ข้อผิดพลาดของเว็บไซต์ปี 2005


อาจารย์ประสิทธิ์ วรฉัตรวาณิชท่านรวมข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในการทำเว็บไซต์ที่พบในปีนี้ (2548) พร้อมทั้งแนะนำแนวทางในการทำเว็บไซต์ให้ถูกใจ users (ผู้ใช้)...

ยุคนี้คนหรือองค์กรทันสมัยต่างพากันทำเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่กิจการในรูปแบบต่างๆ ผู้เขียนแม้จะทำเว็บไซต์ไม่เป็นก็ยังหาทางฝากบทความไว้กับเว็บไซต์ของโรงพยาบาล วิทยาลัยพยาบาล และบล็อก (www.gotoknow.org)
  • อาจารย์ประสิทธิ์ วรฉัตรวณิชท่านรวมข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในการทำเว็บไซต์ที่พบในปีนี้ (2548) พร้อมทั้งแนะนำแนวทางในการทำเว็บไซต์ให้ถูกใจ users (ผู้ใช้) ไว้ 4 ประการดังต่อไปนี้...
  1. ตัวอักษรอ่านยาก:
    เว็บไซต์หลายแห่งวางองค์ประกอบไว้สลับซับซ้อน อ่านยาก และลำบากต่อการค้นหา มีเว็บไซต์แห่งหนึ่งมีพื้นหลัง (background) เป็นลายจุด แถมมีหิมะเพื่อต้อนรับคริสตมาสต์ แนวคิดในเรื่องเทศกาลน่าจะดี แต่การทำให้เว็บไซต์อ่านยากเป็นจุดอ่อนประการหนึ่ง อาจารย์ท่านแนะนำให้เลือกแบบที่สะอาดตา ตัวอักษรโตพอ และแตกต่างจากพื้นหลัง (background)
  2. หาลิ้งค์ (linkage) ยาก:
    เว็บไซต์หลายแห่งวางแถบเชื่อมโยง (linkage) ไว้แบบ “พรางตา” แตกต่างจากตัวอักษรน้อยเกิน ไม่ขีดเส้นใต้ ทำให้ผู้ใช้ (users) หาไม่ค่อยพบ อาจารย์ท่านแนะนำให้ขีดเส้นใต้แถบอักษรลิ้งค์ให้ชัดเจน ลูกค้าจะได้หาพบ อย่าลืมว่า สงครามไซเบอร์แข่งกันที่ความสะดวก ความน่าสนใจ และความเร็ว ไม่จำเป็นต้องพรางตาแบบทหารในอิรัก
  3. แฟลช (Flash) ขัดจังหวะ:
    การใช้แฟลชทำภาพเคลื่อนไหวเป็นเรื่องน่าสนใจ เว็บไซต์หลายแห่งทำภาพเคลื่อนไหวลุกลามออกมาจนรบกวนการใช้งานของผู้ใช้ ผู้เขียนเคยพบโฆษณายาทาฆ่าเชื้อราที่เล็บ ทำภาพเปิดเล็บหัวแม่เท้าออกแล้วทายาลงไป ถ้าดูสักครั้งก็พอทน แต่พอดูซ้ำซากแล้วรู้สึกว่า น่ากลัวจนเกินไป โฆษณาอีกบริษัทหนึ่งยื่นรูปรถยนต์ออกมาจนขวางจดหมายอีเล็คโทรนิคส์ (e-mail) กว่าจะหาทางปิดโฆษณาได้ก็แทบแย่ นี่ก็ยัดเยียดมากเกินไป
  4. เนื้อหาไม่กระชับ:
    เว็บไซต์หลายแห่งมีเนื้อหาเยิ่นเย้อ หรือใช้ศัพท์เทคนิคมากเกินไป ถ้าเปรียบเป็นคนก็คงจะเป็นประเภทไม่ออกกำลังเลย ทำให้ไขมันหย่อนย้อยไปทั้งตัว อาจารย์ท่านแนะนำให้เขียนแบบกระชับ สั้นๆ อ่านง่าย และลดการใช้ศัพท์เทคนิคลง
  5. เครื่องมือค้นหา (search) ไม่ดี:
    เว็บไซต์หลายแห่งทำเครื่องมือค้นหาข้อมูล (search) ที่มีประสิทธิภาพต่ำ เมื่อผู้ใช้ค้นคำที่ต้องการไม่พบก็จะเกิดกลุ่มอาการเว็บเดือด วิธีแก้คือ ให้คิดคีย์เวิร์ด (keywords) ล่วงหน้าแทนลูกค้า เก็บบันทึกคำที่มีการค้นหาบ่อยๆ ไว้ และปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ

ความเห็นของผู้เขียน:

  • ภาษา:
    ภาษาสื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ ควรเป็นภาษาระดับการศึกษาภาคบังคับ(ป.4) หรือภาษาหนังสือพิมพ์ฉบับยอดนิยม(เน้นข่าวสะใจมากกว่าสาระ) ยกเว้นถ้าผู้ใช้ (users) เป็นบุคคลกลุ่มพิเศษ (niche targets) เช่น ทำเว็บไซต์ให้ศิษย์เก่าสำนักเพลโตอ่านเท่านั้น คนอื่นห้ามอ่าน ฯลฯ จะใช้ศัพท์วิชาการเฉพาะมากหน่อยก็ได้
  • ตัวอักษร:
    ตัวอักษรในเว็บไซต์น่าจะทำให้อ่านได้ง่าย ทุกวันนี้มีเด็ก คนสูงอายุ และผู้ที่สายตาไม่ดีนักเข้ามาใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น วิธีง่ายๆ ที่จะทดสอบว่า ตัวอักษรอ่านได้ง่ายควรใช้วิธีเดียวกับการทดสอบภาพสไลด์ของช่างภาพคือ อ่านได้ในระยะสุดแขน ทดสอบได้โดยให้คนที่สายตาไม่ค่อยดีหลายๆ คนลองอ่านเว็บไซต์ในระยะไกลสุดแขนนาน 5 นาที ถ้าอาสาสมัครอ่านได้โดยไม่มีอาการแสบตา เคืองตา อ่อนเพลีย เมื่อยล้าก็น่าจะใช้ได้ ถ้าอ่านไม่ได้ควรเพิ่มขนาดตัวอักษร เพิ่มความต่าง (contrast) เช่น ใช้สีตรงข้าม(ดีที่สุดคือตัวอักษรสีดำ-พื้นขาว) ฯลฯ อย่าใช้สีโทนเดียวกัน เช่น ตัวอักษรสีน้ำเงินบนพื้นฟ้า ฯลฯ และไม่ควรใช้พื้นหลังเป็นพื้นลายหรือสีเทา เนื่องจากไม่ทำให้อะไรดีขึ้นเลย(นอกจากดูขลัง)
  • เนื้อหา:
    ควรนำบทความในอินเตอร์เน็ตไปให้คนที่จบการศึกษาภาคบังคับ(ป.4)อ่านดู ถ้าอาสาสมัครอ่านเข้าใจได้สัก 60-95 % ไม่ควรใช้บทความที่อาสาสมัครอ่านเข้าใจ 100 % เพราะสำนวนอาจจะ “จืด(ขาดรสชาด)” เกินไปสำหรับสังคมอินเตอร์เน็ต
  • แหล่งข้อมูล:

    • ขอขอบพระคุณอาจารย์ประสิทธิ์ วรฉัตรวณิช ([email protected]). Beyond the click: ข้อผิดพลาดยิดฮิตของเว็บไซต์ 2005. บิสิเนสไทย. 19-25 ธันวาคม 2548. หน้า 8.
    • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์มะเร็งลำปาง จัดทำ > ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๘.
หมายเลขบันทึก: 10194เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2005 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท