BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ไปรดน้ำศพ


ไปรดน้ำศพ

ผู้เขียนไปรดน้ำศพญาติผู้ใหญ่ เมื่อสัปดาห์ก่อน ตอนกำลังทำพิธีอยู่ ผู้เขียนก็นั่งสังเกตการณ์ และก็คิดไปเรื่อยๆ.... คิดว่าจะนำเรื่องนี้มาเล่า แต่ยุ่งอยู่กับต้นฉบับเรื่องปรัชญามงคลสูตร ตอนนี้พ้นภาระผู้เขียนไปแล้ว จึงจะเล่าเรื่องนี้ เพราะยังไม่เลือนหายไปทั้งหมด....

ญาติผู้ใหญ่อายุเก้าสิบกว่าและลูกหลานก็มาก ดังนั้น ผู้มารดน้ำศพก็มากมาย ผู้เขียนก็เริ่มจำแนกผู้มารดน้ำศพว่ามีอยู่ ๒ กลุ่ม กล่าวคือ..

กลุ่มแรก เป็นผู้ที่รู้จักกับผู้ตายเป็นการส่วนตัว ซึ่งนอกจากจะเป็นลูกหลาน เหลน โดยตรงแล้ว ก็จะเป็น ญาติใกล้ชิด ญาติคุ้นเคย คนข้างบ้าน....

กลุ่มหลัง อาจมิเคยเห็นเคยพบกับผู้ตายเลย แต่รู้จักสนิทสนมกับลูกหลานของผู้ตาย หรือทำงานในหน่วยงานเดียวกัน ก็มาร่วมรดน้ำศพไว้อาลัยเพื่อเป็นเกียรติ..... ทำนองนี้

เฉพาะงานนี้ มีมากทั้งสองกลุ่มคนก็เลยมากเป็นพิเศษ....

.............

แม้ผู้เขียนจะบวชนานเกินยี่สิบปีและอายุเลยหลักสี่ แต่ไปงานรดน้ำศพน้อยครั้ง จึงไม่ค่อยสันทัดระเบียบธรรมเนียมมากนัก... หนังสือพิธีกรรมว่าด้วยเรื่องนี้ก็ไม่แน่ใจว่าเคยผ่านตาบ้างหรือไม่... และจากการสังเกต พิธีรดน้ำศพก็ไม่ค่อยอลังการหรือมีรูปแบบตายตัวมากนัก...

บางงาน มีพระคุณเจ้าให้ศีล และให้ลูกหลานขอขมาฯ ก่อนจะรดน้ำ... บางงานก็ให้ลูกหลานขอขมฯ ก่อน (ไม่มีการรับศีล) ... บางงานพอประธานมาในพิธีเรียบร้อย โฆษกก็กล่าวอารัมภบทแล้วก็เชิญประธานรดน้ำ......

เฉพาะงานที่ผู้เขียนไปครั้งนี้ ไม่มีพระคุณเจ้ารูปอื่น มีแต่ผู้เขียนนั่งอยู่รูปเดียว พอจะเริ่มพิธี โฆษกก็มากระซิบถามว่า ให้พระประพรมน้ำพุทธมนต์ก่อนหรือไม่ ? .... ผู้เขียนก็บอกว่า ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะมาในฐานะหลานผู้ตาย (หลานห่างๆ)... พิธีกรจึงเชิญประธานรดน้ำเป็นคนแรก.... ส่วนผู้เขียนก็นั่งสังเกตการไปจนกระทั้งว่างคนจึงไปรดน้ำผู้ตาย......

ส่วนที่เหมือนกันทุกงานที่สังเกตได้ก็คือ ประธานและแขกผู้มีเกียรติมักจะรดก่อน ลูกหลานและญาติสนิทมักจะรดที่หลัง ส่วนลูกหลานใกล้ชิดโดยตรง จะรดเป็นกลุ่มสุดท้าย.....

น้ำที่ใช้รด มักจะมีน้ำมนต์ผสมอยู่ในครั้งแรกนิดหน่อย และอาจโรยด้วยดอกมะลิ กลีบกุหลาบ ใบส้มป่อย หรืออื่นๆ  ซึ่งเป็นไปตามค่านิยมของท้องถิ่นหรือเจ้าภาพ.....

..........

พอดีเพื่อนเข้ามาเยี่ยมบอกว่ามีคาถารดน้ำศพ ซึ่งผู้เขียนก็เพิ่งนึกได้ว่าดังนี้

มตกสรีรํ อโหสิกมฺมํ อาสิญฺจิตํ อุทกํ วิย แปลว่า ขอร่างกายของผู้ตายจงเป็นอโหสิกรรม ประดุจน้ำที่รดลงแล้ว ...... ประมาณนี้

อนึ่ง สมัยผู้เขียนเด็กๆ จะไม่เห็นพิธีรดน้ำศพ แต่จะเป็น การอาบน้ำศพ ซึ่งบรรดาลูกหลานจะช่วยกันอาบน้ำ ขัดสีฉวีวรรณ เปลี่ยนชุดใหม่ แต่งหน้าปะแป้ง ก่อนนำใส่หีบศพ... และไม่มีการเชิญแขกผู้มีเกียรติดังเช่นปัจจุบัน....

ปัจจุบันนี้ การอาบน้ำศพ อาจมีอยู่ แต่ก็ไม่ได้จัดเป็นพิธี มักจะอยู่ในกลุ่มลูกหลานคนสนิท... หรือบางทีก็ไม่มีการอาบน้ำ เพียงแค่เช็ดตัวทำความสะอาดเท่านั้น.... ก่อนที่จะแต่งตัวเพื่อนำร่างของผู้ตายมาทำพิธีรดน้ำศพอีกครั้ง...........

พิธีกรรมการรดน้ำศพ ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา ซึ่งผู้สูงอายุกว่าผู้เขียนคงจะเคยมีประสบการณ์ และอาจบอกเล่าสิ่งเหล่านี้ได้ลึกซึ้งและหลากหลายกว่าผู้เขียน........

ตามความเห็นผู้เขียน เฉพาะพิธีกรรมการรดน้ำศพ อาจสะท้อนซึ่งความง่ายๆ ธรรมดา ไปสู่ความหรูหราอลังการได้อีกกรณีหนึ่ง......

แต่ถึงอย่างไร ก็มีจุดประสงค์หลักเหมือนกัน กล่าวคือ เป็นการแสดงความเคารพบูชาต่อผู้ตาย ... และ เป็นการเริ่มต้นงานศพ นั่นเอง        

หมายเลขบันทึก: 105767เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2007 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 05:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท