การครอบงำสื่ออธิบายโดย The Media Hegemony Theory(2)


ตอนจบที่หายไป

หากใช้มุมมองของกรัมชีต่อคำถามที่ว่ามนุษย์กลุ่มใดคือพวกที่สร้างการครอบงำ(วาทกรรม) และทำให้สิ่งที่ถูกสร้างนั้นเป็นปกติไปเสีย คำตอบที่ได้ก็คือ มนุษย์กลุ่มที่เป็นแกนกลางใน กลุ่มประวัติศาสตร์ที่ใช้สื่อ(mass media)เพื่อโน้มน้าวหรือรวบรวมกลุ่มประวัติศาสตร์ขึ้นมา[1]

กลุ่มทางประวัติศาสตร์ นั้นไม่ได้มีสมาชิกเพียงแค่ชนชั้นเดียวแต่เป็นที่รวมของหลายชนชั้นที่ต่างเข้าร่วมมือกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีมนุษย์กลุ่มหนึ่งมาเป็นผู้ ทำกิจกรรมทางอุดมการณ์เป็นหลัก ดังกล่าวกรัมชีเรียกว่า ปัญญาชน แม้กรัมชีกล่าวว่ามนุษย์ทุกคนสามารถเป็นปัญญาชน แต่ทว่าในสังคมมนุษย์ทุกคนไม่ได้ทำหน้าที่เป็นปัญญาชน เพราะการที่เป็นปัญญาชนได้ต้องมีบทบาทของปัญญาชนที่เฉพาะ(unique) บทบาทดังกล่าวเกิดขึ้นมาควบคู่กันไปกับการกำเนิดชนชั้นโดยเฉพาะชนชั้นหลักๆ  กรัมชีตั้งข้อสังเกตว่าชนชั้นที่ต้องการจะขึ้นมาครอบงำสังคมต้องหาทางครอบงำปัญญาชนยุคเก่าที่ยังดำรงอยู่ด้วยลัทธิการเมืองของชนชั้นใหม่ แต่การยึดครองความคิดของปัญญาชนดังกล่าวกระทำได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้นถ้าชนชั้นใหม่มีสิ่งที่กรัมชีเรียกว่าปัญญาชนโดยธรรมชาติของชนชั้น(Organic or Technical Intellectual)” ของตนเองด้วยปัญญาชนเหล่านี้สามารถทำให้กลุ่มชนในชนชั้นมีความเป็นหนึ่งผ่านจิตสำนึกเกี่ยวกับบทบาทของกลุ่มหรือชนชั้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ปัญญาชนโดยธรรมชาติฯนั้นทุกชนชั้นสร้างขึ้นมาเมื่อแรกกำเนิดชนชั้นนั้นๆ โดยจะมีความสามารถเฉพาะของตนเองในแผนกและศาสตร์ต่างๆ เช่น ชนชั้นขุนนางเองก็จะมีความสามารถในทางปัญญาแต่เป็นไปในทางเดียวเท่านั้นคือ การทำสงคราม อนึ่ง จุดตัดทางประวัติศาสตร์อันสำคัญที่ชนชั้นขุนนางเริ่มเสียเปรียบให้แก่นายทุนคือการที่ขุนนางไม่สามารถเก็บและปกปิดความรู้ทางการทหารไว้ในมือของชนชั้นตัวเองได้เท่านั้นอีกต่อไป อย่างไรก็ตามกรัมชี ให้ข้อสังเกตว่า ในกรณีชนชั้นชาวนาในยุคอดีตเราจะเห็นว่าถึงแม้ว่าปัญญาชนหลายคนมาจากชนชั้นนี้ แต่ชนชั้นชาวนาไม่มีปัญญาชนโดยธรรมชาติฯของตนเอง

ในอีกทางหนึ่งกรัมชีก็กล่าวถึง ปัญญาชนสืบทอด(Traditional Intellectual)” โดยกรัมชีวิเคราะห์จากประวัติศาสตร์ของยุโรปว่า การที่กลุ่มชนหรือชนชั้นใหม่กำเนิดขึ้นมาในยุคต่างๆขณะเดียวกันนั้นจะมีปัญญาชนกลุ่มหนึ่งที่ดำรงอยู่มาก่อน ซึ่งปัญญาชนพวกนี้เป็นเสมือนมรดกที่ตกทอดมาจากประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่อง กรัมชีอ้างว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือปัญญาชนศาสนาซึ่งในยุคอดีตผูกขาดความรู้ในลัทธิศาสนา ทั้งในด้านปรัชญาและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และผูกขาดหน้าที่ในการบริการสังคมในด้านต่างๆ ด้วย เช่นการช่วยคนจน การเรียนการสอน และการตัดสินความยุติธรรมเป็นต้น ปัญญาชนกลุ่มนี้เดิมเป็นปัญญาชนโดยธรรมชาติฯของชนชั้นขุนนางหรือศักดินา และได้รับส่วนแบ่งจากการขูดรีดในระบบ  ปัญญาชนพวกนี้มักจะรวมตัวกันผ่านสมาคมหรือองค์กรของเขาเพื่อเสนอว่าตนเองเป็นปัญญาชนอิสระซึ่งความคิดแบบนี้มีผลกระทบในด้านความคิดทางการเมืองโดยเฉพาะลัทธิเสรีนิยม[2] ดังนั้นการที่กรัมชีกล่าวถึงปัญญาชนทั้ง ๒ ชนิดนั้น ก็เสมือนการสื่อความหมายของการต่อต้านการครองอำนาจนำในการสร้างอุดมการณ์หลักของสังคมอยู่เป็นนัย เพราะอุดมการณ์ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปกครอง จะเป็นอุดมการณ์ที่พยายามทำให้พลเมืองเชื่อว่า ผลประโยชน์ที่คนบางกลุ่มได้รับเป็นผลประโยชน์ของทุกคน สิ่งเหล่านี้แกรมชี่เชื่อว่า เป็นผลมาจากการทำงานของ กลไกทางอุดมการณ์(ideological apparatus)” ซึ่งได้ผลกว่าการใช้ กลไกอำนาจรัฐ(repressive apparatus)” เข้าบังคับโดยตรงในสังคมการเมือง(political society) การใช้เพียงกลไกทางอำนาจเพียงอย่างเดียวนั้นกรัมชีมองว่าเป็นเครื่องมือการปกครองของยุคโบราณ สุดท้ายการตอบโต้ที่เกิดขึ้นจะเกิดด้วยความรุนแรง(coertion)

ในรัฐสมัยใหม่นั้นได้พยายามสร้างฉันทามติ(consent)มากกว่า[3] โดยฉันทามตินั้นก็จะเกิดขึ้นได้ด้วยในวิธีการสร้างความเชื่อ ค่านิยม และมุมมองในประชาสังคม(civil society) ซึ่งจะเกิดขึ้นในกระบวนการของกลไกทางอุดมการณ์ ซึ่งโดยที่ปัญญาชนคือ กุญแจ ของความสำเร็จใดๆของการครองอำนาจนำในทุกๆสังคม[4] การสร้างและการแพร่กระจายอุดมการณ์เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน แต่กระนั้นก็เปิดช่องทางเอาไว้ประการหนึ่ง ซึ่งสามารถมองได้ว่าเป็นช่องทาง และมากกว่านั้นเป็นช่องทางหลักที่ชนชั้นกลางมองเห็น และใช้ช่องทางที่ว่านี้ในการต่อสู้กับการครองอำนาจนำ(counter Hegemon)

สามารถกล่าวอย่างหยาบๆว่า ในโลกปัจจุบันเป็นโลกของชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่เกิดมาพร้อมๆกับโลกสมัยใหม่ ในตะวันตกนั้นชนชั้นกลางคือกลุ่มชนในทุกสาขาอาชีพที่ไม่ได้ใช้แรงงานกายในการผลิต แต่ผลิตผลของชนชั้นกลางเกิดขึ้นโดยการใช้ความคิด มีหน้าที่หลักคือเป็นคนกลางที่ช่วยให้เกิดความชอบธรรม และธำรงรักษาระบบทางการเมือง และอุดมการณ์ อนึ่งการที่ชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่ต้องเคลื่อนไหว(dynamic) อยู่ตลอด สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชนชั้นกลางต้องบริโภคคือสื่อ และในการต่อสู้ในระบบตลาดยุคโลกาภิวัตน์ ข้อมูลข่าวสาร และกระบวนการต่างๆในการได้รับ, ครอบครองอำนาจในการสร้างสื่อ เป็นสิ่งที่สำคัญ ในการเมืองของสื่อเช่นนี้ กล่าวได้ว่าชนชั้นกลางคือ ชนชั้นที่ชำนาญและได้เปรียบกว่าชนชั้นอื่นๆในสังคม[5] ช่องทางสื่อจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ชนชั้นกลางใช้ใน สงครามทางความคิด(war of position)” ในการทำให้(ประชา)สังคมเข้าใจ หรือรับรู้ จุดยืน(position)” ของการเคลื่อนไหว(war of movement) โดยการกระทำเช่นนี้ จอห์น ฟิสเค กล่าวไว้ว่าเป็นไปเพื่อทำให้การต่อสู้นั้นได้ผลอย่างยั่งยืน เพราะเป็นการต่อสู้ในสิ่งที่เชื่อ และเห็นว่าดีแล้ว ซึ่งสื่อ(mass media) คืออาวุธในการต่อสู้ที่ใช้งานง่าย และมีประสิทธิภาพ[6] กลับมาที่มุมมองของกรัมชี สำหรับการที่กรัมชี่มองเห็นในสิ่งพวกนี้ ก็คือการบอกโดยอ้อมต่อสังคมว่า การปกครองด้วยความเชื่อ มีประสิทธิภาพกว่าการปกครองด้วยความกลัวในบริบทเช่นนี้ สังคมการเมือง/ประชาสังคม ที่ดำรงอยู่ในสถานะพื้นที่ทางการเมืองจึงต้องมีการต่อสู้เพื่อครอบงำทางอุดมการณ์ ทั้งในฐานะ เจ้า(Hegemon)” และฐานะ สู้กับเจ้า(counter Hegemon)” ซึ่งต่างต้องการเป็น เจ้าใหม่(New Prince(s)” กันทั้งสิ้น ซึ่งดังกล่าวไว้แล้วว่า ณ จุดนี้เองที่กลุ่มทางประวัติศาสตร์ต่างๆใช้สื่อมวลชนมาเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์เพื่อแย่งชิงมวลชนระหว่างกัน 

สรุป

จากคำถามของความคิดเรื่องการสื่อสารทางการเมือง(Political Communication)ที่ว่า สื่อมวลชนมีส่วนในการสร้างวาทกรรม ในฐานะของการเป็นตัวกลางที่ช่วยสร้างและดำรงไว้ซึ่งวาทกรรมกระแสหลัก เพื่อสร้างความชอบธรรมทางอำนาจให้กับผู้ที่คุมพื้นที่สื่อ ตามทฤษฎี Media Hegemony หรือในทางกลับกัน สื่อมวลชนกลับมีบทบาทในการให้พื้นที่กับวาทกรรมอื่น ๆ (ที่นอกเหนือจากวาทกรรมหลัก) ได้มีโอกาสและบทบาทในการช่วงชิงพื้นที่ในสื่อสาธารณะในสังคมได้ จากการดูทฤษฎีของกรัมชีโดยรวม อีกทั้งมองหาความสัมพันธ์ของนิยามต่างๆที่กรัมชีเสนอมาแล้วนั้นจะพบว่า

คำถามส่วนที่ ๑ คือ สื่อมวลชนมีส่วนในการสร้างวาทกรรม ในฐานะของการเป็นตัวกลางที่ช่วยสร้างและดำรงไว้ซึ่งวาทกรรมกระแสหลัก เพื่อสร้างความชอบธรรมทางอำนาจให้กับผู้ที่คุมพื้นที่สื่อ ตามทฤษฎี Media Hegemony นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะสื่อคือเครื่องมือที่สามารถครอบครอง(hold)และ ครอบงำ(dominate)ได้ สื่อจึงเป็นเครื่องมือสร้าง อำนาจครองครองผ่านความรู้(วาทกรรม) อีกทั้งสร้างความปกติ(normalization) และสร้างความธรรมดา(naturalization)ให้วาทกรรมจนวาทกรรมนั้นมีความชอบธรรม และทั้งยังใช้สื่อในการตอกย้ำเพื่อดำรงวาทกรรม(ที่กลายเป็นวาทกรรมหลัก)นั้นด้วย

ด้านคำถามส่วนที่ ๒ คือ สื่อมวลชนมีบทบาทในการให้พื้นที่กับวาทกรรมอื่น ๆ (ที่นอกเหนือจากวาทกรรมหลัก)ได้มีโอกาสและบทบาทในการช่วงชิงพื้นที่ในสื่อสาธารณะในสังคมได้ ก็เป็นเรื่องที่จริงเช่นกัน เพราะอุดมการณ์เป็นสิ่งที่ถูกสร้าง เช่นนั้นจึงถูกทำลายได้ คล้ายๆกับที่ Gorge Wilhelm Fredrich  Hegel กล่าวถึง การที่โลกก้าวไปข้างหน้าด้วยความคิด ความขัดแย้งใดๆก็เป็นความขัดแย้งในเรื่องของความคิด ซึ่งส่งผลให้เกิดความก้าวหน้า ทั้งเชิงคุณภาพและเหตุผล เรียกว่า วิภาษวิธี(Dialectic)” ซึ่งเกิดจากการที่ ความคิดเดิม(Thesis) ถูกท้าทายหรือขัดแย้งกับความคิดใหม่(Anti-Thesis) ก่อให้เกิด ความคิดที่ใหม่กว่า(Synthesis)ที่จะกลายเป็นความคิดเดิมในเวลาต่อไป การที่สามารถเกิดความคิดขัดแย้งใหม่ๆได้เสมอนั้นเพราะ ความคิดเป็นเพียงสิ่งสมมติที่มนุษย์สร้างขึ้นนั่นเอง  เช่นนี้แล้วหากเชื่อเฮเกล ต่อคำถามที่ว่าอุดมการณ์คืออะไร คำตอบคือความคิดอย่างหนึ่ง และต่อคำถามที่ว่าวาทกรรมคืออะไร แม้คำตอบอาจจะไม่ชัดเจนนักหากตอบว่าวาทกรรมเป็นความคิด แต่อย่างไรก็ตามวาทกรรมคือปฏิบัติการของอำนาจ(power/discursive practice)ที่มาพร้อมๆกับองค์ประธานที่มีความรู้(knowledge subject) เช่นนั้นแล้วปฏิบัติการดังกล่าวย่อมทำงานอยู่ในปริมณฑลของความคิด(transcendental space) ที่แม้ในที่สุดผลผลิตของวาทกรรมนั้นจะปรากฏผลในปริมณฑลทางกายภาพ(sensible space) ก็ตาม จึงอาจกล่าวหยาบๆว่า วาทกรรมก็เป็นความคิดแบบหนึ่ง และหากเป็นเช่นนั้นถ้าคิดอย่างเฮเกล ทั้งอุดมการณ์ และวาทกรรมย่อมถูกสร้างได้, ถูกใช้ได้, ถูกเชื่อได้, ถูกท้าทายได้, ถูกต่อกรได้, และถูกทำลายได้เช่นกัน สิ่งต่างๆเหล่านี้ก็คือเวทีของการเมืองที่มีการสื่อสาร(political communication) ที่สื่อ(media) ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างพลังให้กับผู้นำผู้ใช้มวลชน(mass)มาเป็นพลัง สุดท้ายสื่อมวลชนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งในทางการเมือง และในสถานะเช่นนี้สื่อมวลชนจึงต้องถูกใช้ในการแสวงหาอำนาจในสังคมการเมืองไม่ว่าผู้ที่ต้องการแสวงหาอำนาจนั้นจะมีสถานะทางสังคมเช่นใดก็ตาม เพียงแต่พวกเขาเหล่านั้นสามารถมีพลังเพียงพอในการเข้าถึงสื่อ พวกเขาก็จะมีอำนาจเพียงพอในระดับหนึ่งในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่การเมืองคือการแย่งชิงอำนาจในการกำหนดนิยามในการ เห็น โลกของคนในสังคม, ซึ่งเป็นพื้นที่ที่การ เห็น โลกคืออำนาจในการ นำ มวลชน/ประชาชน/พลเมือง/ผู้คน และ สุดท้ายจำนวนของมวลชนคือข้ออ้างที่ดี(???????)ในการสร้างความชอบธรรมให้กับการปกครองสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยรูปแบบตัวแทนที่เป็นอยู่ในโลกปัจจุบัน



เชิงอรรถ และเอกสารอ้างอิง

http://gotoknow.org/blog/iammean/144805

คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญาสื่อ
หมายเลขบันทึก: 144801เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2007 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

mean...

อ่านๆ ไปก็นึกถึงแนวคิดของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช จากหนังสือชื่อ ยิว ซึ่งท่านให้ความเห็นไว้ทำนองว่า...

การเปลี่ยนแปลงมี ๓ ระดับ กล่าวคือ

  • ระดับปัญญา เริ่มต้นที่สื่อ นักวิชาการ สถานศึกษา
  •  ระดับการเมือง คือ การดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้ได้อำนาจ
  • ระดับบริหาร ใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงระบบและรูปแบบต่างๆ...

เมื่อพิจารณาตามนัยนี้ เรื่องราวที่นำเสนอมาก็คือความสำคัญของระดับแรก... ประมาณนั้น

แต่การเมืองไทยเคยมีคำคมว่า...

  • เก็บอุดมการณ์ใส่ลิ้นชัก

ก็เล่าเล่นๆ เพียงทบทวนความจำเท่านั้น

เจริญพร 

มีประโยชน์จริงๆค่ะ ขอบคุณมากเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท