๑๒. สตรีแม่บ้าน : กองหลังสร้างส่วนรวมชุมชน


"...สระน้ำของโรงเรียนดังกล่าว ส่วนหนึ่งก็ได้งบประมาณจากราชการและส่วนหนึ่งก็เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกันของชาวบ้าน ..."

ในชุมชนมีโรงเรียนระดับประถมศึกษาอยู่แห่งหนึ่งคือโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) เป็นโรงเรียนที่สร้างขึ้นโดยงบประมาณจากการระดมทุนเนื่องในวันครูของเหล่าคุณครูประชาบาลทั่วประเทศที่มุ่งพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กไทย โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสร้างโรงเรียนวันครูให้ทั่วประเทศจังหวัดละ ๑ แห่ง ในวันครูแต่ปีก็จะพิจารณาสร้างโรงเรียน ๒-๓ แห่ง

ที่อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ได้รับในวันครูปี ๒๕๐๔ ซึ่งเป็นช่วงที่นายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ เป็นนายอำเภอของอำเภอหนองบัว กลุ่มคนรุ่นเก่าแก่ที่มีบทบาทนำเอาโรงเรียนมาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบันของยุคนั้นก็คือ พ่อใหญ่เรือง พินสีดา ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นครูและมีหัวก้าวหน้า เป็นตัวตั้งตัวตีที่สำคัญ ครูเสริญบ้านป่ารัง | พ่อฟื้น คำศรีจันทร์ | พ่อใหญ่คำ พินสีดา มัคนายก | ผู้ใหญ่แถว แสงอาภา | รวมทั้งพ่อใหญ่เถา แสงอาภา พ่อผู้ใหญ่แถว ซึ่งขายที่ดินให้ในราคาถูก ๑๒ ไร่ๆละ ๑ พันบาท เพื่อเป็นเครื่องแสดงความพร้อมในการตั้งโรงเรียน

ก่อนหน้านั้น เด็กจะเรียนหนังสือตามศาลาวัดกระจายอยู่หลายแห่ง แม่เองนั้น ก็เรียนหนังสือวัดที่ศาลาวัดบ้านใต้ เพื่อนร่วมรุ่นของแม่ก็เช่นแม่สุดใจ สุขนาม | แม่สงกา เสียงสวัสดิ์ | แม่เม็ง แสงอาภาเมียผู้ใหญ่แถว บางคนก็เรียนศาลาวัดกลาง บ้างก็เรียนที่โรงเรียนบ้านป่ารัง

การก่อตั้งโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ขึ้นจึงเหมือนกับเป็นการพัฒนาความเป็นชุมชนไปในตัว เนื่องจากทำให้เกิดการระดมทรัพยากรและกำลังคนซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด มาร่วมกันจัดการศึกษาให้เด็กๆได้ดีขึ้น สร้างคนให้กับชุมชนออกไปเป็นคนดีรู้ทำมาหากิน และลูกหลานชาวบ้านในท้องถิ่นเป็นจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการศึกษา ก็ได้เติบโตไปศึกษาต่อและทำการงานให้กับสังคมได้หลายรุ่น อีก ๒ ปีในปี ๒๕๕๔ โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ก็จะครบรอบการก่อตั้งได้กึ่งศตวรรษหรือ ๕๐ ปี

อายุของโรงเรียนขนาดนี้ ทำให้แทบจะเรียกได้ว่า ผู้คนตั้งแต่รุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย กระทั่งถึงรุ่นลูก หลาน เหลนในปัจจุบันนี้  มากกว่าครึ่งหนึ่งของบ้านกลาง บ้านใต้ ป่ารัง บ้านรังย้อย และบ้านตาลิน ล้วนเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔)

ในยุคแรกๆของการก่อตั้งนั้น โรงเรียนวันครูมีแต่ความขาดแคลน การเรียนการสอนจัดในอาคารที่ตั้งเสาไม้บนพื้นดินแล้วก็มุงสังกะสีเพียงคุ้มแดดฝนได้เท่านั้น ไม่มีผนังและฝากั้นห้องเลย เด็กๆ ป.๑- ป.๔ อยู่ปนๆกันและวิ่งเล่นเพ่นพ่านไปได้ทั่ว  เด็กๆยังใช้กระดานชนวนมาจนถึงรุ่นผมเมื่อประมาณปี ๒๕๐๙

 

                           

ส้วมที่ระดมแรงช่วยกันสร้างของชาวบ้านร่วมกับโรงเรียน เป็นส้วมที่ทันสมัยและดีที่สุดในยุคที่ยังใช้ไม้แก้งก้น

 

ต่อมาก็ได้อาคารไม้ ซึ่งทั้งการก่อสร้างและการทาน้ำมันยางกันมอดกินไม้ ส่วนหนึ่งก็ระดมแรงงานของชาวบ้านให้ไปช่วยกันทำ จากนั้นก็สร้างส้วมซึ่งเป็นส้วมที่ดีที่สุดของชุมชนในยุคนั้น ขุดสระน้ำเล็กๆอยู่อยู่ด้านตะวันตกของที่โรงเรียนและอยู่ด้านหน้าส้วม

ต่อมา บทเรียนของการเกิดภาวะการแล้งอย่างรุนแรงจนถึงกับขาดน้ำและนาล่มในบางปี คนเฒ่าคนแก่ ชาวบ้าน วัด และโรงเรียน จึงได้เริ่มช่วยกันคิดหาทางแก้ปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค แรกเลยก็หาคนมาขุดเจาะน้ำบาดาล ซึ่งทำอยู่หลายปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ที่สุดก็เลือกที่จะขุดสระน้ำของโรงเรียนให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม โดยเลือกพื้นที่ด้านหลังของโรงเรียน มีขนาดใหญ่กว่าสระน้ำลูกเก่าเป็น ๑๐-๒๐ เท่า

สระน้ำของโรงเรียนดังกล่าว ส่วนหนึ่งก็ได้งบประมาณจากราชการและส่วนหนึ่งก็เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกันของชาวบ้าน รถแทรคเตอร์ที่มาขุดสระครั้งนั้นเป็นรถแทรคเตอร์ของผู้ใหญ่แถว แสงอาภาและทิดสวอง แสงอาภา ลูกพ่อใหญ่เถา-แม่ใหญ่นาย แสงอาภา ตระกูลเก่าแก่ของชุมชนบ้านตาลิน

 

                          

 

ชุมชนและโรงเรียนสามารถขุดสระได้ขนาดใหญ่เกินกว่าจะทำได้ด้วยงบประมาณของราชการแต่โดยลำพัง เพราะส่วนหนึ่งผู้ใหญ่แถวและทิดสวอง แสงอาภา ก็ไถและขุดสระอย่างไม่คิดค่าใช้จ่ายเพราะถือเป็นการทำให้ชุมชนของตนเองไปด้วย ชาวบ้านก็รวบรวมเงินให้เป็นค่าเติมน้ำมันรถแทรคเตอร์ แม่ก็ทำอาหารไปคอยเลี้ยงดูคนซึ่งอยู่ช่วยกันดูแลการขุดสระทั้งวันทั้งคืนอยู่หลายวัน สมทบและหมุนเวียนไปกับบ้านอื่นๆในชุมชน

การมีงานชุมชน วัด และโรงเรียน รวมไปจนถึงงานของครอบครัวญาติพี่น้องและคนในชุมชน แม่และกลุ่มผู้หญิงมักช่วยกันระดมคนมาทำอาหาร ขนม การเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ การจัดข้าวตอกดอกไม้ ขูดมะพร้าว และตักน้ำท่า งานวัด งานชุมชน และงานประเพณีของชาวบ้านจะเต็มไปด้วยความร่วมแรงร่วมใจ จนแม้กระทั่งบัดนี้ แม้หลายอย่างที่ผู้คนเริ่มจะนิยมจ้างให้คนอื่นทำแล้ว แม่ก็ยังคงไปวัดเพื่อไปทำอาหารให้พระฉันท์ คิดทำอาหาร ขนม และสิ่งต่างๆแจกจ่ายผู้คนและญาติพี่น้อง

มีอยู่ปีหนึ่งแม่ไปต่างจังหวัดและผมกับพี่ๆน้องๆก็อยากดูแลให้แม่ได้มีโอกาสพักผ่อน ทำบุญ และมีเวลาที่จะอยู่กับการภาวนาเพื่อตนเอง แต่แม่ก็พูดเปรยๆในวันหนึ่งว่า อยากกลับบ้านและเป็นห่วงพระในวัดที่บ้านว่าจะไม่มีข้าวฉันท์

พวกผมได้ยินแล้วก็ตัดสินใจพาแม่กลับบ้านอย่างไม่ต้องคิด เพราะสำนึกอย่างนี้ของชาวบ้าน เป็นสิ่งที่ผสมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับวิถีชีวิต เสมือนดังลมหายใจเข้าออก.

หมายเลขบันทึก: 293442เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2009 21:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

นึกแปลกใจครับ ว่าอาจารย์คิดถึงเรื่องราวในอดีตได้เเม่นยำ อาจารย์นั่งทบทวนหรือมีบันทึกที่เป้นจดหมายเหตุเรื่องเหล่านี้ไว้ครับ...

ผมลองนั่งทบทวนเรื่องราวเก่าๆที่พอจำความได้ ไม่เเน่ใจว่าจะมาเขียนเป็นเรื่องเป็นราวแบบอาจารย์ได้หรือไม่นะครับ

เรื่องของเรื่องก็คือ เรื่องของปายในอดีต ที่ผมอยากลองนั่งเขียนดู อยากจะย้อนไปในช่วงที่ปายยังดิบๆอยู่ครับ บรรยากาศตอนนั้นยังแจ่มชัดอยู่ครับ เสียดายว่าไม่มีรูปถ่ายเก่าๆของปาย หากมีโอกาสคงได้ไปสืบหาภาพเหล่านี้มาสแกนเก็บไว้ เอาไว้ให้ลูกหลานได้อ่านได้เรียนรู้กันครับ

 

 

Pนั่นซิคะ..ถ้านึกออกปายในอดีตคงงดงามกว่าที่เป็นอยู่..เพี้ยงช่วยนึกให้ออกทีเถอะ..

ต้องได้ กาแฟ สมุนไพร ของ ครูอ้อยเล็ก ผมคิดว่าน่าจะฟื้นความทรงจำได้ดีนะครับ :)

เอามาเป็นกล่องๆเลยเหรอครับ กินเเล้วจะอารมณ์ดีเหมือน ครูอ้อยเล็ก  หรือกินเเล้วอารมณ์ศิลป์ลุ่มลึกเหมือน ครูม่อย ไหมครับ??

ขอบคุณมากๆครับ :)

มาเชียร์ครูอ้อยเล็กเขียนบันทึกเรียบเรียงเรื่องราวถิ่นเกิดเหมือนครูม่อยดีไหมครับ เอาไว้ผมจะเขียนเรื่อง "ปายในวันก่อน" มาเล่าสู่กันฟังครับ

  • ก็แถวบ้านเป็นวงสังคมแคบๆน่ะครับ ส่วนใหญ่ก็คลุกคลีและสัมผัสด้วยตนเอง ก็เลยพอจะจำได้
  • กิจกรรมชุมชน และความเป็นชุมชนก็มีส่วนมากเหมือนกันครับ คือ ในหมู่บ้าน พวกผู้ใหญ่ชอบนั่งคุยกันตามชานบ้านและตามลานบ้าน ผมก็ชอบฟัง เวลามีงานวัด วันโกน-วันพระที่ศาลาวัด ก็มักจะมีกลุ่มผู้ใหญ่นั่งคุยกันสารพัดเรื่อง
  • แม่มักเป็นพี่ใหญ่ ที่หลายคนในหมู่บ้าน เวลามีงานอะไรก็มักต้องขอให้เป็นหลักให้ รวมทั้งหน่วยงาน วัด และกลุ่มคนท้องถิ่น แล้วแม่ก็มักกระเตงผมไปด้วย เลยได้แก่ตนเองโดยไม่รู้ตัวกระมัง ผู้เฒ่าหลายคนเวลาท่านกลัวจะลืมอะไรที่จำไว้ บางทียังมาบอกถ่ายทอดไว้ที่ผม หรือจดฝากแม่เอามาให้ผมสืบทอดไว้เลยครับ เลยก็ดีไปอย่าง
  • อันที่จริง ดูเหมือนกับเป็นเรื่องนำเอาความทรงจำมาเล่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นการนั่งทบทวนและเรียบเรียงนำเสนอบางอย่างผ่านเรื่องที่จะเชื่อมโยงผมเข้าไว้กับชุมชนบ้านเกิดได้บ้างนิดหน่อยเท่านั้นครับ 
  • แต่เค้าโครงการผูกเรื่องนั้น เป็นการตกผลึกสิ่งที่ได้จากการวิจัย การทำงาน และการสรุปบทเรียนของชีวิตในปัจจุบัน
  • หากเห็นแก่นความคิด ก็จะเห็นว่าเรื่องที่เขียนและนำเสนอผ่านเรื่องของผมกับชุมชนจริงๆแล้วก็คือ เรื่อง ความมีจิตสาธารณะของปัจเจกและกลุ่มก้อนของคน ในบริบทของชุมชนและสังคมไทย ซึ่งเป็นบางประเด็นย่อยของ Civil society  ที่เป็นเรื่องที่ผมเล่นอยู่
  • วิธีการอย่างนี้ เป็นการพยายามจูงมือคนอ่านไปสัมผัสในแง่มุมต่างๆผ่านเรื่องเล่าจากประสบการณ์ชีวิต มีเหตุการณ์และการแสดงออกในสถานการณ์ต่างๆ การก่อเกิดจากครอบครัว สภาพแวดล้อมชุมชน การเล่นและกลุ่มเพื่อน การปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก การสนทนากับระบบคิดและหลักชีวิตที่มาในศาสนธรรม
  • เรื่องของแม่และชุมชนบ้านเกิดผม เป็นเพียงข้อมูลที่นำมาใช้สำหรับนำเสนอให้คนสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้ดีขึ้นน่ะครับ ชาวบ้านอ่านก็ได้เรียนรู้เรื่องตนเองและเชื่อมโยงไปสู่โลกกว้างได้ คนภายนอกก็จะเห็นประเด็นที่ไม่ใช่เรื่องจำเพาะกรณี แต่เห็นภาพสะท้อนของสังคมทั่วไป อยู่ในบริบทของสิ่งเล็กๆน่ะครับ
  • อาจารย์สร้างแรงบันดาลใจผมหลายเรื่องเลยครับ

    อยากไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิซะแล้วซีครับ

    ผมคิดว่าผมเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์ตอบแล้วครับ

    เรื่องราวบางทีอยู่ในจิตสำนึก

    แต่รอเงื่อนไขบางอย่าง เรื่องราวเหล่านั้นจึงจะหลั่งไหลออกมา

    เงื่อนไขบางอย่าง อาจประกอบด้วย ประสบการณ์ชีวิตจากหลากหลายเรื่องราว พื้นที่ เวลา กระทั่งแนวคิดทฤษฎี

    ไม่รู้ผมเข้าใจถูกไหมครับ

    • สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก ตอนนี้คุณจตุพรเขากำลังเป็นกระทิงหนุ่มครับ กระหายเรียนรู้และมีพลกำลังมากมายในการแสวงหาประสบกาณ์ใหม่ๆมากมาย เขามีสิ่งต่างๆมากมายอยู่แล้ว ดูที่สะท้อนสู่ตัวหนังสือ วิธีคิด วิธีจัดองค์ประกอบภาพเวลาถ่ายรูปน่ะครับ
    • แต่ตอนนี้คงตุนประสบการณ์แบบลิงกินถั่ว คือ ยัดๆอัดใส่กระพุ้งแก้มไว้ก่อน แล้วค่อยนั่งเคี้ยวให้ได้ความซาบซึ้งทีหลัง
    • สวัสดีครับหนานเกียรติ
    • มิบังอาจรับเป็นศิษย์ล่ะครับ
    • ประสบการณ์และงานความคิดของหนานเกียรติดีจังเลยนะครับ
    • ดูพื้นเพหนานเกียรตแล้ว วิถีชีวิตและการงานของหนานเกียรติก็ให้แรงบันดาลใจผมด้วยเช่นกันครับ เหมือนได้ดูงานศิลปะงามๆสักชิ้นหนึ่งแล้วทำให้มีความสุข มีพลังใจ ทั้งที่ไม่เกี่ยวกัน 
    • เส้นทางของหนานเกียรติ กระทั่งกำลังมาเตรียมทำพิพิธภัณฑ์ดนตรีของอุษาคเนย์ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์นี่ก็น่าสนใจมากๆครับ
    • หากสนใจการวาดรูป-รวมทั้งถ่ายรูปในแง่นำไปศึกษาชุมชนกับงานดนตรีในวิถีชีวิตของชุมชน แล้วหนานเกียรติระดมเครือข่ายทำวิจัยในชุมชน อยากสร้างศักยภาพให้เครือข่ายมีวิธีการหลายๆอย่างเพื่อใช้ตนเองสัมผัสปรากฏการณ์และบันทึกให้ได้รอบด้านที่สุดแล้วละก็ หากพอจัดจังหวะชีวิตให้ตรงกันได้ผมก็ยินดีมาช่วยให้ได้นะครับ
  • ข้อสังเกตของหนานเกียรตินี่ถูกใจครับ
  • รู้สึกว่าเป็นอย่างนั้นมากอยู่เลยทีเดียวครับ
  • เหมือนอย่างที่กล่าวถึงวิธีการของคุณจตุพรนั้น เหมือนกับกระเซ้าเล่นให้ผ่อนคลาย แต่ในความเป็นจริงแล้วผมก็ใช้วิธีอย่างนั้นเหมือนกันครับ คือ เปิดตนเองให้ได้สัมผัสกับประสบการณ์ระดับต่างๆ นับแต่ภายในตนเอง กระทั่งประสบการณ์ทางสังคม โดยระมัดระวังอย่าเพิ่งไปตีกรอบทั้งตนเองและผู้อื่นไปก่อน สักระยะหนึ่งค่อยนั่งตกผลึก ย่อย และเรียบเรียง สร้างความรู้และสร้างกระบวนการคิดจากข้อมูลที่เราได้แก่ตนเอง
  • บางที ตอนนี้ผมถึงกับต้องนำเอาหนังสือเก่าก่อนที่ตนเองเคยชอบอ่าน กลับมาอ่านใหม่อีกหลายๆรอบด้วยครับ อย่างที่นี่ครับ แล้วก็ทำให้ได้สิ่งใหม่ๆจากสิ่งที่เรามีอยู่แต่เดิมหลายอย่าง รวมทั้งพูดถึงและนำมาใช้ได้ดีกว่าเดิมมากเหมือนกันครับ
    • ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องของอาจารย์เรียบเรียงเรื่องราวในยุคก่อนๆไว้บ้างแล้ว  เช่น การละเล่นของเด็กหญิง  อาหารที่หากินไม่ได้แล้วตอนนี้  กิจกรรมต่างๆเช่น แบกรถถีบขึ้นบ้าน   ตักน้ำ ฟังละคร  หลังเลิกเรียนหาผักโหมต้มให้หมู
    • ถ้าเขียนอาจารย์กรุณาแลกเปลี่ยนด้วยนะคะ น่าจะคล้ายๆกัน
    • เคยใช้ "ไม้แก้งก้น" ด้วยล่ะ
  • ยินดีด้วยครับ เริ่มต้นยกระดับง่ายๆ โดยมีโครงสร้างของการวิเคราะห์สัก ๓ ส่วนครับ คือ (๑) What  (๒) Why (๓) How โดยเวลากล่าวถึงสิ่งใด ก็วิเคราะห์และแสดงเนื้อหาให้ได้อย่างน้อยสัก ๓ เรื่อง คือ ... (๑) ความรู้และการวิเคราะห์เพื่อตอบคำถามแบบ What จะเป็นความรู้แบบบันทึกและพรรณาเพื่อแสดงรายละเอียดว่าอะไรเป็นอะไร ที่ภาษาการวิจัยเรียกว่า Descriptive method  การกล่าวถึงสิ่งต่างๆของคนทั่วไปมักทำได้แต่เฉพาะด้านนี้  แต่ถ้าหากเราสามารถวิเคราะห์และตอบคำถามอีกสองเรื่องเพิ่มขึ้นมาให้ได้จากข้อมูลสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน ว่า (๒) Why และ (๓) How  ก็จะทำให้เรื่องธรรมดาๆเล็กๆน้อยๆมีความหมายขึ้นมาอีกหลายมิติ  ทำให้ได้ความรู้ที่ดีสำหรับการเรียนรู้ของสังคมมากยิ่งๆขึ้นครับ
  • การวิเคราะห์เพื่อสร้างความรู้ เพื่อตอบคำถามแบบ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น หรือ Why จะทำให้เกิดความรู้ระดับที่เป็นนามธรรมมากขึ้น ความรู้แบบนามธรรมนี้  เห็นได้ยากกว่าตัวกิจกรรมและสิ่งของที่เราสัมผัสได้ง่ายๆ  เป็นด้านที่เราต้องเห็นด้วยความรู้และตัวปัญญา เช่น (สมมุติขึ้นเป็นตัวอย่างนะครับ) การรวบรวมการเล่นกระโดดเชือก ของเด็กหญิงให้เห็นทุกแง่มุม อย่างนี้ตอบคำถาม What  มองดูก็เห็นและเล่าแจกแจงรายละเอียดได้ง่าย แต่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ
  • พอเสร็จแล้ว ก็วิเคราะห์ผนวกเข้ากับการวิเคราะห์บริบทของชุมชน ว่าทำไมจึงเป็นที่นิยมมากกว่าการซื้อตุ๊กตามาเล่น ก็จะเห็นความแตกต่างว่า ตุ๊กตาสามารถเล่นคนเดียวอยู่ในบ้านและก่อรูปความเป็นอัตตาที่แยกส่วนของเด็กสูง ในขณะที่การกระโดดเชือก ต้องเล่นหลายคน สร้างวัฒนธรรมการรวมกลุ่ม และเป็นเบ้าหลอมทักษะการอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ทำให้พอสรุปเหตุผลได้จากตรงนี้ได้ว่า เหตุผลเบื้องหลังของการเล่นคือ...สภาพแวดล้อมของด็กยังมีความเป็นชุมชน และเด็กๆต้องเรียนรู้ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทำให้สนุกและเลือกการเล่นกระโดดเชือกได้มากกว่าการเล่นตุ๊กตาและของเล่นสมัยใหม่...การวิเคราะห์และสรุปได้ความรู้อย่างนี้เป็นการตอบคำถาม Why  ทำให้เห็นเหตุผลและวิถีคิดของมนุษย์ภายใต้ปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆ ว่าทำไม สิ่งนั้นจึงเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และเปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้น ครับ
  • เรื่องกิจกรรมการเล่นเล็กๆ ก็เริ่มสะท้อนโลกและมีพลังการอธิบายโลกรอบข้างได้เป็นอย่างดีมากขึ้น  เราจึงสามารถเปิดเข้าสู่การสร้างความรู้เพื่อเข้าใจในเรื่องต่างๆได้อีกรอบด้าน เท่าที่เราจะทำ
  • แล้วไง ?....เราก็ควรจะเกิดคำถาม เช่นเดียวกับคนอื่นๆที่เขามาศึกษาด้วยก็อยากถามว่าแล้วไง รู้แล้วได้อะไรขึ้นมา รู้แล้วชุมชนได้อะไรขึ้นมานอกจากอนุรักษ์รกรุงรังไปเปล่าๆ....อย่างนี้ต้องสร้างความรู้เพื่อตอบคำถามอีกสักเล็กน้อยว่า แล้วไง... How
  • การสร้างความรู้และหาแนวคิดเพื่อตอบคำถามแบบ How  นั้น เราก็ควรจะวิเคราะห์และนำเสนอโอกาสการพัฒนาต่ออีกมิติหนึ่ง เช่น ต่อจากตัวอย่างเดิม....การเล่นแบบเป็นกลุ่มของเด็ก จะให้ประสบการณ์แก่เด็กในสิ่งที่เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของคนอื่นไม่ได้หลายอย่าง  ต้องได้จากการเล่นเป็นกลุ่มกับคนอื่นเท่านั้น ดังนั้น หน่วยงาน รวมไปจนถึงครอบครัว จึงควรพัฒนาปัจจัยส่งเสริมการเล่นกระโดดเชือกของเด็กๆ มีการจัดเวลาและสอดแทรกให้เด็กมีโอกาสได้เล่นในโรงเรียน ในชุมชนควรมีสถานที่และลานกว้างที่คำนึงถึงการเล่นของเด็กๆ
  • ทำอย่างนี้เล็กๆน้อยๆ ก็จะทำให้เรื่องราวรอบตัวมีความหมายและได้คุณค่าใหม่ๆขึ้นมาอีกมากมายครับ
  • ใช้การวาดรูป ถ่ายภาพ รวมกลุ่มคุย ฝึกทักษะการคุยและการฟังแก่ชาวบ้านและเด็กๆ เหล่านี้ ก็จะได้ทั้งวิจัยและเกิดกระบวนการสร้างคนได้มากมายทุกที่ที่เราไปและทำอย่างนี้ครับ
  • ขอให้มีความสำเร็จและสนุกกับการทำงานเสมอครับ
  • ทันใช้ไม้แก้งก้นด้วยหรือครับ ดีใจจังเลยครับ ที่ทำให้คนต่างจังหวัดได้มาคุยถึงประสบการณ์และสภาพชนบทของบ้านนอกด้วยกันอย่างมีความสุข
  • ประชาสัมพันธ์ให้เพื่อนค่ะอิๆ

    • คุณครูอ้อยเล็กนี่เล่นคอมพิวเตอร์กราฟิคเก่งนะครับ

    <p>ขออนุญาตร่วมเรียนรู้ด้วยอีกสักคนนะครับ เคยได้รับความอนุเคราะห์จาก อ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ในการปลูกฝังจิตวิญญาณ (รัก) ชุมชน ตอนไปเป็นผู้แบ่งปันความรู้ให้เด็กและเยาวชนบ้านศาลาดิน ใน "โครงการสานฝันปันความสู่ศาลาดิน" ของผู้ใหญ่อาภรณ์ ช้อยประเสริฐ หมู่ 3 บ้านศาลาดิน ต.มหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เมื่อปี 2548 ท่าน ดร.วิรัตน์ ได้วาดการ์ตูนสะท้อนการเรียนรู้และปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม ระหว่างสถาบันอุดมศึกษา คือ คณะและสถาบันต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล กับหน่วยงาน โรงเรียน และชุมชน (ประชาสังคม) ในอำเภอพุทธมณฑล ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ตกผลึกมาจาก "โครงการวิจัยและพัฒนาประชาคมพุทธมณฑล" มอบให้ผมและคุณไพฑูรย์ กลั่นไพฑูรย์ ที่ลงไปแบ่งปันความรู้ด้านศิลปะแก่เด็กและเยาวชนในโครงการสานฝันฯ ดังกล่าว ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงที่ได้เห็นเด็กและเยาวชน ที่ได้ดูภาพการ์ตูนความรู้ของอาจารย์วิรันต์ ซึ่งนำไปเพื่อสร้างแรงจูงใจแล้ว เกิดความคิดสร้างสรรค์พุ่งกระฉูดและมีพลังในการสร้างสรรค์งานศิลปะของตนเองเกี่ยวกับชุมชนมหาศาลเลยทีเดียว จึงขอนำภาพการ์ตูน 4 ภาพ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดังนี้ครับ (แต่ถ้าภาพไม่ชัดเจนเท่าไหร่ก็ต้องขออภัยด้วย เนื่องจากความรู้ทางด้าน IT ไม่ค่อยแข็งแรง ครับผม)

    ขออภัยใส่ภาพการ์ตูนไม่ได้ครับ

    สวัสดีครับพี่สนัน ไชยเสน : เมื่อตอนหัวค่ำว่าจะตอบกลับเพื่อต้อนรับด้วยความยินดีสักหน่อยนะครับ แต่พอจะเริ่มคุยก็กลายเป็นว่าพี่สนั่นเองมารับไปประชุมกลุ่มของชมรมชีวเกษม เลยก็หมดความตื่นเต้นเสียแล้ว 

    กระนั้นก็ตาม ยินดีมากนะครับ ยิ่งเข้ามาคุยในหัวข้อนี้ด้วย งั้นผมขออนุญาตแนะนำแก่ผู้อ่านสักหน่อยนะครับ เผื่อจะมีชุมชนแถวบ้านผมเข้ามาอ่านและอาจจะเป็นลูกหลานของชาวบ้านที่เคยร่วมกินกรรมที่ได้เคยเชิญพี่และครอบครัวไปปาฐกถาพิเศษบนศาลาวัดที่บ้านผมให้ชาวบ้านฟัง

    อาจารย์สนั่น ไชยเสน เป็นนักวิชาการศึกษาอยู่ที่สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นลูกหลานชนบท จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันกำลังทำปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยอัชสัมชัญหรือ ABAC และผ่านภาคทฤษฎีเป็น Ph.D.Candidate แล้ว

    มีลูกๆ ๓ คนที่นอกจากจะเรียนดีมากแล้ว ก็เป็นเด็กที่อัธยาศัยดี ทักษะและความสามารถพิเศษดีเยี่ยม โดยเฉพาะทางดนตรีและนาฏศิลป์ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาผมเลยเชิญอาจารย์สั่นไปคุยให้เด็กๆและชาวบ้านแถวบ้านผมฟัง ร่วมกับนักวิจัยอีกคนหนึ่งของผมคือคุณเริงวิชญ์ นิลโคตร ซึ่งก็เป็นลูกหลานชนบทเหมือนกัน

    ปรากฏว่าทั้งสองท่านนี้คุยกับชาวบ้านชนิดที่เรียกว่าชาวบ้านไม่อยากให้หยุดคุย และบอกไว้ว่าหากมีโอกาสก็ให้ไปคุยให้ฟังอีก เป็นเครื่องสะท้อนให้ทราบได้เป็นอย่างดีว่ามีวิถีวิชาการที่ชาวบ้านเข้าถึงได้ เลยต้องขอต้อนรับครับ

    พี่ต้องสมัครเป็นสมาชิกและเมื่อ Login เข้าระบบแล้ว จึงจะสามารถเอารูปขึ้นได้ครับ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท