๑๕. กลับบ้านสู่ครรภ์มารดาอันกว้างใหญ่


หน้าแล้งหลังจบมัธยมของปีหนึ่งเมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อน เป็นวันที่ผมลาจากบ้านเกิดเพื่อไปอาศัยเป็นเด็กวัดเขาวังราชบุรีและเรียนต่อ จากนั้นเป็นต้นมาผมก็ไม่ได้กลับไปอยู่ที่บ้านเกิดอย่างที่เราคุ้นเคยอีกเลย และผมต้องมองตนเองใหม่ เพื่อก้าวไปในวารวัยของชีวิตต่อจากนี้

ผมกับพี่ชายเดินทางออกจากบ้านโดยลำพัง เป็นการส่งสัญญาณของพ่อและแม่เหมือนกับจะบอกว่าต่อไปนี้ต้องเรียนรู้ที่จะเติบโตไปกับโลกกว้างด้วยตนเอง ซึ่งช่างเหงาวังเวงยิ่งกว่าเมื่อตอนถูกพ่อแกล้งจับโยนลงคลองแล้วตะเกียกตะกายจนกลายเป็นว่ายน้ำเป็น 

พอก้าวเดินออกไปตามคันนา พ่อแม่และน้องๆรวมทั้งญาติพี่น้องก็เหมือนกับหยุดกิจกรรมต่างๆที่ดูเป็นการส่งกันจ่อกแจ่กจอแจ ให้ดูเหมือนกับเป็นเรื่องปรกติ พวกน้าก็ทำเป็นแกล้งเดินออกมาเก็บผักบุ้งไปเลี้ยงหมูอยู่ตรงทางออกจากละแวกบ้านของเรา

ผมเดินร้องไห้อย่างไม่อาย ซึ่งหลายปีผ่านไป พวกน้าๆและญาติพี่น้องผมก็บอกผมว่า วันที่เห็นผมเดินร้องไห้ออกจากบ้านครั้งนั้น พวกเขาก็แอบร้องไห้น้ำตาไหลด้วยเหมือนกัน การพลัดพรากจากลาคนและสิ่งที่เป็นความผูกพัน เป็นความทุกข์และให้ความเศร้าใจเหลือเกิน กระทั่งไปอยู่เป็นเด็กวัดเขาวังราชบุรีแล้ว ตกเย็น ซึ่งถ้าหากอยู่ที่บ้านก็จะเป็นช่วงเวลาที่ได้เจอพ่อแม่พี่น้องพร้อมหน้าพร้อมตา ก็ทำให้หงอยและแอบร้องไห้อยู่เป็นเดือน

นับแต่นั้นเป็นต้นมา การเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตและเติบโตก็เป็นเส้นทางที่ไกลจากถิ่นเกิดไปทุกขณะ แต่ผมก็ยังมีความหวังอยู่เสมอว่าสักวันหนึ่งก็จะได้กลับไปอยู่บ้าน แม้หลังจบปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยมหิดลและทำงานไประยะหนึ่งแล้ว ผมก็ขอพ่อและแม่ให้ได้กลับไปอยู่บ้าน โรงเรียนแถวชนบทตอนนั้นก็ยังขาดครูอีกมากมาย ผมไปเป็นครูหรือรับราชการในอำเภอก็ได้ 

แรกๆพ่อแม่ก็ฟังแบบผ่านๆเหมือนการคุยกันแบบทั่วๆไป แต่พอเห็นผมพูดบ่อยๆพ่อและแม่ก็บอกว่าที่ลำบากในชีวิตมากมายนั้น ก็ยินดีที่จะอดและทนเพราะต้องการให้ผมและลูกๆทุกคนได้ไปศึกษาเล่าเรียนแล้วก็ออกไปทำการงานพึ่งตนเอง หากกลับไปอยู่บ้านเหมือนเดิมก็เหมือนกับพ่อแม่ส่งลูกไม่ถึงฝั่ง พอได้ยินอย่างนั้นผมก็หยุดความตั้งใจและไม่พูดถึงเรื่องกลับไปอยู่บ้านอีก

                           ผมเก็บตังค์แบ๊งค์ ๑๐ บาทที่น้าผมดึงออกมาจากชายเสื้อให้ผมเมื่อครั้งกลับบ้านเมื่อกว่า ๒๐ ปีก่อน เงินนี้มากกว่าการใช้จ่ายเดือนหนึ่งที่คนแถวบ้านผมจะมี ผมจึงเก็บไว้และใช้เป็นเครื่องกระตุ้นตนเองว่าจะต้องกลับไปอยู่บ้านให้ได้

ผมได้ทำงานที่มหาวิทยาลัยมหิดลนับแต่ปี ๒๕๒๖ ตั้งแต่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ยังมีสภาพเป็นชนบทแห่งหนึ่งของจังหวัดนครปฐม รถโดยสารไปกลับระหว่างมหาวิทยาลัยกับกรุงเทพฯยังไม่มี ต้องอาศัยโบกรถ บขส จากแม่กลอง หรือนั่งรถสองแถวออกไปถนนเพชรเกษมและผ่านไปทางสามแยกไฟฉายสายใต้เก่า

ตอนนั้น นอกจากขาดคนแล้ว ชาวมหิดลในกรุงเทพก็ไม่อยากย้ายออกไปอยู่ที่ศาลายา ผมและคนที่พอมีในตอนนั้นจึงต้องทำหน้าที่อยู่ยามในตอนกลางคืนและเป็นช่างไฟ ช่างซ่อมบำรุง ช่างประปา รวมไปจนถึงต้องเป็นภารโรงไปนอนเฝ้าอาคารต่างๆเพื่อไม่ให้ถูกปล่อยร้างจนพื้นปาเก้ร่อนและวัสดุเสื่อมโทรม

กระทั่งต่อมาก็เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการและเป็นรองผู้อำนวยการ รวมไปจนถึงได้เข้าไปทำงานให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆทั้งในระดับท้องถิ่นและในส่วนกลางของประเทศ เรียกว่าได้ทำสารพัด ซึ่งหลายเรื่องก็ทำให้ผมรู้สึกเป็นกำไรชีวิตเหลือเกินที่ได้ทำในระหว่างที่อยู่ในสถาบันการศึกษาแถวหน้าของประเทศและในหน่วยงานที่มีบทบาทต่อนานาชาติ  ส่วนที่บ้านเกิดนั้น ผมเลิกคิดกลับไปอยู่แต่ไม่เสียโอกาสที่จะมีส่วนได้ทำสิ่งดีๆให้บ้านเกิด

เมื่อมีครอบครัวซึ่งภรรยาผมและบ้านเกิดของเธออยู่ที่สันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ผมกับภรรยาก็ออกไปสร้างบ้านที่บ้านห้วยส้ม สันป่าตอง ซึ่งยังมีสภาพเป็นชนบท ค่อยสร้างและทำอย่างสะสม แบ่งพื้นที่ให้เหมือนผังบ้านเพื่ออยู่อย่างเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกับมองไปในอนาคตที่จะทำงานวิชาการกับชาวบ้านและชุมชนไปจนกว่าจะหมดสภาพที่จะทำได้ เลยทำบ้านพักและอาคารเอนกประสงค์สำหรับเป็นห้องประชุมและดัดแปลงเป็นห้องภาวนา ห้องทำกิจกรรมกับเด็กและชุมชน ห้องแสดงงานศิลปะและนั่งเสวนากับหมู่มิตรอย่างที่ผมได้ทำกับชาวบ้านเมื่อตอนอยู่มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา หน้าบ้านขุดสระและปลูกบัวหลวง ผมได้ทางออกอย่างใหม่ว่า ผมไม่ต้องได้กลับบ้านก็ได้ แต่ทำทุกที่ให้เป็นบ้านและผู้คนทั้งหลายก็เสมือนเป็นญาติพี่น้องของเราเสียเลย

ผมทำงานในมหาวิทยาลัยมหิดลกระทั่งได้ ๒๕ ปีในปี ๒๕๕๑ ก็เริ่มหาทางไปอยู่ต่างจังหวัด จึงลาออกเป็นข้าราชการบำนาญเพื่อให้คล่องตัวที่จะไปขอสอบและย้ายไปอยู่บ้านตนเองที่เชียงใหม่ได้สะดวกขึ้น รวมทั้งความที่ได้ผ่านการเป็นผู้บริหารในตำแหน่งรองผู้อำนวยการ และดันถูกเสนอชื่อให้เข้ารับการสัมภาษณ์เพื่อเลือกสรรเป็นผู้อำนวยการในครั้งหนึ่งอีกด้วย หากไม่รับทำงานบริหารและอยู่ที่เดิม คนเขาก็จะเกรงใจเหมือนกับเจอผู้มีบารมีนอกตำแหน่ง 

หากทำงานแบบออมมือเพียงแค่ให้อยู่ได้ก็ไม่ใช่วิถีตัวเอง ทำจุ้นจ้านมากก็เกรงจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารของผู้อื่น เรียกว่ามีแต่เสมอตัวกับติดลบ ผมเลยคิดหาทางโอนย้ายไปอยู่ที่คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งก็จะเป็นการดีสำหรับผมอย่างยิ่งเหมือนกัน

เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๒ ที่ทำงานเดิมผมเลยจัดงานอำลาให้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวทีเดียว ทั้งที่คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ผมจะย้ายไปอยู่นั้นอยู่แค่คนละฟากถนนหน้าที่ทำงานเดิมผมเท่านั้นเอง   

แม่ผมได้เดินทางมาจากต่างจังหวัดกับน้องชายเพื่อไปเยี่ยมลูกๆคนอื่นๆพอดี ผมเลยชวนแม่และพี่ชายไปร่วมงานอำลา ผมเพิ่งบอกแม่ว่าตอนนี้ผมลาออกเป็นข้าราชการบำนาญและกำลังขอย้ายไปอยู่อีกคณะหนึ่งแล้ว

แม่ได้ฟังแล้วก็แสดงความรู้สึกเสียดาย เพราะแม่กับพ่อนั้นอยากให้ผมทำราชการไม่ใช่เพียงได้ทำงานและมีเงินเดือนเท่านั้น แต่พ่อแม่และคนบ้านนอกแถวบ้านผมนั้น มีทัศนคติว่าการเป็นคนบ้านนอกคอกนาได้ทำงานราชการนั้น เป็นการได้ทำหน้าที่ตอบแทนคุณแผ่นดิน เหมือนกับเป็นวิถีแห่งการอุทิศตนต่อสิ่งที่สูงส่งดีงาม ซึ่งผมก็ทราบดีและก็ได้ทุ่มเททำงานราชการอย่างทรนงใจเงียบๆตลอดมา

แต่ผมก็พยายามอธิบายให้แม่เข้าใจความเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลกับความเป็นราชการในความหมายที่กว้างกว่าในอดีต แล้วก็พาแม่เดินดูสภาพห้องและโต๊ะที่ผมนั่งทำงาน เพื่อก่อนจากลา แม่จะได้เห็นและพอนึกภาพออกว่าลูกของตนที่จากบ้านมาแต่เด็กเมื่อกว่า ๓๐ ปีโน้น มาทำงานและอยู่อย่างไร จากนั้นก็พาแม่ไปนั่งอยู่ในบรรยากาศที่แวดล้อมด้วยพี่ๆน้องๆชาวสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล แม่ดูจะเริ่มเข้าใจและมีความสุขมากขึ้น

ผมลาจากสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียนและเริ่มทำงานที่คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีแม่ พี่ และผู้คนที่ต้องมาร่วมอำลากันด้วยความผูกพันหลายคนกว่าครั้งจากบ้านเมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อน แต่ก็กลับไม่รู้สึกโศกเศร้าอย่างเมื่อก่อนอีกแล้ว

การเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งนี้ จึงถือเป็นการเริ่มก้าวเดินกลับบ้านและมุ่งสู่ครรภ์มารดาอีกครั้งด้วยจิตใจที่รู้สึกเป็นอิสรภาพกว่าเดิม...การจัดการความทุกข์ได้ดีขึ้นเป็นความก้าวหน้าทางการเรียนรู้อย่างหนึ่งสำหรับผม.

หมายเลขบันทึก: 303065เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2009 05:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (85)

อาจารย์วิรัตน์ครับ

อ่านบันทึกนี้ทำให้ผมคิดภาพตาม คุณแม่ของอาจารย์คงมีความสุขที่เห็นการเติบโตของลูกชาย เห็นวิถีที่ควรจะเป็นในสังคมของคนทำงานที่อบอุ่นเสมือนครอบครัวใหญ่ งานอำลาไม่ได้มีความเคร้าโศรก มีเเต่ความยินดี กับการเริ่มต้นในสถานะ และพื้นที่ที่แตกต่างกัน

จริงๆผมอยากจะเขียนอะไรมากมายครับ แต่ก็เขียนไม่ออกเลย บันทึกเขียนเรื่องราวไว้อย่างสมบูรณ์

ยินดีต้อนรับสู่ ครรภ์มารดาอันกว้างใหญ่ ครับ

 

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • อ่านบันทึกที่ประทับใจของอาจารย์ ๒ เที่ยวค่ะ
  • บางถ้อยคำก็อ่านหลายเที่ยว
  • เพราะแม่กับพ่อนั้นอยากให้ผมทำราชการไม่ใช่เพียงได้ทำงานและมีเงินเดือนเท่านั้น...การได้ทำหน้าที่ตอบแทนคุณแผ่นดิน เหมือนกับเป็นวิถีแห่งการอุทิศตนต่อสิ่งที่สูงส่งดีงาม ซึ่งผมก็ทราบดีและก็ทำราชการอย่างทรนงใจและทุ่มเทอย่างเงียบๆตลอดมา
  • ดิฉันเคยมีความตั้งใจจะรับใช้ราชการจนครบอายุราชการและเมื่อครบแล้วก็จะไปสอนให้โรงเรียนเดิมฟรีเพราะได้เงินเดือนบำนาญอยู่แล้ว
  • แต่ทุกอย่างเปลี่ยนความตั้งใจดิฉัน  จึงมีความมุ่งมั่นที่จะลาออก  และเคยลาออกธรรมดาไม่เกี่ยวกัลบโครงการไปหนหนึ่งแล้วค่ะ
  • การลาออก  ไม่ใช่เพราะเบื่ออาชีพครู หากแต่ไม่ชอบในสิ่งที่ไม่ใช่ค่ะ
  • ขอขอบพระคุณค่ะ

อ่านบันทึกอาจารย์แล้ว...ครอบคลุมกับความคิดของผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ไม่ยึดติดกับตำแหน่งใดๆ....เพียงเพื่อที่จะไปพัฒนาในงานที่ถนัดและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ...

ผมลาจากสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียนและเริ่มทำงานที่คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีแม่ พี่ และผู้คนที่ผูกพัน ซึ่งมากมายกว่าครั้งจากบ้านเมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อนมาร่วมอำลากัน แต่ก็กลับไม่รู้สึกโศรกเศร้าอย่างเมื่อก่อน

การเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งนี้ จึงถือเป็นการเริ่มก้าวเดินกลับบ้านและมุ่งสู่ครรภ์มารดาอีกครั้งด้วยจิตใจ

คงเป็นเพราะในใจอาจารย์มีใจมุ่งมั่นที่จะตอบแทนแผ่นดินแม่ตลอดเวลาเลย...

บ้าน,   อยู่ไม่ไกล
หากแต่ใจอยู่ไกลบ้าน
นานและนาน
ที่การงานเคี่ยวเข็ญเป็นเจ้าชีวิต

กลับบ้านกันไหม
ไปให้หัวใจได้หลับสนิท
หนุนตัก, และจุมพิต
ให้หัวใจได้แนบชิด..  "หัวใจบ้าน”

คิดดูสิ, หลังคาบ้านแต่กาลก่อน
เคยดับร้อน – ต้านลมฝนจนสะท้าน
บัดนี้,  ยังอยู่เย็นเป็นสำราญ
หรือร้าวรานโทรมทรุด  -  ทุกข์ท้อใจ   

คิดดูสิ,  กระถิน  ริมรั้วบ้าน
เคยกิ่งก้านเขียวชะอุ่มเป็นพุ่มใหญ่ 
บัดนี้,  ยังชูช่อล้อลมไกว
หรือหักโค่นกิ่งใบไม่เหลือรอย

คิดดูสิ,  แคร่ไม้ไผ่ใต้ถุนบ้าน
เคยสำราญเอนกายยามบ่ายคล้อย
บัดนี้,  ผุพัง  หรือยังคอย
ให้เราคืนเท้าถอย -  รอยเวลา

คิดดูสิ,  รองเท้าเก่าเราเคยใส่
แม่เก็บไว้ “เป็นของเจ้า”  เฝ้ารอท่า
ประตูบ้านรอขานรับวันกลับมา -
ชานบ้านอันแก่ชรา...  รอปลอบใจ

กลับบ้าน,  ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่หนอ ?
บ้านยังรอ!  จำได้  ใช่หรือไม่
ฟังสิ,  นั่นเสียงเพรียก  -  เรียกมาไกล  !
เสียงนั้น,    คุ้นใช่ไหม.. เสียง “หัวใจบ้าน” !

....

ขอบพระคุณครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

                                 วิถีคนบ้านนอก

จากพ่อแม่หนองบัว                               สู่วัด (เขาวัง) ราชบุรี

จากวัด                                                สู่มหาวิทยาลัย

จากมหาวิทยาลัย                                 สู่อ้อมกอดแม่อันอบอุ่น

ขอเจริญพร

สวัสดีค่ะพี่ชาย อ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

  • คุณแม่ยังแข็งแรงเหมือนเดิมนะคะ 
  • สีหน้าสดชื่นแจ่มใสและยืนตรงมาก อายุในวัยนี้ยากที่จะเห็นภาพแบบนี้ค่ะ
  • ลูกๆ(รวมสองสาวด้วยค่ะ)สำเนาถูกต้องกับคุณแม่เลย
  • ในสมัยที่พวกเราเรียน พ่อแม่เป็นกำลังใจให้กับลูกๆ ให้ได้รับการศึกษา ฝันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงด้วยความมานะ อดทน  มีการมีงานทำเป็นหลักแหล่ง มีอนาคตที่สวยงาม และออกเรือนเป็นฝั่งเป็นฝาได้หลานไว้เชยชม
  • ปัจจุบันพ่อแม่แก่เฒ่า ก็ได้รับกำลังใจจากลูกๆนี่เอง เห็นความเจริญก้าวหน้าของลูกหลาน และทำคุณให้แก่แผ่นดิน พ่อแม่ก็มีชีวิตอยู่อีกยาวนาน ความสุขมากกว่าสิ่งใดๆตอบแทนค่ะ

-------------------------------

คนไกลบ้าน ..แต่หัวใจไม่ได้ห่างตามไปด้วยเลย..)))

อ่านบันทึกแล้วน้ำตาซึมเลยค่ะ   คิดถึงแม่

 

 

 

 

 

อิ่มเอมกับเรื่องราวค่ะท่านอาจารย์ เห็นภาพพ่อแม่ยิ้มภาคภูมิ

บ้าน เคหสถานแห่งกระไออุ่นรัก สายใยผูกพัน

คิดถึงบ้านค่ะ

 

สวัสดีค่ะอาจารย์

การรำลึกถึงความทรงจำเก่าๆ ช่วยให้เกิดกำลังใจต่อสู้งานใหม่ๆได้เหมือนกันนะคะ

อ่านแล้ว คิดถึงภาพตัวเองตอนเด็กๆตามไปค่ะ

เกิดกำลังใจขึ้นมาเลย

ขอบคุณค่ะ

คุณลุงคร้าาาบ...... อ่านแล้ว อยากเรียนว่า......

งดงามครับ...ทั้งเนื้อหา และถ้อยคำ อ่านแล้วได้อรรถรส ได้ลิ้มรสความงดงาม หลักคิด และการธำรงตัวตน ของ “อภิชาตบุตร” ที่มี “กตัญญูกตเวทิตาจิต” เป็นหลักยึดบนเส้นทางเดินชีวิตอันยาวไกล จวบจนบรรลุถึง “วิชชาและจรณะ” อันงดงาม ได้อ่านแล้ว....ต้องหยุดหลับตาเพื่อน้อมจิตรำลึกและคารวะ “พระคุณพ่อ-พระคุณแม่” ที่เสกปั้นบุรุษผู้นี้มาให้มวลมิตรได้คบหา เรียนรู้ ..... "คำพ่อ คำแม่" คือมรดกล้ำค่ากว่าเงินทองมากนัก.... ผู้คนน้อยนักที่จะน้อมรับและถือเป็นหลักในครองตน.....

"นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา"

ท่านทั้งหลาย..... ผู้กอรปด้วยการรู้คุณท่าน และตอบแทน นั่นคือเครื่องหมายแห่ง "คนดี"

น้อมคารวะ................ “อภิชาตบุตร”ผู้นี้ บุรุษผู้มีความพากเพียรอันบริสุทธิ์

น้อมคารวะ................ “พระคุณพ่อ-พระคุณแม่”ทั้งสองท่าน ผู้มอบบุรุษผู้นี้แด่มวลมิตร

ขอบคุณครับ

 

                         

  • มีคนกล่าวเปรียบเปรยถึงอาจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ว่า
  • ผู้ชายคนนี้ เป็นบุตรใครก็จะ เป็นบุตรที่ประเสริฐ ...
  • เห็นด้วยมาก-ถึงมากที่สุด
  • พร้อมทั้งยังเป็นพี่ใครก็จะ เป็นพี่ที่ประเสริฐ เป็นน้องใครก็จะ เป็นน้องที่ประเสริฐ เป็นอาจารย์ใครก็จะ เป็นอาจารย์ที่ประเสริฐ ...
  • ผู้ชายคนนี้ยังเป็นมรดกของสถาบัน'อาเซียน ที่ตลอด ๒๕ ปีของสถาบันฯ จะมีสักคน

      ด้วยความเคารพรักค่ะ

 

สวัสดีครับคุณจตุพร

คุณจตุพรเป็นคนผูกพันกับแม่และบ้านที่ต่างจังหวัดเหมือนกันนี่เนาะ แล้วก็เป็นคนทำงานชุมชนมือหนึ่งที่เข้าใจชุมชนได้หลากหลายกรอบ ต้องถือว่าใช้ทุนทางสังคมของลูกหลานคนชนบทมาเป็นวิถีวิชาการของคนรุ่นใหม่ของตนได้อย่างเหมาะสมมากนะครับ

เป็นเพื่อนกับเด็กๆและชาวบ้านก็เข้าท่า แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชั้นกลางในองค์กรสมัยใหม่ก็เข้าที มีคนเชื่อมและถักทอสังคมอย่างนี้เยอะๆ ก็คงจะทำให้สังคมมีโอกาสในการพัฒนาดีๆอีกเยอะนะครับ 

สวัสดีครับคุณครูคิม

ผมได้อ่านเรื่องราวของคุณครูคิมที่ไหนสักแห่ง ที่เป็นพูดถึงการเริ่มต้นชีวิตการเป็นครูของเด็กๆ แล้วก็ต้องไปอยู่ในที่กันดาร ต้องตักน้ำอาบกันเอง ทำให้นึกถึงคุณครูของพวกผมเมื่อตอนเรียนทั้งระดับประถมและมัธยมเลยครับ

ชอบอ่านเรื่องราวหลายเรื่องที่คุณครูคิมเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์หลากหลายทั้งจากบทบาทของการเป็นครู ประสบการณ์ชีวิต การเรียนรู้จากผู้คนที่รู้จักและโลกรอบข้าง หากมีโอกาสจะมาขอถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยครับ มีกำลังใจและมีความสุขครับผม

สวัสดีครับคุณครูอ้อยเล็ก

มุมมองของคุณครูอ้อยเล็กนี่เป็นวิธีคิดของชาวบ้านในอดีเหมือนกันนะครับ อย่างแถวบ้านผมนั้น ตอนเกิด ผู้ใหญ่มักจะเอารกเด็กๆแต่ละคนไปฝังดินตามต้นไม้และกอไผ่ ซึ่งก็สื่อหลักคิดของชุมชน แล้วก็คงจะมีการปลูกฝังแนวคิดนี้สอดแทรกอยู่ในการให้การศึกษาอบรมต่างๆที่อยู่ในวิถีชาวบ้านอยู่เสมอ เพราะการเอารกฝังดินก็สะท้อนแนวคิดให้เด็กๆรักและผูกพันกับแหล่งก่อเกิดและถิ่นอาศัย ส่วนกอไผ่ก็เป็นการให้รักความสามัคคี รักหมู่คณะ รวมทั้งดัดและอบรมสั่งสอนได้ ทำให้มีสายรกอีกอย่างหนึ่งที่มองไม่เห็น และเชื่อมโยงผู้คนเขากับภาวะบางอย่างที่เราจินตนาการถึงได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

สวัสดีครับอาจารย์แผ่นดิน

กวีบทนี้ พลังกวีลงตัวมากเลยครับ ให้วิธีคิดและกระทบใจได้อย่างแรง เป็นการให้ความซาบซึ้งทั้งเชิงคุณค่าและการมีความหมายของสิ่งต่างๆมากกว่าความเป็นวัตถุ สะท้อนโลกทัศน์ของคนในยุค New age ได้ดีจริงๆเลยครับ อ่านแล้วยิ่งมีความสุขหากได้กลับบ้าน ได้ไปสัมผัสทุกอย่างที่เป็นเหมือนลมหายใจ  หากอยู่ไกลบ้านอ่านแล้วก็คงต้องอยากกลับบ้านหรือหาทางทำสิ่งดีๆให้กับบ้าน หากกำลังคิดถึงบ้าน อ่านแล้วคงน้ำตาร่วงพลั่กๆเลยทีเดียว

ประทับใจวิธีคิดและการทำหนังสือ ที่ทำให้เด็กนักศึกษา ชาวบ้าน และลูกของอาจารย์ เข้าไปเป็นคนเดินเรื่องราวของหนังสือ โดยเฉพาะที่ทำให้ลูกของอาจารย์นะครับ เป็นการให้ที่ฉลาดและยิ่งใหญ่ในทางกุโศลบายมากครับอาจารย์ เชื่อได้เลยว่าจะเป็นสายรกที่มีพลังต่อจิตวิญญาณและความสำนึกต่อตัวตนของเขา เชื่อมโยงเขากับครรภ์มารดาที่ยิ่งใหญ่และงดงามแน่ๆครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

อันที่จริงก่อนได้ไปเป็นเด็กวัดเขาวังราชบุรีหลังจบมัธยมนั้น เมื่อตอนอยู่บ้านผมก็ชอบไปวัดและผูกพันกับวัดตั้งแต่เด็กครับ ในอดีตนั้น วัดเป็นที่รวมของสรรพวิชา งานศิลปะและงานฝีมือ ที่เป็นเลิศกว่าที่มีในชุมชน น่าสนใจ น่าเรียนรู้ ผมชอบไปวัดเพราะพระจะทำว่าวและสนูเก่ง ตอนกลางวันก็ชอบไปป้วนเปี้ยนอยู่ตามวัดเพราะชอบได้ยินเสียงพระท่องหนังสือ ซ้อมเทศน์ ยิ่งตอนใกล้เทศน์คาถาพัน พระบางองค์ก็จะซ้อมเทศน์เป็นเพลงแหล่ เลยโตมากับวัดตั้งแต่เด็กครับ เข้ากรุงเทพก็ไปเป็นเด็กวัดสระเกศ แล้วก็มาเป็นเด็กวัดราชประดิษฐ์ฯครับ ดังนั้น ครรภ์มารดาอย่างหนึ่งของผมก็เห็นจะได้แก่ วัด พระ และชาวบ้าน ด้วยเช่นกันครับ

สวัสดีครับคุณครูจุฑารัตน์

แม่ยังแข็งแรงและสุขภาพดีครับ หลายปีมานี้ก็รู้สึกว่าแม่ดูแจ่มใสออกมาจากข้างใน ทำให้ผมมีความสุขไปด้วยอย่างบอกไม่ถูก 

พอน้องจุฑารัตน์บอกว่าอ่านแล้วน้ำตาซึมนี่นึกออกเลย ยิ่งอ่านต่อเนื่องมาถึงบทกวีของอาจารย์แผ่นดินแล้วละก็เป็นได้น้ำตาซึมอย่างต่อเนื่องเลย ได้แวะเข้าไปอ่านบันทึกถึงแม่ของน้องจุฑารัตน์แล้ว เลยต้องขอบอกว่าขอให้เข้มแข็งนะครับ แม่-พ่อ อยู่ในตัวเรานี่เอง

สวัสดีครับคุณ poo 

ดีใจที่ทำให้อ่านแล้ว ทำให้ได้นั่งคิดถึงบ้านนะครับ การมีที่อันอบอุ่นและได้ความอุ่นใจเมื่อคิดถึง ก็เหมือนกับการมีที่ให้หลังพิงนะครับ ทำให้มีกำลังใจและทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความหมาย  ขอให้ท่องไปทุกแห่งในชีวิตอย่างมีความสุขลึกซึ้งเหมือนท่วงทำนองที่พลิ้วลอยล่องของเสียงกีตาร์โลโบนะครับ

สวัสดีครับคุณณัฐรดา

การได้ทบทวนและรำลึกถึงเรื่องราวเก่าๆเป็นทุนชีวิตที่ให้กำลังใจตนเองได้ดีมากจริงๆครับ แล้วก็ทำให้ได้ความคิดอย่างหนึ่งว่า ทำวันนี้ให้มีความหมายโดยใส่ชีวิตจิตใจลงไป  ในอนาคตก็จะกลับมาเป็นความทรงจำที่ดีให้ได้รำลึกถึงอีก ผมเคยอวยพรน้องๆและลูกศิษย์ว่า ให้ทำงานหนัก

แต่อย่างคุณณัฐรดานั้น ได้ความทรงจำที่ดีไปตลอดรายทาง ในอนาคตก็จะมีทุนทางสังคมที่ได้สร้างอย่างสะสมไว้มากมายนะครับ การมีวิธีสร้างสุขภาวะออกมาจากภายในตนเองอย่างคุณณัฐรดานี่ เป็นทุนชีวิตที่ยั่งยืนและเป็นเพื่อนตนเองให้เราได้ดีที่สุดครับ

ตอนนี้กำลังจะทำเวิร์คช็อป อบรม Botanical Painting กับทีมอาจารย์คณะวิทย์หรือครับ อย่าลืมนำมาถ่ายทอดในที่ไหนสักแห่งหนึ่งให้ได้ตามไปชื่นชมด้วยนะครับ

สวัสดีครับคุณช้างน้อยมอมแมม

นี่ต้องถือเป็นความสุขในเบื้องต้นของผมนะครับที่ทำให้คุณช้างน้อยมอมแมมเห็นแง่งามของชีวิตและจิตใจอย่างวิถีชนบทที่ผสมผสานกับสังคมสมัยใหม่ คุณช้างน้อยมอมแมมจะได้เป็นคนงานความรู้ นักวิจัย และมือวิชาการ ที่มุ่งไปทางเสริมกำลังคนส่วนใหญ่ที่อยู่กับคุณค่าและความหมายของการดำเนินชีวิตด้วยกันในชนบท เป็นการชวนกันกลับบ้านอย่างหนึ่งเหมือนกันครับ

 

สวัสดีครับคุณณัฐพัชร์

  • รูปดรออิ้งนี้เป็นฝีมือของเพื่อนผมชื่ออ้อย ซึ่งเป็นรุ่นพี่ของคุณครูอ้อยเล็กนะครับ เป็นหนึ่งใน ๔-๕ ภาพที่เพื่อนๆจู่ๆก็ขอให้ผมนั่งแล้วก็ล้อมวงเขียนพอตเตรทให้เป็นที่ระลึกแก่ผมในวันเกิดเมื่อ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๗ ภาพนี้จึงมีอายุ ๒๕ ปีแล้วครับ ดูแล้วดูอีกก็ยังเห็นว่าฝีมือการเขียนของเพื่อนคนนี้ดีจริงๆ นี่เขียนไม่ถึงครึ่งชั่วโมงครับ ไม่มีการใช้ยางลบเลย ใช้การเว้นขาวและความจัดเจนในการเล่นน้ำหนักของเกรยอง
  • คุณณัฐพัชร์นี่เป็นแม่ยกที่คอยเชียร์จริงๆ แล้วผมจะสามารถเป็นได้สักหน่อยหนึ่งอย่างที่คุณณัฐพัชร์ไปได้ยินเขาว่ามาไหวไหมเนี่ย
  • แต่ก็เห็นนัยะที่อยู่ในการกล่าวถึงต่างๆมากครับ เหมือนกับสื่อในทางอ้อมว่าผู้คนรอบข้างในทุกจังหวะชีวิตนั่นเองที่เป็นความดีงามในชีวิตของเรา ในที่ทำงานผม ผมก็มีพี่ๆน้องๆ ดี และเป็นกัลยาณมิตรที่ให้สิ่งดีๆมากมายครับ
  • คุณณัฐพัชร์ก็เป็นท่านหนึ่งนะครับ เป็นน้องๆที่เก่ง ลุยและสู้งานดี

อาจารย์ครับ...พี่วิรัตน์ครับ...วันก่อนผมเจอพีระ น้องชายพี่ บังเอิญผมไปป็นวิทยากรถอดบทเรียนนวัตกรรมการทำงานของนักพัฒนาชุมชน ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ในงานCD DAY พีระ คำศรีจันทร์เป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมเวที พีระมายกมือไหว้ผม ผมดีใจมากเพราะเจอเขาก็เหมือนได้เจอพี่....เขาเป็นคนเก่งมาก สมกับที่เป็นน้องชายพี่ครับ...เราทักทายกันพอสมควรเเต่มีเวลาน้อยมาก พีระมีน้ำใจมาก กลับไปก่อนโดยไม่ได้ร่ำลากัน ยังอุตสาห์โทรมาลาผมย้อนหลัง ภูมิใจครับที่ได้เป็นครูของครอบครัวคนดีอย่างพีระ คำศรีจันทร์ น้องชายของพี่ที่ผมเคารพแม้ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน เพราะอะไรครับพี่..เพราะเราเป็นลูกพระวิษณุ(เลือด ดำ-เเดง)ไงครับรวมทั้งอ้อยเล็กเพื่อนรักผมด้วยอีกคน

ผมลืมไปครับพี่..ผมมีบรรยากาศที่งานCD DAYวันที่เจอพีระ มาฝากครับ http://gotoknow.org/blog/kukiat/303456

  • เห็นพีระน้องผมเล่าให้ฟังอยู่เหมือนกันครับ อันที่จริงหากเขาไม่ติดการเข้าร่วมรับฟังการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันของคนทำงานพัฒนาชุมชนในตอนบ่าย ก็คงจะได้ชวนไปร่วมงานที่ทำงานผมด้วยครับ
  • พีระเขาชื่นชมอาจารย์กู้เกียรติอย่างมากเพราะเขาชอบงานสื่อ งานศิลปะ และการนำเสนอ-การถ่ายทอด สำหรับทำงานชุมชนด้วย ดูเหมือนจะเคยคุยให้ผมฟังก่อนที่ผมจะได้มารู้จักอาจารย์กู้เกียรติใน G2K นี้เสียอีกนะครับ
  • พอเห็นผลงานหลากหลายสาขา ผมก็ได้ร่วมชื่นชมไปด้วยนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์

อยากเข้าไปคารวะอาจารย์สักคร้ังที่ศาลายาครับ

เรื่องความคาดหวังของญาติผู้ใหญ่โดยเฉพาะพ่อและแม่เป็นเรื่องยุ่งยากลำบากใจไม่น้อยสำหรับผมครับ

ก่อนหน้าที่จะเข้าไปทำงานที่องค์การมหาชนในกำกับสำนักนายกฯ ผมทำ NGOs อยู่แถบเชียงใหม่ แม้รายได้ไม่มากนักแต่ก็ไม่น้อย เนื่องจากยังสามารถรับงานอื่น ๆ ได้อีก ผ่อนบ้าน ผ่อนรถได้ มีเงินจับจ่ายไม่ลำบากนัก

กระนั้นทางบ้านก็ไม่ค่อยเห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่ผมดำรงอยู่ มีอาการแสดงถึงความเป็นห่วงและกังวลไม่น้อย

กระทั่งผมเข้าไปทำงานในสำนักนายกฯ ความกังวลเหล่านั้นก็จางหายไป แต่สิ่งที่ทางบ้านไม่รู้ว่า ผมมีความสุขน้อยกว่าการทำงานในอดีต แม้จะมีรายได้ที่มากขึ้น แต่รายได้ที่ได้มากับการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ก็ทำให้ต้องระมัดระวังเรื่องการจ่ายมากขึ้น

เมื่อผมบอกทางบ้านว่าจะลาออกจากสำนักนายกฯ ผมต้องบอกว่าจะมาทำงานที่ ม.มหิดล เพื่อป้องกันความกังวลใจของพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่

สวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์

ยังดีนะครับที่หลังจบมัธยมแล้ว ต้องออกจากบ้านไปอยู่วัด โดยมีพี่ชายไปเป็นเพื่อน แม้ว่าจะไปไกลซักหน่อย

..........อ่านเรื่องของอาจารย์แล้ว อดที่จะนึกสังเวชตัวเองไม่ได้ จึงขอแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วยคนครับ

เหตุที่เกิดกับผม มีพื้นที่ไม่ห่างจากบ้านอาจารย์เท่าใดนัก ในวันนั้น............ มีพระสูงอายุรูปหนึ่ง อยู่ ๆ ก็มาที่บ้าน ผมเองไม่เคยเห็นหน้าท่านมาก่อน มีลางบอกเหตุแก่เด็กอายุ 6 ขวบ เนื่องจากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในบ้านหลายอย่าง จนผมต้องวิ่งหนีไปแอบในกอกล้วยหลังบ้าน .....แต่ก็ไม่รอดครับ.....ร้องให้พ่อ แม่ พี่ช่วย ก็ไม่มีใครช่วย.....ขณะนั้นนึกโกรธและโมโหทุกคนในบ้านมาก

หลวงพ่อรุณครับ หลวงพ่อจูงมือข้างหนึ่งของผมอย่างแน่นและเดินอย่างเร่งรีบ จากบ้านห้วยปลาเน่าเหนือ ไต่ไปตามคันนาเพื่อไปขึ้นรถสองแถวที่ บ้านเอิฐ....ระยะทางประมาณ 4 ก.ม.ผมขวัญผวาและร้องไห้เสียงดังตลอดทาง

รถแล่นไปตามถนนสายหนองบัว - ชุมแสง และจอดที่สามแยกสระงาม.......หลวงพ่อพาเดินจากที่นั่น ผ่านบ้านสระงาม - บ้านไผ่ขาด - บ้านนาดง - และไปจบลงที่วัดโคกกระถิน ต.วังใหญ่ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ จนมืดค่ำ จึงได้อาบน้ำและกินข้าวมื้อเย็นที่ชาวบ้านข้างวัดนำมาให้ หลวงพ่อพาเดินเป็นระยะทางประมาณ 7 ก.ม.

คนที่ไม่เคยจากอกพ่อ แม่......คนที่ไม่เคยจากบ้านไปไกล....ในสถานที่ซึ่งไม่คุ้นเคย.......ผู้คน พระ เณรที่อยู่รายรอบที่กำลังจ้องมองมา ก็ไม่เคยเห็น/รู้จัก...........หวาดวิตกเป็นอย่างยิ่ง สักครู่ใหญ่มีพระรูปร่างสูงใหญ่ ผิวขาว ท่าทางดุดัน เดินเข้ามาหา.....ผมจำได้ว่าพระรูปนี้ แม่บอกให้เรียกว่า......หลวงลุง...ท่านเป็นพี่ชายแท้ ๆ ของแม่ เป็นเจ้าอาวาสที่วัดแห่งนี้ ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อลักษณ์ พรหมมินทร์ หรือ พระครูนิมิตชโยดม และเป็นเจ้าคณะตำบลวังใหญ่ด้วย

ในนาทีนั้น ผมมีความรู้สึกอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก.......ความทรงจำขณะร้องไห้ที่บ้าน รู้สึกว่าแม่จะพูดเบา ๆ เป็นภาษายวนว่า....ไปเต๊อะไอ่ล้า......ไปอยู่วัด...ไปเฮียนหนั่งสือก๊ะหลวงลุงมึง

สวัสดีครับหนานเกียรติ

  • ด้วยความยินดี และหมู่มิตร น้องๆแถวศาลายาคึกคักมีชีวิตชีวาขึ้นมาโดยพลัน เพราะเริ่มมีคนพูดถึงหนานเกียรติหลายครั้งแล้วครับ เขาชอบเฌวากัน ผมก็ชอบ หนานเกียรติมีศิลปะในการให้การเติบโตของลูกดีจังนะครับ
  • ผมได้คุยกับคุณเอก จตุพรทางโทรศัพท์และหมู่เพื่อนๆของเขาเหมือนกันว่า สักวันหนึ่งจะหนุนให้พวกเขาจัดเวที academic forum ในบรรยากาศการเสวนาของนักปฏิบัติที่เป็นทั้งนักวิชาการ คนทำงานความคิด และเป็นคนรักการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไปนั่งกินข้าว คุย เสวนา ให้เป็นเวทีช่วยบ่มประสบการณ์ของเราให้ตกผลึก แล้วก็เป็นเวทีทำงานความรู้แบบทันใช้ทีละเล็กละน้อย หากจัดกันขึ้นจะชวนหนานเกียรติแวะไปเสวนาและแลกเปลีนประสบการณ์กันนะครับ
  • ธรรมดาของพ่อแม่ ญาติพี่น้องและคนใกล้ชิด ที่มักอดที่จะคาดหวังคนของตัวเองไปต่างๆนาๆไม่ได้ แต่ก็จะมีทุกข์ที่อาจจะไม่ได้ตามที่คาดหวังไปทั้งหมดกันทั้งสองฝ่าย หากเจอบ่อยๆก็คงจะเริ่มเข้าใจความเป็นจริงและเริ่มกำหนดรู้ด้วยทรรศนะอีกแบบหนึ่ง เมื่อก่อนผมก็เป็นบ่อยครับ แต่พอถึงช่วงหนึ่งของชีวิตก็จะได้มุมมองอีกแบบซึ่งต้องเจอเองก็จะรู้และเข้าใจ
  • แต่ที่เป็นเอามากก็มีเหมือนกันนะครับ ผมเคยอ่านชีวประวัติของนักปรัชญาคณิตศาสตร์ของโลกท่านหนึ่ง เขาเลี้ยงลูกอย่างโปรแกรมเพื่อให้เป็นมนุษย์ชั้นยอด แล้วก็ได้อย่างใจโดยเป็นศาสตราจารย์ทางคณิตศาสตร์ตั้งแต่เด็กแต่ในตอนหลังก็คนดำเนินชีวิตตามปรกติไม่ได้ ตอนหลังเขากลับมาสนใจการเปลี่ยนเปลี่ยนกระบวนการคิดของคน สนใจปรัชญาสังคม และเรื่องการพัฒนทางจิตใจ (จู่ๆก็นึกชื่อไม่ออกในตอนนี้ แต่เป็นคนเขียน Principle mathematica แล้วก็ดูเหมือนจะเป็นคนชวนไอสไตน์เดินรณรงค์และเขียนจดหมายต่อต้านสงครามส่งให้ผู้นำประเทศมหาอำนาจในยุคของเขา)
  • เรื่องที่พ่อแม่หนานเกียรติเป็นห่วงหนานเกียรติและอยากให้ทำราชการ ทำงานมีเงินเดือนที่มั่นคงนั้น ผมก็เคยเจอครับ และผมก็ไม่อยากเห็นด้วยกับพ่อแม่เลย แต่ผมตัดสินใจอีกแบบคือไม่ทำร้ายจิตใจท่านและคิดว่าเรื่องนี้สามารถเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงกันได้ครับ หลายเรื่องที่เราคิดว่าเราทำให้สังคมนั้น แม้นไม่มีเรา หรือเราตายไปแล้ว สังคมก็ยังอยู่และก็จะมีผู้คนอีกมากมายที่ทำได้อย่างเราหรืออาจจะดีกว่าเรา  แต่พ่อแม่และคนที่ดีต่อเรานั้น เราจะมีเวลาทำดีต่อกันเพียงแค่ที่เขาอยู่กับเราและเราเองก็ยังอยู่เท่านั้น รักษาน้ำใจท่านก่อนแล้วทำอย่างที่เราต้องการใภายหลัง ถึงแม้อาจจะไม่เข้าใจอยู่ดีแต่ก็จะรับฟังได้ดีขึ้นนะครับ
  • แต่ประสบการณ์หนานเกียรติดีนะครับ บุคลิกก็เป็นคนที่มีวิถีปรึกษาหารือ เข้าใจว่าจังหวะต่างๆของชีวิตควรจะดีกว่าทั่วไปนะครับ

สวัสดีครับคุณสมบัติ ฆ้อนทอง

ฟังเรื่องราวแล้วช่างแสนโหดร้ายต่อจิตใจเด็กๆนะครับ แต่ตอนนั้นก็ดูเป็นเรื่องใจร้าย พอผ่านไปแล้วก็กลับทำให้ปัจเจกเติบโตและกร้าแกร่ง  เมื่อตอนอายุก่อน ๒๐ ปีแถวบ้านสระงามนี่ผมก็ไปเป่าแตรบวชนาคแทบทุกปีครับ น้าสะไภ้คนหนึ่งของผมก็เป็นคนบ้านสระงามครับ

ออกห้องสอบมาเเล้ว

อ.ดร วิรัตน์ พาไปกินข้าว ด้วยความอิ่มหนำ
ข้อสอบวันนี้ทำแบบ รวดเร็ว ประสาคนคิดเร็ว เขียนเร็ว แต่ไม่ค่อยรอบคอบ :)
คุยเรื่องข้อสอบให้ฟังนิดหนึ่งคับ เพราะมองว่าข้อสอบที่ทำในวันนี้เชื่อมโยงกับงานที่เราทำอยู่


ข้อสอบมี ๑ ข้อครับ ใช้เวลาครึ่งวัน โจทย์แบบนี้ละครับที่ผมชอบนัก


Plato บอกว่า มนุษย์ต้องจำกัดการใช่เหตุผล เพราะ เหตุผลทำให้มนุษย์เห็นแก่ตัวและมุ่งผลประโยชน์เพื่อตัวเอง ส่วน Aristotle บอกว่า เหตุผลที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม และ Peter Berger and Thomas Luckmann บอกว่า Society as a Human Product


ประมาณนี้หละครับและจากโจทย์นี้ ให้เชื่อมไปยังการพัฒนาคุณภาพประชากรมิติมหภาค...

 เอาแล้วสิครับ เราจะเชื่อมอย่างไรดี??

ข้อสอบนี้ Critical point อยู่ที่
 "การใช้เหตุผล กับการพัฒนาสังคม"

ดังนั้นสิ่งที่เราเห็น เเละรับทราบจากโจทย์คือ การเปลี่ยน paradigm จาก การกำจัดกรอบของเหตุผล ไปสู่ การให้อิสระของเหตุผล นั่นคือ อิสระของความรู้ ของมนุษย์ด้วย

ผมอธิบายไปถึง การวิวัฒน์ความรู้ จากฐานคิดแบบนี้ ทำให้เกิด การพัฒนาขับเคลื่อนสังคมตามมามากมาย สุดท้ายข้อสอบชุดนี้ ผมโพกัสไปที่ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ ให้เกิดขึ้น???

เป็นอย่างไรบ้างครับ โจทย์แบบนี้หละครับ เป็นโจทย์ใหญ่ที่เราทิ้งให้กับสังคมคิดจากนักทฤษฏี กับพัฒนาการวิธีคิดของสังคมมนุษย์

ยิ่งได้ทานข้าวกลางวันกับ อ.ดร.วิรัตน์ ในวันนี้ทำให้ผมได้
เปิดประเด็นเรื่องนี้ต่ออย่างเอกอุ
ชอบบรรยากาศการต่อยอดความคิดเเบบนี้ครับ

นี่หละครับ โจทย์ใหญ่ของคนในสังคมโพสโมเดิร์น คือ การปฏิวัติกระบวนการเรียนรู้...

มาดูงานของผมที่กำลังขับเคลื่อนในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 ของผู้บริหารสถานศึกษา และคุณครู ที่เราทำอยู่เช่นกัน
ผมว่าเราต่างก็มุ่งประเด็นไปยังจุดนี้

วิวัฒน์ความรู้อย่างไร?? ขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้อย่างไร?

 

 

ขอบคุณอาหารมื้อนี้ มากๆครับ อิ่มหนำและขอบคุณหนังสือที่อาจารย์มอบให้ผมด้วย

 

 

  • ตามคนข้างบนมา
  • เห็นหลังไวๆๆ
  • คุณแม่อาจารย์ดูแล้วแข็งแรงมากเลย
  • ดีจังเลยครับ
  • ผมยังไม่มีโอกาสพาแม่มาที่ทำงาน
  • กลัวแม่ไปช่วยผมจัดห้อง  ห้องรกมากๆๆ
  • การจากสถานที่เกิด จากครอบครัวนี้เป็นทุกข์นะครับ ผมดีใจที่เลือกกำแพงแสน
  • เพราะใกล้บ้านมากๆๆเลยครับ
  • สงสัยคุณเอก จตุพรอิ่มข้าวและเพลินกับหนังสือที่ให้เลยลืมโพสต์ลิ๊งค์ที่พูดถึงมาให้นะครับ
  • สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ
  • แม่แข็งแรงและสุขภาพดีขึ้นกว่าเมื่อ ๖-๗ ปีก่อนมากครับ
  • นี่ผมยังนึกถึงแววตาแจ่มใสของคุณแม่อาจารย์ที่ได้เห็นจากรูปถ่าย ออกอยู่เลยนะครับ
  • ผมคอยแต่จะนึกว่าอาจารย์อยู่วิทยาเขตบางเขนอยู่เรื่อย
  • ผมเคยไปวิทยาเขตกำแพงแสนที่อาจารย์อยู่หลายครั้งเหมือนกันครับ กว้างใหญ่ดีจัง

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบพระคุณมากค่ะ สำหรับหนังสือที่จะส่งให้ค่ะ รีบส่งที่อยุ่มาเลยค่ะ อยากได้หนังสือที่มีคุณค่าไวๆ (บ่าใจ่งกก่ะ อิอิ)

ดิฉันไม่ได้เป็นสมาชิกเครือข่ายวิทย์สานศิลป์หรอกค่ะ และไม่ได้เป็นทีมวิทยากรของเค้าด้วยค่ะ เพียงแต่ทราบข่าวมา เห็นว่ามีประโยชน์ ก็นำมาบอกต่อเท่านั้นเองค่ะ

อ.ณัฐพัชรบอกว่า มีกี่คน ที่เป็นมรดกของ ม. มหิดลได้ แม้ดิฉันจะไม่รู้จักอาจารย์เป็นการส่วนตัว แต่ก็พอจะตอบได้ค่ะ ว่าดิฉันชื่นชมอยุ่คนหนึ่งแล้ว

 

สวัสดีวันหยุดครับคุณณัฐรดา

เหมือนได้ยินเสียงอู้คำเมืองเลยครับ คนทำงานให้ปัญญา การเรียนรู้ และเพิ่มโอกาสการได้ศึกษาธรรม ให้กับผู้อื่นอย่างคุณณัฐรดานี่ ต้องถือเป็นกัลยาณมิตรที่ต้องรีบส่งให้เลยครับ

เครือข่ายวิทย์สานศิลป์.....มีเครือข่ายอย่างนี้ด้วยแล้วหรือครับ ฟังดูเข้าท่าดีจัง ไม่เคยทราบเลย จะช่วยเชียร์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ดูแค่ชื่อก็ชอบแล้วครับ

การผสมผสานกันข้ามศาสตร์แบบต่างขั้วอย่างนี้น่าจะเป็นตัวส่งแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและก่อให้เกิดการปฏิรูปในอีกหลายอย่างอยู่บ้างนะครับ

ที่บอกว่าอยู่บ้างนี่ เป็นการมองบนความเป็นจริงของสังคมไทยในฐานะที่ตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งหรอกนะครับ เพราะในความเป็นจริงแล้ว หากไม่สนใจคิดและพัฒนาการเรียนรู้ในเรื่องอย่างนี้ไปด้วย เราก็อาจจะเป็นวิทย์แบบไสยศาสตร์ เป็นไปตามๆเขา เป็นวิทยาศาสตร์เพียงเนื้อหาสิ่งที่ทำอยู่ได้ชื่อว่าวิทยาศาสตร์ ทว่า มีความงมงายและไม่มีจิตวิญญาณความเป็นวิทยาศาสตร์ แล้วก็อาจจะเป็นศิลป์ที่ไม่รู้จักความงาม

ขณะเดียวกัน นับแต่ในภาคประชาสังคม วิถีชาวบ้าน และคนที่ศึกษาเรียนรู้และดำเนินชีวิตในแนวที่เรียกกันว่าทางศิลป์ ก็จำเป็นต้องมีความเป็นวิทยาศาสตร์ แล้วก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกันครับที่เป็นศิลป์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์

ในทำนองเดียวกัน ผมเห็นนักวิทยาศาสตร์และคนทางสาขาวิทยาศาสตร์กับสาขาอื่นๆอีกมากครับที่มีจิตวิญญาณวิทยาศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์ และเข้าถึงความเป็นศิลปะ ซึ่งใช้ปัญญาและวิจารณญาณในการทำงานและดำเนินชีวิต เห็นความงามและเข้าถึงความงาม เป็นวิทยาศาสตร์ที่งดงาม

ก็เลยชอบครับ เพราะแค่ชูเรื่องวิทย์สานศิลป์ ก็จะทำให้เห็นประเด็นที่ต้องเรียนรู้สังคมและริเริ่ม-สร้างสิ่งต่างๆขึ้นจากความเป็นตัวของตัวเองของสังคมไปด้วยได้ตั้งหลายอย่าง

แตรวง บ้านห้วยถั้วเหนือ/บ้านตาลิน สมัยนั้นดังมาก นอกจากเป่าแตรแล้ว ยังร้องเพลงเชียร์รำวงอีกด้วย.............ไม่ทราบว่าผมเข้าใจผิดหรือเปล่า

ผมสงสัยอยู่นิดนึงว่า คณะแตรวงที่อาจารย์เป็นสมาชิก เคยโคจรไปพบกับ คณะกลองยาว..ตาห่วง...บ้านโคกมะกอกหรือเปล่า..........โคกมะกอก ที่อยู่ระหว่างห้วยปลาเน่า กับวัดป่าเรไรน่ะครับ....เป็นหมู่บ้านที่ทางการขึ้นป้ายว่า เนินมะกอก แต่ชาวบ้านก็ไม่เรียกตาม ยังคงรียกว่าโคกมะอกเหมือนเดิม.........ฟังดูอาจจะสับสนกับโคกมะกอกที่อาจารย์เคยปั่นจักรยานตัวโกร่งปสอบนั่นแหละครับ กลองยาวคณะนี้โด่งดังมาก นอกจากผู้ตีกลองยาวจะแต่งชุดสวยงาม - ฉูดฉาด - ดูแปลกตาแล้ว ยังมีลีลาการเต้นและเล่นที่ตื่นเต้น/เร้าใจเด็ก ๆ ในสมัยนั้นมาก

เมื่อตาห่วงตายไป ลูกหลานก็เลิกกิจกรรมนี้ ....น่าเสียดายจริง ๆ

แล้วคณะแตรวงของอาจารย์ล่ะครับ ขณะนี้ กิจการยังรุ่งเรือง/เจริญดีอยู่หรือเปล่าครับ.

สวัสดีครับคุณสมบัติ ฆ้อนทอง

ตอนนั้นก็เรียกว่าดังใช้ได้เลยครับ แตรวงที่งานจะเข้าได้ดีนี่ต้องเล่นพวกนี้ได้ดีครับ...เชียร์รำวงที่ไปกันได้ดีกับชาวบ้านได้หลายกลุ่ม | แห่นาคและแห่งานต่างๆ | รับลูกทำขวัญนาคกับหมอทำขวัญ | การมีน้ำใจและยืดหยุ่นสูง |  ซึ่งองค์ประกอบพวกนี้แตรวงบ้านตาลินหรือบ้านห้วยถั่วก็เรียกว่าครบเครื่องครับ

แตรวงที่บ้านผมชื่อ แตรวงคณะ ช.ลูกทุ่ง เจ้าของแตรซึ่งก็เป็นญาติพี่น้องกันเป็นผู้ลงทุนให้ แต่ชื่อคณะนั้นตั้งตามชื่อครูแตรและเป็นหัวหน้าวง แต่ก็มีสมาชิกวงซื้อเครื่องเล่นประจำตัวมาสมทบเองอีก ๓ ชิ้นเลยเป็นแตรวงเครื่อง ๙ ซึ่งจัดว่ามีมาตรฐานและค่อนข้างเป็นวงใหญ่สำหรับยุคนั้น

                  

เรื่องการเชียร์รำวงดูจะทำให้แตรวงคณะผมเป็นที่ถูกใจชาวบ้านมากที่สุด เพราะพวกผมเชียร์รำวงเก่งและเครื่องเล่นก็ถึงมากกว่าแตรวงอื่นๆครับ แตรวงคณะผมมีทั้งกลองชุดสำหรับเชียร์รำวง กลองแห่ และกลองทอม เครื่องเป่าก็มีแซกโซโฟนทั้งแซ๊กเล็กและใหญ่

พวกผมตอนนั้นก็อยู่ในช่วงวัยรุ่น เป็นกลุ่มที่ฟังเพลงได้ทุกชนิดตั้งแต่ลูกทุ่ง ลูกกรุง ไทยสากล ไปจนถึงเพลงฝรั่ง แล้วก็มีนักร้องที่เล่นเป็นโฆษกแบบหาพวกให้เข้ามามีส่วนร่วมได้เก่ง

เมื่อบวกกับเพลงไทยเดิม เพลงตับเพลงเถา และเพลงในไสตล์เก่าๆ  ก็เลยเป็นคณะที่เล่นเพลงผสมผสานให้กับทุกกลุ่มได้ ตั้งแต่บีกิน โบเลโล่ ตลุง สามช่า กระทั่งจังหวะโซล

ไม่ว่าจะไปเล่นที่ไหนก็เป็นที่รู้กันว่า หากเจ้าภาพและชาวบ้านไม่เลิกและถอยเอง แตรวง ช.ลูกทุ่ง ก็เล่นและเชียร์รำวงให้ได้ทั้งคืน แตรวงคณะอื่นๆในห้วงเวลาเดียวกันมักแกะเพลงได้เป็นรายคน จึงกว่าจะต่อเพลงให้กับทุกคน ซ้อมและเล่นได้ ก็ตามเพลงไม่ทันเหมือนพวกผม แตรวงคณะผมนั้น ทั้งคณะหรือทุกคนจะฟังเพลงแตกหลายแนว แค่ได้ยินก็แทบไม่ต้องซ้อมเลย บางทีทำซ้อมกับด้วยปากเหมือนซ้อมในใจ พอถึงตอนออกงานก็เล่นจริงๆได้เลย

นักร้องก็ทั้งเล่นแตรได้และร้องเพลงได้ทุกรส ซึ่งเรื่องพวกนี้แตรวงคณะอื่นๆมักขาด ยิ่งไปกว่านั้นก็รับงานราคาถูกและว่าไปตามแต่จะมีกำลังจ่ายให้กัน บางทีก็เล่นฟรีเหมือนกับเล่นทำบุญและเอาน้ำใจกัน

หากมีงานหลายงานอยู่ใกล้กันนี่ ชาวบ้านไหลมารำวงบ้านที่แตรวงพวกผมเล่นหมดแหละครับ (ออกจะโม้หน่อยๆแต่เป็นอย่างนั้นจริงๆ บางครั้งต้องมีมารยาทที่จะเวียนตัวเองในหมู่พวกผมออกไปเล่นให้กับบ้านอื่นเพื่อเอาน้ำใจกัน และเขาก็จะเวียนมาช่วยพวกผม วิถีชาวบ้านนั้นมีวัฒนธรรมมากกว่าคนเมืองที่มีการศึกษาดีกว่าเยอะครับ)

มือกลองแล้วก็เป็นนักร้องและมือแซกโซโฟนด้วยของแตรวงคณะ ช.ลูกทุ่ง ปัจจุบันก็กลับไปอยู่บ้านและทำเครื่องไฟรับงานเหมือนกับเมื่อยุคเล่นแตรวงละครับ

กลองยาวคณะตาห่วงนี่ ต้องขอบคุณคุณสมบัติครับที่ทำให้รู้จัก เพราะพวกผมมีเพลงกลองยาวที่เล่นกับกลองยาวอยู่ด้วยเพลงหนึ่ง แม้เดี๋ยวนี้เวลาเป่าขลุ่ยเล่นผมก็มักเป่าทบทวนนิ้วและในใจก็นึกถึงเล่นกับวงกลองยาว แต่นึกไม่ออกและจำคณะไม่ได้ครับ รู้แต่ว่าหากเจอกลองยาวตอนแห่ หรือไปเจอกันตอนรอนาคที่วัดก็จะมีเพลงที่ไปรวมเล่นกับกลองยาวที่ติดหูติดมืออยู่เพลงหนึ่งจนถึงบัดนี้

                  

แตรวงนี่เวลาแห่นาคแล้วไม่อยากเจอกับกลองยาวครับ เพราะเสียงกลองยาวดังพร้อมกันและจังหวะการเดินกลองก็จะมีทางที่เขารักษาการเล่นได้แม่นยำและดีกว่า หากเจอกลองยาวก็ต้องไปรวมเล่นด้วยกันอย่างเดียวครับ หรือไม่ก็แยกออกไปไกลๆ ไม่อย่างนั้นก็หลงและเละไม่เป็นท่าครับ แถวโคกมะกอก วัดสระงาม ไปเล่นอยู่เสมอๆครับ คงมีโอกาสเจอกันครับ

แตรวงบ้านผมเลิกไปแล้วครับ ตั้งแต่รุ่นพวกผมออกจากบ้านก็ทราบว่าพรรคพวกในคณะไม่สนุก เลยเล่นและรับงานกันประปราย หัวหน้าวงและครูแตรรุ่นที่สองในคณะแตรวงผมเพิ่งจะขายแซกตัวเองไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้

เวลาที่ผมกลับบ้าน ก็มักจะได้ยินเสียงแตรของสมาชิกวงที่เหลืออยู่ชิ้นสองชิ้นซึ่งเล่นเป็นวงไม่ได้แต่ก็คงเลิกและขายทิ้งไม่ได้ นั่งเป่าแตรอย่างโดดเดี่ยวแว่วมาตอนเย็นหลังเลิกงาน ได้ยินเมื่อไหร่ก็สะท้อนใจครับ

แตรที่เขาขายออกไปนี่ก็เก่าเก็บไว้เป็น ๒๐- ๓๐ ปีจนเกือบเป็นซากแล้วครับเพราะมันคงเหมือนเป็นลูกและชีวิตจิตใจ เลยก็เก็บกันไว้จนแทบจะพังไปต่อหน้าต่อตานั่นแล้วถึงจะทำใจขายออกไปได้ เวลากลับบ้านแล้วได้ยินเสียงแตรโดดเดี่ยวนี่เจ็บปวดครับ  แต่มันคือความเป็นจริงเหมือนกับทุกๆอย่าง แล้วก็บอกเล่าความเป็นชีวิตชุมชนและคลื่นความเปลี่ยนทางสังคมได้หลายอย่างครับ

สวัสดีค่ะ

เครือข่ายวิทย์สานศิลป์นี้ เกิดขึ้นเพื่องานวาดภาพวิทยาศาตร์ และพฤกษศาสตร์โดยเฉพาะเลยค่ะ เพราะนักวิทยาศาสตร์มักวาดรูปไม่ได้ ส่วนศิลปิน ก็วาดแบบที่นักวิทยาศาสตร์นำไปใช้งาน เป็นหลักฐานในการอ้างอิงไม่ได้ เพราะมีการใส่จินตนาการ ใส่อารมณ์ หรือเปลี่ยนแปลงสีสัน รูปร่าง ให้ผิดธรรมชาติ

จึงมีการให้ข้อมูล และฝึกผู้ที่วาดภาพได้ ให้วาดตามหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ ถ่ายทอดตามความเป็นจริง ปราศจากการแต่งเติมใดๆ

เคยไปอบรมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์นี้มาครั้งหนึ่งค่ะ ที่ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ ม.มหิดลค่ะ

เหตุที่ต้องมีการใช้ภาพวาดวิทยาศาสตร์ เพราะบางครั้งภาพถ่ายจะมีแสงเงา ทำให้บดบังรายละเอียดของวัตถุบางส่วนไป หรือภาพถ่าย ไม่สามารถแสดงส่วนที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆที่ลึกลงไปได้ แต่ภาพวาดทำได้ค่ะ อีกทั้งภาพวาดก็สวยงาม น่าชมกว่าภาพถ่าย ภาพวาดพฤกษศาสตร์จึงเป็นที่นิยมในต่างประเทศมาก (ในบ้านเราคนยังขาดความเข้าใจเรื่องนี้พอสมควรค่ะ บางทียังเรียก decorative art เป็น botanical art เลย แถมคนที่ทำงานศิลปะตกแต่ง ทั้งที่รู้ว่างานที่ทำไม่ไช่อีกศาสตร์ แต่ก็ยังเรียกชื่อเป็น botanical art เพื่อเหตุผลทางการค้า)

ที่จริงภาพที่ดิฉันวาด ยังไม่จัดเป็นภาพวาดพฤกษศาสตร์ค่ะ เพราะขาดชื่อวิทยาศาสตร์ในภาพ เพียงทำงานในแนวเดียวกันเท่านั้น (อิอิ ดิฉันมองว่า ที่ตัวเองชอบวาดภาพแนวนี้ขาดความคิดสร้างสรรค์ แต่ชอบวาด เลยเลี่ยงมาวาดแบบถ่ายทอดความจริงอ่ะค่ะ)

ป.ล. ชอบภาพรถคณะแตรวงจังค่ะ

  • ไปร่วมทำบุญกฐิน แถวๆ นครชัยศรี มาค่ะ

                  

  • สาวๆ เชียร์รำวง? สนุกสนานมากๆ ค่ะได้มางานบุญ

                  

  • แตรวง? น่าจะเป็นแคนวง "ดักแด้มิวสิค" มีกีตาร์ กลองชุด ฉาบสงเสียงออกลำโพง

                   

  • ขบวนกฐินค่ะ อิ่มบุญกันถ้วนหน้า

 

สวัสดีครับคุณณัฐรดา คุณณัฐรดาออกตัวเยอะแยะ อันที่จริงงานศิลปะเพื่อวิทยาศาสตร์นั้นก็เป็นงานสุดยอดของการสร้างสรรค์มากนะครับ แต่มีจุดหมายเพื่องานทางวิทยาศาสตร์ การที่จะเก็บบันทึกข้อมูล นำเสนอ ถ่ายทอด และแสดงผลการวิจัย หรือแสดงความรุ้ทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่ายและเห็นเป็นภาพนั้น ต้องการความสามารถในการสร้างสรรค์วิธีมอง วิธีแสดง และวิธีนำเสนอให้ปรากฏบนรูปวาดเป็นอย่างยิ่งครับ

ผมเคยเรียนพื้นฐานการวาดรูปทางการแพทย์และการวาดรูปทางวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆอยู่บ้างเหมือนกันครับ จริงๆแล้วก็ชอบอีกด้วยครับ ทางด้าน Botanical painting and Drawing ก็ต้องเรียนและทำงานกับมือด้วยครับ คิดว่ายังไม่ลืมหลักการใหญ่ๆ แต่เทคนิคแล็บและการใช้กล้องจุลทรรศน์นี่คงลืมเกลี้ยงไปแล้วครับ แต่กำลังจะนำมาใช้ศึกษาเรื่องบัวอยู่ครับ คิดว่าคงต้องฝึกตัวเองใหม่อีกเยอะเหมือนกัน

การเก็บข้อมูลมักมีมาตรฐานเบื้องต้นที่ต้องทำในแต่ละชนิดของการวาด อย่างน้อยก็ต้องให้ข้อมูลครบถ้วน ๓-๔ เรื่อง เช่น  (๑)ภาพรวมและกายภาพทั้งหมด  (๒) ภาพแสดงรายละเอียดโครงสร้างและองค์ประกอบ (๓) ภาพแสดงข้อมูลและให้ข้อเท็จจริงระดับเซล โมเลกุล หรือจุลวิภาค

การสร้างสรรค์ก็จะขึ้นอยู่กับจิตรกรนักวิทยาศาสตร์แล้วละครับว่าจะมีทีเด็ดในกรอบหลักๆนี้อย่างไร เช่น การแสดงภาพรวมนั้น บางคนก็มีลูกเล่นในการจัดองค์ประกอบเหมือนกับการเขียน Perspective เพื่อแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงทุกด้านด้วยการจัดองค์ประกอบไว้ด้วยกันภาพเดียว นำเอาด้านข้าง ด้านหน้า มองจากด้านบน และเปรียบเทียบกับสิ่งทั่วไปให้รู้ขนาด มาจัดวางและวาดขึ้นใหม่ให้เป็นรูปชุดเดียวกัน ซึ่งการถ่ายภาพและเทคนิคอย่างอื่นทำได้ไม่เท่าการวาดรูปหรอกครับ

การแสดงรายละเอียดและโครงสร้าง ก็สร้างสรรค์และใส่ลูกเล่นได้เยอะครับ เช่น เทคนิคการวาดแสดงเหมือนการชำแหละ (Dissectional) แยกแยะให้ดู เหมือนอย่างที่หลายๆรูปของคุณณัฐรดาทำนั่นเลยครับ แยกใบ แยกดอก แยกดอกตูม กลีบดอก พร้อมกับแสดงภาพรวม การมีความรู้ข้อมูลสำคัญและความสามารถสร้างสรรค์วิธีแสดงแยกแยะ แต่ละคนจะทำได้ไม่เหมือนกันหรอกครับ ตรงนี้เป็นวิทยาศาสตร์เท่ากัน ข้อมูลก็เท่ากัน แต่จะเฉือนกันตรง Stage of the art ของแต่ละคนครับ

พอถึงระดับเซลล์และจุลวิภาคก็มีหลักคิดคล้ายกันครับ

เมื่อรวมทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้ว หากเป็นการศึกษาและบันทึกข้อมูลเพื่อการวิจัยหรือทำเป็นสื่อการศึกษา ก็จะเห็นว่ามันให้ข้อมูลที่ละเอียดและรอบด้าน  หากเป็นการนำเสนอผลการวิจัย  หลายๆเรื่องก็จะมีพลังในการแสดงความรู้ได้ดีกว่าการวิเคราะห์และนำเสนอด้วยตาราง ตัวเลข กราฟ การบรรยายและการพรรณาครับ

โดยพื้นของคุณณัฐรดานี้ หากเป็นสาขานี้ในต่างประเทศก็จะนับว่าเหมาะมากอย่างยิ่งครับ เพราะศิลปะในแนวนี้ จะเป็นสาขาความเชี่ยวชาญในขั้นสูงที่จะพัฒนาต่อยอดจากผู้จบปริญญาตรีและจบสาขาอื่นๆมาก่อนแล้ว เช่น จบแพทย์ ชีววิทยา วิทยาศาสตร์พื้นฐาน

ภาพแตรวงและอย่างที่ผมวาดนี้ ก็จัดเป็นการวาดภาพทางวิชาการอีกสาขาหนึ่งที่เรียกว่า Illustration ซึ่งเรามักจะเจอคนเรียกกันว่าการวาดภาพประกอบ แต่อันที่จริงแล้วจะไม่ใช่ครับ ควรจะเรียกว่าการแสดงข้อมูลและให้ข้อเท็จจริงด้วยภาพจึงจะถูก หากแสดงด้วยภาพถ่ายก็เรียกว่า Pictorial  งานอย่างนี้ไม่ใช่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความสวยงามเป็นหลักและไม่ใช่ประกอบเนื้อหาให้สมบูรณ์ขึ้นอย่างที่เรียกว่าภาพประกอบ  แต่มีบทบาทหลักในการให้ข้อมูลและแสดงข้อเท็จจริงด้วยภาพวาด ซึ่งตรงกันข้าม เนื้อหาการบรรยายด้วยถ้อยความกลับจะเป็นส่วนประกอบที่เข้ามาเสิรมภาพวาดและภาพถ่ายชนิดนี้ ดังนั้นจึงไม่ใช่ภาพประกอบที่เข้าไปเสริมเนื้อหาในความหมายทั่วๆไปครับ ภาพ Illustration เป็นการบันทึกและแสดงข้อมูลด้วยภาพ

ในการวาดและการถ่ายภาพก็ต้องทำงานข้อมูลและศึกษารายละเอียดมาก่อนเยอะครับ แล้วค่อยสร้างสรรค์มุมมองกับวิธีนำเสนอเป็นภาพวาด คุยได้เยอะครับ วันหลังผมก็ร่วมค่อยๆหาโอกาสบันทึกไว้ด้วยถ้าจะดีเหมือนกันนะครับเนี่ย ขอบคุณคุณณัฐรดาที่ทำให้ได้หัวข้อตุนไว้ในใจครับ

  • อ้าวคุณณัฐพัชร์ พอย้ายบ้านพักอาศัยนี่ เรื่องราวที่นำมาแบ่งปันเปลี่ยนไปเยอะเลยนะครับเนี่ย เป็นชนบทเลยนะครับ
  • ขออนุโมทนาด้วยครับ

สุดยอดเลยครับอาจารย์

สุดยอดตรงที่ .....มีภาพ มีคำบรรยาย ซึ่งร้อยเรียงเข้ากับเรื่องราวได้อย่างลงตัวและทำให้ได้อารมณ์-ได้ความรู้สึกอย่างมีชีวิตชีวา.... ทำให้หวลนึกถึงบรรยากาศการบวชนาคในสมัยนั้นจริง ๆ

การแห่นาคไปบวช เมื่อก่อน (ร่วมสมัยกับภาพที่วาด) ต้องเดินทางไปไกล เพราะโบสถ์และอุปฌาย์สมัยนั้นยังมีน้อย

การแห่นาคด้วยรถมักมีให้เห็นกันโดยทั่วไป แต่การแห่ด้วยช้างผมยังมีโอกาศได้เห็นครับ ส่วนมากมาจากทางพนมรอก คลองบอน พนมเศษ เขาล้อ ดอนคา ท่าตะโก ตอนเป็นเด็ก ๆ เห็นช้างแห่นาคมา มีความรูรสึกตื่นเต้นครับแล้วก็กลัวด้วย ..กลัวช้างทำร้ายเอา

เมื่อถึงคราวที่ผมบวช แตรวงของอาจารย์และกลองยาวตาห่วง เลิกกิจการไปนานแล้ว ......ทางบ้านได้ไปเช่า แคนวงมาจากน้ำสาดกลาง แห่จากห้วยปลาเน่า ไปบวชที่วัดโบสถ์แดง ...ทางไปห้วยร่วม..เขตพื้นที่บริเวณนั้นอาจารย์น่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีนะครับ

แง่มุมนี้ดึงออกมานำเสนอได้ ก็คาดว่าจะน่าสนใจดีและสะท้อนความเป็นชีวิตจิตใจของผู้คนได้อีกหลายอย่างนะครับ อย่างที่คุณสมบัติว่าน่ะครับ ต้องแห่และเดินทางก็ไกล พระอุปปัชฌาก็มีอยู่ในวัดไม่กี่แห่ง บรรยากาศและสภาพการแห่นาคไปบวชก็จะเหมือนในรูปครับ ต้องระดมเอาแรงกัน และช่วยเอาของมาลงหรือมาโฮมกัน หาบน้ำ ขูดมะพร้าว ต่อเติมบ้าน ทำปรัมพิธี โม่แป้งทำขนมจีน จิปาถะ

พอจะไปบวชก็ตื่นแต่มืด จัดข้าวของ แห่กันไปอย่างทุลักทุเล ทว่า จิตใจปลื้มปีติและเปี่ยมด้วยความสุข มีบทบาทที่มิใช่การบวชสืบทอดพระศาสนาอย่างเดียว ทว่า เป็นขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านให้คนบังเกิดภาวะผู้นำและเป็นการสร้างความเป็นปัจเจกที่สำคัญต่อการสร้างสมาชิกรุ่นใหม่ให้กับสังคมมากๆครับ

ลูกหลานหลายคนบ้านนอกถึงได้ให้ความสำคัญ ยอมรับนับถือการได้บวชและการได้เป็นทหาร  สองอย่างนี้มีนัยะต่อการเชื่อมโยงสำนึกปัจเจกให้เป็นหนึ่งกับส่วนรวมที่ยิ่งใหญ่

การแห่ด้วยช้างและม้าผมก็มีโอกาสได้เห็นอยู่บ้างครับ คนรุ่นเก่าแถวบ้านผมแทบทุกคนนี่แห่ด้วยขบวนช้างและปี่มอญครับ ตอนนาคขึ้นช้างและลงช้างนั้นเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง คือเดินจากพื้นบ้านแล้วขึ้นหลังช้างที่เข้าไปยืนเทียบเลย เรียกว่าใหญ่โตมโหฬารยิ่งกว่าบ้าน พอไปถึงวัดเขาก็คู้เข่าลงให้นาคลง ก็ยิ่งใหญ่ไปอีกแบบหนึ่งครับ

สวัสดีค่ะ

อ่านมุมมองแล้วเข้าใจภาพมากขึ้นค่ะ

ภาพ Illustration ที่อาจารย์วาด ก็ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นภาพวาดประกอบ

เหมือนภาพ botanical ที่ถูกเข้าใจผิดเป็น decorative เลยนะคะ

อะไรจะบังเอิญขนาดนั้น เพิ่งมีมิตรรักแฟนบล๊อกในโอเคเนชั่นเขาคุยถึงคุณณัฐรดาว่าทำไมคุณณัฐรดาไม่ค่อยไปเขียนในบล๊อกโอเคเนชั่น ถามไถ่ถึงกันเหมือนว่า GotoKnow เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งเลย พอคุยกันเสร็จแว่บเข้ามาในนี้ก็ได้เจอคุณณัฐรดาเข้าพอดี

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ติดตามมาอ่านเม้นท์ค่ะ
  • การบวชของคนทางบ้านนอกที่ดิฉันอยู่  ยังนิยมจัดงานใหญ่โตอยู่ค่ะ บางบ้านมีลิเก มีหนัง มีวงสตริงค่ะ
  • มีส่วนน้อยที่จัดตามประเพณี
  • ส่วนการเกณฑ์ทหาร...ยังมีจิตสำนึกในการรับใช่ชาติน้อย  หากจับได้ก็จะเสียใจร้องไห้คร่ำครวญกันทั้งครอบครัว
  • ครูจึงมีหน้าที่สร้างความตระหนักเรื่องสองอย่างนี้ค่ะ
  • ตอนนี้ดิฉันไปชาร์ทแบตฯ อยู่ที่ภาคใต้ค่ะ

สวัสดีครับครูคิม

เรื่องการบวชหน้าตาออกมาแบบที่ครูคิมว่านั้น เป็นไปหมดอย่างนั้นแหละครับ ที่จริงต้องเน้นการพัฒนาบทบาทของภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมในแนวทางที่เน้นเนื้อหาและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ไม่อย่างนั้นก็จะมีแต่การเปลี่ยนแปลงไปตามยถากรรม และสิ่งที่อนุรักษ์ไว้ก็มีแต่รูปแบบแต่ไม่มีการเรียนรู้ นี่เป็นแง่มุมหนึ่ง ที่ทำให้ผมสนใจตามเรียนรู้วิธีคิด-วิธีทำและการหาบทเรียนจากชีวิตและการงานของครูคิมน่ะครับ อยากสะสมเป็นกรณีตัวอย่างในบริบทต่างๆของสังคมไทยน่ะครับ

แต่ก็ริเริ่มและทำเพื่อหาทางไปในแนวใหม่ๆ หรือเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ครับ ผมกับกลุ่มคนที่คิดอย่างนี้เคยร่วมมือกับโรงพยาบาลอำเภอซึ่งเขาจัดงานระดมทุนกันอยู่เสมอแต่มักขาดเหล้ายาปลาปิ้งไม่ได้

ความที่การจัดงานจัดขึ้นในโรงพยาบาลอีกทั้งเป็นชุมชนอยู่ที่พุทธมณฑลเสียอีก มันเลยทำให้เราอดใจไม่ได้ที่จะขอจัดงานแบบปลอดเหล้าและสิ่งมึนเมาดูบ้าง ไม่ได้ขัดไปหมดหรอกแต่อยากให้มีเว้นๆในบางเงื่อนไขบ้าง แต่ไม่มีใครเห็นด้วยและไม่เชื่อว่าจะทำได้ ผลักดันอยู่ ๒-๓ ปีก็จัดกันได้ในที่สุด อาศัยความเป็นกลุ่มสังคมด้วยกัน คุยและพากันทำนี่ก็ใช้ได้ครับ

ครู คนอาวุโส และกลุ่มสังคม-กลุ่มเพื่อนฝูง เหล่านี้ก็เป็นโอกาสทำสิ่งๆได้เยอะครับ หรือแม้แต่จัดเล่นดนตีของครูคิมก็ยังถือโอกาสทำให้เป็นการเรียนรู้ที่จะแสดงความห่วงใหญ่ผู้อื่นและร่วมทำหน้าที่พลเมืองของสังคมที่ดีได้

ขอให้ได้พลังอย่างเต็มเปี่ยมจากการลงไปชาร์จแบตอยู่ที่ภาคใต้นะครับ อ้อ ตอนนี้ปิดเทอมนี่เนาะ มีความสุขครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ก่อนปิดภาคเรียน  ได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อท้องถิ่นและชุมชนของเราเป็นเวลา ๖ วัน
  • เพื่อให้เด็กมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนของเขา  รวมทั้งผู้ปกครอง คนในชุมชนและครูในโรงเรียน 
  • ภาคเรียนที่ ๒ จะเรียนรู้เกี่ยวกับแนวโน้มและความเปลี่ยนแปลงของชมชนค่ะ
  • โดยจะจัดทำเป็นหลักสูตรของโรงเรียน  อันเดิมเป็นหลักสูตรสมุนไพรพื้นบ้าน  คงจะได้โล๊ะทิ้ง  และจัดทำขึ้นมาใหม่โดยนักเรียนและคนในชุมชนเอง
  • ปัญหา เนื่องจากเยาวชนไม่รักเรียน  ไปทำงานหนักไม่เอาเบาไม่สู้  ได้เงินอยู่ไปวัน ๆ ซื้อของเงินผ่อน เล่นการพนัน ไม่มีแบบอย่างที่ดี
  • เรื่องที่เรามองเห็นว่าไม่ดี  แต่เป็นเรื่องธรรมดาของคนในชุมชน  ปัจจุบันขายที่ขายนาไปให้กับคนต่างถิ่นมาทำสวนยางพารา แต่ตนเองไปรับจ้างค่ะ
  • ไม่ทราบว่าความตั้งใจของดิฉันจะไปถึงไหน  แต่แม้แรงหนึ่งเดียวก็พร้อมสู้และพร้อมที่จะลงมือทำค่ะ
  • ขอขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ

เมื่อสักครู่นั่งกินข้าว เพิ่งจะขอให้น้องๆเขาหาหนังสือเล่มหนึ่งส่งให้ครูคิมนะครับ เป็นหนังสือปาฐกถาของคุณอมเรศ ศิลาอ่อน ในขณะที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง บทบาทของ พระ ครู แพทย์ ต่อการพัฒนาประเทศ ท่านมาแสดงปาฐกถานี้ที่การประชุมประจำปีของที่ทำงานเดิมของผมในยุคที่เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังรุ่งเรืองที่สุดในโลก เรากำลังจะเป็นนิคส์และต้องคิดอย่างประเทศที่กำลังจะรวย

แต่แปลกที่ท่านกลับมีวิสัยทัศน์ออกไปทางให้ความสำคัญกับการสร้างทุนมนุษย์และเห็นบทบาทการเป็นผู้นำทางสังคมของ ครู พระ แพทย์ ที่สังคมไทยจะต้องนำมาคิดเรื่องการพัฒนาการศึกษา  การพัฒนาสังคม และการแพทย์การสาธารณสุข ในบริบทจำเพาะของเราเอง 

แล้วหลังจากนั้นประเทศไทยก็ฟองสบู่แตกกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจของโลก ทรรศนะของปาฐกถานี้จะมองการณ์ไกลได้ดีจริงๆ เลยอยากส่งมาให้ครูคิมอ่านในฐานะครูสำหรับสร้างทุนมนุษย์ครับ

  • สวัสดีค่ะ
  • มาบล็อกนี้ได้เรียนรู้อะไรมากมายเลยค่ะ
  • สวัสดีครับคุณ kumfun ที่แพร่หนาวแล้วกระมัง
  • ขอบคุณที่แวะมาเยือนและทักทายกันครับ

สวัสดีครับอาจารย์

เมื่อวานผมได้นั่งคุยกับคุณเอกที่หน้าศาลายาครับ

เรื่องชื่นชมอาจารย์เป็นประเด็นนึงที่พูดคุยกัน

คงมีโอกาสเข้าไปสวัสดีอาจารย์ที่ศาลายาเร็ววันนี้ครับ

แล้วจะพาไปกินขนมจีนน้ำยาป่า ขนมถ้วย และโอเลี้ยงครับ

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์

  • แวะมากราบอวยพรใน วันคล้ายวันเกิด (๑๗ ๑๒ ๕๒) ของอาจารย์ค่ะ

"ขอคุณพระคุ้มครองอาจารย์ ตลอดไปค่ะ"

  • พักผ่อนบ้างนะค่ะอาจารย์ ทำงานหนักไปแล้วหล่ะค่ะ ..
  • ขอให้ไข้หวัดหาย ก่อนถึงงานวันพรุ่งนี้นะค่ะ ^^

สวัสดีค่ะ อ.วิรัตน์

ติดตามคุณณัฐพัชร์มาอวยพรวันเกิดอาจารย์ค่ะ

สุขสันต์วันเกิดค่ะ

ขอให้อาจารย์มีความสุขกับอิสรภาพในหัวใจนะคะ ..^__^...

คุณลุงคร้าบบบ...

ว้าว..... !!!! ถึงวันเกิดอีกแล้วเหรอครับ ขอให้คุณลุงของช้างน้อยมอมแมม ...สุขสำราญ "อยู่เย็นเป็นสุข" กับสิ่งที่คุณลุง "เป็นอยู่" สิ่งที่ลุง "ศรั่ทธา" และสิ่งที่ "ปรารถนา" จักเป็น....

อ้างอิงคุณพระ สิ่งศักดิ์ทั้งมวล  บันดาลให้คุณลุงมั่นยื้นนนน มั่นยืน ขอรับ...

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ตามคุณช้างน้อยมอมแมมมาอวยพรวันเกิดอาจารย์

สิทธิมัตถุ สิทธิมัตถุ สิทธิมัตถุ อิทัง ผะลัง

เอสัมึ ระตะนัตตะยัสมึ สัมปสาทนเจตนโส.

ขออานิสงส์นี้ จงมีผลสำเร็จ จงมีผลสำเร็จ จงมีผลสำเร็จ

แด่ท่านผู้มีดวงใจเลื่อมใส ในพระรัตนตรัยนั้น เทอญ.

สุขสันต์วันเกิดขอรับ...

ขอบคุณครับอาจารย์ณัฐพัชร์ เลยเป็นวาระทั้งอวยพรวันเกิดกับเยี่ยมไข้เลยนะครับ

สวัสดีครับคุณใบไม้ย้อนแสง : ขอบคุณคุณใบไม้ย้อนแสงผู้มีอิสรภาพในหัวใจอยู่เสมอเช่นกันครับ

สุขสันต์วันเกิด..ค่ะพี่อาจารย์

น้องอ้อยเล็กก็เป็นไข้หวัดเหมื๊อนกัน...นานเป็นที..ก็ต้องทำใจค่ะ...

พี่อาจารย์หายไวๆนะคะ...

สวัสดีครับหนูช้างน้อยมอมแมม : ลุงก็ขอขอบใจหลานมากนะครับ ขอให้หนูเติบโต มีความงอกงามในชีวิตอยู่เสมอครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ : เป็นพรที่เป็นมงคลชีวิตเป็นอย่างยิ่งครับ กราบขอบพระคุณอย่างยิ่งครับ

สวัสดีครับอาจารย์กู้เกียรติครับ : ขอบคุณอย่างยิ่งครับ พรุ่งนี้ คณะสังคมศาสตร์ฯมหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานประชุมวิชาการเนื่องในครบรอบการก่อตั้ง ๔๐ ปี ช่วงเช้า มีหัวข้อที่น่าสนใจ คือ การบรรยายพิเศษของอาจารย์หมอวิจารณ์ แล้วก็ตามด้วยการอภิปรายหมู่ของ ๓ อธิการบดี ของ ๓ มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ของมหาวิทยาลัยศิลปากรนั้น ท่านอธิการบดีคือ อาจารย์ ดร.อุทัย ดุลยเกษม ครับ เขาจัดที่โรงแรมรอยัลซิตี้ ซังฮี้ หากอาจารย์ผ่านไปก็แวะฟังสิครับ ผมว่าจะไปฟัง ทราบว่าอาจารย์กู้เกียรติเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ ดร.อุทัย แล้วก็เป็นศิษย์เก่าของศิลปากรด้วย ก็เลยดีใจและอยากประชาสัมพันธ์ให้ได้ทราบครับ

ขอบคุณครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก ขอบคุณรูปการ์ดสวยๆ ตอนนี้ดีขึ้นมากแล้วละครับ เมื่อวานไปเป็นวิทยากรที่ขอนแก่น ของศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน ไปช่วยทำเวิร์คช็อปให้เครือข่ายทำงานสุขภาพชุมชนของภาคอีสานถอดบทเรียนเพื่อดึงเอาข้อมูลจากการทำงานเชิงพื้นที่มาทำสื่อเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ คิดว่าจะไปไม่รอดเสียแล้ว แต่จู่ๆมันก็ป่วย จะไม่ไปก็คงจะทำให้เขาทั้งเสียงานและเสียแรงใจ ก็พอไปช่วยเขาให้ทำงานไปตลอดรอดฝั่งได้เหมือนกันครับ พอกลับมาก็ไปเลย ไข้ขึ้นจนหูอื้อตาร้อนคัดจมูกจนไม่เป็นอันทำอะไร แต่กลับมานอน ๓-๔ ชั่วโมงก็ฟื้นแล้วครับ แปลกใจตัวเองเหมือนกัน เพราะปรกติเวลาเป็นหวัดแล้วจะทรุดหนักเกือบเป็นเดือนทุกที

                

หวังว่าการ์ดใบนี้พร้อมกับคำอวยพรจากใจ อาจารย์ พี่ๆ น้องๆ จาก สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล จะช่วยเป็นกำลังใจให้อาจารย์หายไข้ไวขึ้นนะค่ะ ^^

 

ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์กับพี่ๆน้องๆชาวสถาบันอาเซียนทุกท่านเลยครับ เป็นการ์ดที่ดูแล้วช่างให้ความครึกครื้นและรื่นรมย์ใจดีจริงๆ

สวัสดีค่ะ

หายไปทำงานที่ค้าง กับแวะเยี่ยมเยียนเพื่อนๆที่โอเค กลับมาอีกทีก็เลยวันเกิดอาจารย์ไปแล้ว (ทราบจากอาจารย์ณัฐพัชร์)

หวังว่าอาจารย์จะมีความสุขในปีอายุใหม่ และปีใหม่ และหายป่วยไวๆด้วยนะคะ (มาทีเดียวรวบสามงานเลยค่ะ)

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ 

  • ขอบคุณครับ ไปป่วยตอนเดินทางไปเป็นวิทยากรที่ขอนแก่นพอดีเลย พอกลับมากำลังไข้งอมอยู่วันสองวันครับ ตอนนี้ค่อยยังชั่วมากแล้วครับ กำลังภูมิใจอยู่เลยครับว่าเกือบสองปีมานี้ยังไม่ป่วยไข้และเป็นหวัดเลย ก็มาเจอเสียจนได้ กลัวที่สุดเลยเป็นหวัดเนี่ยครับ กลัวไอจนแถบลูกตากระเด็น
  • ผมก็หมกมุ่นทำงานค้างเหมือนกันเลย เลยยังไม่ได้ไปอัพเดทบ้านแมกไม้บนรายทางในโอเคเนชั่นเลยครับ
  • ปีใหม่ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ จะไปจัดกิจกรรมค่ายและทำเวิร์คช็อปศิลปะกันที่ชลบุรีบ้านคุณณัฐรดาแน่ะครับ
  • ได้ความนิ่ง ความงอกงาม และมีความสุขสงบ ในห้วงสรุปบทเรียนชีวิตปลายปีของอีกปีหนึ่งนะครับ

ว๊าว ... อาจารย์จะยกทีมทางมหิดลไปชลบุรีหรือคะ ดีจัง จะได้ปะหน้าค่าตากัน

มีอะไรที่พอทำได้ หรือต้องการผู้ใช้แรงงาน ก็บอกได้นะคะ

เสริ์ฟน้ำเสริ์ฟท่า ปัดกวาดศาลาก็ได้ค่ะ

บางส่วนจะไปจากมหิดลครับ แต่จะมีทีมอีกจากหลายที่ ไปสมทบและทำกิจกรรมด้วยกัน เจ้าของงานเป็นคุณครูและกลุ่มคนทำงานสาขาต่างๆอยู่ที่ชลบุรีแน่ะครับ แต่กลุ่มที่สนใจด้วยกันที่จะตามไปสมทบนั้นจะมาจากหลายแห่งของประเทศครับ

                                    

                                     ภาพจาก วิรัตน์ : อ่างศิลาฯ เว็บศิษย์เก่าเพาะช่าง 

                                     

                                     ภาพจาก วิรัตน์ : อ่างศิลาฯ เว็บศิษย์เก่าเพาะช่าง 

                                      

                                     ภาพจาก วิรัตน์ : อ่างศิลาฯ เว็บศิษย์เก่าเพาะช่าง   

                                     

                                     ภาพจาก วิรัตน์ : อ่างศิลาฯ เว็บศิษย์เก่าเพาะช่าง  

                                      

                                     ภาพจาก วิรัตน์ : อ่างศิลาฯ เว็บศิษย์เก่าเพาะช่าง 

เคยไปทำกิจกรรมคล้ายอย่างนี้กันมาครั้งหนึ่งแล้วแหละครับ เลยเอารูปถ่ายมาให้ชมอีก แล้วจะบอกกล่าวให้ทราบครับ หากเป็นไปได้ก็อยากจะขอนำเอางานไปร่วมแสดง หรือเชิญไปเป็นวิทยากรให้เลยในฐานะเป็นคนท้องถิ่น ก็คงจะดีนะครับ แต่อันนี้ผมคิดเอง งานจริงๆนั้นเป็นของหมู่เพื่อนๆ เลยไม่กล้าคิดดัง ประเดี๋ยวทำให้เขาทำงานผิดวัตถุประสงค์ครับ อยากไปหาประสบการณ์และเดินบวกเพื่อเรียนรู้กับคนอื่นน่ะครับ

หนูขอมาเยี่ยมชื่นชมท่านอาจารย์วิรัตน์ ด้วยความเคารพค่ะ

  สวัสดีครับลูกหว้า    ดีใจจริงๆ ไปยังไงมายังไงกันละเนี่ย เมื่ออาทิตย์ที่แล้วได้นั่งกินข้าวกับอาจารย์ เลยทำให้คิดถึงอยู่นะครับ ยังได้ถามถึงอยู่ว่าตอนนี้เป็นไปอย่างไรกันบ้างแล้ว ตอนนี้ ในฐานะคุณแม่ลูกน้อย ก็คงต้องสาลวนไปหมดเลยใช่ไหม สุขภาพกาย โอเคขึ้นมากแล้วใช่ไหม ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันนะครับ มีความสุขมากๆครับ.

เรียนท่านอ.วิรัตนย์

ชมภาพและอ่านบันทึก

รับว่าเป็นบรรยากาศที่อบอุ่นมากๆนะคะ

อ.โชคดีจังเลยค่ะ ที่คุณแม่มาเยี่ยมที่ทำงาน

ทำให้คิดถึงวันที่ย้ายที่ทำงานคุณพ่อก็ตามมาเยี่ยม

ขอบคุณค่ะ

 

สวัสดีครับkrutoitingครับ

  • ขอบคุณkrutoitingครับที่แวะเข้ามาเยือน ทักทาย และแบ่งปันความเป็นชีวิตจิตใจกันครับ
  • การได้เห็นความทุกข์สุขไปด้วยกันกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หมู่มิตร และคนรอบข้าง เป็นคุณค่าและความหมายอย่างหนึ่งของการทำงานและการใช้ชีวิตที่สมดุลและพอเพียงแก่อัตภาพเหมือนกันเลยนะครับ  

สวัสดีค่ะท่านอ.

พี่กลับมาอ่านบันทึกนี้อีกครั้ง

พี่เคยนั่งรถไฟคนเดียวมากรุงเทพฯพ่อรอรับที่หัวลำโพง

และเคยนั่งรถไฟไปเนี่ยมแม่และน้องที่ยังไม่ได้ย้ายตามกันมา

ภาพในอดีตมักผุดขึ้น ทุกครั้งที่ได้สัมผัสกับจิตวิญญาณรักครอบครัว

บันทึกนี้ถือว่าเป็นสื่อให้ได้ร่วมย้อนอดีตอีกครั้งค่ะ

http://gotoknow.org/journals/krutoiting

สุขสันต์วันเกิดนะครับอาจารยืื์รับ

ก้วยความรักและเคารพ ค น ก

สวัสดีค่ะ

ไปเยี่ยมบันทึกเกี่ยวกับวันเกิดอาจารย์ที่บ้าน อ.ณัฐพัชรแล้ว วันนี้ตามมาเยี่ยมบันทึกนี้อีกที เลยได้เห็นค่ะ ว่าสองปีที่แล้วมาแสดงความยินดีเนื่องในวันคล้ายวันเกิดแก่อาจารย์ช้าไป

ปีนี้แม้จะเขียนไว้ในบ้านของ อ. ณัฐพัชรไว้ตรงวัน แต่กับเจ้าของวันเกิด ก็ยังช้าไปอยู่ดีค่ะ

หวังว่าอาจารย์จะมีความสุขเสมอนะคะ

  • สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์
  • วันเกิดเมื่อ ๒ ปีก่อนอาจารย์ไม่สบาย แต่รอบนี้อาจารย์แข็งแรงดี แต่ตัวเองกลับไม่สบายค่ะ อ่วมเลยค่ะ
  • มีกัลยาณมิตรมาร่วมอวยพรวันเกิดให้อาจารย์เยอะแยะเลยค่ะ ที่นี่ค่ะ คืนชีวิตสู่บ้าน คืนชีวิตสู่ธรรมชาติ

สวัสดีครับ Krutoiting ครับ
การได้มีความสุขไปกับการรำลึกอดีตในแง่หนึ่งนี่ เป็นตัวให้บทเรียนแก่เราเป็นอย่างดีเลยบนะครับว่า การทำปัจจุบันขณะให้มีความหมาย เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เรามีความสุขในอนาคต อย่างน้อยก็ได้ความสุขเมื่อนำมารำลึกถึงห้วงชีวิตที่ผ่านไป

สวัสดีครับคุณแสงห่งความดีครับ
ขอบคุณครับผม ขอให้คุณแสงแห่งความดีมีความสุขเช่นกันนะครับ

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ
ขอบคุณอย่างยิ่งครับคุณณัฐรดาครับ
ขอให้คุณณัฐรดามีความสุขมากๆเช่นกันครับ

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ
มาป่วยตอนนี้นี่ แสดงว่าเป็นคนไม่ชอบความสะดวกสบายหรือเปล่านะครับ ตอนสำบุกสำบันหัวหกก้นขวิดเมื่อช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมาตั้งหลายเดือนไม่เป็นอะไร พอเสร็จกิจต่างๆและน้ำก็เริ่มหายท่วมแล้ว ก็กลับมาป่วยเสียนี่ ขอให้หายไวๆเด้อ

ทุกครั้งที่เข้ามาอ่านบันทึก ดังลมหายใจ ของอาจารย์แล้ว มีความสุข และรู้สึกอบอุ่น อย่างบอกไม่ถูก

... มาเยี่ยมอาจารย์ด้วยความระลึกถึงนะครับ

ด้วยความระลึกถึงมากเช่นกันครับคุณแสงห่งความดี
หายไปไหนมาเป็นครู่เลยนะครับ สงสัยหมู่นี้งานสวนกับกรีดยางหนัก
รวมทั้งเป็นปิดเทอมอีกด้วย ต้องให้เวลากับลูกเต้าและญาติพี่น้องมากเลยใช่ไหมครับ
มีความสุขมากๆครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท