BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ถวายข้าวพระพุทธ


ถวายข้าวพระพุทธ

ตอนเพลวันนี้ คณะญาติโยมใกล้วัดได้มาร่วมทำบุญอุทิศไปให้ผู้วายชนม์ในโอกาสครบรอบ ๕๐ วัน... เมื่อเริ่มจะทำพิธี อุบาสิกาซึ่งเป็นเจ้าพิธีก็เข้ามาถามว่า จะถวายข้าวพระพุทธตอนไหน ? ผู้เขียนซึ่งปกติก็มิใช่เจ้าพิธีก็ค้นหาในความทรงจำว่ามีกล่าวไว้ที่ใดบ้างหรือไม่ แต่ไม่เจอระเบียบพิธีเกี่ยวกับเรื่องนี้ในความทรงจำ ดังนั้น จึงต้องว่าไปตามความเหมาะสม...

ผู้เขียนถามว่า จัดข้าวถวายพระพุทธหรือยัง ? อุบาสิกาก็บอกว่า จัดเสร็จแล้วและบอกว่าตั้งอยู่ที่หน้าพระ พรางหันหน้าไปทางพระประธาน (พิธีจัดในศาลาการเปรียญ ดังนั้น พระประธานจึงอยู่ไกลออกไปจากแท่นอาสนะที่พระสงฆ์นั่งอยู่) ผู้เขียนจึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไปถวายก่อนเลย ....

ข้าวถวายพระพุทธ คือ ชุดอาหารพิเศษที่จัดไว้เพื่อถวายพระพุทธเจ้า โดยมากมักจะจัดใส่จานหรือถ้วยเล็กๆ เป็นข้าว ๑ ที่ อาหาร ๒-๓ อย่าง ขนมนิดหน่อย และน้ำอีก ๑ แก้ว โดยจัดสำรับทั้งหมดใส่วางไว้บนถาด... หรือบางครั้งเจ้าภาพก็อาจจัดใส่หม้อและจานหรือถ้วยโตๆ ตามปกติที่คนทั่วไปใช้รับประทานก็ไม่ถือว่าแปลกอะไร... แล้วก็นำไปวางไว้เบื้องหน้าพระประธานในพิธี...

มีคำถวายข้าวพระพุทธเป็นภาษาบาลีว่า อิมัง สูปะพยัญชะนะสัมปันนัง สาลีนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ ปูเชมิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอถวายน้ำข้าวพร้อมด้วยแกงอันประเสริฐนี้แด่พระพุทธเจ้า ...

การจัดข้าวถวายพระพุทธนี้ ก็เหมือนๆ กับการจัดข้าวถวายผู้ตายที่ข้างหีบศพ การจัดข้าวถวายศาลพระภูมิตามบ้าน หรือการจัดข้าวถวายแม่ย่านางเรือ เป็นต้น ... ความแปลกกันก็คือ ข้าวถวายพระพุทธ จะไม่มีสุรา เบียร์ หรือสิ่งอื่นๆ ที่คิดว่าไม่เหมาะสมในการถวายพระ และจะไม่ถวายยามวิกาลคือหลังเที่ยง... ส่วนข้าวถวายแบบอื่นมักจะมีบางสิ่งบางอย่างนอกเหนือไปจากสิ่งที่ถวายพระ และถวายได้โดยไม่จำกัดเวลา...

....

ถามว่า ในการทำพิธีจะถวายข้าวพระพุทธช่วงไหน ? 

ตามที่ผ่านๆ มา ยังกำหนดเอาระเบียบพิธีแน่นอนไม่ได้ และการถวายข้าวพระพุทธมักจะเป็นความเชื่อของบรรดาญาติโยมมากกว่าการกำหนดจากพระสงฆ์... บางงานไปถึงเจ้าภาพก็จัดข้าวพระพุทธตั้งไว้หน้าพระบูชาแล้ว... บางครั้งเจ้าภาพก็ถามว่าจะจัดข้าวพระพุทธหรือไม่ ? ซึ่งโดยมากพระเถระก็มักจะบอกว่าจัดก็ได้ไม่จัดก็ได้ตามสะดวก... ประมาณนั้น

ตามความเห็นผู้เขียน ถ้าจะถวายข้าวพระพุทธก็ควรจะจัดการไว้ให้เรียบร้อยก่อนจะเริ่มพิธี และนำมาจัดตั้งไว้ที่หน้าพระพุทธรูปที่เป็นประธานในที่นั้น พอจะเริ่มพิธีก็กล่วคำบูชาข้าวพระพุทธ เสร็จแล้วก็เริ่มทำพิธีบูชาพระรับศีล และก็กิจอื่นๆ ไปจนเสร็จพิธี... โดยมีความเห็นว่า ควรจะบูชาพระพุทธเจ้าก่อนเพื่อเป็นสิริมงคล...

สำหรับบางงาน หลังจากพระเจริญพุทธมนต์เสร็จแล้ว เจ้าภาพต้องการจะถวายสังฆทานเพิ่มเติมอีก จึงนิยมถวายข้าวพระพุทธก่อนจะถวายสังฆทาน... ซึ่งผู้ (อวด) รู้บางท่านบอกว่า ถวายพระพุทธเจ้าก่อนถวายพระสงฆ์ ... เหตุผลก็พอฟังได้เช่นเดียวกัน

หลังจากเสร็จพิธีแล้วก็จะต้องมีการลาข้าวพระพุทธด้วย ซึ่งมีคำบาลีว่า เสสัง มังคะลัง ยาจามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอส่วนเหลืออันเป็นมงคล ... ซึ่งข้าวพระพุทธที่ลามาแล้วนี้ ถ้าเป็นถ้วยเล็กๆ ก็มักจะไม่ค่อยมีใครนำมากิน อาจให้เป็นทานต่อหมา แมว กา ไก่ ตามสะดวก ... แต่ถ้าถวายเป็นชุดใหญ่ๆ ก็มักจะนำมาล้อมวงกินกันตามอัธยาศัย 

........

อนึ่ง บางงานลืมจัดข้าวพระพุทธ ขณะทำพิธีก็มีผู้อวดรู้บางท่านสอดแทรกเข้ามาว่า ไม่มีข้าวพระพุทธ ... เจ้าภาพก็ต้องยุ่งยาก ไปหาถ้วยเล็กๆ ก็ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ทำให้วุ่นวายกันทั้งงาน อย่างนี้ก็มี

หรือบางงาน พอใครทักว่าไม่มีข้าวพระพุทธ เจ้าภาพก็บอกว่า พระพุทธรูปฉันไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องตั้ง ให้พระคุณเจ้าฉันให้เต็มที่ก็แล้วกัน... ประมาณนี้

พิธีกรรมทั้งหมดมนุษย์คิดขึ้นมา ถ้าเห็นว่าเป็นการยุ่งยากจนเกินไป ก็ควรปรับปรุงไปบ้างตามความเหมาะสม... มิใช่อ้างว่า เค้าว่า.... เค้าว่า... เค้าว่า.... ร่ำไป     

หมายเลขบันทึก: 109574เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2007 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

นมัสการพระคุณเจ้า

วันนี้ตามมาอ่านเรื่องอื่นๆของพระคุณเจ้า ด้วยความระลึกถึง

ผมมีความเห็นด้วยกับพระคุณเจ้าว่า ที่มาของการถวายข้าวพระพุทธน่าจะมาจากการไหว้เจ้า ไหว้ศพ หรีอ ไหว้พระภูมิ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องจำเป็น น่าจะตัดไปได้ เพื่อไม่ทำไม่เกิดความเข้าใจผิดๆ หากต้องการถวายเป็นพุทธบูชา ก็น่าจะทำอย่างอื่นแทนได้

ที่ขาดหายไปอีกปะเด็นน่าจะเป็น การถวายปัจจัยไทยธรรม ที่ต้องถวายพระพุทธด้วย แล้วก็ให้พระคุณเจ้าผู้เป็นประธานรับแทน

เรียนถามว่า ท่านรับแทนแล้วไปถวายพระพุทธเจ้าตอนไหน แหะๆ

P

Boonchai Theerakarn

 

อาจารย์หมอเข้ามาเยี่ยม ทำให้อาตมาต้องกลับไปอ่านทวนอีกครั้ง เพราะจำไม่ได้ว่า ว่าไปอย่างไรบ้าง (.......)

ตามความเห็นส่วนตัว พิธีกรรม ไม่มีอะไรมากไปกว่าสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเท่านั้น... ส่วนคุณค่าที่แฝงอยู่ในพิธีกรรมแต่ละอย่างนั้น มนุษย์ก็ต้องค้นหาเอาเอง

ส่วน การถวายปัจจัยไทยธรรม ซึ่งโดยมากก็มีซองบรรจุปัจจัยไว้ด้วยนั้น เป็นธรรมเนียมที่มีมาจากภาคกลาง มิใช่ธรรมเนียมเดิมของปักษ์ใต้ แต่เดียวนี้ก็มีผู้นิยมนำมาใช้บ้างเหมือนกัน...........

ประเด็นที่อาจารย์หมอตั้งข้อสังเกต คงจะเป็นอย่างนั้น เพราะมีบางครั้งที่อาตมาเป็นประธานสงฆ์ เมื่อโยมนำในส่วนของพระพุทธฯ มาถวายก็รับไว้ และก็บริโภคหรือใช้จ่ายของส่วนนั้นในฐานะลูกศิษย์พระพุทธฯ (........)

ธรรมเนียมว่า ประธานสงฆ์ย่อมได้ส่วนนี้นั้น เห็นไม่มีใครว่าหรือทักท้วงอะไร คงจะเป็นการยอมรับกันทั้งฝ่ายทายก (ผู้ถวาย) และฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ)...

ธรรมเนียมนี้ อาจสะท้อนไปถึงพิธีกรรมทั้งหมดได้ว่า ขึ้นอยู่กับการยอมรับของสมาชิกในสังคมนั้นๆ เป็นสำคัญ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้นึกถึงความเห็นของพระยาอนุมานราชธนทำนองว่า 

  • ถ้าสังคมคิดว่า พิธีกรรมหรือธรรมเนียมนั้นๆ ยังมีความจำเป็น ก็จะคงไว้ หรืออาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสม... แต่ถ้าสังคมคิดว่า พิธีกรรมหรือธรรมเนียมนั้นๆ ไม่มีความจำเป็นแล้วก็จะยกเลิก... และพิธีกรรมหรือธรรมเนียมนั้นๆ จะค่อยๆ สูญสลายไป กลายเป็นเรื่องเล่าปรำปราเท่านั้น
เจริญพร 
เห็นด้วยกับท่านอาจารย์อย่างยิ่งเลยโดยส่วนตัวแล้วข้าน้อยไม่ค่อยส่งเสริมเกี่ยวกับพีธีรีตรองมากนักเอาที่ความพร้อมเป็นหลักถ้าพร้อมแล้วทำได้สบายใจด้วยก็ทำเลยไม่เสียหายอะไร..งแต่บางอย่างถึงพร้อมแล้วก็ทำสบายใจแต่ไม่ค่อยตรงทางพุทธเท่าไรก็ต้องชัก  84000พระธรรมขันธ์มาอ้างอีกแหละเขาจะได้รู้ว่าตรงไหนจริงปลอมถ้าคนรุ่นเรามีความรู้ความเข้าใจในพุทธแล้วต้องบอกอธิบายเขานะอย่างข้าน้อยนี้นะห่วงมากเรื่องอย่างนี้บางท่านก็พูดว่าข้าน้อยก็เด็กสมัยใหม่แต่ความคิดไม่ค่อยเหมือนใหครเพราะพระเดี๋ยวนี้กลัวโยมเสียศรัทธาเลยไม่กล้าพูดแนะนำ..แต่ต้องดูท่าทีโยมก่อนนะถึงจะพูดดู  เวลา..โอกาส...เรียกว่าฉลาดเป็นคนมี...กาลัญญุตา...ว่าไหมท่านอาจารย์....

นมัสการพระคุณเจ้า

ผมกำลังทำวิจัยประวัติศาสตร์เรื่องพิธีกรรมถวายข้าวพระพุทธหรือตานข้าวพระพุทธ ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผมอยากทราบว่า พิธีกรรมนี้มีอำเภออื่นหรือจังหวัดอื่นประกอบพิธีกรรมนี้หรือไม่

เพราะที่ผมได้ข้อมูลมาพิธีกรรมนี้จะรู้จักเฉพาะคนแม่สอด

ไม่มีรูป ชัยวัฒน์

 

"ถวายข้าวพระพุทธ" ตามที่เห็นก็มีอยู่ทั่วไปทุกภาคส่วนของประเทศไทย...

ส่วนที่แม่สอดตามที่คุณโยมอ้างมานั้น ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร ?

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า

ผมอยู่อ.แม่สอด จ.ตาก เหมือนกันครับ

ผมได้มีโอกาสไปงานถวายข้าวพระพุทธหรือคนท้องถิ่นที่นี่เรียกต๋านข้าวพระพุทธ เค้าจะนำอ้อยควั่นและดอกกล้วยไม้สีม่วงถวายพระพุทธจากนั้รับพรจากพระสงฆ์ มีเพียงเท่านี้ครับ ไม่ทราบว่าที่อื่นปฎิบัติเหมือนกันไหมครับ

ไม่มีรูป เฌอศานต์

 

 

แถวบ้านไม่เคยเห็น น่าจะเป็นความนิยมเฉพาะท้องถิ่น...

เจริญพร

กระผมอยากทราบว่าการจัดสำรับข้าวถวายพระพุทธนั้นบางท่จัดเหมือนกับการจัดไหว้ผีหรือเซ่นผี  เพราะมีการจุดธูปเทียนปักไว้ที่ข้าวหรืออารหาร  กระผมคิดว่าไม่เป็นการถูกต้องเพราะพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปไม่ใช่ผีไม่ใช่วิญญาณ  ที่เราบูชาก็เพื่อบูชาพุทธคุณคือคุณของพระพุทธเจ้าใช่หรือไม่ครับขอความกรุณาจี้แจงให้เข้าใจหน่อยครับเพราะอยากรู้ความถูกต้องครับ

30สมชาย สมชาย
เค้าก็คงจะมีเหตุผลของเค้า มีโอกาสก็ลองสอบถามเค้าดูว่ามีเหตุผลอย่างไร จึงทำอย่างนั้น...
เจริญพร

การถวายข้าวพระพุทธมีอานิสงส์ครับ เป็นพุทธานุสติ

เป็นการบูชาคุณของพระพุทธเจ้า

บรรพบุรุษ พุทธบริษัท ก็ปฎิบัติรักษาสืบมา

ในแรกเริ่ม จะบูชาพร้อมกับดอกไม้สีขาว ที่หน้าพระพุทธรูป

อานิสงส์ผู้ถวายจะมีรัศมีกาย เป็นพระกรรมฐานในการระลึก

คือเป็นผู้มั่นคงในพระรัตนตรัย

การดำรงอยู่ หรือไม่ดำรงอยู่ของพระพุทธเจ้า พ้นวิสัยของมนุษย์ครับ

เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้ดับสูญ

นิพพานไม่ได้แปลว่า ไม่มี หรือสูญ หรือมีอยู่

ทั้งนี้พ้นไปจากทิฏฐิทั้งสอง หรือพ้นไปจากของคู่

การไปตัดสินพิธีกรรมข้าวพระพุทธนั้นหมิ่นเหม่มากที่เดียว

เพราะผู้ปฎิบัตินั้น มีอานิสงส์มาก

สำหรับการบวงสรวง เซ่นของไหว้ผี ก็จะเป็นบาปเพราะผีก็จะวนเวียนไม่ไปผุดไปเกิด คนที่วนเวียนกับพิธีกรรมเหล่านี้มักจะหมองคล้ำ พระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ ให้เซ่นของไหว้ผี

โดยจะให้ไปทำบุญที่วัดต่อพระสงฆ์และอุทิศบุญโดยการกรวดน้ำแทน

ถ้าใครถวายข้าวพระพุทธ ถวายดอกไม้ขาวบูชาพระรัตนตรัยแบบคนโบราณ พร้อมปฏิบัติบูชา ในพระกรรมฐาน

ระลึกคุณพระรัตนตรัยอย่างสมำเสมอ ก็ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

คนยุคปัจจุบัน ในแง่ความมั่นคงจิตใจ แลความสงบร่มเย็นจึงสู้คนโบราณ

ที่ท่านมีทั้งปัญญาและศรัทธา ไม่ค่อยจะได้ครับ

กราบนมัสการครับ

กระอยากทราบว่า คำที่ว่า ทรัพย์ศฤงคาร อ่านว่า ศะ-ลง-คาร หรืออ่านว่า ศะ-ลิง-คาร ครับ

กราบนัสการครับหลวงพ่อชัยวุธ

กระผมขอแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ๆมีการถวายข้าวพระพุทธในการประกอบพิธีทางสงฆ์ครับ

ตอนนี้กระผมได้ย้ายมาอยู่ที่ กศน. อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง แล้วครับ ทำให้ได้พบว่า

คนในท้องที่อำเภอนี้มีการถวายข้าวพระพุทธ ด้วยครับ แต่เขาไม่ถามพระคุณเจ้าหรอกนะครับ

เขาบอกให้กระผมซึ่งอาสาช่วยยกของให้ว่าให้จัดอาหารคาวหวานใส่ภาชนะพร้อมกับน้ำดื่ม วางใส่ถาด

แล้วให้ใช้ผ้าขาววางรองถาดขณะวางถวายพระพุทธ กระผมจึงได้ความรู้เพิ่มเติม พอจัดให้เรียบร้อย

คนที่แนะนำเขามีความสุข กระผมก้พลอยมีความสุขไปด้วย โดยที่ไม่ทราบความเป็นมา จนได้มาอ่าน

บทความของหลวงพ่อ ทำให้ทราบข้อมูลมากขึ้น หากมีโอกาสเจอคนแนะนำกระผมจะลองสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมครับ

เผื่อผู้สูงวัยท่านใดพอจะให้คำตอบได้บ้างหนะครับ

สนันสนุนคุณอนุโมทนานะคะ พระพุทธเจ้าไม่มีการดับสูญ คนที่บูชาพระพุทธก็เท่ากับบูชาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดได้ตลอดเวลา ที่ไหนบูชา พระองค์ก็เสด็จลงรับของบูชาที่นั่น ที่ไหนสวดมนต์พระองค์ก็เสด็จลงให้พรที่นั่น และมากมายที่คนโลกปัจจุบันไม่สามารถเข้าใจได้ ด้วยความเห็นที่แตกต่าง แต่คนที่มีจิตและญาณสมาธิเข้าถึงแล้ว ท่านรู้ ท่านเห็น แต่ไม่โอ้อวด มีแต่คน

ที่เห็นน้อยเท่านั้นที่อวดแล้วอวดอีก และยึดตัวหนังสือและแปลตัวหนังสือให้วุ่นวายไปหมด ถ้าปฏิบัติจริง จะเห็นจริง โดยไม่ต้องอธิบาย และขอให้ปฏิบัติในสายที่ปฏิบัติจริงๆ จะรู้ว่าความจริงคืออะไร

จริงๆแล้วพระพุทธเจ้าท่านนิพพานไปแล้วคำว่านิพพานน่าจะแปลอีกนัยยะหนึ่งคือไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกสำหรับคนที่ไม่เข้าใจก็สักแต่ว่าทำตามเขาชึ่งจริงๆแล้วอาหารสำหรับพระพุทธเจ้า(ตาม คหสต)ของกระผมเองคิดว่าท่านคงเสวยอาหารที่เป็นทิพย์ท่านคงไม่มานั่งทานอาหารที่ญาติโยมนำมาถวาย ที่พูดประมาณนี้เพื่อให้ฉุกคิดเพราะตามหลักพุทธแล้วสอนให้รู้จักเหตุและผลไม่ใช่สักแต่ว่าทำตามเขาแล้วไม่รู้ความหมาย แต่ถ้าใครทำแล้วสบายใจก็ทำเถิดไม่ขัดข้อง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท