ประชุมทีมงาน สรส. ประจำเดือนมกราคม 2549 (3)


เงื่อนไขความสำเร็จสำหรับการจัดเวทีตลาดนัดความรู้...
    นอกจากทีมจากสถาบันการจัดการแบบองค์รวมที่มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการทำงานกับเราแล้ว  ยังมี ‘พี่ยุทธภัณฑ์’ หน่วยประสานงานจากพื้นที่กาญจนบุรี ที่ทาง สรส. เชิญมาร่วมเรียนรู้ในเรื่องการเตรียมจัดเวทีตลาดนัดความรู้   
โดยเริ่มต้นจากการที่ทีมงาน ฉายภาพ และอธิบายสิ่งที่เราเข้าไปจัดตลาดนัดความรู้ อบต.ภาคกลาง ใน 5 จังหวัด (สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี) เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2548 ซึ่งนับเป็นเวทีครั้งแรก  ที่เชิญตัวแทนจากเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน โดยครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่าร้อยคน ถือว่าเหนือจำนวนที่คาดหมายไว้มาก
    เมื่ออธิบายจบ ‘พี่ยุทธภัณฑ์’ ก็ตั้งคำถามขึ้นมาว่า ประสานงานแบบไหนถึงทำให้มีคนสนใจมากขนาดนี้  และได้บทเรียนอะไรบ้าง?
    คำตอบสำหรับเรื่องการประสานงานนั้น เนื่องจาก อบต.ส่วนใหญ่ที่เราเชิญมา เป็นองค์กรที่อยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงานเดิมของนักจัดการความรู้ท้องถิ่น สรส.อยู่แล้ว  และก็เป็นเครือข่ายที่ สรส.ได้เคยเข้าไปเกี่ยวข้อง  ซึ่งการที่มีนักจัดการความรู้ท้องถิ่นอยู่ในพื้นที่ ก็เป็นกลไกที่ช่วยคอยติดตาม ให้ข้อมูล ประสานงาน เสริมการโทรศัพท์ติดตามจากส่วนกลาง  ซึ่งก็ทำให้ สรส.ได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมของ อบต. ที่ต้องมีหน่วยคอยติดตาม และมีบางองค์กรที่ทาง สรส.ติดต่อไปทางสายของผู้บังคับบัญชา คือทาง ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้มีจดหมายลงมาเชิญ อบต.เข้าร่วม  ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้งานนี้สำเร็จเกินความคาดหมายขนาดนี้  นั่นคือการอาศัยกลไกทั้งระดับแนวดิ่ง และแนวราบ
     ส่วนเรื่องบทเรียนที่ได้รับจากการจัดเวทีครั้งนี้ก็คือ จากการที่ไม่ได้คาดหมายว่าจะมี อบต.เข้ามาร่วมมากขนาดนี้ ทำให้บรรยากาศของห้องประชุมแน่นขนัด ประกอบกับตัวห้องที่ไม่โปร่ง แสงไฟที่ไม่สว่าง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการรับรู้ เรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง  และการจัดเวทีที่จังหวัดสุพรรณบุรี  ทำให้พื้นที่จังหวัดที่ห่างไกล  กว่าจะมาถึงก็ 10 โมงกว่า กำหนดการก็ต้องล่าช้าลงไปอีก ทำให้ช่วงครึ่งวันแรกบรรยากาศเป็นการนั่งฟังปาฐกถา และได้แลกเปลี่ยนกันเล็กน้อยเท่านั้น และด้วยเหตุนี้ ก็อาจเป็นสาเหตุให้ในช่วงครึ่งวันหลัง มี อบต. กลับไปหลายคน (ถึงแม้จำนวนส่วนที่เหลืออยู่ เราก็ยังคิดว่า เหนือความคาดหมายอยู่มาก)  ในกิจกรรมครึ่งหลัง ที่เป็นการให้แบ่งกลุ่มย่อยตามตำแหน่งหน้าที่ คือ กลุ่มนายก อบต.  กลุ่มรองนายก อบต.   กลุ่มประธาน รองประธานสภาฯ  กลุ่มเลขาฯ  กลุ่มสมาชิก อบต. ให้แต่ละคนเล่าความสำเร็จ หรือความภาคภูมิใจจากการทำงานที่ผ่านมา  โดยเรามีคนที่ทำหน้าที่เป็น ‘คุณอำนวย’ และ ‘คุณบันทึก’ อยู่ประจำแต่ละกลุ่ม  ซึ่งคนเหล่านี้ ประกอบด้วย ทีมงานของ สรส. นักจัดการความรู้ท้องถิ่น และเครือข่ายกัลยาณมิตรจากมูลนิธิข้าวขวัญ  จาก สคส.  จากเสมสิกขาลัย และจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา  โดยพวกเราก็ได้เตรียมตัวกับการรับบทบาทของ ‘คุณอำนวย’ และ ‘คุณบันทึก’ ในเวลา 1 ชั่วโมงก่อนงานเริ่ม ก็ค่อนข้างขลุกขลัก ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ควรให้เวลากับการเตรียม ‘คุณอำนวย’ และ ‘คุณบันทึก’ มากกว่านี้  เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยให้เวทีตลาดนัดความรู้ประสพความสำเร็จ
     ‘พี่ทรงพล’ ก็ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการจัดเวทีตลาดนัดความรู้ว่า
      “เงื่อนไขความสำเร็จของการจัดเวทีตลาดนัดความรู้นั่นอยู่ที่ การเตรียมความรู้ก่อนทำ...ก่อนจะทำอะไร เราต้องเตรียมข้อมูลก่อน ถ้ายิ่งรู้มาก ก็ยิ่งทำให้งานนั้นสำเร็จได้สูง...กระบวนการเตรียมจัดเวทีตลาดนัดความรู้  ควรกำหนดบทบาทของผู้ที่จะทำหน้าที่เป็น ‘คุณอำนวย’ และ ‘คุณบันทึก’ ให้ชัดเจนเสียก่อน  และให้เขาเหล่านั้นลงไปหาข้อมูลของกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มของ อบต.  หลังจากนั้นให้นำข้อมูลมาวางให้เห็นโครงเรื่อง เตรียมซักซ้อม เตรียมตั้งคำถามสาวลงลึกให้เห็นประเด็น...สำหรับคุณอำนวยที่มีประสบการณ์มาก ก็จะช่วยให้สามารถปรับพลิกสถานการณ์ได้  แต่สำหรับคุณอำนวยที่ยังมีประสบการณ์น้อย ต้องให้ความสำคัญต่อการหาความรู้ก่อนทำ...?
      บทเรียนจากประสบการณ์ที่ทาง สรส.ได้แลกเปลี่ยนกับ ‘พี่ยุทธภัณฑ์’ ไปนั้น จะสามารถช่วยพี่เขาในการจัดเวทีตลาดนัดความรู้ที่จะเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหนแค่ไหน และพี่เขาจะมีบทเรียนอะไรเพิ่มเติมที่จะมาแลกเปลี่ยนกลับ กับเรา...ต้องรอดูในโอกาสต่อไป...

ฝ่ายสื่อ สรส.

หมายเลขบันทึก: 13408เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2006 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท