ตกน้ำไม่ไหล


เรื่องราวของคน 14 คน ซึ่งไม่ไหลไปตามโลกกระแสหลัก ด้วยการตั้งคำถาม ปฏิบัติ และตอบคำถาม ถึงโลกที่ควรจะเป็น และทิศทางที่คนจะไป อย่างมุ่งมั่นต่อความจริงและความเชื่อ

แนะนำหนังสือ 

ตกน้ำไม่ไหล 

 

สฤณี อาชวานันทกุล

ผู้เขียน 

กรุงเทพฯ : OPENBOOKS

พิมพ์ครั้งแรก

มีนาคม 2550 

คติ มุธุขันธ์ : แนะนำ  

เรื่องราวที่นำเราไปรู้จักผู้คน

ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานท่ามกลางคำถาม

ต่อสิ่งที่ควรจะเป็นจะไปบนโลก

ในความเชื่อมั่นต่อความดี 

เรื่องของคนดีที่ไม่ไหลไปตามโลกกระแสหลัก

ภาคต่อของ To Think Well Is Good, To Think Right Is Better. 

คำนิยม

นิธิ เอียวศรีวงศ์   

เมื่อได้อ่าน ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว ฉบับแปลไทยใน พ.ศ. 2530 ผมเที่ยวถามเพื่อนญี่ปุ่นหลายคนว่ารู้จักมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ หรือไม่ ทั้งๆ ที่บางคนในบรรดาเพื่อนผมเป็นนักวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์แขนงที่เกี่ยวกับการเกษตร ปรากฏว่าไม่มีใครรู้จักเลย มีเพียงคนเดียวที่บอกว่าคล้ายๆ จะเคยได้ยินอะไรทำนองนั้น เมื่อผมบอกว่าเขาคือใคร แสดงว่า 12 ปีหลังจากที่หนังสือเล่มนี้ได้ตีพิมพ์ออกมาในภาษาญี่ปุ่น แทบจะไม่สะเทือนวงการอะไรในญี่ปุ่นเลย 

ผมไม่ทราบว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรในญี่ปุ่นปัจจุบัน หลังจากที่ฟูกูโอกะได้เดินทางออกไปให้คำแนะนำการเกษตรธรรมชาติและประสบความสำเร็จในหลายทวีปทั่วโลก จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางพอสมควรแล้ว 

ทั้งนี้เพราะเกษตรธรรมชาติเป็นเกษตรกระแสรองในโลกที่ทำการเกษตรเชิงพาณิชย์และเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรกระแสหลัก ไม่แต่เพียงเกษตรกรส่วนใหญ่ถูกชักนำและบีบบังคับให้ทำเกษตรเชิงเดี่ยวและเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังมีการสร้างความรู้, องค์กรการเงิน, และการค้าระหว่างประเทศ เพื่อรองรับเกษตรกระแสหลักนี้อย่างแน่นหนามั่นคงอีกด้วย โดยที่เราทุกคนถูกฝึกและกล่อมเกลาให้หลับหูหลับตากับความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์, ความยากจนข้นแค้นของเกษตรกรส่วนใหญ่, ความอดอยากที่แผ่ไปอย่างกว้างขวางทั่วทั้งโลก และความไม่ยั่งยืนของการผลิตอาหารในอนาคต  

ธรรมชาติของอะไรที่เป็นกระแสหลักมักเป็นอย่างนั้น ความคิดกระแสหลักไม่ใช่ความคิดเฉยๆ แต่ประกอบด้วยกลไกอำนาจอีกชุดหนึ่งพยุงและปกป้องมันไว้ด้วยเสมอ เพราะแหล่งข้อมูลที่ป้อนความรู้แก่เราไม่ว่าจะเป็นสื่อ, โรงเรียนจนถึงมหาวิทยาลัย, ชนชั้นปกครอง, นักบวช, นักการเมือง, นักวิชาการ ฯลฯ ล้วนได้สร้างเครือข่ายผลประโยชน์อยู่กับความคิดกระแสหลักไว้แล้วทั้งสิ้น แม้แต่ตัวเราเอง ก็จะพบว่าการสมยอมกับความคิดกระแสหลัก ช่วยพยุงมันและปกป้องมันไว้ จะได้รับผลตอบแทนทางวัตถุแก่ตนเองดีกว่าการต่อต้านและแฉโพยจุดอ่อนของมัน 

ความคิดกระแสหลักมีลักษณะครอบงำได้ลึกซึ้งกว่าผลตอบแทนด้วยซ้ำ เพราะทำให้คนที่ยึดถือมีความมั่นคงทางจิตใจและสังคม ไม่รู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยว ลักษณะเช่นนี้เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของความคิดกระแสหลัก เป็นจุดแข็งก็เพราะให้ความรู้สึกว่ามั่นคงปลอดภัยแก่บุคคลและสังคมที่ยึดถือ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้โอกาสที่จะแก้ไขตัวเองทำได้ยากขึ้น หากโอกาสนั้นถูกปิดตายสนิท กล่าวคือไม่มีทางที่จะปรับเปลี่ยนอะไรได้เลยแล้ว บุคคลและสังคมที่ยึดถือความคิดกระแสหลักอย่างตายตัวก็มักพบความล่มสลาย เพราะไม่สามารถสนองตอบความเปลี่ยนแปลงอันเป็นนิรันดรได้ 

แต่โชคดีที่ในท่ามกลางการครอบงำของความคิดกระแสหลัก มักมีบางคนที่มองเห็นความไร้เหตุผล (fallacy), ความอยุติธรรม, ความเท็จ หรือมุมมองที่ผิดพลาด ในความคิดกระแสหลัก บางคนเสนอการปรับเปลี่ยนเพื่อแก้ไขและช่วยรักษาให้ความคิดกระแสหลักสามารถธำรงอยู่ต่อไปได้ บางคนอาจมองเห็นทางตันและเสนอให้ปรับเปลี่ยนในระดับพื้นฐานกว่านั้น เมื่อความคิดประเภทนี้เกิดขึ้น มักได้รับการต่อต้านจากกระแสหลัก ถึงได้รับรู้กันกว้างขวางขึ้นก็ยังเป็นความคิดกระแสรอง เพราะถูก ขจัดออกไปว่าเพ้อฝันบ้าง, หัวรุนแรงบ้าง, เป็นไปไม่ได้บ้าง หรือคลื่นใต้น้ำบ้าง แต่เมื่อวิกฤตเกิดกับความคิดกระแสหลักมากขึ้น เพราะไม่อาจตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางออกก็มักอยู่ในแนวที่ความคิดกระแสรองได้เสนอไว้แล้ว สังคมก็ค่อยๆ เปลี่ยนความคิดกระแสหลักจนใกล้กับความคิดกระแสรอง จนในที่สุดความคิดกระแสรองก็กลายเป็นความคิดกระแสหลัก เริ่มสั่งสม อำนาจไว้พยุงและปกป้องตนเองอย่างที่ความคิดกระแสหลักควรมี 

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เราเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในทุกสังคม 

หนังสือเล่มนี้พยายามนำเอาความคิดของนักคิดกระแสรองในปัจจุบันมาบอกเล่า อย่างสังเขปและเข้าใจง่ายแก่คนทั่วไป หลายความคิดในหนังสือเล่มนี้จะกลายเป็นความคิดกระแสหลักในอนาคต หรืออย่างน้อยก็ให้แนวทางแก่ความคิดกระแสหลักในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย 

หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษแก่ผมก็คือ ในบรรดาความคิดกระแสรองหลายต่อหลายเรื่องที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอ คือความพยายามอุดช่องโหว่ของทุนนิยม เพราะยิ่งพัฒนาการของทุนนิยมตกอยู่ภายใต้การนำของเสรีนิยมใหม่หรืออนุรักษนิยมใหม่มากเท่าไร ทุนนิยมกลับเป็นศัตรูของประชาธิปไตย, ศัตรูของคนชั้นกลาง, ศัตรูของสิ่งแวดล้อม, ศัตรูของความเสมอภาคและเสรีภาพมากขึ้นเท่านั้น ผลประโยชน์กลับไปตกอยู่ในมือของคนจำนวนน้อยลงๆ ไปเรื่อยๆ เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าทุนนิยมเช่นนี้จะถึงกาลอวสานอย่างแน่นอน ปัญหาคือจะ รักษาทุนนิยมจากนายทุนได้อย่างไร 

นักคิดและนักเคลื่อนไหวหลายคนได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาไว้หลายด้าน ไม่ว่าการบังคับใช้กฎหมายกับบรรษัทขนาดใหญ่ ไปจนถึงทางเลือกของการศึกษาสำหรับคนยากไร้ ทั้งหมดนี้ล้วนช่วยทำให้หน้าที่เป็นคนเต็มคนแก่ทุนนิยมทั้งสิ้น และทุนนิยมที่จะอยู่รอดต่อไปได้ ต้องมีใบหน้ามนุษย์มากขึ้นกว่าเงินกำไร 

ในประเทศไทย ผู้คนมักมองทุนนิยมเป็นใบหน้าเดียว อัปลักษณ์จนต้องต่อต้านจนสุดกำลังในหมู่ผู้ที่รังเกียจ และสวยสง่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบ (หรือได้ประโยชน์) แต่ที่จริงแล้วทุนนิยมมีได้หลายใบหน้า ขึ้นอยู่ไม่น้อยกับการที่เราทุกคนจะช่วยกันทำให้มันมีใบหน้าอย่างไร ความคิดกระแสรองที่เสนอในหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้ต่อต้านทุนนิยมโดยตรง แต่ต้องการทำให้ใบหน้าของทุนนิยมเป็นใบหน้าของมนุษย์ที่มีเมตตาและความเป็นธรรม 

ท้ายที่สุดซึ่งควรกล่าวถึงก็คือ ในโลกที่วัดและโบสถ์ไม่ค่อยให้แรงบันดาลใจทางศีลธรรมแก่ใคร หนังสือเล่มนี้ให้แรงบันดาลใจทางศีลธรรมแก่ผู้อ่าน เพราะล้วนพูดถึงความคิดที่คิดเพื่อคนอื่น  

นิธิ เอียวศรีวงศ์

11 มีนาคม 2550   

คำนำ 

ในโลกยุคบริโภคนิยมสุดขั้วและปัจเจกนิยมสุดขีดในปัจจุบัน ปรากฏการณ์ใดๆ ก็ตามที่สะท้อนความเห็นของคนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็น คะแนนเสียงข้างมาก หรือ ระดับความนิยม หรือ สังคมยอมรับ ดูเหมือนจะกลายเป็นบรรทัดฐานของคำว่า ปกติ ไปเสียแล้ว 

ใครที่คิด พูด หรือทำตัวไม่เหมือนกับคนส่วนใหญ่ก็จะถูกมองว่า ไม่ปกติ อาจถึงขั้น แปลก หรือ เพี้ยน ดีไม่ดีอาจถึงขั้น บ้า หรือ ประสาท ไปเลย 

การตีความคนว่า ไม่ปกติ หรือ เพี้ยน จึงมักจะใช้เป็นข้ออ้างแบบมักง่ายที่จะทำให้เราสามารถละเลย มองข้าม หรือดูถูกคนที่มีความเห็นต่าง โดยไม่ต้องรู้สึกผิดที่ไม่เสียเวลามานั่งวิเคราะห์ความเห็นของพวกเขาเหล่านั้น ว่ามีเหตุผลมากน้อยเพียงใด 

แต่พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ หรือแนวคิดกระแสหลักที่ได้รับความนิยมสูงสุดนั้น เป็น ความปกติ  จริงหรือ ? 

พระพุทธเจ้าตรัสสอนกว่า 2,500 ปีที่แล้วว่า ศีล แปลว่า ปกติ

ปกติ คือธรรมชาติดั้งเดิมของจิตมนุษย์ที่จะไม่ทำร้ายตนเองและไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่เขยื้อนไปในทางอกุศล 

โลกปัจจุบันที่ธรรมชาติกำลังเสื่อมโทรม ผู้ด้อยโอกาสกำลังถูกสังคมละเลย อำนาจเงินกำลังอยู่เหนืออานุภาพธรรม จึงไม่ใช่โลกที่ปกติและคนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่ชอบหาว่าคนอื่น เพี้ยน นั้น ก็ไม่ใช่คนปกติ 

ถ้าสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทุกชนิดในโลกที่มิใช่มนุษย์ สามารถสื่อสารกับคนได้ เราคงได้ยินเสียงด่าระงมว่า มนุษยชาติกำลังเพี้ยนไปมาก และยังไม่เคยคิดที่จะยอมรับความเพี้ยนของตัวเอง 

ในสังคมที่ผลโพลกลายเป็นตัวตัดสินความถูกต้องทุกชนิด หลักการตลาดอยู่เหนือความจริง หลักรัฐศาสตร์กลับตาลปัตรเป็นหลักนิติศาสตร์ หลักนิติศาสตร์ถูกลดทอนเหลือเพียงหลักศรีธนญชัย การบังคับใช้กฎหมายคือการตีความตามตัวอักษร โดยไม่สนใจเจตนารมณ์ที่อยู่เบื้องหลัง ดูเหมือนว่าคนที่สนใจและเข้าใจความหมายของคำว่า ประโยชน์ส่วนรวม จะมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ อย่างน่าใจหาย 

โสกราติส ยอดนักปรัชญาชาวกรีกโบราณ เป็นนักคิดคนแรกๆของโลกที่ถูกสังคมพิพากษาให้ตาย เพราะคิดไม่เหมือนคนอื่น โสกราติสตายเพราะเขามีความกล้าหาญทางจริยธรรม พอที่จะยึดมั่นในหลักเหตุผลและมโนธรรมสำนึก ไม่พลิ้วไหวไปตามกระแสสังคมในสมัยนั้นที่ใช้อารมณ์และความเห็นแก่ตัวเป็นใหญ่  ขณะที่เหตุผลและประโยชน์ส่วนรวมเป็นรอง 

แต่โชคดีที่ความจริง ความดี และความถูกต้องไม่มีวันตาย ประวัติชีวิตและปรัชญาของโสกราตีสยังเป็นที่ศึกษาวิเคราะห์ และเป็นหัวข้ออภิปรายในสถานศึกษาและวงสนทนาทั่วโลก ในขณะที่ชื่อของคณะลูกขุนที่ตัดสินประหารชีวิตเขาค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำร่วมของคนในสังคม 

โชคดีที่ในปัจจุบันระบอบ ประชาธิปไตย ในประเทศส่วนใหญ่ มีความเป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตยมากกว่ากรีกโบราณ หลักนิติรัฐได้หยั่งรากลงในหลายๆ ประเทศ ทำให้สังคมไม่สามารถฆ่า คนชายขอบ อย่างถูกกฎหมายได้อีกต่อไป 

แต่ ความเพี้ยน ของแนวคิดกระแสหลัก ซึ่งถูกโหมกระพือผ่านสื่อนานาชนิด เพื่อให้คนคล้อยตามว่าเป็น ความปกติ กำลังทำให้ คนชายขอบ อย่างโสกราตีสหลายคนถูกละเลย มองข้าม หรือเข้าใจผิด มีตัวตนก็เหมือนกับไม่มี หรือไม่ก็ถูกคนค่อนแคะต่อว่าในประเด็นปลีกย่อยที่พวกเขาอาจทำหรือคิดผิดพลาด จนพลาดประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่า นั่นคือ การมีจิตสาธารณะเป็นพื้นฐานแห่งการกระทำ 

เพราะอย่างน้อย เพียงแค่พวกเขาตั้งต้นจากคำว่า ส่วนรวม ก็ควรค่าต่อการรับฟังในโลกอันไม่ปกติใบนี้ โลกใบที่คนส่วนใหญ่ดูเหมือนจะรู้จักแต่ สิทธิ โดยไม่รู้จัก หน้าที่ รู้และศึกษาอย่างละเอียดว่า ความชอบ ของตัวเองคืออะไร แต่ไม่เคยสนใจจะหยุดคิดว่า ความยุติธรรม ในสังคมคืออะไร 

รวมถึงคนที่รู้ว่าประโยชน์ส่วนรวมคืออะไร และเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ยอมเสียสละความสุขสบายส่วนตัวแม้เพียงเสี้ยววินาที เพื่อช่วยสังคมให้บรรลุถึงประโยชน์นั้น 

ท้ายนี้ ผู้เขียนขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านคอลัมน์ คนชายขอบ ในโอเพ่นออนไลน์ (www.onopen.com) มาโดยตลอด ขอขอบคุณ คนชายขอบ ตัวจริงทุกท่าน ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนถ่ายทอดแนวคิดและชีวิตการทำงานออกมา ในคอลัมน์นี้ได้อย่างไม่รู้เบื่อ และขอขอบคุณ คนชายขอบ ใกล้ตัวสามท่านที่ผู้เขียนโชคดีที่ได้มีโอกาสรู้จัก คือ อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการโอเพ่นออนไลน์ คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์ และคุณวรพจน์ วงค์กิจรุ่งเรือง ซึ่งได้ช่วยตรวจทานต้นฉบับอย่างละเอียด รวมทั้งปรับแต่งภาษาบางตอนให้สละสลวยยิ่งขึ้น หากเนื้อหายังมีที่ผิดพลาดประการใด ย่อมเป็นความผิดของผู้เขียนเอง ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ 

หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านทุกท่านหยุดทำความรู้จักกับคน เพี้ยน สักนิด หากมีโอกาสพบปะพุดคุยกับเขา 

เขาอาจจะมีความคิดดีๆ ที่น่ารับฟัง ไม่ต่างจาก คนชายขอบ ในหนังสือเล่มนี้

และเขาอาจทำให้เราทุกคนมองเห็นความทุกข์ของคนอื่นและความเพี้ยนของโลกปัจจุบันได้อย่างชัดเจนกว่าเดิม  

สฤณี อาชวานันทกุล

คนชายขอบ / www.fringer.org

10 มีนาคม 2550  

เมื่อความดีมีจุดยืน 

สฤณี อาชวานันทกุล นำพาเรื่องราวของคน 14 คน สู่การรับรู้ในโลกแห่งการทดสอบ ระหว่างกระแสธารที่หลั่งไหล กับความดีงามซึ่งถูกตั้งคำถาม หลายหลากเรื่องราวในการทดสอบ ถึงสิ่งที่ควรจะเป็น กับสิ่งที่เป็นไป โดยทิ้งปัญหามากมายไว้เบื้องหลัง ให้กับผู้คนที่ตกหล่นจากกระแสหลัก 

การหยัดยืนเพื่อทานต่อความเปลี่ยนแปลง มีทั้งคำถามและคำตอบให้ การอธิบายถึงสิ่งที่ควรจะเป็น เกิดขึ้นพร้อมบทพิสูจน์ความเชื่อ กระทำและก้าวย่างไป ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับท้าทายความเชื่อหลักของโลก ทุกอย่างล้วนมีต้นทุน และผลจากการต่อสู้ ก็มีต้นทุนที่คนเหล่านี้ต้องแบกรับภาระไว้ ท่ามกลางแรงบันดาลใจ ที่ยังคงมุ่งมั่น สร้างสรรค์คำถามและปฏิบัติเพื่อไปสู่สิ่งที่ดี 

พลังของคนเล็กคนน้อยกับความยิ่งใหญ่ ของนักคิดนักปฏิบัติที่ตั้งคำถามต่อความไม่ชอบธรรม และอาการที่ไม่ควรเกิดขึ้น คือเรื่องราวจากความจริง ที่เป็นดั่งแรงบันดาลใจ น้ำใจ และสายน้ำชุ่มเย็นในใจคน เมื่อได้มีการบอกกล่าวนำเสนอ เชื่อมโยงเรื่องราว ที่หลายคนอาจคิดว่า เป็นเพียงคำกล่าว และความคิดอันล่องลอย แต่ผู้คนทั้ง 14 คน ได้พิสูจน์ท่ามกลางความจริงอันใหญ่โตของโลกใบนี้ เมื่อกระแสธารอันเชี่ยวกราก ไม่สามารถเปลี่ยนการหยัดยืนของหัวใจพวกเขาได้  

สารบัญ 

Paul Hawken                หนึ่งในผู้บุกเบิกกระบวนทัศน์ ทุนนิยมธรรมชาติ

John Kenneth Galbraith           สุภาพบุรุษนักเศรษฐศาสตร์ชายขอบผู้ยิ่งใหญ่        

Kwame Anthony Appiah           โสกราตีสยุคโลกาภิวัตน์ ผู้รณรงค์ความหลากหลาย

Hugo Chavez               นักปฏิวัติผู้เปลี่ยนโฉมหน้าเผด็จการในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน

Robert Monks และ Jang Ha Sung        ผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวรุ่นบุกเบิก ผู้รณรงค์ธรรมาภิบาล

Sanjit Bunker Roy         ผู้พลิกตำราการศึกษาด้วย วิทยาลัยเท้าเปล่า

Elliot Spitzer                 ยอดอัยการผู้รู้ทันกลโกงนักธุรกิจยุคโลกาภิวัฒน์

Raghuram Rajan และ Luigi Zingales    ผู้ชี้ว่านายทุนคือศัตรูหมายเลขหนึ่งของทุนนิยม

Cameron Sinclair         สถาปนิกผู้รณรงค์ การออกแบบเพื่อมนุษยชาติ

Noam Chomsky            มโนธรรมแห่งยุคโลกาภิวัฒน์

Nicholas Negroponte   ผู้ปิด ช่องว่างดิจิตัล และปฏิรูปวิธีเรียนรู้

Masanobu Fukuoka     เกษตรกรผู้ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว   

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือ 

ปีที่พิมพ์             :           มีนาคม 2550 - พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก

ชื่อหนังสือ          :           ตกน้ำไม่ไหล

ประเภท             :           แนวโน้มทางสังคม ประวัติและผลงานบุคคล  

ชื่อผู้เขียน           :           สฤณี อาชวานันทกุล

บรรณาธิการ       :           วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง  

เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ

ISBN 978 974 8233 12 3

หมายเลขบันทึก: 107818เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2007 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท