๗. การศึกษาเรียนรู้บนสองขาและอานรถถีบ


"..สภาพเหล่านี้คือความเป็นจริงของชนบทไทยทั้งในอดีตและในอีกหลายแห่งของประเทศที่การศึกษาจะเป็นโอกาสการพัฒนาที่จำเป็นหลายอย่าง.."

บ้านเก่าของผมอยู่ลึกเข้าไปในหมู่บ้าน ห่างจากถนนและบ้านตาลินสักเกือบ ๑ กิโลเมตร หรืออาจจะเป็น ๒ กิโลเมตรเมื่อเดินคดเคี้ยวไปตามคันนา และจากถนนหรือชุมชนบ้านตาลินไปถึงตัวอำเภอหนองบัว ก็ประมาณ ๖-๗ กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันถนนหนทางเป็นถนนลาดยาง ในครึ่งชั่วโมงก็สามารถขับมอเตอร์ไซคล์ไปกลับได้อย่างสบาย

ทว่า เมื่อ ๒๐-๓๐ ปีก่อนในช่วงที่แม่และพ่อกำลังเป็นครอบครัวที่ลูกๆ ๗ คน ล้วนอยู่ในวัยเรียนและวัยก่อนเรียนนั้น ถนนไปอำเภอยังคงเป็นถนนดินเหนียว รถโดยสารนานๆ เป็นชั่วโมงหรือนานกว่านั้นก็จะมีสักคันหนึ่ง ชาวบ้านต้องอาศัยการโบกรถบรรทุกข้าว รถบรรทุกแร่ รถขนไม้ ซึ่งก็แล้วแต่จะมีวิ่งและรับให้ขึ้นไปด้วยหรือไม่

อีกทั้งขากลับก็อาจจะไม่มีรถกลับ ตลอดสองข้างทางก็ยังไม่ค่อยมีบ้านเรือน การเดินทางไปมาจากหมู่บ้านไปยังอำเภอจึงเป็นเรื่องที่จะทำเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น เช่น ไปบวชลูกหลานและญาติพี่น้อง ไปซื้อของกินของใช้เพื่อสำรองไว้ทั้งปี เจ็บปวยและไปหาหมอ ไปติดต่ออำเภอ ไปเกณฑ์ทหาร ซึ่งอาจจะต้องเดินและขี่เกวียน ใช้เวลาไปกลับครึ่งค่อนวัน

โรงเรียนที่อยู่ในชุมชน คือ โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ย้ายมาจากการจัดการเรียนการสอนในศาลาวัดที่บ้านใต้ มาตั้งอยู่ที่บ้านตาลินดังปัจจุบัน โดยเป็นเพิงฝาผนังเปิดโล่งรอบด้าน เด็กๆนั่งบนไม้กระดานพาดบนท่อนไม้พื้นเป็นดิน อยู่ปนกันทั้งหมด คุณครูเดินสอนกลุ่มที่เป็นชั้นหนึ่งเสร็จก็เดินย้ายไปอีกชั้น เวลาท่องสูตรคูณและสวดมนต์ตอนเลิกเรียน ก็จะดังพร้อมกันทั้งโรงเรียนให้ได้ยินไปถึงในหมู่บ้าน

ต่อมาจึงเป็นอาคารไม้มั่นคง สวยงาม และแบ่งเป็นสัดส่วน มีการปิดเทอมไปตามฤดูกาลทำนาและตอนเกี่ยวข้าวเพื่อให้เด็กๆไปช่วยเลี้ยงควายและเป็นแรงงานการทำนาไร่ของครอบครัว ความต้องการแรงงานทำนาซึ่งเห็นคุณประโยชน์ชัดเจนต่อการทำอยู่ทำกินมากกว่าการศึกษาเล่าเรียนประการหนึ่ง  และความยากลำบากในการเดินทางไปมาระหว่างหมู่บ้านกับตัวอำเภออีกประการหนึ่ง รวมทั้งความยากจนและไม่มีรายได้พอซื้อสมุดหนังสือ เสื้อผ้าชุดนักเรียนให้ลูกๆ เหล่านี้ ก็ทำให้ชาวบ้านไม่นิยมที่จะส่งลูกหลานเรียนสูงไปกว่าชั้น ป.๔

ในหมู่เด็กๆที่พอเริ่มเติบโตและรู้ความ ก็มีทัศนคติต่อการศึกษาเล่าเรียนว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายต่อปากท้องและการทำอยู่ทำกิน การออกไปช่วยพ่อแม่ทำนาไร่ เป็นสำนึกความรับผิดชอบและการมีวุฒิภาวะ มากกว่าการไปเรียนหนังสือ

แม่กับพ่อจึงทำให้ผมและพี่ๆน้องๆ เป็นเด็กๆจากหมู่บ้านในจำนวนไม่กี่คนที่ได้เล่าเรียนสูงกว่าชั้น ป.๔ ซึ่งก็มีเด็กๆที่เป็นญาติพี่น้องในหมู่บ้านเดียวกันอีกคนสองคนได้ไปเรียนด้วยกันที่โรงเรียนในอำเภอหนองบัว การไปเรียนในตัวอำเภอแต่ละวันจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพากเพียรอย่างที่สุด

ในระยะแรกต้องใช้การเดินเท้าและถีบจักรยาน ต้องตื่นก่อนสว่างทุกวัน ช่วยแม่หุงข้าวและแม่ก็สามารถเตรียมข้าวกลางวันให้ผมและพี่ๆน้องๆใส่กล่องข้าวเป็นอาหารกลางวันได้ทุกวัน อาหารกลางวันที่ผมและพี่ๆน้องๆได้กินแทบจะทุกวันตลอด ๖-๗ ปีก็คือ ไข่ต้มกับน้ำพริกปลาย่าง  ไม่เหมือนกับตอนอยู่โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ในหมู่บ้าน ซึ่งสามารถหิ้วเป็นปิ่นโตใส่กับข้าวและขนมได้หลายอย่าง

กระนั้นก็ตาม ไข่ต้มและน้ำพริกปลาย่างก็เป็นอาหารชั้นดีที่พ่อแม่ไม่ค่อยจะได้กินเอง ทุกวันที่พ่อและแม่ทำอาหารสำหรับลูกๆและเตรียมใส่บาตรเสร็จแล้ว พ่อก็จะต้องกินข้าวกับน้ำพริกปลาร้าแล้วก็ไปสอนหนังสือ ส่วนแม่ก็จะตำน้ำพริกไปทำนาแล้วเก็บผักหญ้ากินเป็นกับข้าวหลังจากทำนาจนแดดเริ่มสายหน่อยหนึ่งแล้ว

ในสภาพที่คิดว่าลำบากมากนั้น พ่อแม่กลับต้องอยู่กินอย่างกระเหม็ดกระแหม่อย่างที่สุดและลำบากตรากตรำกว่าอย่างเทียบไม่ได้

                       

ทุกเย็นเมื่อเลิกเรียน เพื่อนๆ ในตัวอำเภอและชุมชนใกล้เคียงโดยรอบ ก็จะได้กลับบ้านและมีเวลาที่จะเล่นสนุกสนาน ส่วนผมกับพี่และเพื่อนๆในหมู่บ้าน ก็จะต้องเดินและถีบรถกลับบ้าน ถึงบ้านก็หมดแดด ก็เป็นเวลาไปเก็บผักบุ้งเลี้ยงหมู ตักน้ำรดผัก ใส่โอ่งทุกใบ และปิดท้ายด้วยตั้งไว้รอให้วัวควายได้กลับมาดื่มกินก่อนเข้าคอกหาบสองหาบ

ในฤดูฝนและหน้าน้ำหลาก ก็จะเพิ่มความทุลักทุเลต่อการไปเรียนมากขึ้นอีกหลายเท่า  หน้าฝนฝนก็มักชอบตกตอนเย็นเสียอีก พ่อจัดหาเป้ซึ่งเป็นยางกันน้ำได้ ให้ผมและพี่เพื่อสะพายติดหลังกันหนังสือเปียก การถีบรถยามฝนตกต้องต้านลมแรงและสู้กับฝุ่นเข้าตา บางวันก็ต้องลงเดินเพราะถีบรถสู้แรงลมไม่ไหว หลังจากลมฝนแล้วฝนก็ตก ถนนดินเหนียวก็จะกลายเป็นโคลนติดล้อรถ ต้องถอดเสื้อใส่เป้และถอดรองเท้ามัดติดกันแล้วห้อยคล้องคอ แล้วเดินแบกรถจักรยานกลับบ้าน 

ในหน้าน้ำหลากจากปลายเดือนเจ็ดไปจนถึงเดือนแปดเดือนเก้า น้ำจะท่วมถึงคอไปจนถึงมิดหัวของเด็กๆ การเดินไปโรงเรียนก็จะต้องแก้ผ้าทั้งหมดใส่รวมกับเป้หนังสือแล้วก็ทูนไว้บนหัว เดินชูคอและว่ายน้ำ ออกจากบ้านไปยังถนนเกือบ ๒ กิโลเมตร พอถึงถนนก็ล้างเนื้อตัวแล้วนุ่งกางเกงใส่เสื้อผ้า แล้วจึงเดินและถีบรถไปโรงเรียน ทำอย่างนี้ ๖-๗ ปีกระทั่งจบโรงเรียนหนองคอก

สภาพอย่างนี้ทำให้เด็กๆในหมู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสที่จะได้การศึกษาเล่าเรียนมากไปกว่าชั้นประถม ทั้งที่มีศักยภาพทางการเรียนอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งลักษณะอย่างนี้ยังคงเป็นสภาพความเป็นจริงของชนบทและอีกมากมายหลายแห่งของสังคมไทย

แต่การขูดดินโคลนออกจากล้อรถจักรยาน รวมทั้งมิติสุขภาวะครอบครัวและองค์ประกอบความเป็นชุมชนระดับต่างๆเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาเรียนรู้นั้น ก็ต้องใช้วิธีคิดและจินตนาการต่อการศึกษามากเป็นอย่างยิ่งว่ามันเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร ซึ่งการได้เห็นสิ่งที่สะท้อนไปสู่การดำเนินชีวิตของแม่กับพ่อและการดำเนินไปของชุมชนที่ได้อยู่อาศัยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ก็ทำให้ได้วิธีมองและวิธีทำงานที่ดีไปด้วยเสมอ การพัฒนาการเรียนรู้ก็ยังดำเนินไปอยู่ตลอดชีวิต.

หมายเลขบันทึก: 290299เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2009 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ครูม่อยคะ...ครูอ้อยสมัยเด็กก็เดินลัดทุ่งนามาขึ้นรถเมล์ขาวสายลำพยา-หนองดินแดงมาเรียนที่โรงเรียนวัดห้วยจระเข้..ในสมัยนั้นยังเป็นโรงเรียนวัดห้วยจระเข้สอนระดับประถมศึกษาปีที่1-7สาเหตุที่เรียนโรงเรียนนี้เพราะพ่อสอนอยู่ค่ะ..ถ้าหน้าแล้งพ่อจะใช้จักรยานพ่วงครูอ้อยมาจอดไว้ที่ตลาดหนองดินแดงหน้าบ้านลุงซึ่งเป็นครูสอนอยู่โรงเรียนเดียวกันค่อยสบายหน่อย ถ้าเป็นหน้าฝนก็อย่างที่ว่าต้องเดินลัดทุ่งนามาดินเหนียวติดเต็มเท้าเชียวค่ะ..พ่อจะถือกระเป๋าของครูอ้อยพร้อมกับรองเท้าของพ่อ..ส่วนครูอ้อยถือรองเท้าของตัวเองมาแบบชิวๆอิๆพอถีงทางใหญ่พ่อจะแวะหนองน้ำข้างทางล้างเท้ากันพ่อลูกและใส่รองเท้าขึ้นรถเมล์ไป...เป็นอยู่อย่างนี้ 7 ปีเต็มเรารู้สึกว่าทางไม่ยากลำบากเลยกับการเดินมาขึ้นรถไปกลับวันละ 4 กิโล...

กว่าจะมาเป็นครูอ้อยเล็กของเด็กๆ ครูอ้อยเล็กสำบุกสำบันดีครับ เมื่อก่อนนี้แถวลำพญาและเขตปริมณฑลของกรุงเทพฯ ผมว่าลำบากและกันดารกว่าพื้นที่ชนบทหลายแห่งครับ

 

ครูม่อยค่ะ..ลำพยามี 2 ลำค่ะ ลำพยาย.ยักษ์อยู่แถวๆมาลัยแมนแถวๆสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครปฐม..ส่วนลำพยาญ.หญิงอยู่ติดกับนครชัยศรี..บ้านครูอ้อยเดิมอยู่หนองดินแดงทางผ่านไปราชบุรีค่ะ..

เอาขนมมาฝากค่ะ

  • อ้าวเป็นงั้นไป ยังมีลำพยาอยู่แถวมาลัยแมนอยู่อีกที่ด้วยหรือครับ
  • ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กสำหรับขนมและรูปดอกไว้กับหยาดน้ำบนใบบัวสวยๆครับ ชอบดูงานฝีมือด้วยครับ นี่เขาจัดขนม ทำงานศิลปะบนอาหารได้งดงามจริงๆเลยนะครับ รูปที่อยู่ตรงกลางนั้นสวยทั้งโครงสี การจัดวาง และการสื่อความหมายเลยครับ
  • เห็นรูปตำลึงแล้วคิดถึงบ้านเลยครับ เมื่อตอนเด็กๆมักได้เก็บยอดตำลึง ยอดกระถิน ดอกข่า และยอดสะเดา ตามริมรั้งกับทุ่งนามาให้พ่อแม่กินกับน้ำพริก
  • เดี๋ยวนี้นานๆก็จะนำเอาใบตำลึงมาทำซุปกินครับ ในรูปของคุณครูอ้อยนี้เป็นรั้วผักกินได้ที่งามดีจังเลยนะครับ
  • เชิญรับประทานค่ะครูม่อย..ครูอ้อยเล็กทำเอง..กระถินก็ไปเก็บมาเองค่ะ...

    แล้วนี่ตำลึงค่ะ..รั้วกินได้ทั้งปี..

    • ขอบคุณคร๊าบบบ มืื้อเย็นพอดีเลยนะครับ
    • เป็นสำรับไทยๆดีจังเลยนะครับ

    สวัสดี ครับ อาจารย์

    P

    ผมมารายงานตัว และชื่นชมบันทึกที่ทรงคุรค่าของอาจารย์ ครับ
        ศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยที่อาจารย์ สอน
    ...
    บันทึก ทุกบันทึกของอาจารย์ ทรงคุณค่ายิ่งนัก
    ขอบพระคุณ ครับ
                             
    • บอกว่าเป็นศิษย์เก่าแสดงว่าจบการศึกษาไปแล้ว ยินดีด้วยนะครับ
    • แล้วเมื่อไหร่จะกลับไปต่อปริญญาเอกอีกครับเนี่ย
    • เพ่งดูรูปก็แล้ว จำไม่ได้เลยครับ ทำไม๊ต้องเอารูปหล่อๆและดูเด็ก มาข่มเหงน้ำใจคนแก่ให้อิจฉาด้วยน๊อ ฮ่าา
    • ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันครับ ผมชอบดอกบัวและเรื่องราวเกี่ยวกับคนทำนาบัวด้วยครับ ขอบคุณครับ

    ครูม่อยคะ..เอาบัวมาฝากค่ะ..

    • ขอบคุณคุณครูอ้อยเล็กครับ สวยครับ เป็นบัวฉัตรขาวที่สวยมากๆครับ
    • เลยนำเอารูปดอกบัว กับการไหว้แม่โพสพมาแลกกันดูด้วยครับ

                          

    กำลังสงสัยว่าทำไมอาจารย์วาดภาพลายเส้นเก่งจัง ไปดูประวัติก็ร้องอ๋อ เพราะจบเพาะช่างมาด้วยนี่เอง ชอบรูปที่อาจารย์วาดประกอบค่ะ ได้ความรู้สึกดี เล่าเรื่องแล้วมีภาพประกอบที่เขียนเองนี่มันได้ฟิลลิ่งมาก

    • " มันได้ฟิลลิ่งมาก"...ให้ความรู้สึกแบบคนศิลปะได้ดีจังเลยนะครับ
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท