Harbermas' The Public Sphere


งานสรุปสั้นๆ นำเสนอในชั้นเรียน

พื้นที่สาธารณะ(public sphere)          พื้นที่สาธารณะคือพื้นที่(Sphere) หากอธิบายอย่างหยาบคือ อาณาบริเวณที่ซึ่งสมาชิกในสังคมสามารถสรรสร้าง หรือแลกเปลี่ยนความคิด แต่หากจะอธิบายอย่างละเอียดยิ่งขึ้นก็ต้องเริ่มท้าวความว่าเป็นความคิดที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Jürgen Harbermas นักปรัชญาชาวเยอรมัน ในหนังสือชื่อ การเปลี่ยนผ่านทางโครงสร้างของพื้นที่สาธารณะ : การสืบสาวราวเรื่องเกี่ยวกับลำดับชั้นของสังคมกระฎุมภี(Structural Transformation pf the Public Sphere : An Investigation of a Category of Bourgeois Society”โดยใช้ฐานความคิดที่มีข้อบกพร่องเล็กๆ(flaw)ในเรื่องการรวมตัวของสังคมที่ปรากฏอยู่ในงานของ Karl Marx ข้อบกพร่องดังกล่าวคือ มาร์กซ์กล่าวว่า หลังจากกลียุคอันเกิดขึ้นจากความเติบโตของทุนนิยมจบลง สังคมก็สามารถจะสร้างรูปแบบด้วยตนเองให้กลายเป็นสังคมนิยม และนี่คือการเกิดขึ้นของคอมมิวนิสม์ ฮาเบอร์มาสสงสัยว่าสิ่งที่มาร์กซ์กล่าวไว้นั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมนั้นจะสร้างอำนาจให้ตัวเอง และให้กับระบบการเมืองอย่างไร

          ฮาเบอร์มาสได้รับอิทธิพลทางความคิดของมาร์กซ์ในด้านความเชื่อที่ว่าสังคมที่มีความคิดประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้นมีความจุดบกพร่องบางอย่างที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันอยู่(1) ด้วยเหตุนี้สาธารณะ(public - หรือก็คือคนในสังคม)จึงควรสามารถที่จะสร้างทางเลือกในทางความคิดเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง ซึ่งฮาเบอร์มาสได้กล่าวว่าจะเกิดขึ้นได้ด้วยอาณาบริเวณพิเศษแบบหนึ่ง เรียกว่าพื้นที่สาธารณะ(Öffentlichkeit) ว่าคือ โครงข่ายในการสื่อสารข้อมูลต่างๆ ซึ่งรวมถึงมุมมอง, แง่คิด และความเห็น และโครงข่ายนี้อนุญาตให้สังคม(สาธารณะ)เข้าถึงอย่างอิสระ ซึ่งฮาเบอร์มาสอธิบายได้อย่างน่าสนใจว่าการแยกความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะแต่เดิมในสังคมศักดินา(feudal)ไม่มีแต่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคเริ่มต้นของเศรษฐกิจแบบพาณิชยกรรมและทุนนิยม(ราว ศต. ที่ 16) เนื่องด้วยชุมชนในรูปแบบประชาสังคม(civil society)ได้แยกตัวออกจากรัฐ เพราะความขัดแย้งกับผู้มีอำนาจเดิม การนิยาม พื้นที่ส่วนตัว คือ รัฐไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยว ส่วน พื้นที่สาธารณะ คือ พื้นที่อื่นๆที่เป็นของรัฐ แต่ พื้นที่สาธารณะ ในความหมายของฮาเบอร์มาสที่ผูกกับสังคมทุนนิยมนั้น ยังผูกติดกับการเกิดขึ้นของชนชั้นกระฎุมภี เพราะเป็นชนชั้นที่ก้าวผ่านกรอบทางชนชั้นเดิมๆ ออกมาสร้างอำนาจในสังคมผ่านเศรษฐกิจแบบตลาด(market economy)(2) ด้วยเหตุนี้พื้นที่สาธารณะจึงมักก่อร่างสร้างรูปมาจากสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยชนชั้นกลาง เช่น ร้านกาแฟ(coffee house)ในอังกฤษ และ ซาลอง(salon)ในฝรั่งเศส(3) ที่เปิดให้ผู้คนเข้ามาแลกเปลี่ยน หรือแสดงความคิดเห็นในทางสังคม และการเมืองกันได้(ซึ่งการเคลื่อนไหวส่วนมากในยุคนั้นก็เกิดขึ้นจากพื้นที่เหล่านี้) การที่พื้นที่สาธารณะแบบนี้มีความเป็นอิสระ(autonomous)ใน ๒ ความหมาย(sense) คือ๑.     การมีส่วนร่วมในพื้นที่ดังกล่าวเกิดโดยสมัครใจ ซึ่งต่างมีเหตุผลที่อิสระและความเท่าเทียมในการพูดคุย๒.  ผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวมีความเป็นอิสระจากระบบเศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งผู้คนนี้ไม่ได้มีความคิดในการแสวงหากำไรแบบปัจเจกชน(individual profit)สิ่งที่เป็นผลลัพธ์ในพื้นที่คือการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ทั้งยังสามารถพัฒนารูปแบบของวัฒนธรรมนั้นได้ จากวัฒนธรรมส่วนตัว หรือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ให้กลายเป็นวัฒนธรรมที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนร่วม(common good) ในอีกทางหนึ่งวัฒนธรรม, ความคิด, ความเห็นใดๆ นั้นที่เกิดในพื้นที่สาธารณะก็จะถูกเสนอ/สนอง/คัดกรอง/ละทิ้งเพื่อที่จะรวบยอด(conceptualized)ออกเป็นประโยชน์ส่วนร่วมที่เกิดขึ้นจากพื้นที่สาธารณะนั้นๆ ฮาเบอร์มาสกล่าวว่าแม้การก่อร่างของพื้นที่สาธารณะอาจดูไม่แข็งแกร่ง(fragile) เนื่องด้วยมีการต่อสู้แข่งขันกันภายในตลอดเวลา แต่กระนั้นมันก็เป็นดังร่มไม้ชายคาให้กับการเกิดขึ้นของวาทกรรมที่ทรงพลัง อนึ่งพื้นที่สาธารณะที่เข้มแข็ง, กระตือรือร้น และเปิดกว้างพอนั้นต้องประกอบด้วย๑.     อิสระในการพูด ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิพื้นฐาน๒.    มีความอิสระจากการเมือง และสื่อที่หลากหลายสามารถเข้าถึงได้๓.     มีจารีตทางการเขียนในระดับสูง อาจรวมถึงความสามารถทางเทคโนโลยีสารสนเทศ๔.     สามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลของรัฐอย่างอิสระ

ความคิด/มโนทัศน์(concept)เรื่องพื้นที่สาธารณะที่ถูกนำมาประยุกต์ในองค์ความรู้ทางสื่อสารมวลชน คือ สื่ออยู่ในฐานะของผู้แสดงหลัก/สะท้อนความคิดหลักในสังคมประชาธิปไตย และเป็นสื่อนี่เองที่เป็นตัวชักนำกลุ่มต่างๆในสังคมเข้าสู่พื้นที่สาธารณะผ่านการให้โอกาสในการแสดงความคิดความเห็น ในฐานะเช่นนี้สื่อจึงเป็นผู้ก่อร่างสร้างรูปให้กับพื้นที่สาธารณะ ทั้งยังมีอิทธิพลต่อความเห็นสาธารณะ(public opinion) ผ่านการโต้ตอบกันผ่านสื่อนี้เอง ในปัจจุบันการพัฒนาขึ้นของบทบาททางการสื่อสารของอินเทอร์เนต ทำให้เกิดรูปแบบของพื้นที่สาธารณะใหม่ที่มีลักษณะข้ามพรมแดน และยากที่จะควบคุมข้อมูลข่าวสาร จนมีคำเรียกพื้นที่สาธารณะแบบใหม่นี้ว่า พื้นที่บลอก(blogosphere)” ที่เป็นพื้นที่สาธารณะใหม่ของสมาชิกในสังคมอินเทอร์เนตในการแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นต่างๆ และเกิดเป็นสังคมเสมือนจริง(virtual society)ที่มีโครงข่ายอินเทอร์เนตเป็นตัวกลาง(medium)

  เชิงอรรถ

(1)โดยเฉพาะการที่คนกลุ่มใหญ่(majority) มักเกิดความหลงลืม หรือละเลยความคิดของคนกลุ่มเล็ก(minority) ในทางที่ดีที่สุดคือหลงลืม/ละเลยไปเอง ส่วนในทางที่ร้ายที่สุดคือถูกรัฐหรือสังคมทำให้หลงลืม/ละเลย แต่สิ่งที่สำคัญคือการตอบสนองต่อประชาชนได้ไม่เต็มที่ และการตัดสินใจใดๆที่รัฐกระทำโดยความหลงลืม/ละเลยนี้ก็ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมที่แท้จริง ดู Anthony Arblaster. Democracy(3rd edition). Buckingham · Philadelphia : Open University Press (2002) p. 71, 79 – 85.

(2) แต่เดิมสังคมยุโยปเป็นลักษณะเศรษฐกิจครัวเรือน ตามจารีตของสายอาชีพของบรรพบุรุษ(guild)

(3) ธัญญลักษณ์ เหลืองวิสุทธิ์, วรรณกรรมโพล : จากมติมหาชนสู่โพล...จากโพลสู่มติมหาชน. น. ๔๑ ๔๕.    

เอกสารอ้างอิง Finlayson, James Gordon. (2005)Harbermas : a very short introduction. UK : Oxford. 

Lilleker, Darren G. (2006).Key Concepts in Political Communication. London · Thousand Oaks · New Delhi : SAGE Publication 

McKee, Alan. (2005).The Public Sphere : an introduction. Cambridge : Cambridge University Press

คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญาสื่อ
หมายเลขบันทึก: 143266เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2007 14:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

iammean

เข้ามาเยี่ยม.... (หายไปนาน)

  • พื้นที่สาธารณะยุคเก่า มีสื่อหนังสือพิมพ์เป็นตัวเชื่อมโยง
  • พื้นที่สาธารณะยุคใหม่ อินเทอร์เน็ตกำลังทำหน้าที่นี้

สงสัยนิดหน่อยว่า.. เมื่อมีการควบคุมสื่อ จะมีสาเหตุและความเป็นไปอย่างไร ?

 เจริญพร

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท