๓๖.งานสีน้ำเมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อนที่เพื่อนเก็บรักษาไว้และนำมามอบให้วันนี้


                                                  ภาพ   :   หุ่นนิ่งดอกไม้ในแจกันดินเผา   
                                              เทคนิค : สีน้ำวินเซอร์เล่นสโตรคด้วยพู่กันแบนรูเบนบนกระดาษวอทช์แมน ๑๐๐ ปอนด์
                                              ผู้วาด :   วิรัตน์ คำศรีจันทร์   ปี พศ. :  ประมาณปี ๒๕๒๐

บ่ายแก่ๆของวันเสาร์วันหยุดของสัปดาห์นี้ อาจารย์วิชาญ ศิริเวชช์ เพื่อนเก่าแก่ของผม ได้โทรศัพท์บอกว่ากำลังพาลูกสาวมาเข้าหอพักของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา พร้อมกับนำรูปเขียนสีน้ำของผมมาให้ผมด้วย ผมนั้นทั้งดีใจและประหลาดใจ

ดีใจที่เพื่อนกำลังมีความงอกงามในชีวิตด้วยว่าลูกสาวสอบเข้าเรียนคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ และประหลาดใจว่าเพื่อนเอารูปเขียนอะไรของผมมาให้ผม ซึ่งเมื่อเพื่อนได้แจกแจงให้ฟังแล้วก็ยิ่งประหลาดใจหนักเข้าไปอีก

เขาบอกว่าเป็นรูปเขียนสีน้ำเมื่อครั้งผมเรียนอยู่แผนกศิลปหัตถกรรม โรงเรียนเทคนิคราชบุรี ปัจจุบันคือคณะวิชาศิลปกรรม วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี[๑][คลิ๊กไปชมและอ่านรายละเอียดที่นี่] ซึ่งหมายความว่ามันเป็นรูปเขียนของผมที่มีอายุมากกว่า ๓๐ ปีไปแล้ว ดูเพื่อนและลูกสาวคงกำลังยุ่งวุ่นวาย คงจะกำหนดกะเกณฑ์ว่าจะเสร็จสิ้นธุระเมื่อไหร่ไม่ได้ ผมก็เลยให้เพื่อนทำธุระไปตามสบายและฝากรูปไว้ที่รปภ.ของหอพักมหาวิทยาลัย เมื่อว่างก็จะหาโอกาสแวะเข้าไปเอาเอง

เย็นของวันอาทิตย์วันนี้ ผมเลยแวะเข้าไปขอรับรูปเขียนของผมเองที่เพื่อนนำมาฝากรปภ.ไว้ให้ เห็นแล้วก็จำได้เป็นอย่างดี เป็นรูปสีน้ำ ดอกเบญจมาศ ชบาหรือพู่ระหง และดอกเยบีร่าในแจกันดินเผาลายพิมพ์กดให้พื้นผิวเป็นร่องลึก

เป็นงานเขียนสีน้ำที่ผมทดลองเขียนด้วยพู่กันแบนรูเบนเบอร์ ๑๒ เบอร์เดียว พู่กันแบนของรูเบนขนาดนี้ เป็นพู่กันแบนขนาดใหญ่ที่สุดในขณะนั้น ขณะเดียวกัน ก็ลองผสมผสานเทคนิคที่แปลกออกไปบ้าง เนื่องจากการเขียนสีน้ำโดยทั่วไปนั้น คนเขามักจะผสมสีให้ได้ตามที่ต้องการในจานสีก่อนแล้วจึงจะนำไประบายเป็นขั้นๆบนกระดาษต่อไป

แต่ในภาพนี้ ผมได้ทดลองเขียนไปอีกทางหนึ่ง แทนที่จะผสมสีในจานสีอย่างเดียวก็ทำพู่กันให้อุ้มน้ำ จุ่มสีทีเดียว ๒-๓ สีขึ้นไปแล้วก็เขียนเปียกบนเปียกอย่างต่อเนื่องทั้งภาพ สีจึงผสมกันเองถึง ๒ จังหวะด้วยกระบวนการธรรมชาติบนพู่กันและบนกระดาษซึ่งการระบายเปียกบนเปียกจะทำให้มีชั่วระยะเวลาหนึ่งที่สีจะไหลซอล์ฟเข้าหากัน ทำให้ได้ผลความเป็นสีน้ำที่ชุ่มฉ่ำ เห็นการเล่นสโตรค ทีแปรง และไม่มีสีใดหลงเหลือสภาพเป็นสีเอกรงค์แยกให้เห็นได้เลย จะสังเกตได้ว่าทุกทีแปรงเราจะเจาะจงไม่ได้เลยว่าเป็นสีและน้ำหนักใดเพราะต่างก็แลบสีและไหลไปตามธรรมชาติของน้ำ เป็นเทคนิคที่สามารถบันทึกการผสมผสานผลงานของคนกับพลังของธรรมชาติที่ดำเนินไปด้วยกันได้ดีมากทีเดียว

ทั้งกลุ่มสี แนวคิดการให้บรรยากาศสีน้ำ วิธีเหลือบสีและเล่นทีแปรงอย่างนี้เป็นอิทธิพลลีลาสีน้ำสไตล์ท่าน อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ แห่งเพาะช่าง[๒][คลิ๊กไปชมและอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเพาะช่างที่นี่] และอาจารย์สมบูรณ์ กล่ำสมบัติ ลูกศิษย์อาจารย์เฉลิมและครูศิลปะของผม [๓][คลิ๊กไปชมและอ่านรายละเอียดที่นี่]  ส่วนการใช้พู่กันแบนรูเบนขนาดใหญ่เบอร์เดียวอย่างนี้นั้น เป็นวิธีการที่ผมขอทดลองขึ้นเองซึ่งเป็นคนแรกและคนเดียวในยุคที่เพิ่งรู้จักพู่กันแบบนี้ของพวกเรา

วิธีอย่างนี้ต้องลงทีแปรงแบบทีเดียวและครั้งเดียวอยู่ น้ำหนักและจังหวะต้องทีเดียวผ่าน ไม่มีลังเล หากพลาด อ่านน้ำหนักและจังหวะผิด หรือไม่แน่วแน่ กลับไปกวนหรือซ้ำก็จะเสียเลย อีกทั้งการเน้นและการได้ลีลาของเส้นเล็กๆนั้น โดยปรกติแล้วก็มักจะเขียนด้วยพู่กันเก็บรายละเอียดขนาดเล็กลดหลั่นกันอีกหลายเบอร์ แต่ในรูปนี้เกิดจากการควบคุมน้ำหนักมือและการพลิ้วพู่กันซึ่งเป็นแปรงแบนๆขนาดใหญ่เบอร์เดียว

ผมเขียนภาพนี้โดยแทบจะไม่ต้องร่างและกระชากอย่างต่อเนื่อง ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก่อนที่จะไปเที่ยวบ้านสวนของสัญญลักษณ์ สำรวมจิตต์ เพื่อนคนหนึ่งบ้านอยู่บางคณฑี กับวิชาญ ศิริเวชช์ ซึ่งปัจจุบัน ทั้งสองท่านนี้เป็นอาจารย์และทีมผู้บริหารของวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี

ภาพนี้เป็นภาพที่ครูของผมคืออาจารย์สมบูรณ์ กล่ำสมบัติชื่นชมมากที่สุดภาพหนึ่ง ผมเขียนภาพนี้เสร็จก็วางกระดานเสก๊ตช์พิงผนังห้องเรียนทิ้งไว้ให้แห้งแล้วก็ไปเที่ยวบ้านสวนของสัญญลักษณ์ สำรวมจิตต์ ไกลจากตัวเมืองราชบุรีลึกเข้าไปในสวนประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ไปกินมะกอกน้ำ ดูน้ำกร่อยจากทะเลขึ้นลงตามร่องสวนและนั่งดูปลาตีนวิ่งไล่กันบนดินเลน ซึ่งแทบทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งอัศจรรย์ในชีวิตผมไปหมดเพราะตั้งแต่เกิดมาผมก็ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย อีกทั้งคุณพ่อและคุณแม่ของเพื่อนนั้นก็ให้ความเมตตาผมเหมือนอย่างลูกอีกคนหนึ่งของท่าน

พอกลับจากบ้านเพื่อนก็แวะเข้าไปในโรงเรียนอีก ผมจำอารมณ์เมื่อครั้งนั้นได้ดี เพราะพอเดินเข้าบริเวณโรงเรียน ก็เห็นอาจารย์สมบูรณ์และเพื่อนๆยืนมองมาที่ผมซึ่งกำลังเดินเข้าประตูโรงเรียน ผมนั้นใจไม่ดีเลย แล้วก็มีเพื่อนบอกว่าให้รีบเดินมาหาอาจารย์ อาจารย์สมบูรณ์เป็นที่เคารพรักของผมและเพื่อนๆมาก จึงเป็นธรรมดาที่เราจะเป็นทุกข์ฉับพลันหากเป็นเหตุทำให้ผู้ที่เราเคารพรักผิดหวัง แต่ผมกำลังเผชิญกับสิ่งที่ไม่รู้ว่ากำลังเกิดอะไรกันขึ้น แทบจะเป็นลมเลยทีเดียว

พอไปถึงอาจารย์สมบูรณ์ก็บอกให้เดินไปด้วยกันมุ่งตรงไปยังรูปที่ผมเขียนและตั้งทิ้งไว้นี้ พวกเราไม่เคยมีการนำเอารูปมาตั้งและดูกันเดี่ยวๆเลย ผมเลยนึกไม่ออกว่าเกิดอะไรขึ้น ในขณะที่กำลังพยายามจะบอกกับอาจารย์ว่างานชิ้นนี้ไม่ใช่งานเรียน ไม่ใช่งานที่อาจารย์มอบหมาย เป็นงานที่ผมเขียนฝึกมือเล่น ไม่ได้ตั้งไว้รออาจารย์ตรวจและให้คะแนน

แต่ขณะที่หายใจไม่ทั่วท้องนั้น อาจารย์สมบูรณ์ก็บอกให้ผมเข้าไปใกล้ๆแล้วก็บอกว่า เธอเขียนสีน้ำรูปนี้ดีมาก สีน้ำต้องเขียนอย่างนี้ถึงจะมีชีวิต...พระเจ้า !!!!! อาจารย์และเพื่อนๆทำผมเกือบหมดสติแล้วกลับเป็นหัวเราะด้วยกันได้ภายในวินาทีเดียวกัน ดูเหมือนว่าเพื่อนๆและอาจารย์จะเลือกภาพนี้ของผมลงตีพิมพ์ในสูจิบัตรสำหรับแจกจ่ายประกอบการแสดงผลงานศิลปะครั้งแรกของพวกเราในจังหวัดราชบุรี วิชาญคงจะเก็บภาพนี้ไว้ตั้งแต่ครั้งนั้นเพราะเขาเป็นแกนหลักคนหนึ่งของพวกเราในการหาสปอนเซอร์และทำสูจิบัตร

                         อธิบายภาพ : กลุ่มเพื่อนๆ นักเรียนศิลปหัตถกรรม วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี รุ่นที่ ๑ ในขณะเริ่มเรียนปีที่ ๓ อาจารย์สมบูรณ์ กล่ำสมบัติ (เสื้อขาวยืนกลางภาพ) และอาจารย์ภาสกร โพธิ์เจริญ (เสื้อสีม่วงแดงยืนกลางภาพข้างอาจารย์สมบูรณ์) พาไปเขียนรูปทะเลที่หาดวนกร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เขียนสีน้ำภาพนี้ นักศึกษารุ่นที่ ๑ รุ่นนี้ เมื่อจบการศึกษาแล้วก็สามารถสอบเข้าโรงเรียนเพาะช่างได้ทั้งหมด อาจารย์วิชาญ ศิริเวชช์ คือคนที่ ๓ แถวยืนจากซ้าย ผู้เขียนนั่งกอดคออาจารย์สัญญลักษณ์ สำรวมจิตต์ คนที่ ๓ จากริมขวาของแถวนั่งที่สอง

ในช่วงนั้นผมเขียนรูปทุกอย่างอยู่ตลอดเวลา ทั้งดรออิ้งและสีน้ำ เขียนทั้งกลางวันกลางคืนทั้งวันปรกติและวันหยุด กลางคืนก็นั่งตามโคมไฟและเขียนแมลงที่บินตกลงมา และครั้งหนึ่งก็เด็ดไบไม้มา ๑ ใบ เขียนตั้งแต่เช้าทีละรูปในขณะที่ใบไม้ยังสดและรูปทรงปรกติ กระทั่งเหี่ยวและไร้รูปทรงเมื่อถึงบ่ายคล้อย เขียนเป็นหลายร้อยรูป ได้เห็นพัฒนาการและความต่อเนื่องของความเปลี่ยนแปลงของใบไม้ที่สื่อสะท้อนกับภายในตนเองอย่างเป็นสายธาร ซึ่งเป็นผลดีต่อผมเองในเวลาต่อมาอย่างยิ่ง เพราะเมื่อต้องการคิดและถ่ายทอดการเห็นภาพในความคิดออกมาก็สามารถวาดเป็นรูปอย่างที่ต้องการโดยไม่ต้องดูแบบหรือมีต้นแบบใดๆเลยก็ได้

วิชาญ ศิริเวชช์ และสัญญลักษณ์ สำรวมจิตต์ เป็นเพื่อนเรียนและเพื่อนรักที่สุดอีก ๒ คนของผมที่ผมคลุกคลีและเคารพรักพ่อแม่ญาติพี่น้องของเพื่อนเท่าที่ได้รู้จักจนเหมือนพ่อแม่และญาติของผม เพื่อนทั้งสองคนนี้ต่อพ่อแม่และญาติพี่น้องของผมก็เช่นกัน ผมไปบ้านของเพื่อนทั้ง ๒ ท่านนี้แล้วก็จะรู้สึกว่าเหมือนกับไปบ้านตัวเอง และที่บ้านของสัญญลักษณ์ สำรวมจิตต์นั้น ผมก็เขียนสีชอล์คพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง และเขียนภาพสีโปสเตอร์แบบคอลลาจรูปนกยูงเกาะกิ่งสนสามใบซึ่งคุณพ่อของสัญญลักษณ์ชอบ ส่วนวิชาญก็เขียนรูปฟ้าชายมอบไว้ให้ วิชาญนั้น เป็นเพื่อนที่ผมเล่นและทำงานด้วยมากที่สุด วิชาญเป็นเด็กเรียนและทำงานคู่กับผมตลอด ผมกับวิชาญผลัดกันเป็นหัวหน้านักเรียนและผลัดกันสอบได้ที่ ๑ กับที่ ๒ ตลอดหลักสูตร

                                                    อธิบายภาพ : ผู้เขียนเมื่ออายุประมาณ ๑๙-๒๐ ปี 
                                                    ขณะเป็นเด็กวัดเขาวังราชบุรี และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เขียนภาพนี้ 

แต่ผมไม่เคยทราบเลยว่าเขาเก็บรูปนี้ไว้ให้ผม จากกระดาษที่ไม่ช้ำเลย พร้อมกับนำไปเข้ากรอบอย่างพิถีพิถัน ก็สะท้อนว่าเขาตั้งใจและได้เตรียมการอย่างดีที่จะนำมามอบให้ผมในวันนี้ซึ่งผ่านไปกว่า ๓๐ ปีแล้ว เพื่อนผมช่างสายตายาวไกลจริงๆ การที่เขาดูแลรักษารูปเขียนของผมอย่างยาวนาน นานจนอายุของภาพเก่าแก่มากกว่าอายุลูกสาวของเขาเกือบ ๒ เท่า และนำมามอบให้พร้อมกับวันที่คนรุ่นลูกของเราได้เติบโตก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยนั้น ราวกับได้สื่อความหมายในวิถีของเขาว่าเขาดูแลงานศิลปะนี้อย่างดีพอๆกับลูกของเขา

วิชาญ ศิริเวชช์ และ สัญญลักษณ์ สำรวมจิตต์ นั้น ต่อมาก็เป็นผู้ที่ร่วมกับรุ่นน้องอีก ๒-๓ คนบุกเบิกเปิดสาขาวิชาศิลปกรรมขึ้นในวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี รวมทั้งมีบทบาทหลายอย่างทั้งของจังหวัดและในท้องถิ่นภาคตะวันตก ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนทางวิชาการจากต่างประเทศอยู่เสมอ ได้ทำงานเพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้แก่เด็กๆจากครอบครัวในชนบท ซึ่งการได้เรียนจบและส่งถึงฝั่งให้ประกอบอาชีพได้สัก ๑ คนของลูกหลานกลุ่มนี้ก็จะส่งผลต่อการดูแลพ่อแม่และพี่น้องในครอบครัวหนึ่งๆอีกหลายคน เป็นการศึกษาที่มีบทบาทต่อการดูแลพื้นฐานของสังคมให้มีสุขภาพดีอย่างใกล้ชิด

หมายเลขบันทึก: 372096เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2010 23:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (29)

สวัสดีค่ะ

แวะมาเรียนรู้ศิลปะการกระชากสีน้ำค่ะ

ชอบตรงดอกชบาหรือภู่ระย้าคะ

เกสรห้อยลงมาได้จังหวะ

ท่าทางจะโดนแดดเผาซะน่วมเลยนะคะ

ส่วนแจกันนั้นก็ให้ความรู้สึกที่มั่นคง สง่างาม

เป็นที่รองรับของดอกไม้หลากชนิดต่างสีสันกัน

ก่อนลงสีท่านอ.ใช้น้ำลูบกระดาษก่อนไหมคะ

ขอบคุณภาพสวยแปลกตาดี และวันวานที่มีความหมายค่ะ

สวัสดีครับkrutoitingครับ

  • นั่นน่ะซีครับ จะเรียกว่าระบายสีน้ำก็ไม่ได้อารมณ์อย่างที่มันเป็น ต้องเรียกว่ากระชาก....กระชากสีน้ำ
  • ยุคนั้นยังไม่รู้จักการใช้น้ำลูบก่อนเลยครับ
  • ดูเหมือนว่าวิธีการใช้น้ำลูบกระดาษก่อนนั้น เป็นวิธีการที่ศาสตราจารย์อารี สุทธิพันธุ์ แห่งวิทยาลัยการศึกษา ประสานมิตร ท่านพัฒนาวิธีสอนและเผยแพร่ในวงการศิลปศึกษาของไทย เป็นวิธีที่ก้าวหน้าและสามารถพัฒนาเป็นวิธีสอนศิลปะให้กับผู้สนใจทั่วไปได้
  • ก่อนหน้านั้น ไม่ค่อยมีใครอยากเขียนสีน้ำหรอกครับ เป็นเทคนิคปราบเซียน เขียนให้ได้อย่างใจยาก ไม่เหมือนสีน้ำมันและเทคนิคอื่นๆซึ่งรอคอยและใช้เวลาตบแต่งได้ตามที่ต้องการหลายครั้งเท่าที่ต้องการทำ
  • แต่ก็เคยเห็นในผลงานการทรงงานศิลปะสีน้ำของสมเด็จพระบรมราชชนก และผลงานของ มรว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งน่าตื่นตามากครับ
  • ได้เห็นอีกครั้งเมื่อ ๔๐ กว่าปีผ่าน ถึงได้ทราบความร่ำลือในหมู่คนเขียนรูปต่อความเป็นสีน้ำวินเซอร์และกระดาษวอทชแมนครับ สีของเขาแทบจะไม่เพี้ยนเลย ยังคงอิ่ม เห็นความชุ่มและน้ำหนักแผ่วเบาได้อย่างชัดเจน ตอนนั้น สีหลอดหนึ่ง ๒๐ กว่าบาท แต่ตอนนี้เป็นหลอดละ ๑๐๐ ถึง ๒๐๐ กว่าบาทในบางสี
  • กระดาษวอท์ชแมนกลับถูกลง ตอนนั้นแผ่นละ ๔๐ กว่าบาท(แพงกว่าค่าดูหนังในโรงหนังชั้น ๑ ของกรุงเทพฯกว่า ๒ เท่า) แต่ตอนนี้เย็บเล่มขาย เล่มละไม่กี่ร้อยบาท ทว่า มีกระดาษอย่างอื่นออกมาซึ่งสามารถเขียนและล้างน้ำออกได้โดยกระดาษไม่เปื่อยยุ่ย แผ่นขนาด ๔ เท่าของกระดาษเอ ๔ ตกแผ่นละ ๓๐๐ กว่าบาท
  • กว่าจะใจถึง กล้าเขียนลงกระดาษอย่างนี้ ก็ต้องฝึกแล้วฝึกอีก กระนั้นก็ตาม พอเขียนก็มักจะฝืด ไม่คล่องและฉับไวเหมือนกับตอนฝึกเพราะวิตกจริตกลัวกระดาษเสียและเหมือนฉีกสตางค์เล่นครั้งละเกือบ ๕ ร้อยบาท
  • เข้าใจความแตกต่างที่เกิดขึ้นแก่ตนเองได้อย่างดีเลยครับว่า เมื่อครั้งที่กระชากทีแปรงอย่างทีเดียวผ่านและทีเดียวอยู่อย่างเมื่อก่อนนี้นั้น ทำไมอาจารย์ถึงบอกว่าต้องให้ได้อย่างนั้นถึงจะได้ความเป็นสีน้ำ
  • มือและจิตใจเข้าไม่ถึงจิตวิญญาณสีน้ำได้อย่างเมื่อก่อนนี้แล้วครับ

Zen_pics_007 
มายิ้มรับความงาม...แห่งศิลปะค่ะอาจารย์

ขออนุญาตเข้ามาเยี่ยมครับ

อาจารย์ เพนท์สีได้ชุ่มช่ำ ได้อารมณ์ความเป็นสีน้ำ สวยงามครับ

ได้อ่าน คำอธิบายบล็อกของอาจารย์แล้ว ชื่นชมมากครับ ที่เขียนถึง "ศิลปะ"

ในองค์กรทางการศึกษา ที่มีหลากหลายศาสตร์รวมกัน ศาสตร์สมองซีกขวา ที่เป็นศิลปะ ในบางเรื่องคนส่วนใหญ่ในองค์กร ยังไม่เข้าใจพวกเรา จะพยายามสร้างเกณฑ์ต่างๆ ให้เรา เป็นอย่างเขา ไปทุกเรื่อง ... ซึ่งเป็นเรื่องที่ อึกอัดใจมากครับ

เห็นภาพแล้ว สะกดให้หยุดพิศ นิ่งเลยค่ะ งดงามมากๆ ค่ะอาจารย์

ลายลายแจกันแล้วลายพิมพ์นิยมนี่คะ เห็นความแช่มช้อยเกสรชบาย้อยลงมา

เป็นงานศิลป์ทรงคุณค่า เปี่ยมความหมาย เยียวยาใจนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีครับ ดร.Ka-Poom ครับ

                                                 Zen_pics_007 

ชอบโลโก ดร.Ka-Poom นะครับ แนวการเขียนด้วยสีดำอย่างเดียวและด้วยการถ่ายทอดอารมณ์ภาพ บอกเล่าความเป็นสมาธิ ความเป็นหนึ่งของจิตใจกับการพลิ้วของพู่กันอย่างนี้ ในทางศิลปะก็จัดได้ว่าเป็นฐานคิดของงานศิลปะแนว Reflectioning เช่น งานพู่กันสีหมึกของจีน งานสื่อสะท้อนภาวะเซนและเต๋า ถวัลย์ ดัชนี เป็นจิตกรไทยและระดับโลกคนหนึ่งที่ใช้แนวคิดนี้ทำงาน เขาบอกว่าไม่ต้องใช้สีอย่างอื่นให้มากเรื่อง ใช้สีดำโดดๆและการสื่อสะท้อนภาวะตนเองออกมา เพราะความงามและพลังของศิลปะไม่ได้อยู่ที่สีสันที่ใช้อยู่ข้างนอก ทว่า อยู่ข้างในจิตใจทั้งของคนทำและผู้ชม

มายิ้มรับความงาม และแถมให้อีกรูปครับ รูปนี้ก็เป็นปรากฏการณ์คล้ายกับที่เกิดขึ้นกับสีน้ำรูปที่ได้เอามาอวด-แบ่งปันกันนี้เลยครับ เป็นรูปหุ่นนิ่งดอกไม้ เขียนด้วยสีน้ำมันและชุดพู่กันที่ดีที่สุดในเวลานั้นคือสีเลอฟรังซ์ของฝรั่งเศสและชุดพู่กันสีน้ำมันของรูเบน ของเยอรมัน เลยเขียนอย่างกระหายด้วยเช่นกันครับ โดยปรกติผมจะเขียนภาพแนว Realistic , Super Realistic และ Surrealistic คนละแนวกับสีน้ำเลย แต่ชุดนี้ผมเขียนในแนว Impressionist

                        Stilllife 

ภาพชุดนี้ อีกส่วนหนึ่งเป็นภาพทิวทัศน์และอาคารสถานที่ เป็นภาพอาคารที่ทำการไปรษณีย์หลังเก่าดั้งเดิมแถวปากคลองโอ่งอ่าง ข้างปากคลองตลาด ๑ ภาพ และภาพป่าที่น้ำตกวังตะไคร้ จังหวัดนครนายก อีก ๑ ภาพ ภาพแนวนี้โดยวิธีคิดแล้วก็คล้ายกับแนวการเขียนภาพอย่างที่ผมกล่าวถึงการเขียนพู่กันสีหมึกแบบ Monochrome ในโลโกของ ดร.กะปุ๋มนะครับ คือ วางอยู่บนทรรศนะที่ว่าความงามเป็นประสบการณ์ภายในของปัจเจกทุกคน แม้รูปเขียนจะเป็นภาพเดียวกัน แต่ก็เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น เพราะความงามและสิ่งที่แต่ละคนจะได้รับนั้น เป็นสิ่งที่เราเห็นและสร้างขึ้นด้วยภาวะภายในของเราเอง

ภาพแนวนี้จึงจะสะท้อนแต่เพียงภาพรวมของอารมณ์ภาพ อารมณ์ของแสงเงา ไม่มีรายละเอียดและความชัดเจนให้เห็นเลย แต่คนก็กลับจะสามารถเห็นและสัมผัสภาวะความเป็นสิ่งนั้นๆได้อย่างแจ่มชัดในประสบการณ์ของตนเอง วิธีอธิบายของภาพและการทำงานในแนวนี้ก็คือ ศิลปะและความงามไม่ได้อยู่ที่ตัววัตถุ ทว่า อยู่ที่การสื่อสะท้อนความสร้างสรรค์ของผู้สร้าง กับการสื่อกับผู้ชมและความสามารถในการเห็นของผู้ชม มีคำกล่าวที่สะท้อนวิถีทรรศนะแบบนี้ได้ชัดเจนดีว่า Art is ways of seeing : ศิลปะและความงามคือวิถีการมอง การพัฒนาตนเองทางศิลปะในแนวคิดนี้จึงเป็นการพัฒนาโลกทรรศน์และชีวทรรศน์ เพื่อสะท้อนไปสู่การดำเนินชีวิตและการจัดความสัมพันธ์ตนเองของมนุษย์กับสิ่งต่างๆ

มีความสุขกับการดูรูปเขียนและพักสายตาครับ

สวัสดีครับคุณart7yod2 : หมู่เฮาชาวเจ็ดยอด เชิงดอย

  • ดีใจครับที่แวะเข้ามาอ่าน เยี่ยมชม และให้กำลังใจกันครับ
  • เป็นวิธีทำงานอีกแนวหนึ่งน่ะครับ ที่นอกจากจะเป็นเวทีทางศิลปะและผสมผสานกันของสาขาวิชาการต่างๆแล้ว ก็สนใจที่จะให้ความสำคัญกับศิลปะที่อยู่กับวิถีชีวิตและการสะท้อนแง่มุมศิลปะ คืนสู่จิตใจและความสร้างสรรค์ของชาวบ้านทั่วไปน่ะครับ

                     

                      ภาพ : หลุุมโจนศิลปะการหาปลาในวิถีชาวบ้าน
                      โดย : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ เทคนิค : ลายเส้นปากกาบนกระดาษ
                      อ้างอิงภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ในบล๊อก Gotoknow 
                      เข้าชมได้ที่ : http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/357966
                      และที่ : http://gotoknow.org/file/wiratkmsr/view/550729

  • มีงานแนวศิลปะในวิถีชีวิตชุมชนให้ชมเพลินๆอีกครับ คอศิลปะคงจะชอบครับ 
  • แวะไปที่นี่บ้างนะครับ เวทีคนหนองบัว

สวัสดีครับคุณ poo ครับ

  • รู้สึกสนุกและมีความสุขไปด้วยเลยละครับ บรรยากาศเหมือนเวลาไปจัดแสดงงานเลยครับ
  • เป็นการแสดงงานศิลปะแบบออนไลน์ ได้แบ่งปันกับคนชอบศิลปะในบรรยากาศอีกแบบหนึ่งครับ
  • ขอบคุณจังเลยครับที่มาเยือนและแบ่งปันความชอบศิลปะด้วยกัน

สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์

บ่งบอกว่า  เพื่อนรักกันจริงๆ   เอ  ....หรือว่ารำลึกถึงความหลังแสดงว่า   ....

นักสื่อสารสุขภาพจังหวัดแพร่   ที่อาจารย์ได้มาช่วยเป็นวิทยากรให้ค่ะ 

สวัสดีครับคุณท้องฟ้าครับ

  • หายแซ๊บไปนานเลยนะครับเนี่ย  
  • สบายดีนะครับ
  • รำลึกถึงด้วยความประทับใจและชื่นชมเครือข่ายสื่อสารสุขภาพเมืองแพร่อยู่เสมอครับ

วันนี้เมื่อตอนเย็นระหว่างเส้นทางเดินจากอาคารทำงานไปลานจอดรถ ได้พูดถึงงานเขียนและภาพศิลปะของอาจารย์ ที่สะท้อนออกมาอันเป็นความงามทางความคิด ทางปัญญา อันบ่มเพาะมาจากจิตใจที่เต็มเปี่ยม...

เป็นการแลกเปลี่ยนในทัศนะ...ของความมีสุนทรียะในอารมณ์และห่วงแห่งจิตวิญญาณ

กะปุ๋มชอบมาดูภาพเขียนลายเส้นของอาจารย์เสมอ ...

เป็นเพียงการมาเพ่งพิจและเมียงมอง...

Zen_pics_007 

การได้เป็นสภาพแวดล้อมและความบันดาลใจให้กัน แม้เพียงเล็กน้อยให้ได้เกิดวาระความสนใจนำไปสู่การได้ สุนทรียสนทนา ในอริยาบทสบายๆอย่างนั้น เพียงได้ทราบก็ได้อิ่มปีติและมีความสุขไปด้วยเลยทีเดียวเชียวละครับ

                           Growth 

ดร.กะปุ๋มมักถ่ายทอดการอ่านธรรมชาติได้ดีครับ ผมเองก็นอกจากจะได้อาศัยชมสีน้ำและรูปวาดของดร.กะปุ๋มแล้ว ก็ชอบดูรูปถ่ายด้วย

ดร.กะปุ๋มมีภาษาการมองและการอ่านธรรมชาติที่ให้ความบันดาลใจดีๆเยอะเลยละครับ เลยนำรูปถ่ายมาแบ่งปันอีกรูปครับ รูปนี้ผมต้องการบันทึกและเล่าพลังของธรรมชาติ ผ่านการจัดมุมมอง องค์ประกอบการแสดงตนเองของธรรมชาติ และจังหวะของแสงเงา เป็นสุนทรียสนทนาผ่านเลนส์ที่สนุกและได้ความเพลิดเพลินไปอีกแบบครับ

มาชมภาพวาดแจกันดอกไม้สวยงามด้วยสีสันแสงเงา...มิตรภาพระหว่างเพื่อนๆ และภาพเก่าที่มีคุณค่าต่อความทรงจำ..

...พี่สนใจวาดภาพเป็นงานอดิเรกค่ะ...ภาพ portrait แรกที่ได้ทำอย่างตั้งใจด้วยความรัก คือภาพคู่ของคุณพ่อ-คุณแม่ ในวันสมรสของท่าน..พี่ได้มอบให้ท่านในวันครบรอบแต่งงานปีที่ ๕๗ ค่ะ..

 

เด็กชายวิรัตน์ คำศรีจันทร์...น่ารักมากกกกกกกกกกกกเลย.....

ประทับใจแทนจริงๆเลยค่ะที่ยังเก็บรักษาภาพเขียนเอาไว้ได้ ของครูอ้อยเล็กไม่เหลือสักภาพเลย...

สวัสดีครับคุณพี่นงนาท สนธิสุวรรณ ครับ

  • เป็นการสื่อแสดงพลังความรักต่อคุณพ่อคุณแม่ และการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวาระที่มีความหมายที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของพ่อแม่ลูก ด้วยภาษาศิลปะที่น่าประทับใจมากจริงๆครับ
  • สวยและได้พลังของความแน่วแน่ในการเขียนครับ
  • คนที่เริ่มต้นจากความสนใจอย่างที่พี่ทำนี้ ในต่างประเทศก็มีการขยายตัวเป็นกลุ่มจิตรกรที่ให้สีสันและความริเริ่มในเรื่องศิลปะที่น่าสนใจมากเลยครับ ลองแวะไปชมงานของคุณแม่ชุมสาย มีสมสืบ แม่ของศักดิ์สิริ มีสมสืบสิครับ พี่ต้องตื่นเต้นและได้พลังใจเขียนรูปเยอะเลยละครับ ที่นี่ครับ
  • สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็กครับ
  • คงอยู่ในวัยใกล้ๆกับกลุ่มลูกศิษย์น้องคุณครูอ้อยเล็กเลยละครับ

อรุณสวัสดิ์ค่ะพี่อาจารย์ พี่นงนาทและเพื่อนสมาชิกทุกท่าน..ที่เหลืออยู่ก็เป็นภาพที่วาดไปกับเด็กตอนเข้าค่ายศิลปะ..ที่อ.ดอนตูม..ก็พอจะเก็บไว้ได้แต่ก็ใส่กรอบมอบเจ้านายที่นับถือไปแล้วค่ะ..

กับอีกภาพหนึ่งที่นึกยังไงไม่รู้..รู้แต่ว่าเวลามันล่วงไปๆแต่สิ่งที่ทำให้ทุกชีวิตดำรงอยู่ได้ก็คือความดี ความมีน้ำใจให้กัน...ก็เลยขีดๆเขียนไปพร้อมๆกับเด็กที่เข้าค่ายก็ได้มา2ชิ้นงานในครั้งนั้น รู้สึกปลดปล่อยดีค่ะพี่อาจารย์..

ส่วนภาพนี้เรียนกับอ.กษมาที่ตั้งฮั่วเส็งธนบุรี....เรียนอยู่หลายสัปดาห์ อ.กษมาช่วยบ้างเลยเสร็จเป็นผลงานผ้าไทยที่อ.กษมาท่านได้รับการถ่ายทอดมาจากอ.ชาวญี่ปุ่นคืออาจารย์โอชิเอะที่เห็นคุณค่าของผ้าไทยนำมาประยุกใช้เป็นภาพขึ้นมาเหมือประตะมากรรมผ้าอย่างหนึ่งค่อคือมีมติขึ้นมาจากพื้นเป็นภาพนูนต่ำ ซึ่งกรรมวิธีและขั้นตอนประณีตเหลือหลาย..คนเรียนต้องอดทน มีเวลาและมีใจรักด้วยค่ะ นี่ก็เป็นชิ้นงานเดียวที่ยังเก็บไว้อยู่ 1 เดียวในฝีมือที่ทำได้ด้วยอดทน..ค่ะ..

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็กมนุษย์อัศจรรย์

  • มีอยู่ภาพเดียวที่เครื่องไม่สามารถโหลดขึ้นมาได้คือภาพในกล่องสนทนาที่ ๑๗ เลยเหมือนกับเห็นไม่ครบเลยละครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก
  • วิธีให้ประสบการณ์ต่อสิ่งลึกซึ้งที่ถ่ายทอดสู่กันได้ยากด้วยวิธีอธิบาย สอน ต่อกันโดยงานจิตรกรรม ก็มีพลังต่อการให้มุมมอง การกำหนดวาระทางจิตใจ และทำให้ปัจเจกได้ความบันดาลใจที่จะสื่อและสนทนากับประสบการณ์ภายในตนเองนั่นเอง ให้เกิดความรู้และได้ตัวปัญญาอย่างใหม่ขึ้นมา ก็เป็นวิธีที่ใช้การได้ดีมากอยู่เสมอนะครับ
  • งานประติมากรรมผ้า เพื่อให้วัสดุผ้าแสดงตัวมันเอง พร้อมกับจัดวางองค์ประกอบให้เกิดเรื่องราวและความหมายใหม่จากการสร้างจังหวะและความมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในเงื่อนไขใหม่ อย่างชิ้นข้างล่างนี่ก็ชอบจังเลยนะครับ ศิลปะของผ้านี่เป็น DNA ของสังคมได้ดีอย่างหนึ่งเลยนะครับ

สวัสดี ครับ อ.วิรัตน์

อ่านบันทึก งานสีน้ำของอาจารย์ฉบับนี้ อย่างมีความสุข และแอบเก็บบันทึกของอาจารย์ไปอ่านที่บ้าน อีกหลาย บันทึก

...

ด้วยความเคารพรัก

นำฝากสีชอลค์ของ ลูกสาวมาฝากอาจารย์ ด้วย นะครับ

 

นำฝากภาพสีชอล์ค ของลูกสาวมาฝากอาจารย์ ด้วยนะครับ

 

 

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ
ฝีมือของลูกสาว บ่งบอกถึงพัฒนาการของลูกดีมากเลยละครับ
ทั้งทางด้านสายตา กระแสความคิด ทักษะกล้ามเนื้อเพื่อทำงานความคิด
วิธีคิดแก้ปัญหากับความสร้างสรรค์เพื่อสื่อแสดงวิธีคิดตนเองก็ดีมากจริงๆครับ
ทักษะการเรียนรู้จากการปฏิบัติเพื่อที่จะพัฒนาตัวเอง
ที่แสดงออกผ่านการหาความสม่ำเสมอของน้ำหนักมือและน้ำหนักการลงสี
ก็ดีมากเช่นเดียวกันครับ ดูแล้วจะพัฒนาตนเองไปได้ทั้งทางศิลปะและด้านอื่นนะครับ

กราบขอบพระคุณอาจารย์มากนะครับ

ด้วยความรักและเคารพ

อ้าว คุณแสงแห่งความดีแวะเข้ามาในนี้ตั้งเกือบปีแล้วนะครับ

นำลูกชุบฝีมือสามสาว  มาแลกภาพสวยค่ะ ( ลูกศิษย์ ครูหนูรี )

 

ท่านอาจารย์สบายดีนะคะ

ชอบงานศิลป์ภาพสวย...ฝีมืออาจารย์

เหมือนกับได้กลิ่นอบควันเทียนหอมกรุ่นขึ้นมาด้วยเลย
ขอบคุณคุณอุ้มบุญมากครับ ตอนนี้ทำท่าว่าจะไม่สบายอีกแล้ว
เมื่อวานไปนั่งทานข้างหน้ามหาวิทยาลัย เกือบอิ่มแล้วฝนก็กลับตกลงมาปรอยๆ
สงสัยหวัดจะถามหาอีกแล้ว เสาร์อาทิตย์นี้ต้องไปเป็นวิทยากรให้เขาเสียด้วย
เวลาเป็นไข้หวัดแล้วต้องสอน บรรยาย หรือนำประชุมนี่ มันเหมือนกับมีคางคกอยู่ในหัวสัก ๑๐ ตัว

อาจารย์คะ เคยมาอ่านบันทึกนี้แล้วหนึ่งครั้ง ไม่ได้ฝากความคิดเห็น

พอมาใหม่ก็เลือกอ่านบันทึกเดิมก่อนบันทึกอื่น ๆ อีก

 

ปลื้มปิติไปด้วยกับภาพที่เพื่อนของอาจารย์เก็บรักษาดูแลไว้เป็นอย่างดี

อาจารย์เล่าเรื่องราวได้ละเอียด สนุก เพลิดเพลินราวกับเรื่องเพิ่งผ่านไปเมื่อวานนะคะ

 

ต้องกลับมาอ่านอีกล่ะค่ะ มีเนื้อหา ประวัติศาสตร์ ความรู้ครบอยู่ในบันทึกเดียว

และต้องกลับไป drawing อีก และอีก

หนูชอบวาดโดยดินสอและปากกาดำ ไม่รู้เรียกว่างานอะไรคะ ไม่เคยเรียนที่ไหน สังเกตและถามเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งเป็นกัลยาณมิตร ซึ่งจะเป็นผู้หาหนังสือมาให้ชมและบอกทางให้บ้าง (ติชม)

จำประโยคทองของพี่เค้าได้ว่า "ค่อย ๆ เขียนไป เขียนได้หนึ่งตารางเซ็นติเมตร ที่เหลือทั้งหมดก็ต้องเขียนได้"

ง่าย ๆ และโดนใจดีจังค่ะ

 

ใจกล้าเมื่อไหร่จะนำมาขอคำแนะนำจากอาจารย์บ้าง ขอขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

ดูเหมือนลูกของเพื่อนจะจบแล้วละครับเนี่ย ไวจัง  ชอบประโยคทองของเพื่อนอาจารย์ที่กล่าวกับอาจารย์มากเลยครับ 

ภาพ drawing ที่ใช้ดินสอและปากกา ในแนวที่อาจารย์กำลังทำนั้น โดยทั่วไปจะเรียกว่าภาพลายเส้นครับ งานในแนว drawing นั้น หลักๆเลยก็จะครอบคลุม ๒ รูปแบบ คือ การวาดลายเส้น กับการแรเงา ซึ่งก็จะใช้ปากกาและดินสอได้เหมือนกัน แต่เทคนิคการแรเงา จะไม่มีเส้น หากต้องการเส้น ก็จะใช้หลักคอนทราสต์ของแสงกับเงา ในทางตรงกันข้ามก็เช่นกัน ผมมีภาพตัวอย่างของภาพลายเส้นครับ เป็นภาพวาดลายเส้นภาพอาจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ของผมเองครับ http://www.oknation.net/blog/moy/2009/04/27/entry-1

                           

การวาดด้วยเทคนิควาดลายเส้น ก็จะไม่เน้นแรเงา แต่เมื่อต้องการน้ำหนักแสงเงา ก็จะใช้วิธีเขียนเส้นขัดกันเป็นกลุ่มๆ ได้น้ำหนักแสงเงาเหมือนกัน แต่ไม่ได้เกิดจากการแรเงา เกิดจากการเขียนเส้นทีละเส้น 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท