ การทำขวานหินนั้นลำบาก ต้องเดินทางไปเอาหินจากอีกเผ่าหนึ่ง ต้องหาไม้พิเศษมาทำด้าม ดังนั้นขวานหินจึงมีไม่มาก หัวหน้าครอบครัวเป็นคนถือขวานเป็นหลัก ถ้าผู้หญิงหรือเด็กอยากใช้ ก็ต้องมาขอ สังคมเป็นอยู่อย่างนี้จนมิชั่นนารีเดินทางมาถึงออสเตรเลีย และเห็นว่าสังคมนี้ล้าหลัง จึงมีการแจกขวานเหล็กให้ชนเผ่านี้ ขวานเหล็กไม่เพียงนำความสะดวกมาให้ชนเผ่า แต่เปลี่ยนรากฐาน โครงสร้างสังคมชนเผ่าจนยับเยิน ไม่มีการควบคุมกันอีกต่อไป ขวานหินหมดความหมายทางสัญลักษณ์ ชนเผ่าหลายคนยอมให้ภรรยาของตนนอนกับคนต่างถิ่น เพียงเพื่อจะได้มีขวานเหล็กกับเขา 

เพียงแค่นำขวานเหล็กเข้าไปให้เขาโดยหวังดี ผลที่ตามมาอาจจะร้ายแรง กว้างขวางกว่าที่จะคาดคิด ผมขอมองในแง่ร้ายกับ OLPC เช่นนี้เหมือนกันจะได้ไหม? ตอนนี้โครงการเริ่มมีการคิดถึงการติดตั้งอุปกรณ์ปิด laptop ระยะไกลเพื่อป้องกันในกรณีเด็กนำคอมพิวเตอร์ไปขายต่อ... (อ่านบทความได้ที่ techdirt ) ผมฟังแล้วทำให้นึกถึงประเด็นถัดมา นั้นคือ 

เรื่องการก้าวกระโดดของลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ (hierarchy of need ) เรื่องนี้ก็เห็นกันได้ชัดๆ ว่าเราจะเอาคอมพิวเตอร์ไปแจกให้เด็กที่ยังไม่มีปัจจัยสี่ แล้วเขาจะเอาคอมพิวเตอร์ไปทำอะไร ก็เอาไปขายสิครับ ผมนึกตลกกับหัวข้อบทความใน techdirt เพราะผมเชื่อว่าถ้าเด็กสามารถนำคอมพิวเตอร์ไปขายใน ebay ได้เอง นั่นน่าจะแสดงว่าเขาใช้อินเตอร์เน็ตและเริ่มเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยได้เองแล้ว เจ้าของโครงการ OLPC น่าจะภูมิใจ

ประเด็นถัดมาคือปัญหาการเมืองและสังคมบ้านเราครับ โครงการ OLPC นี้เซ็นสัญญาในยุคของนายกฯทักษิณ ถ้าผมจำไม่ผิดจะมีการส่งคอมพิวเตอร์กลางปีหรือปลายปี 2007 นี้ ใครจะดูแลโครงการ ใครจะทำโครงการที่ตัวเองไม่ได้เริ่ม ทั้งยังเรื่องการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา ใครจะมาสนใจครับ?

เรื่องสุดท้ายที่คาใจผมที่สุดคือ ประโยคที่ผมตัดให้อ่านตอนต้นว่า to ensure that every school-aged child… owns their own personal laptop (ดีที่ผมตัดแปะเอา ไม่ต้องพิมพ์ใหม่ เลยไม่ต้องอาเจียน)  ผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องหนึ่งคนหนึ่งเครื่อง ทำไมหลายคนหนึ่งเครื่องไม่ได้ ด้านการบำรุงรักษา ถ้ามีน้อยเครื่องก็ดูแลรักษาได้ง่าย เอาเงินมาลงด้านการบำรุงรักษาไม่ดีกว่าหรือ ถ้าจะเถียงว่าที่ต้องมีคนละเครื่องเพราะจะได้ไม่แย่งกัน ถามจริงๆ ครับ น้องเขาไม่ต้องทำงานบ้าน ช่วยพ่อแม่ทำนา หาเลี้ยงครอบครัวหรือทำอย่างอื่นกันเลยเหรอ จะใช้กันทั้งวันทั้งคืนเลยหรือไร  ที่ร้ายกว่านั้น ถ้าเกิดว่าเครื่องหนึ่งพังขึ้นมา เด็กคนนั้นไม่กลายเป็นแกะดำในกลุ่มเพื่อนเลยเหรอครับ ในเมื่อทุกคนต่างหวงของตัวเอง โรงเรียนแนวพุทธบ้านเราเขาเน้นการอยู่ร่วมกัน การแบ่งปันกัน โครงการนี้ทะลึ่งสอนให้เด็กหวงของ

หลายคน หนึ่งเรื่อง ได้แบ่งปันกัน เรียนรู้การอยู่ร่วมกันไม่ดีกว่าหรือ?

ผมคิดว่าที่ผมเขียนไปก็มีการคาดเดาอยู่มาก ดังนั้นผมยินดีรับความเห็น (เห็นด้วยหรือขัดแย้ง) ทุกประการครับ

ปล. ในบล็อกคุณ Ben Campbell วิเคราะห์เรื่อง GUI ของ  laptop OLPC ไว้ได้น่าสนใจเหมือนกันครับ

อ้างอิง:
Sharp, L. (1952).  Steel axes for stone age Australians.  In E. Spicer (ed.) Human Problems in Technological Change (69-90).  New York:  Russell Sage Foundation.

หมายเลขบันทึก: 90685เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2007 01:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 12:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

สวัสดีครับ...

ขออนุญาตสวัสดีปีใหม่ไทยย้อนหลัง..และขอรดน้ำผ่านบล็อก.."อยู่เย็น เป็นสุข..อยู่ดี มีแฮง แข็งแรงทั้งกายและใจ ตลอดไป ตลอดกาล.."

 ....

การก้าวกระโดด..ครั้งหนึ่งผมพานิสิตลงพื้นที่ปฏิบัติงานในชุมชน  ปรากฏพบเครื่องคอมพิวเตอร์เกลื่อนเป็นขยะไม่ถูกนำมาใช้  เพราะสาเหตุหลายประการ  ทั้งบุคคล ความรู้และความพร้อมอีกมากมายก่ายกอง

ครั้งนั้น..นโยบายรัฐบาลให้นิสิตจัดทำเว็บไซด์ใน อบต. แต่หารู้ไม่ว่า  อบต. ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้เลยนะครับ..

....

นั่นเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งที่ผมพานพบและสะท้อนใจ...

ขอบคุณครับ

 

ขอบคุณคุณแผ่นดินมากครับ ขอให้คุณแผ่นดินและครอบครัวมีความสุข ทั้งกายและใจเช่นกันนะครับ

ผมเองก็เคยเห็นเครื่องคอมพิวเตอร์วางเหงาอยู่ ในห้องเรียนในจังหวัดใกล้ๆ กรุงเทพฯ นี่แหละครับ จริงอย่างที่คุณแผ่นดินว่าบุคคล ความรู้ ต้องมาพร้อมกับอุปกรณ์ครับ ไม่งั้นก็ส่งไป ไม่ได้ใช้ทำอะไร... เฮ้อ

 ในความคิดของผมมั่นใจได้ในระดับนึงว่าเมื่อโครงการนี้ได้ถูกกระทำอย่างแท้จริงแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าเครื่องคอมพิวเตอร์จะเหงา แน่นอนครับ เมืื่อเด็กๆมีเครื่องเป็นของตัวเอง ย่อมต้องอยากจะใช้มันแน่นอนครับ จะมาอ้างว่าบุคคลไม่พร้อมทำให้คอมพิวเตอร์ถูกกองเป็นขยะ ผมว่าไม่ใช่ คำกล่าวอ้างที่ถูกต้องซักเท่าไรนัก

อย่าลืมว่าเราสามารถเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์ได้เองโดยไม่ต้องรอให้คนสอนนะครับ

การที่ได้มีของเป็นของตัวเองจริงๆจะสนับสนุนตรงนี้ครับ

และการที่ว่า ทำไมหลายคนหลายเครื่องไม่ได้จริงๆอันนี้มันก็ได้ครับ แต่ถ้ายกตัวอย่างง่ายๆเช่น คุณกับเพื่อนทำ Blog กันโดยใช้คอมพิวเตอร์เครื่องเดียว คุณคิดว่ามันจะใช้เวลาเท่าไหร่ครับ ? คุณสามารถทำมันพร้อมๆกันได้ไหมครับ เรื่องการอยู่ร่วมกันคุยกันระหว่างเพื่อนนั้น สมัยนี้มีโปรแกรม Instant Message มากมายครับไม่ใช่ปัญหาอะไรเลย ถ้าใช้ในโรงเรียนก็ Wireless หรือวางเครือข่าย Network ก็ไม่น่าจะกินงบประมาณซักเท่าไหร่นักสำหรับโครงการระดับนี้

และคุณคงไม่เคยคิดสินะครับว่า เด็กๆที่สนใจเรื่องนี้ตั้งแต่อายุยังน้อยสูญเสียโอกาสไปเท่าไหร่กับความคิดที่ปิดกั้นและหวาดระแวงของคนใหญ่คนโต คนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า โอกาสที่เค้าควรได้ค้นหาและทำในสิ่งที่ตนเองชอบ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ผลกับทุกคนแต่ก็ได้ผลกับคนส่วนนึงก็ถือได้ว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จแล้วจริงไหมครับ?

เป็นการยกระดับ ความรู้ของเยาวชนไทยให้สูงขึ้น 

 เรื่องการซ่อมบำรุงที่คุณกล่าวอ้างถึงสังคมชนบท คุณดูถูกพวกเค้าใช่หรือไม่ครับ? "น้องเขาไม่ต้องทำงานบ้าน ช่วยพ่อแม่ทำนา"

ถ้าคุณจะคิดเป็นทฤษฎีอย่างเดียวผมก็จะอ้างกับคุณแบบนี้ก็แล้วกัน

การสอนให้เด็กรู้จักการแบ่งเวลาก็มีอยู่ในหลักสูตรแล้วนี่ครับ 

แต่จริงๆแล้วผมว่าเด็กบางคนมีความรับผิดชอบและมีจิตสำนึกที่ดีมากกว่าผู้ใหญ่หลายๆคนครับ

เรื่องบุคลากรในด้านการซ่อมบำรุง อุปกรณ์เหล่านี้ตอนนี้มีกระจายกันอยู่เกือบทั่วประเทศแล้วนะครับ ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลยในการบำรุงรักษา กล้าที่จะส่งเสริมกล้าที่จะทำ ก็ย่อมสามารถที่จะทำได้จริงไหมครับ? มัวแต่กลัวนู่นกลัวนี่ เมื่อไหร่จะมีโครงการดีๆให้เยาวชนไทยใช้ครับ

สุดท้ายนี้

ต้องขอพูดตรงๆเลยนะครับว่าไม่ชอบบทความนี้เป็นอย่างมากเพราะเปรียบเหมือนการดูถูกทั้งเยาวชนของประเทศ ปิดกั้น และคิดแทนพวกเขา รวมถึงการดูถูกสังคมชนบทอย่างมาก เมื่ออ่านบทความนี้แลว้ผมรู้สึกสะท้อนใจเป็นอย่างมากที่่โครงการดีๆต่างถูกต่อต้านด้วย "กลัว" ในปัญหา และใช้ตนเองเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินใจแทนผู้อื่น

 

ฝากไว้เท่านี้ครับ ขอบคุณมากครับที่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น 

 

 

 

 

เอาล่ะครับ  ผมคงไม่มีอะไรจะพูดอีกแล้ว

เอาเป็นว่าผมเสียใจแทนเด็กๆในประเทศที่มีผู้้ใหญ่ใจแคบและ วิสัยทัศน์ต่ำ่่มากอย่างคุณ

ยอมรับครับว่าไม่กี่ปีก่อนมันมีจริงๆที่ว่าบางพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าแต่ภาครัฐส่งคอมให้ใช้

แต่คุณอย่าลืมนะครับว่ามันกี่ปีผ่านมาแล้ว

ตอนนี้มีกี่โรงเรียนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้บ้าง

รบกวนขอทราบข้อมูลครับ

มีกี่โรงเรียนที่เครือข่ายอินเตอร์เน็ตเข้าไม่ถึงบ้าง

รบกวนขอทราบข้อมูลด้วยครับ

นี่คุณเอาความคิดของคุณเองโดยไม่ได้มองสังคมในชนบทเลยว่าเค้าพัฒนาไปแล้วขนาดใหน

เหตุผลที่คุณยกมาว่าไม่ควรแจกนั้นมันเทียบไม่ได้กับการเสียโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กๆเลย

บางท่านห่วงเรื่องการเอาไปใช้ผิดศีลธรรม ผมขอให้คิดดูใหม่นะครับ

อย่าลืมว่าเด็กคือฮาร์ดดิสก์เปล่า เราอยากอินพุตอะไรลงไปก็สามารถลงได้

อยากอินพุตความรู้ก็ทำไป หรืออยากอินพุตหนังโป๊ก็ทำได้

ว่าแต่ใครเป็นคนอินพุตล่ะ

ผู้ใหญ่ใช่ใหม

แล้วนี่คุณไปโทษเด็กฝ่ายเดียว(โดยไม่ได้มองรอบด้านเลย เพียงแค่ความคิดของคุณคนเดียว)

ขอเถอะครับ

ลูกหลานเราจะได้ทันโลกทันคนซะที

 แน่นอนครับว่าในช่วงแรกๆจะต้องมีปัญหาแน่ๆ

แต่มันคงไม่ใช่ประเด็นที่จะยกเลิกโครงการนี้ซะ

เอาเป็นว่าเรื่องการทำหายหรือเอาไปขายเนี่ยมีทางออกทางแก้ปัญหาครับ

อยู่ที่ว่าคนที่มีความคิดเป็นเลิศอย่างคุณจะคิดออกหรือไม่

 

ขอบคุณครับ 

 

ความจริงบล็อคนี้เป็นข้อความเก่ามาเกือบปีแล้ว ซึ่งไม่ทราบว่าเจ้าของบล็อคได้เคยเข้าไปอ่านข้อความที่เก่ากว่าบ้างหรือไม่

แต่ผมคาดว่า อีกไม่นานข้อความนี้จะมีคนตอบกลับอีกมาก เพราะมีคนนำ link เข้าสู่ ราชดำเนิน/พันธ์ทิพย์ คงจะมีอีกหลายคนตามมาอ่านแน่ ๆ

ผมจึงอยากสอบถามว่าเจ้าของ blog เคยอ่าน blog ของอาจารย์ธวัชชัย ที่เขียนไว้เก่ากว่าของคุณเสียอีก เริ่มตั้งแต่ http://gotoknow.org/blog/averageline/57236 ก่อนเลยนะครับ

แล้วก็กรุณาอ่านบันทึกต่อเืนื่องเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยนะครับ 

ถ้าเป็นไปได้ รบกวนแสดงความคิดเห็นหลังจากอ่านด้วย อย่างน้อยจะได้รู้ว่าคุณรับผิดชอบกับความคิดเห็นของคุณอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับความคิดเห็นของผู้อื่น 

ถ้าเด็กมีพ่อแม่ดี

ถ้าผุ้ปกครองดี เด็กก็น่าจะใช้คอมพิวเตอร์เพือความรุ้ได้ดีนะครับ

ก็เหมือนทีวีบ้านเรา ถ้าผุ้จัดรายการดี ประชาชนคงฉลาด มีคุณภาพมากกว่านี้ ไม่เป้นโรค หวาดระแวง หรือเป็นโรคเชื่อข่าวง่าย

อีกอย่าง ราคา 4000 บาท ทำมาเพื่อเด็ก คิดว่าคงออกแบบมาดี ป้องกัน เด็กพอสมควรเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเรียน

สวัสดีครับคุณกิ่งหยก

ผมเชื่อและยังเชื่อว่าการสอนแบบเด็กเป็นศูนย์กลางนั้น ผู้สอนมีบทบาทมากกว่าการสอนแบบให้ครูเป็นศูนย์กลางนะครับ มีโปรแกรมหลายๆ ตัวใน OLPC ที่ดีครับ ผมเองติดตามข่าวอยู่ตลอดนะครับ

ผมใช้คำว่าทำนานั้นผมไม่ได้มีเจตนาดูถูกน้องๆ ที่ไหนเลยครับ แต่ผมได้ไปเห็นจริงเมื่อสมัยผมเรียนมหาวิทยาลัย ที่น้องๆ ต่างจังหวัด และชาวเขา ต้องช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำนา บางแห่งต้องจัดเวรเลี้ยงไก่ เพื่อนำไข่มาทำอาหารที่โรงเรียน สรุปคือว่าเขายังต้องช่วยตัวเองกันสุดๆ  

ประเด็นการค้นหาตัวเองนี่ถือว่าเป็นคำถามเชิงปรัชญาเลยนะครับ สำหรับผมเอง ผมไม่คิดว่า OLPC จะตอบคำถามตรงนี้ได้ ผมเชื่อว่าผู้สอนมีส่วนกระตุ้นให้เด็กคิดวิเคราะห์มากกว่า เพราะจะให้คอมพิวเตอร์มาเลือกทำความรู้จักเด็กทีละคน จนถึงวันนี้ก็ยังทำไม่ได้ครับ ถ้าลงทุนไปทั้งหมดแล้วผลสำเร็จเกิดกับคนส่วนหนึ่ง ประเด็นนี้ผมมองว่าเป็นการเหมารวมนะครับ ยังเป็นประเด็นที่เทียงกันในระบบการศึกษาทุกประเทศเลยก็ว่าได้ ทุกคนต้องได้เรียนวิชาเดียวกันหรือครับ? ครั้งหนึ่งมีรัฐมนตรีไปดูงานที่จีน แล้วก็กลับมาบอกว่าเด็กชนบททุกคนควรเรียนภาษาจีน เราได้ติดต่อครูมาแล้ว ถ้าเขารู้ภาษาจีน เขาจะได้เป็นไกด์นำเที่ยว เพราะคนจีนมาเที่ยวเมืองไทยเยอะ แบบนี้ผมว่าไม่เหมาะนะครับ เพราะใช่ว่าทุกคนจะชอบการเรียนภาษา ผมลากมาเรื่องนี้เพราะต้องการจะบอกว่า เครื่อง OLPC มันไม่ได้ตอบคำถามว่าเด็กจะชอบอะไร อยากเป็นอะไรได้ด้วยตัวมันเอง

เรื่องการซ่อมบำรุง เรื่องอุปกรณ์นี่ ถ้าติดตามข่าวก็จะทราบนะครับ ว่ามีนักวิชาการหลายท่านลองคิดคำณวนดูแล้วมันก็ไม่ใช่น้อยอยู่ แต่ผมว่าปัญหาหลักคือบุคลากรซ่อมบำรุงครับ เรื่องนี้ทำให้ผมนึกไปถึงขยะอิเลคทรอนิคด้วย เพราะถ้าเกิดการเลิกใช้แล้วจะทิ้งที่ไหน

ผมไม่ได้เขียนเพื่อเชิญชวนให้ปิดกั้นครับ ผมอยากเตือนว่าคำตอบไม่ได้อยู่ที่เครื่อง XO แต่อยู่ที่ผู้สอน

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นครับ

คุณชายเมืองสิงห์ครับ

ผมอ่านและติดตามข่าว OLPC อยู่ตลอดครับ ผมไม่ได้ติดตามเจาะลึกของบ้านเรา คือติดตามจากหลายๆ ที่ ก็ทราบว่ามีโครงการนำร่องไปแล้วในบ้านเรา เห็นวิดีโอคลิปเด็กเล่นดนตรีไทยด้วย XO ก็น่าสนใจดีครับ

ผมเคยอ่านบทความของอาจารย์ธวัชชัยนะครับ เคยไปแสดงความคิดเห็นในบล็อกของอาจารย์ไว้ด้วย

ขอบคุณครับ

คุณขอด้วยคนครับ

เรื่องหนึ่งที่ผมทำใจไว้ก็คือการได้รับความคิดเห็นที่มีท่าทีไม่ดี ใช้คำไม่สุภาพ และไม่แสดงตัว

ผมไม่ขอตอบความคิดเห็นแบบนี้นะครับ

ขอบคุณครับ

คคห 6. ถ้าเด็กมีพ่อแม่ดี

ประเด็นนี้ผมเห็นด้วยมาตลอดครับ ความพร้อมต้องเกิดขึ้นกับผู้สอน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพ่อแม่

เรื่อง hardware ผมเชื่อว่าออกแบบมาดีครับ เท่าที่ทราบ ก็ทนทาน และมีการคัดเลือกโปรแกรมที่จะให้เด็กได้ใช้งาน

พอไปเปรียบกับเรื่องทีวีบ้านเราก็... พูดไม่ออกเหมือนกันครับ

ขอบคุณครับ

ไม่รู้กันจริงๆ เหรอครับ ว่านี่มันโครงการที่คิดขึ้นมาเพื่อหาเสียงแบบประชานิยม แล้วก็ได้กินหัวคิวโกงชาติบ้านเมืองด้วยน่ะครับ

ขอโทษ, โรงเรียนต่างจังหวัดครูยังไม่ค่อยจะมีเลยครับ

ใครเห็นด้วยกับโครงการนี้ก็ควายแล้วครับผมว่า

อาจจะมีบางสถานการณ์ที่พอดีกับ OLPC. เด็กไม่ลำบากเกินไป เด็กไม่สบายเกินไป. ในประเทศไทยมีเด็กที่ครอบครัวพอมีพอกิน แต่ไม่เงินซื้อคอมฯเครื่องละเป็นหมื่นใช้ก็มีเหมือนกันครับ. เพียงแต่ว่าถ้าเหลือเครื่องละ 5 พันบาทก็อาจจะพอแล้ว ไม่ต้องแจก?

ผมพึ่งได้มีโอกาสมาอ่านบันทึกนี้ครับ ผมขออนุญาตแนะนำให้ไปอ่านบันทึกของผมเกี่ยวกับ OLPC ต่อไปนี้ครับ

เรื่องต่อเนื่องเกี่ยวกับ OLPC และ คนคิดว่า OLPC เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์มีอยู่สองประเภท โดยบันทึกแรกเป็นบันทึกที่ขอแนะนำให้อ่านอย่างยิ่งครับ

เรื่องการแจกขวานเหล็กให้กับชนพื้นเมืองแล้วบอกว่าความล่มสลายของชนพื้นเมืองเกิดขึ้นจากการได้รับขวานนั้นผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ เป็นการมองข้ามเรื่องอื่นๆ ที่คนอังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้องในการทำลายโครงสร้างทางสังคมของชนพื้นเมืองไปสิ้น แล้วโยนความผิดให้แก่ขวานครับ ที่จริงแล้วรัฐบาลออสเตรเลียพึ่งประกาศขอโทษอย่างเป็นทางการต่อชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านี้ที่ได้กดขี่ข่มเหงในช่วงของการมาตั้งรกราก ความผิดที่เขาขอโทษเหล่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับการแจกขวานเลยครับ

เกี่ยวกับ OLPC นั้น เรื่องนี้คงฟันธงไม่ได้ว่าใครถูกหรือใครผิดครับ ผมคิดว่าจะเสียเวลาเปล่าถ้าเราจะมาถกเถียงกันในสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น เพียงแต่ว่าแต่ละคนพยากรณ์อนาคตภายใต้มุมมองที่มีของตัวเอง คุณแว้บอาจมีมุมมองไปแบบหนึ่ง ส่วนผมอาจมีมุมมองไปแบบหนึ่ง สิ่งที่ควรคือเราต้องทำงานเพื่อทำให้มุมมองของเราเป็นจริงขึ้นมา ความสำเร็จไม่ได้เกิดจากความบังเอิญครับ แต่เกิดจากการทำงาน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์อย่าง OLPC จะดีหรือไม่ดีไม่ได้อยู่ที่ตัวมันเอง แต่อยู่ที่เราจะทำให้มันดีหรือไม่ดีครับ

ต้องขออภัยที่ไม่ได้ตามมาตอบความคิดเห็นที่ให้ไว้เสียนานเลย

คุณวีร์ครับ

ที่อเมริกามีพ่อแม่หลายคนซื้อ XO จากโครงการ OLPC ให้ลูกเขาใช้ครับ เขาซื้อให้ แล้วก็ทดลองใช้ แล้วก็แสดงความคิดเห็น วิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย นี่คือผู้ปกครองที่มีการศึกษาและหวังให้ลูกเขาได้สิ่งที่ดี

อาจารย์ธวัชชัยครับ

เรื่องแจกขวานเหล็กก็เป็นมุมมองที่ผมเอามาเปรียบเทียบ และก็คาดเดาว่า XO มันจะเป็นขวานเหล็กนั่นละครับ ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลออสเตรเลียจะโทษขวานหรืออย่างไร ผมคิดว่าถ้าถึงจุดหนึ่งแล้วเด็กหลายๆ คนในพื้นที่มี แต่คนหนึ่งไม่มี เขาจะเป็นแกะดำ เหมือนกับชาวบ้านที่ไม่มีขวานเหล็ก แล้วก็จะต้องทำทุกวิถีทางให้ได้ขวาน หรือได้ XO มา และผมเชื่อว่าการเริ่มโครงการอะไรก็ตามต้องเริ่มที่คน ไม่ใช่เริ่มที่สิ่งของ

เรื่องโครงการ OLPC เอง ผมเห็นด้วยกับข้อสรุปของอาจารย์ครับ โดยเฉพาะที่อาจารย์กล่าวว่า "สิ่งที่ควรคือเราต้องทำงานเพื่อทำให้มุมมองของเราเป็นจริงขึ้นมา ความสำเร็จไม่ได้เกิดจากความบังเอิญครับ แต่เกิดจากการทำงาน"

ยินดีที่อาจารย์เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครับ

มาชวนไปดู กิจกรรมเด็ก ๆ ที่โรงเรียน ครับ

น่ารักดี ที่นี่ นะครับ

โดยพื้นฐานเจตนาของโครงการ ผมคิดว่า OLPC เป็นเรื่องที่ดีครับ เชื่อว่าเด็กไทยโดยเฉพาะเด็กที่เกิดในยุคใหม่นี้ แม้แต่เด็กต่างจังหวัดไกลๆ ก็จะมีความสามารถในการเรียนรู้และเข้าถึงเทคโนโลยีได้เร็ว เพราะเขาอยู่ในยุคที่สิ่งแวดล้อมมันเป็นอย่างนี้

ผมขอ link เจ้า OLPC กับความคิดพื้นฐานของเหล่านักคิดสาย Constructionism ซึ่งให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ เลยพยายามที่จะสร้าง "ของเล่น" ของเด็กโต ซึ่งตอบสนองต่อการจินตนาการ วางแผน การคิด การลองผิดลองถูก การแบ่งปันความรู้ ซ้ำไปซ้ำมาเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากตัวเด็กเอง ซึ่งของเล่นชิ้นนี้จะต้องมีความยืดหยุ่น ง่ายต่อการใช้งาน ตอบสนองต่อจินตนาการและความสนใจทุกรูปแบบของเด็ก เทียบได้กับดินน้ำมันหรือบล๊อกตัวต่อของเด็กอนุบาล

คราวนี้มันต้องมาคุยเรื่องการนำมาสู่ประเทศไทย ซึ่งผมเข้าใจความเป็นห่วงของ อ. แว๊บ ครับ เรามีบริบททางสังคม วัฒนธรรม แตกต่างจากทางตะวันตกมาก ดังนั้นการจะรับอะไรเข้ามาแล้วสวมใช้อย่างรวดเร็วโดยไม่ดูบริบท หรือความเป็นจริงของประเทศเราเอง ไม่น่าจะเป็นเรื่องดีครับ (ตัวอย่างมีมากมาย)

บางคนอาจจะกำลังคิดจะโยนการเรียนรู้ของเด็กโดยพึ่งพาไว้กับอุปกรณ์ขั้นเทพเพียงอย่างเดียว ซึ่งแม้แต่เจ้าพ่อ constructionism อย่าง Papert ยังยอมรับว่าความรู้มีทั้งส่วนที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และอีกส่วนหนึ่งที่ต้องพึ่งพาระบบการศึกษา นั่นแปลว่า คน, ครู หรือครูในบทบาทของผู้ชี้แนะแนวทาง ก็ยังเป็นส่วนสำคัญ (มากด้วย)

คุณจีรังมาแสดงความคิดเห็นอีกหน ผมก็ยินดีจะตอบอีกหนเช่นกันครับ

โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2006 ก็มีอายุได้ประมาณห้าปีแล้ว ชุมชนของ OLPC นั้นน่าสนใจครับ เพราะมีคนมีความรู้อยู่ในนั้นมาก และนักกิจกรรมที่อยู่ในพื้นที่ก็มีเยอะ ข่าวสารต่างๆ เลยมีทั้งจากมุมมองที่อยู่บนหอคอยงาช้าง และมุมมองจากภาคพื้นดิน

สองความคิดที่แหลมคม แบบต่างกันสุดขั้วคือผู้ก่อตั้งโครงการ คือนิโคลัส เนโกรพอนตี กับทฤษฎี constructionism ของอาจารย์ Papert (ที่เป็นอาจารย์ของเนโกรพอนตีจริงๆ) และนักปฏิบัติอย่าง Wayan Vota

ผมได้เขียนถึงบทเรียนของ OLPC ไว้แล้วเมื่อไม่นานมานี้นะครับ ในบล็อกนี้ [link] ซึ่งสรุปได้สั้นๆ ว่าโครงการเทคโนโลยีนั้น มันไม่สามารถสำเร็จได้ ถ้าขาดภาวะผู้นำ ขาดบุคลากรที่มีคุณภาพ ถึงจะมีเงินเยอะแค่ไหนก็ตาม มันต้องเริ่มที่ "คน" และโครงสร้าง ไม่ใช่ที่เทคโนโลยีครับ เผลอไปอ่านคอมเมนต์ข้างบนอีกรอบแล้วหงุดหงิด ขอใส่อารมณ์นิดหน่อย :-)

ไหนๆ ก็ไหนๆ อยากจะลองยกตัวอย่างแบบสุดขั้วอีกสักครั้ง

สมมติอย่างนี้ครับ

ถ้าคุณมีลูก กำลังจะเข้าประถมหนึ่งแล้วมีโรงเรียนแค่สองโรงเรียนให้เลือก โรงเรียน ก มีคอมพิวเตอร์ OLPC (ที่เขาว่าเป็นอุปกรณ์ขั้นเทพ) อยู่เพียงพอสำหรับเด็กทุกคน แต่มีครูง่อยๆ เป็นครูประจำชั้น ส่วนโรงเรียน ข มีคอมพิวเตอร์ง่อยๆ อยู่สองเครื่อง แต่มีครูประจำชั้นขั้นเทพ

คนที่เชื่อนักเชื่อหนาว่าโครงการนี้จะทำให้เด็กฉลาดได้ โดยไม่ต้องมีครู (หมายความว่าเอาครูง่อยๆ ที่ไหนมาวางไว้เป็นเครื่องประดับโรงเรียน?) จะปล่อยลูกคุณไปอยู่โรงเรียน ก วันละแปดชั่วโมงไหมครับ? ผมเชื่อว่าครูดี ยังไง ๆ ก็สามารถจะรังสรรค์อะไรได้มากกว่าคอมพิวเตอร์ครับ นี่ยังไม่ได้พูดถึงคุณธรรมจริยธรรมที่เด็กจะได้รับการปลูกฝังนะครับ OLPC ทำตรงนี้ได้ไหม? ถ้าเด็กทะเลาะกันคอมพิวเตอร์จะบอกไหมว่าให้หยุด เด็กเกิดความอิจฉาหรือมีอารมณ์โกรธแล้วคอมพิวเตอร์จะสอนเด็กอย่างไรครับ?

เทคโนโลยีไม่ใช่เป้าหมายหรือคำตอบของการพัฒนานะครับ เป็นแค่เครื่องมือไปสู่เป้าหมายเท่านั้น อย่างที่คุณจีรังบอกไว้ว่า Papert เองก็ยอมรับว่าระบบการศึกษามีส่วนสำคัญ ผมว่าเนโกรพอนตี ศิษย์ของ Papert นั้นตีโจทย์ผิดไปเยอะครับ อย่างว่าครับ ศิษย์ก็ใช่ว่าจะต้องคิดเหมือนครู จริงไหมครับ?

ปล. ใครที่อยากถกเถียงประเด็นนี้กันต่อ ผมอยากให้ตอบคำถามเรื่องโรงเรียน ก โรงเรียน ข ก่อน พร้อมเหตุผล เราจะได้ดูว่าเรามีจุดยืนตรงกันไหม เพราะถ้าเรื่องพื้นฐานที่ว่า คน vs. เครื่องมือ เรายังเห็นไม่ตรงกันเนี่ย จะพูดจากันต่อมันคงลำบากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท