การพิจารณาอายุพระศาสนา ๒ (14)


 

การพิจารณาอายุพระศาสนา ๒

ในการพิจารณากำลังแห่งพระราชาและบรรพชิต. จะเห็นว่า

ในส่วนของโมเนยยบุคคล คือผู้เป็นมุนีนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลิศที่สุด, พระอัครสาวกรองลงมา ถัดนั้นไปก็เป็นพระมหาสาวก > พระอรหันตสาวกผู้ทรงปฏิสัมภิทาญาณ> พระอรหันตสาวกฉฬภิญโญ> พระอรหันตสาวกเตวิชโช> พระอรหันตสาวกสุขวิปัสสโก> พระอนาคามี> พระสกทาคามี> พระโสดาบัน> ปุถุชนผู้ทรงอภิญญา๕.

ในส่วนของพระราชา มีลำดับกำลังตามการครอบครองอาณาเขต คือ ในบรรดาพระราชา พระเจ้าจักรพรรดิทรงกำลังที่สุด, ถัดจากนั้น ก็ขึ้นกับอาณาเขตและประชากร เป็นไปโดยลำดับ.

เมื่อพระพุทธเจ้าเล็งเห็นลำดับอย่างนั้น หากสามารถจะจัดสรรให้ใครไปทำหน้าที่อะไรได้ แล้วให้ประสานงานกัน ท่านจะทำไหม? ก็ถ้าหากอยู่ในฐานะที่จะขวนขวายได้ เชื่อว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนพระองค์นั้น ย่อมทรงขวนขวายช่วยเหลือโลกอยู่ เพื่อประโยชน์สุขแก่โลก.

เหมือนอย่างคราวที่พระเทวทัตจมลงแผ่นดิน พระอานนท์ขอให้พระพุทธเจ้าช่วย พระองค์ก็ว่า หากมีช่องพอให้ช่วยได้ ท่านก็จะช่วยเต็มที่ เหมือนคนตกบ่ออุจจาระ ถ้าพอมีโผล่ให้เห็นบ้างแม้ปลายนิ้ว ว่าเขาจมอยู่ที่ใด พระองค์ก็จะช่วย. แต่นี่ สำหรับพระเทวทัตนั้น มันไม่มีช่องที่จะช่วยเอาเลย เพราะเปรียบเหมือนคนตกบ่ออุจจาระ ที่จมลงไปเลย ไม่มีโผล่ให้เห็นแม้แต่ปลายนิ้ว พอที่จะให้ความช่วยเหลือได้.

เรื่องนี้ก็เช่นกัน เรื่องประโยชน์ของโลก พระพุทธเจ้าย่อมทรงขวนขวาย. หากสามารถจะสั่งการใครได้ พระองค์ก็ย่อมต้องสั่งการ และเวลาพระองค์มอบหมายหน้าที่ให้ พระองค์ก็ย่อมต้องมอบหมายให้แก่ผู้ที่จะสามารถรับภาระได้ เพราะพระองค์เป็นผู้ฉลาดในบุคคล.

อย่างพระอินทร์นี้ เป็นพระโสดาบัน ก็เป็นเด็กวัด พระพุทธเจ้าก็ใช้ได้ มีกิจอะไรที่ต้องให้ช่วยเหลือ พระองค์ก็ย่อมต้องสั่งไว้ว่า ในเมื่อล่วงไปเท่านั้นๆ ให้ช่วยเหลือคนนั้นทำกิจนั้นๆ เพื่อให้พระศาสนาตั้งอยู่นาน.

ดังจะพบถ้อยคำที่กล่าวในอรรถกถา ที่ว่า พระอินทร์บอกว่า พระพุทธเจ้าได้พยากรณ์ไว้ ทั้งๆที่จริง คำพยากรณ์เหล่านั้น ไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎกเลย แต่มีปรากฏในอรรถกถาได้ ว่า พระอินทร์บอกว่า พระพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้. และมีมากมายหลายรายการเสียด้วย.

ทีนี้ ในส่วนของพระอรหันตสาวกนั้น ถามว่า พระพุทธเจ้าจะมอบหมายงานให้หรือไม่?

ก็ย่อมต้องมอบให้แน่นอน.. อันดับแรก เมื่อพระองค์พิจารณาแล้ว เห็นว่า พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะจะปรินิพพานก่อนพระองค์ นี่ใช้ไม่ได้แล้ว พ้นฐานะ. แต่พระองค์พิจารณาองค์คุณพระสาวกทั้งหมด ที่จะมีชีวิตอยู่หลังพุทธปรินิพพานนั้น พระองค์เทียบเคียงคุณสมบัติทุกอย่างแล้ว ไปลงอยู่ที่
พระมหากัสสปะ ผู้เลิศทางธุดงค์ และจะปรากฏว่าเป็นผู้มีพรรษาสูงสุดในหมู่สงฆ์ที่เหลือในยามนั้น.

เมื่อเป็นอย่างนั้น พระองค์ก็แสดงนิมิตอย่างหยาบในการมอบหมายกิจในการรักษาพระพุทธศาสนา โดย การแลกผ้าจีวรกับสังฆาฏิของพระมหากัสสปะ. เพราะจีวรนั้น เปรียบประดุจดังคำสอนของพระศาสดา การมอบจีวรให้ หรือ แลกจีวร ก็คือ การมอบหน้าที่ให้รักษาพระศาสนา. ต่อแต่นั้น พระมหากัสสปะก็จะพิจารณาต่อไป และมอบหน้าที่ต่อๆกันไป.

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องราวที่ไม่ได้บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกอีกมากมาย คือ รายละเอียดในการติดต่อกันระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระมหากัสสปะ เชื่อว่า พระพุทธเจ้าได้มอบให้พระมหากัสสปะ แม้ทางถ้อยคำด้วย แต่กล่าวเป็นการเฉพาะ. เพราะความที่กล่าวกันเป็นการเฉพาะ ไม่ใช่กิจที่ต้องรู้ทั่วไป จึงไม่จำเป็นต้องได้เปิดเผยให้สาธารณชนได้รู้. เรียกธรรมประเภทนี้ว่า ธรรมที่เป็นความลับ.

สมจริงดังมโหสถบัณฑิตกล่าวไว้ ว่า ขึ้นชื่อว่าความลับ ไม่พึงบอกแก่ใครๆ จนกว่าจะกระทำกิจตามความลับนั้นได้สำเร็จ แต่นั้น เมื่อปรารถนาจะกล่าว ก็กล่าวได้อย่างเปิดเผย. แต่ในระหว่างที่ยังทำกิจไม่เสร็จ ความลับก็พึงปกปิดไว้ เพราะหากเปิดเผย จะมีผลให้กิจที่มุ่งจะกระทำ ไม่สำเร็จ.

นี่ก็เหมือนกัน เรื่องราวที่เป็นความลับที่สำเร็จมาแล้ว จึงเปิดเผยว่า พระพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ บอกพระอินทร์ไว้บ้าง บอกพระมหากัสสปะบ้าง พระมหากัสสปะบอกพระอินทร์บ้าง อะไรทำนองนี้. เรื่องพวกนี้ เปิดเผยได้ เพราะสำเร็จกิจแล้ว แต่เรื่องที่ยังไม่สำเร็จ ก็ยังคงต้องได้กระทำให้เป็นความลับต่อไป.

ทีนี้ นอกจากพระมหากัสสปะแล้ว พระพุทธเจ้ามอบหมายหน้าที่ให้ใคร? สังเกตดูว่า พระพุทธเจ้าแสดงการมอบจีวรให้พระมหากัสสปะ เป็นนิมิตรักษาคำสอน.

นิมิตอีกครั้งหนึ่งคือ
พระพุทธเจ้าแสดงนิมิตการมอบบาตรแก่พระอชิตภิกษุให้ปรากฏแก่พระสาวก. นิมิตของบาตรนั้น คือ การเป็นผู้หาอาหารเลี้ยงพุทธบริษัท. และในครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้พยากรณ์สัพพัญญุตญาณในพระอชิตภิกษุด้วย. นั่นคือ มีกิจเกี่ยวกับศาสนาของพระองค์คือ การเลี้ยงดูพระสาวกของพระพุทธโคดม. เมื่อรับบาตรแล้ว พระอชิตะภิกษุก็ได้ถวายคืนพระพุทธเจ้า. ส่วนคำพยากรณ์ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าเมตไตรยนั้น พ้นไปจากศาสนาพระพุทธโคดม

 
หมายเลขบันทึก: 139962เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2007 05:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เข้ามาเรียนธรรมมีความรู้เรื่องธรรม

  ขอบคุณที่เขียนมาให้แลกเปลี่ยน

  หวัดระนอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท