BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

การจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๕


การจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๕

ปี ค.ศ.1982 ฟิสคิน (Fishkin, James S.)  ได้ออกหนังสือชื่อ The Limits of  Obligation  ซึ่งมีเนื้อหาตอนหนึ่งได้นำเสนอเรื่องการจัดประเภทฯ ไว้ด้วย แต่แตกต่างจากนัยที่นำเสนอมาตอนต้น  และเพราะอ้างถึงการกระทำเหนือหน้าที่ด้วย ผู้เขียนจึงนำมาเล่าไว้ ณ. ที่นี้...

ฟิสคินได้อาศัยคำว่า ควร (ought to) เป็นฐานคิดแล้วก็ได้จัดประเภทการกระทำออกเป็น ๓ กรอบ แต่มิใช่กรอบการจัดฯ ตามประเพณีที่นำเสนอไว้แล้ว โดยเขาจำแนกไว้ดังนี้...

  • กรอบของข้อไม่มีค่าทางศีลธรรม (zone of moral idifference)

จัดเป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำทางศีลธรรมโดยประการทั้งปวง  ไม่เกี่ยวข้องอยู่กับคำว่า ควรทางศีลธรรม และมิใช่การกระทำที่ผิดถูก หรือดีเลว

.........

  • กรอบของข้อกำหนดทางศีลธรรม (zone of moral requirement)

จัดเป็นการกระทำที่ถูกกำหนดว่า ผิดถูก หรือดีเลว... ถ้าเป็นสิ่งที่ดีหรือถูก ก็จัดเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ... แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เลวหรือผิด ก็จัดเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ น่าตำหนิติเตียน

.......

  • กรอบของการกระทำเหนือหน้าที่ (zone of supererogation)

มีนัยที่ต่างไปจากสองข้อแรก กล่าวคือ เป็นสิ่งที่ดีและควรกระทำ แต่มิใช่สิ่งที่น่าติเตียนทางศีลธรรม... หรือเป็นสิ่งที่ไม่ี่ผิด ถ้าไม่กระทำ นั่นคือ ไม่มีใครสามารถตำหนิติเตียนโดยเหตุผลได้เลย ถ้าเราจะไม่กระทำการกระทำชนิดนี้ เพราะอยู่เหนือการเรียกร้องตามหน้าที่

.......

ฟิสคินได้แยกระดับความหมายของคำว่า ควร เป็น ๒ ระดับเพื่อให้เห็นความแตกต่างของการบังคับสิ่งที่ควรกระทำทางศีลธรรมยิ่งขึ้น ดังนี้

  • ควร ระดับอ่อน (weak)
  • ควร ระดับแข็ง (strong)

เขาได้อธิบายว่า ควรระดับอ่อน เป็นการกระทำที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ แต่ถ้าเราล้มเหลวก็ไม่ควรแก่การตำหนิติเตียนทางศีลธรรม นั่นคือ การกระทำที่ควรกระทำในระดับอ่อนนี้ อยู่ในกรอบของการกระทำเหนือหน้าที่....

ส่วน การกระทำที่ควรกระทำในระดับแข็ง เป็นการกระทำที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญในเมื่อดำเนินการสำเร็จ และน่าตำหนิติเตียนในกรณีที่ดำเนินการล้มเหลวหรือไม่ดำเนินการ... ควรระดับแข็ง นี้ ฟิสคินบอกว่าตกอยู่ภายในกรอบของข้อกำหนดทางศีลธรรม

..........

ต่อมาโปฌองพ์ได้นำเสนอแนวคิดเรื่องมาตรฐานศีลธรรม ๒ ระดับ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางทฤษฎีจริยศาสตร์ โดยเขาได้นำแนวคิดเรื่องควรระดับอ่อนและแข็งนี้ไปจัดประเภทการกระทำไว้ ๒ ระดับ ซึ่งผู้เขียนค่อยนำมาเสนอในตอนต่อไป...

หมายเลขบันทึก: 124192เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2007 08:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท